อดีตไม่ใช่สีนี้ : ต้นกำเนิดคานารินโญ... ชุดแข่งเหลือง-เขียวสัญลักษณ์ทีมชาติบราซิลปัจจุบัน

อดีตไม่ใช่สีนี้ : ต้นกำเนิดคานารินโญ... ชุดแข่งเหลือง-เขียวสัญลักษณ์ทีมชาติบราซิลปัจจุบัน

อดีตไม่ใช่สีนี้ : ต้นกำเนิดคานารินโญ... ชุดแข่งเหลือง-เขียวสัญลักษณ์ทีมชาติบราซิลปัจจุบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฎิเสธไม่ได้ว่าบราซิล คือหนึ่งในเจ้าลูกหนังของโลก การันตีด้วยการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทุกครั้ง นับตั้งแต่มีการแข่งขันเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1930 และสามารถคว้าแชมป์มาครองได้ถึง 5 สมัย มากที่สุดในประวัติศาสตร์ พวกเขายังเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์โคปา 8 สมัย และแชมป์โอลิมปิกอีก 1 สมัย

“วลี ‘ฟุตบอลบราซิล’ ก็เหมือนกับวลี ‘เชฟฝรั่งเศส’ หรือ ‘พระทิเบต’ ความเป็นชาติบ่งบอกถึงความชำนาญในด้านนั้น มันเหมือนเป็นอาชีพโดยกำเนิดของพวกเขา” อเล็กซ์ เบลลอส ผู้แต่งหนังสือ Futebol กล่าวกับ The New Yorker

 

นอกจากลีลาการเล่นที่แพรวพราว และเทคนิคมากมายที่ทำให้ผู้ชมต้องตะลึง อีกหนึ่งในภาพจำของทีมชาติบราซิล คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากชุดสีเหลืองเขียว อันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา

อย่างไรก็ดีพวกเขาไม่ได้ใช้ชุดแข่งนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม...อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ใช้สีนี้ และมันมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร Main Stand ขอพาไปหาคำตอบ

แซมบ้าชุดขาว 

บราซิล ก็เป็นเหมือนชาติอื่นในอเมริกาใต้ ที่ได้รับการถ่ายทอดฟุตบอลจากชาวยุโรป มันเข้ามาในประเทศของพวกเขา ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และกลายเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาคนี้โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน

 1

“มัน (ฟุตบอล) เข้ามาใน(อเมริกาใต้) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ช่วงเดียวกับที่ประเทศในภูมิภาคนี้กำลังเริ่มรวมตัวเป็นประเทศสมัยใหม่” โจชัว นาเดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย นอร์ท แคโรไลนา กล่าวในหนังสือ Fútbol!: Why Soccer Matters in Latin America

“การย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่จากยุโรป ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประชากร และบรรทัดฐานทางสังคม ‘ดั้งเดิม’ อะไรบางอย่าง ผู้อพยพมีส่วนช่วยทำให้ความนิยมของฟุตบอลเติบโต เช่นเดียวกับกีฬาก็ทำให้ประชากรใหม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับประเทศใหม่ได้”

แม้ว่าหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับชุดน้ำเงินเขียวของทัพแซมบ้า แต่ทีมชาติบราซิลในช่วงแรกกลับใช้ชุดขาวล้วน โดยพวกเขาใช้ชุดสีนี้ลงทำการแข่งขันตั้งแต่

โคปาอเมริกา ครั้งแรกในปี 1916 และ ฟุตบอลโลก ครั้งที่ 1 ในปี 1930 

บราซิลในชุดขาวใช้เวลาไม่นานก็เริ่มสร้างชื่อในในวงการลูกหนัง หลังคว้าแชมป์โคปา อเมริกา สมัยแรกในปี 1919 และซิวแชมป์ระดับทวีปได้อีกครั้งในปี 1922 ก่อนจะเริ่มเฉิดฉายในระดับโลก ด้วยการคว้าอันดับ 3 ในฟุตบอลโลก 1938 ที่ฝรั่งเศส  

แม้ว่าสงครามโลก จะทำให้บราซิลพลาดโอกาสโชว์เท้าในเวทีระดับโลกอย่างต่อเนื่อง แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เมื่อสงครามทำลายยุโรปอย่างย่อบยับ ทำให้ฟีฟ่า ตัดสินใจเลือกทวีปอเมริกาใต้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 1950

และบราซิล หนึ่งเดียวที่เสนอตัวก็ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ

การได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ทำให้บราซิลชุดขาวที่กำลังฮึกเหิม หลังเพิ่งคว้าแชมป์โคปา อเมริกา ในปี 1949 หมายมั่นปั้นมือว่า ที่จะคว้าแชมป์โลกในบ้านตัวเอง โอกาสที่ขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 ของโลกอยู่ตรงหน้าพวกเขาแล้ว 

ทว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้น...

นัดชิงชนะเลิศสุดชอกช้ำ 

หลังจากสังเวียนในการประลองชัยถูกจัดในยุโรป ในสองครั้งหลังสุด ในที่สุดฟุตบอลโลกครั้งแรก หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เวียนมาจัดบนแผ่นดินอเมริกาใต้ โดยมีบราซิล รับหน้าเสื่อ

 2

บราซิล ยังคงใช้ชุดแข่งสีขาว โดยมีสีน้ำเงินที่คอเสื้อ กางเกงและถุงเท้าขาวลงเล่นตั้งแต่เกมแรกในทัวร์นาเมนต์ และก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม คว้าแชมป์กลุ่มในรอบแรก ก่อนจะอัดสวีเดนไปอย่างขาดลอย 7-1 ในรอบ 4 ทีมสุดท้ายผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศกับ อุรุกวัย คู่ปรับร่วมทวีปได้สำเร็จ 

16 กรกฎาคม 1950 คือวันดีเดย์ ผู้คนเกือบ 200,000 คนพากันเข้ามาชมเกมในสนามมาราคานา สเตเดียมอย่างคับคับคั่ง พวกเขาต่างมั่นใจว่าพวกเขาต้องคว้าแชมป์ในทัวร์นาเมนต์นี้ได้อย่างแน่นอน ก่อนเกมจึงได้วงแซมบ้ามายืนอยู่ข้างสนาม และพร้อมที่จะบรรเลงเพลงใหม่ที่ชื่อว่า “บราซิลผู้ชนะ” ในขณะเดียวกันสื่อในท้องถิ่นเตรียมตีพิมพ์หนังสื่อพิมพ์ฉบับพิเศษที่ที่จะป่าวประกาศการเป็น “แชมป์โลก” ของพวกเขา 

“มันเป็นบรรยากาศที่สุดยอดมาก กองเชียร์ของพวกเขาพร้อมที่จะกระโดดฉลองชัยหากพวกเขาคว้าแชมป์โลก” อัลไซเดส กิกเกียร์ ปีกของอุรุกวัยผู้ที่อยู่ในสนามในวันนั้นกล่าวกับ BBC 

สำหรับบราซิลในตอนนั้น การคว้าแชมป์ฟุตบอลถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด นอกจากเป็นหน้าเป็นตาในเวทีโลกแล้ว รัฐบาลหวังว่าฟุตบอลจะช่วยรวมประเทศที่กำลังก่อร่างสร้างตัวให้เป็นหนึ่งเดียว 

และก็เป็นบราซิล ที่เป็นฝ่ายได้เฮไปก่อน หลังครึ่งแรกจบลงด้วยการเสมอกัน 0-0 ประตูแรกของเกมก็มาถึง เมื่อเฟรียกา ได้บอลหลุดเข้าไปในกรอบเขตโทษ ก่อนจะซัดให้เจ้าภาพออกนำได้สำเร็จในนาทีที่ 47 แต่พวกเขาก็ดีใจได้ไม่นาน เมื่ออุรุกวัย เปิดเกมแลกเต็มตัวหลังเสียประตู และความพยายามของผู้มาเยือนก็สัมฤทธิ์ผล เมื่อ กิกเกียร์ สามารถหนีตัวประกบจากแนวรับบราซิล ก่อนจะเปิดบอลไปให้ ฮวน อัลแบร์โต เชียฟฟิโน ยิงตีจังหวะเดียวไม่จับ บอลพุ่งเข้าเสาแรก กลายเป็นประตูตีเสมอให้อุรุกวัยได้ในนาทีที่ 66 

จากนั้นในนาทีที่ 79 กิกเกียร์ ก็มาทำแสบ เมื่อได้บอลเข้าไปในกรอบเขตโทษ ก่อนจะยิงยัดที่เสาแรก บอลพุ่งผ่านมือผู้รักษาประตูบราซิลเข้าไปตุงตาข่าย กลายเป็นประตูขึ้นนำ ช็อคกองเชียร์บราซิลในสนาม ก่อนที่มันจะกลายเป็นประตูชัยให้อุรุกวัย บุกมาคว้าแชมป์โลกถึงแผ่นดินบราซิลได้สำเร็จ 

“สามคนที่ทำให้คนเงียบได้ในมาราคานา แฟรงค์ ซินาตรา โป๊บ และผม” กิกเกียร์ผู้ยิงประตูชัย ย้อนความหลังกับ BBC 

 3

หลังสิ้นเสียงนกหวีด แฟนบอลและนักเตะบราซิลในสนามมาราคานา ต่างร้องไห้อย่างไม่อายใคร ในขณะที่บางคนยังตะลึงกับผลการแข่งขัน 

หลังเกมบาร์และร้านอาหารในเมืองริโอ เดอ จาเนโร ต่างพากันปิด ส่วนหนังสือพิมพ์ต้องเปลี่ยนพาดหัวทันที O Mundo Sportivo พาดหัวว่า “อย่างกับละคร โศกนาฎกรรมและเรื่องตลก” 

“ผมจำได้ว่าผมยืนนิ่งไม่ขยับอยู่เป็น 10 หรือ 15 นาที ผมจำไม่ได้ว่าฟุตบอลโลกเป็นยังไงหรืออะไรทั้งสิ้น ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งเลวร้ายที่สุดในโลกที่เกิดขึ้นกับผม” ชูเอา หลุยส์ อัลบูเกเก หนึ่งในแฟนบอลในวันนั้นกล่าวกับ BBC 

ความผิดหวังในเกมวันนั้น ทำให้สมาคมฟุตบอลบราซิลคิดว่ามันถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง พวกเขาต้องเริ่มใหม่ เพื่อลบฝันร้ายในอดีต และหนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนโฉมชุดแข่งใหม่

ต้นกำเนิดคานารินโญ 

ผ่านไปสามปีนับตั้งแต่โศกนาฎกรรมที่มาราคานา Correio da Manhã หนังสือพิมพ์ที่เป็นพันธมิตรกับสมาคมกีฬาบราซิลได้ มีไอเดียประกวดออกแบบชุดแข่งใหม่ของฟุตบอลทีมชาติบราซิล โดยตั้งใจว่าจะนำไปใช้ในฟุตบอลโลก 1958 

 4

พวกเขามองว่าสีขาวซึ่งเป็นชุดแข่งแบบเก่าของพลพรรคแซมบ้า ไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงความเป็นบราซิลเลยแม้แต่นิดเดียว ต่างจากอุรุกวัยที่ใช้สีฟ้า และอาร์เจนตินา ที่ใช้ฟ้าขาว ซึ่งมาจากสีของธงชาติ

เงื่อนไขในการออกแบบคือต้องมีสีทั้งสี่จากธงชาติ คือสีเขียวที่หมายถึงป่าอันกว้างใหญ่ไพศาล สีเหลืองที่หมายถึงความมั่งคั่ง สีน้ำเงินที่หมายถึงโลก และสีขาว ที่หมายถึงดาวบนท้องฟ้าของเมืองริโอ โดยทั้งสี่สีจะต้องอยู่บน เสื้อ กางเกง ถุงเท้า อย่างครบถ้วน และต้องมีโลโก้ของสมาคมฯ แต่ห้ามมีคำว่าบราซิลหรือธงชาติอยู่ในนั้น 

อันที่จริงก่อนหน้านี้ บราซิล เคยที่มีไอเดียที่จะใช้สีจากธงชาติ มาใช้บนชุดแข่ง แต่โดนทัดทานจากกลุ่มชนชั้นสูง เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่จะนำของสูงอย่างธงชาติ มาไว้ในเครื่องแต่งกายของกีฬา 

หลังความเจ็บปวดสุดชอกช้ำในนัดชิงชนะเลิศ การประกวดชุดแข่งใหม่ก็ทำให้บรรยากาศเกี่ยวกับฟุตบอลดีขึ้น การประกวดได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม โดยมีผู้ส่งแบบเข้าประกวดกว่า 300 ราย โดย อัลเดียร์ การ์เซีย เชอร์ลี หนุ่มน้อยวัย 18 ปี ที่ทำอาชีพนักวาดภาพประกอบให้กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในขณะนั้นก็เป็นหนึ่งในผู้เข้าประกวด  

“ผมรู้สึกตกใจเพราะพวกเขาต้องการให้ใช้ทั้งสี่สีที่อยู่บนธงชาติ” เชอร์ลีให้สัมภาษณ์เบลลอสในหนังสือ Futebol 

“สามสี่มันโอเค แต่สี่สีนี้มันยากมากๆ ไม่เคยมีทีมไหนใช้สี่สีมาก่อน และสี่สีที่อยู่บนธงมันก็ไม่ได้เข้ากันมากนัก คุณจะผสมผสานระหว่างสีน้ำเงินกับขาวได้อย่างไร?”  

เขาทดลองออกแบบเป็นร้อยๆแบบ เขาทดลองวาดมาหมดทุกรูปแบบ ทั้งแนวขวางแนวตั้ง ทำเป็นรูปกากบาท หรือแม้กระทั่งตัววี แต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจใช้รูปแบบที่ง่ายที่สุดที่มีสีเหลืองเป็นสีพื้น 

“ท้ายที่สุด ผมตระหนักได้ว่าเสื้อน่าจะเป็นแค่สีเหลือง มันน่าจะเข้ากับกางเกงน้ำเงินและถุงเท้าสีขาวได้เป็นอย่างดี โดยมีสีเขียวอยู่รอบๆปกเสื้อ” เชอร์ลีกล่าวกับ BBC  

ในขั้นตอนลงสีขั้นสุดท้าย เขาใช้สีที่เขามีอยู่ในมือตอนนั้น เสื้อจึงกลายเป็นสีเหลืองทอง ในขณะที่กางเกงเป็นสีน้ำเงิน โคบอลต์ แม้ว่าเฉดของสีอาจจะไม่ตรงเป๊ะตามเฉดสีในธงชาติ แต่ความสวยของมันทำให้คณะกรรมการอนุโลม และทำให้เขาได้รับรางวัลชนะเลิศในท้ายที่สุด 

ความโดดเด่นของชุดแข่งของ เชอร์ลี ทำให้ มันได้รับการตั้งชื่อในภาษาโปรตุเกสว่า “คานารินโญ” หรือแปลได้ว่าชุดแข่ง “นกขมิ้น” และกลายเป็นสีหลักของทีมชาติบราซิลนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

อย่างไรก็ดี ตลกร้ายที่คนออกแบบชุดแข่งทีมชาติบราซิลผู้นี้ไม่ได้เป็นแฟนบอลบราซิล แต่กลับเป็นชาติคู่แข่งสำคัญ

แฟนบอลของอริ 

แม้ว่า เชอร์ลี จะมีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในประเทศบราซิล แต่เมืองเปโลตาส เมืองเล็กๆในรัฐริโอ กรันเด เด ซุล บ้านเกิดของเขาที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ อยู่ใกล้กับชายแดนของอุรุกวัย โดยใช้เวลาเดินทางไม่ถึงสองชั่วโมง 

 5

ในวันที่บราซิล ปราชัยต่ออุรุกวัยคาสนามมาราคานา สเตเดียมในปี 1920 ในตอนนั้นเชอร์ลีในวัย 15 ปี ได้ข้ามพรมแดนเข้าไปชมภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของรอย โรเจอร์สที่อุรุกวัย

การฉายหนังถูกแทรกด้วยข่าวการคว้าแชมป์โลกของอุรุกวัย พร้อมกับบรรเลงเพลงชาติอุรุกวัย ชัยชนะนัดดังกล่าวประทับใจเขามาก เชอร์ลีกล่าวว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะไม่เป็นแฟนบอลอุรุกวัยในตอนนั้น และรู้สึกขนลุกในชัยชนะของอุรุกวัยในฟุตบอลโลก 2014 ที่เฉือนเอาชนะอิตาลีในนัดสุดท้ายของรอบแรก พร้อมผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ได้สำเร็จ 

“มันเหมือนกับปาฎิหาริย์ ผมรู้สึกกระวนกระวายมาก กระเพาะของผมปั่นป่วนตลอดทั้งเกม” เชอร์ลีเผยความรู้สึกกับ Independent 

หลังจากชนะเลิศออกแบบเชอร์ลี ได้มีโอกาสทำอาชีพอื่นอีกมากมาย ทั้ง นักข่าว และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงอาชีพนักเขียนที่ทำให้เขามีชื่อเสียงโด่งดัง โดยเฉพาะในอุรุกวัย เขายังมีธงของประเทศอุรุกวัยประดับอยู่ในบ้านอีกด้วย 

“ผมเป็นที่รู้จักในอุรุกวัย ผมถูกเรียกว่านักเขียนอุรุกวัย” เขาอธิบาย

เขากลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอีกครั้งในช่วงฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ เมื่อนักข่าวเริ่มตีแผ่เรื่องของเขา เชอร์ลี ต้องเดินทางไปทั่วบราซิลเพื่อพูดเรื่องนี้ จนรู้สึกเหนื่อยและตัดสินใจที่จะไม่พูดถึงประเด็นนี้หลังฟุตบอลโลกครั้งนั้น 

“ผมเหนื่อยที่จะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมันมาช้าไปนะ พวกเขาพูดถึงเรื่องที่ผมเคยทำเมื่อ 60 ปีก่อน และหลังจากฟุตบอลโลกครั้งนี้ ผมจะไม่พูดถึงมันอีก” เขากล่าวกับ Independent 

และนั่นก็น่าจะเป็นบทสัมภาษณ์ฉบับท้ายๆของเชอร์ลี หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งมานานหลายปี เขาก็เสียชีวิตลงในปี 2018 ก่อนอายุครบ 84 ปีแค่เพียง 7 วัน ทิ้งมรดกการออกแบบชุดแข่งในตำนานของบราซิลไว้เบื้องหลัง

ในขณะที่ชุดเหลืองเขียวภายใต้การออกแบบของเขาได้กลายเป็นชุดนำโชคของทีมชาติบราซิล แม้ว่าในปี 1954 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่บราซิลเปลี่ยนมาใช้สีนี้ จะยังล้างอาถรรพ์ไม่สำเร็จ หลังตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่อีก 4 ปีหลังจากนั้น ชุดแข่งเหลืองเขียวประกาศศักดาด้วยการคว้าแชมป์โลกสมัยแรกที่สวีเดนในปี 1958 

 6

และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของทีมชาติบราซิลภายใต้ชุดแข่ง คานารินโญ เมื่อสามารถคว้าแชมป์โลกมาครองได้อีก 4 สมัย กลายเป็นทีมที่คว้าแชมป์โลกได้มากที่สุด และทำให้บราซิลไม่ยอมเปลี่ยนสีชุดแข่งอีกเลย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาถึงทุกวันนี้ 

“สำหรับชาวบราซิล ชุดแข่งสีเหลืองนี้เป็นชุดศักดิ์สิทธิ์” คาร์ลอส อัลแบร์โตกัปตันทีมชาติบราซิลชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1970 กล่าวกับ BBC 

“ตอนที่เราสวมมัน แน่นอนว่าเรารู้สึกภูมิใจ แต่มันยังนำมาซึ่งความรับผิดชอบ ในการสร้างแรงบันดาลใจและความตื่นเต้นอีกด้วย” 

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ อดีตไม่ใช่สีนี้ : ต้นกำเนิดคานารินโญ... ชุดแข่งเหลือง-เขียวสัญลักษณ์ทีมชาติบราซิลปัจจุบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook