โคชิเอ็ง 1942 : การแข่งขันที่ไม่ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์

โคชิเอ็ง 1942 : การแข่งขันที่ไม่ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์

โคชิเอ็ง 1942 : การแข่งขันที่ไม่ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้แต่การแข่งขันที่ศักดิ์สิทธิ์รายการหนึ่งของแดนอาทิตย์อุทัย บางครั้งก็ไม่ได้รับการยอมรับในประวัติศาสตร์

ปี 2018 ถือเป็นปีที่สำคัญสำหรับวงการเบสบอลญี่ปุ่น เมื่อเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติประจำฤดูร้อน หรือที่รู้จักกันว่า “โคชิเอ็ง” ได้เวียนมาบรรจบจัดการแข่งขันเป็นครั้งที่ 100 พอดี

การแข่งขันในครั้งนั้น เป็นโรงเรียนโอซากา โทอิน ที่เป็นฝ่ายเอาชนะ โรงเรียนเกษตรคานาอาชิ ม้ามืดของรายการที่เรื่องราวของพวกเขายังคงเล่าขานมาจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นหนึ่งในโมเมนต์แห่งความทรงจำสมกับการเป็นการแข่งขันครั้งที่ 100

 

อย่างไรก็ดี แม้จะแข่งมาแล้ว 100 ครั้ง แต่อายุอานามของโคชิเอ็งที่จริงแล้วเลยผ่านมาถึง 104 ปีแล้ว หลังเริ่มแข่งเป็นครั้งแรกในปี 1915 และมีเว้นวรรคชั่วคราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 1941-1945

ทว่า ในปี 1942 กลับมีการแข่งขัน “โคชิเอ็ง” เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงสงคราม โดยมีทีมแชมป์ตามปกติ แต่กลับไม่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

กีฬาจากตะวันตก

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติ และนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของตัวเองอยู่เสมอ กีฬาก็ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งเบสบอลก็เป็นหนึ่งนั้น

 1

ชาวอาทิตย์อุทัยรู้จักเบสบอลครั้งแรกในช่วงปี 1870 จากการนำเข้ามาของ ฮอร์เรซ วิลสัน ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันที่สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนไกเซ กัคโค (ต่อมาคือ มหาวิทยาลัยโตเกียว อิมพีเรียล) เขายังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเรื่องต่างประเทศให้กับรัฐบาล เพื่อช่วยทำให้ระบบการศึกษาญี่ปุ่นมีความทันสมัยมากขึ้นหลังช่วงเปิดประเทศ  

แม้ว่าก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นจะมีกีฬาหลากหลายประเภท ทั้งซูโม่ เคนโด ยิงธนู หรือกีฬาที่เล่นกันตัวต่อตัวอื่นๆ แต่ไม่มีชนิดไหนที่เล่นกันเป็นทีมอย่างเบสบอล การที่รูปแบบของกีฬาชนิดนี้ต่างจากกีฬาที่พวกเขาเคยเล่นอยู่อย่างสิ้นเชิงทำให้ชาวญี่ปุ่นอ้าแขนรับกีฬาชนิดนี้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี วิลสัน เป็นเพียงแค่คนนำเข้ามาเท่านั้น แต่ผู้ที่ทำให้เบสบอลกลายเป็นที่นิยมจนถึงทุกวันนี้ ต้องยกความดีความชอบให้กับ ฮิโรชิ ฮิราโอกะ วิศวกรทางรถไฟ ที่เคยไปศึกษาต่อที่อเมริกา เขาเป็นคนก่อตั้งทีมเบสบอลสัญชาติญี่ปุ่นทีมแรกของประเทศในชื่อ ชินบาชิ แอธเลติก คลับ ชินบาชิ ในปี 1878 ซึ่งถือเป็นการถือกำเนิดอย่างเป็นทางการของเบสบอลในประเทศญี่ปุ่น

กีฬาชนิดนี้แพร่กระจายจากจุดเล็กๆ ขยายเป็นวงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ จากโรงเรียนไปถึงมหาวิทยาลัย และกลายเป็นกีฬาที่คนทั่วไปสัมผัสได้ จนในปี 1915 การแข่งขันเบสบอลชิงแชมป์ทั่วประเทศที่เป็นบรรพบุรุษของโคชิเอ็งก็เกิดขึ้นในชื่อ ก็เกิดขึ้นในชื่อ “การแข่งขันเบสบอลโรงเรียนระดับกลางชิงแชมป์แห่งชาติ”  

 2

อย่างไรก็ดี การแข่งขันในครั้งนั้น ยังไม่ได้มีชื่อเล่นว่าโคชิเอ็งเหมือนในปัจจุบัน เนื่องจากแข่งกันที่สนามโทโยนากะ เมืองโอซากา กว่าที่เบสบอลนักเรียนจะย้ายมาจัดที่สนามโคชิเอ็ง ต้องรอถึง 10 ปี และในการแข่งขันครั้งที่ 11 สนามศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ก็ได้เป็นสังเวียนในรอบสุดท้ายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ปี 1940 ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นโคชิเอ็งครั้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่สงคราม (ปี 1941 มีแข่งในรอบคัดเลือก แต่รอบสุดท้ายถูกยกเลิกไป) แต่ที่จริงยังมีการแข่งขันอีกหนึ่งครั้งในช่วงนั้น ทว่ามันกลับไม่ได้รับการยอมรับในประวัติศาสตร์

แชมป์ที่ไม่ได้เป็นแชมป์

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่พัฒนาขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว หลังการปฏิรูปเมจิ ภายใต้นโยบาย “ประเทศมั่งคั่ง การทหารเข้มแข็ง” (ฟุโคคุเคียวเฮ) พวกเขาเติบโตอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและการทหาร

 3

ญี่ปุ่น เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ไปพร้อมกับการทำสงครามไล่ล่าอาณานิคม ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ก่อนที่พวกเขาจะประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเต็มตัว หลังปฏิบัติการณ์โจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาเบอร์ ในวันที่ 7 เดือนธันวาคม 1941

อันที่จริงญี่ปุ่นอยู่ในช่วงสงครามมาตั้งแต่ก่อนนั้น ตั้งแต่สงครามกับรัสเซียในปี 1904 การยึดครองแมนจูเรียในปี 1931 และการรุกรานจีนในปี 1937 ซึ่งในการทำสงครามก็จำเป็นที่จะต้องใช้การเคลื่อนย้ายยุทโธปรณ์ทางการทหารตลอดเวลา เพื่อความสะดวกทำให้รัฐบาลออกกฎห้ามนักเรียนเดินออกนอกเขตพื้นที่เกินสองจังหวัดในปี 1941

โคชิเอ็ง หรือแม้กระทั่งกีฬานักเรียนรายการอื่น เป็นการแข่งขัน ที่จัดขึ้นในจังหวัดที่เป็นเจ้าภาพโดยมีนักเรียนเดินทางมารวมตัวกันอยู่แล้ว ทำให้ทัวร์นาเมนต์กีฬาดังกล่าวต้องถูกพักเบรกไปโดยปริยาย

“สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 กำลังตึงเครียดขึ้นมาทุกขณะ เพื่อชนะสงคราม เราต้องดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบเพื่อขนส่งยุทโธปกรณ์ทางการทหารและของดำรงชีพในการสร้างทางรถไฟในประเทศ คนทั่วไปจึงไม่จำเป็นต้องเดินทางไกล การเดินทางไปแข่งเบสบอลชิงแชมป์แห่งชาติจึงไม่สามารถทำได้” ประกาศจากทางการ   

 4

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะประกาศไว้ แต่เบสบอลนักเรียนชิงแชมป์แห่งชาติก็มีการแข่งขันตามปกติในปี 1942 ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการ สมาคมกีฬานักเรียนจักรวรรดิญี่ปุ่น และหนังสือพิมพ์อาซาฮี ร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยมี สนามโคชิเอ็ง สเตเดียม เป็นสังเวียนในรอบสุดท้ายเหมือนที่ผ่านมา

การแข่งขันเริ่มต้นตั้งแต่รอบคัดเลือกระดับภูมิภาค ก่อนจะได้ 16 ทีมเข้ามาแข่งในรอบสุดท้าย (จากเดิมคือ 23 ทีม) และทำการชิงชัยหาทีมที่ดีที่สุดตั้งแต่วันที่ 23-29 สิงหาคม

ตำแหน่งชนะเลิศในครั้งนั้น ตกเป็นของโรงเรียนพานิชย์โทคุชิมา ตัวแทนจากจังหวัดโทคุชิมา ที่เอาชนะโรงเรียนเฮอัน จากจังหวัดเกียวโต ชนิดต้องต้องเล่นจนถึงอินนิ่ง 11 ด้วยสกอร์ 8-7 ท่ามกลางผู้ชมกว่า 40,000 คนในสนาม คว้าแชมป์สมัยแรกไปครองได้สำเร็จ

ทว่า พวกเขากลับไม่ได้รับการบันทึกไว้ในทำเนียบแชมป์ของโคชิเอ็ง เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

โคชิเอ็งมายา

แม้ว่าโคชิเอ็ง 1942 จะมีการแข่งขันขึ้นจริง ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลเพิ่งจะประกาศงดก็ตาม แต่การแข่งขันในครั้งนี้กลับมีหลายอย่างที่ต่างไปจากเดิมพอสมควร  

 5

เริ่มตั้งแต่ชื่อการแข่งขัน  แต่เดิมใช้ชื่อว่า “การแข่งขันเบสบอลโรงเรียนมัธยมระดับกลางชิงแชมป์แห่งชาติ” แต่รอบนี้กลับเปลี่ยนมาเป็น  “การแข่งขันเบสบอลและการฝึกฝนทางร่างกายโรงเรียนแห่งจักรวรรดิญี่ปุ่น”

เช่นเดียวกับรายละเอียดในการจัดงาน ทั้งโทนสีของการแข่งขันที่เปลี่ยนมาใช้โทนสีเดียวของทหาร ในขณะที่ชื่อทีมชื่อทีมเปลี่ยนมาใช้คันจิแทนโรมันจิ (อักษรภาษาอังกฤษ) หรือเรียกนักกีฬาว่า Senshi (選士) ที่เป็นการผสมคำระหว่าง นักกีฬา (選手) และนักรบ (武士) หรือแม้กระทั่งการใช้แตรเดี่ยวเป็นสัญญาณแทนไซเรน (เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดเนื่องจากไซเรนเป็นเสียงเตือนประชาชนในช่วงสงคราม) รวมไปถึงคำภาษาอังกฤษอย่าง “บอล” หรือ “สไตรก์” ก็ถูกห้ามใช้ในการแข่งขันครั้งนี้

นอกจากนี้บนสกอร์บอร์ดยังมีการติดสโลแกนที่กล่าวว่า “ชนะและจับหมวกคาบุโตะ (หมวกที่ใช้ในการรบของทหารญี่ปุ่น) ให้แน่น มาออกไปต่อสู้เพื่อสงครามมหาเอเชียบูรพากันเถอะ” ซึ่งเป็นสโลแกนทหารไว้ตลอดการแข่งขันอีกด้วย

 6

ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันยังได้เพิ่มกฎแปลกๆที่ใช้ในปีดังกล่าวโดยเฉพาะ ซึ่งล้วนแฝงไปด้วยแนวคิดของทหาร เช่นห้ามเปลี่ยนตัวนักกีฬา ต้องใช้ผู้เล่นชุดเดิมไปตลอดเกมแม้จะได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากทหารแม้จะได้รับบาดเจ็บ ก็ต้องเอาชีวิตเข้าแลกจนนาทีสุดท้าย หรือห้ามแบตเตอร์หลบลูกที่ขว้างเข้ามา แม้จะเป็นเดธบอล (บอลที่ขว้างมาตรงหัว) เพราะการหลบบอลคือการไม่มีจิตวิญญาณในการต่อสู้ ซึ่งสำหรับทหารถือเป็นสิ่งให้อภัยไม่ได้เด็ดขาด หรือแม้กระทั่งหากทำผิดพลาดจะถูกลงโทษจากทหาร เพราะในสนามรบ ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจนำมาซึ่งความตายได้

“มันเป็นกฎที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ในระหว่างสงคราม” อุเอโมโต ยาสุโนริ อดีตสมาชิกของโรงเรียนพานิชย์โทคุชิมา แชมป์ในครั้งนั้นวัย 91 ปีย้อนความหลัง

ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากเบสบอลแล้ว  ในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ยังมีการแข่งขันกีฬาอีกหลากหลายประเภททั้ง ซูโม่ ยูโด เคนโด กรีฑา แต่ที่น่าสนใจที่สุด คงจะเป็นการแข่งขันที่ไม่คุ้นหูอย่าง “การเคลื่อนไหวในสนามรบ” “การสวนสนาม” หรือ “โจมตีด้วยระเบิดมือ”

ทุกเรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้การแข่งขันในครั้งนั้นไม่ได้รับการยอมรับในประวัติศาสตร์ สถิติที่เกิดขึ้นของทุกทีมไม่ได้ถูกนับรวมในสถิติของโคชิเอ็ง กลายเป็นการแข่งขันที่เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นจริง จนถูกเรียกว่า “โคชิเอ็งมายา” 

เครื่องมือทางการทหาร

“น่าเศร้าที่ชัยชนะ 3 ครั้งของพวกเรา ไม่ถูกนับในชัยชนะ 100 ครั้งของเฮอัน มันไม่ใช่ภาพมายา เราได้ยืนอยู่บนผืนดินของโคชิเอ็งอย่างแน่นอน”

 7

แม้คิโยชิ ฮาราตะ หนึ่งในสมาชิกของมัธยมเฮอันรองแชมป์ของโคชิเอ็ง 1942 วัย 90 ปีจะกล่าวไว้เช่นนั้นกับ Asahi แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าการแข่งขันครั้งดังกล่าวพยายามปลูกฝังแนวคิดทางการทหารและสงครามมากเกินไป  

ปี 1942 เป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังทวีความตึงเครียด ญี่ปุ่นต้องการสรรพกำลังเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้สู้รบในสงคราม หนึ่งในกำลังพลสำคัญคือเหล่าเยาวชนในระดับมัธยม จากรายงานของ BBC ระบุว่า ในช่วงสงครามคนที่ถูกเกณฑ์ไปร่วมรบส่วนใหญ่อายุอยู่ในช่วง 17-24 ปี

 8

ในช่วงเวลานั้น รัฐบาลทหารญี่ปุ่น ได้เดินเกมรุกอย่างเต็มตัวในการระดมพลด้วยการสร้างค่านิยมในการทำสงครามในหมู่นักเรียนผ่านการศึกษา และการแข่งขันกีฬาเยาวชนก็เป็นหนึ่งในช่องทางที่ดีที่สุด

โคชิเอ็ง 1942 จึงเป็นการแข่งขันที่แฝงไว้ด้วยแนวคิดทางการทหารอย่างชัดเจน ทั้งกฎที่บรรจุเข้ามาโดยเฉพาะ การใช้ข้อความปลุกใจเพื่อสงครามที่สกอร์บอร์ด หรือแข่งกีฬาที่ไม่น่าจะเป็นกีฬาได้อย่าง การสวนสนาม หรือการเคลื่อนที่ในสนามรบ เป็นต้น

มันจึงเป็นการแข่งขันที่ไม่ได้รับการยอมรับในประวัติศาสตร์ ผู้ชนะก็ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในทำเนียบแชมป์ของโคชิเอ็ง เนื่องจากมันไม่ใช่การแข่งเบสบอลที่แท้จริง โคชิเอ็ง ได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปลุกใจทางการทหาร ผิดจากวัตถุประสงค์เดิมที่มุ่งสร้างเสริมการออกกำลังกายในหมู่เยาวชนไปไกล

นอกจากนี้ การแข่งขันครั้งนั้นยังได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในปฏิบัติการข่าวสาร (IO - Information Operation) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ในการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากความพ่ายแพ้ในการทำสงคราม

 9

มิถุนายน 1942 สองเดือนก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้น จักรวรรดิญี่ปุ่นเพิ่งจะพ่ายในยุทธนาวีมิดเวย์ ซึ่งเป็นความพ่ายแพ้ที่เลวร้ายที่สุดของกองทัพเรือญี่ปุ่น ที่ต้องเสียเรือบรรทุกเครื่องบินไปถึง 4 ลำ เครื่องบินและนักบินฝีมือดีไปเกือบ 1,000 ราย และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ญี่ปุ่นแพ้สงครามในเวลาต่อมา

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดการแข่งขันที่ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อปีก่อน จึงถูกนำมาจัดขึ้นอีกครั้ง และยังเป็นการแข่งขันที่มีการสร้างความฮึกเหิมและกระหายที่จะเข้าร่วมสงคราม ตลกร้ายที่มันดันทำหน้าที่ได้ไม่เลว เมื่อสามารถดึงความสนใจจนมีคนเจ้ามาชมเกมในนัดชิงชนะเลิศเกือบถึงสี่หมื่นคน

ปัจจุบัน โคชิเอ็ง กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ พวกเขากำลังจะเข้าสู่การแข่งขันครั้งที่ 101 ในปี 2019 ส่วนแนวคิดทางการทหาร ก็ค่อยๆลบเลือนไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังถูกยุบกองทัพและเขียนห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญจากความเลวร้ายที่พวกเขากระทำไว้ในช่วงสงคราม

 10

โคชิเอ็ง 1942 จึงเป็นเหมือนหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ว่าครั้งหนึ่ง กีฬายอดฮิตของชาวอาทิตย์อุทัย ก็ถูกเคยนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นกระทั่งเครื่องมือปลุกปั่นในการทำสงคราม

มันจึงเป็นโคชิเอ็ง ที่แปลกและแหวกแนวที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันเบสบอลระดับมัธยม แม้ว่ามันจะไม่เคยถูกยอมรับว่าเป็น “โคชิเอ็ง” แม้แต่ครั้งเดียวก็ตาม

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ โคชิเอ็ง 1942 : การแข่งขันที่ไม่ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook