Eyeshield 21 : มังงะขายดีที่เปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นไม่ได้

Eyeshield 21 : มังงะขายดีที่เปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นไม่ได้

Eyeshield 21 : มังงะขายดีที่เปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นไม่ได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลายเส้นที่งดงาม และจังหวะการเล่าเรื่องราวถอดแบบมาจากภาพยนตร์ บวกกับพล็อตเรื่องมากมายมายหลายแบบ เป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ “มังงะ” หรือการ์ตูนญี่ปุ่น ครองใจผู้อ่านมาอย่างยาวนาน ทั้งในและนอกแดนอาทิตย์อุทัย

“โชเนนจัมป์” คือหนึ่งนิตยสารที่ขับเคลื่อนวงการมังงะญี่ปุ่นให้รุดหน้า เมื่อมังงะ ที่มาจากค่ายนี้ล้วนฮิตติดตลาดเป็นส่วนใหญ่ การันตีได้จากเรื่องอย่าง ดราก้อนบอล, นินจาคาถา โอ้โฮเฮะ,บลีช เทพมรณะ, โดราเอมอน หรือทัช ยอดรักนักกีฬา ที่ล้วนมียอดขายเกินกว่า 100 ล้านฉบับ

 

ในขณะเดียวกัน โชเนนจัมป์ ก็ผลิตการ์ตูนกีฬาชื่อดังออกมามากมาย ทั้ง กัปตันสึบาสะ, สแลมดังค์, ปรินซ์ ออฟ เทนนิส และ ไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน ที่นอกจากจะได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม ยังสามารถช่วยปลุกกระแสกีฬาชนิดนั้นให้ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นอีกด้วย

ทว่ามีมังงะเรื่องหนึ่งที่ชื่อว่า “Eyeshield 21” (อายชีลด์ 21 ไอ้หนูไต้ฝุ่นมะกันบอล) ที่แม้จะมียอดขายสูงถึง 20 ล้านฉบับ แต่กลับไม่สามารถทำให้กีฬาอเมริกันฟุตบอล ที่เป็นแกนหลักของเรื่องนี้ปักธงในแผนที่ญี่ปุ่นได้

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

มังงะกีฬาสร้างชาติ

แม้ว่า มังงะ จะเป็นคำที่ถูกใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มังงะในสไตล์ของ เท็ตสึกะ โอซามุ ได้กลายเป็นรากฐานของมังงะสมัยใหม่ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเขานำการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์มาปรับใช้กับการแบ่งช่องของการ์ตูนญี่ปุ่น

 1

นอกจากนี้การที่เขาสามารถเขียนเรื่องได้หลายแบบ ทั้งแนว โชเนน (เด็กชาย) อย่าง เจ้าหนูอะตอม แนวตาหวานอย่าง ริบบิน โนะ คิชิ หรือ เซเน็น (แนววัยรุ่น) อย่างเรื่อง แบล็คแจ็ค หมอปีศาจ หรือแม้กระทั่งแนวปรัชญาอย่าง วิหกเพลิง กลายเป็นการจุดประกายให้กับนักเขียนท่านอื่น รวมทั้งรุ่นต่อมาในการคิดพล็อตเรื่องให้หลากหลายมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือการ์ตูนแนวกีฬา ที่ถือเป็นอีกหนึ่งแนวที่ครองใจผู้อ่านไม่แพ้แนวต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็น กัปตันสึบาสะ, ก้าวแรกสู่สังเวียน หรือ สแลมดังค์ ก็ล้วนมียอดขายเกินกว่า 20 ล้านฉบับด้วยกันทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดี การ์ตูนแนวนี้ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมจากผู้อ่านเท่านั้น แต่ยังสามารถปลุกความนิยมของกีฬาประเภทนั้นๆ และมีส่วนในการขับเคลื่อนวงการกีฬาญี่ปุ่นอย่างไม่น่าเชื่อ

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ กัปตันสึบาสะ เริ่มตีพิมพ์ในปี 1981 ในตอนที่ยังไม่มีลีกฟุตบอลอาชีพ และทั่วทุกที่เต็มไปด้วยสนามเบสบอล แต่ด้วยความสนุกของของเนื้อหา ก็สามารถทำให้เด็กในยุคนั้นสนใจในกีฬาชนิดนี้ และเลือกเล่นฟุตบอลมากขึ้น จนพวกเขาสามารถก่อตั้งลีกอาชีพ และผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้สำเร็จ

ยิ่งไปกว่านั้น นักกีฬาชื่อดังหลายรายทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ฮิเดโตชิ นาคาตะ, ชุนซุเกะ นากามูระ, ซีเนดีน ซีดาน หรือแม้กระทั่ง เลโอเนล เมสซี ต่างยอมรับพวกเขาล้วนได้รับแรงบันดาลใจในการเล่นฟุตบอลมาจากการ์ตูน “กัปตันสึบาสะ”

“ในญี่ปุ่นเมื่อ 20 ปีหรือ 30 ปีที่แล้วเบสบอลยิ่งใหญ่มาก ส่วนฟุตบอลเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ ดังนั้นผมจึงไม่มีฮีโร หรือทีมในฝันอะไร” ฮิเดโตชิ นาคาตะนักเตะระดับตำนานของญี่ปุ่นกล่าวกับ FIFA.com

“แต่มันมีการ์ตูนเรื่องนึงที่ชื่อว่ากัปตันสึบาสะ ตอนที่ผมอ่านมัน ผมรู้สึกชอบฟุตบอลมากๆ ผมเคยคิดว่าจะเล่นเบสบอลหรือฟุตบอลดี และสุดท้ายผมก็เลือกฟุตบอล”

เช่นเดียวกับ สแลมดังค์ หรือไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน ก็มีส่วนทำให้คนหันมาเล่นในกีฬาชนิดนี้มากขึ้น จากสถิติของ NHK ระบุว่าตั้งแต่ปี 2012 ที่ไฮคิวตีพิมพ์ จำนวนนักวอลเลย์บอลชายในโรงเรียนมัธยมปลายดีดตัวจาก 37,000 คน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่ในระดับ 44,000 คนในปี 2016

 2

และย้อนกลับไปเมื่อปี 2002 ก็มีอีกหนึ่งมังงะกีฬา ที่สามารถสถาปนาตัวเองให้กลายเป็นหนึ่งในมังงะยอดนิยมของประเทศ

มังงะเรื่องนี้มีชื่อว่า “Eyeshied 21” (อายชิลด์ 21) 

การ์ตูนกีฬาอเมริกันในญี่ปุ่น

อายชิลด์ 21 ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2002 หลัง สแลมดังค์ การ์ตูนกีฬาบาสเก็ตบอลสุดฮิตจบลงไปได้ 6 ปีในขณะที่ กัปตันสึบาสะ กำลังอยู่ในภาค Road To 2002 ภาคที่ 3 ของซีรีย์ โดยมี ริอิจิโร อินางากิ เป็นผู้แต่งเรื่อง และยูซุเกะ มุราตะ เป็นผู้วาด ซึ่งเป็นคนเดียวกันที่วาดการ์ตูนเรื่อง One Punch Man ในเวลาต่อมา

 3

การ์ตูนเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ เซนะ โคบายาคาวะ เด็กมัธยมปลายปีหนึ่ง (ม.4) ของโรงเรียนเดมอน ผู้มีนิสัยอ่อนแอ ไม่กล้าขัดใจคนอื่น เขามักจะถูกเพื่อนในกลุ่มใช้ไปซื้อของ หรือถือของไปส่งมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แต่มันกลับกลายให้เขาพัฒนาตัวเองกลายเป็นนักวิ่งฝีเท้าดีโดยไม่รู้ตัว

ฝีเท้าของเขาไปเข้าตา โยอิจิ ฮิรุมา กัปตันชมรมอเมริกันฟุตบอลของโรงเรียน จึงลักพาตัวเขามาแล้วแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ พร้อมมอบเสื้อหมายเลข 21 รวมถึงหมวกกันน็อกที่มีแผ่นกรองแสงบริเวณตา (อายชิลด์) และตั้งชื่อให้เขาว่า “อายชิลด์ 21” เด็กหนุ่มผู้อ่อนแอจึงได้แปรสภาพเป็นฮีโร่อเมริกันฟุตบอลคนใหม่ ร่วมไล่ล่าความสำเร็จไปพร้อมกับทีม ภายใต้หน้ากากที่อำพรางตัว

อย่างไรก็ดีในช่วงนั้น อเมริกันฟุตบอล เป็นกีฬาที่ห่างไกลจากคนญี่ปุ่นมาก แม้แต่คนแต่งเรื่องเองก็ยอมรับว่าค่อนข้างกังวลว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ถึงขนาดเตรียมแผนเปลี่ยนแนวเรื่องไปเป็นแบบอื่นแทน

“ผมค่อนข้างกังวลว่าความนิยมของมังงะจะลดลงทันทีหลังจากพูดถึงอเมริกันฟุตบอล โชเนน จัมป์ นิตยสารที่มังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์ มีนโยบายที่เข้มงวดมากว่าไม่ว่ามังงะใดก็ตาม หากความนิยมตกต่ำจะถูกตัดจบทันที” อินางากิให้สัมภาษณ์กับ Otaku Mangazine

“ดังนั้นผมจึงวางมาตรการป้องกันไว้มากมายสำหรับเรื่องนี้ เช่นตอนที่เราเผยเรื่องอเมริกันฟุตบอลเป็นครั้งแรกจะอยู่ในตอนที่ 4-5 นี่เป็นตอนที่สำคัญเพราะว่าหากความนิยมตกลงในตอนนี้ ผมจะเปลี่ยนไปเป็นแนวฮีโร่สวมหน้ากากแบบคาเมนไรเดอร์ ชื่อ ‘Eyeshield 21’ จะสื่อถึงหน้ากากได้”

 4

อย่างไรก็ดี จากการที่ผู้แต่งทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ทำให้สามารถอธิบายกฎกติกาที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย บวกกับการดำเนินเรื่องที่สนุก ทำให้อายด์ชิลด์ได้รับความนิยมอย่างเหนือความคาดหมาย ด้วยยอดขายสูงถึง 20 ล้านเล่ม อยู่ในอันดับ 16 การ์ตูนกีฬาขายดีตลอดกาลของญี่ปุ่น

“ผมเริ่มสนใจในอเมริกันฟุตบอลมาก่อนที่จะเริ่มทำอายชิลด์ ผมแค่นึกถึงตัวละคร แน่นอนว่ามันไม่พอ ผมจึงต้องหาข้อมูลใหม่ทั้งหมดเท่าที่ผมทำได้ ผมดูเกมของมัธยมปลาย มหาวิทยาลัย ลีกอาชีพของญี่ปุ่น และแน่นอนลีกอาชีพของอเมริกา” อินางากิ อธิบาย

ความสำเร็จของอายด์ชิลด์ ทำให้คาดกันว่าน่าจะทำให้อเมริกันฟุตบอลในญี่ปุ่นได้รับความนิยมมากขึ้น เหมือนกับ กัปตันสึบาสะ หรือ สแลมดังค์เคยทำไว้

แต่มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เหตุผลเพราะอะไร?

ความต่างระหว่างญี่ปุ่น-อเมริกา

แม้ว่าอายด์ชิลด์ จะมียอดขายในระดับที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่น่าเสียดายที่อเมริกันฟุตบอล ซึ่งเป็นแกนหลักของเรื่อง กลับไม่สามารถปักธงบนแผนที่ญี่ปุ่นได้

 5

สิ่งหนึ่งที่ทำให้กีฬาชนิดนี้ ไม่ได้รับความนิยมมากนักในแดนอาทิตย์อุทัย คือการเป็นกีฬาที่เล่นค่อนข้างยาก ใช้อุปกรณ์ในการเล่นเยอะ ต่างจากฟุตบอลที่มีเพียงลูกบอลลูกเดียว หรืออะไรมาพันเป็นลูกกลมๆ ก็เล่นได้ หรือบาสเก็ตบอล ที่มีเพียงลูกกับห่วง ก็สนุกกับมันได้แล้ว โดยอาจจะใช้คนแค่ 1-2 คน

ในขณะที่อเมริกันฟุตบอล นอกจากลูกบอลแล้ว จำเป็นต้องมีชุดแข่ง เครื่องป้องกัน และเสาโกล และคนแบบครบทีมฝ่ายละ 11 คน รวมไปถึงเส้นบอกหลาจากเอนด์โซนฝั่งหนึ่งไปถึงอีกฝั่งหนึ่ง รวมไปถึงกฎกติกาที่ค่อนข้างซับซ้อน และรูปแบบการเล่นที่ไม่ลื่นไหล มีจังหวะหยุดเกมอยู่เป็นระยะ

ยิ่งไปกว่านั้น กีฬาชนิดนี้ยังไม่ได้รับความนิยมเป็นสากล มีเพียงอเมริกาหรือบางประเทศในยุโรปเท่านั้นที่เล่นกันอย่างจริงจัง ต่างจากฟุตบอลหรือกีฬาอื่นๆที่เล่นกันทั้งโลก รวมไปถึงเวลาแข่งขัน NFL (ลีกอเมริกันฟุตบอลของอเมริกา) ส่วนใหญ่เป็นช่วงกลางวันของญี่ปุ่น ทำให้มีคนจำนวนไม่มากนักที่จะได้ดูการแข่งขันแบบสดๆ

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้อเมริกันฟุตบอล กลายเป็นกีฬาเฉพาะกลุ่มของชาวญี่ปุ่นคือลักษณะทางกายภาพและวิธีการใช้ร่างกาย เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีสรีระที่ต่างกันอย่างชัดเจนจากชาวยุโรปหรืออเมริกามาก และด้วยความที่กีฬาชนิดนี้สรีระมีส่วนสำคัญในการเล่น ทำให้ยากที่กีฬาชนิดนี้จะเข้าถึงคนทั่วไป  

“นักกีฬายุโรปและอเมริกันใช้ร่างกายของพวกเขาในทางที่ต่างไปจากนักกีฬาญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง” มาซาฟุมิ คาวางุจิ ผู้อำนวยการ JPEC สถาบันพละศึกษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นกล่าวกับ Japan Times

 6

คาวางุจิ คืออดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลชาวญี่ปุ่น ที่เคยไปเล่นให้กับ อัมสเตอร์ดัม แอดไมรัลส์ อดีตทีมในลีก NFL ยุโรปที่ตอนนี้ยุบทีมไปแล้ว และเคยร่วมฝึกซ้อมกับ ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตี้นายเนอร์ส ใน NFL ระยะเวลาหนึ่ง ทำให้เขามองเห็นความแตกต่างนี้อย่างชัดเจน

“ตั้งแต่วันแรกที่ยุโรป ผมสังเกตได้ถึงความแตกต่างระหว่างร่างกายของชาวอเมริกันและญี่ปุ่น”

“หลังจากฝึกซ้อมเป็นทีมเสร็จ ผมรู้สึกปวดต้นคอ แต่ผู้เล่นแอฟริกัน อเมริกันบอกผมว่าเขาเจ็บสะโพก ทั้งที่ความจริงเราฝึกซ้อมแบบเดียวกัน ใช้เครื่องออกกำลังกายชนิดเดียวกัน”

“นักกีฬาญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะใช้เข่าของพวกเขามาก พวกเขาย่อเข่าเพื่อสะสมพลังและปล่อยมันออกมาก่อนจะปะทะกัน พลังจึงวิ่งจากเข่ามาที่สะโพกและร่างกายท่อนบน แต่ชาวอเมริกันสามารถสร้างกำลังแบบเดียวกันด้วยการใช้สะโพกเพียงอย่างเดียว พวกเขาจึงสามารถปะทะกันในจังหวะที่เร็วกว่าชาวญี่ปุ่น”

 7

นอกจากนี้คนญี่ปุ่นยังมีความรู้สึกว่าอเมริกันฟุตบอล เป็นกีฬาที่อันตราย และยิ่งตอกย้ำภาพจำแบบนี้ลงไปอีกเมื่อปีที่ผ่านมาได้มีคดีที่นักกีฬาจากมหาวิทยาลัยนิฮง เจตนาทำร้ายคู่แข่งในการแข่งขันโดยอ้างว่าได้รับคำสั่งมาจากโค้ช

“ผู้คนจะเริ่มคิดว่ามันอันตรายเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบในแง่ลบต่อกีฬาชนิดนี้” มุเนฮิโกะ ฮาราดะ ศาสตราจารย์ด้านการจัดการกีฬา มหาวิทยาลัยวาเซดะ และเป็นอดีตผู้อำนวยการทีมอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยโอซากากล่าวกับ New York Times

กีฬาเฉพาะกลุ่ม

อันที่จริง หากพูดว่าอายชิลด์ ไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมได้เลย อาจจะเป็นคำพูดที่เกินไป เพราะจากรายงานอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า หลังจากมังงะเรื่องนี้ตีพิมพ์มีจำนวนผู้เล่นอเมริกันฟุตบอลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หลายโรงเรียนเริ่มก่อตั้งชมรมอเมริกันฟุตบอลในช่วงเวลานั้น

 8

จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสมาคมอเมริกันฟุตบอลญี่ปุ่น ระบุว่าปัจจุบันมีนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลอยู่ราว 20,000 คน และมีทีมอยู่ถึง 421 ทีม

อย่างไรก็ดี ตัวเลขของพวกเขายังห่างไกลจากกีฬาชนิดอื่น แม้กระทั่งรักบี้ กีฬาที่คล้ายกัน ที่มีผู้เล่นทั้งประเทศ 120,000 คน และฟุตบอลที่มีผู้เล่น 900,000 คน

ส่วนจำนวนทีม แม้ว่าพวกเขาจะมีทีมในจำนวนค่อนข้างมาก แต่เกือบครึ่งเป็นทีมมหาวิทยาลัยจำนวน 210 ทีม ส่วนอีก 115 ทีมเป็นทีมระดับมัธยมปลาย และที่เหลือเป็นทีมกึ่งอาชีพในลีกที่เรียกกันกว่า X-League

อายชิลด์ ถือเป็นเคสตัวอย่างว่า แม้ว่าการ์ตูนจะได้รับเสียงตอบรับที่ดี แต่บางทีก็ไม่สามารถจุดกระแสความนิยมในกีฬาชนิดนั้นได้เสมอไป เพราะจำเป็นต้องพึ่ง ลักษณะทางกายภาพ บริบททางสังคม รวมไปถึงทัศนคติ ที่จะช่วยผลักดันต่อไปได้

มันจึงกลายเป็นการ์ตูนดี แต่กีฬาไม่โดนสำหรับชาวญี่ปุ่นในวงกว้างไปโดยปริยาย

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ Eyeshield 21 : มังงะขายดีที่เปลี่ยนแปลงสังคมญี่ปุ่นไม่ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook