บูลลี่เมื่อ 70 ปีก่อน : "อินเดีย" ไม่ไปเตะบอลโลกเพราะ FIFA บังคับให้ใส่รองเท้าจริงหรือ?

บูลลี่เมื่อ 70 ปีก่อน : "อินเดีย" ไม่ไปเตะบอลโลกเพราะ FIFA บังคับให้ใส่รองเท้าจริงหรือ?

บูลลี่เมื่อ 70 ปีก่อน : "อินเดีย" ไม่ไปเตะบอลโลกเพราะ FIFA บังคับให้ใส่รองเท้าจริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าโลกใบนี้ไม่มีวันลบล้างการเหยียด, ล้อเลียน หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าการ “บูลลี่” ได้ เพราะว่าไม่มีที่ที่ไหนประเทศใดที่มีแต่คนดี 100% ทุกคนปฎิบัติตัวอย่างมีมารยาทและวัฒนธรรมทั้งประเทศ ดังนั้นเราจึงได้เห็นการดูถูก, แซว หรือตลกร้าย เกี่ยวกับประเทศที่ถูกมองว่าล้าหลังอยู่เสมอ

เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ในวันที่ทั้งโลกดูจะชอบใจและแปลกประหลาดที่เห็นทีมฟุตบอลทีมชาติอินเดียไม่ใส่รองเท้าลงแข่งขันเกมอย่างเป็นทางการ มีการบันทึกภาพและเล่าเรื่องไปต่างๆนานาถึงความยากจนและขาดแคลนจนต้องปฎิเสธโอกาสดีที่สุดอย่างฟุตบอลโลก ทำให้เรื่องดังกล่าวโดนสื่อตะวันตกขยี้กันมาอย่างยาวนานจนคนทั้งโลกเชื่อจริงๆว่า อินเดีย ไม่มีเงินซื้อรองเท้า และใส่รองเท้าเดินไม่เป็นจึงไม่ยอมไปแข่งในรายการดังกล่าว

 

และนี่คือเรื่องราวจากอีกฝั่งของ อินเดีย...  เหตุใดพวกเขาถึงปฏิเสธการสร้างประวัติศาสตร์ชาติด้วยการไปฟุตบอลโลก ติดตามได้ที่นี่

ประทับใจหรือตั้งใจล้อเลียน?

ทุกวันนี้ฟุตบอลโลกเป็นอภิมหามหกรรมกีฬาที่คนทั่วโลกรอคอย ชาติใดที่สามารถฝ่าฟันไปแข่งขันรอบสุดท้ายได้พวกเขาจะได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าทุกเม็ด และเหนือสิ่งอื่นใดมันคือเกียรติของนักกีฬาที่จะได้แสดงให้โลกรู้ว่าชาติของพวกเขาเก่งกาจขนาดไหน อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกๆที่ FIFA เริ่มก่อตั้งองค์กรขึ้นมา พวกเขาต้องใช้เวลาอยู่ไม่น้อยเพื่อแสดงจุดยืนว่าองค์กรแห่งนี้กำลังจะทำอะไรอยู่ และคาดหวังในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน

 1

ณ ตอนนั้นมีหลายชาติที่ไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญกับฟุตบอลมากนัก ดังนั้นการเดินทางไปแข่งในที่ไกลๆเหมือนเป็นอะไรที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรนัก ต่อให้ไปแข่งพวกเขาก็ไม่ชนะ และต่อให้เล่นดีมีชัยก็อาจจะไม่ได้รับการชื่นชมจากประชาชนในประเทศที่ยังไม่เข้าใจและไม่อินกับฟุตบอลเหมือนในยุคปัจจุบัน ดังนั้นมหกรรมที่ยอดเยี่ยมและควรค่ากับการลงทุนมากที่สุดคือ โอลิมปิก กีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

ในโอลิมปิก ที่ลอนดอน เมื่อปี 1948 อินเดีย ส่งทีมกีฬาและนักกีฬาเข้าแข่งขันหลายรายการ พวกเขาค่อนข้างมุ่งมั่นและตั้งใจเพราะนี่เป็นทัวร์นาเม้นต์ระดับโลกครั้งแรกที่ได้มีส่วนร่วมนับตั้งแต่อังกฤษคืนเอกราชให้และมีอิสระ มันคือครั้งแรกที่พวกเขาได้ถือธงของตัวเองเดินลงสนามในพิธีเปิดที่เวมบลี่ย์

ความภาคภูมิใจไม่ใช่สิ่งเดียวของชาวอินเดียในโอลิมปิกครั้งนั้น เพราะมีความตึงเครียดเรื่องการปกครองอาณานิคมมาระหว่าง อังกฤษ และ อินเดีย หลงเหลืออยู่ โดยตามธรรมเนียมนั้น ผู้ถือธงของอินเดียจะต้องลดธงลงเมื่อเดินผ่านหน้าประธานในพิธี แต่เพราะอินเดียมีการเปลี่ยนผู้เชิญธงในนาทีสุดท้ายการพิธีจะเริ่มจึงทำให้ผู้เชิญธงในวันนั้น "ลืม" ลดธงลงตามที่ตกลงกันไว้ จึงทำให้มีข่าวซุบซิบที่ยืนยันโดยนิตยสาร Times of India ว่าสร้างความหงุดหงิดให้กับอังกฤษไม่มากก็น้อย

จะเกี่ยวหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะหลังจากพิธีเปิดจบลงทัพนักกีฬาอินเดียก็ได้รับการปฎิบัติที่ต่างออกไป หมายกำหนดเดิมพวกเขาจะต้องได้ที่พักที่ค่ายริชมอนด์ พาร์ค ร่วมกับนักกีฬาจากชาติต่างๆ ทว่าหลังจากมีเรื่องนั้นพวกเขาโดนเปลี่ยนที่พักให้ไปอยู่ในโรงเรียนเปลี่ยวๆในเขตชานเมืองของลอนดอน นั่นทำให้มีนักกีฬาอินเดียหงุดหงิดจนยอมรับว่า สถานที่พักผ่อนและฝึกซ้อมประเทศของพวกเขาได้รับนั้นคับแคบและไม่มีความสะดวกสบายเลย

โอลิมปิก 1948 ยังถือเป็นครั้งแรกที่ อินเดีย ส่งทีมฟุตบอลเข้าแข่งขันด้วย การแข่งขันนัดแรกและนัดเดียวของทัวร์นาเม้นต์จบลงด้วยการแพ้ ฝรั่งเศส ไป 1-2 ทว่าไฮไลต์ของทีมฟุตบอลอินเดียไม่ได้อยู่ที่สกอร์และผลการแข่งขันแต่อย่างใด

 2

ทุกคนที่ไม่ใช่คนอินเดียประหลาดใจมากเพราะนักเตะของทีมแดนภารตะไม่สวมรองเท้าลงแข่งเลย พวกเขาสวมถุงเท้าไว้หนึ่งชั้น และบางคนก็ไม่สวมอะไรเลย มันคือเรื่องที่แปลกประหลาดใจ พร้อมกับขำไปพร้อมๆกัน อย่างไรก็ตาม อินเดีย ที่กลับมีทักษะการควบคุมบอลที่ดีจนทำให้สายตาดูถูกเปลี่ยนเป็นตกตะลึง

"อินเดียใส่รองเท้ากันไม่ค่อยเป็น มันทำให้พวกเขาไม่สบายตัว รองเท้าเป็นอุปกรณ์ที่ผิดปกติสำหรับนักท่องเที่ยวเหล่านี้ พวกเขาถูกกดดันให้ใส่รองเท้าแต่ก็ทำไม่ได้เพราะสนามลื่นจากฝนตกหนักตลอดเกม" สำนักพิมพ์จาก เบอร์มิงแฮม อธิบายสิ่งที่ อินเดีย เป็นในวันนั้น

อันที่จริงการใส่รองเท้าเพื่อเล่นฟุตบอลไม่ได้นิยมในอินเดียนักเพราะมันมีราคาแพงและมีชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะซื้อมาใส่ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการที่ อินเดีย ใช้เท้าเปล่าเล่นฟุตบอลมาหลายสิบปีแล้ว เพียงแต่นี่เป็นครั้งแรกในระดับนานาชาติเท่านั้น ว่ากันว่าในเกมกับฝรั่งเศสหาก อินเดีย ไม่พลาดจุดโทษ 2 ครั้ง 2 ครา พวกเขาอาจจะสร้างตำนานยิ่งกว่านี้ก์เป็นได้

การใช้เท้าเปล่าบู๊ของอินเดีย นอกจากจะสร้างความฮือฮาในสนามและสร้างความประทับใจเป็นไฮไลต์ประจำการแข่งขันแล้ว ดูเหมือนว่ามันจะถูกใจเหล่าสื่ออีกด้วย มีเรื่องราวบนหน้าหนังสือพิมพ์ และเรื่องซุบซิบต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าว่ากษัตริย์จอร์จที่ 6 ได้สั่งให้ทหารยามและองครักษ์ม้วนถุงเท้าของผู้เล่นอินเดียลงให้หมดก่อนเข้ามาเยี่ยมชม ณ พระราชวังบักกิ้งแฮม เพื่อตรวจดูว่าพวกเขาแอบเอาเหล็กใส่เข้าไปตรงหน้าแข้งหรือเปล่า

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า อินเดีย พยายามดิ้นรนหารองเท้าใส่ก่อนแข่งแล้วแต่หาไม่ได้เลยต้องจำยอมถอดรองเท้าแข่ง ซึ่งความจริงก็ไม่ใช่แบบนั้นอีกนั่นแหละ เพราะสำนักข่าวของอินเดียที่ตามไปรายงานการแข่งขันครั้งนั้นอย่าง Indian Express ยืนยันว่า ไม่มีการขอรองเท้าจากฝ่ายจัดแต่อย่างใด ที่พวกเขาไม่ใส่รองเท้าแข่งเพราะว่าสนามมันลื่นและถนัดแบบเท้าเปล่าหรือใส่รองเท้าผ้าใบมากกว่า การเขียนข่าวขึ้นมานั้นไม่รู้ว่านี่คือเรื่องจริงหรือไม่ แต่วิเคราะห์จากบริบทแล้วมันดูจะเป็นเหมือนการหยิกแกมหยอกมากกว่า

อีก 2 ปีต่อมา... คุณก็ยังคิดไปเองเหมือนเดิม

อีก 2 ปีต่อมาหรือปี 1950 ฟุตบอลโลกกลับมาแข่งขันอีกครั้งที่ประเทศบราซิล หลังหยุดไป 12 ปีจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นการแข่งขันเป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ และ FIFA อยากให้ อินเดีย เข้าไปแข่งขันด้วยหลังจากได้รับการพูดถึงในฐานะเทพเท้าเปล่า ดังนั้นจดหมายเชิญจึงตรงดิ่งไปยังอินเดีย เพื่อเป็น 1 ในสีสันประจำทัวร์นาเม้นต์นี้

 3

อย่างไรก็ตามมีคำตอบจากอินเดียว่า "เราไม่ไป" พวกเขาปฎิเสธจะเข้าแข่งขันฟุตบอลโลก และจะด้วยเหตุอะไรก็ตามแต่ดูเหมือนว่ามันจะไม่สำคัญมากนักเพราะทั่วโลกต่างเชื่อว่ากันว่า อินเดีย ไม่รับคำเชิญเพราะว่า FIFA บังคับพวกเขาให้ใส่รองเท้าลงเล่น

มีการรายงานว่าคณะกรรมการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกได้เอาเรื่องการถอดรองเท้าของอินเดียเข้าที่ประชุม และหารือว่าจะทำอย่างไรหากสมาชิกต้องการจะแข่งด้วยเท้าเปล่า ซึ่งหลังจากพิจารณาปัญหาอย่างรอบคอบแล้วว่ารองเท้าถือเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเล่นฟุตบอล ซึ่งเรื่องนี้ อินเดีย ไม่เห็นด้วย "เรามาที่นี่เพื่อเตะฟุตบอล ทำไมเราถึงจำเป็นต้องใส่รองเท้า หรือว่าคุณบดขวดแก้วแล้วโปรยลงในสนาม?"

อย่างไรก็ตามคำตัดสินถือเป็นสิ้นสุด พวกเขาไม่อนุญาตให้เล่นเท้าเปล่าในฟุตบอลโลก นี่คือคำอธิบายอย่างเป็นทางการในการประชุมที่ซูริค และจดหมายสรุปวาระการประชุมถูกส่งไปยังสมาคมฟุตบอลอินเดียเพื่อเน้นย้ำว่าอุปกรณ์เหล่านี้คือสิ่งที่จำเป็นต้องใส่หากอยากจะเล่นในฟุตบอลโลก

- เสื้อแข่งขัน

- กางเกงขาสั้น

- ถุงเท้า

- ถุงเท้าที่ต้องใช้กับสนับแข้ง

- รองเท้า

เมื่อทางอินเดียไม่เห็นด้วยและยืนยันคำเดิม FIFA จึงไม่อาจบังคับใจกัน อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ออกมายังออกมาในรูปแบบที่เน้นไปที่ความไม่พร้อมของอินเดีย โดยหลายสื่อหลักและข้อมูลในอินเตอร์เน็ตจนถึงตอนนี้ยังยืนยันว่ามี 2 เหตุผลที่อินเดียไม่ไปฟุตบอลโลกที่บราซิลคือ 1. พวกเขาโดนบังคับให้ใส่รองเท้าเล่น และ 2. คือพวกเขาไม่มีเงินเดินทางข้ามโลกไปไกลขนาดนั้น...  อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีข้อมูลที่เอามาค้านจากฝั่งอินเดีย และนี่คือสิ่งที่พวกเขายืนยันว่า "เป็นความจริง" ที่หลายคนมองข้ามและเข้าใจผิดไป

ฟังความสองข้าง

"เราไม่รู้จักฟุตบอลโลกเลยด้วยซ้ำไปในตอนนั้น สำหรับเรา โอลิมปิก คือทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่ารายการนี้อีกแล้ว" ไซเลน มันนา กัปตันทีมชาติอินเดียชุดปี 1950 กล่าวถึงสิ่งที่พวกเขาคิดและสิ่งที่วงการฟุตบอลอินเดียเป็นในเวลานั้น    

 4

คำพูดดังกล่าวบ่งบอกได้ในระดับหนึ่งว่าอินเดียนั้นไม่ได้ให้ความสนใจตั้งแต่แรกแล้ว มันอาจจะไม่เกี่ยวกับการถอดใส่รองเท้าเตะฟุตบอลตามชาติอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการไม่มีเงินเดินทางไปแข่งขันเหมือนที่สื่อต่างแดนว่าก็ได้ นอกจากนี้เรื่องของการขาดเงินทุนในการเดินทางก็ถูกแก้ต่างว่าไม่ใช่เรื่องจริงเช่นกัน เพราะในตอนนั้น บราซิล เจ้าภาพ และ FIFA ได้ยืนยันจะร่วมออกค่าเดินทางให้กับอินเดียไปแข่งในครั้งนี้ทุกบาททุกสตางค์เลยทีเดียว

India Times และ Sports Illustrated ให้การตรงกันว่า มี 2 เหตุผลที่อินเดียไม่ยอมไปแข่ง นั่นคือความไม่พอใจในการคัดเลือกของ FIFA ในแบบของเลือกที่รักมักที่ชัง เพราะก่อนที่จดหมายเชิญแข่งขันจะมาถึงอินเดียนั้น FIFA ได้ส่งไปให้ชาติอื่นๆก่อนถึง 3 ชาติ ทั้ง พม่า (เมียนมา ในปัจจุบัน), อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้ง 3 ต่างปฎิเสธทั้งหมด และจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ โควต้าจึงต้องมาเป็นแขกรับเชิญแบบที่ไม่ได้ตั้งใจรับเชิญอย่างอินเดีย นอกจากนี้การถูกเชิญเป็นทีมลำดับท้ายๆของการแข่งขันจึงทำให้อินเดียแทบไม่มีเวลาซ้อมมากพอสำหรับทัวร์นาเม้นต์ฟุตบอลโลก 1950 พวกเขาจึงตัดสินใจไม่ไปแข่งขัน

ฝั่งไหนกันแน่ที่พูดความจริงสำหรับเรื่องนี้? มันคงยากที่จะหาคำตอบเพราะมันผ่านมาแล้วเกือบ 70 ปี แต่อย่างน้อยๆ นี่ก็ทำให้เราได้รู้ว่า อินเดียก็พยายามแก้ต่างสิ่งที่คนทั่วโลกมองพวกเขาผิดไปเมื่อในอดีต ไม่ว่าจะเรื่องวัฒธรรมและการพัฒนาไปจนถึงการแข่งขันกีฬา การฟังความ 2 ฝั่ง คือเรื่องที่สำคัญสำหรับการเอาวิเคราะห์และพิจารณาดูว่า ฝั่งไหนที่น่าเชื่อถือกว่ากัน    

นอกจากนี้ มันยังทำให้เราได้เห็นว่าพลังของสื่อนั้นรุนแรงขนาดไหน อินเดียใส่รองเท้าเตะบอลไม่เป็นคือความจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่คนทั้งโลกก็เชื่อแบบนี้มาแล้วกว่า 70 ปี...

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ บูลลี่เมื่อ 70 ปีก่อน : "อินเดีย" ไม่ไปเตะบอลโลกเพราะ FIFA บังคับให้ใส่รองเท้าจริงหรือ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook