ต้องลอง!!

ต้องลอง!!

ต้องลอง!!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟุตบอลอังกฤษกับฟุตบอลไทยในเวลานี้ ให้อารมณ์และความรู้สึกที่คล้ายกันครับ คือต่างรู้สึกตื่นเต้นและมี “ความหวัง” กับอนาคตอีกครั้ง หลังจากที่แห้งเหี่ยวกันมานานหลายปี

เหตุผลสำคัญคือ การแจ้งเกิดของเหล่านักฟุตบอลดาวรุ่งอนาคตไกลมากมาย ที่มาพร้อมกันเป็นลูกคลื่นที่ซัดสาดอย่างรุนแรง จนทลายกำแพงอคติที่เคยมีต่ออนาคตและระบบการพัฒนาฟุตบอลของชาติจนหายไปหมด

โดยเฉพาะอังกฤษ ที่เคยอยู่ในภาวะ “สิ้นไร้ไม้ตอก” มาก่อน เมื่อสตีเฟ่น เจอร์ราร์ด และแฟรงค์ แลมพาร์ด สองนักเตะชุดสุดท้ายจาก “โกลเดน เจเนอเรชัน” ตัดสินใจประกาศอำลาทีมชาติอังกฤษหลังจบฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิล

การแจ้งเกิดของนักเตะอย่าง ราฮีม สเตอร์ลิง เรื่อยมาจนถึง แฮร์รี่ เคน ช่วยในเรื่องของจิตใจได้มาก

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่เฉพาะทีมชาติชุดใหญ่เท่านั้นที่คึกคัก ในทางตรงกันข้ามทีม “สิงโตน้อย” ทีมชาติอังกฤษ ชุดอายุต่ำกว่า 21 ปีเองก็คึกคักไม่แตกต่างกัน โดยล่าสุดสามารถพลิกกลับมาเอาชนะทีมเยาวชนที่มีมาตรฐานระดับ “น้องแชมป์โลก” อย่างเยอรมัน (ซึ่งนำมาโดยเอ็มเร่ ชาน อนาคตไกเซอร์ลูกหนังของพวกเขา) ได้ 3-2 ทั้งที่เป็นฝ่ายตามหลัง 2-1

กระแสชื่นชมผลงานทีมของแกเร็ธ เซาธ์เกต ดังขึ้นกระหึ่มทันที

แต่ในเวลาเดียวกันมันเริ่มนำไปสู่การถกเถียงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

การถกเถียงดังกล่าวคือเรื่องการที่อังกฤษ จะเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป รุ่นอายุต่ำกว่า 21 ปี ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ และเริ่มมีการคาดหวังว่าจะได้เห็นทีม “สิงโตน้อย” ที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งลงแข่งขันที่สาธารณรัฐเชค

ลองนึกภาพอังกฤษที่มี แฮร์รี่ เคน นำทัพในแดนหน้าโดยมี 3 ตัวรุกระดับท็อปของยุโรปอย่าง ราฮีม สเตอร์ลิง, รอสส์ บาร์คลีย์, อเล็กซ์ อ๊อกซ์เลด-แชมเบอร์เลน โดยมีแจ็ค วิลเชียร์ เป็นคนกำกับเกมตรงกลางสนามให้

ไม่แปลกอะไรที่คนอังกฤษจะตื่นเต้นครับ

แต่ปัญหาใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาเดิมที่เคยผ่านมาคือนักฟุตบอลระดับสตาร์เหล่านี้ มักจะไม่ถูกปล่อยตัวมาให้เพราะสโมสรต้นสังกัดเกรงว่าจะ “ช้ำ” เกินไปก่อนจะเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสโมสรได้ด้วย

ขณะที่อีกปัญหาคือการ “คาบเกี่ยว” กันระหว่างทีมชาติชุดใหญ่ และทีมชาติชุดเล็ก ซึ่งมีนักฟุตบอลจำนวนไม่น้อยที่หากเมื่อขึ้นชุดใหญ่ไปแล้วก็ไม่อยากจะกลับลงมาเล่นชุดเล็กอีก

กรณีนี้ เช่น รายของแฮร์รี่ เคน และราฮีม สเตอร์ลิง ที่มี “คำถาม” ทำนองนี้เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี การลงแข่งขันฟุตบอลรายการดังกล่าว นอกเหนือจากข้อเสียเรื่องของสภาพร่างกายที่อาจบอบช้ำ หรือแตกสลายหากได้รับบาดเจ็บ

ที่เหลือเป็นข้อดีล้วนๆ

เพราะสำหรับนักฟุตบอล การได้โอกาสลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ โดยเฉพาะทัวร์นาเมนต์ระดับชาตินั้นเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของตัวเองได้อย่างดีที่สุด เนื่องจากการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นั้นต้องมีระยะเวลาในการเก็บตัวซึ่งจะทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย ได้ลบจุดอ่อนและเสริมจุดแข็ง

นอกจากนี้ยังต้องเผชิญหน้ากับความกดดัน รับมือกับสิ่งที่ไม่คาดฝัน ให้หัวใจได้รู้จักความรู้สึกสุขถึงขีดสุดเมื่อเป็นผู้ชนะ เช่นกันกับความเศร้าถึงขอบเหวของหัวใจเมื่อเป็นผู้แพ้

มันจะเป็นช่วงเวลาที่มีค่าอย่างแน่นอน

ที่ผ่านมาอังกฤษ ประสบปัญหาในการส่งทีมลงแข่งขันรายการนี้เพราะนักฟุตบอลดาวรุ่งปฏิเสธ หรือถูกขัดขวางจากสโมสร โดยอ้างเรื่องสภาพร่างกาย อาการบาดเจ็บ หรืออื่นๆ ทำให้สุดท้ายแล้วทีมแกร่งไม่พอและล้มเหลวอยู่ร่ำไป

ทั้งๆที่ในบันทึกประวัติศาสตร์บ่งบอกชัดว่าหากให้โอกาสดาวรุ่งอนาคตไกลเหล่านั้นได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในทัวร์นาเมนต์แบบนี้ มันจะเป็น “สปริงบอร์ด” ที่ทำให้พวกเขากระโดดได้ไกล ทะยานได้สูงขึ้น

เยอรมัน เคยคว้าแชมป์ยุโรปรุ่นเล็กได้ในปี 2009 โดยเอาชนะอังกฤษ 4-0 โดยมีนักเตะดาวรุ่งที่ก้าวมาเป็นสตาร์ระดับโลกหลายคน เช่น เมซุต โอซิล หรือซามี่ เคดิร่า

อีก 5 ปีถัดมาพวกเขาเป็นแชมป์โลก

อิตาลี เคยคว้าแชมป์รายการนี้ได้เช่นกันในปี 2004 และอีก 2 ปีถัดมา นักเตะ 5 คนจากทีมชุดดังกล่าวพา "อัซซูรี่" คว้าแชมป์โลก 2006

สเปน เป็นจ้าวลูกหนังเยาวชนมาหลายปี ซึ่งในปี 2011 พวกเขาคว้าแชมป์ได้โดยมี ฆวน มาตา และฆาบี มาร์ติเนซ เป็นแกนนำ ซึ่งทั้ง 2 อยู่ในทีมชุดที่ “ลา โรฮา” ป้องกันแชมป์ยุโรปในยูโร 2012 ที่โปแลนด์และยูเครน

นี่เป็นเหตุผลที่ผมเองก็อยากเห็นอังกฤษ ให้ความสำคัญกับฟุตบอลรายการนี้อย่างจริงจัง เปิดโอกาสให้ดาวรุ่งที่เก่งที่สุดของพวกเขาได้ไประเบิดฝีเท้าให้สนั่นสักรอบ

มันอาจจะไม่สะดวกสบายนัก ในด้านของความรู้สึก แต่ไม่มีความสำเร็จใดที่เกิดขึ้นได้โดยไม่ลงทุน

ส่วนจะเป็นแชมป์หรือไม่ - ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะเมื่อกลับมา นักฟุตบอลเหล่านี้จะโตขึ้นเป็นคนละคนแน่นอน

ลูกแม่กิ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook