ทั้งที่ไม่ใช่สีธงชาติ : ไขประวัติศาสตร์ทำไมทีมชาติญี่ปุ่นถึงใส่เสื้อสีน้ำเงิน?

ทั้งที่ไม่ใช่สีธงชาติ : ไขประวัติศาสตร์ทำไมทีมชาติญี่ปุ่นถึงใส่เสื้อสีน้ำเงิน?

ทั้งที่ไม่ใช่สีธงชาติ : ไขประวัติศาสตร์ทำไมทีมชาติญี่ปุ่นถึงใส่เสื้อสีน้ำเงิน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชุดแข่งในการแข่งขันฟุตบอล นอกจากจะเป็นอาภรณ์ปกคลุมร่างกาย ยังเป็นเครื่องแสดงตัวตนของทีมนั้น ทำให้ยูนิฟอร์มของทีมชาติส่วนใหญ่ มักจะออกแบบโดยอ้างอิงจากสีหรือลายในธงชาติ เช่น ชุดแข่งสีแดง และน้ำเงินของไทยที่มาจากธงไตรรงค์ สีขาวและแดงของอังกฤษที่มาจากธงเซนต์จอร์จ (ธงกากบาทสีแดง) หรือฟ้า-ขาวของอาร์เจนตินา ก็มาจากสีหลักในธงของพวกเขา

อย่างไรก็ดี สำหรับทีมชาติญี่ปุ่น พวกเขากลับเลือกใช้สีน้ำเงินเป็นสีหลักสำหรับชุดเหย้า จนกลายเป็นฉายาที่รู้จักกันทั่วโลกในชื่อ “ซามูไรบลู” ทั้งที่ในธงชาติฮิโนะมารุมีแต่สีแดงและขาวเท่านั้น โดยไม่มีสีน้ำเงินเลยแม้แต่เฉดเดียว 

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปกับ Main Stand

ท้องฟ้าและมหาสมุทร 

ด้วยความที่เป็นประเทศเกาะถูกล้อมรอบด้วยมหาสมุทร และภายในประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูง ทำให้คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับธรรมชาติมาก นับตั้งแต่อดีตพวกเขามีความเชื่อว่าธรรมชาติจะนำความสมบูรณ์มาให้ และมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ 

 1

ธรรมชาติได้กลายเป็นสิ่งที่กลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่น วันหยุดราชการของพวกเขาจึงเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ วันสีเขียว วันทะเล วันภูเขา และวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เป็นต้น 

ทำให้เมื่อพูดถึงที่มาของชุดแข่งสีน้ำเงินของฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น จึงมีทฤษฎีหนึ่งระบุว่าน่าจะมาจาก สีของน้ำทะเลและท้องฟ้า ที่อยู่ล้อมรอบประเทศญี่ปุ่น จากการที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับธรรมชาติ 

ทว่าสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ก็ออกมาเบรกทฤษฎีนี้ 

JFA ตอบคำถามผ่านหน้าเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสมาคมฯ ระบุว่าสีน้ำเงินของทีมชาติญี่ปุ่นที่เข้าใจกันว่าเป็นสีของน้ำทะเลและท้องฟ้า ไม่ใช่ที่มาที่ถูกต้อง เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเข้ามาทีหลัง

“มีความเชื่อว่าสีของชุดแข่ง เป็นตัวแทนของสีน้ำเงินของท้องฟ้าและมหาสมุทรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดินแดนญี่ปุ่น แต่มันความหมายนี้เพิ่งจะถูกเพิ่มเข้ามาทีหลัง ต้นกำเนิดที่มาของสีน้ำเงินไม่มีหลักฐาน และเอกสารแน่ชัดว่ามาจากที่ไหน” JFA ระบุผ่านหน้าเว็บไซต์ jfa.jp 

“ชุดแข่งของทีมชาติญี่ปุ่นเป็นสีน้ำทะเลมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และใช้เรื่อยมาหลังสงคราม ทีมปรับไปใช้สีน้ำเงินทั้งเสื้อและกางเกงในโอลิมปิก 1964 ที่โตเกียว และใช้ท่อนบนเป็นสีขาว ท่อนล่างเป็นสีน้ำเงิน ในโอลิมปิกที่เม็กซิโก และสีน้ำเงิน และขาวก็กลายเป็นสีหลักหลังจากนั้น” 

ถ้าเป็นเช่นนั้น แล้วสีน้ำเงินมีที่มาจากไหน?

ปาฎิหาริย์แห่งเบอร์ลิน-โตเกียว อิมพีเรียล 

มีทฤษฏีมากมายเกี่ยวกับสีน้ำเงินของทีมชาติญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือ “ปาฎิหาริย์แห่งเบอร์ลิน” ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลญี่ปุ่นและเอเชีย 

 2

แม้ว่าฟุตบอลจะมีการแข่งขันในโอลิมปิกตั้งแต่ปี 1900 แต่กว่าที่จะมีตัวแทนจากทวีปเอเชีย ลงร่วมชิงชัย ต้องรอจนถึงปี 1936 และญี่ปุ่น ก็เป็นทีมที่ได้สิทธิ์นั้นเช่นเดียวกับจีนเพื่อนร่วมทวีปในโอลิมปิกที่เบอร์ลิน 

ญี่ปุ่นในตอนนั้นเป็นเพียงแค่ม้านอกสายตา เพราะนี่คือการลงเล่นในการแข่งขันระดับโลกครั้งแรกของพวกเขา ต่างจากสวีเดน ที่เป็นตัวเต็งของรายการนี้ ร่วมกับ เยอรมัน และอิตาลี และมีดีกรีเป็นถึง อันดับ 3 ในโอลิมปิกที่ฝรั่งเศส 1924 รวมถึงผ่านถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก 1934 ที่อิตาลี 

ด้วยชื่อชั้นที่ห่างกันอย่างชัดเจน ทำให้ช่วงแรก สวีเดน เป็นฝ่ายครองเกมได้มากกว่า และได้ประตูออกนำถึง 2-0 ในครึ่งแรก จากการเหมาคนเดียวสองประตูของ เอริค เพอร์สสัน 

อย่างไรก็ดี หลังพักเบรกครึ่งหลัง ราวกับหนังคนละม้วน เมื่อญี่ปุ่นมาได้ 3 ประตูรวดจาก ไทโช คามาโมโต ในนาทีที่ 49 และประตูตีเสมอจาก โทคุทาโร อุคง ในอีก 13 นาทีต่อมา ก่อนที่อาคิระ มัตสึนางะ จะช็อคแฟนบอลทั้งสนาม เบอร์ลิน บีเอสซี แพลต พลิกแซงเอาชนะได้อย่างสนุก 3-2 

ชัยชนะในนัดนี้ ถือเป็นการคว้าชัยนัดแรกของญี่ปุ่นในฟุตบอลโอลิมปิก และยังทำให้พวกเขายังกลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ของเอเชีย ที่เอาชนะคู่แข่งได้ในการแข่งขันกีฬาระดับโลก (โอลิมปิกและฟุตบอลโลก) มันถึงถูกเรียกขานกันว่า “ปาฎิหาริย์แห่งเบอร์ลิน”

และเนื่องจากนัดดังกล่าว ญี่ปุ่นสวมชุดแข่งสีน้ำเงินลงเล่น ทำให้คาดกันว่าสมาคมฯ มองว่าสีนี้เป็นสีนำโชค จึงเลือกที่จะใช้สีน้ำเงินเป็นสีหลักของทีมชาตินับตั้งแต่วันนั้น

“ทีมฟุตบอลชายญี่ปุ่นสวมชุดแข่งสีน้ำเงินครั้งแรกในการแข่งขันระดับนานาชาติที่ โอลิมปิก 1936 มันคือชัยชนะนัดแรกเหนือสวีเดน 3-2 และ สมาคมฟุตบอลมองว่าเป็นสัญญาณนำโชคที่ดี” หนังสือพิมพ์ The Wichita Eagle ระบุ

 3

ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นสวมชุดสีน้ำเงินลงแข่ง ทำให้มีอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่า สีนี้น่าจะมาสีของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล หรือ มหาวิทยาลัยโตเกียวในปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1920-1930 ซึ่งเป็นช่วงที่ฟุตบอลกำลังตั้งไข่ในญี่ปุ่น กีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยที่ครองความยิ่งใหญ่ในช่วงนั้นก็คือ โตเกียว อิมพีเรียล

ความยอดเยี่ยมของพวกเขาทำให้ โตเกียว อิมพีเรียล ได้รับเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติญี่ปุ่น ลงแข่งในกีฬาตะวันออกไกล และในการแข่งขันครั้งที่ 9 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ พวกเขาก็ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรก หลังสามารถคว้าแชมป์ (ร่วม) มาครองได้สำเร็จ 

และเนื่องจากในการแข่งขันครั้งนั้นตัวแทนทีมชาติญี่ปุ่น สวมชุดแข่งสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นชุดของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลลงแข่งขัน ทำให้เชื่อว่าที่มาของสีน้ำเงินทีมชาติญี่ปุ่น น่าจะมาจากชุดแข่งของมหาวิทยาลัยนี้ 

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สีน้ำเงินของพวกเขาอาจจะมีที่มาที่ไกลกว่านั้น

Japanese is Blue

“ทำไมยูนิฟอร์มของทีมชาติญี่ปุ่นจึงเป็นสีน้ำเงิน หลังจากพยายามเสาะหาเหตุผล ก็พบว่า ตอนที่แอตกินสันนักเคมีชาวอังกฤษ ได้เห็นการย้อมสีน้ำเงินครามของญี่ปุ่น ก็ถึงขั้นพูดว่า ‘ญี่ปุ่นช่างเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยสีน้ำเงินที่งดงามอะไรอย่างนี้’ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สีนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก” 

 4

คำกล่าวโทโมฮิสะ ยามางุจิ ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโส แผนกธุรกิจและการตลาดของ อาดิดาส ผู้ผลิตชุดแข่งของทีมชาติญี่ปุ่น ทำให้เชื่อกันว่าสีน้ำเงินของทัพซามูไรบลู น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากความนิยมชมชอบในสีนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ 

ตอนที่โรเบิร์ต วิลเลียม แอตกินสัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เข้ามาในญี่ปุ่นสมัยแรกของการเปิดประเทศในปี 1874 เขาพบว่าสีน้ำเงินปรากฎอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่งในญี่ปุ่น ทั้งบนกิโมโน ชุดเครื่องนอน ผ้าเช็ดหน้า และป้ายผ้าหน้าร้านค้า จนทำให้เขาตะลึงกับสิ่งนี้ 

สีน้ำเงินของญี่ปุ่น หรือ Ai (藍) มีลักษณะเฉพาะคือโทนออกไปทางน้ำเงินคราม เนื่องจากทำมาจาก ต้นครามของญี่ปุ่น แอตกินสัน จึงตั้งชื่อสีนี้ว่า Japanese Blue ทฤษฎีญี่ปุ่น=สีน้ำเงิน (Japan = Blue) จึงมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้น

สีน้ำเงินคราม ยังปรากฎอยู่บนงานศิลปะโบราณมากมาย ทั้งเครื่องปั้นเซรามิก และภาพพิมพ์อุคิโยะเอะ คาดกันว่าจุดเริ่มต้นของสีนี้น่าจะมาจากอินเดียผ่านเส้นทางสายไหม 

 5

แม้ว่าจะไม่มีช่วงเวลาที่แน่ชัดว่า แต่มีบันทึกว่าการปลูกต้นคราม มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 6-7 แต่เนื่องจากการย้อมมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทำให้ในช่วงแรกสีน้ำเงินครามได้รับความนิยมเฉพาะในหมู่ขุนนางและซามูไร แต่หลังจากศตวรรษที่ 17 มันก็ถูกแพร่หลายไปสู่ทุกชนชั้น 

และด้วยความที่มันมีสารที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และป้องกันกลิ่นอับของเสื้อผ้า และผ้าที่ถูกย้อมด้วยสีน้ำเงินครามยังสามารถป้องกันโรคผิวหนังและช่วยไล่แมลง ทำให้สีน้ำเงินครามกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นตั้งแต่ในอดีต และกลายมาเป็นสีหลักของทีมชาติญี่ปุ่นในปัจจุบัน  

อันที่จริงสีน้ำเงินและขาวไม่ใช่สีเดียวของชุดแข่งทีมชาติญี่ปุ่น เพราะในช่วงหนึ่ง พวกเขาก็เคยใช้สีแดงที่เป็นส่วนหนึ่งของธงชาติมาแล้วในช่วงปี 1988-1992 แต่กลับกลายเป็นว่าทีมทำผลงานได้อย่างย่ำแย่ ตกรอบคัดเลือกทั้งฟุตบอลโลก และฟุตบอลโอลิมปิก จึงถูกเลิกใช้มานับตั้งแต่ตอนนั้น 

 6

สุดท้ายแล้วแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานหรือเอกสารยืนยันแน่ชัดว่าสีน้ำเงินของพวกเขามีต้นกำเนิดมาจากที่ใดกันแน่ แต่สีนี้ก็ได้กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของทีมชาติญี่ปุ่นมานานเกือบศตวรรษ และกลายเป็นฉายา “Samurai Blue” ของพวกเขา

ราวกับว่า Japanese = Blue ที่ถูกเรียกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ไม่ได้มีความหมายแค่เพียงประเทศ แต่ยังรวมไปถึงทีมฟุตบอลของชาวอาทิตย์อุทัย ไม่ว่าจะบังเอิญหรือไม่ก็ตาม 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ทั้งที่ไม่ใช่สีธงชาติ : ไขประวัติศาสตร์ทำไมทีมชาติญี่ปุ่นถึงใส่เสื้อสีน้ำเงิน?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook