ทั้งที่เป็นกีฬาของศัตรู : ทำไมเบสบอลถึงเป็นกีฬาอันดับ 1 ของญี่ปุ่น?

ทั้งที่เป็นกีฬาของศัตรู : ทำไมเบสบอลถึงเป็นกีฬาอันดับ 1 ของญี่ปุ่น?

ทั้งที่เป็นกีฬาของศัตรู : ทำไมเบสบอลถึงเป็นกีฬาอันดับ 1 ของญี่ปุ่น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อกิจกรรมฆ่าเวลาของชาวอเมริกัน กลายเป็นกีฬาประจำชาติของแดนอาทิตย์อุทัย  

แม้ว่าวงการกีฬาของญี่ปุ่นจะมีความหลากหลายมากขึ้น จากการที่พวกเขาสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกในกีฬาหลากประเภท หรือการที่กีฬาประเภททีมอย่างฟุตบอล กลายเป็นขาประจำในฟุตบอลโลก แต่กีฬาที่ครองเบอร์ 1 ในแง่ความนิยมยังคงเป็นเบสบอล ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มาหลายทศวรรษ 

จากการสำรวจของ Statista เว็บไซต์เก็บข้อมูลทางสถิติระบุว่า เบสบอล คือกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของปี 2018 ที่ 34.9 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยฟุตบอล (28.5%) ฟิกเกอร์ สเก็ต (16.5%) และ เทนนิส (14.5%) 

ในขณะที่ลีกเบสบอลอาชีพญี่ปุ่น (NPB) ก็เป็นการแข่งขันที่คนญี่ปุ่นติดตามชมมากที่สุด คิดเป็น 45.2% ส่วนอันดับ 2 คือซูโม่ที่ตามมาห่างๆ ที่ 27.3% และอันดับ 3 คือเจลีก 25% (สถิติล่าสุดเมื่อปี 2017) 

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เบสบอล กลายเป็นกีฬาอันดับ 1 ของชาวญี่ปุ่น ทั้งที่ไม่ใช่กีฬาดั้งเดิมของพวกเขา แถมในอีกมุมหนึ่ง มันยังเป็นกีฬาของศัตรูอย่าง สหรัฐอเมริกา ที่เคยใช้ระเบิดนิวเคลียร์ทำลายบ้านเมืองของพวกเขาจนราบคาบในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand  

ตรงจริตชาวซามูไร 

เบสบอล เป็นกีฬาที่ถือกำเนิดในปี 1846 บนผืนแผ่นดินอเมริกา ก่อนจะถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นโดย ฮอเรซ วิลสัน ศาสตราจารย์ภาษาอังกฤษของ ไคเซ กัคโค (ที่ต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล) ในปี 1873 และได้รับความช่วยเหลือจาก ฮิโรชิ ฮิราโอกะ อดีตนักเรียนนอกที่นำกฎเบสบอลขั้นพื้นฐานมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น 

เนื่องจากในช่วงนั้นญี่ปุ่นอยู่ในยุคปฎิรูปเมจิ และกำลังพยายามพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับตะวันตก เบสบอลที่เป็นวัฒนธรรมของต่างชาติ จึงแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง

Photo : Prominent People of Minato City

แม้ว่ามันจะเป็นกีฬาประเภททีมชนิดแรกในญี่ปุ่นยุคใหม่ เพราะก่อนหน้านี้พวกเขามีเพียงกีฬาที่มาจากวัฒนธรรมอย่าง ซูโม่, เคนโด้ และ คิวโด หรือกีฬาประเภทอื่นที่เล่นกันแบบตัวต่อตัวเท่านั้น แต่มีบางอย่างที่ตรงวิถีกับชาวญี่ปุ่น  

“ชาวญี่ปุ่นพบว่าการดวลกันแบบตัวต่อตัวระหว่างคนขว้างและคนตี คล้ายกับการใช้จิตวิทยาในกีฬาอย่างซูโม หรือศิลปะการต่อสู้ มันเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่แยกออกเป็นสองและความกลมกลืนระหว่างความแข็งแกร่งทางร่างกายและจิตใจ ด้วยเหตุนี้กระทรวงศึกษาฯ จึงเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่จะใช้กำหนดคาแร็คเตอร์ของชาติ” โรเบิร์ต ไวท์ติง ผู้เชี่ยวชาญด้านเบสบอลญี่ปุ่นกล่าว

และเกมระหว่าง โตเกียว อิจิโกะ และ โยโกฮามา คันทรี แอนด์ แอธเลติก คลับ (YCAC) ในปี 1896 ที่ถือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้เบสบอลเป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือตัวอย่างชั้นดี

เกมแห่งประวัติศาสตร์ 

โรงเรียนอิจิโกะ คือโรงเรียนมัธยมปลายแห่งแรกของญี่ปุ่น พวกเขาก่อตั้งขึ้นในปี 1886 โดยเป็นโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูงที่มีอายุระหว่าง 18-22 ปี ที่เข้ามาเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตนักเคลื่อนไหว และนักปฏิรูปออกมามากมาย 

Photo : Tofugu

การพบกันระหว่างอิจิโกะ และ YCAC จึงเปรียบเสมือนการพบกันอย่างเป็นทางการของตัวแทนจากญี่ปุ่น และอเมริกา และในตอนแรกเกมนี้เกือบจะไม่ได้เกิดขึ้น เนื่องจากทีมอเมริกาปฏิเสธ ที่จะลงเล่น เนื่องจากรู้สึกว่าฝีมือต่างกันเกิน แต่จากการแทรกแซงของกระทรวงการต่างประเทศ ก็ทำให้เกมนี้เกิดขึ้นจนได้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อลงสนามทุกอย่างกลับตาลปัตร เนื่องจากอิจิโกะ กลายเป็นฝ่ายที่ถล่ม ถล่มทีมจากอเมริกันอย่างราบคาบ เอาชนะไปได้ 3 เกมรวดด้วยสกอร์ที่ทิ้งห่างสุดกู่คือ 29-4, 35-9 และ 22-6 ชัยชนะของทีมของอิจิโกะ กลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ 

เบื้องหลังของชัยชนะในครั้งนี้ มาจากการที่นักเรียนส่วนใหญ่ของอิจิโกะ สืบเชื้อสายมาจากซามูไร จึงสามารถนำแนวคิดเรื่องศิลปะป้องกันตัวและปรัชญาที่ได้เรียนรู้มาปรับใช้กับเบสบอลได้อย่างกลมกลืน 

พวกเขายึดมั่นในการฝึกซ้อมโดยไม่มีที่สิ้นสุดในรูปแบบเดียวกับ ซามูไร เช่นเดียวกันกับเบสบอล ที่ต่างฝึกซ้อมกันทุกวัน ไม่ว่าฝนตกหรือแดดออก อากาศร้อนหรือหนาว ก็ไม่เคยมีวันหยุด แถมยังมีการเข้าค่ายเก็บตัวทั้งในฤดูร้อนและฤดูหนาว 

นอกจากนี้ในการฝึกซ้อม ยังห้ามใช้คำว่า “โอ้ย” ซึ่งเป็นการแสดงถึงความอ่อนแอ แม้ว่าจะโดนลูกบอลตีใส่ในจุดสำคัญจนเจ็บ อย่างโดนจมูกหรือใบหน้า ก็สามารถร้องได้เพียงคำว่า “คัน” เท่านั้น 

Photo : Tofugu

การฝึกฝนที่เคร่งครัดและจริงจังของอิจิโกะ ทำให้พวกเขาแตกต่างจากทีมโยโกฮามา อย่างชัดเจน เนื่องจากสมาชิกในทีมอเมริกัน ล้วนมาจากอาชีพที่หลากหลาย ทั้งพ่อค้า ครูสอนศาสนา และทูต ที่ต่างเล่นเบสบอลเป็นงานอดิเรก และส่งผลให้คว้าชัยได้อย่างถล่มทลาย 

เกมดังกล่าวยังกลายเป็นเกมแห่งสัญลักษณ์ เนื่องจากก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นพยายามที่จะไล่ตามอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าของตะวันตกมาตลอด การคว้าชัยทำให้พวกเขาเกิดความคิดว่า ถ้าญี่ปุ่นเอาชนะอเมริกาในเกมกีฬาได้ พวกเขาก็น่าจะเอาชนะทางด้านอุตสาหกรรมและการค้าได้เช่นกัน 

บิดาแห่งเบสบอลญี่ปุ่น 

ชัยชนะของอิจิโกะ ได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาลให้กับกีฬาเบสบอล การคว้าชัยเหนือต้นตำหรับอย่างอเมริกัน ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยอื่นๆก่อตั้งทีมเบสบอล และเดินตามรอยของโรงเรียนอิจิโกะ

แต่มันอาจจะไม่ได้รับความนิยมมากขนาดนี้หากไม่มีชายที่ชื่อว่า เล็ฟตี โอดูล หรือที่รู้จักกันในนาม “บิดาแห่งเบสบอลญี่ปุ่น” 

เขาคือยอดนักเบสบอลชาวอเมริกัน ที่เข้ามาวางรากฐานให้กับวงการเบสบอลญี่ปุ่น โอดูล มาญี่ปุ่นครั้งแรกในปี 1931 ในส่วนหนึ่งของการทัวร์จีนและฟิลิปปินส์ ก่อนจะกลับมาญี่ปุ่นอีกครั้งในปีต่อมา และอยู่ที่นี่เกือบสามเดือน 

Photo : Tofugu

เขา, เท็ด ไลออน, และ มอร์ เบิร์ก ช่วยกันจัดการสอน 40 คาบให้กับทีมบิ๊ก 6 ของญี่ปุ่น ซึ่งประกอบไปด้วย มหาวิทยาลัยวาเซดะ, มหาวิทยาลัยเคโอ, มหาวิทยาลัยเมจิ, มหาวิทยาลัยโฮเซ, มหาวิทยาลัยโตเกียว และมหาวิทยาลัยริคเคียว ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงเทคนิค ซึ่งมีส่วนทำให้นักเบสบอลญี่ปุ่นพัฒนาฝีมือได้มากขึ้น 

โอดูล ยังพานักเบสบอลชาวอเมริกันมาแข่งนัดกระชับมิตรกับทีมจากญี่ปุ่น ที่สามารถดึงดูดคนเข้ามาชมได้ถึง 60,000 คน โดยเขาเดินทางมาญี่ปุ่นทุกปี ตั้งแต่ปี 1933-37 

ก่อนที่ในปี 1934 เขาจะสร้างปรากฎการณ์ด้วยการขนทีมออลสตาร์ ซึ่งประกอบไปด้วยดาวดังอย่าง เอิร์ล เอเวอร์ริลล์, ลู เกห์ริก, เลฟตี โกเมซ, เอิร์ล ไวท์ฮิลล์ และ เบบ รูธ มาแข่งกับสโมสรของญี่ปุ่น ซึ่งช่วยเพิ่มกระแสความนิยมเบสบอลในแดนซามูไรให้มากยิ่งขึ้น  

“การมาของ รูธ สำคัญมากสำหรับญี่ปุ่น เขาเป็นนักกีฬาที่โด่งดังที่สุดในโลก เขาเหมือนกับ มูฮัมหมัด อาลี คนญี่ปุ่นมองว่าเบสบอลสมัครเล่นคือความบริสุทธิ์ ส่วนเบสบอลอาชีพมีการซักซ้อมตระเตรียมมาก่อน การทัวร์ของรูธแสดงให้เห็นว่ามันก็มีเกียรติได้เหมือนกัน และแสดงให้เห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจ” โรเบิร์ต ฟิตส์ คนเขียนหนังสือ  Banzai Babe Ruth กล่าวกับ Saturday Evening Post 

Photo : Tofugu

แรงบันดาลใจจากการมาทัวร์ของออลสตาร์ในครั้งนี้ ทำให้ในปี 1936 ญี่ปุ่นสามารถก่อตั้งลีกเบสบอลอาชีพขึ้นเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ โดยมี 7 ทีมร่วมชิงชัยในฤดูกาลแรกคือ โตเกียว ไจแอนท์, โอซากา ไทเกอร์, ฮันคิว, ได โตเกียว, นาโงยา คิงโกะ, นาโงยา ดราก้อน และ โตเกียว ซีเนเตอร์ และดำเนินการแข่งขันเรื่อยมา

จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการเบสบอลญี่ปุ่น 

เบสบอลสร้างชาติ 

แม้ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา จะเป็นศัตรูกัน แต่ก็ไม่สามารถพรากเบสบอลไปจากชีวิตของชาวญี่ปุ่น โดยสิ่งเดียวเกี่ยวกับเบสบอลที่ดูเป็นการต่อต้านอเมริกาคือการที่เหล่าทีมในเจแปนลีกเบสบอล พากันเปลี่ยนชื่อทีมโดยพยายามไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น โตเกียว ไจแอนท์ เปลี่ยนเป็น โตเกียว เคียวจิน หรือ โอซากา ไทเกอร์ เปลี่ยนเป็น โอซากา ฮันชิน เป็นต้น 

แต่การแข่งขันเบสบอล ซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นกีฬาของศัตรู ก็ยังดำเนินต่อไป ทั้ง เจแปน เบสบอลลีก หรือโคชิเอ็ง จนปี 1944 การแข่งขันก็ต้องพักชั่วคราวเนื่องจากสงครามอยู่ในขั้นวิกฤติ 

อย่างที่ทราบกันดี สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้หลังอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูใส่ญี่ปุ่นถึงสองลูก ที่ทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายนับแสน และหลังจากนั้นญี่ปุ่นก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอเมริกาอย่างสมบูรณ์แบบ 

Photo : Tofugu

กองกำลังยึดครองญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายพลดักลาส แม็คอาเธอร์ ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงญี่ปุ่นหลายอย่าง ทั้งร่างรัฐธรรมนูญให้จักรพรรดิอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และห้ามมีกำลังทหาร รวมถึงการปฏิรูปที่ดินและสลายไซบัตสึ (กลุ่มทุนผู้ใกล้ชิดกับรัฐบาล) แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแต่ยิ่งสนับสนุนคือการให้คนญี่ปุ่นเล่นเบสบอลต่อไป 

แม็คอาเธอร์ มองว่าเบสบอล จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูญี่ปุ่น การเล่นกีฬาเป็นทีมแบบชาวอเมริกัน จะช่วยให้ญี่ปุ่นข้ามผ่านวิกฤติที่โหดร้ายในการฟื้นฟูประเทศหลังแพ้สงคราม 

“ผมคิดว่าไม่มีต้นกำเนิดของการพัฒนาตัวตนมนุษย์ใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าการแข่งขันกีฬา และสิ่งที่โดดเดนที่สุดในตอนนี้คือกีฬาที่เป็นที่ชื่นชอบมาอย่างยาวนานของทั้งอเมริกันและญี่ปุ่นนั่นคือเบสบอล” แม็คอาเธอกล่าว 

“เบสบอลปลูกฝังความอดทนและความมีวินัยสำหรับการทำงานเป็นทีม นอกจากนี้เบสบอลยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสปิริตของการแข่งขันระหว่างบุคคลและกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม”

“ในเบสบอล ผมเห็นทั้งคุณค่า ความยิ่งใหญ่ พลังทางศีลธรรมที่ช่วยให้ชาวญี่ปุ่นทุกคนแก้ปัญหาที่ร้ายแรงที่ต้องเจอในการฟื้นฟูประเทศของคุณ” 

Photo : Tofugu

แม้ว่าอันที่จริง เบสบอล จะเป็นกีฬาที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปแล้ว แต่การที่แม็คอาเธอร์สนับสนุนให้กีฬาชนิดนี้ดำเนินต่อไปได้ ทำให้มันสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอุปสรรค

สิ่งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เบสบอลของญี่ปุ่นเติบโตอย่างรุดหน้า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักเบสบอลชาวอเมริกันบินลัดฟ้ามาเล่นในญี่ปุ่น ชื่อของ แลร์รี เรนส์ (ฮันคิว เบรฟ), แจ็ค บลูมฟิลด์ (คินเน็ตสึ บัพฟาโล) หรือ จอร์จ อัลต์มาน (ฮันชิน ไทเกอร์) เข้ามาสร้างความตื่นตาให้กับชาวอาทิตย์อุทัย 

ในขณะเดียวกัน นักเบสบอลชาวญี่ปุ่น ก็สามารถจารึกชื่อในเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) ของ อเมริกา ชื่อของ มาซาโนริ มุราคามิ นักเบสบอลชาวญี่ปุ่นคนแรกใน MLB, อิจิโร ซูซูกิ นักเบสบอลระดับตำนานเจ้าของสถิติตีได้มากที่สุดใน MLB หรือ โชเฮ โอตานิ เจ้าของรางวัลรุกกี้ยอดเยี่ยม MLB เมื่อฤดูกาลที่แล้ว กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่น ที่ทำให้รู้สึกว่านักกีฬาของพวกเขาก็ไม่ได้ด้อยไปกว่านักกีฬาระดับโลก 

ความสำเร็จของชาวญี่ปุ่นในต่างประเทศ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่องให้แก่คนรุ่นหลัง และมีส่วนสำคัญที่ทำให้เบสบอลครองความยิ่งใหญ่เป็นกีฬาอันดับ 1 ของประเทศมาหลายทศวรรษ 

อย่างไรก็ดี ความเป็นเบอร์ 1 ของพวกเขาก็เริ่มสั่นคลอนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

อนาคตที่น่าเป็นห่วง 

แม้ว่าจะเป็นกีฬาที่เล่นกันทั้งบ้านทั้งเมือง และฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่น แต่ความนิยมของมันก็เริ่มลดลงในช่วงหลัง เมื่อเด็กจำนวนมากเลือกเล่นกีฬาชนิดอื่นมากขึ้น 

จากการสำรวจของสมาพันธ์เบสบอลมัธยมปลายญี่ปุ่นเมื่อปี 2018 พบว่ามีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เชื่อว่าเบสบอล ได้รับความนิยมเหนือกีฬาชนิดอื่น ในขณะที่ 45 เปอร์เซ็นต์มองว่ามันจะถูกล้มจากบันลังก์ และมีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่าเบสบอลยังเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม  

ในการสำรวจยังระบุว่าจำนวนเด็กที่เลือกอยู่ในชมรมเบสบอลของระดับชั้นมัธยมปลายลดลงเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน เช่นเดียวกับจำนวนโรงเรียนที่เป็นสมาชิกของสมาพันธ์ฯ ก็ลดลงเช่นกัน

Photo : Japan Times

“ผมคิดว่าเราอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีของเรา เด็กในสมัยนี้มีทางเลือกอื่น กีฬาอื่นหรืออย่างอื่นนอกเหนือกีฬา เราจำเป็นต้องหาทางดึงพวกเขาไว้กับเบสบอล” โค้ชเบสบอลระดับมัธยมปลายคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวกับ Reuters

โรเบิร์ต ไวท์ติง ผู้เชี่ยวชาญวงการเบสบอลญี่ปุ่น ให้ความเห็นว่าการฝึกซ้อมที่เข้มงวดมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เบสบอลเสื่อมความนิยมลง 

“เบสบอลมัธยมปลาย มีระบบที่โหด นักเรียนมัธยมปลายหลายคนอาจจะไม่ชอบมัน คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นการทดสอบความเป็นลูกผู้ชาย เป็นพิธีกรรมอะไรบางอย่าง” ไวท์ติงให้ความเห็นกับ Reuters 

เคอิ ทานากะ และ โคซุเกะ ไซโต ทั้งคู่เคยเล่นเบสบอลในชมรมของโรงเรียนย่านชานเมืองโตเกียว แต่ตอนนี้เลิกเล่นไปแล้ว เนื่องจากรับกับการฝึกซ้อมที่เข้มงวดไม่ไหว 

“ผมไม่อยากไปโรงเรียนก็เพราะมัน เบสบอลเคยสนุกสำหรับผม แต่หลังจากนั้นไม่ใช่ โค้ชคาดหวังจากผมมากเกินไป” ทานากะกล่าว 

“เราฝึกซ้อมกันหนักมากและต้องไปฝึกซ้อมต่อที่บ้าน เราไม่มีเวลาผ่อนคลายเลย” ไซโตเสริม 

แม้จะดูน่าเป็นห่วง แต่จากการสำรวจของ Central Research Services ระบุว่าเบสบอลยังครองอันดับ 1 กีฬายอดนิยม ผู้เลือกเล่นกีฬาชนิดนี้ถึง 48.1 เปอร์เซ็นต์ทิ้งห่างฟุตบอลและซูโม่ที่ตามมาเป็นอันดับ 2 ที่ราว 24.8 เปอร์เซ็นต์ 

ในขณะที่ โชเฮ โอตานิ ยังคงเป็นนักกีฬาที่ได้รับความนิยมเมื่อปี 2018 และการแข่งขันเบสบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติหรือ โคชิเอ็ง ก็ยังมียอดผู้ชมมหาศาล โดยมีคนดูในสนามสูงถึง 50,000 คน และอีกนับล้านที่ชมผ่านการถ่ายทอดสด

 

“สิ่งนี้ขึ้นๆ ลงๆ มาโดยตลอด มันเคยมีสถิตินักเรียนที่เข้าร่วมเบสบอลมัธยมปลายลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ในปี 1982 แต่หลังจากนั้นมันก็กลับมาเท่าเดิม” ไวท์ติงกล่าวกับ Reuters  

“ผมคาดว่าการลดลงของมันในตอนนี้จะดีดกลับมาหากมีผู้เล่นที่โดดเด่นในโคชิเอ็งและกลายเป็นฮีโร่ของชาติ” 

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน หรือมีกระแสกีฬาอื่นทะยานขึ้นมาท้าทายความนิยมสักกี่ครั้ง เบสบอลก็ยังครองความเป็นกีฬาเบอร์ 1 ของญี่ปุ่นอยู่เสมอ และยากที่จะมีใครแทนที่ เพราะมันได้ฝังลึกลงในจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นตั้งแต่เริ่มต้น ดังที่ในหนังสือของสมาคมศิษย์เก่าของโรงเรียนอิจิโกะ ในปี 1903 เขียนไว้ว่า

“จริงอยู่ที่กีฬานี้มาจากตะวันตก แต่สำหรับเบสบอลของอิจิโกะ (ญี่ปุ่น) เราไม่เพียงแค่เล่นกีฬาเท่านั้น แต่ยังใส่จิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นลงไปด้วย” 

“เบสบอลคือวิถีที่จะแสดงให้เห็นจิตวิญญาณของซามูไร การเล่นเบสบอลคือการพัฒนาจิตวิญญาณนี้ ดังนั้นเราทุกคนจึงเหมือนกับนักรบที่มีจิตวิญญาณของซามูไร”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook