เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : "แทรชทอล์ค" ศิลปะหรือวาทะสกปรกที่สามารถทำให้ชนะได้ง่ายขึ้น?

เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : "แทรชทอล์ค" ศิลปะหรือวาทะสกปรกที่สามารถทำให้ชนะได้ง่ายขึ้น?

เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : "แทรชทอล์ค" ศิลปะหรือวาทะสกปรกที่สามารถทำให้ชนะได้ง่ายขึ้น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในโลกกีฬาแทบทุกชนิดต้องมีการปะทะกัน แข่งขันกัน หรือบางทีอาจจะกล่าวได้ว่าต้องทําทุกอย่างเพื่อชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นใช้ทริค รูปแบบ กลยุทธ์การวางแผน กลยุทธ์การแก้เกม แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นการสู้โดยตรง หรือก็คือสู้กันซึ่งๆหน้า แต่มันก็มีการต่อสู้ที่ไม่ต้องใช้ฝีมืออันเชี่ยวชาญ และมันเป็นอาวุธลับที่ถูกนำมาใช้ระหว่างเเข่งนั่นคือ "การพูด"

 

การพูดนี้ไม่ได้เพื่อกระตุ้นตัวเอง ปลุกใจเพื่อนร่วมทีมเพื่อทําให้ทีมชนะ แต่มันเป็นการทําลายคู่ต่อสู้ด้วยคําพูด หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “Trash Talk”

“Trash Talk” เริ่มขึ้นเมื่อไหร่?

ในโลก NBA ก็เช่นกัน แม้ว่าในช่วงก่อนยุค '60 และ '70 เราจะไม่ค่อยได้เห็นการพูดจาที่กระทบกระเทียบ หรือเหน็บแนมคู่ต่อสู้เท่าไร เพราะนั่นเป็นยุคแห่งการแข่งขันภายในเกมอย่างขาวสะอาด ซึ่งเรื่องนี้ เจอร์รี่ เวสต์ หรือ "มิสเตอร์โลโก้" ได้ยืนยันด้วยตนเอง “ในยุคผมการพูดข่มคู่ต่อสู้มันมีนะ แต่ไม่ได้มากมายขนาดนี้ ทุกคนต้องสู้กันด้วยฝีมือ ต่างกับในยุคนี้ที่มีเยอะมาก” เวสต์ กล่าวถึง "แทรชทอล์ค" ในยุคคลาสสิก ซึ่งการพูดจาข่มขวัญคู่ต่อสู้นี้ หลายคนก็บอกว่าดี หลายคนก็บอกว่าคนพวกนี้ไม่ค่อยน่าคบเท่าไร เพราะมันเป็นการทําลายความสัมพันธ์ เป็นการทําลายความเป็นเพื่อนร่วมลีก แต่กลับกันบางคนบอกว่ามันเป็นการทําลายสมาธิทําให้คู่ต่อสู้สมาธิแตกกระเจิง

 1

"แทรชทอล์ค" หรือการพูดจาข่มขวัญที่เรารู้จัก เริ่มกันมาตั้งแต่ช่วงยุค '80 ในตอนนั้นแม้ว่ามันจะไม่มีอะไรมาก มันเป็นการแสดงความต้องการชนะอย่างโจ้งแจ้งและอินในอารมณ์ แต่ว่ากันว่าจุดเริ่มนั้นมาจากหลายคน ในยุค 80’ ไม่ว่าจะเป็น "ดอคเตอร์เจ" หรือ จูเลียส เออร์วิ่ง ยอดนักแม่นห่วงจาก ฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ส ที่ปะทะกับ แลร์รี่ เบิร์ด ผู้เล่นระดับตำนานของ บอสตัน เซลติกส์

โดยในปี 1984 ก่อนที่ทีมของทั้งคู่จะเจอกันนั้นได้เกิดการพูดจายั่วยุเกิดขึ้น มีการให้สัมภาษณ์กันผ่านสื่อเชิงเหยียดทีมตรงข้าม และบอกว่าทีมตนนั้นเจ๋งกว่า จากการให้สัมภาษณ์สื่อจนกระทั่งมาเจอกัน ผู้เล่นทั้งสองทีม โดยเฉพาะเบิร์ดกับเออร์วิ่งนั้นต่างประชดประชัน กล่าวบลัฟใส่กันด้วยคําพูดในเชิงที่ว่า “รู้ไหมข้าเป็นใคร ข้าเจ๋งแค่ไหน” ลงท้ายจากคําพูดแทรชทอล์คในเชิงเหยียดหยามนั่น สุดท้ายลงด้วยการตะลุมบอน บีบคอ และลงไม้ลงมือกัน จน ดิค โบเวตต้า กรรมการที่ตัดสินในเกมนั้นเปรยให้กับสื่อฟังหลังเกมจบว่า “มันเป็นเกมที่แย่มาก มันมีแต่คําพูดที่แย่ๆ”

 2

แทรชทอล์คในยุค '80 จะเป็นการพูดจากันตรงๆ ไม่ได้เน้นจิตวิทยาเข้ามาเกี่ยวข้องมากนักและจะเป็นการพูดข่มกัน ข้าแน่ ข้าเจ๋ง ทีมเอ็งอ่อน และลงท้ายด้วยการยุทําให้คู่ต่อสู้เสียสมาธิไปในท้ายที่สุด

“คุณต้องระวังพระเจ้าไว้ให้ดี เขามักจะได้ฟาล์วง่ายๆเสมอๆ” ไอเซย์ โธมัส กัปตันทีม ดีทรอยต์ พิสตันส์ ยุคแบดบอยส์ ที่สามารถคว้าแชมป์ NBA ได้ 2 สมัยติดต่อกันได้ให้สัมภาษณ์เชิงแทรชทอล์คกระทบกระทั่งกับสื่อถึง ไมเคิล จอร์แดน ที่ตอนนั้น ชิคาโก้ บูลส์ ของจอร์แดนต้องเจอกับพิสตันส์บ่อยครั้งในรอบเพลย์ออฟ และเมื่อเจอในเกมไอเซย์ก็ได้ไปยั่วยุผู้เล่นดาวรุ่งของบูลส์ในยุคนั้นหลายคนไม่ว่าจะเป็น สก็อตตี้ พิพเพ่น กับ โฮเรซ แกรนท์ ที่ยังคุมสติได้ไม่ดีนักในช่วงปีแรกๆ ทําให้ทีมบูลส์ในชุดนั้นกระเจิง บวกกับสิ่งที่ไอเซย์พูดสื่อถึงจอร์แดน ทําให้คนดูจับตามอง กรรมการก็ต้องเข้ม และนั่นเป็นผลตามมาทําให้ในหลายปีนั้นบูลส์ของจอร์แดนไม่อาจผ่านพิสตันส์ ของ ไอเซย์ ไปได้ ในช่วงปี 1989-90

เพิ่มชั้นเชิงในยุค '90

จะว่าไปในการแทรชทอล์คในยุคแรกเริ่มนั้นยังไม่มีการใส่ศิลปะการพูดจา หรือพูดชักแม่นํ้าทั้งห้า แต่มันเป็นการพูดจาตรงๆ แต่นั่นมันทําให้นักบาสในยุคต่อมาใช้เป็นจุดเริ่ม การแทรชทอล์คในยุคถัดมา มันจึงเป็นการผสมผสานจิตวิทยา ศิลปะการพูด การโน้มน้าว ข่มขวัญ หรือแม้แต่การยั่วยุเข้ามาเกี่ยวข้อง ไมเคิล จอร์แดนได้บอกไว้ว่า “ผมไม่ค่อยพูดจาแบบนั้นเท่าไรหรอก ผมเอาเวลาไปมุ่งมั่นในเกมดีกว่า” จอร์แดนเคยบอกไว้ในช่วงยุค ‘90

 3

แต่สิ่งนั้นมันไม่เป็นความจริง ซึ่ง เอ็ดดี้ โจนส์ ได้บอกพร้อมกับเสียงปนฮาถึงอดีตที่เขาเคยเจอกับจอร์แดนในปี 1997 สมัยที่เจ้าตัวอยู่กับ แอลเอ เลเกอร์ส ว่า “ไมเคิลร้ายเลยแหละ เขาอาจไม่ใช่พวกแทรชทอล์ครุนแรง ตอนประกบกันเขามักจะบอกว่า ‘คุณตั้งใจป้องกันผมหน่อยนะ มันจะเสียหายมากถ้าผมสามารถทําคะแนนใส่คุณได้’ แล้วคุณรู้ไหมเมื่อเขาทําคะแนนใส่คุณได้เขาจะเดินเข้ามาบอกคุณว่า ‘เอาละ ไม่เป็นไรคุณผิดพลาด เรามาเริ่มกันใหม่ คุณป้องกันผมให้ได้นะ’ และแน่นอนผมโดนไปหลายดอกเลย” … การประกบนักบาสเก็ตบอลที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์มันก็เหนื่อยแบบนี้แหละ

จอร์แดนอาจจะเป็นพวกแทรชทอล์คที่ไม่ใช่ประเภทจี้ใจดํา แต่จะเป็นประเภทยั่วคู่ต่อสู้แบบมีชั้นเชิง เขาจะอาศัยการเล่นนั้นควบคู่ไปด้วย ซึ่งต่างกับคู่กัดของเขา แกรี่ เพย์ตัน ตำนานแห่ง ซีแอตเทิล ซูเปอร์โซนิคส์ ที่ว่ากันว่าเป็นอีกหนึ่งคนที่เป็นแทรชทอล์คประเภท “พูดไม่หยุด” สไตล์การพูดระหว่างแข่งของเพย์ตันจะไม่ใช่การข่มขวัญ แต่จะเป็นการพูดมาก พูดมากเสียจนทําให้คู่ต่อสู้เกิดความรําคาญ และพูดเรื่องราวต่างๆหยิบยกเรื่องราวใกล้ตัวเข้ามาคุย จนทําให้เกิดความรําคาญ

 4

เรื่องนี้ รอน ฮาร์เปอร์ อดีตผู้เล่นยุคแชมป์ 3 สมัยหลังของบูลส์ทราบดีในระหว่างรอบชิงชนะเลิศปี 1996 ที่บูลส์ปะทะกับโซนิคส์นั้น รอน ฮาร์เปอร์ มีหน้าที่ต้องประกบ แกรี่ เพย์ตัน โดยเขาได้รับมอบหมายจากโค้ชของทีมอย่าง ฟิล แจ๊คสัน มา เพราะฮาร์เปอร์เป็นการ์ดที่ป้องกันได้ดี แต่ในเกม 1 เล่นเอาฮาร์เปอร์นั้นใส่เกมส์รับกับเพย์ตันไม่เป็นเลย เพราะฮาร์เปอร์นั้นโดนเพย์ตันพูดจาใส่ทั้งเกมโดยเขาให้สัมภาษณ์หลังจบซีรีส์ที่บูลส์คว้าแชมป์ว่า “การที่ผมต้องประกบเขามันทําให้ยุ่งยากมาก เขาเป็นประเภทที่พูดไม่หยุดเลย เขาจะพูดใส่คุณตลอดในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง สิ่งที่จะทําได้คือพยายามไม่ฟังมันซะ” ฮาร์เปอร์กล่าว

ซึ่งได้มีการไปถามฮาร์เปอร์ว่า แล้วเพย์ตันนั้นพูดอะไรบ้างละ “ถามว่าญาติผมสบายดีไหม บ่นเรื่องราวดินฟ้าอากาศ และถามว่าดูหนังเรื่องนี้หรือยัง” บางสื่อยังบอกว่าเพย์ตันนั้นถึงกับต้องเล่นจี้ปมและจี้ใจดํา ฮาร์เปอร์ ด้วยการพูดจาตะกุกตะกักตลอด ซึ่งในอดีตฮาร์เปอร์เคยเป็นคนพูดติดอ่างมาก่อน

ผู้เชี่ยวชาญด้านแทรชทอล์ค

แม้ว่าในยุค ‘90 การแทรชทอล์คนั้นจะเป็นแค่คําพูด แต่บุคคลที่ได้รับการยอมรับในยุคนั้นว่าเป็นแทรชทอล์คตัวพ่อที่ทําให้คู่แข่งนั้นรําคาญ แต่กลับกันทําให้เพื่อนร่วมทีมและคนดูชื่นชอบ รวมถึงทําให้คนชมในสนามนั้นเกิดอารมณ์ร่วมคงไม่พ้น “เดนนิส ร๊อดแมน” หรือ “เดอะ เวิร์ม” ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในช่วงที่อยู่กับ พิสตันส์ และ บูลส์ ในช่วงปลายยุค '80 ถึงยุค '90

 5

ในยุคแรกที่ ร๊อดแมน อยู่กับ พิสตันส์ นั้นเขาบอกว่าได้รับการถ่ายทอดทุกอย่างมาจากทั้ง ไอเซย์ โธมัส และ ริค มาฮอร์น ซีเนียร์ ในทีมก่อนเขาจะคว้าแชมป์ NBA ได้เสร็จ และเมื่อมาอยู่ที่ ชิคาโก บูลส์ นั้นร๊อดแมนถือว่าเป็นตัวชนของทีมเลยก็ว่าได้ การทําลายเกม ไม่ว่าคู่ต่อสู้จะแน่มาจากไหนก็ตาม

เขาอาจจะขึ้นชื่อเรื่องการรีบาวด์ และเก็บวงใน แต่ส่วนประกอบอื่นๆ ร๊อดแมนที่ทําคือ ยั่วยุคู่ต่อสู้ กวนประสาทคู่ต่อสู้ทําให้คู่ต่อสู้ตบะแตก หลุดจากเพลย์ที่เคยทำได้และทำให้สถานการณ์พลิกกลับมาเป็นทีมของตัวเองที่ได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น “ผมก็แค่พูดของผมไปเรื่อย มันช่วยไม่ได้ที่เขาตบะแตกเอง” ร๊อดแมนกล่าว

และเหล่าคนที่โดน ร๊อดแมน ปั่นประสาทอยู่บ่อยๆคือ แชคีล โอนีล, แพทริค ยูวิง, อลองโซ่ มัวร์นิ่ง, ชาร์ล บาร์คลีย์ รวมถึง คาร์ล มาโลน ต่างลงความเห็นว่าการแทรชทอล์ค หรือการปั่นประสาทคู่ต่อสู้แบบของร๊อดแมนนั้น “น่ารําคาญที่สุด” แม้ว่ามันอาจทําให้พวกสตาร์ที่มีประสบการณ์สูงบางคนไม่สนใจ แต่มันได้ผลดีกับพวกที่เข้าลีกมาใหม่ หรือกับพวกที่จิตยังไม่นิ่งพอ “เขาโคตรน่ารําคาญเลย ผมไม่อยากอยู่ใกล้เขาในตอนนั้นเลย” แชคพูดถึงการประกบกับร๊อดแมนในเกมส์รอบชิงแชมป์สายระหว่าง ออร์แลนโด้ แมจิค กับ บูลส์ เมื่อปี 1996 ซึ่งตอนนั้นร๊อดแมนที่ไซส์เพียงแค่ 6 ฟุต 8 นิ้วต้องประกบกับแชคที่ขนาดตัว 7 ฟุต 1 นิ้ว แต่ร๊อดแมนสามารถหยุดแชคได้และไม่ใช่แค่เกมเดียว แต่แทบทั้งซีรีส์และบูลส์ก็กวาดชัยชนะ 4 เกมส์รวดเลยทีเดียว

แชค อาจจะรําคาญในรูปแบบการปั่นประสาทของร๊อดแมน แต่มีหลายคนที่ดวลกับร๊อดแมนและเจอกับฝีปากของเขาจนอดใจไม่ไหว ที่สุดเเล้วต้องจบลงที่วางมวยคาสนาม นั่นคือ อลองโซ่ มัวร์นิ่ง เซ็นเตอร์ของ ไมอามี่ ฮีต ในขณะนั้น

 6

“เขาน่ารําคาญมาก พูดจากวนประสาทไม่พอ แถมแสดงท่าทางยั่วยุอีกต่างหาก และสิ่งที่เขาพูดมันไร้สาระสิ้นดี สิ่งที่ผมทําได้คือเงียบและไม่ตอบโต้ ไม่อย่างงั้นแล้วจะเป็นเหยื่ออารมณ์เขา” มัวร์นิ่งกล่าวถึงการประกบกับร๊อดแมนในรอบชิงแชมป์สายปี 1997 ระหว่าง บูลส์ กับ ไมอามี่ ฮีต แต่จนแล้วจนรอด มัวร์นิ่ง ในซีรีส์นั้นก็ตบะแตกไม่สามารถทนต่อการป่วนของร๊อดแมนได้ จนกระทั่งต้องคว้าร๊อดแมนเข้าไปต่อย และกลายเป็นเหยื่อของร๊อดแมน ทําให้เกมส์ของฮีตเสีย จนบูลส์ผ่านเข้ารอบชิงไปได้ในท้ายที่สุด

แม้ว่าการแทรชทอล์คนั้นจะทําให้หลายคนเกลียด ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามไม่พอใจ รวมถึงแฟนๆทีมคู่แข่งนั้นต่างพากันเหม็นหน้าของผู้เล่นคนนั้น แต่มันหนีความจริงไม่ได้ว่าเทคนิคนี้สามารถช่วยทีมได้ ทําให้ฝั่งตรงข้ามเกมเสียและเป็นจุดที่ทําให้ทีมได้รับชัยชนะได้ บางคนบอกว่ามันเป็นศิลปะการพูดจาที่ต้องรวมเอาจิตวิทยา ทักษะการพูด และการควบคุมสตินํามาประกอบกันเพื่อนํามาใช้ แต่ที่แน่ๆมันได้ผลและช่วยทีมได้มาก เหมือนอย่างที่จอร์แดนเคยให้เครดิตการแทรชทอล์คของเดนนิส ร๊อดแมน เพื่อนร่วมทีมเขาไว้ว่า “ผมไม่รู้ว่าใครจะว่ายังไงนะ แต่มันช่วยทีมได้จริงๆ มันเปลี่ยนเกมได้” จอร์แดนกล่าว

ยุคมิลเลนเนียม เพิ่มความเข้ม+หาทางเเก้

ในยุคปัจจุบันนั้นผู้เล่น NBA นอกจากจะมีการแทรชทอล์คกับคู่แข่ง เพื่อทําให้ทีมตนเองได้เปรียบแล้ว ความเข้มข้นในการปั่นประสาทยังเพิ่มข้นจนลามไปถึงมีการใช้แทรชทอล์คกับผู้ตัดสินด้วยซํ้า

 7

“โค้ชป๊อป” เกร็ก โปโปวิช ของ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ได้ให้เหตุผลเรื่องนี้ไปในทิศทางที่เห็นด้วยแบบเต็มๆว่า “การไปคุยกับกรรมการนะเหรอ ผมว่าเป็นสิ่งที่ทําได้นะ เป็นการชี้ให้เห็นถึงมุมมองเรา”

เขาคือโค้ชที่เข้าไปคุยกับผู้ตัดสินบ่อยครั้ง ซึ่งนั่นทําให้สื่อทางอเมริกาลงความเห็นว่า การเข้าไปคุยกับผู้ตัดสินแบบนั้นบ่อยๆ มันได้ผลในเรื่องของจิตวิทยา ทําให้ผู้ตัดสินสังเกตมากขึ้น มันได้ผลเมื่อผู้ตัดสินหลายคนนั้นเพ่งดูสิ่งที่ยอดโค้ชอย่างป๊อปบอก ไม่ว่าจะเป็นการฟล็อบ (แกล้งล้ม) ของ เลอบรอน เจมส์ การเรียกกินฟาล์วของ คริส พอล หรืออื่นๆอีกมากมาย ซึ่งมันได้ผลทางจิตวิทยาอย่างดี

ในยุคนี้ผู้เล่นหลายคนที่ได้รวมเอาการแทรชทอล์คทั้งสองยุคเข้ามาด้วยกัน คือยั่วยุปั่นประสาทผู้เล่น กับปั่นประสาทผู้ตัดสินมาแบบเห็นได้อย่างชัดเจนคือ เดรย์มอนด์ กรีน ฟอร์เวิร์ดของทีมโกลเด้น สเตท วอร์ริเออร์ส ซึ่งตัวของเขานั้นดูเหมือนจะภูมิใจในเรื่องการแทรชทอล์คของตัวเองเป็นอย่างมาก

“ผมเป็นคนที่ปั่นประสาทได้ดีที่สุดเลยล่ะ มันไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถสอนกันได้หรอกนะของแบบนี้น่ะ” กรีนกล่าวอย่างภูมิใจ การปั่นประสาทของกรีนนั้น คือการที่เขาเข้าไปคุยกับคู่ต่อสู้ยั่วยุ และทําให้คู่ต่อสู้อารมณ์เสีย หรือตบะแตก และทํากับเอซ หรือเบอร์หนึ่งของฝั่งตรงข้ามแทบทั้งนั้น เลอบรอน เจมส์ ก็ยังเคยตบะแตกกับการพูดปั่นประสาทของกรีนมาหลายครั้งแล้ว และทําให้เกมเสียในรอบชิงชนะเลิศ จนทําให้ วอร์ริเออร์ส คว้าแชมป์ NBA ปี 2017 ด้วยการเอาชนะ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ไปได้

 8

เควิน ดูแรนท์ ที่เคยเป็นอดีตคู่แข่งของกรีน และได้ย้ายมาอยู่ทีมเดียวกันที่วอร์ริเออร์ส ก็ยอมรับว่าเขาเคยโดนเกมแทรชทอล์คของ กรีน มาจำนวนไม่น้อย และโชคดีสำหรับตัวของเขานั้นได้มาอยู่เป็นเพื่อนร่วมทีมกับ กรีน ในเวลานี้

“โชคดีที่ผมได้อยู่ทีมเดียวกับเขาในตอนนี้นะ สมัยที่เราเป็นคู่แข่งกันผมต้องประกบกับเขาบอกได้เลยเขาจะคุยกับคุณทั้งเกม และการพูดของเขาจะมีอารมณ์ร่วมเข้ามาเกี่ยวข้องเอามากๆ” เคดีกล่าว ซึ่งการปั่นประสาทของกรีนที่ "เคดี" บอกมักจะเป็นการแทรชทอล์คในคําพูดที่ข่มขู่ “คุณมันห่วย” “ทีมคุณกําลังจะแพ้” “คุณไม่มีทางชนะพวกเราไปได้หรอก เพราะอะไรรู้ไหม ทีมเราเจ๋งกว่าทีมคุณไงละเว้ย” หรืออื่นๆอีกมากมายที่กรีนจะจัดเต็มกับคู่แข่ง

นอกจากนั้นกรีนสายปั่นประสาทยังมีการไปแทรชทอล์คกับผู้ตัดสินด้วย ไม่ว่าจะทางการแสดงอารมณ์ออกทางหน้าตา หรือพูดจาแรงๆสักทีแล้วยอมเสียเทคนิคัลฟาล์วเพื่อให้เกมเปลี่ยน สก๊อต ฟอสเตอร์ กรรมการที่เคยตัดสินเกมส์ของวอร์ริเออร์สมาหลายทีก็ยังเคยบอกว่า “กรีนนั้นเป็นคนที่กล้าชนและคุยตรงๆกับผู้ตัดสินในกรณีที่ไม่พอใจการตัดสินใจเพลย์นั้นๆ แน่นอนว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนคําตัดสินได้ แต่มันสามารถทําให้ผู้ตัดสินเกิดความเอะใจขึ้นมาได้”

แม้ว่าการแทรชทอล์คของกรีนที่เจ้าตัวบอกว่า คือเจ้าพ่อการแทรชทอล์คแห่งยุคนี้ แต่อย่างไรก็ตามมี 2 คนที่เขาไม่สามารถปั่นประสาทได้คือ โคบี้ ไบรอันท์ ซึ่งในสมัยที่ มาร์ค แจ๊คสัน คุมทีมวอร์ริเออร์ส นั้น กรีนต้องประกบโคบี้และเขาพยายามที่จะยั่วยุโคบี้ เหมือนกับที่เคยทำมาเป็นประจำ

“ผมจําได้ตอนนั้นว่าน่าจะเล่นในลีกปีที่สองมั้ง ตอนนั้นผมต้องประกบโคบี้ผมพยายามพูดยั่วยุเขาต่างๆนานา แต่มันไม่เป็นผลเลยจนผมอารมณ์เสียเอง ผมพูดเหมือนคนบ้าคนเดียว จนโค้ชมาร์ค แจ๊คสัน บอกว่าให้หุบปากแล้วออกมานั่งได้แล้ว” นั่นทําให้ผมรู้ว่าการแทรชทอล์คผมไม่สามารถทําอะไรโคบี้ได้เลย

อีกรายที่กรีนไม่สามารถทําอะไรได้ในการแทรชทอล์คคือ ทิม ดันแคน เซ็นเตอร์ของสเปอร์ส ที่ไม่ว่าเขาจะแหย่ไปเท่าไหร่ก็ไม่มีเสียงตอบรับจากผู้เล่นร่างยักษ์เลยแม้แต่นิดเดียว

 9

“ผมพยายามปั่นประสาท ทิม ดันแคน ผมรู้มาก่อนว่ามันไม่ใช่งานง่าย ผมพยายามยั่วยุดันแคนต่างๆนานา บอกเขาว่า เห้ย ดันแคน คุณไม่หายใจบ้างเลยเหรอ คุณเหมือนต้นไม้เลยนะ ผมไม่เห็นคุณหายใจเลย หรือพูดกระทบเขาตลอดเกม”

“สิ่งที่เขาตอบสนองผมมาคือความเงียบ ผมทําแบบนั้นทั้งเกมแต่ไม่มีปฏิกริยาตอบสนอง ผมเลยบอกตัวเองว่า พอละ ไม่ทํามันแล้ว เพราะการแทรชทอล์คทําอะไรคนๆนี้ไม่ได้” กรีนกล่าวถึงการปั่นประสาททิม ดันแคน ฟอร์เวิร์ดหน้าเดียวของสเปอร์ส

ชัยชนะที่น่าภูมิใจ?

บางคนอาจมองว่า แทรชทอล์ค คือ ศิลปะการพูดจากวนประสาทคู่ต่อสู้ บางคนอาจบอกว่าแทรชทอล์คคือเทคนิคที่ทําลายเกม แต่สําหรับ คาร์เมโล่ แอนโธนี่ ฟอร์เวิร์ดมากประสบการณ์ที่เล่นให้ ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ เป็นทีมล่าสุด ไม่คิดเช่นนั้น เมโล่บอกว่ามันคือสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ด้วยซํ้า เพราะมันทําลายเกมดีๆไปหมดสิ้น และบางครั้งมันลามปามไปถึงเรื่องของครอบครัวเลยทีเดียว

 10

หลายคนอาจสงสัยว่าทําไม คาร์เมโล่ แอนโธนี่ ถึงได้ไม่ชอบการแทรชทอล์คเอาซะขนาดนี้… เรื่องดังกล่าวต้องย้อนกลับไปถึงปี 2013 สมัยที่ เมโล่ ยังเป็นตัวทำแต้มและทุกสิ่งทุกอย่างของ นิวยอร์ก นิกส์ วันนั้นทีมของเขามีคิวเจอกับ บอสตัน เซลติกส์ ซึ่งมี เควิน การ์เน็ตต์ นำทัพ

แน่นอน ด้วยความที่เป็นเบอร์ 1 ของทีม “เคจี” จึงต้องสลับไปทำหน้าที่ประกบแอนโธนี่อยู่เป็นระยะ ทว่าตัวของแอนโธนี่เองก็มีจุดบอดสำคัญอยู่ นั่นคือการเป็นนักบาสที่ตบะแตกได้ง่ายมาก และเป็นจุดที่การ์เนตต์เองก็รู้ดี พอถึงช่วงที่ต้องไปประกบ เขาจึงจัดการแทรชทอล์คใส่เมโล่ในเชิงที่พูดถึงภรรยาของเมโล่ และพูดถึงเรื่องการหลับนอนของภรรยาเมโล่... แม้จะดูเลวร้าย ทว่ามันกลับได้ผลในแง่ของผลการเเข่งขัน

หลังจากที่ เคจี ไปปั่นประสาท เมโล่ เขาตบะแดกจนถึงขั้นด่าคืนกลางสนาม “ไอ้เวรตะไล มาว่าเมียกูได้ไงวะ” หลังจากนั้นเมโล่สติไม่อยู่กับเกม และทําให้ นิกส์ นั้นตกเป็นรองและแพ้ไปในที่สุด

แต่เกมส์แพ้คนไม่แพ้เขาได้ไปท้า เคจี ซึ่งๆหน้าก่อนออกจากสนาม “เห้ย กูจะรอเมิงอยู่ที่ลานจอดรถนะ แน่จริงมา” เมโล่พูดก่อนที่เพื่อนร่วมทีมจะคว้าตัวเขากลับเข้าล๊อคเกอร์รูม และจากคําพูดแค่สองสามประโยคของเควิน การ์เนตต์ มันทําให้ทีมของเขาได้รับชัยชนะ เพราะเมโล่นั้นสติแตกและไม่สามารถอยูในเกมต่อไปได้ ซึ่งแน่นอนว่า การ์เนตต์ ไม่ได้ไปตามนัดที่ เมโล่ เสนอมา นั่นเพราะว่าภารกิจของเขาสำเร็จเเล้ว

แม้จะดูเป็นชัยชนะที่สกปรก แต่การแข่งขันกีฬาอาชีพนั้น ชัยชนะ คือสิ่งสำคัญที่สุดอย่างปฎิเสธไม่ได้ ดังนั้นไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมพวกเขาพร้อมจะใช้วิธีเหล่านี้เพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้

ตราบใดยังไม่มีกฎข้อห้ามแบบเป็นลายลักษณ์อักษร แน่นอนว่า “แทรชทอล์ค” จะเป็นอาวุธลับที่สกปรกแต่ไม่ผิดกติกา ทุกคนสามารถทำได้ ดังนั้นเหล่าผู้เล่นทั้งหลายต้องเริ่มแก้ไขจากตัวเองเป็นอันดับแรก พวกเขาต้องมีสมาธิ อยู่กับเกมให้ได้ครบทุกวินาที

เพราะหากเผลอไหลไปตามเกม รับรองได้ว่า “แทรชทอล์ค” จะเล่นงานพวกเขาจนพานพบกับความพ่ายแพ้อย่างแน่นอน

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : "แทรชทอล์ค" ศิลปะหรือวาทะสกปรกที่สามารถทำให้ชนะได้ง่ายขึ้น?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook