“ดีที่สุด” แต่ไม่ใช่ “แชมป์”

“ดีที่สุด” แต่ไม่ใช่ “แชมป์”

“ดีที่สุด” แต่ไม่ใช่ “แชมป์”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผมไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่า ได้เห็น “ฟอร์ม” การเล่นพร้อมๆ กับการ “ครอบครอง” เกมในสนามเหมือนแมตช์ เยอรมัน สอนบอลสโลวาเกีย 3-0 ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

อาจจะต้องนึกย้อนไปที่ “ยูโร 2008” เลยกระมังครับ ในยุคที่ สเปน แชมป์ “ยูโร” 2 สมัยล่าสุดกำลังพีคสุดขีดก่อนจะได้แชมป์โลก 2010 และป้องกันแชมป์ “ยูโร 2012” ได้อีกครั้ง

จากนั้นก็อาจจะมีบ้างประปราย แต่ลึก ๆ แล้วคงต้อง “ยอมรับ” ความจริงกันนะครับว่า ฟุตบอลระดับชาติสมัยใหม่เป็นเรื่องของ “แท็คติกส์”

เรียกว่า เล่นอย่างไรไม่ให้แพ้ และหาหนทางชนะตาม “หน้าตัก” ที่ตัวเองมีอยู่

เขียนถึงตรงนี้ “แท็คติกส์” ที่ว่านี้ก็คงหนีไม่พ้นการเน้นรับแล้วโต้กลับ เพราะง่ายที่สุด เหมาะกับทีมที่มีทรัพยากรบุคคลไม่มาก หรืออาจมี “ซูเปอร์สตาร์” คนเดียว ตามด้วยขุนศึกคู่ใจสัก 1-2 คน และกองทหาร

รวมเข้ากับเวลาเตรียมทีมที่น้อยกว่า “ระดับสโมสร” เราจึงได้เห็นชาติส่วนใหญ่ในฟุตบอลยูโรหนนี้นำ “แนวทาง” การเล่นนี้มาใช้ และก็ถือว่า ประสบความเสียด้วยในรอบแรก ๆ

ก่อนที่รอบ 2 หรือ 16 ทีมสุดท้ายเป็นต้นมา ทีมใหญ่น่าจะเริ่ม “แผลงฤทธิ์” ได้มากขึ้น และลงตัวมากขึ้นด้วยขุมกำลังที่มากกว่า และหลากหลายการใช้งานกว่า

สโลวาเกีย แม้จะยันอังกฤษได้อยู่หมัด 0-0 ในรอบแรกภายใต้ขุนศึกหมายเลข 1 มาเร็ค ฮัมซิก ตามด้วยนายทัพคู่ใจอย่าง วลาดิเมียร์ ไวส์ และกองหลังกัปตันทีม มาร์ติน สเคอร์เทล

ต้องเจอ “มิสชั่น อิมพอสซิเบิ้ล”กับแชมป์โลก 2014 โดยที่ไม่สามารถ “ต่อกร” อะไรได้เลย

ภาษากีฬา คือ “Outclass” หรือ “สอนเชิง” ที่หากเป็นมวยกรรมการก็คงยุติการชกก่อนครบยก เพราะไม่มีความจำเป็นต้องต่อยจนครบให้ต้อง “บอบช้ำ” กันมากกว่านี้

ครับ เยอรมัน “Dominate” หรือครอบครองสถานการณ์ และควบคุมทุกอย่างไว้ใต้อุ้งเท้า และปีก “อินทรีเหล็ก” เฉพาะอย่างยิ่งในแง่การครองบอล ผ่านบอล ที่นำไปถึงการสร้างสรรค์โอกาสได้ด้วย

ทุกอย่าง “เนียนกริบ” และเดินทางมาถึงจุดพีคครั้งหนึ่งในนัดนี้

เยอรมันทำได้อย่างไร?

จุดนี้น่าสนใจครับ เพราะโยอาคิม เลิฟ แม้จะเล่นระบบ 4-2-3-1 ที่มี แซมี เคห์ดิร่า และโทนี่ โครส เป็น 2 ตัวกลาง กับได้ จูเลียน แดร็กซ์เลอร์, โธมัส มุลเลอร์ และเมซุส โอซิล สนับสนุน มาริโอ โกเมซ

ปิดท้ายด้วยเกมรับ โยนาส เฮคเตอร์, แมตส์ ฮุมเมิ่ลส์, เจอโรม บัวเต็ง และโจชัว คิมมิช ทว่าทั้งเฮคเตอร์ และคิมมิช ต่างเติมสูงตลอดเสมือนเป็นปีกกว่าแบ็ค และฮุมเมิ่ลส์ กับบัวเต็ง ดันถึงกึ่งกลางสนามตอนเครื่องจักรทำงานเต็มที่

นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่เยอรมัน “โดดเด่น” และแตกต่าง คือ การเล่น Group Tactic ทั่วพื้นที่ฝ่ายตรงข้ามเฉพาะอย่างยิ่งในโซนทำประตู (Attacking Third) หน้าปากประตูสโลวาเกีย

ตัวผู้เล่นจะมากกว่า, นักเตะจะเคลื่อนที่เข้าหา หรือหาช่องรับบอลตลอดเวลาพร้อม ๆ กัน จนนักเตะสโลวักไม่สามารถ “ประกบ” หรือเข้าถึงได้

ครั้นพอเสียประตูก็จะบีบพื้นที่ “เพรสซิ่ง” สูงบริเวณที่เสียบอลทันที ไม่นับการ “แย่งบอล”, สไลด์บอล ที่แม่นยำ แบบนี้สโลวาเกียก็เล่นยากครับ และไม่สามารถพาบอลออกมาจาก “เพรสซิ่งโซน” ที่ถูกกำหนดโดยพร้อมเพรียงกันโดยผู้เล่นเยอรมันได้

จริง ๆ ยังมี “รายละเอียด” เล็ก ๆ น้อย ๆ อีกมาก เช่น การเพรสซิ่ง และกำหนดทิศทางลูกบอลคู่แข่งตั้งแต่แดนหน้าโดยโกเมซ หันร่างกายบังคับตามผสมโรงด้วยเพื่อนๆ แบบรู้ใจ

ครั้นพอระบบ “ลงล็อก” นักเตะเองก็เริ่ม “ปลดล็อก” ทำผลงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เฉพาะอย่างยิ่งครั้งนี้ที่ “สตาร์เด่น” ดวงใหม่ จูเลียน แดร็กซ์เลอร์ แจ้งเกิดทางริมเส้นฝั่งเส้นฝ่ายด้วยวัยเพียง 22 ปี

เอาเป็นว่า อย่างน้อย ๆ “ชาวโลก” ได้เห็นผลงานชนะที่ดีที่สุดนัดหนึ่งใน “ยูโร 2016” กันแล้วจากทีมเต็งที่ยังไม่เสียประตูให้ใครใน 4 นัดของตัวเอง

อย่างไรก็ดี หลังอาร์เจนติน่า “พีค” ในโคปา อเมริกา ที่ยิง 5 ยิง 4 หรือยิง 3 ประตูต่อนัดเป็นว่าเล่นทว่ากลับทำอะไร ชิลี ไม่ได้ก่อนแพ้ดวลโทษในนัดชิงชนะเลิศ

อันเป็นที่มาของการประกาศ “แขวนสตั๊ด” เล่นให้ชาติฟ้าขาวของ ลิโอเนล เมสซี่

อะไรจึงเกิดขึ้นได้ในเกมฟุตบอล เฉพาะอย่างยิ่งบอลทัวร์นาเมนท์แบบนี้ที่เยอรมันยังต้องชนะอีก 3 นัดเพื่อจะเป็นแชมป์

ทว่า เลิฟ ได้เน้นแล้วว่า ลูกทีมต้องเล่นให้ดีกว่านี้ ใช้โอกาสให้เปลืองน้อยกว่านี้หากจะก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ยุโรป

นั่นเป็น “ทัศนคติ” ที่ดีครับ และผมเชื่อว่า เยอรมันด้วยปรัชญาฟุตบอลแบบนี้จะได้เป็น “ส่วนร่วม” กับเกมที่ดีที่สุดในทัวร์นาเมนท์อีกแน่ ๆ แต่จะอีกกี่นัด?

และจะมีส่วนร่วมจนนัดถึงนัดชิงชนะเลิศแล้ว “ลงเอย” แบบอาร์เจนติน่า หรือไม่? ยังไงต้องติดตามต่อไปครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook