พจนานุกรมกีฬา "อเมริกันฟุตบอล" ที่คุณควรรู้

พจนานุกรมกีฬา "อเมริกันฟุตบอล" ที่คุณควรรู้

พจนานุกรมกีฬา "อเมริกันฟุตบอล" ที่คุณควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนมักจะพูดว่า "อเมริกันฟุตบอลเป็นกีฬาที่ดูแล้วเข้าใจยาก" จากการที่มีรายละเอียดต่างๆ มากมาย อีกทั้งเกมยังมีการหยุดเป็นระยะๆ

แต่หากเข้าใจถึงกติกาและศัพท์ต่างๆ หลายคนเช่นกันที่ยอมรับว่า การวางแผนของทั้งสองฝ่ายและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถพลิกและตัดสินเกมได้ทำให้กีฬานี้สนุกจนละสายตาไม่ได้

"Blind Side" ที่เคยเป็นชื่อภาพยนตร์ระดับรางวัลออสการ์คืออะไรในกีฬาคนชนคน, "Shotgun" ปืนลูกซองมาเกี่ยวกับกีฬานี้ได้อย่างไร? และเหตุใดแฟนกีฬาชาวไทยถึงเรียกธงของกรรมการในสนามว่า "ธงเจ"? นี่คือพจนานุกรมกีฬาอเมริกันฟุตบอล ที่จะช่วยให้คุณๆ เข้าใจและดูกีฬานี้สนุกยิ่งขึ้น

 

Gridiron

นอกจากชาวอเมริกันจะเรียกกีฬานี้ว่า "ฟุตบอล" (ซึ่งประเทศอื่นก็เอาคำว่า อเมริกัน ไปวางข้างหน้า ให้รู้ว่ากติกาแบบนี้ชาวอเมริกันเขาเล่นกัน) แล้ว กีฬาดังกล่าวยังถูกเรียกขานในชื่อ "Gridiron" อีกด้วย

อันที่จริงหากเปิดพจนานุกรม คำดังกล่าวจะหมายถึง "ตะแกรงปิ้งย่าง" แต่ด้วยลักษณะของมันนี้เองที่ทำให้นำคำนี้ไปใช้กับกีฬาอเมริกันฟุตบอลได้ เนื่องจากสนามแข่งขันนั้นจะถูกตีเส้นแบ่งระยะ คล้ายๆ กับตะแกรงที่ใช้ย่างนั่นเอง

Scrimmage

ตามพจนานุกรม "Scrimmage" แปลว่า "การประจัญหน้าต่อสู้กัน" ซึ่งมันก็สะท้อนถึงเกมอเมริกันฟุตบอลเช่นกัน เพราะทีมบุกและทีมรับจะต้องมาเผชิญหน้าต่อสู้กันในแต่ละเพลย์ ด้วยเหตุดังกล่าว กีฬานี้จึงถูกนิยามในแบบฉบับไทยๆ ว่า "คนชนคน" นั่นเอง

 1

โดยทั่วไป คำนี้จะถูกนำไปใช้ผสมกับคำอื่นๆ เพื่อขยายความให้สมบูรณ์ เช่น "Line of Scrimmage" ที่หมายถึง "แนววางลูก" ซึ่งแม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า ห้ามผู้เล่นฝ่ายใดข้ามแนววางลูกไปยังอีกฝั่งหากยังไม่เริ่มเล่น

Pocket

"Pocket" คือพื้นที่หลังแนวป้องกันทีมบุก หรือ ออฟเฟนซีฟไลน์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ควอเตอร์แบ็ค ศูนย์บัญชาการในสนามของทีมประจำการอยู่ นี่คือตำแหน่งสำคัญที่ทุกคนที่อยู่เบื้องหน้าจะต้องป้องกันสุดชีวิตเพื่อไม่ให้ผู้เล่นทีมรับคนไหนเข้าถึงตัว

End Zone

สนามกีฬาอเมริกันฟุตบอลจะมีระยะการเล่นทั้งสิ้น 100 หลา โดยแบ่งเป็นฝั่งละ 50 หลา และมีการระบุตัวเลขชัดเจนทุก 10 หลา ซึ่งพื้นที่หลังจากเส้น 0 หลาหรือ "Goal Line" ของแต่ละฝั่ง นี่แหละคือ "End Zone" หรือพื้นที่สิ้นสุดเขตการเล่นซึ่งจะมีสีที่โดดเด่นกว่าตำแหน่งอื่นๆ และนี่คือพื้นที่ซึ่งทุกทีมต้องการไปให้ถึง เพราะมันมีคะแนนสู่ชัยชนะรออยู่

Touchdown

นี่คือคำที่แฟนๆ กีฬาคนชนคนอยากได้ยินมากที่สุด เพราะเมื่อผู้เล่นของฝั่งไหนก็ตามสามารถนำลูกไปถึงเอนด์โซนได้ ก็จะถือว่าได้ "Touchdown" และรับ 6 คะแนนให้กับทีม ซึ่งวิธีการทำทัชดาวน์นั้นก็มีหลายแบบ ทั้งวิ่งเข้าไป, ขว้างบอลให้ผู้เล่นคนอื่น ส่วนทีมรับก็สามารถเก็บตกลูกที่ผิดพลาดของทีมบุกเข้าไปทำคะแนนเสียเองได้ รวมถึงการวิ่งย้อนลูกที่อีกฝ่ายเตะมาให้รับด้วย

 2

โดยหลังจากทำทัชดาวน์ ทีมที่ได้แต้มจะมีสิทธิ์เล่นเพื่อรับคะแนนเพิ่มหรือ "Extra Point" ซึ่งจะเลือกระหว่างการเตะเข้าไป ได้ 1 คะแนน หรือนำลูกเข้าไปยังเอนด์โซนอีกครั้งเพื่อเอา 2 คะแนน ที่เรียกว่า "Two-point Conversion" ก็ได้

Field Goal

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีรูปแบบการทำคะแนนอีกอย่าง นั่นก็คือ "Field Goal" ที่ต้องเตะให้เข้าระหว่างเสาประตูที่อยู่ปลายสุดของเอนด์โซน แม้การทำแต้มลักษณะนี้จะมีค่าเพียง 3 คะแนน แต่ทุกคนก็รู้ดีว่า ทุกคะแนนที่เกิดขึ้นนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะในเกมที่สูสี การเตะฟิลด์โกลพลาดครั้งเดียวอาจเปลี่ยนชัยชนะให้เป็นความพ่ายแพ้ได้

Safety

คำว่า "Safety" นั้นมีความหมาย 2 แบบ แบบแรกคือตำแหน่งในการเล่น ที่จะยืนอยู่ท้ายสุดของทีมรับ ส่วนอีกความหมายหนึ่งคืออีกรูปแบบของการทำคะแนน โดยหากผู้เล่นทีมรับสามารถทำให้ผู้เล่นทีมบุกที่ครองบอลล้มหรือออกนอกสนามในพื้นที่เอนด์โซน รวมถึงทำให้บอลหลุดมือในพื้นที่ดังกล่าว ทีมรับจะได้ 2 คะแนนทันที

Strong Side / Weak Side

ศัพท์สองคำนี้เกี่ยวข้องกับแนวบุก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งตัวรับบอล ทั้ง "Wide Receiver" หรือ "ปีกนอก" และ "Tight End" หรือ "ปีกใน" (รวมถึงอาจมี "Running Back" หรือ "ตัววิ่ง" ในบางครั้ง) โดยหากฝั่งใดของสนามมีตัวรับบอลมากกว่าจะถูกเรียกว่า "Strong Side" ส่วนฝั่งที่มีน้อยกว่าจะเรียกว่า "Weak Side" ซึ่งจะเป็นฝั่งซ้ายหรือขวาของสนามก็ได้ไม่ตายตัว ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับมือข้างที่ควอเตอร์แบ็คถนัดแต่อย่างใด

Blind Side

แต่สำหรับ "Blind Side" คำนี้จะเกี่ยวข้องกับควอเตอร์แบ็คโดยตรง เพราะมันหมายถึง "ด้านที่อับสายตาของควอเตอร์แบ็ค" ซึ่งก็คือ "ฝั่งมือที่ควอเตอร์แบ็คไม่ถนัด" และถือเป็นจุดที่ผู้เล่นฝั่งทีมรับหมายโจมตีใส่ควอเตอร์แบ็คเป็นที่สุด สำหรับคนทั่วไปอาจจะเคยได้ยินคำนี้จากภาพยนตร์ The Blind Side ที่สร้างจากชีวิตจริงของ ไมเคิล ออร์ ผู้เล่นตำแหน่งที่ปกป้องด้านอับสายตาของควอเตอร์แบ็คดีกรีแชมป์ซูเปอร์โบวล์

 3

Down

"Down" หมายถึงช่วงการเล่นจากจุดที่เริ่มต้นการเล่นไปถึงจุดที่บอลตาย โดยแต่ละทีมจะได้สิทธิ์บุก 4 ดาวน์ หากทำระยะรวมกันได้มากกว่า 10 หลาขึ้นไปก็จะได้สิทธิ์บุกต่อ และนับเป็นดาวน์ 1 ใหม่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำคะแนนได้ หากไม่สามารถทำได้ ก็จะต้องสลับมาให้อีกฝั่งได้สิทธิ์บุกบ้าง

Drive

"Drive" นั่นหมายถึงจังหวะการเล่นของทีมบุกในการครอบครองบอลช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งหากสามารถทำคะแนน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทัชดาวน์) ได้จากไดรฟ์ดังกล่าว และกินเวลาในการเล่นได้มาก ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายมีเวลาจำกัดในการทำคะแนนคืนนั้น ก็มักจะถูกประทับว่าเป็น "ไดร์ฟคุณภาพ" นั่นเอง

Flag

"Flag" หมายถึงธงที่ใช้โยนในเกมอเมริกันฟุตบอล ซึ่งจะมีอยู่ 2 สี คือ สีแดง ที่เฮดโค้ชของแต่ละฝั่งถือไว้เพื่อใช้สิทธิ์ในการ "Challenge" ขอดูภาพช้าเพื่อเปลี่ยนคำตัดสิน กับสีเหลือง ซึ่งกรรมการทั้ง 7 คนในสนามจะมีอยู่กับตัว เมื่อเห็นการทำผิดกฎก็จะขว้างลงพื้นเพื่อหยุดเกม และด้วยสีนี้เอง ทำให้แฟนกีฬาชาวไทยมักจะเรียกธงเหลืองนี้ว่า "ธงเจ"... ก็นะ สีมันเหมือนกันไม่ผิดเพี้ยนเลย

 4

นอกจากนี้ ธงยังถือเป็นอีกอุปกรณ์การเล่นสำคัญในกีฬา แฟลกฟุตบอล เพราะกีฬานี้จะไม่มีการเข้าปะทะเพื่อเซฟตัวนักกีฬา แต่จะใช้การดึงธงที่เอวแทน ซึ่งหากธงหลุด ก็จะหมายความถึงบอลตาย หยุดการเล่นที่ตรงนั้นนั่นเอง

I Formation

"I Formation" คือรูปแบบการยืนตำแหน่งของทีมบุกที่มักพบได้บ่อยที่สุดในกีฬาอเมริกันฟุตบอล โดยควอเตอร์แบ็คจะยืนอยู่ประชิดหลังของเซนเตอร์ ผู้มีหน้าที่ส่งบอลเริ่มเล่น และจะมีตัววิ่งอีก 2 คนยืนต่อหลังเป็นเส้นตรง ซึ่งหากมองจากด้านบนก็จะเห็นว่าทุกคนที่กล่าวมายืนเหมือนตัวอักษร I นั่นเอง

Shotgun

ขณะที่รูปแบบ "Shotgun" นั้นจะต่างจาก I Formation อย่างเห็นได้ชัด ตรงที่ควอเตอร์แบ็คจะยืนถอยหลังห่างมาจากเซนเตอร์ และมีผู้เล่นตำแหน่งรับบอลกระจายทั้งซ้าย-ขวา การยืนห่างออกมาจะทำให้ควอเตอร์แบ็คสามารถมองเห็นทางวิ่งของตัวรับแต่ละคนได้ง่ายขึ้น โดยสาเหตุที่เรียกเช่นนั้นก็มาจากการยืนและการวิ่งของตัวรับบอลที่เหมือนกับลูกปรายในกระสุนปืนลูกซอง 

สำหรับแฟนการ์ตูน Eyeshield 21 คงจะจำได้ว่า แผน Shotgun นั้นเป็นรูปแบบการบุกอันขึ้นชื่อของทีม เซย์บุ ไวลด์กันแมนส์ ที่เน้นเกมบุกกสายฟ้าแลบด้วยการขว้างเป็นหลักนั่นเอง

Play Action

"Play Action" ถือเป็นอีกหนึ่งลูกเล่นสำคัญในเกมบุก โดยหลังจากบอลถูก "Snap" เริ่มเล่น ควอเตอร์แบ็คจะทำทีว่า "Handoff" หรือยื่นบอลให้ตัววิ่งถือบอลต่อ ก่อนจะรีบชักบอลกลับมาอยู่กับตัวเพื่อเล่นเกมขว้าง นี่ถือเป็นทริกที่ใช้หลอกทีมรับมาแล้วนักต่อนัก

 5

Blitz

"Blitz" คือหนึ่งในรูปแบบการเล่นเกมรับ โดยที่จะมีผู้เล่น 1 คน หรือมากกว่าของทีมรับ ซึ่งจะเป็นคนที่อยู่ในแนวป้องกันอย่าง ดีเฟนซีฟไลน์, ดีเฟนซีฟเอนด์ หรือตำแหน่งถัดไปด้านหลังเช่น ไลน์แบ็คเกอร์, ตัวคุมปีก กับ เซฟตี้ ก็ได้ ที่ทิ้งตำแหน่งของตนเพื่อมาไล่ล่าควอเตอร์แบ็คโดยเฉพาะ

Sack

นี่คือคำที่เป็นฝันร้ายของควอเตอร์แบ็คอย่างแท้จริง เพราะหากจอมทัพของทีมถูกผู้เล่นทีมรับรวบลงพื้นในขณะที่ครองบอลเมื่อไหร่ ก็จะถือว่าเป็นการทำ "Sack" ทันที ซึ่งนอกจากจะทำให้เสียระยะ จนทำให้เพลย์ต่อไปต้องบุกให้ได้ระยะมากกว่าเดิมแล้ว หากการแซคเกิดขึ้นในเอนด์โซน ทีมรับจะได้ 2 คะแนนทันทีดังที่กล่าวไปข้างต้น

6

Pick

ส่วนคำนี้ถือเป็นฝันร้ายของผู้เล่นทีมบุกทุกคน เพราะหากมีผู้เล่นทีมรับสามารถโฉบมารับบอลที่ควอเตอร์แบ็คขว้างก่อนที่ตัวรับบอลจะครองบอลได้ ก็จะถือว่าเป็นการ "Pick" และเสียการครองบอล หรือ "Turnover" ทันที ซึ่งคำนี้มีความหมายเดียวกับคำว่า "Intercept"

แต่สาเหตุที่ทำให้คำนี้มีอะไรมากกว่านั้นก็เนื่องจาก หากผู้เล่นทีมรับที่โฉบตัดบอลได้เอาลูกไปถึงเอนด์โซน ทีมรับก็จะได้ 6 คะแนนไปครอบครองทันที (บวกแต้มพิเศษภายหลัง) และนั่นทำให้การทำอินเตอร์เซปท์แล้ววิ่งย้อนทำทัชดาวน์ จึงถูกเรียกว่า "Pick-6" ด้วยประการฉะนี้

Fumble

แต่สำหรับคำนี้คงเป็นฝันร้ายสำหรับทุกคน เพราะหากลูกบอลหลุดจากมือของผู้ที่ครอบครองอยู่ ณ ขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นควอเตอร์แบ็ค, ตัววิ่ง, ปีกนอก, ปีกใน หรือแม้แต่ทีมรับและทีมพิเศษ จะถูกเรียกว่า "Fumble" ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากการหลุดมือเอง หรือมีผู้เล่นอีกฝ่ายไปทุบให้หลุด อย่างที่เรียกว่า "Force Fumble"

แน่นอน เช่นเดียวกับการอินเตอร์เซปท์ หากฝ่ายที่ได้ครอบครองบอลแทนสามารถนำบอลไปถึงเอนด์โซนได้ การทำสกอร์นั้นก็จะถูกเรียกว่า "Fumble-6"

 7

Touchback

"Touchback" จะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายเตะคิกออฟหรือพันท์เตะบอลทะลุไปหลังเอนด์โซนของอีกฝั่ง หรือฝ่ายรับบอลเรียก "Fair Catch" ซึ่งหมายถึงการเจตนารับบอลและไม่เล่นต่อในเอนด์โซน โดยผลคือฝ่ายที่รับบอลจะได้บุกจากเส้น 25 หลาของฝั่งตนเอง (ใน NFL) ต่างจากการตัดสินใจวิ่งย้อนออกมา ที่หากโดนแท็คเกิลลงกับพื้นจุดไหน ตรงนั้นจะเป็นระยะที่ต้องเริ่มเล่น

อย่างไรก็ตาม การเรียกแฟร์แคชจากตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ในเอนด์โซน จะส่งผลให้บอลนั้นถูกเริ่มเล่นจากระยะที่เรียก ไม่ใช่ 25 หลาแต่อย่างใด

Onside Kick

"Onside Kick" คืออีกหนึ่งรูปแบบการเตะคิกออฟเริ่มเกมหรือหลังจากที่มีการทำสกอร์ โดยจะต่างกับการเตะทั่วไปที่เตะไปยาวๆ ตรงที่การเตะแบบนี้จะเป็นการเตะระยะสั้น ให้บอลไปข้างหน้าราว 10 หลา เพื่อให้ผู้เล่นคนอื่นของฝั่งที่เตะมาสามารถเข้าไปแย่งบอลได้ ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิ์กลับมาเป็นทีมบุกอีกครั้ง

ออนไซด์คิกจะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงท้ายเกม หลังจากที่ทีมเสียเปรียบด้านสกอร์ทำคะแนนได้และต้องการบุกต่อเพื่อหวังแซงกลับมาชนะ แต่หากฝั่งที่เป็นฝ่ายรับบอลสามารถตะครุบบอลไว้ได้ หรือบอลถูกเตะออกมาไม่ได้ระยะ 10 หลา ฝ่ายรับบอลก็จะได้เป็นฝ่ายเล่นแทน

Spike

นี่คือสิ่งที่เราอาจจะได้เห็นบ่อยๆ ช่วงท้ายเกม โดยหากควอเตอร์แบ็ค "Spike" หรือขว้างบอลลงพื้นทันทีหลังจากสแนปบอล จะทำให้เสียดาวน์ และเวลาในการเล่นหยุดลง ถือเป็นอีกวิธีสำคัญที่จะช่วยให้ทีมมีเวลาวางแผนการเล่นกับหายใจหายคอในช่วงเวลาที่เหลือน้อย และเวลานอก หรือ "Timeout" ถูกใช้ไปหมดแล้ว

 8

นอกจากนี้ สไปค์ ยังหมายความถึงหนึ่งในท่าดีใจเวลาทำทัชดาวน์ได้ ซึ่งอากัปกิริยาก็จะคล้ายๆ กัน นั่นคือการขว้างบอลลงพื้นนั่นเอง

Kneel

เห็นรากศัพท์ที่มาจากคำว่า "Knee" ก็ชัดว่าต้องมีอะไรที่เกี่ยวกับเข่าแน่ๆ และก็ตามนั้น เพราะ "Kneel" นั้นคือ "การคุกเข่าให้เวลาเดิน" ซึ่งมักจะใช้ในช่วงใกล้หมดเวลาทั้งครึ่งแรกครึ่งหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่สกอร์ขาดลอยแล้วนั่นเอง

Ice

"Ice" ในพจนานุกรมมีความหมายว่า "น้ำแข็ง" แต่ในวงการคนชนคน คำนี้มีความหมายอีกอย่างว่า "การขอเวลานอกขัดจังหวะ" โดยมักจะถูกใช้เวลาที่มีการเตะฟิลด์โกลซึ่งมีผลถึงการแพ้ชนะในช่วงท้ายเกม และแน่นอนว่า ฝ่ายที่เสียเปรียบจะเป็นผู้ขอก่อนที่จะมีการสแนปบอล เพื่อให้จังหวะของตัวเตะที่ซักซ้อมมาดีเสียไปเหมือนถูกน้ำแข็งเกาะ

แม้หลายฝ่ายมีความเชื่อว่า การถูกไอซ์จะทำให้ฝ่ายที่ต้องเตะฟิลด์โกลเกิดความผิดพลาดเมื่อต้องเตะใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะไกลๆ แต่ผลการศึกษาจากหลายสำนักกลับชี้ว่า การไอซ์แทบไม่มีผลต่อความแม่นของบรรดาตัวเตะเลยแม้แต่น้อย

Hail Mary

"Hail Mary" ถือเป็นไม้เด็ดก้นหีบที่มักจะถูกนำมาใช้เวลาคับขันเท่านั้น โดยหมายความถึงการขว้างบอลยาวจากระยะไกลเพื่อหมายทำทัชดาวน์ในช่วงท้ายเกมและคว้าชัยชนะ ซึ่งด้วยระยะทางที่ไกล และฝ่ายทีมรับก็พอจะเดารูปการณ์ออก โอกาสประสบความสำเร็จจึงค่อนข้างน้อยเป็นปกติ จนมีการเปรียบเปรยว่า การจะขว้างเฮลแมรี่ให้เข้าเป้านั้น แค่ฝีมืออย่างเดียวอาจไม่พอ

 9

แม้คำดังกล่าวจะมีที่มาตั้งแต่ยุค 1920s แต่คนที่ทำให้เฮลแมรี่กลายเป็นศัพท์อเมริกันฟุตบอลยอดฮิตคือ โรเจอร์ สตอแบค อดีตควอเตอร์แบ็คระดับตำนานของ ดัลลัส คาวบอยส์ ที่ทำได้ในเกมรอบเพลย์ออฟกับ มินนิโซต้า ไวกิ้งส์ ปี 1975 ซึ่งเจ้าตัวเปิดใจหลังจบเกมว่าในจังหวะดังกล่าว "ผมก็หลับหูหลับตาขว้างพร้อมกับขอพรพระแม่มารีไปด้วย"

Bust

"Bust" ถือเป็นหนึ่งในคำฝันร้ายที่นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลไม่ต้องการให้เกิดกับตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ถูกดราฟท์เข้าลีกด้วยการเป็นเบอร์ 1 หรือรอบแรก เพราะคำดังกล่าวหมายถึง "คนที่ไม่สามารถแจ้งเกิด ประสบความสำเร็จได้ ทั้งๆที่ถูกคาดหวังไว้สูง"

และคนที่มักจะได้รับการนิยามว่าอธิบายถึงคำว่า บัสท์ ได้เหมาะเหม็งที่สุดก็คือ จามาร์คัส รัสเซลล์ อดีตควอเตอร์แบ็คของ โอคแลนด์ เรดเดอร์ส ซึ่งแม้จะได้รับการคาดหวังว่าจะก้าวเป็นสตาร์ของวงการ จากการถูกดราฟท์เป็นหมายเลข 1 ของปี 2007 แต่ปัญหาทั้งในและนอกสนาม ทำให้เขาหมดอนาคตและเล่นใน NFL เพียง 3 ปีเท่านั้น

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ พจนานุกรมกีฬา "อเมริกันฟุตบอล" ที่คุณควรรู้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook