เหตุใดคนกีฬาจึงต้องระวังให้ดีหากคิดจะพูดถึงเรื่องการเมือง?

เหตุใดคนกีฬาจึงต้องระวังให้ดีหากคิดจะพูดถึงเรื่องการเมือง?

เหตุใดคนกีฬาจึงต้องระวังให้ดีหากคิดจะพูดถึงเรื่องการเมือง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ผู้คนในวงการมากมายจะพยายามปฏิเสธถึงความมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ในความเป็นจริงแล้ว กีฬา กับ การเมือง ถือเป็นสองสิ่งซึ่งมีความเกี่ยวพันกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

เพราะอันที่จริง ไม่ว่าเรื่องใดก็มักจะมีบริบทของการเมืองซ่อนอยู่เสมอ มากบ้างน้อยบ้างต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งวงการกีฬาเองก็เช่นกัน

ถึงกระนั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นนักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีชื่อเสียงแล้ว ก็มักจะถูกคาดหวังจากสังคมให้เป็นกระบอกเสียงในเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ เพราะชื่อเสียงของพวกเขานั้นสามารถทำให้เรื่องราวที่พูดนั้นได้รับความสนใจจากผู้คนได้มากกว่าตาสีตาสาทั่วไป

แต่อีกความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ สิ่งที่คิด, พูด และแสดงออก บางครั้งก็ไม่ได้เป็นที่พอใจสำหรับทุกคน การพูดถึงเรื่องการเมืองก็เป็นสิ่งที่เหล่านักกีฬาทั้งหลายต้องพึงระวังด้วยเช่นกัน...

กีฬา-การเมือง ไม่ใช่เรื่องแปลก?

เราอาจเคยได้ยินเรื่องราวที่อดีตนักกีฬาอาชีพตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมืองผ่านการเลือกตั้งแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ เวอาห์ นักเตะแอฟริกันคนแรกและคนเดียวที่คว้ารางวัลบัลลงดอร์ ซึ่งเติบใหญ่ถึงขั้นเป็นประธานาธิบดีของไลบีเรีย, อิมราน ข่าน อดีตกัปตันคริกเก็ตทีมชาติปากีสถานชุดแชมป์โลก ที่ชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และอีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งมีทั้งประสบความสำเร็จ และล้มเหลวปนกันไป

 1

แต่สำหรับการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการกระทำของนักกีฬานั้น ก็ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 1960s ซึ่งมีเหตุการณ์ไฮไลต์สำคัญ คือการปฏิเสธออกรบในสงครามเวียดนามของ มูฮัมหมัด อาลี ตำนานนักชกมวยสากลกับประโยคเด็ด "ผมไม่ได้มีความแค้นอะไรกับพวกเวียดกง"

เช่นเดียวกับการทำสัญลักษณ์ Black Power salute ที่ ทอมมี่ สมิธ และ จอห์น คาร์ลอส สองนักวิ่งอเมริกันทำเพื่อเรียกร้องสิทธิคนผิวดำระหว่างการรับเหรียญรางวัลวิ่ง 200 เมตรในโอลิมปิกปี 1968 ที่กรุงเม็กซิโกซิตี้

ก่อนที่ในปัจจุบัน เรื่องราวที่นักกีฬาออกมาพูดและแสดงออกทางการเมืองจะกลับมาให้เห็นอย่างมากมายอีกครั้ง …

ศูนย์กลางความขัดแย้ง

การที่คนกีฬามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริการู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจจนต้องออกมาพูดถึงเรื่องการเมืองในยุคนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับปรากฏการณ์ดังกล่าว

 2

เพราะนับตั้งแต่ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในช่วงปลายปี 2016 และสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในช่วงต้นปี 2017 นโยบายต่างๆ ของทรัมป์ได้นำมาซึ่งความขัดแย้งของผู้คนในสังคมมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการปฏิบัติต่อผู้อพยพ และกลุ่มหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ร่วมสร้างสหรัฐอเมริกาขึ้นมาจนเป็นมหาอำนาจของโลกเฉกเช่นทุกวันนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักกีฬาคนดังของสหรัฐอเมริกามากมาย ต่างใช้พื้นที่ซึ่งตนมีในการแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น สเตฟเฟ่น เคอร์รี่ การ์ดจ่ายดาวดังของ โกลเด้นสเตท วอร์ริเออร์ส ในศึกบาสเกตบอล NBA ที่ขอเหน็บ เควิน แพลงค์ ซีอีโอของ อันเดอร์ อาร์เมอร์ สปอนเซอร์รองเท้าซึ่งเคยกล่าวยกย่องทรัมป์ให้เป็น "Real Asset" หรือของจริงสำหรับอเมริกาว่า ที่ถูกแล้วควรต้องตัดคำว่า et ทิ้ง เพราะทรัมป์นั้นดูจะเป็น "ขยะ" ของประเทศนี้เสียมากกว่า

 3

อีกคนที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับทรัมป์อย่างรุนแรงเช่นกันคงหนีไม่พ้น เลบรอน เจมส์ ยอดนักแม่นห่วงของ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส ซึ่งนอกจากจะออกมาใช้พื้นที่สื่อและโซเชียลมีเดียโจมตีทรัมป์แล้ว ในอดีตเขายังเคยขึ้นเวทีช่วย ฮิลลารี่ คลินตัน หาเสียงในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีหนล่าสุด (ซึ่งฮิลลารี่แพ้ทรัมป์) โดยให้เหตุผลว่า ฮิลลารี่และพรรคเดโมแครตมีนโยบายดูแลกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งตัวเขาเคยประสบกับเรื่องราวดังกล่าวตอนเป็นเด็กดีกว่าฝั่งทรัมป์และพรรครีพับลิกัน

 4

แต่เรื่องราวการแสดงออกทางการเมืองในยุคสมัยใหม่ คงไม่มีเหตุการณ์ใดที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมได้มากกว่าสิ่งที่ โคลิน เคปเออร์นิก ทำอีกแล้ว เพราะการ "คุกเข่าเคารพธงชาติ" ก่อนเกมของอดีตควอเตอร์แบ็ก ซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ส ตั้งแต่ฤดูกาล 2016 ได้สร้างการถกเถียงในหมู่ชาวอเมริกันมากมาย ซึ่งสุดท้าย มันก็ได้ส่งผลต่อหน้าที่การงานของเจ้าตัวเอง เพราะหลังจากที่หมดสัญญากับทีมเมื่อช่วงต้นปี 2017 เขาก็ยังไม่มีสังกัดในอเมริกันฟุตบอล NFL จนถึงทุกวันนี้

ทำดีทำเด่นจะเป็นภัย?

เหตุใดการกระทำที่ดูจะไม่สร้างผิดภัยให้กับใครถึงได้สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเองถึงเพียงนั้น? ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะการคุกเข่าเคารพธงชาติ คือการแสดงความท้าทายต่อค่านิยมที่ชาวอเมริกันยึดถือกันมานาน เมื่อนัยยะหนึ่งของ The Star-Spangled Banner เพลงชาติสหรัฐอเมริกานั้น คือการสดุดีต่อทหารกล้าผู้เสียสละชีวิตและร่างกายเพื่อให้อเมริกาคงอยู่และยิ่งใหญ่กระทั่งปัจจุบัน

 5

กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว จึงได้นำการกระทำของเคปเออร์นิก ซึ่งเดิมทีมีขึ้นเพื่อแสดงถึงการต่อต้านการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มคนหลากเชื้อชาติและสีผิว ขยายความกลายเป็นการแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ และไม่เคารพบรรพชนรุ่นก่อน ซึ่งแม้แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ยังเล่นกับเรื่องนี้ด้วยโดยชี้ว่าเจ้าของทีมไม่ควรจะปรับเงิน แต่ควร “ไล่” นักกีฬาที่มีพฤติกรรมเช่นนั้นออกไปเลย

ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ของนักกีฬาที่ผู้คนในสังคมมองว่า เป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยจะมีการศึกษาสูง ก็ได้ส่งผลในแง่ลบต่อพวกเขาเองในหลายๆ ครั้งเมื่อลุกขึ้นมาแสดงความเห็นทางการเมือง ซึ่ง เลบรอน เจมส์ ก็คือหนึ่งในคนที่ถูกประณามหยามเหยียดอยู่ตลอดเมื่อออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อแนวคิดของทรัมป์ โดยครั้งหนึ่ง ลอร่า อินแกรม ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์ Fox News เคยออกมาตำหนิเลบรอนว่า เขาควรจะ "หุบปากแล้วเลี้ยงบอลต่อไป" อย่ามาพูดเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองเลยจะดีกว่า

 6

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่า นัยยะในการแสดงออก ตลอดจนปูมหลังชีวิต คือบาดแผลสำคัญที่ทำให้สังคมมองว่า นักกีฬาไม่ควรที่จะพูดหรือแสดงออกทางการเมือง แต่สิ่งที่ อีเจ ไดโอนน์ จาก Washington Post กล่าวถึงเหตุผลที่เขาไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้ก็ถือเป็นอะไรที่ควรรับฟังเช่นกัน

"ส่วนใหญ่แล้วคนที่รักกีฬาเนี่ย เขาต้องการที่จะลืมเรื่องราวปวดหัวทางการเมืองเวลาดูกีฬา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า กีฬาเองก็เหมือนกับกิจกรรมทางสังคมอื่นๆ ที่มักจะมีเส้นบางๆ ซึ่งเชื่อมต่อเรื่องราวทางการเมืองไว้เสมอ"

ถ้าเราไม่พูด แล้วใครจะพูด?

ความต้องการที่จะทำให้กีฬาเป็นสิ่งบริสุทธิ์ ปราศจากการแทรกแซงของการเมือง ทำให้ผู้คนมากมายในสังคมมองว่า นักกีฬาก็ควรอยู่ในส่วนของกีฬา ไม่ควรที่จะมาข้องเกี่ยวกับการเมืองด้วยการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ขณะกำลังเป็นผู้เล่นเลย

 7

ซึ่งนักกีฬาดังอย่าง ไมเคิล จอร์แดน ที่ถูกยกย่องให้เป็นนักบาสเกตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ก็พยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องการเมืองมาโดยตลอด โดยให้เหตุผลที่ต้องรักษาความเป็นกลางไว้ว่า "แฟนๆ ของผมมีอยู่ในทุกกลุ่มสังคม" ฉะนั้น การออกตัวว่าอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งอย่างชัดเจนอาจทำให้สูญเสียแฟนคลับกลุ่มนั้นไป

ทว่านักกีฬาหลายคนกลับไม่คิดเช่นนั้น … หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ เลบรอน เจมส์ ที่เป็นหนึ่งในนักกีฬาคนดังที่มักจะออกมาพูดในประเด็นในเรื่องนี้เสมอ และแม้จะโดนนักข่าวตำหนิ แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่า จะไม่เป็นเพียงนักกีฬาที่ทำเพียงเล่นกีฬาเฉยๆ อย่างแน่นอน พร้อมเปิดใจถึงเหตุผลว่า

"ผมรู้สึกว่าการไม่ทำอะไรเลยถือเป็นความผิดที่ผมจะมีให้กับสังคมและเด็กๆ เพราะหลายครั้งพวกเขาก็ไม่อาจหาทางออกได้ด้วยตัวเอง และต้องการความช่วยเหลือให้ออกจากสถานการณ์เลวร้ายนั้นๆ ได้ เราทุกคนต่างรู้ว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของเรา แต่มันยิ่งใหญ่กว่านั้น ฉะนั้นถ้าสิ่งที่ผมพูดหรือทำจะทำให้สังคมดีขึ้น แน่นอน ผมจะทำ"

 8

เรื่องดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดของ ดอนเต สตอลเวิร์ธ อดีตปีกนอกมากประสบการณ์จากหลายทีมในศึก NFL ที่มองว่า นักกีฬาไม่ควรเป็นแค่เพียงนักกีฬาเท่านั้น เมื่อเสียงของพวกเขาสามารถเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

"ลองดูนักการเมืองหลายคน อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ก็เคยเป็นคนดังจากรายการเรียลลิตี้ โรนัลด์ เรแกน ก็เคยเป็นดารา นี่แหละผมถึงได้บอกว่า นักกีฬาก็ควรเป็นคนที่จะต้องเป็นแบบอย่างและผู้นำของสังคมในด้านต่างๆ รวมถึงด้านการเมืองด้วยเช่นกัน"

 9

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา ส่งผลต่อเนื่องไปถึงผลสำรวจตามโพลต่างๆ ซึ่งได้ผลลัพธ์ที่ดูจะย้อนแย้งกันเอง โดย The Tylt เคยทำโพลออนไลน์ว่า "นักกีฬาควรออกมาพูดเรื่องการเมืองหรือไม่?" ผลปรากฎว่าชาวเน็ต 58.8% เห็นด้วย อีก 41.2% ไม่เห็นด้วย แต่กับคำถามที่ว่า "นักกีฬาควรอยู่ให้ห่างจากการเมืองหรือไม่?" กลับมีชาวเน็ตถึง 92.2% ที่เห็นว่านักกีฬาควรจะอยู่แต่กับเฉพาะวงการกีฬาต่อไป มีเพียง 7.8% เท่านั้นที่เห็นว่า ควรที่จะต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย

เรื่องราวการมีส่วนร่วมของนักกีฬาในการพูดถึงเรื่องการเมือง จึงถือเป็นอีกเรื่องราวปัญหาโลกแตกที่ดูจะหาจุดลงตัวได้ยาก เพราะฝั่งหนึ่งก็ต้องการที่จะให้กีฬาอยู่ห่างจากการเมือง ส่วนอีกฝั่งก็มองว่า นักกีฬาควรมีส่วนกับการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และพวกเขาควรได้พูดในสิ่งที่อยากพูดด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่า จากเรื่องราวผลกระทบในแง่ลบ ทั้งการสูญเสียงานและความนิยม คือเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องระวังให้จงหนัก ถึงกระนั้น การพูดถึงสิ่งที่เป็นความจริง เป็นปัญหาที่สังคมควรจะมองเห็น และพูดด้วยความเคารพในความเชื่อที่แตกต่าง ก็น่าจะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดในการแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ ของสังคม…

ซึ่งไม่ใช่กับเฉพาะนักกีฬาเท่านั้น ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราก็เช่นกัน

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ เหตุใดคนกีฬาจึงต้องระวังให้ดีหากคิดจะพูดถึงเรื่องการเมือง?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook