"ซาฮิบ อับบาส" : ตำนานลีกอิรักผู้รอดโทษประหารจากระบอบซัดดัมด้วยฟุตบอล

"ซาฮิบ อับบาส" : ตำนานลีกอิรักผู้รอดโทษประหารจากระบอบซัดดัมด้วยฟุตบอล

"ซาฮิบ อับบาส" : ตำนานลีกอิรักผู้รอดโทษประหารจากระบอบซัดดัมด้วยฟุตบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เขาถูกซ้อม ถูกทรมาน และเกือบโดนประหาร จากการต่อต้านท่านผู้นำ แต่ก็ผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้เพราะลูกกลมๆ ลูกนี้

หากเอ่ยถึงอิรัก ชื่อของ ซัดดัม ฮุสเซน อดีตผู้นำจอมเผด็จการน่าจะเป็นชื่อลำดับต้นๆ ที่หลายคนนึกถึง เขาปกครองประเทศอย่างเด็ดขาด จัดการกลุ่มผู้เคลื่อนไหวอย่างไม่ปราณี โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มทางศาสนาที่พยายามเรียกร้องอิสรภาพในการปกครองตัวเอง

 

ซาฮิบ อับบาส ดาวยิงระดับตำนานของลีกอิรัก คือหนึ่งในนักเตะที่เกือบสังเวยชีวิต จากระบอบการปกครองนี้ แต่ก็รอดชีวิตมาได้อย่างเหลือเชื่อ และนี่คือเรื่องราวของเขา

แนวร่วมผู้ต่อต้าน

ย้อนกลับไปในสมัยที่ ซาฮิบยังเป็นวัยรุ่น เขาก็เหมือนผู้ชายอิรักทั่วไปที่ชื่นชอบฟุตบอล แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มีความไม่พอใจ ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำจอมเผด็จการที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 1979 

 1

จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในปี 1990 หลังซัดดัมสั่งกองทัพบุกยึดครองคูเวต ที่ต่อมากลายเป็นชนวนของสงครามอ่าวเปอร์เซีย การกระทำนี้ได้เกิดเสียงต่อต้านจากนานาชาติเป็นวงกว้าง กองกำลังพันธมิตรที่ทำโดยสหรัฐอเมริกาออกมาเรียกร้องให้อิรัก ถอนกำลังออกจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นการด่วน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง 

ประธานาธิบดี จอร์จ บุช ผู้นำของอเมริกาในตอนนั้น จึงเรียกร้องให้ประชาชนชาวอิรักที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของซัดดัม ปฏิบัติการเพื่อกดดันให้ผู้นำประเทศของพวกเขายอมถอย และลาออกจากตำแหน่ง 

ซาฮิบในตอนนั้น มีความไม่พอใจต่อระบบซัดดัมอยู่แล้ว จึงรวมกลุ่มกับน้องชายสองคนและเพื่อน ขับรถโตโยต้า แลนด์ ครุยเซอร์ ของพ่อเข้าโจมตีด่านตรวจของทหาร แต่หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลก็ประกาศชัยชนะเหนือผู้ต่อต้านอย่างเด็ดขาด ซึ่งทำให้ ซาฮิบต้องหนีเอาตัวรอด 

 2

ในระหว่างที่กำลังหลบหนี เขาได้ติดต่อกับ อดีตโค้ชคนหนึ่ง โค้ชคนดังกล่าวแนะนำให้เขากลับไปเล่นฟุตบอล ที่น่าจะช่วยให้เขาปลอดภัย และในตอนนั้น ซาลาฮัดดิน สโมสรที่ตั้งอยู่ที่เมืองทิกริต บ้านเกิดของซัดดัม กำลังมองหากองหน้าอยู่พอดี หากเขาไปทดสอบฝีเท้าจนได้เซ็นสัญญา สถานะนักฟุตบอลของทีมในบ้านเกิดของประธานาธิบดี น่าจะทำให้เขารอดพ้นจากการจับกุมได้  

อับบาสเชื่ออดีตโค้ชของเขา จึงยอมไปทดสอบฝีเท้า และผลก็ออกมาว่าเขาได้เป็นนักเตะของ ซาลาฮัดดินสมใจ แม้จะเป็นแค่นักเตะดาวรุ่ง แต่ก็สามารถประเดิมสนามได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยผลงาน 2 ประตูตั้งแต่นัดแรก 

ตอนนี้เจ้าหน้าที่น่าจะลืมเรื่องของเขาไปแล้ว แต่เล่นไปได้แค่ 4 เกม เขาก็ต้องได้รับข่าวร้ายเมื่อกลับไปถึงบ้าน

น้องชายผมหายไป 

 3

“พวกเขามา และเอาตัวเขาไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว” แม่ของซาฮิบบอกเจ้าตัวตอนที่เขาเดินทางมาถึง 

ซาฮิบ มีน้องชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า ฟัดฮิล ซึ่งต้องพิการไร้ขาในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย เขาคือหนึ่งในกลุ่มของซาฮิบ ที่ต่อต้านการปกครองของซัดดัมเมื่อหลายเดือนก่อน ก่อนที่จะหลบหนี และ “พวกเขา” ที่ว่าก็คือเจ้าหน้าที่จากทางการ

ซาฮิบ บอกแม่ว่าเขาจะไปถามความจริงจากหน่วยความมั่นคงของท้องถิ่นว่ามันเกิดอะไรขึ้น เขาเชื่อว่าตัวเองน่าจะปลอดภัย เนื่องจากเป็นนักเตะของ ซาลาฮัดดิน สโมสรที่นำโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค บะอัธ ที่ได้รับการหนุนหลังจากระบอบการปกครองของซัดดัม เขาเข้าไปคุยกับ โมฮัมเหม็ด อัล วาตานี ประธานสโมสร หรือรู้จักกันในชื่อ “อาบู คาห์ลา” เพื่อขอคำปรึกษา

อาบู คาห์ลา แนะนำให้ไปติดต่อกับคนคนหนึ่งในคาร์บาลา พร้อมยืนยันว่า ซาฮิบ สามารถติดต่อคนนี้ได้ทุกครั้งหากมีปัญหา เขาชื่อว่า ร้อยเอกซูแฮร์ ซึ่งรับหน้าที่สอบสวนเกี่ยวกับความมั่นคงในคาร์บาลา 

ซาฮิบ เดินทางไปหาร้อยเอกซูแฮร์ทันที เพื่อถามเกี่ยวกับเรื่องน้องชาย แต่ราวกับว่าเป็นกับดัก เมื่อเขาคนนี้ คือคนที่กำลังเฝ้าจับตาเขามาอย่างยาวนาน 

 4

“ผมถามเกี่ยวกับน้องชายของผม” ซาฮิบย้อนความหลัง 

“เขาก็ถามกลับมาว่าคุณคือใคร ผมตอบไปว่าซาฮิบ อับบาส จากนั้นร้อยเอกก็ตอบมาว่าเรากำลังตามหาคุณอยู่ และบอกว่าเราจะจับตัวคุณตั้งแต่เกมพบนาจาฟแล้ว แต่อาบู คาห์ลา บอกว่าสโมสรไม่มีกองหน้า” 

ซาฮิบ ถึงกับตัวแข็งทื่อหลังได้ยินประโยคนั้น อันที่จริงเขาเกือบถูกจับแล้ว หากประธานสโมสรไม่ได้ขอไว้ และเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ลืมเรื่องของเขา เขากำลังเข้าตาจน และเพิ่งรู้ว่าตัวเองกำลังบุกถ้ำเสือ ที่ชาวบ้านต่างพูดกันว่าหากใครเข้ามาในที่ทำการของหน่วยความมั่นคงแล้วจะไม่มีวันได้กลับออกไปอย่างเด็ดขาด

ซาฮิบ พยายามอธิบาย แต่ไม่มีใครฟังเขา เขาคือผู้ต้องหาที่ทางการต้องการตัวจากคดีความมั่นคงที่มีโทษร้ายแรง เขาถูกเค้นสอบอย่างหนักจากพฤติการณ์ที่เคยทำไว้ 

“มึงอยากทำอะไร อยากเป็นนายกเทศมนตรีของคาร์บาลาเหรอ? ทำอะไรไปบ้าง? ฆ่าไปแล้วกี่คน? วางระเบิดอะไรไปบ้าง? ชื่อของมึงและข้อมูลทั้งหมดอยู่ที่นี่แล้ว” นี่คือคำถามที่รัวออกมาจากปากเจ้าหน้าที่ 

ทั้งที่เหมือนจะหนีรอดไปแล้วแท้ๆ แต่กลายเป็นตัวเขาเองที่กลับมาให้จับถึงที่

โทษคือประหาร 

 5

ซาฮิบ ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เขาถูกมัดมือ ปิดตา และโยนเข้าไปในคุก เพื่อนของเขาอีก 4 คนที่เคยเป็นกลุ่มแนวร่วมต่อต้านก็ถูกจับมาด้วย ในแต่ละวันเขาจะถูกพาไปที่ห้องสอบสวน ที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และโหดร้าย 

เขาถูกเจ้าหน้าที่ตีหลายครั้ง และไม่รู้ว่าใครที่เป็นคนทรมานเขา จากนั้นเขาถูกไปนั่งบนเก้าอี้ไฟฟ้า ถูกมัดมือ มัดเท้า และอวัยวะเพศ เขาต้องตอบคำถามจากเจ้าหน้าที่ หากโกหกเครื่องจะรู้และปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาดูดทันที 

“พวกเขาตีผม พวกเขาชกผมในคุกที่อิรักหลายครั้ง” ซาฮิบกล่าว

อย่างไรก็ดี โชคดีที่เขารอบคอบ ก่อนหน้าที่จะออกจากบ้าน ซาฮิบบอกแม่ว่าเขาจะไปที่ไหน ถ้าเขากลับบ้านช้าหรือไม่กลับมา ให้แม่ไปที่สโมสรซาลาฮัดดิน และบอก อาบู คาห์ลา ประธาน และ อับเดลิเลาะห์ อับดุล ฮาเหม็ด โค้ชของเขาว่าเขาอยู่ที่ไหน 

หลังจากแม่เดินทางไปที่สโมสร ทำให้คนของสโมสรต่างรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เล่นของ ซาลาฮัดดิน บางส่วนจึงยื่นคำขาดว่าพวกเขาขอประท้วงไม่ลงเล่น พร้อมบอกว่า ถ้า ซาฮิบ ไม่ได้อยู่ในทีม พวกเขาก็จะไม่ยอมลงแข่งเด็ดขาดอีกเด็ดขาด 

 6

พวกเขาทำไปเพื่อกดดันให้ทางการปล่อยตัวเพื่อนของเขาให้เป็นอิสระ และมันก็ได้ผลเมื่อ อาบู คาห์ลา และ อับดุล ฮาเหม็ด ตัดสินใจเดินทางจากเมืองทิกริต มาที่ คาร์บาลา เมื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของทางการ ก่อนที่วันต่อมา ซาฮิบ ถูกปล่อยตัวออกมาอย่างปลอดภัย และกลับมาอยู่ในเส้นทางของชีวิตนักเตะอาชีพอย่างที่ควรจะเป็น 

อย่างไรก็ดี โชคร้ายที่เพื่อนของเขาอีก 4 คนและฟัดฮิล น้องชายของเขาต้องถูกประหารชีวิตอย่างน่าเศร้า จากข้อหาการมีส่วนร่วมในเหตุจลาจลเมื่อปี 1991

สู่ตำนานลีกอิรัก 

 7

หลังเหตุการณ์นองเลือดอย่างยาวนาน ในที่สุดระบอบซัดดัม ก็ถูกโค่นล้มลงในปี 2003 ซึ่งทำให้ ซาฮิบได้รู้ว่า โมฮัมเหม็ด น้องชายอีกคนของเขาที่เคยเป็นแนวร่วมต่อต้านซัดดัม ยังมีชีวิตอยู่ หลังลี้ภัยไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่านมานานหลายปี 

ในขณะที่ ซาฮิบ ก็ค่อยๆ สร้างชื่อหลังรอดตายจากโทษประหาร เขากลายเป็นกองหน้าที่ดีที่สุดของลีก หลังยิงประตูถล่มทลายจนคว้าตำแหน่งดาวซัลโวของ สโมสรซาลาฮัดดิน 2 ปีติดต่อกัน จนได้ย้ายไปเล่นให้กับทีมใหญ่อย่าง อัล ซอว์รา แบกแดด ในปี 1993

แม้จะเล่นให้กับทีมระดับท็อปของประเทศ แต่ผลงานของซาฮิบก็ไม่ได้ตกลง เขายังรัวตาข่ายคู่แข่งได้อย่างเป็นกอบเป็นกำช่วยให้ทีมคว้าดับเบิ้ลแชมป์ทั้งแชมป์ลีกและฟุตบอลถ้วยมาครองถึง 3 สมัยติดตั้งแต่ปี 1993-1996 ก่อนที่จะอำลาทีมไปในปี 1998 

ผลงานที่ยอดเยี่ยมของ ซาฮิบ ยังทำให้เขามีชื่อติดทีมชาติอิรัก ภายใต้ของยอดโค้ช อัมโม บาบา ที่สามารถประเดิมประตูแรกได้ทันทีในเกมนัดแรกในเอเชียนคัพ 1996 รอบคัดเลือก จนมีชื่อติดทีมไปเล่นในรอบสุดท้ายที่ยูเออี 

 8

เขาย้ายไปเล่นในลีกเลบานอนกับ อัล เนจเมห์ จากนั้นย้ายไปเล่นให้กับทีมท้ายตารางอย่าง ซาลาม กอห์ตา ที่ทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ของทีม เมื่อยิงไปถึง 14 ประตูจาก 22 นัด ของทีมที่ยิงไปเพียง 32 ประตูตลอดฤดูกาล ช่วยให้ทีมรอดตกชั้นอย่างหวุดหวิด  

หลังจากคว้าตำแหน่งดาวซัลโว เลบานอน เขาย้ายกลับมาเล่นในอิรักกับ ทาลาบา และย้ายไปเล่นในลีกต่างประเทศอีกหลายทีม แต่ก็ยังเป็นเจ้าของสถิติผู้ทำประตูสูงสุดตลอดกาลในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอิรัก ด้วยผลงาน 177 ประตู ที่ยิงไว้ในช่วงปี 1992-2012 

น่าเสียดายที่ในระดับชาติ เขาไม่มีโอกาสได้แสดงฝีเท้ามากนัก เมื่อลงรับใช้ชาติไปเพียงแค่ 14 เกมและยิงไป 3 ประตูเท่านั้น 

ซาฮิบ แขวนสตั๊ดไปในปี 2011 ในวัย 41 ปี ปัจจุบันเขากำลังก้าวสู่เส้นทางใหม่ หลังเป็นหนึ่งในผู้สมัครทางการเมืองของเมืองคาร์บาลาในตอนนี้ 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "ซาฮิบ อับบาส" : ตำนานลีกอิรักผู้รอดโทษประหารจากระบอบซัดดัมด้วยฟุตบอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook