“ปาฎิหาริย์แห่งไมอามี” เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงฟุตบอลญี่ปุ่นไปตลอดกาล

“ปาฎิหาริย์แห่งไมอามี” เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงฟุตบอลญี่ปุ่นไปตลอดกาล

“ปาฎิหาริย์แห่งไมอามี” เหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงฟุตบอลญี่ปุ่นไปตลอดกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงเหตุการณ์สุดยิ่งใหญ่ในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นในรัชสมัยเฮเซ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป หนึ่งในนั้นจะต้องมี “ปาฎิหาริย์แห่งไมอามี” อยู่ในลิสต์ 

“เราน่าจะแพ้ (บราซิล) 10-0 แต่เราชนะ” มาซาคิโยะ มาเอโซโนะ กัปตันในเกมนั้นกล่าว 

มันเกิดขึ้นในปี 1996 ในยุคที่ญี่ปุ่นยังไม่เคยไปฟุตบอลโลก ยุคที่ลีกอาชีพเพิ่งก่อตั้งไม่ถึง 5 ปี แต่พวกเขาก็ทำสิ่งเหลือเชื่อ ภายใต้การคุมทีมของ อาคิระ นิชิโนะ 

และนี่คือเรื่องราวเหล่านั้น  

โอลิมปิกในรอบ 28 ปี 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ฟุตบอลญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงล้มลุกคลุกคลาน แม้จะสามารถคว้าแชมป์เอเชียนคัพมาครองได้ในปี 1992 แต่ก็ไม่สามารถผ่านไปเล่นในรอบสุดท้ายฟุตบอลโลก 1994 จากเหตุการณ์โศกนาฎกรรมโดฮา ในขณะที่โอลิมปิก ก็ร้างราไปนานเกือบ 30 ปี 


Photo : www.nikkansports.com

แต่พวกเขาก็เริ่มมีความหวัง เมื่อมีผู้จัดการทีมน้องใหม่ไฟแรง ที่เพิ่งสร้างผลงานด้วยการพาทีมชาติญี่ปุ่นรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี คว้าอันดับ 3 ในศึกชิงแชมป์เอเชียในปี 1992 ซึ่งถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดของทีมเยาวชนตั้งแต่ 1978 และชายคนนั้นก็มีชื่อว่า อาคิระ นิชิโนะ 

นิชิโนะ ในวัยหนุ่ม เต็มไปด้วยแพสชั่นและความทุ่มเทตั้งแต่คุมทีมชุด U20 เขาเคยเดินทางไปเก็บข้อมูลที่เกาหลีใต้ หนึ่งเดือนก่อนเกมรอบคัดเลือก AFC U19 และไปไกลถึงอิหร่าน เมื่อได้รู้ว่าญี่ปุ่น U20 ต้องอยู่ในสายเดียวกันทีมดังแห่งตะวันออกกลาง 

แม้ว่าญี่ปุ่น U20 ของนิชิโนะ จะพลาดโอกาสเข้าไปเล่นในฟุตบอลเยาวชนโลก 1993 หลังไปไกลแค่อันดับ 3 ในศึก U20 ชิงแชมป์เอเชีย 1992 (ที่ใช้รายการนี้เป็นรอบคัดเลือก โดยคัดแชมป์และรองแชมป์ไปเล่นรอบสุดท้าย) แต่เขาก็ได้รับเสียงชื่นชม จนถูกดันขึ้นมาคุมทีมชาติญี่ปุ่นรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีในปี 1994 ซึ่งถือเป็นการคุมทีมฟุตบอลเพียงแค่ครั้งที่ 2 ในชีวิตของเขาเท่านั้น 


Photo : www.baike.com

ภารกิจสำคัญของเขาคือพาทีมผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโอลิมปิกที่แอตแลนตา ซึ่งจะเริ่มรอบคัดเลือกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1995 และจากความคุ้นเคยกับผู้เล่นในชุด U20 ที่คว้าอันดับ 3 เอเชีย เมื่อปี 1992 ทำให้เขาดันผู้เล่นจากชุดนั้นขึ้นมาเล่นในชุดคัดโอลิมปิกหลายราย ทั้งผู้รักษาประตูโยชิคัตสึ คาวางุจิ, กองหลังฮิโรยูกิ ชิราอิ, โทชิฮิโร ฮัตโตริ, กองกลาง เทรุโยชิ อิโต และ และโชจิ โจ   

รอบคัดเลือกรอบแรกญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มเดียว ไทย และไต้หวัน พวกเขาเริ่มต้นได้อย่างร้อนแรง ด้วยการบุกมาถล่มไทยชุดดรีมทีมขาดลอยถึงสุพรรณบุรี 0-5 ตามมาด้วยการไล่ถล่มไต้หวัน 4-1 และ 6-0 และปิดท้ายด้วยการกลับมาเฉือนไทยในบ้าน 1-0 เก็บ 12 คะแนนเต็ม ยิงไป 16 และเสียไปเพียงลูกเดียว ผ่านเข้าสู่รอบต่อไปได้สำเร็จ 


Photo : www.news-postseven.com

รอบคัดเลือกรอบที่ 2 ถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มกลุ่มละ 4 ทีมรวม 8 ทีม โดยแข่งที่มาเลเซียทุกนัด แชมป์และรองแชมป์ของกลุ่ม จะได้ผ่านเข้าสู่รองรองชนะเลิศ เพื่อหาสามทีมที่ดีที่สุดไปเล่นรอบสุดท้าย 

ญี่ปุ่นถูกจับเข้ามาอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับ อิรัก โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้ว่าพวกเขาจะประเดิมสนามด้วยการเสมอกับ อิรัก แต่อีกสองนัดที่เหลือพวกเขาก็ไม่พลาด เก็บเพิ่มอีก 6 คะแนนผ่านเข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ

คู่ต่อกรของพวกเขาในรอบรองชนะเลิศคือ ซาอุดิอาระเบีย หนึ่งในทีมแกร่งของเอเชีย หากพวกเขาเอาชนะได้ในนัดนี้ จะการันตีพื้นที่โอลิมปิกทันทีโดยไม่ต้องลุ้น แต่ถ้าหากแพ้ ต้องไปเตะนัดชิงที่ 3 เพื่อชิงตั๋วใบสุดท้ายแทน

และเพียง 4 นาทีแรกญี่ปุ่นก็ได้ประตูขึ้นนำอย่างรวดเร็วจาก มาซาคิโยะ มาเอโซโนะ ที่เกิดขึ้นจากการประสานงานกับยูจิ โฮโรนางะ และ โชจิ โจ ก่อนที่ในนาทีที่ 57 มาเอโซโนะ จะมายิงประตูที่สองของตัวเองให้ทัพซามูไรออกนำทีมจากตะวันออกกลาง 2-0 

อย่างไรก็ดี หลังนำห่างกลายเป็นซาอุฯ ที่เปิดเกมรุกอย่างหนัก และความพยายามของพวกเขาก็มาสัมฤทธิ์ผล เมื่อได้ประตูตีตื้นไล่มาเป็น 2-1 ตั๋วไปโอลิมปิกของญี่ปุ่นไม่แน่นอนเสียแล้ว 

จากโมเมนตัมของเกมกลายเป็นของซาอุฯ พวกเขาต้องการเพียงแค่ประตูเดียวเพื่อต่อลมหายใจ ทำให้โหมเกมรุกมาขึ้น จนเรียกได้ว่าพับสนามบุก พวกเขามีโอกาสตีเสมอได้หลายครั้ง แต่ก็ถูกปฎิเสธไว้ทั้งหมดโดย คาวางุจิ ผู้รักษาประตูจอมหนึบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกโหม่งในช่วงท้ายเกมที่เขาปัดออกหลังได้อย่างเหลือเชื่อ 

หลังทดเวลาอยู่ราว 2 นาที เสียงนกหวีดยาวจากผู้ตัดสินก็ดังขึ้น มันคือเสียงสวรรค์ของผู้เล่นญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ เพราะนี่คือการผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโอลิมปิกครั้งแรกใน 28 ปีของพวกเขา

เจอตอ 

การผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโอลิมปิก สร้างความชื่นมื่นให้กับผู้เล่นและแฟนบอล ญี่ปุ่นร้างราจากเวทีรอบสุดท้ายไปตั้งแต่ปี 1968 ที่เม็กซิโก ที่พวกเขาคว้าเหรียญเงินมาคล้องคอ ซึ่งเป็นผลงานที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ 


Photo : Goal.com

แต่ช่วงเวลาอันหอมหวานก็อยู่กับพวกเขาเพียงไม่นาน เมื่อผลการจับฉลากเสร็จสิ้น ญี่ปุ่น ที่เพิ่งผ่านเข้ามาเล่นในรายการนี้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปีต้องเจอกับของแข็งอย่าง บราซิล เต็งแชมป์ของรายการ โดยมีไนจีเรียอีกหนึ่งทีมแกร่ง และฮังการีเป็นอีกทีมร่วมกลุ่ม 

บราซิลในตอนนั้น กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทีมชุดใหญ่ของพวกเขาเพิ่งจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1994 บนผืนแผ่นดินอเมริกา และเต็มไปด้วยดาวดังมากมาย ทั้ง โรแบร์โต คาร์ลอส, จูนินโญ เปาลิสตา และ โรนัลโด 

พวกเขายังมีนักเตะที่เป็นกำลังสำคัญในการคว้าแชมป์โลก อย่าง อัลดาเอียร์, เบเบโต้ และริวัลโด มาในโควต้านักเตะอายุเกิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะคว้าเหรียญทองในทัวร์นาเมนต์นี้ 

แต่เดิมทีแล้วนิชิโนะ เป็นโค้ชที่ขึ้นชื่อในสไตล์เกมบุก การเดินหน้าถล่มประตูคู่แข่ง คือเครื่องหมายการค้าของเขา ทำให้ในตอนแรกทีมตั้งใจยึดถือแนวทางนี้ในโอลิมปิก แม้คู่แข่งจะเป็นบราซิลก็ตาม 

“เป็นเรื่องยากที่จะเอาชนะ เพื่อที่จะรู้ว่าสามารถทำได้แค่ไหนในระดับโลก เพราะฉะนั้นจึงควรเล่นฟุตบอลอย่างที่เคยเป็นมา” นิชิโนะเผยความรู้สึกกับ  Sport Graphics Number 

แต่หลังจากไปศึกษาข้อมูล ทำให้เขาต้องกลืนน้ำลายอย่างทันควัน

จากรุกเป็นรับ 

นิชิโนะ เป็นโค้ชที่ขึ้นชื่อในการศึกษาข้อมูล ในอดีตเขาเคยเดินทางไปเก็บข้อมูลถึงประเทศคู่แข่งอย่างละเอียด และการเจอกับบราซิล เขาก็ยังคงยึดถือในวิธีนี้ เขาทั้งไปสอดแนมและศึกษาข้อมูลย้อนหลังจากวิดีโอ ศึกษาวิธีการเล่น รวมไปถึงข้อมูลการเล่นของนักเตะแต่ละคนเพื่อหาจุดอ่อน


Photo : sports.sina.com.cn

แต่หลังจากศึกษาอย่างละเอียด ก็ทำให้เขาพบว่าบราซิลนั้นคือของจริง ยากมากที่จะหาวิธีเจาะพวกเขาได้ และคิดว่าหากการบุกแหลกเหมือนรอบคัดเลือกคงจะส่งผลเสียต่อทีมอย่างแน่นอน ทำให้เขาเปลี่ยนกลยุทธ์มาเล่นเกมรับอย่างทันควัน

แน่นอนนักเตะหลายคนต่างไม่เห็นด้วย รวมไปถึงมาเอโซโนะ นักเตะคู่บุญของเขาที่ร่วมงานมาตั้งแต่ชุด U20 และเป็นผู้ยิงประตูช่วยให้ทีมมาเล่นโอลิมปิก ด้วยอีโก้ทำให้เขาอยากจะใช้ความสามารถที่ประกาศศักดาในเอเชีย มาลองใช้ในเวทีระดับโลก แต่นิชิโนะ ก็ตอบกลับมาสั้นๆว่า “ไม่” 

“ก่อนเกมไม่นาน นิชิโนะซังบอกว่าจงสู้ด้วยวิธีของพวกเรา” มาเอโซโนะกล่าวกับ Sportvita  

“แต่ตอนนั้นนิชิโนะซังเพิ่งจะอายุ 41 อ่อนกว่าผมในตอนนี้เสียอีก (มาเอโซโนะอายุ 45 ปีในวันที่สัมภาษณ์) และนั่นคือเวทีระดับโลกครั้งแรกของเขา พวกเราที่ยังเด็กพูดเรื่องเอาแต่ใจไปหมด แต่นิชิโนะซังคิดถึงทีม คิดหาวิธีที่จะเอาชนะให้ได้”  

“ตอนนี้ผมเข้าใจนิชิโนะซังพูดนะ แต่ตอนนั้นเรายังเด็กเกินไป อยากจะลงเล่นอย่างที่เคยทำ เล่นฟุตบอลเกมรุก สู้อย่างเอาเป็นเอาตาย ใช้พลังทั้งหมดที่มีของเรา คิดแค่นั้นเอง” 

ในขณะเดียวกัน ผู้เล่นเกมรับอย่าง คาวางุจิ และ ฮัตโตริ ที่ตอนแรกเอนเอียงมาไปกับแนวคิดของ มาเอโซโนะ พอพิจารณาถึงเหตุผลก็เริ่มยอมรับในไอเดียของนิชิโนะ 

“ฮัตโตะ (โทชิฮิโร ฮัตโตริ) โยชิคัตสึ (คาวางุจิ) ต่างไม่เห็นด้วย พวกเราเข้าใจนะว่าทำไม แต่ พอเขาพูดมาว่า ‘คู่แข่งของเราคือบราซิลนะ’ ก็จบเลย” มาเอโซโนะกล่าว 

“แน่นอนว่าเมื่อได้เห็นวิดีโอและข้อมูลที่ไปสืบมา ผมคิดว่า (บราซิล) ‘แข็งแกร่งเกินไป’ แม้จะสู้กันตามปกติ ช่วงเวลาที่โดนพวกเขาบุกกดดันจะต้องยาวนานอย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมเข้าใจและยอมรับ”


Photo : ironna.jp

ญี่ปุ่นฝึกซ้อมอย่างหนักเหมือนกับการปฎิบัติจริง เพื่อให้มันซึมซับเข้าไปมากที่สุด พวกเขาวางให้ ฮิเดโตะ ซูซูกิ คอยประกบเบเบโต, ส่วนซาวิโอ จะถูกตามติดด้วยนาโอกิ มัตสึดะ ในขณะที่ จูนินโญ เพลย์เมกเกอร์จะถูก ฮัตโตริ ที่เล่นเกมรับได้ดีประกบแบบแมนมาร์ค และทำให้ ยูจิ ฮิราโอกะ กองกลางคนสำคัญต้องหลุดจาก 11 ตัวจริง 

“เพื่อผ่านเข้ารอบ มันเป็นไปไม่ได้สำหรับเราที่จะเอาชนะทั้งบราซิลและไนจีเรีย ด้วยเหตุนี้เราจึงยึดติดกับการเล่นเกมรับ โดยที่เอาบอลไว้กับตัว” นิชิโนะกล่าวกับ Sport Graphics Number 

“มันไม่ใช่เพื่อทำประตู แต่เพื่อทำให้แน่ใจว่าให้พวกเขามีโอกาสน้อยที่สุด”  

แม้เกมรับจะปรับในหลายจุด แต่เกมรุกยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นำโดย มาเอโซโนะ, ฮิเดโตชิ นาคาตะ และ โชจิ โจ โดยหวังใช้ลูกสวนกลับเผด็จศึกบราซิล เนื่องจาก อัลดาเอียร์ และ โรนัลโด เกาโร สองเซ็นเตอร์ฮาฟบราซิลไม่มีความเร็ว 

“เรื่องนี้อยู่ในความคิดของผม แต่ไม่คิดว่าจะทำได้ในความเป็นจริง ผมคิดว่า เกมบุก ‘มีแค่พวกเรา 3 คนแค่นี้นะ’” มาเอโซโนะกล่าว 

แม้จะไม่เห็นด้วย แต่นั่นคือแผนที่พวกเขาวางไว้ 

ปาฎิหาริย์แห่งไมอามี 

21 กรกฎาคม 1996 คือวันดีเดย์ พวกเขาลงสนามเป็นเกมนัดแรกของกลุ่มดี เกมได้รับความสนใจจากแฟนบอลอย่างล้นหลาม โดยมีผู้ชมกว่า 46,724 คน เข้ามาเป็นสักขีพยานในสนาม ไมอามี ออเรนจ์ โบวล์ 


Photo : @theafcdotcom

ญี่ปุ่นมาด้วยระบบ 3-6-1 อัดแดนกลางไปถึง 6 คน โดยมี โจ ห้อยหน้าเป้าอยู่คนเดียว และเป็นไปอย่างที่คาดไว้ ญี่ปุ่นแทบไม่มีโอกาสบุกเลยในครึ่งแรก หลังโดนบราซิลระดมยิงไม่ยั้ง แต่พวกเขาก็ยังมีสมาธิไม่ร้อนรน เนื่องจากเกมบุกของบราซิล ตรงตามข้อมูลที่ได้สืบมา ทำให้สามารถรับมือเอาไว้ได้ทั้งหมด 

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ญี่ปุ่นใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นเกมรับ ทำให้พวกเขารักษาจังหวะของตัวเองไว้ได้ บวกกับการเซฟอุตลุตของ คาวางุจิ ที่เหนียวหนึบในนัดนี้ ทำให้ญี่ปุ่นยังรักษาสกอร์เสมอไว้จนจบครึ่งแรก 

“เราแย่งบอลมาไม่ได้เลย (พอบอลมาที่ตัว) ก็จับไว้ได้หมด คิดว่า‘พวกนี้สุดยอดจริงๆ’ เป็นครั้งแรกที่ได้เห็น ‘พลังของจริง’ ในระดับโลก แต่ในทางกลับกันก็คิดว่า ‘จะต่อสู้กับพวกเขาอย่างไร’” มาเอโซโนะกล่าว 


Photo : sportiva.shueisha.co.jp

ครึ่งหลังพายุเกมบุกของบราซิลยังดำเนินต่อไป แต่นักเตะญี่ปุ่นยังมีวินัยในเกมรับอย่างยอดเยี่ยม แม้แต่ มาเอโซโนะ ก็ยังต้องลงต่ำมาช่วยเล่นเกมรับ 

และเทพเจ้าก็มาเข้าข้างญี่ปุ่นที่เล่นได้อย่างอดทน จากจังหวะบุกเพียงไม่กี่ครั้งในเกม พวกเขาก็มาได้ประตูขึ้นนำอย่างเซอร์ไพร์สในนาทีที่ 72 เมื่อ ริวจิ มิจิกิ วิงแบ็คครอสบอลเข้าไปในกรอบเขตโทษ อัลดาเอียร์ ตั้งใจที่จะบังบอล แต่มองไม่เห็นดิดา ที่มาจากข้างหลังจึงชนกันเอง บอลไปเข้าทาง เทรุโยชิ อิโต ยิงเข้าไปอย่างง่ายดาย 

แม้อาจจะดูเป็นประตูส้มหล่น แต่มันเป็นประตูที่เกิดจากการทำการบ้านอย่างหนักของนิชิโนะ เขาสังเกตุจากวิดีโอย้อนหลังของบราซิลว่า กองหลังและผู้รักษาประตูของบราซิล มักจะไม่ค่อยให้เสียง และเขาก็บอกเรื่องนี้ให้ผู้เล่นได้ทราบก่อนลงสนาม 

แม้หลังจากนั้น บราซิล จะโหมบุกอย่างหนัก แต่แนวรับของญี่ปุ่นก็ยังป้องกันเอาไว้ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาวางุจิ ที่งัดฟอร์มเซฟอย่างอุตลุด และทันทีที่ผู้ตัดสินเป่าจบเกม ชัยชนะก็ตกเป็นของญี่ปุ่นทันที 

ญี่ปุ่นเอาชนะบราซิลไปได้อย่างเหลือเชื่อ 1-0 มันคือชัยชนะนัดแรกในประวัติศาสตร์ของพลพรรคซามูไรที่มีเหนือบราซิล และทำให้ชัยชนะนัดนี้ถูกเรียกขานในญี่ปุ่นว่า Miami no Kiseki หรือ “ปาฎิหาริย์แห่งไมอามี”  

“การต้องสู้กับทีมอย่างบราซิล สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเอาชนะไม่ใช่แค่แนวรับที่แข็งแกร่งเท่านั้น แต่คงต้องมีหัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่งของผู้เล่นอีกด้วย” นิชิโนะย้อนความหลัง  

“ไม่มีโค้ชคนไหนอยากออกไปเล่นเกมรับตั้งแต่ต้นเกม แต่ผมก็ทำแบบนั้น ผมจึงคิดว่าชัยชนะนัดนี้ทำให้พวกผู้เล่นมีประสบการณ์มากขึ้น และจะทำให้พวกเขาก้าวจะขึ้นมาติดทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่ในอนาคต” 

และก็เป็นอย่างนิชิโนะว่าไว้ เพราะนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นความรุ่งเรืองของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างแท้จริง   

ก้าวแรกสู่ระดับโลก 

แม้ท้ายที่สุดญี่ปุ่นจะตกรอบแรก หลังคู่แข่งต่างเอาชนะกันแบบงูกินหาง แต่ปาฎิหาริย์แห่งไมอามี ก็กลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญของวงการฟุตบอลญี่ปุ่น 


Photo : edition.cnn.com

มันคือชัยชนะนัดแรกและนัดเดียวในประวัติศาสตร์ต่อบราซิล เป็นชัยชนะของทีมที่เพิ่งเข้ามาเล่นในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปีที่มีต่อมหาอำนาจของวงการลูกหนังโลกอย่างแซมบ้า 

ชัยชนะนัดนี้สร้างความมั่นใจในการพิสูจน์ตัวเองในเวทีระดับโลกของญี่ปุ่น ชาติที่ในขณะนั้นยังไม่เคยผ่านเข้าไปเล่นในระดับโลกแม้แต่ครั้งเดียว และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเตะในรุ่นหลัง 

ยิ่งไปกว่านั้น นักเตะในชุดดังกล่าวยังต่อยอดกลายเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลก 1998 ฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น ฮัตโตริ , นาคาตะ และโจ รวมไปถึง อิโตและ คาวางุจิ สองฮีโรจากนัดดังกล่าว

หลังจากนั้นญี่ปุ่นสามารถผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้ถึง 6 สมัยติดต่อกัน คว้ารองแชมป์คอนเฟดเดอเรชันคัพ 1 สมัย ส่วนทีมเยาวชนไปไกลถึงรองแชมป์โลก U20 ในปี 1999 และอันดับ 4 โอลิมปิกในปี 2012 


Photo : english.kyodonews.net

ในขณะที่นิชิโนะ เขาไปสร้างชื่อกับกัมบะ โอซากา ด้วยการพาทีมคว้าแชมป์เจลีกเป็นครั้งแรกของสโมสรในปี 2005 และเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกที่พาทีมคว้าแชมป์เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีกในปี 2008 ก่อนจะก้าวขึ้นมาคุมทีมชาติญี่ปุ่นชุดใหญ่เมื่อปี 2018 และเกือบพาทีมผ่านเข้าไปเล่นในรอบ 8 ทีมสุดท้าย

ปาฏิหาริย์แห่งไมอามี จึงเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ทั้งบ่อเกิดแห่งการเติบโตของทีมชาติญี่ปุ่น รวมไปถึงชายที่ชื่อว่า “อาคิระ นิชิโนะ”  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook