15, 30 แล้วทำไมต่อมาเป็น 40? : ที่มาสุดฉงนของการนับแต้มในกีฬาเทนนิส

15, 30 แล้วทำไมต่อมาเป็น 40? : ที่มาสุดฉงนของการนับแต้มในกีฬาเทนนิส

15, 30 แล้วทำไมต่อมาเป็น 40? : ที่มาสุดฉงนของการนับแต้มในกีฬาเทนนิส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในกฎข้อที่สำคัญมากที่สุดของการแข่งขันกีฬาไม่ว่าจะเป็นชนิดใดคงหนีไม่พ้น การนับคะแนนและตัดสินผลแพ้ชนะ เพราะหากไร้ซึ่งสิ่งนี้ ทุกการแข่งขันจะไม่สามารถเป็นการแข่งขันได้เลย เนื่องจากไม่รู้ว่าจะตัดสินผลกันอย่างไร

 

หลายกีฬาตัดสินตรงที่ใครเร็วสุด หลายกีฬาตัดสินด้วยผลคะแนน แต่มีอยู่ชนิดหนึ่งที่การนับคะแนนดูจะแปลกประหลาดจากสามัญสำนึกของเราๆ โดยทั่วไป... กีฬาเทนนิส นั่นเอง

15, 30, ... 40?

เมื่อพูดถึงการนับคะแนนในการแข่งขันกีฬา ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆ กันคือเริ่มนับจาก 1 ไปเรื่อยๆ บางกีฬาตัดสินผู้ชนะจากฝ่ายที่ทำคะแนนได้มากที่สุด บ้างก็ตัดสินตรงที่ใครทำแต้มได้ถึงจุดที่กำหนดก่อน

 1

สำหรับกีฬาเทนนิส แม้การตัดสินผลแพ้ชนะจะคล้ายคลึงกับหลายกีฬา ตรงที่ใครหากทำได้ถึงจุดที่กำหนดก่อนจะเป็นผู้ชนะ … ชนะ 6 (หรือ 7) เกมได้ 1 เซ็ต ได้ 2 จาก 3 หรือ 3 จาก 5 เซ็ตก่อนก็คว้าชัยไปในการแข่งนัดนั้น แต่การนับแต้มระหว่างทาง คือสิ่งที่ทำให้กีฬานี้แปลกและแตกต่างจากกีฬาชนิดอื่นๆ

เพราะแทนที่การนับแต้มเพื่อให้ได้เกมจะนับแบบปกติ 1, 2, 3, 4, … เหมือนกีฬาทั่วไป ในกีฬาเทนนิสกลับเริ่มจาก 15, 30, 40 แล้วถึงได้เกม แถมหากแต้มมาเสมอกันที่ 40-40 คำที่ใช้เรียกในกรณีที่มาถึงจุดนี้กลับเป็นคำว่า "Deuce" อีกต่างหาก

เท่านั้นยังไม่พอ ในตอนเริ่มเกมซึ่งสกอร์ของทั้งสองฝั่งจะอยู่ที่ 0-0 รวมถึงตอนที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยังไม่สามารถทำแต้มได้ คำที่ใช้เรียกสำหรับสกอร์ 0 ยังไม่ใช่ "Zero", "O" หรือ "Nil" แบบหลายๆ กีฬา แต่กลับเป็นคำว่า "Love" เสียอย่างนั้น

คำง่ายๆ แต่ที่มาแสนหลากหลาย

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น เชื่อว่าทุกคนคงรู้สึกตรงกันว่า มันเป็นอะไรที่แปลกกว่ากีฬาชนิดไหนๆ และเกิดความสงสัยว่า มันมีที่มาจากอะไร? ซึ่งตรงนี้นี่แหละ คือสิ่งที่ชวนให้มึนไม่แพ้กับระบบที่เป็นอยู่เลยจริงๆ

 2

เราเริ่มจากคำศัพท์ง่ายๆ อย่าง Deuce กันก่อน ... คำนี้นักวิชาการแทบทุกสำนักลงมติตรงกันว่า เป็นคำที่หยิบยืมมาจากภาษาฝรั่งเศส - "Deux" ที่แปลว่า "สอง" ซึ่งในบริบทของเทนนิส คือการที่นักเทนนิสที่แข่งขันกันทำคะแนนได้เท่ากัน และต้องแข่งกันต่อจนกว่าที่จะมีใครทำได้ 2 แต้มติดต่อกันก่อนก็จะได้เกมนั้นไป

แต่พอมาถึงคำว่า Love ทฤษฎีต่างๆ ก็เริ่มที่จะตีกันทันใด ... นักวิชาการบางกลุ่มชี้ว่า คำนี้มีที่มาจากภาษาดัตช์ หรือเฟลมมิช - "Lof" ที่แปลว่า "Honor" หรือ "เกียรติ" ด้วยไอเดียที่ว่านักเทนนิสเล่นเพื่อเกียรติของตนเมื่อเกมนั้นเป็น 0 ซึ่งบางคนก็เสริมด้วยว่า คำว่า Lof นั้นมาจากคำเต็มๆ ว่า "Iets voor lof doen" ที่แปลว่า "ทำให้ผู้คนสรรเสริญ" เมื่อสามารถทำแต้มได้นั่นเอง

ขณะเดียวกัน พจนานุกรมภาษาอังกฤษของออกซ์ฟอร์ดก็ได้เปิดเผยถึงที่มาของคำว่า Love ในอีกแนวทางว่า ไอเดียในการใช้คำนี้ถูกหยิบมาจากการที่นักเทนนิสที่ยังมีแต้มเป็น 0 ยังเล่นต่อ "ด้วยความรัก" ที่มีต่อกีฬาเทนนิส รวมถึงยังมีอีกทฤษฎีที่ว่าเมื่อแต้มเป็น 0 ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายยังมีความรักต่อกันอีกด้วย

 3

แต่ทฤษฎีที่ถูกพูดถึง และดูจะเห็นเป็นที่คล้อยตามของผู้คนส่วนใหญ่ คือทฤษฎีที่ว่า Love เพี้ยนมาจาก "L'oeuf" คำในภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่า "Egg" หรือ "ไข่" เพราะด้วยรูปทรงของไข่ที่เหมือนเลข 0 ไม่เพียงเท่านั้น บริบทในหลายๆ ภาษา ยังใช้ไข่ในการสื่อถึงตัวเลขดังกล่าวด้วยเช่นกัน อย่างบ้านเราก็ "ตีไข่แตก" นั่นปะไร

ซึ่งแม้ มัลคอล์ม ดี. วิตมัน อดีตนักเทนนิสและผู้เขียนหนังสือ Tennis: Origins and Mysteries เมื่อปี 1932 จะโต้แย้งว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าคนฝรั่งเศสใช้ไข่ในการสื่อถึงสกอร์ 0 ทว่าส่วนใหญ่ รวมถึง แมรี่ คาริลโล่ อดีตนักเทนนิสที่ผันตัวสู่การเป็นนักข่าวกีฬาก็ชี้ว่า "นักประวัติศาสตร์เทนนิสส่วนใหญ่มองว่า ที่มาของคำว่า Love จากไข่นั้นคือสิ่งที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุดแล้ว"

จุดกำเนิดระบบนับแต้มสุดงงงวย

ผ่านพ้นเรื่องราวของศัพท์แสงต่างๆ ไป ทีนี้ก็มาถึงประเด็นหลักของความสงสัยนั่นคือ ระบบการนับคะแนนของกีฬาเทนนิส 15, 30, 40, เกม มีที่มาจากอะไร?

 4

หลักฐานชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดถึงการนับแต้มเทนนิสในรูปแบบนี้ คือลำนำนิทานที่เขียนโดย ชาร์ลส์ ดอร์ลีน ช่วงราวปี 1439 ที่เล่าถึงการแข่งขันเทนนิสยุคโบราณระหว่างพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ของอังกฤษ กับองค์รัชทายาทแห่งฝรั่งเศส ซึ่งมีการนับสกอร์ที่ 15, 30, 45 อย่างไรก็ตาม ในลำนำดังกล่าวไม่ได้มีการเล่าถึงสาเหตุว่าทำไมถึงต้องนับในลักษณะนี้

ทฤษฎีที่ออกมาภายหลังดูจะทำให้เราคล้อยตามอยู่ไม่น้อย เมื่อมีการอธิบายว่า ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงแรกที่มีการปรับกติกาเทนนิสมาใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้มีการนำหน้าปัดนาฬิกามาใช้เป็นตัวช่วยในการนับคะแนน และเมื่อเราเอาเข็มนาฬิกามาซ้อนทับกับระบบการนับคะแนน ก็จะทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนทันที

 5

เพราะเมื่อได้แต้ม 15 เข็มก็จะไปอยู่ที่ตำแหน่ง 15 นาที, แต้ม 30 ตำแหน่ง 30 นาที, แต้ม 45 ตำแหน่ง 45 นาที และเมื่อเข็มไปอยู่ที่ตำแหน่ง 60 นาที ก็เท่ากับได้ 1 เกม ก่อนที่ภายหลังจะมีการปรับเปลี่ยนการนับจาก 45 มาเป็น 40 เนื่องจากคำว่า 40 ในภาษาอังกฤษ "Forty" ออกเสียงสั้นกว่า 45 "Forty-Five" ซึ่งเรียกขานได้ง่ายและสอดคล้องกับแต้ม 15 "Fifteen" และ 30 "Thirty" มากกว่า เช่นเดียวกับการใช้ตำแหน่ง 50 นาทีเพื่อใช้บอกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังได้เปรียบจากแต้ม Deuce อีกด้วย

ถึงกระนั้น ทฤษฎีเข็มนาฬิกาที่ดูสมเหตุสมผลนี้กลับมีจุดบอดที่สำคัญมากๆ อยู่ นั่นคือแม้กีฬาเทนนิสจะเริ่มมีการเล่นกันมาตั้งแต่สมัยปลายยุคกลาง ที่จบลงหลังผ่านพ้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือปี 1500 ทว่าในยุคนั้น เข็มนาฬิกายังมีเพียงแค่เข็มชั่วโมง กว่าที่เข็มนาทีจะถูกใส่ลงไปในนาฬิกาก็ต้องรอถึงปี 1690 ซึ่งมีการคิดค้นระบบลูกตุ้มนาฬิกาขึ้นมาใช้

แง่มุมทางประวัติศาสตร์นี้เอง ทำให้นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ที่มาของการขานแต้มในกีฬาเทนนิสต้องมีที่มายาวนานกว่านั้น จนกระทั่งในที่สุดก็พบว่า ก่อนที่กีฬาเทนนิสจะเป็นเทนนิสอย่างที่เห็นในปัจจุบัน มีกีฬาที่ชื่อว่า "Jeu de paume" ซึ่งมีลักษณะการเล่นคล้ายเทนนิส แต่ใช้ฝ่ามือในการตีลูกแทนแร็คเก็ต

 6

โดยกติกาของกีฬานี้คือ สนามจะมีความยาวรวม 90 ฟุต ซึ่งผู้เล่นจะต้องเริ่มเล่นจากปลายคอร์ต หรือ 45 ฟุตจากเน็ตที่อยู่ตรงกึ่งกลางสนาม เมื่อทำแต้มได้ จะได้ขยับไปเล่นใกล้ขึ้นอีก 15 หลา อีกแต้มก็ขยับอีก 15 หลา ทว่าเนื่องจากไม่สามารถขยับอีก 15 หลาไปยืนที่ตำแหน่งเดียวกับเน็ตเพื่อเล่นแต้มสุดท้ายได้ จึงขยับขึ้นหน้าเพียง 10 หลา อยู่ที่ตำแหน่ง 5 หลาจากเน็ต - 15, 30, 40 จึงสื่อถึงจำนวนหลาที่ผู้เล่นได้ขยับขึ้นมาหลังจากทำแต้มได้นั่นเอง

แต่ถึงจะมี 2 ทฤษฎีที่ต่างก็ดูสมเหตุสมผลและมีความเป็นไปได้ ถึงกระนั้น อลิซาเบธ วิลสัน ผู้เขียนหนังสือ Love Game: A History of Tennis, from Victorian Pastime to Global Phenomenon กลับชี้ว่า เป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดๆ ได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างของการนับแต้มในกีฬาเทนนิสเกิดขึ้นและพัฒนามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

 7

"สาเหตุก็เพราะมันมีหลายทฤษฏีมาก ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเหตุผลที่ฟังดูโรแมนติกและชวนคล้อยตามเป็นตัวสนับสนุนอีกด้วย ซึ่งบางเรื่องก็ไม่สามารถสืบค้นได้ทางประวัติศาสตร์ แต่ดูเป็นตำนานแสนแฟนตาซีเสียมากกว่า"

แต่เรื่องราวที่ชวนให้คล้อยตามและยังไม่อาจหาข้อพิสูจน์แบบชัดเจนได้นี่แหละ ที่ทำให้กีฬาเทนนิสเป็นกีฬาที่โรแมนติก และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาจนถึงทุกวันนี้

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ 15, 30 แล้วทำไมต่อมาเป็น 40? : ที่มาสุดฉงนของการนับแต้มในกีฬาเทนนิส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook