อย่าตกใจ.. ชื่อนักบอลนี่สั้นแล้วนะ! : ที่มาชื่อ-สกุล แสนย๊าวววยาว ของชาวมาดากัสการ์

อย่าตกใจ.. ชื่อนักบอลนี่สั้นแล้วนะ! : ที่มาชื่อ-สกุล แสนย๊าวววยาว ของชาวมาดากัสการ์

อย่าตกใจ.. ชื่อนักบอลนี่สั้นแล้วนะ! : ที่มาชื่อ-สกุล แสนย๊าวววยาว ของชาวมาดากัสการ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาดากัสการ์ เป็นที่คุ้นหูของแฟนฟุตบอลไทยเมื่อมีนักเตะจากประเทศนี้อย่าง กีย์ ฮูแบร์, จอห์น บาจโจ้ และ เอ็นจีว่า เข้ามาแข้งในไทยลีกและทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม 

การมาของแข้งเหล่านี้ทำให้หลายคนได้รู้ว่าประเทศนี้ไม่ได้มีแค่ชื่อเสียงจากภาพยนตร์แอนิเมชั่นของสิงห์สาราสัตว์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีนักเตะฝีเท้าดีซ่อนอยู่มากมาย และตอนนี้ มาดากัสการ์ ก็ผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาต์ในศึก แอฟริกัน คัพ ออฟ เนชั่นส์ หรือศึกชิงแชมป์ทวีปแอฟริกา (ที่คนไทยคุ้นเคยในชื่อ แอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ) แล้ว 

นอกจากความยอดเยี่ยมในด้านฟอร์มการเล่นแล้ว สิ่งที่มาดากัสการ์มีเหนือทีมอื่น คือชื่อของนักเตะในทีมชุดนี้ที่จัดอยู่ในระดับ "ยาวมาก" จนหากไม่ได้สนิทชิดเชื้อกันแล้ว แทบไม่มีทางที่จะจดจำชื่อและนามสกุลกันได้เลย...

ที่มาของชื่อยาว

ฟาเบียนเน่ ราฟิดิฮารินินา นักข่าวรายหนึ่งได้เขียนบทความเกี่ยวกับประเทศของตัวเองในลงในเว็บไซต์ The Culture Trip เพื่อคลายความสงสัยเรื่องชื่อของชาวมาดากัสการ์ อย่างเช่นกรณีของ Hery Martial Rajaonarimampianina Rakotoarimanana (เฮรี่ มาร์กซิยาล ราจาโอนาริมัมปิอานิน่า ราโคโตอาริมานาน่า) อดีตประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2014-18 ผู้ชื่อที่ยาวถึง 13 พยางค์ มันทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีทางที่จะจดจำมันให้ถูกต้องได้เลย เธอจึงเริ่มค้นหาที่มาของความยาวอันเว่อร์วังนี้ว่ามาจากไหน...

 1

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปไกลพอดู ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 เดิมทีนั้นชาวมาดากัสการ์ เรียกตัวเองว่าชาว "มากาลาซี" และพวกเขาไม่ได้ตั้งใจให้ชื่อแต่ละชื่อนั้นยาวขนาดนั้น มันแค่เป็นเรื่องของค่านิยมเพราะชื่อของชาวมากาลาซีนั้นจำเป็นจะต้องเป็นชื่อที่มี 1 เดียวในประเทศเท่านั้น พวกเขาจึงพยายามตั้งชื่อให้ดูมีความแตกต่างจากคนอื่นมากที่สุด และวิธีที่เหมาะสมคือการนำเอาฉายาต่างๆ มารวมกันไว้ในชื่อ อาทิ "Andrianampoinimerinatompokoindrindra" (อันดริอานัมโพอินิเมอร์รี่นาทอมโปโกอินดรินดา) ที่ยาวถึง 17 พยางค์ ซึ่งมีคำแปลว่า "ราชาผู้ไม่สามารถหาใครในหมู่พี่น้องมาเท่าเทียมได้" และ "Andriantsimitoviaminandriandehibe" ซึ่งมีความหมายในภาษาท้องถิ่นว่า "ขุนนางที่เหนือกว่าเหล่าขุนนางที่ยิ่งใหญ่ทั้งปวง" ซึ่งทั้งสองชื่อนี่เป็นชื่อของกษัตริย์ของชาวมากาลาซีเมื่อครั้งอดีต เป็นต้น

ชื่อที่ยาวมาพร้อมกับความหมายที่ยิ่งใหญ่ และเมื่อคนที่เป็นกษัตริย์อันเป็นชนชั้นสูงของประเทศเลือกใช้ชื่อแบบนั้น มันย่อมส่งผลมาถึงชาวบ้านหรือปุถุชนคนทั่วไป มันพอสันนิษฐานได้ว่าผู้คนชาวมากาลาซี เลือกจะตั้งชื่อให้ลูกๆ หลานๆ ยาวๆ เข้าไว้ เพื่อให้มันดูยิ่งใหญ่ มีพลังอำนาจ ไม่ต้องเว้นวรรคให้กับ ชื่อ และ นามสกุล เหมือนกับประเทศอื่นๆ 

 2

ยาวไปแล้วนะ...

ในช่วงปี 1896 มาดากัสการ์ ต้องตกเป็นดินแดนในอาณานิคมของฝรั่งเศส เมื่อนั้นวัฒนธรรมชื่อยาวก็เริ่มลดความนิยมลง เนื่องจากชาวฝรั่งเศสที่ต้องติดต่อกับชาวมากาลาซีทั้งทางการค้าและทางราชการไม่สามารถเรียกตามหรือจำชื่อยาวๆ เหล่านั้นได้ เพราะมันไม่ใช่แค่ชื่อคนเท่านั้นที่ยาว แต่มันยังรวมถึงชื่อเมือง ชื่อสถานีรถไฟ และอีกสารพัดเรื่องที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสต้องนำภาษาฝรั่งเศสของพวกเขาเองเข้ามาเผยแพร่เพื่ออำนวยความสะดวกของการใช้ชีวิตประจำวัน 

ยกตัวอย่างเช่น เมืองหลวงของมาดากัสการ์ที่มีชื่อว่า Antananarivo (อันตานานาริโว) ก็ถูกลดพยางค์ลงจนเหลือแค่ว่า "Tana" (ตาน่า) ซึ่งมาจากชื่อเมืองในภาษาฝรั่งเศสอย่าง "Tananarive" แม้แต่ชื่อที่ใช้เรียกรถประจำทางอย่าง "ฟิอาร่า ฟิตาเตรัม บาโฮอาก้า" ก็ถูกย่อซะสั้นเหี้ยนเหลือเพียง "บัส" อย่างรถเมล์สาย 133 ก็จะถูกเรียกแค่เพียง "บัส 133" ไม่ต้องเรียกแบบเต็มยศว่า "ฟิอาร่า ฟิตาเตรัม บาโฮอาก้า เอียฮาราน่า ฟาฮา เตโล อัมบี เตโลโปโล อัมบี ซาโต" อีกต่อไป

เรื่องดังกล่าวทำให้ในยุคหลังๆ ชื่อของชาวมาดากัสการ์ถูกลดทอนให้สั้นลง (กว่าอดีต) อาทิจาก 36 พยางค์ หรือเพียง 12 พยางค์เท่านั้น... สำหรับประเทศอื่น 12 พยางค์นั้นดูจะเยอะยืดยาว แต่ไม่ใช่กับที่มาดากัสการ์ เพราะลดพยางค์ลงมาจากชื่อยุคอดีตถึง 2 ใน 3 เลยทีเดียว ชื่อปัจจุบันจึงเป็นชื่ออาทิ ราโกโตอาริโซอา, อันดริยาจาฟี่ หรือ ราโคโตฮาริลาล่า (นามสกุลของ เอ็นจีว่า) เป็นต้น 

 3

ไอรีน ราบินูร์ ศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์และสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยตาน่า ให้เหตุผลกับชื่อที่ยังยาวอยู่แม้จะตัดทอนให้สั้นลงแล้วว่ามันเกิดขึ้นเพราะแต่ละชื่อนั้นมีความหมายเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องมีชื่อและนามสกุลแยกจากกัน ทว่าเมื่อผ่านเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา อิทธิพลจากโลกตะวันตกก็เริ่มเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมนี้ไป โดยเหลือแต่มีคนภาคกลางของประเทศเท่านั้นที่ยังนิยมใช้ชื่อยาวๆ แบบไม่แยกชื่อนามสกุลออกจากกัน เพราะภาคกลางถือเป็นพื้นที่ที่กลุ่มชนชั้นสูงของมากาลาซีอาศัยอยู่ มันจึงให้อิทธิพลอนุรักษ์นิยมยังมีอยู่จนทุกวันนี้ 

เรื่องนี้ อแล็ง ราโคตอนดรันดิอา นักข่าวและนักแปลชาวมาดากัสการ์ ขยายความต่อว่าชื่อที่ยาวๆ ในปัจจุบันของคนภาคกลางยังสืบต่อกันมาได้เพราะเมื่อคู่ชาย-หญิง จากภาคกลางแต่งงานกัน ชื่อของพวกเขาจะขยายยาวเข้าไปมากกว่าเดิมอีกเพราะต้องเติมชื่อของคู่ชีวิตลงไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศหญิง ยกตัวอย่างเช่น นางสาว ซาฮอนดรา ลีเดีย ราโคโตมาลาล่า แต่งงานกับนาย อันเดรีอาซิเฟรานาริโว... ชื่อของเธอจะกลายเป็น นาง "ซาฮอนดรา ลีเดีย อันเดรีอาซิเฟรานาริโว ราโคโตมาลาล่า" นั่นเอง 

สั้นลงไปอีกเมื่อเป็นนักฟุตบอล 

 4

เรื่องนี้อาจจะไม่มีใครยืนยันได้แน่ชัด 100% ว่าชื่อยาวๆ ของชาวมาดากัสการ์ ถูกเปลี่ยนให้สั้นลง มันเกี่ยวกับฟุตบอลของพวกเขาอย่างไร แต่มันมีเรื่องที่สามารถนำมาใช้อ้างอิง ได้อย่างมีน้ำหนักเลยทีเดียว...

เมื่อมาดากัสการ์เป็นประเทศอาณานิคมของฝรั่งเศส ทั้ง 2 ประเทศคงต้องมีคนบางกลุ่มที่เดินทางข้ามไปข้ามไปมาเพื่อปฎิบัติภารกิจส่วนตัวไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจ, การทูต หรืออะไรก็ตาม ดังนั้นการปรับชื่อให้สั้นของชาวมาดากัสการ์ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อเข้าประเทศฝรั่งเศสพวกเขาจะต้องทำพาสปอร์ตข้ามดินแดน และชื่อระดับ 12-30 พยางค์ ดูจะเป็นปัญหาทั้งการออกเสียงเรียกชื่อ และการเขียนลงในพาสปอร์ตทั้งสิ้น...

และเมื่อถึงตรงนี้ ดูเหมือนว่ามันจะเริ่มเกี่ยวกับฟุตบอลขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะมีนักเตะชาวมาดากัสการ์ ทั้งในอดีตและปัจจุบันหลายคนที่ค้าแข้งในประเทศฝรั่งเศส บ้างก็เติบโตจากครอบครัวมาดากัสการ์ในฝรั่งเศส และบางคนก็เกิดที่มาดากัสการ์ ก่อนจะย้ายมาทำมาหากินที่แดนน้ำหอม และที่น่าสนใจคือส่วนใหญ่นักเตะที่ค้าแข้งในฝรั่งเศสนั้น พวกเขาจะมีชื่อที่สั้นลง บางคนมีชื่อและนามสกุลเหมือนกับวัฒนธรรมตะวันตกเลยด้วยซ้ำ จากจุดนี้มันก็สอดคล้องเกี่ยวกับเรื่องการลดชื่อยาวๆ ให้สั้นลง เพื่อลดปัญหาในการดำเนินงานด้านเอกสาร และการทำพาสปอร์ตพอดิบพอดี 

 5

นักเตะชุดแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ 2019 มีชื่อสั้นๆ หลายคนอย่าง ดิมิทรี่ คาโลอิน (เลส อาบิเอร์), เจเรมี่ โมเรล (ลียง), วิลเลี่ยม กรอส (ทรัวส์), เมลวิน อาเดรียน (มาติเกอร์) และ อิบราฮิม ดาโบ (แซงต์ ปิเอร์รัวส์) ต่างก็เป็นผู้เล่นที่เล่นในลีกฝรั่งเศสทั้งนั้น 

นอกจากนี้ ผู้เล่นที่อายุน้อยๆ ในทีมชุดดังกล่าวต่างก็มีชื่อและนามสกุลที่สั้นลงอย่างชัดเจน บางคนนั้นแทบไม่เหลือชื่อที่แสดงออกถึงความเป็นมาดากัสการ์เลย อาทิ โรมาริโอ บาจโจ้ กองกลางวัย 25 ปี ที่เล่นในสโมสรโฟซ่า จูเนียร์ ซึ่งเป็นสโมสรในประเทศ ขณะที่ จอห์น บาจโจ้ ตัวรุกของทีมสุโขทัย เอฟซี ก็เคยให้สัมภาษณ์ถึงชื่อของเขาว่ามันไม่ได้มาจากฉายาที่เอามาเรียกแทนชื่ออย่างนักเตะบราซิล แต่มันเป็นชื่อที่พ่อของเขาตั้งให้เองเพราะความรักในกีฬาฟุตบอล 

"แน่นอน ชื่อของผมมีความเกี่ยวข้องกับ โรแบร์โต้ บาจโจ้ (ตำนานนักเตะทีมชาติอิตาลี) เพราะพ่อของผมชอบโรแบร์โต้ บาจโจ้ เอามากๆ เลย เขาจึงนำเอาคำว่า บาจโจ้ มาใส่ไว้ในชื่อของผม" บาจโจ้ ให้สัมภาษณ์กับ Goal เมื่อปี 2016 

ชื่อที่สั้นลงของนักฟุตบอลทีมชาติมาดากัสการ์แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของโลกตะวันตก หรือยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในประเทศที่เป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลกอย่างชัดเจน บางครั้งชื่อยาวๆ ที่ใช้ภาษามากาลาซีเพื่อบรรยายถึงความยิ่งใหญ่ก็ใช่จะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเสมอไป ในยุคนี้ ชื่อที่สั้นๆ กระชับๆ อาจจะทำให้อะไรๆ ในชีวิตง่ายขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ 

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ อย่าตกใจ.. ชื่อนักบอลนี่สั้นแล้วนะ! : ที่มาชื่อ-สกุล แสนย๊าวววยาว ของชาวมาดากัสการ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook