ชะตาชีวิตที่สวนทางกับชนาธิปของ "ณัฐพงษ์ ป้องกัน" นักฟุตบอลไทยในภูฏาน

ชะตาชีวิตที่สวนทางกับชนาธิปของ "ณัฐพงษ์ ป้องกัน" นักฟุตบอลไทยในภูฏาน

ชะตาชีวิตที่สวนทางกับชนาธิปของ "ณัฐพงษ์ ป้องกัน" นักฟุตบอลไทยในภูฏาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถึงเวลานี้แทบไม่มีชาวไทยคนไหนไม่รู้จัก ชนาธิป สรงกระสินธ์ สุดยอดแข้งร่างเล็กของเมืองไทย ที่กำลังสร้างชื่ออยู่กับ สโมสรคอนซาโดเล ซัปโปโร (Consadole Sapporo) ในศึกฟุตบอลเจ 1 ลีก ประเทศญี่ปุ่น

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน อดีตเพื่อนร่วมรุ่นที่เติบโต เล่นฟุตบอลมาด้วยกัน อย่าง “ณัฐพงษ์ ป้องกัน” ก็กำลังออกไปเผชิญโชคชะตาในการค้าแข้งยังต่างแดน เช่นเดียวกับ ชนาธิป ในประเทศเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยขุนเขา และบรรยากาศแสนงดงามอย่าง “ประเทศภูฏาน”

 

เรื่องราวของเขากับ ชนาธิป แตกต่างกันสิ้นเชิง ในขณะที่ เพื่อนเก่าเขายกระดับตัวเอง จนถูกสโมสรในลีกสูงสุดแดนอาทิตย์อุทัยซื้อตัว เส้นทางนักฟุตบอลของ ณัฐพงษ์ กลับถอยหลังไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ไม่มีสโมสรไหนในประเทศไทย ต้องการตัวเขา และต้องออกไปประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ใช่ฟุตบอลเป็นเวลา 1 ปีกว่า

เพราะเหตุใด เขาถึงยอมกลับมาสู้อีกครั้งในอาชีพนักฟุตบอล บนแผ่นดินที่เขาไม่เคยไปมาก่อน พร้อมแบกคำว่า “นักฟุตบอลจากประเทศไทย” ติดแผ่นหลังไปยังต่างแดนด้วย ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่

ชีวิตถูกลิขิต ด้วยอาการบาดเจ็บ

“ผมเริ่มต้นเล่นฟุตบอลจริงจัง ตอนที่เข้าเรียนที่ วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการราชดำเนิน ผมเล่นอยู่ที่นั่น 3 ปี จากนั้นไปคัดตัวกับบีอีซี เทโร และได้เข้าเป็นนักเตะเยาวชนของสโมสรครับ”

 1

จุดเริ่มต้นของณัฐพงษ์ บนเส้นทางลูกหนัง ไม่ต่างอะไรกับ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ทั้งคู่มาจากสถานศึกษาเดียวกัน เข้าสู่การเป็นอคาเดมีทีมเดียวกัน และประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์รายการใหญ่ใบแรกพร้อมกัน นั่นคือแชมป์เอฟเอ ยูธ คัพ 2011

ผลงานที่โดดเด่นกับฟุตบอลเยาวชน ทำให้ ณัฐพงษ์ ถูกเรียกตัวขึ้นสู่ทีมมังกรไฟชุดใหญ่ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับชนาธิป แต่แล้วเส้นทางของทั้งคู่ ต้องแยกจากกัน เพราะณัฐพงษ์เผชิญหน้ากับอาการบาดเจ็บ

“ผมได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเท้า สุดท้ายก็ไม่ได้เล่นให้กับชุดใหญ่ เลยโดนส่งไปเล่นกับสโมสรลูกคือ อาร์แบค บีอีซี เทโร ตอนอยู่ที่นั่นผมก็ยังคงบาดเจ็บที่เดิมซ้ำๆซากๆ จนสุดท้ายโดนปล่อยตัวออกจากทีมไป”

“หลังจากนั้น ผมไปทดสอบฝีเท้า กับทีมโอสถสภา และได้เซ็นสัญญากับทีม แต่โดนปล่อยยืมตลอดครับ ทั้งกลับไปเล่นกับอาร์แบค ไปเล่นกับราชประชา หลังจากนั้น ก็ไปเล่นกับสีหมอก แล้วก็ไปที่อุตรดิตถ์”

ณัฐพงษ์ ยังคงมีความสุขกับชีวิตนักฟุตบอล ตราบใดที่ยังมีสโมสรให้เล่น แม้จะไม่ได้กับทีมที่อยู่ในลีกสูงสุด อย่างไรก็ตาม บททดสอบสำคัญในฐานะนักฟุตบอลได้มาถึง เมื่อปี 2017 เขาไม่สามารถหาสโมสรที่จะเซ็นสัญญาเขาไปร่วมทีม ทำให้เขาไม่มีโอกาสลงเล่นฟุตบอลนานถึง 1 ปี

“ผมมีอาการบาดเจ็บรบกวนอีกครั้งบริเวณข้อเท้า และทำให้ผมต้องพักนานจนหาทีมใหม่ไม่ได้ ผมจึงต้องไปทำอาชีพทั้ง พนักงานโรงแรม, วินมอเตอร์ไซด์ และพนักงานร้านสะดวกซื้อ เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ”

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของณัฐพงษ์ เขาได้รับโอกาสให้กลับมาหวดลูกหนังอีกครั้ง กับสโมสร ตรัง เอฟซี แต่ช่วงเวลาที่ดีอยู่กับเขาไม่นานนัก  เพราะทีมพะยูนพิฆาต ตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับเขา และ ณัฐพงษ์ไม่สามารถหาทีมใหม่ให้กับตัวเอง ในฤดูกาล 2019

 2

ฝันร้ายเหมือนจะกลับมาเยือนหนุ่มวัย 26 ปีอีกครั้ง แต่คราวนี้เขาได้รับโอกาสจากรุ่นพี่ที่รู้จักกัน หยิบยื่นโอกาสที่ช่วยให้ณัฐพงษ์ได้เดินในเส้นทางฝันต่อไป

“พี่ประเสริฐศักดิ์ คงประเสริฐ เคยเล่นกับผมที่ราชประชา แกมาเป็นโค้ชฟุตบอลที่ประเทศภูฏาน แล้วรู้ว่าผมยังไม่มีทีมเล่น เลยชวนผมไปเล่นที่ภูฏาน ผมใช้เวลาคิดไม่นานครับ ประมาณ 2 วันก็ตอบตกลง เพราะไหนๆก็ไม่มีทีมเล่นในไทยอยู่แล้ว ผมคิดในใจว่าลองดูสักตั้ง อยากรู้เหมือนกันว่าไปเล่นฟุตบอลต่างประเทศ ความรู้สึกเป็นยังไง”

“ถ้าถามว่าผมกลัวไหม ผมไม่กลัวนะ ผมตื่นเต้นมากกว่า ที่จะได้ไปเล่นฟุตบอลที่ภูฏาน เพราะตอนก่อนไปที่นั่น ผมมีคำถามในหัวเต็มไปหมด ผมอยากรู้ว่าฟุตบอลที่นู่นเป็นอย่างไร เหมือนที่ไทยไหม แล้วผมจะเล่นได้ไหม”

“ผมคิดว่าไปเล่นที่ภูฏานอย่างน้อยก็ได้ประสบการณ์ ที่สำคัญการเล่นฟุตบอลคือสิ่งที่ผมรักดังนั้นไม่มีอะไรที่ผมต้องกลัว”

ใช้ชีวิตในโลกใบใหม่

ณัฐพงษ์ พร้อมกับเพื่อนนักฟุตบอลชาวไทย วุฒิชัย กาฬภักดี และประเสริฐศักดิ์ คงประเสริฐ ผู้รับบททั้งโค้ชและนักเตะ จึงบินลัดฟ้าสู่ประเทศภูฏาน ในฐานะนักเตะของทีมบาโร ยูไนเต็ด (Paro United) ลงเล่นในฟุตบอลลีกรองของภูฏาน ในฤดูกาล 2019

3

สำหรับการใช้ชีวิตต่างประเทศ การปรับตัวคือสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักฟุตบอล เพราะหากปรับตัวได้ช้า อาจเกิดผลด้านลบกับผลงานในสนาม

“ชีวิตที่ภูฏานไม่ถึงกับปรับตัวยากนะครับ วัฒนธรรมเขาไม่ต่างกับเรามาก เพราะคนที่นี่นับถือศาสนาพุทธ เหมือนกับที่ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ”

“แต่หลายอย่างที่นี่ ก็ไม่เหมือนกับประเทศไทย หลักๆคือเรื่องอาหารและสภาพอากาศ”

“อย่างเรื่องอาหารผมว่าพอกินได้ เพราะเขานิยมกินเผ็ดเหมือนกับบ้านเรา แต่ว่ารสชาติความเผ็ดจะต่างกับอาหารไทย จริงๆก็ไม่ถูกปากเท่าอาหารไทยหรอกครับ เราพยายามจะทำกินเองกันมากกว่า”

 4

เรื่องอาหารการกิน อาจไม่ใช่ปัญหาที่ยาก สำหรับการปรับตัวของณัฐพงษ์ กับชีวิตในประเทศภูฏาน แต่เรื่องสภาพอากาศ คือบททดสอบสำคัญ ที่เขาต้องก้าวผ่านให้ได้ หากหวังประสบความกับชีวิตนักฟุตบอลที่นี่

“ภูฏานมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 2,000 เมตร เพราะฉะนั้นการหายใจ จะลำบากกว่าบ้านเรามากครับ ช่วงที่มาอยู่ใหม่ๆถือว่าเป็นปัญหาเลยครับ เพราะเราเป็นนักฟุตบอล ต้องวิ่งใช้กำลัง ต้องหายใจเร็ว ตอนแรกเรายังไม่ชิน จึงกลายเป็นหายใจลำบาก เหนื่อยเร็วมากครับ”

“อากาศที่นี่ก็ต่างจากบ้านเรา อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส หนาวมากครับ ที่ภูฏานซ้อมบอลตอนเย็นเหมือนที่ไทย แต่อากาศต่างกันเยอะ ผมซ้อมที่นี่ช่วงแรกต้องใส่เสื้อกันหนาวซ้อมตลอดครับ”

 5

มีหลายโจทย์ให้ณัฐพงษ์ต้องปรับตัว กับชีวิตใหม่ในประเทศภูฏาน แต่หนุ่มจากจังหวัดปราจีนบุรี เผยว่าเขามีความสุขดีกับชีวิตท่ามกลางขุนเขา ณ ดินแดนของมังกรสายฟ้า

เพราะมองว่าไม่ต่างอะไร กับใช้ชีวิตในพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศไทย รวมถึงยืนยันไม่รู้สึกเหงาแต่อย่างใด กับการออกมาค้าแข้งต่างแดน ครั้งแรกในชีวิต

“ผมโทรคุยกับครอบครัวตลอดครับ เดี๋ยวนี้มีอินเทอร์เน็ตช่วยให้ติดต่อกันได้ ทางบ้านผมก็เข้าใจดีครับ ว่าทำไมผมต้องมาอยู่ที่ภูฏาน เพราะผมเลือกมาเดินตามฝันของตัวเอง”

“ถึงที่นี่จะไม่มีห้างสรรพสินค้า ไม่มีร้านอาหาร หรือสถานที่สร้างความบันเทิงเท่าไหร่ แต่ในมุมหนึ่งภูฏานคือประเทศที่เงียบสงบ มีวัดสวยงามเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อากาศดี บรรยากาศดี ไม่มีมลพิษแบบกรุงเทพฯ ใครที่เบื่อความวุ่นวาย ผมว่าน่าจะชอบกับชีวิตที่ภูฏานครับ”

6

7

“และผมก็ประทับใจกับมิตรภาพ ของคนภูฏานด้วยครับ ถึงจะสื่อสารกันไม่ค่อยได้ แต่พวกเขาให้ความเคารพคนไทยเป็นอย่างดี ทักทายยิ้มแย้ม เป็นกันเองกับเราตลอด”

“เท่าที่ผมทราบเป็นเพราะว่า ทางราชวงศ์ของภูฏาน ให้ความเคารพราชวงศ์กษัตริย์ไทย ทำให้ชาวภูฏานให้ความเคารพคนไทยไปด้วย”

ตัวแทนของประเทศไทย

นอกเหนือสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่เขาต้องพบเจอแล้ว การได้มาเล่นฟุตบอลอาชีพที่นี ยังได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ของเจ้าตัว โดยเฉพาะมุมมองที่มีต่อ นักฟุตบอลชาวภูฎาณ จากประสบการณ์ที่เขาได้ลงสนามฟาดแข้งมาด้วยกัน

 8

“การมาใช้ชีวิตที่ภูฏาน คือ การเรียนรู้ ผมได้รู้อะไรหลายอย่างกับโลกฟุตบอลที่นี่ ได้แบ่งปันความรู้ระหว่าง นักเตะไทยกับนักเตะภูฏาน”

“ถึงลีกฟุตบอลที่นี่ จะยังไม่ใช่ลีกอาชีพเต็มตัวแบบบ้านเรา แต่ความสามารถของนักเตะภูฏาน ไม่ธรรมดาเลยครับ ผมว่าใกล้เคียงกับระดับไทยลีก 2 พวกเขาถนัดการเล่นเลี้ยงตะลุยไปกับบอล ผมว่าทำได้ดีมาก”

“ที่สำคัญ ทางภูฏานมีความตั้งใจที่อยากส่งเสริมกีฬาฟุตบอล ผมเห็นความพยายาม ที่จะพัฒนาคุณภาพฟุตบอลของที่นี่ และฟุตบอลก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ”

“เราอาจมองว่าภูฏานเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ผมมาอยู่ที่นี่ ผมสามารถพูดได้เลยว่า พวกเขากำลังพัฒนา และในอนาคตเขาอาจจะพัฒนาขึ้นมา ใกล้เคียงกับไทยแบบที่เวียดนามทำก็ได้ ผมคิดว่าบอลไทยเอง ก็ต้องรีบพัฒนาขึ้นไปเหมือนกัน”

 9

นอกจากการได้เห็นโลกใบใหม่ ผ่านช่วงเวลาชีวิตในประเทศภูฏาน ณัฐพงษ์ มองเห็นว่า การที่เขาออกมาเล่นฟุตบอลต่างแดน ตัวเขาเองมีภารกิจสำคัญ ที่ต้องทำให้สำเร็จ

นั่นคือการทำให้ชื่อเสียงของนักฟุตบอลไทย ได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ไม่ต่างกับผู้เล่นไทยคนอื่นที่ย้ายไปเล่นที่ญี่ปุ่น หรือเบลเยียม แม้ว่าเขาจะมาค้าแข้งในประเทศเล็กๆ อย่างภูฏานก็ตา

“ผมมองว่าตัวผมเอง ไม่ต่างอะไรกับเจ (ชนาธิป สรงกระสินธ์) นะครับ คือเราต้องพิสูจน์ตัวเองให้คนต่างชาติได้เห็น ว่าเราดีพอที่จะมาเล่นฟุตบอลที่ประเทศของเขา”

 10

11

“ผมมาเล่นที่นี่ด้วยโควตาต่างชาติ ก็เหมือนกับฟุตบอลบ้านเรา ทุกคนคาดหวังว่าโควตาต่างชาติ ต้องยกระดับให้ทีมได้ ต้องทำผลงานได้ดี นักบอลภูฏานเขาก็รู้ครับ ว่าลีกไทยดีกว่าลีกภูฏาน คนไทยเล่นฟุตบอลเก่งกว่าคนภูฏาน ดังนั้นผมต้องทำผลงานให้ออกมาดี อย่างที่ทุกคนคาดหวัง”

“ปกติแล้วที่ภูฏาน นักบอลต่างชาติก็มาเล่นกันเยอะครับ โดยเฉพาะนักเตะจากทวีปแอฟริกา คล้ายๆกับฟุตบอลบ้านเราสมัยก่อน แต่ผมก็ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า แข้งไทยอย่างผม ก็มีดีไม่แพ้นักเตะจากชาติอื่น ผมจะทำผลงานให้ดีสุด ในฐานะตัวแทนของประเทศคนหนึ่ง”

คุณครูชีวิตที่ชื่อ “ฟุตบอล”

จากไม่กี่เดือนก่อนที่เขายังขับวินมอเตอร์ไซด์ ไม่มีสโมสรไหนต้องการตัว มาถึงวันนี้ เขาได้โอกาสมาค้าแข้งต่างแดน แน่นอนว่าสำหรับแข้งวัย 26 ปี ฟุตบอล จึงมีความหมายอย่างมากต่อชีวิตของเขา และประสบการณ์ในลีกภูฎาณ ก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่สอนให้เขาได้ทบทวนเรื่องราวทั้งดี และร้าย ที่เขาเคยผ่านมา่

 12

“ฟุตบอลสอนอะไรผมเยอะมากครับ โดยเฉพาะเรื่องการใช้ชีวิต สมัยตอนเป็นเด็ก ผมยอมรับว่าก็มีบ้างที่เราไปหลงแสงสี เราคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว เรายังเป็นเด็กร่างกายเรายังดี สุดท้ายก็ละเลยเรื่องระเบียบวินัย เล่นบอลไปเที่ยวไป”

“พอเจอปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บ จนสุดท้ายผมไม่มีทีมเล่น มันก็ทำให้เราคิดได้ ว่าเราต้องเต็มที่กับทุกงานที่เราทำ มีความรับผิดชอบกับมัน”

“หลังจากนั้นผมมุ่งมั่นกับทุกวันในฐานะชีวิตนักฟุตบอล ผมดูแลร่างกายตัวเองอย่างดี จริงๆไม่ใช่แค่การเป็นนักฟุตบอล ตอนผมไปทำงานอาชีพอื่น ผมก็ทำงานอย่างเต็มที่ที่สุด มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ตามที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ในโลกฟุตบอล”

“สุดท้ายอาชีพนักฟุตบอล ขึ้นอยู่กับว่าใครคิดได้ก่อน เรื่องระเบียบวินัย ความเป็นมืออาชีพ ฟุตบอลสอนผมเยอะมาก และยังคงสอนผมมาจนถึงทุกวันนี้”

อาจไม่ใช่รอยเท้าในต่างแดนที่ยิ่งใหญ่ เทียบเท่าเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ แต่รอยเท้าเล็กๆ ของ ณัฐพงษ์ ป้องกัน ก็เป็นหนึ่งในก้าวที่แสดงให้เห็นว่า

หากไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ในวันที่ไม่มีสโมสรไหนในไทยต้องการตัว และกล้าที่จะเริ่มต้น แม้ในลีกขนาดเล็กของเอเชีย  ประตูแห่งโอกาส ก็พร้อมเปิดต้อนรับคนที่ไม่ยอมแพ้เสมอ

 13

“ผมผ่านช่วงเวลาที่ตัวเองท้อ ช่วงเวลาที่คิดว่าเราอาจจะดีไม่พอ สำหรับการเป็นนักฟุตบอล คิดจะเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ รู้สึกว่าต้องเสียมันไป”

“ช่วงที่ผมไม่มีทีมเล่น ผมไปทำงานอาชีพอื่น ผมได้รายได้ดีนะ มีเงินที่มั่นคง ผมมานั่งคิดว่าหรือเราควรเลิกเล่นฟุตบอล เพราะเล่นฟุตบอลบางทีรายได้ก็ไม่แน่นอน แถมยังต้องมาเจ็บตัวอยู่ตลอดอีก”

“แต่สุดท้ายผมคิดว่าใจมันรักไปแล้ว ผมรักกีฬานี้ ถ้ามีโอกาสได้เป็นนักฟุตบอลต่อ ผมก็ควรจะทำให้ถึงที่สุด เพราะตอนนี้เรายังมีโอกาสอยู่ อาชีพนักฟุตบอลมันสั้น เราไม่รู้เลยว่าจะเล่นได้ถึงตอนไหน ถ้ามีโอกาสที่ยังเล่นได้ ก็ทำให้มันสุดไปเลย จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจตอนแก่ ว่ารู้แบบนี้ยังเล่นฟุตบอลต่อดีกว่า”

“ตอนแรกผมคิดถึงการมาเล่นที่ภูฏาน เพราะแค่ว่าที่นี่ให้โอกาสให้ผมได้เล่นฟุตบอล แต่ตอนนี้ผมมองว่าที่นี่คือโอกาสของผม โอกาสที่ผมจะได้พิสูจน์ตัวเอง ผมเดินทางมาไกล เพื่อท้าทายความสามารถตัวเอง”

 14

“ผมวางเป้าหมายในตอนนี้ แค่ทำผลงาน ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด พาทีมเลื่อนชั้นให้ได้ ส่วนเรื่องของอนาคต ถ้าทีมฟุตบอลที่นี่ยังไว้ใจให้ผมเล่นต่อ ก็เป็นโอกาสที่ดี หรือหากมีข้อเสนอที่น่าสนใจ จากสโมสรที่ไทย ผมพร้อมจะเปิดรับ กลับไปเล่นที่ไทยเสมอ”

“ผมไม่ได้คิดว่าอนาคตจะต้องไปเล่นที่ไหน แค่อยากเล่นฟุตบอลต่อไป ผมยังไม่คิดจะเลิกเล่นฟุตบอลในตอนนี้ ดังนั้นผมต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด”

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ชะตาชีวิตที่สวนทางกับชนาธิปของ "ณัฐพงษ์ ป้องกัน" นักฟุตบอลไทยในภูฏาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook