พจนานุกรม “ฟุตบอล” ที่คุณควรรู้

พจนานุกรม “ฟุตบอล” ที่คุณควรรู้

พจนานุกรม “ฟุตบอล” ที่คุณควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากสังเกตเวลาที่คุณชมการถ่ายทอดสดฟุตบอล, ลงไปเตะในสนามเอง หรือแม้แต่เล่นเกม คงจะเห็นหรือได้ยินคำศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาลูกหนังเต็มไปหมด บางคำเราก็รู้อยู่แล้ว แต่บางคำก็ชวนให้สงสัยว่ามันคืออะไร?

บางคำก็เป็นศัพท์ที่ไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก บางคำถึงได้ยินบ่อยก็ยังไม่เข้าใจซะที … Main Stand ขอเปิดพจนานุกรมฟุตบอล ให้คุณได้ทราบถึงคำศัพท์ที่คนรักกีฬาลูกหนังควรรู้

Man on

นี่คือศัพท์ที่นักฟุตบอลทุกคนไม่ว่าจะมืออาชีพหรือสมัครเล่นคงคุ้นเคย เพราะนี่คือคำเตือนให้คนที่ครองบอลอยู่รู้ตัวว่า "กำลังมีนักเตะฝั่งตรงข้ามเข้ามาจากด้านหลัง" จะยิงหรือส่งหรือพลิกตัวไปทางไหนก็ให้รีบคิดรีบทำซะ


Photo : talkSPORT

สำหรับเมืองไทย เชื่อว่าเราๆ น่าจะคุ้นเคยกับคำว่า "หลังเข้า" ที่ก็แปลความได้ในลักษณะเดียวกัน แต่ถ้าลงสนามโดยมีชาวต่างชาติอยู่ด้วย พูดภาษาไทยไปคงจะไม่เข้าใจ ซึ่งนี่แหละ ศัพท์สากลที่คนทั่วโลกเขารู้กัน

Woodwork

เราอาจจะเคยได้ยินคำนี้เวลาชมการถ่ายทอดสดฟุตบอล หรือแม้แต่เล่นเกมอย่าง PES, FIFA กับ FM อยู่เนืองๆ และก็มักจะนำมาซึ่งความสงสัยว่า มันคืออะไรกันแน่?


Photo : The Telegraph

ซึ่ง "Woodwork" นั้น คือคำที่ใช้สำหรับเรียกกรอบประตูตั้งแต่เสาทั้งสองข้าง ตลอดจนคาน (ที่บางทีเราอาจจะคุ้นกับคำว่า Crossbar มากกว่า) โดยสาเหตุที่เรียกเช่นนี้เชื่อกันว่ามาจากในสมัยก่อนที่เสาและคานผลิตมาจากไม้นั่นเอง

Nutmeg

หากเปิดพจนานุกรมแล้ว คำว่า "Nutmeg" นั้นจะแปลว่า "ลูกจันทน์" แต่สำหรับวงการฟุตบอล นี่คือคำที่นักเตะไม่ว่าจะมืออาชีพหรือสมัครเล่นก็ไม่อยากได้ยิน เพราะคำว่า Nutmeg ในบริบทฟุตบอลนั้นหมายถึง "การถูกแตะบอลลอดหว่างขา" ซึ่งถือเป็นอะไรที่ทำให้เสียหน้าอย่างยิ่ง


Photo : blog.playo.co

ส่วนที่มาของคำดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียง เพราะจากหนังสือ Over the Moon, Brian - The Language of Football ของ อเล็กซ์ ลีธ บอกว่าศัพท์ดังกล่าวถูกพัฒนามาจากคำว่า Nut ซึ่งเป็นแสลงที่ใช้กล่าวถึง "ลูกอัณฑะ" ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจุดที่ลูกบอลวิ่งผ่านทางด้านล่าง ทว่าในพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดกลับระบุว่า Nutmeg เป็นสแลงที่ใช้กันมาตั้งแต่ช่วงปี 1870s ในยุควิคตอเรีย หมายความถึงการกระทำที่ทำให้อีกฝ่ายดูเหมือนคนโง่

แต่ถึงจะมีที่มาอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่า มันตรงทั้งการกระทำ และสิ่งที่ผู้ถูกกระทำต้องเจอจริงๆ

Overlap

ถือเป็นศัพท์ฟุตบอลที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยผ่านการถ่ายทอดสด ซึ่งคำว่า "Overlap" นั้นหมายถึง "การวิ่งสอดมาจากด้านหลัง" ของผู้เล่นที่อยู่ตำแหน่งต่ำกว่าคนที่ครองบอล ซึ่งโดยมากมักจะเป็นฟูลแบ็ก หรือวิงแบ็กที่เติมเกมมาจากริมเส้น หากพูดให้เห็นภาพก็ขอให้นักถึงสไตล์การเล่นของ โรแบร์โต้ คาร์ลอส หรือที่กำลังเด่นสุดๆ ในตอนนี้อย่าง เทรนท์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ นั่นแหละ


Photo : 90Min

และก็มีศัพท์อีกคำที่เอาไว้ใช้คู่ขนาน นั่นคือคำว่า "Underlap" ซึ่งจะใช้กับผู้เล่นที่ยืนตำแหน่งสูงกว่าคนที่ครองบอล และอยู่ด้านในนั่นเอง

Box-to-box

หากนำคำนี้ไปใส่บริบทของสนามฟุตบอลคงพอจะเห็นภาพทันที ซึ่งนั่นก็คือ "จากกรอบเขตโทษถึงกรอบเขตโทษ" คำนี้มักจะใช้พูดถึงสไตล์การเล่นของกองกลางที่มีสไตล์การเล่นโดดเด่นทั้งรับและรุก วิ่งดีไม่มีหมด สามารถตัดบอลในบริเวณกรอบเขตโทษของตัวเอง และยังมีแรงเหลือเติมเกมเพื่อขึ้นมาทำประตูในจังหวะต่อเนื่องได้แบบสบายๆ


Photo : SB Nation

ซึ่งหากจะพูดถึงนักเตะดังๆ ที่มีสไตล์การเล่นแบบนี้ ก็มีอยู่หลายคน นำโดยระดับตำนานอย่าง สตีเว่น เจอร์ราร์ด, แฟรงค์ แลมพาร์ด หรือ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ก็เข้าข่าย

Deep-lying

ถือเป็นอีกศัพท์ที่มักจะได้ยินกันเสมอๆ เมื่อพูดถึงตำแหน่งกองกลาง ความหมายแบบตรงตัวก็คือ "แนวลึก" แต่หากลงในตำแหน่งบนสนามแล้ว ก็คือตำแหน่งกองกลางที่ทำหน้าที่ยืนปักหลักคุมเชิงให้กองหลัง เวลาที่ผู้เล่นร่วมตำแหน่งคนอื่นๆ ขึ้นไปทำเกมบุก ซึ่งหากพูดว่าตำแหน่งนี้คือ "กองกลางตัวคุมเกม" (Holding Midfielder) ก็ไม่ผิดอะไร


Photo : CaughtOffside

อย่างไรก็ตาม กองกลางแนวลึกบางคนก็มีความสามารถในการจ่ายบอล หรือสร้างสรรค์เกมบุกจากตำแหน่งดังกล่าวที่โดดเด่นมากๆ ทำให้เกิดเป็นอีกตำแหน่งใหม่ที่เรียกว่า "เพลย์เมกเกอร์แนวลึก" (Deep-lying playmaker) หรือในภาษาอิตาลีเรียกว่า "Regista" ซึ่งคนที่ทำให้ศัพท์นี้กลายเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคนแรกๆ ก็หนีไม่พ้น อันเดรีย ปีร์โล่ นั่นเอง

False 9

ตามความเข้าใจทั่วไป ตำแหน่งหมายเลข 9 นั้นหมายถึงศูนย์หน้า ผู้ที่ยืนอยู่บนสุดในสนาม แต่ในยุค 2010s ก็ได้เกิดศัพท์ใหม่ขึ้นมา เมื่อคนที่ยืนในตำแหน่งนั้นบนทีมชีท กลับไม่ได้เล่นด้วยสไตล์ที่คุ้นเคย


Photo : talkSPORT

เพราะจากเดิมที่ตำแหน่งเบอร์ 9 จะเป็นตำแหน่งที่ปักหลักทำประตูในกรอบเขตโทษเป็นหลัก "เบอร์ 9 หลอก" หรือ "False 9" จะลงมาเชื่อมเกมกับกองกลางด้วย ซึ่งหากตัวประกบตามมามาร์กตัวด้วย ก็จะเปิดช่องให้คนอื่นๆ สอดขึ้นไปทำประตูได้ทันที

ระบบนี้ถูกคิดค้นขึ้นโดย เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ในสมัยที่คุม บาร์เซโลน่า และมี ลิโอเนล เมสซี่ เป็นนักเตะต้นแบบ ซึ่งทีมชาติสเปนก็เอาไปต่อยอด โดยใช้ เชส ฟาเบรกาส ยืนตำแหน่งดังกล่าว และก็กลายเป็นอีกแท็คติกสำคัญที่ช่วยให้ทีมกระทิงดุคว้าแชมป์ ยูโร 2012

Poacher

พูดถึง False 9 กันไปแล้ว ก็คงต้องพูดถึงศัพท์ที่เอาไว้เรียกศูนย์หน้าเบอร์ 9 แบบดั้งเดิมเสียหน่อย ซึ่งนอกจากจะมีศัพท์อย่าง "Targetman" หรือกองหน้าตัวเป้า ที่ทำได้ทั้งยิงประตูแคะคอยค้ำพักบอลแล้ว ยังมีตำแหน่งนี้อีกสไตล์ นั่นคือ "Poacher"


Photo : akampus.com

หน้าที่ของศูนย์หน้าสไตล์นี้ก็ไม่มีอะไรให้มากความ "ยิงประตู" เท่านั้นคือสิ่งที่ต้องทำ โดยต้องมีทั้งความแข็งแกร่งในการปะทะกับกองหลัง รวมถึงความเร็วในการฉีกหนีตัวประกบ ที่สำคัญที่สุดคือต้องเฉียบขาด มีโอกาสเดียวต้องทำให้ได้

แต่หากไล่เรียงรายชื่อของศูนย์หน้าสไตล์นี้ คุณอาจรู้สึกอะไรบางอย่าง เพราะทั้ง แกร์ด มุลเลอร์, กาเบรียล บาติสตูต้า, ไมเคิ่ล โอเว่น รวมถึง ฟิลิปโป้ อินซากี้ … พวกเขาเหล่านี้แขวนสตั๊ดไปหมดแล้ว นั่นหมายความว่าศูนย์หน้าสไตล์ Poacher ดูจะหายากและใกล้สูญพันธุ์ในปัจจุบัน เมื่อความต้องการของทีมต่างๆ นั้นไม่อยากได้ศูนย์หน้าที่ทำได้เพียงแค่ยิงประตูเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

Booking

สำหรับสายเที่ยวน่าจะคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี กับ "การจอง" ไม่ว่าจะตั๋วเครื่องบิน, ที่พัก (ถึงขนาดมีเว็บไซต์และแอปฯ จองโรงแรมชื่อนี้เลยละกัน) แต่สำหรับนักฟุตบอล นี่เป็นสิ่งที่พวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงให้ถึงที่สุด


Photo : irishmirror.ie

เพราะสำหรับโลกลูกหนัง คำนี้หมายถึง "การถูกลงโทษด้วยการแจกใบเหลืองหรือใบแดง" ซึ่งจะว่าไปก็ค่อนข้างตรงไม่ใช่น้อย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการแจกใบเหลือง-ใบแดงก็คือ ผู้ตัดสินจะต้องจดชื่อลงไปด้วยนั่นเอง

Pep talk

เห็นคำนี้ไม่ใช่ว่า เป๊ป กวาร์ดิโอล่า จะใช้ได้คนเดียวเท่านั้น แต่ใครๆ ก็สามารถใช้ได้ โดยความหมายก็คือ "การพูดสั้นๆ กระตุ้นเพื่อให้ลูกทีมลงไปคว้าชัยชนะให้ได้"


Photo : www.itv.com

โดยรากศัพท์คำว่า Pep นั้นต้องย้อนกลับไปช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งก็ย่อมาจาก Pepper ที่นอกจากจะแปลว่า "พริกไทย" แล้ว ยังเป็นคำที่ใช้สื่อถึง สปิริต, พลังงาน ได้อีกด้วย

แน่นอนว่ากุนซือแต่ละคนย่อมมีสไตล์ Pep talk ที่แตกต่าง แต่คนที่เป็นตำนานที่สุดคงหนีไม่พ้น เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เมื่อในบางครั้ง Pep talk ของเขาก็เต็มไปด้วยคำด่าสุดร้อนแรงเพื่อกระตุ้นให้เกิดสำนึกของชัยชนะ จนมีการนิยามศัพท์ว่า "Hairdryer" ซึ่งเปรียบเปรยว่าด่าเดือดแบบไม่มีพักจนผมที่เปียกๆ ยังแห้งได้นั่นเอง

Men behind the ball

นี่คือแท็คติกที่ทีมคู่แข่งและแฟนบอลโดยทั่วไปไม่อยากได้ยิน เพราะหากนิยามกันแบบรวบรัดก็คือ "แผนอุดแหลก"


Photo : 90Min

พูดให้เห็นภาพ แท็คติกนี้ก็คือการให้ผู้เล่นทุกคนในทีมลงไปยืนอยู่ในแดนของตัวเอง ไม่ต้องขึ้นเกมบุก ซึ่งทำให้ทีมคู่แข่งหาโอกาสเจาะประตูยากกว่าที่เคย เพราะเงยหน้าขึ้นมาก็เจอแต่ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามเต็มไปหมด

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนศัพท์ดังกล่าวจะเริ่มได้ยินน้อยลงไปในระยะหลังๆ เพราะ โชเซ่ มูรินโญ่ ได้นิยามศัพท์ใหม่ว่า "Park the bus" หรือ "จอดรถบัส" สำหรับแท็คติกอุดแหลกดังกล่าว แต่ที่ฟังดูแปลกไม่น้อยก็คือ ตอนแรกที่คำนี้ปรากฎสู่ชาวโลกเมื่อปี 2004 เขาใช้เปรียบเปรยการเล่นของ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ในเกมพบ เชลซี ทีมของเขา แต่กลายเป็นว่าคำดังกล่าว กลับสะท้อนสไตล์การเล่นเกมรับของทีมต่างๆ ที่มูรินโญ่คุมในเวลาต่อมาเสียอย่างนั้น

Panenka

แม้นักเตะระดับตำนานหลายคนจะเคยมีท่าเฉพาะตัวที่ใครเห็นต้องนึกออก แต่น้อยคนนักที่ลีลาของเขาจะกลายเป็นศัพท์ที่ใครๆ ก็เรียกกัน และหนึ่งในนั้นเห็นจะหนีไม่พ้น "จุดโทษแบบปาเนนก้า"

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นในศึกยูโร 1976 รอบชิงชนะเลิศที่ยูโกสลาเวีย เยอรมันตะวันตก แชมป์เก่าและแชมป์โลก 1974 กุมความได้เปรียบเหนือ เช็กโกสโลวาเกีย แบบสุดกู่ ทว่ารูปเกมกลับไม่เป็นไปอย่างที่คาด เมื่อทัพอินทรีเหล็กโดนนำห่าง 2-0 ก่อนไล่ตีเสมอแบบหืดจับ ต้องไปตัดสินด้วยการดวลลูกโทษ

ไฮไลท์มาเกิดเอาตรงการยิงคนที่ 5 ของฝั่งเช็กฯ เมื่อ อันโตนิน ปาเนนก้า ดาวดังของทีมทำในสิ่งที่หลายคนไม่คิดว่าจะทำเมื่อดูจากความจริงที่ว่า ลูกนี้ต้องยิงเข้าเพื่อชนะ เพราะแทนที่จะซัดเต็มข้อหรือยิงเล่นทาง เขากลับตัดสินใจชิพเบาๆ เข้าไปตรงกลางประตูเลย

ด้วยการยิงที่คาดไม่ถึง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เซปป์ ไมเออร์ จะพุ่งผิดทาง เช็กโกสโลวาเกียคว้าแชมป์ไปด้วยจุดโทษลูกดังกล่าว และจากนั้นมา ชื่อของปาเนนเก้า ก็ถูกนำไปเรียกขานการยิงจุดโทษแบบที่จิตไม่นิ่งจริงยิงไม่ได้มาตลอดกระทั่งทุกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook