สกู๊ป :10 สิ่งที่ได้เห็นจากยูโร 2016 (ถึงตอนนี้)

สกู๊ป :10 สิ่งที่ได้เห็นจากยูโร 2016 (ถึงตอนนี้)

สกู๊ป :10 สิ่งที่ได้เห็นจากยูโร 2016 (ถึงตอนนี้)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านจาก Match day 1 กันไปแล้วและกำลังเข้าสู่ Match day 2 ด้วยความเร็วที่สูงราวกับรถไฟ “เตเชเว” สำหรับการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 ซึ่งมีหลายสิ่งที่เราทุกคนได้เห็นจากนัดแรกจนถึงวันนี้

เรามาลองดูกันครับว่าสิ่งนั้นตรงกับใจของใครหรือไม่

 

1. การเพิ่มจำนวนทีมได้ผล

จากกระแสที่โดนโจมตีเยอะมากในช่วงก่อนหน้าถึงเรื่องของการขยายทีมจาก 16 เป็น 24 ทีมที่ว่ากันว่าจะทำให้การแข่งขันฟุตบอลยูโรลด “มนต์ขลัง” ลงไปแต่ดูเหมือนว่าจากที่ได้เห็นแล้วการขยายทัวร์นาเมนต์นั้นกลายเป็นความสำเร็จที่งดงาม

ชาติน้องใหม่ที่ไม่เคยสังฆกรรมกับใครที่ไหนมาก่อนอย่าง แอลเบเนีย, ไอซ์แลนด์, เวลส์, ฮังการี และสโลวะเกีย ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ (แม้แอลเบเนีย จะแพ้มา 2 นัดแต่ก็ชนะใจคนดู)

หากเรื่องของ “โอกาส” เป็นสิ่งสำคัญ การขยายทัวร์นาเมนต์ก็เป็นการทำให้ทีมระดับนี้มีโอกาสมากขึ้น และทำให้บรรยากาศของการแข่งขันนั้นเข้มข้นยิ่งขึ้น ผลดีคือแฟนบอลก็ได้ดูฟุตบอลที่สนุกขึ้นด้วยเช่นกัน

2. การแข่งขันที่สูสี

จากข้อ 1 สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าการขยายทีมแล้วได้ผลส่วนสำคัญเป็นเพราะมาตรฐานของเกมฟุตบอลในยูโร 2016 นั้นถือว่าดีมาก ไม่มีเกมที่ชนะขาดด้วยสกอร์ถล่มทลาย หรือเกมที่สะท้อนถึงมาตรฐานการเล่นที่ย่ำแย่มากมายนัก

(มีเพียงเกมระหว่าง ออสเตรีย และฮังการี ที่หลายคนบ่น) และนั่นทำให้พอจะคาดเดาได้ว่าจากรอบแรกไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศนั้นจะไม่มีรายการ “ข้ามาคนเดียว” เหมือนที่ สเปน คว้าแชมป์ได้ในปี 2008 ด้วยฟอร์มเทพเหนือคนอื่นทีมเดียวอย่างแน่นอน

3. ดับในสโมสร เกิดในทีมชาติ

ในขณะที่เหล่าซูเปอร์สตาร์พันล้านยังทำผลงานได้ดีบ้างไม่ดีบ้าง แต่ยังมีนักเตะอีกกลุ่มนึงที่ผลงานไม่ดีนักกับสโมสรแต่กลับเล่นได้ยอดเยี่ยมมากในนามทีมชาติ อย่างเช่น ลาสโล ไคลน์ไฮส์เลอร์ กับฮังการี ที่เล่นให้กับ แวร์เดอร์ เบรเมน

แค่ 6 นัดในฤดูกาลที่ผ่านมา หรือ จอนนี่ วิลเลียมส์ ที่เล่นให้กับทีมระดับ แชมเปี้ยนชิพ อย่าง น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ และเอ็มเค ดอนส์ 15 นัดในฤดูกาลที่แล้วแต่กลับเล่นให้ทีมชาติได้ดีมาก

บางทีความแตกต่างคงอยู่ที่เรื่องของแรงจูงใจในการเล่น และความไว้วางใจของโค้ชที่มีต่อนักเตะนั่นเอง

4. ผู้ตัดสินทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยม

เกมฟุตบอลที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเล่นของนักเตะ 22 คนในสนามและการแก้เกมของ 2 โค้ชข้างสนามเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินที่มีส่วนควบคุมให้เกมเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

ซึ่งต้องยอมรับว่าการแข่งขันฟุตบอลยูโรครั้งนี้ผู้ตัดสินทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมมาก ยิ่งถ้าเอาไปเทียบกับ โคอา อเมริกา เซนเตนาริโอ

5. ผลผลิต PL

น่าเหลือเชื่อว่านักเตะหลายๆคนที่เล่นได้ดีในทัวร์นาเมนต์ยูโรครั้งนี้ เป็นนักเตะที่เคยเป็นดาวรุ่งแต่แจ้งเกิดไม่ได้มาก่อน เช่น โซลตัน สตีเบอร์ (แอสตัน วิลล่า), คริสเตียน เนเม็ธ (ลิเวอร์พูล) กับ ทามาส เคดาร์ (นิวคาสเซิล), จอห์น กุยเด็ตติ กับ วลาดิเมียร์ ไวส์ (แมนฯ ซิตี้)

6. กองหน้าที่ไม่ต้องทำประตู

เทรนด์ False9 ทำให้เกิดเทรนด์ต่อมาในการแข่งขันยูโรครั้งนี้ นั่นคือ Non-scoring centre-forwards คือกองหน้าที่ไม่จำเป็นต้องทำประตูก็ได้ หน้าที่หลักของกองหน้าพวกนี้ คือ “ค้ำ” ในแดนหน้าทำให้กลไกลในเกมรุกขับเคลื่อนได้

สร้างโอกาสเป็นหลัก แต่ถ้ามีจังหวะทำได้เองก็ถือเป็นโบนัสไป ตัวอย่างเช่น อดัม ซาไล ของฮังการี และ ฮัล ร็อบสัน-คานู ของเวลส์

7. The Italian Job

ทัวร์นาเมนต์ไหนที่อิตาลีคล้ายจะมาดี พวกเขาจะเหลวเป๋วทุกครั้ง แต่หากทัวร์นาเมนต์ไหนมาแบบเน่าๆปีนั้นจะเล่นดี ปีนี้เป็นปีที่ดีของ “อัซซูรี่” ที่แสดงให้เห็นในเกมกับเบลเยี่ยม ที่กำลังกลายเป็น

“บทเรียน” ของโค้ชทั่วโลกว่าการเล่นฟุตบอลระดับสุดยอดของโลกนั้นเป็นอย่างไร และสิ่งที่เราได้เห็นจากอิตาลีในยูโรครั้งนี้ แฟนบอลอังกฤษจะได้เห็นกันต่อในทีมเชลซี

8. Football Fever?

ในความรู้สึกของผู้คนแล้วยูโรที่ฝรั่งเศสน่าจะเป็นยูโรที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งเพราะพวกเขาเองเป็นชาติต้นกำเนิดของรายการนี้ แต่เอาเข้าจริงบรรยากาศของฟุตบอลในเมืองน้ำหอมนั้นไม่ได้คึกคักอย่างที่ควรจะเป็น

บรรยากาศจะคึกคักมากในวันที่ “เลส์ เบลอส์” ลงสนาม แต่ถ้าไม่ใช่ก็ต้องหวังพึ่งแฟนบอลชาติอื่นๆที่ลงสนามในวันนั้นเอง ซึ่งมันก็ไม่มากพอที่จะสร้างบรรยากาศมหัศจรรย์อะไรมากมาย

9. ขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญ

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ดีอย่างนึงคือไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นนักกีฬาที่มีรูปร่างสูงใหญ่ก็สามารถเอาดีได้ นักเตะอย่าง จอนนี่ วิลเลียมส์, อันเดรส อิเนียสต้า ฯลฯ พิสูจน์ให้เห็นว่ารูปร่างไม่สำคัญเสมอไป

10. อายุเป็นเพียงตัวเลข

จากข้อ 9 นอกเหนือจากเรื่องของขนาดแล้ว เรื่องของอายุก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับยูโรครั้งนี้ กาบอร์ คิราลี่ ยังสวมกางเกงวอร์ม (ที่ไม่ยอมเปลี่ยนเพราะเป็นความเชื่อส่วนตัว)

ลงเฝ้าเสาในวัย 40 ปี ขณะที่ โซลตัน เกรา ในวัย 37 ปียังบงการเกมแดนกลางได้อยู่เลย ขณะที่โปแลนด์ก็มี บาร์ตอส คาปุสต์ก้า สตาร์วัย 19 ปีที่คาดว่าหลังจบรายการนี้คงได้ย้ายมาเล่นทีมใดทีมหนึ่งในอังกฤษ

by ลูกแม่กิ่ง (lookmaeking@hotmail.com)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook