"หมู่เกาะโซโลมอน" : ประเทศยากจนติดอันดับโลกที่มี "ฟุตซอล" เป็นความหวังของชาติ

"หมู่เกาะโซโลมอน" : ประเทศยากจนติดอันดับโลกที่มี "ฟุตซอล" เป็นความหวังของชาติ

"หมู่เกาะโซโลมอน" : ประเทศยากจนติดอันดับโลกที่มี "ฟุตซอล" เป็นความหวังของชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทั้งที่เพิ่งรู้จักกับฟุตซอลได้ไม่ถึง 20 ปี แต่มันได้กลายเป็นลมหายใจของพวกเขาไปแล้ว

กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ ฮา-ไฮ ฮา-ไฮ กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลส ทำตนให้เป็นคน” ส่วนหนึ่งของเนื้อร้องจากเพลงกราวกีฬาสุดคลาสสิค สื่อความหมายของกีฬาในอีกมุมหนึ่งได้อย่างชัดเจน เพราะนอกจากจะทำหน้าที่เพื่อความบันเทิงแล้ว มันประโยชน์ต่อตัวผู้เล่นในด้านอื่นๆ

หมู่เกาะโซโลมอน คือหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ กีฬาฟุตซอล สำหรับพวกเขามันไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่กลับมีความหมายต่อชาวโซโลมอน ในหลากหลายมิติ และนี่คือเรื่องราวของพวกเขา

 

ประเทศจนสุดของภูมิภาค

ท่ามกลางมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ไพศาล ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย มีหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 900 เกาะ กระจัดกระจายรวมกันเป็นรัฐที่ชื่อว่า หมู่เกาะโซโลมอน ตั้งอยู่

 1

พวกเขาคือประเทศที่ยากจนที่สุดกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิค รายได้เฉลี่ยต่อหัวจากการสำรวจของสหประชาชาติอยู่แค่เพียงราว 41,500 บาท ต่อปี หรือราว 3,000 บาทต่อเดือน เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่ดำรงอาชีพด้วยการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้หมู่เกาะโซโลมอน พัฒนาไปได้ไม่มากคือสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1998-2003 ที่มีต้นเหตุจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ระหว่าง มาไลทัน และ กัวดัลคาแนล สองชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

จุดเริ่มต้นมาจากชาวเกาะมาไลทัน ต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า จึงเดินทางมาหางานทำที่เกาะ กัวดัลคาแนล ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง โฮเนียรา การมาถึงของผู้มาเยือนจากเกาะอื่นสร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าถิ่นเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การปะทะกันของทั้งสองฝ่าย และลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวมาไลทันนับพันคน ที่เดิมอาศัยอยู่บนเกาะกัวดาลคาแนลต้องละทิ้งบ้านเรือนเพื่อหนีตายเอาตัวรอด ผู้บริสุทธิ์มากมายถูกทำร้ายร่างกายและทรมาน เด็กจำนวนมากถูกลักพาตัว หลายคนถูกข่มขืนที่ทุกวันนี้ยังหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษไม่ได้

 2

สงครามกลางเมืองดำเนินไปจนถึงระดับที่รัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน เกินจะควบคุม พวกเขาจึงต้องร้องขอความช่วยเหลือไปยัง ออสเตรเลีย ผู้นำกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิค ก่อนที่จะได้รับการส่งทหาร ตำรวจ และผู้เชี่ยวชาญ เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งทำให้เหตุการณ์เริ่มจะคลี่คลายได้ในที่สุด

ตามรายงานของ คณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองหมู่เกาะโซโลมอนระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตไปถึง 200 ราย (คาดว่าน่าจะสูงกว่านั้น) ผู้คนจำนวนมากต้องไร้ที่อยู่อาศัย ส่งผลให้เศรษฐกิจของพวกเขาพังพินาศไม่เหลือชิ้นดี

แต่ถึงกระนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีชายคนหนึ่งเข้ามามอบความหวังให้พวกเขา

บาทหลวงจากเกาะใหญ่

ย้อนกลับไปในปี 2002 ที่หมู่เกาะโซโลมอน ยังอยู่ในช่วงสงครามกลางเมือง ไบรอัน โคดริงตัน บาทหลวงจากรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ได้เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อมอบของขวัญให้แก่เด็กๆ ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

 3

แรกเริ่มเดิมที เขาตั้งใจมาแค่มอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่เด็กๆ ที่กำลังหดหู่จากภาวะสงคราม แต่การได้คุยกับนายกเทศมนตรีเมืองโฮเนียรา ก็ทำให้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป

“ผมบอกว่ามันเป็นเรื่องดีที่เราจะมีของเล็กๆ น้อยๆ แจกในช่วงคริสต์มาส แต่มันมีสิ่งที่เราสามารถทำได้มากกว่านั้นในระยะยาว จากคำตอบของคำถามนั้น เราจึงต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเด็กๆ ในหมู่เกาะโซโลมอน” โคดริงตันกล่าว

เด็กๆ ในตอนนั้นต่างพากันสิ้นหวังมาก พวกเขาแทบมองไม่เห็นอนาคต  หลังต้องเผชิญกับภาวะสงครามมาเกือบครึ่งทศวรรษ ทว่ามันยังมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเขายังมีแรงอยู่ นั่นก็คือฟุตบอล

อันที่จริงหมู่เกาะโซโลมอน รู้จักฟุตบอลมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 แต่ก็ยังไม่สามารถสู้กับเพื่อนร่วมทวีปได้ ผลงานที่ดีที่สุดของพวกเขาคืออันดับ 3 โอเชียเนียในปี 1996 และปี 2000 แต่ถึงอย่างนั้น มันก็ยังเป็นกีฬาที่ทำให้พวกเขาสนุกได้ในสภาวะเช่นนี้

 4

“แพสชั่นของชาวหมู่เกาะโซโลมอนคือฟุตบอลกลางแจ้ง แต่เพราะแพสชั่นที่มีต่อเกมกลางแจ้งของพวกเขา ขัดกับการขาดแคลนสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ในประเทศ ฟุตบอลสนามเล็กซึ่งใช้เนื้อที่น้อยกว่าจึงเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตของพวกเขาได้อย่างง่ายดาย”

จากหมู่เกาะสู่เวทีระดับโลก

เนื่องจากในตอนนั้นหมู่เกาะโซโลมอน ยังไม่มีองค์กรกีฬาเกี่ยวกับเด็ก โคดริงตัน จึงรับหน้าเสื่อเป็นผู้จัดการ เขาเริ่มต้นด้วยการสอนให้เด็กๆ ได้รู้จักกับฟุตซอล ตั้งแต่พื้นฐาน กติกา ไปจนถึงส่งเด็กเข้าแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ของออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2003   

 5

อย่างไรก็ดี ด้วยทรัพยากรที่จำกัด ทำให้นักฟุตซอลหมู่เกาะโซโลมอน เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่แร้นแค้น พวกเขาไม่มีรองเท้า ไม่มีลูกฟุตซอล หรือแม้แต่สนามแข่งในร่ม ต้องใช้สนามดินในที่โล่งที่พร้อมเปลี่ยนเป็นโคลนเสมอยามฝนตก เป็นสนามในการฝึกซ้อม   

อย่างไรก็ดี ถึงจะเป็นอย่างนั้น แต่พวกเขาก็กลับสามารถพัฒนาฝีเท้าได้อย่างก้าวกระโดด หมู่เกาะโซโลมอน เริ่มต้นด้วยการคว้าอันดับ 5 ในฟุตซอลชิงแชมป์โอเชียเนีย ในปี 2004 ก่อนที่หลังจากนั้นจะประกาศศักดาคว้าแชมป์ระดับทวีปได้ถึง 4 สมัยติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2008-2011

“เราจะเห็นเด็กจำนวนมากที่ไม่มีลูกบอล เตะถุงกระดาษ หรือเตะอะไรที่พวกเขาหาได้ใต้ต้นมะพร้าว” โคดริงตันกล่าว

“แกนหลักของคุรุคุรุ (ทีมชาติหมู่เกาะโซโลมอน) ชุดนี้ มาจากเด็กพวกนั้น และเด็กที่ตามรอยความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น”   

การคว้าแชมป์โอเชียเนียคัพ ทำให้หมู่เกาะโซโลมอน ได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตซอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกที่บราซิลในปี 2008 และครั้งต่อมาที่ประเทศไทยในปี 2012

 6

ในเวทีระดับโลกครั้งแรกหมู่เกาะโซโลมอน กลายเป็นทั้งทีมแจกแต้มและแจกประตูให้กับคู่แข่ง เมื่อเสียไปถึง 69 ประตูจาก 4 นัด รวมไปถึงเกมที่พ่ายต่อรัสเซียขาดลอย 31-2 และบราซิลถึง 21-0  

อย่างไรก็ดีในฟุตซอลโลก ครั้งที่ 2 ของพวกเขา หมู่เกาะโซโลมอนก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ประสบการณ์ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้น แม้จะพ่าย 2 นัดรวดให้กับ รัสเซียและ โคลอมเบีย แต่ในนัดสุดท้าย พวกเขาก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ ด้วยการเฉือนชนะกัวเตมาลา 4-3 เก็บ 3 คะแนนแรกในเวทีฟุตซอลโลกได้สำเร็จ (และส่งผลเด้งชิ่งให้ทีมชาติไทยเข้ารอบ 16 ทีมอีกด้วย)

ก่อนที่ในปี 2016 ที่โคลอมเบีย หมู่เกาะโซโลมอน จะได้มาเล่นในรายการนี้เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน ด้วยตำแหน่งแชมป์ระดับทวีปสมัยที่ 5 ของทีม

แม้ว่าในครั้งนี้หมู่เกาะโซโลมอน จะคว้าชัยไม่ได้แม้แต่เกมเดียว แต่การมาเล่นในรายการนี้ก็เพียงพอที่จะทำให้พวกเขากลายเป็นฮีโร่ของประเทศ

เธอคือลมหายใจ

“เมื่อไรก็ตามที่หมู่เกาะโซโลมอนลงเล่น เราแทบคลั่ง เพราะความเป็นจริงคือตอนที่เรากลับบ้านทุกคนจะรู้ว่าเราคือใคร รู้จักทุกคนเป็นรายบุคคล” เอลเลียต ราโกโม กัปตันทีมชาติหมู่เกาะโซโลมอน กล่าวหลังเกมพ่ายคอสตาริกาอย่างสนุก 2-4 ในนัดประเดิมสนามฟุตซอลโลก 2016

7

“พวกเขาติดตามทีมโซโลมอน พวกเขารู้เรื่องทีม เมื่อคืนเรามอบความหวังให้กับประเทศเรา เราแพ้ในเกม แต่เราชนะใจทุกคนตอนกลับประเทศ”

แม้ว่าหลังจากนั้น พวกเขาจะพ่ายต่อ อาร์เจนตินา 7-3 และคาซัคสถาน 10-0 ปิดฉากรอบแบ่งกลุ่มไปอย่างช้ำใจ แต่อย่างที่ ราโกโม กล่าวไว้ เมื่อทันทีที่ถึงประเทศ นักฟุตซอลทีมชาติหมู่เกาะโซโลมอน ต่างได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษราวกับเป็นแชมป์ของทัวร์นาเมนต์

“วันที่เรามีแข่ง โรงเรียนถึงกับต้องหยุดการสอน พวกเขาหยุดเพื่อดูเราเล่น คุณต้องไม่เข้าใจแน่ๆ ว่าคนโซโลมอนรักเราขนาดไหน พวกเขาแทบคลั่งตอนที่เราลงเล่น” ราโกโมกล่าว

“เราเล่นอย่างเต็มที่ เหมือนกับว่ามันคือเกมสุดท้ายในชีวิตของเรา กับเด็กพวกนี้ แม้ว่าเราจะแพ้ แต่มันก็รู้สึกดีที่ได้เล่นกับหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดของโลก สู้ต่อไป ต่อไป สู้ไปจนถึงนาทีสุดท้าย”

การได้ไปเล่นฟุตซอลโลก ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวโซโลมอน พวกเขากลายเป็นแรงบันดาลใจ เป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงใจให้กับเพื่อนร่วมชาติสู้กับความลำบากในประเทศต่อไป

“ผมรู้เป็นอย่างดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับหมู่เกาะโซโลมอนในตอนนี้ พวกเขามอบความหวังให้กับคนที่นี่ พวกเขามอบเหตุผลให้กับทุกคนได้เลยต่อไป สำหรับชาวโซโลมอน มันเป็นเกียรติมากที่ได้มาเล่นฟุตซอลโลก” จูเลียโน ชเมลิง กุนซือชาวบราซิลของทีมให้ความเห็น

 8

ยิ่งไปกว่านั้น การที่หมู่เกาะโซโลมอนมีทรัพยากรที่จำกัด แต่สามารถผ่านไปเล่นในเวทีระดับโลกได้ถึง 3 ครั้ง ทำให้การได้ไปโชว์ฝีเท้าในรอบสุดท้ายของพวกเขามีความหมายมากขึ้น

“เรามาจากประเทศที่มีอุปสรรคมากมาย เมื่อคุณพูดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในระดับสูง มันยากมากที่จะเปรียบเทียบ” ชเมลิงอธิบายเพิ่ม

“ผู้เล่นได้กินอาหารแค่มื้อเดียวต่อวัน ไม่มีรองเท้า ไม่มีสนามฟุตซอล ไม่มีบอล มันเป็นอุปสรรคสำคัญ และความภาคภูมิใจคือความรู้สึกแรกที่ผมมีไปพร้อมกับผู้เล่น”

นอกจากแรงบันดาลใจแล้ว ฟุตซอลสำหรับชาวหมู่เกาะโซโลมอน ยังมีส่วนช่วยในการลดอาชญากรรมในประเทศได้อีกด้วย เมื่อกีฬากลายเป็นกิจกรรมยามว่างที่ทำให้ผู้คนหันเหความสนใจจากสิ่งผิดกฎหมาย

“ในชุมชนที่ผมเคยสอน มีอาชญากรรมระดับร้ายแรงมากมายเกิดขึ้นที่นั่น แต่ตอนนี้เราสอนให้พวกเขารู้จักฟุตซอล และมันทำให้ชุมชนดีขึ้น และช่วยลดอัตราการเกิดอาชญากรรม” ไมกี เบต เจ้าหน้าที่ฝ่ายเยาวชนที่รับผิดชอบในเขตโฮเนียรากล่าว  

พัฒนาต่อไป

หลังฟุตซอลโลก 2016 หมู่เกาะโซโลมอน ได้รับความสนใจจากหน้าสื่อมากขึ้น พวกเขาถูกพูดถึงในฐานะทีมที่ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตซอลโลกรอบสุดท้ายได้ถึง 3 ครั้งทั้งที่ไม่มีสนามฟุตซอลของทีมชาติแม้แต่สนามเดียว

 9

ฟุตซอลโลกที่โคลอมเบีย จึงกลายเป็นความหวังสำหรับพวกเขา ที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนามากขึ้นในแง่สาธารณูปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสนามแข่งและศูนย์ฝึกแห่งชาติ

“เราหวังว่าจะมีมรดกสืบทอดให้กับประเทศจากการแข่งขันในครั้งนี้ และกระแสที่เกิดขึ้นจากรายการนี้ จะช่วยให้โครงการสนามฟุตซอลใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น” พอล ทูเฮย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาฟุตซอลของโอเชียเนียกล่าวกับ FIFA.com

“ทุกคนคงจะยินดีหากพวกเขามีศูนย์ฟุตซอลแห่งชาติ มีการฝึกซ้อมและการแข่งขันในทุกระดับอายุ สำหรับผู้ชายและผู้หญิง”

ในขณะเดียวกันฝ่ายโคดริงตัน ก็ยังคงมีบทบาทในการร่วมพัฒนาวงการฟุตซอลของหมู่เกาะโซโลมอน  เขาและทีมงานได้ก่อตั้งโครงการโครงการฝึกกีฬาและความเป็นผู้นำ (Sports and Leadership Training) หรือเรียกสั้นๆ SALT โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้าง เจ้าหน้าที่ โค้ช ผู้ตัดสินในหมู่เกาะโซโลมอนให้มากขึ้น ถือเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนตั้งแต่จุดเริ่มต้นจวบตนถึงปัจจุบัน

 10

“เรากำลังมองหาวิธีที่จะสร้างความแตกต่างทางกายภาพ ความสัมพันธ์ อารมณ์ ตลอดจนจิตวิญญาณ และการมีองค์กรที่อยู่เคียงข้างเรา และเตรียมทรัพยากรให้กับเรา มันคงจะยอดเยี่ยมมากเลยทีเดียว”

ปัจจุบันหมู่เกาะโซโลมอน มีลีกฟุตซอลเป็นของตัวเองแล้ว โดยมีสปอนเซอร์ท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุน สิ่งเหล่านี้เกิดจากการมองเห็นคุณค่าของฟุตซอลที่ช่วยพัฒนาสังคม

ดั่งตัวอย่างที่ทีมชาติของพวกเขาเคยทำเอาไว้

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "หมู่เกาะโซโลมอน" : ประเทศยากจนติดอันดับโลกที่มี "ฟุตซอล" เป็นความหวังของชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook