วัฏจักรโค้ชฟุตบอลเมืองไทย

วัฏจักรโค้ชฟุตบอลเมืองไทย

วัฏจักรโค้ชฟุตบอลเมืองไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่ทราบกันดีว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีเรื่องเศร้าช็อกวงการฟุตบอลในเมืองไทยถึงสองเรื่องด้วยกันก็คือ การจากไปแบบไม่มีวันกลับของสองยอดกุนซือ "น้าเหม่ง" ประพล พงษ์พานิช กับ "โค้ชก๊อก" พงษ์พันธ์ วงษ์สุวรรณ

ทำให้อยากเขียนถึงอาชีพโค้ชฟุตบอลที่เป็นอาชีพในฝันของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะพวกที่ชอบเล่น หรือชอบกีฬาฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ

แต่ถ้าพูดอาชีพโค้ชฟุตบอลจริงๆ ถือว่าเป็นอีกอาชีพที่ต้องแบกรับความเครียดและความรับผิดชอบไว้สูงพอๆ กับอาชีพพวกนักบิน นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักธุรกิจ เพราะอาชีพการเป็นโค้ชฟุตบอลต้องใช้ศาสตร์ และศิลป์ ในการทำงานรวมทั้งต้องเป็นคนมีจิตวิทยาพอสมควรในการบริหารคนก็คือ นักเตะภายในทีมที่จะลงสนามเล่นเพื่อสโมสร กับโค้ชของทีมที่เป็นเจ้านาย

ในต่างประเทศโค้ชฟุตบอลในลีกใหญ่ๆ มักจะได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนรายอาทิตย์ที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียวจากความยากของงาน ซึ่งการเป็นโค้ชฟุตบอลอาจจะเข้ามาเป็นได้ไม่ยากในบางครั้ง

แต่การเป็นโค้ชฟุตบอลที่เก่ง และประสบความสำเร็จต้องบอกคำเดียวว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวเนื่องด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่นคุณภาพของนักเตะที่มีอยู่ในมือถ้าไม่เก่งก็อาจจะลดศักยภาพของทีม หรือจังหวะไม่ดีนักเตะตัวหลักพากันบาดเจ็บก็ขาดพวกตัวประคองทีมไว้

จุดนี้โค้ชฟุตบอลเป็นได้แค่คนวางแผน แต่อีกส่วนหนึ่งอยู่ที่นักเตะว่าจะเล่นตามแผนที่เราวางไว้หรือเปล่า

สำหรับการเป็นโค้ชฟุตบอลในเมืองไทยส่วนใหญ่สูตรสำเร็จมักจะเป็นอดีตนักฟุตบอลลีก หรือทีมชาติที่เลิกเล่นและมาจับอาชีพนี้ต่อแทบไม่มีใครที่ไม่เคยเล่นฟุตบอลและมาเป็นโค้ชเลยด้วยเหตุผลที่ว่าบุคคลเหล่านี้เคยอยู่และสัมผัสกับแวดวงฟุตบอลมานาน

จึงน่าจะมีความรู้ความสามารถมากกว่าคนที่ไม่เคยประสบความเร็จในการเป็นนักฟุตบอลจริงๆ จุดนี้ผมมองว่าก็มีส่วนถูกเหมือนกัน แต่ถ้าดูตัวอย่างโค้ชบางคนไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นนักฟุตบอลก็ประสบความสำเร็จได้ เช่น โจเซ่ มูรินโญ่ หรือ อังเดร วิลลาส โบอาส สองตัวอย่างใกล้ตัว

พออดีตนักเตะเหล่านี้มาทำฟุตบอลในเมืองไทยก็มีทั้งประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวไปเป็นเรื่องธรรมดา แถมการทำฟุตบอลในเมืองไทยเป็นอีกโจทย์ที่ยากที่ต้องเก่งจริง มีความรู้ความสามารถจริงๆ เข้ามาทำ

เพราะถ้าเป็นของปลอมทำเหมือนแล้วเชื่อว่าแฟนฟุตบอลในเมืองไทยก็คงรู้เอง ซึ่งดูไม่ยากหรอกครับ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาชีพโค้ชฟุตบอลในประเทศนี้ค่อนข้างน่าสงสารแม้ว่าช่วงหลังเงินเดือนจะมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนหลายเท่า

เนื่องจากที่ผ่านมาเงินเดือนหรือรางวัลที่ได้รับไม่มีโค้ชคนไหนจะมีฐานะการเงินที่อยู่ในระดับร่ำรวยเลย

โค้ชฟุตบอลในเมืองไทยส่วนใหญ่อยู่กับฟุตบอลมาทั้งชีวิตตั้งแต่สมัยเป็นนักเตะเยาวชน ซึ่งก็ต้องเลือกว่าจะอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก หรือเรียนต่อไปให้สูงๆ และเชื่อหลายคนก็ต้องเลือกในสิ่งที่ตัวเองรักอยู่แล้ว

ทำให้ขาดโอกาสในการศึกษาวิชาความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพอื่นในเชิงลึกซึ้งได้ ดังนั้นพอนักเตะเหล่านี้เลิกเล่น อาชีพที่ไปต่อได้จริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าการเป็นโค้ชฟุตบอลคือ คำตอบเดียวเท่านั้น

พอมาทำทีมฟุตบอลก็อยู่กับความไม่แน่นอนจากการที่โค้ชฟุตบอลเป็นอาชีพที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาแค่ทำงานพลาด หรือล้มเหลวเพียงครั้งเดียว จากความสำเร็จที่เคยทำมามีมากกว่า

แต่บางคนก็ต้องหางานสโมสรใหม่ทำงานยิ่งในเมืองไทยด้วยแล้วก็คงไม่ต้องบอกกล่าวสาธยายอะไรทั้งนั้น เนื่องจากทุกคนก็คงพอเดาออกว่าเป็นยังไง

สุดท้ายพออายุเริ่มมากขึ้นหลายคนก็ต้องหยุดพักเกษียณตัวเองจากการเป็นโค้ชฟุตบอล ซึ่งไม่ต้องคิดถึงเงินบำนาญเหมือนข้าราชการ หรือเงินออมที่มีเหมือนนักธุรกิจ พนักงานบริษัทบางคน เพราะมีน้อยอยู่แล้วยิ่งถ้าย้อนกลับไปดูโค้ชฟุตบอลยุคเก่า

ถ้าไม่นับพวกที่ไปทำธุรกิจอย่างอื่นประสบความสำเร็จก็ไม่มีใครได้อยู่อย่างสุขสบายแน่นอน ดังนั้นต้องยอมรับว่า วัฏจักรของคนที่เป็นโค้ชฟุตบอล หรือครูลูกหนังเมืองไทย

น่าสงสารจริงๆ นะครับ


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook