รากฐานจากลัทธิขงจื้อ! ไขรหัสเหตุฟุตบอลเวียดนามเปลี่ยนไปในยุคระบอบ "พัค ฮัง ซอ"

รากฐานจากลัทธิขงจื้อ! ไขรหัสเหตุฟุตบอลเวียดนามเปลี่ยนไปในยุคระบอบ "พัค ฮัง ซอ"

รากฐานจากลัทธิขงจื้อ! ไขรหัสเหตุฟุตบอลเวียดนามเปลี่ยนไปในยุคระบอบ "พัค ฮัง ซอ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี ต้องยอมรับว่า ทีมชาติเวียดนาม พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด โดยมีจุดเปลี่ยนสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าผู้ฝึกสอน

ตุลาคม 2017 สหพันธ์ฟุตบอลเวียดนาม (VFF) ประกาศแต่งตั้ง พัค ฮัง ซอ  ชายวัย 58 ปี จาก ชางวอน ซิตี้ ทีมในลีกระดับ 3 ของประเทศเกาหลีใต้ เข้ามาทำหน้าที่เป็น เฮดโค้ชคนใหม่ 

ณ ตอนนั้นคงไม่มีใครคิดว่า กุนซือวัยใกล้เกษียณที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการคุมทีมต่างแดนผู้นี้ จะเปลี่ยนแปลงโฉมวงการลูกหนังเวียดนามได้มากอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ 

เพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทีมชาติเวียดนาม ยังไม่เคยใช้บริการเฮดโค้ชจากแดนโสมขาว จึงไม่อาจคาดเดาได้ว่า “ทัพดาวทอง” ในยุคแม่ทัพฮัง ซอ จะไปได้ไกลแค่ไหน 

แต่ผลงานจากการคุมทีมชาติเวียดนาม รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี และทีมชาติชุดใหญ่ ในช่วง 23 เดือนที่ผ่านมา ก็คงมากพอที่จะทำให้เราได้เห็นแล้วว่า “ฟุตบอลเวียดนาม” เติบโตและแกร่งกล้ามากเพียงใด ใต้การปกครองของพัค ฮัง ซอ 

โค้ชเก่งๆ อาจหาได้ไม่ยาก แต่การจะหาผู้ฝึกสอนที่มีเคมีตรงกันกับทีมฟุตบอลนั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่า 

ดังนั้นการที่ พัค ฮัง ซอ สามารถไปได้ดีกับ ทีมชาติเวียดนาม ย่อมมีเหตุผลที่มากกว่าแค่ด้านฟุตบอล แต่ยังรวมถึงปัจจัยด้านวัฒนธรรม และสังคมที่ทั้งสองชนชาติมีความใกล้เคียงกัน จนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับชาติคู่แข่งหมายเลข 1 ของทัพช้างศึก

แนวคิดทางสังคมที่คล้ายกัน

นอกจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ เกาหลีใต้ เป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่สุดอันดับ 3 ของประเทศเวียดนาม ในแง่ของประวัติศาสตร์ทั้งสองชาติก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองกันมายาวนานกว่า 8 ทศวรรษ รวมถึงผู้คนในชาติ มีคตินิยมที่ไม่แตกต่างกันนัก แม้ไม่ได้มีพรมแดนติดกัน 


Photo : e.vnexpress.net

เนื่องจาก สาธารณรัฐเกาหลีใต้  (Republic of Korea) และ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Socialist Republic of Vietnam)  ต่างเคยผ่านช่วงเวลาของสงครามยาวนานหลายสิบปี, การแบ่งแยกประเทศออกเป็น 2 ส่วน (เหนือ-ใต้) ไปจนถึงการต้องต่อสู้กับชาติมหาอำนาจ ในห้วงเวลาที่ชาติของพวกเขา ยังเป็นเพียงประเทศด้อยพัฒนา 

สิ่งเหล่านั้นทำให้ คตินิยมของคนทั้งสองชาติ มีลักษณะที่คล้ายคลึง ภายใต้คำสอนและแนวคิดที่ปลูกฝังไปยังประชาชน โดยสองอดีตผู้นำประเทศอย่าง โฮ จิ มินห์ (Hồ Chí Minh) ของเวียดนาม และ พัค จุง ฮี (Park Chung-hee) ของเกาหลีใต้ ที่ปกครองประเทศในระบอบสังคมนิยม 

โฮ จิ มินห์ (ปกครองช่วงปี 1945 - 1969) ถือเป็นผู้นำที่ชาวเวียดนามให้ความรัก ความเคารพอย่างมาก เขาเป็นต้นแบบของความรักชาติ ความเสียสละ ความขยันอดทน โดยมีหลักคำสอน 5 ข้อของ “ลุงโฮ” ที่คนเวียดนามท่องจำขึ้นใจ ได้แก่ 1.รักประเทศชาติ รักประชาชน 2.เรียนเก่ง ทำงานเก่ง 3.รักษาอนามัยดี 4.วินัย 5. ซื่อสัตย์ กล้าหาญ 

ความเสียสละ ความกล้าหาญของ บรรพบุรุษเวียดนาม ทำให้ประเทศชาติ ผ่านพ้นวิกฤติสงครามเวียดนาม, ความขัดแย้งภายในประเทศ และกลับมารวมชาติเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง 

ขณะที่ พัค จุง ฮี อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ (ปกครองช่วงปี 1961-1979) เป็นผู้นำที่พาประเทศก้าวพ้นปัญหาความยากจน เข้าสู่ชาติอุตสาหกรรมระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว ด้วยการส่งเสริมจูงใจให้ผู้คนในชาติทำงานหนักและรวดเร็ว เชื่อมั่นในชาติ มองการณ์ไกล และตัดสินใจให้เฉียบขาด ภายใต้จริยธรรมการทำงานที่เรียกว่า “จิตวิญญาณเราทำได้ (Can-do Spirit)” 

จิตวิญญาณในการทำงานหนักของคนเกาหลีใต้ ทุกชนชั้น ทำให้ชนชาติแดนโสมขาว ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในระยะเวลาอันสั้น จึงทำให้ คนเกาหลีใต้ มีความเชื่อว่า “ไม่ว่างานจะยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด หากคนเกาหลีใต้ทำแล้ว จะได้รับความสำเร็จเสมอ”


Photo : football-tribe.com

ซึ่งในช่วงที่ พัค ฮัง ซอ เติบโตจากเด็กสู่วัยหนุ่ม ก็เป็นช่วงที่สังคมเกาหลีใต้ กำลังอยู่ในยุคสมัยที่ผู้คนในชาติต่างขยันขันแข็งทำงานหนัก เพื่อขยับพาตัวเองไปสู่ชนชั้นฐานะที่สูงกว่าเดิม 

“วัฒนธรรมเกาหลีในอดีต เน้นเรื่องการยอมรับยึดถือโชคชะตาฟ้าลิขิต (Fatalism) จนต่อมาแนวคิดนี้ถูกเปลี่ยนมาเป็นความคิดเชิงรุก ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1960 ที่ประชาชนเริ่มตระหนักว่า ความร่วมมือร่วมใจกันทำงานหนัก จะสามารถนำพาไปสู่ความสำเร็จได้”

“จนเมื่อผลลัพธ์เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์ ทำให้ผู้คนในสังคมต่างดีอกดีใจและแปลกใจในอำนาจของตน และผลสัมฤทธิ์ที่ได้รับ อีกทั้งในช่วงทศวรรษที่ 1970 การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนที่มีมาช้านานตั้งแต่อดีตได้ ยิ่งทำให้ คนเกาหลี ต่างมีความเชื่อมั่น ภาคภูมิใจ มีความหวังและความฝันมากขึ้น และยึดมั่นในคำขวัญที่ว่า การทำงานหนักจะก่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นข้อเตือนใจและแบบแผนในการดำเนินชีวิต” ศาสตราจารย์โช นัมกุ๊ก นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอีวา อธิบายถึงความเชื่อในด้านการทำงานที่เปลี่ยนไปของคนเกาหลีใต้


Photo : baomoi.com

ไม่แปลกที่ จิตวิญญาณนี้จะถูกถ่ายทอดลงมาในสังคมกีฬาด้วย ตามคำยืนยันของ  “ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน” อดีตนักฟุตบอลระดับตำนานทีมชาติไทย ที่เคยค้าแข้งอยู่ที่เกาหลีใต้ และเป็นอดีตรูมเมทของ พัค ฮัง ซอ

“ไม่แปลกใจเลยที่เวียดนามมาได้ไกลขนาดนี้ เมื่อพวกเขาได้ พัค มาร่วมงาน พัคเป็นคนเจ้าระเบียบ เป็นกุนซือที่มีความเนี้ยบและเฮี้ยบมาก ผมรู้ในสิ่งที่นักเตะเวียดนามจะต้องเจอเมื่อต้องร่วมงานกับเขา หากรับในสิ่งที่พัคเป็นได้ เวียดนามจะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว”

"สมัยที่ผมไปอยู่เกาหลีใต้ ผมมักจะได้นอนห้องเดียวกับเขา ในเวลาที่เดินทางไปแข่งต่างเมือง ภาพที่เห็นเป็นประจำก็คือ ทุกครั้งที่ตื่นนอน เขาจะพับผ้าห่มจนเนี๊ยบ เหมือนกับว่าไม่มีใครนอนเตียงนั้นมาก่อน หรือจะเป็นการวางรองเท้าหน้าห้องก็จัดแบบระเบียบเป๊ะ เรียกว่าทุกอย่างต้องอยู่ในระเบียบ” เดอะ ตุ๊ก กล่าว


Photo : en.nhandan.org.vn

โชคดีที่ นักฟุตบอลทีมชาติเวียดนาม มีความอดทนและเชื่อในตัวของเฮดโค้ชเจ้าระเบียบผู้นี้ แม้จะมาจากชนชาติที่ต่างจากตัวเอง แต่หากมองให้ลึกลงไปถึงอีกเหตุผลหนึ่งที่ แข้งดาวทอง สามารถปรับตัวเข้ากับ เฮดโค้ชชาวเกาหลีใต้ ได้เป็นอย่างดี น่าจะมาหลักจริยธรรมและคุณธรรม ที่ทั้งสองประเทศยึดถือคล้ายกัน นั่นคือ ลัทธิขงจื๊อ

คำสอนในลัทธิขงจื๊อ เน้นที่เรื่องความกตัญญู ความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ การขนขวายหาความรู้ ตลอดจนการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก, ผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา, พี่กับน้อง  

ทำให้คตินิยมของคนเกาหลีใต้ จึงเป็นคนที่ใฝ่รู้ รักการเล่าเรียน ขยันแข็งในการทำงาน มีความอดทนสูง เคารพลำดับอาวุโส ชอบการแข่งขัน แม้ลัทธิขงจื๊อในเวียดนาม อาจไม่เข้มข้นเท่ากับ เกาหลีใต้ ที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลาช้านาน

แต่หลังจาก เวียดนาม เปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสังคมนิยม ก็มีการสร้างกรอบความคิดใหม่ ที่ไม่มีการกำหนดว่า ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้คนมีอิสระที่จะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ เนื่องจากมองว่า การยกย่องศาสนาใดศาสนาหนึ่ง จะทำให้ชาติไม่เป็นเอกภาพ 

โดยผู้คนเวียดนามยุคต่อมา จึงหันมาเชื่อมั่นในคำสอนของ หลักความคิดของขงจื๊อมากขึ้น ควบคู่กับคำสอนของลุงโฮ แม้ประชากรส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติเคร่งครัด เหมือนในอดีตที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความเชื่อเป็นคตินิยมเหมือนคนไทยพุทธ 

ที่สำคัญ โฮ จิ มินห์ ให้ความสำคัญกับด้านการศึกษามากเหมือนกับ พัค จุง ฮี ทำให้คุณลักษณะของคนเวียดนามในยุคหลังสงคราม จึงเป็นไปในลักษณะที่เป็น คนที่รักชาติ, มีความอดทน, ความกตัญญู, เชื่อฟังคำสอนจากผู้ใหญ่, ขยันเล่าเรียน คล้ายกับคตินิยมของ คนเกาหลีใต้ 


Photo : baomoi.com

สิ่งนี้ได้ส่งผลให้ พัค ฮัง ซอ สามารถฝึกสอนอบรมหรือเข้มงวดกับนักฟุตบอลเวียดนาม ได้อย่างเต็มที่ และนักเตะเองก็เปิดรับที่จะเรียนรู้จากโค้ชคนใหม่ ที่มาจากประเทศที่พื้นฐานความคิดทางสังคม ไม่ได้แตกต่างกันนัก 

“ประเทศชาติจะสวยงาม ชนชาติเวียดนามจะก้าวหน้า เคียงบ่าเคียงไหล่กับ 5 ทวีป หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเรียนของลูกหลาน” นี่ คือ คำสอนจาก โฮ จิ มินห์

มองหาจุดแข็ง ปิดตายจุดอ่อน 

ด้วยความที่ เกาหลีใต้ เป็นชาติที่มีความสามารถด้านฟุตบอลนำหน้า เวียดนาม การตัดสินใจดึง พัค ฮัง ซอ มาทำหน้าที่ หัวหน้าผู้ฝึกสอนคนใหม่ จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเมื่อดูจากคตินิยมของคนจากสองประเทศแล้วก็น่าจะเป็น เคมีที่เข้ากัน


Photo : www.foxsportsasia.com

แต่ก็ใช่ว่าการดึงเอาโค้ชชาวเกาหลีคนไหนก็ได้มาทำทีมแล้วจะการันตีความสำเร็จ เหมือนอย่างที่ พัค ฮัง ซอ ทำ ดังนั้นพัฒนาการของ ทีมชาติเวียดนาม จึงมีเหตุผลด้านฟุตบอล บวกกับความสามารถในการทำทีมของ พัค ฮัง ซอ ด้วย

“มันเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่ทาง VFF เลือกผมเข้ามาทำหน้าที่นี้ เพราะผมไม่ได้มีข้อมูลหรือรู้จักเกี่ยวกับผู้เล่นทีมชาติเวียดนามมากนัก ผมรู้แค่ว่า เลือน ซวน เจือง เคยค้าแข้งอยู่ในเกาหลีใต้ และฟุตบอลเวียดนามกำลังเติบโตไปอย่างรวดเร็ว”

“ผมมองว่านี่คือความท้าทายและเป็นโอกาสสุดท้ายที่ผมจะได้เติมเต็มความฝันในอาชีพของผม ด้วยการออกไปคุมทีมในต่างประเทศ โชคดีทุกอย่างเป็นใจ"

"ผมคงไม่สามารถพูดได้ว่า ตัวเองได้เปลี่ยนแปลงฟุตบอลเวียดนาม ในระยะเวลาอันสั้น เพราะจากที่เห็น เวียดนาม เป็นทีมที่ดีอยู่แล้ว แต่สามารถดีกว่านี้ได้ หน้าที่ของผมจึงเป็นการมอบสิ่งที่ดีที่สุด และถ่ายทอดประสบการณ์ผมสั่งสมมานานหลายสิบปีให้พวกนักเตะได้เรียนรู้”

พัค ฮัง ซอ ไม่ได้เข้ามารื้อระบบและโครงสร้างของทีม แต่เขาเลือกที่มองหาจุดแข็งของทีมเป็นอันดับแรก และเขาก็พบว่า นักเตะเวียดนามมีจุดเด่น ในเรื่องพละกำลัง และเทคนิคการเล่นที่ไม่เป็นรองใคร ส่วนจุดด้อยที่เจ้าตัวมองเห็นชัดๆ คือ สรีระ โดยเฉพาะส่วนบนที่ยังไม่ค่อยแข็งแกร่งนัก จนเสียเปรียบจังหวะปะทะ ยามแข่งขันระดับนานาชาติ

กุนซือชาวเกาหลีใต้ เคารพในวัฒนธรรมของเวียดนาม และเขาก็ไม่ได้สั่งให้ลูกทีมต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตใดๆ 

วิธีการของเขา คือการให้นักฟุตบอลทีมชาติเวียดนาม ไปเพิ่มเติมในสิ่งที่ตัวเองยังขาด เช่น การเล่นบอดี้ เวท เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อช่วงบน, การกินนมและถั่วเหลืองเพิ่มเติมในทุกๆ วัน 

ทัวร์นาเมนต์แรกของ พัค ฮัง ซอ คือการนำทีมชาติเวียดนาม รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี มาทำแข่งขันศึกฟุตบอล M-150 Cup ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และอาจเหมือนเป็นจังหวะบังเอิญ เพราะในครั้งนั้น ทีมชาติเวียดนาม พักอยู่ในโรงแรมเดียวกับที่ผู้เขียนเข้าพักตลอดทัวร์นาเมนต์


Photo : nld.com.vn

สิ่งที่ผู้เขียนพบเจอในช่วง ทุกๆ เช้า คือ ภาพของ พัค ฮัง ซอ เดินอยู่หน้าแถว พร้อมกับสั่งลูกทีมให้ตื่นแต่เช้า เพื่อมาจัดแถวทำท่ากายบริหาร และวิ่งบริเวณหน้าลานจอดรถของโรงแรม ในตอนนั้น ผู้เขียน ยอมรับว่าไม่เข้าใจในเหตุผลของ พัค ฮัง ซอ มากนัก ว่าทำไมเขาถึงต้องทำอะไรแบบนี้ ราวกับนักฟุตบอลทีมชาติพวกนี้ เป็นนักเรียนที่กำลังเข้าค่ายลูกเสือ

แต่ผลงานในทัวร์นาเมนต์ที่เอาชนะไทย และคว้าอันดับ 2 ในการแข่งขันมาได้ ก็เริ่มทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนมุมมองต่อ พัค ฮัง ซอ เพราะเวียดนามนั้นดูมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นมาก เพรสซิ่งกันได้ดี จังหวะเกมรุกดูเด็ดขาดมาก เล่นอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เกรงกลัวแม้เจอทีมใหญ่ ส่วนเกมรับที่เคยเป็นปัญหาก็ถูกแก้ไขได้ดีขึ้น นักเตะทุกคนช่วยกันวิ่งขึ้นลง ทำให้รูปทรงของทีมดูขึ้นมาก

หากเทียบจากตอนที่ตกรอบแรก ฟุตบอลชายซีเกมส์ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านั้น “เวียดนาม” ในศึก U-23 ชิงแชมป์เอเชีย กลายเป็นทีมที่เปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยก็ว่าได้ 

“ผมไม่รู้ว่าทำไมผู้คนถึงมักคิดว่า รูปร่างที่เล็กคือจุดอ่อนของนักบอลเวียดนาม ทำไมพวกเขาไม่มองว่า ถึงแม้นักฟุตบอลพวกนี้จะเป็นคนตัวเล็ก แต่พวกเขาก็มีความเร็ว และปรับตัวเข้ากับแท็คติกของผมได้ดี ผมแก้จุดบกพร่องของพวกเขา โดยการปรับแผงมิดฟิลด์จากยืน 4 คนมาเหลือ 3 คน” ฮัง ซอ พูดถึงการปรับหมากแท็คติกที่อัดมิดฟิลด์ลงไป 3 คนตรงกลางสนาม แทนที่จะใช้กองกลาง 2 คน ปีก 2 คน เหมือนเคยเป็นมา

“ในฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี เราถูกจัดให้เป็นแค่ทีมเต็ง 14 จาก 16 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน เพราะพวกเขาประเมินทีมเราไว้เพียงน้อยนิด ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญกับทุกๆเกม เล่นตามแผนที่วางไว้ พยายามทำให้ดีที่สุดในทุกๆ นัด”

ทีมชาติเวียดนาม รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เมื่อลูกทีมของ พัค ฮัง ซอ หักปากเซียนผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ศึกชิงแชมป์เอเชีย 2018 ก่อนพ่ายให้กับ อุซเบกิสถาน ในนัดชิง จบทัวร์นาเมนต์ด้วยการคว้าอันดับ 2 พร้อมกับทำให้วงการลูกหนังเอเชียต่างจับตามองมาที่เวียดนาม 

หลังจากนั้น เวียดนาม ก็ต่อยอดความสำเร็จ ด้วยการผงาดคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018, ผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย เอเชียน คัพ 2019 และจบตำแหน่งรองแชมป์ คิงส์ คัพ 2019 (ไทยได้อันดับ 4)


Photo : aseansports.com

“บางคนอาจบอกว่า เวียดนาม โชคดี แต่สำหรับผม โชค อาจได้มาแค่ครั้งเดียวหรือสองครั้งเท่านั้น และมันคงไม่สามารถพาเรามาถึงจุดนี้ พวกเราจึงไม่ควรคิดเช่นนั้น ผลลัพธ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ขอบคุณสำหรับความพยายามของนักเตะเรา ที่ทำให้ภาพรวมของเวียดนามยกระดับขึ้นไปอีกขั้น อย่างไรก็ตาม เรายังต้องใช้เวลา เพื่อให้ทีมไปอยู่ในระดับที่สูง”

“เอเชีย จะมองเวียดนามด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป ฉะนั้นลูกทีมของผมจึงต้องพยายามทำงานให้หนักมากขึ้นมากว่าเดิม” ฮัง ซอ กล่าว

การปกครองระบอบ พัค ฮัง ซอ 

อย่างที่หลายคนรับรู้และเคยได้ยินกันว่า โค้ชชาวเกาหลี มักขึ้นชื่อในเรื่องการฝึกหนัก ฝึกโหด ใช้คำพูดรุนแรง ไปจนถึงขั้นลงไม้ลงมือ อย่างที่คุณพ่อของชนาธิป สรงกระสินธ์ เคยบอกว่า การที่เขาบังคับลูกชายให้ฝึกฟุตบอลอย่างหนักหน่วงในวัยเด็ก เป็นสิ่งที่จำมาจากการได้เห็น กุนซือชาวเกาหลี ตบเตะนักบอล 


Photo : www.tin247.com

ถึงแม้สิ่งที่เขาทำกับลูกชายในวันนั้น จะมีผลทำให้ ชนาธิป เก่งกาจอย่างทุกวันนี้ แต่คุณพ่อก้องภพ ก็ยอมรับว่า เขาคงไม่สามารถทำแบบนั้นกับลูกคนอื่นได้ เนื่องจากการฝึกโหดแบบนั้น ไม่ใช่ทุกครอบครัวในสังคมไทย จะยินดีให้ลูกหลานตัวเองมาเจอแบบนี้ 

การฝึกของ พัค ฮัง ซอ อาจได้ผลอย่างดีกับนักฟุตบอลเวียดนาม แต่คงไม่มีใครรับประกันว่า หากนำเอารูปแบบนี้ไปใช้กับชาติอื่นๆ ที่นักฟุตบอลไม่ได้เติบโตในพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม ความเชื่อที่คล้ายๆกัน ก็อาจไม่ได้ผลอย่างที่เกิดขึ้นกับเวียดนาม

“ในระหว่างการฝึกซ้อม ผมตะโกนด่าใส่พวกเขา และตั้งคำถามกับนักเตะมากมาย เพราะเมื่อถึงเวลาแข่งขัน พวกเขาต้องรู้ว่าตัวเองกำลังมีบทบาทอะไร กำลังเล่นอะไร ดังนั้นผมเรียกร้องให้พวกเขาสื่อสารด้วยกันให้มากๆ ในเกมฟุตบอล นักเตะต้องพยายามหาวิธีสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีมให้ได้มากที่สุด”

พัค ฮัง ซอ ไม่ปฏิเสธว่าเขาเป็นโค้ชจอมเฮี้ยบ ที่เรียกร้องให้นักฟุตบอล อยู่ภายใต้กรอบ กฎ กติกา ที่เขาวางไว้ คำดุด่าสารพัดถูกประเคนใส่สนามฝึกซ้อม หรือการเรียกร้องให้นักเตะพยายามแข่งขันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งตัวจริง ทำในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำ อาจเป็นสิ่งที่สร้างความอึดอัดแก่ผู้เล่นบ้าง 

แต่ผลลัพธ์ก็คือ เวียดนามภายใต้การกุมบังเหียนของเขา มีจิตวิญญาณของความไม่ยอมแพ้ และมักแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งที่อยู่ข้างในตัวตนนักเตะสายเลือดเวียดนาม ยามอยู่ในสนามแข่งขัน จนอาจกล่าวได้ว่า พัค ฮัง ซอ ดึงเอาศักยภาพที่ดีสุดของผู้เล่นออกมาได้อย่างหมดจด 


Photo : www.chinadailyhk.com

“เป็นธรรมดาที่ผมมีความรู้สึกคิดถึงบ้าน เมื่อต้องออกมาทำงานต่างแดนครั้งแรก แต่ทุกๆ เช้าที่ผมตื่นขึ้นมา และมองไปในดวงตาของนักเตะ มันทำให้ผมมีแรงกระตุ้น ผมไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว แต่ทีมงานผมทุกคนก็รู้สึกแบบนั้น” 

“ผมอยากพูดอีกครั้งว่าพวกเราไม่ได้ช่วยให้ผู้เล่นเวียดนามแข็งแกร่งขึ้น เพียงแต่พวกเขาไม่ใช่นักบอลที่อ่อนแอ  ดังนั้นหน้าที่ของผม คือ การเค้นศักยภาพที่ดีสุดออกมาจากตัวนักเตะ”

ถึงแม้ความสัมพันธ์ในสนามระหว่าง พัค ฮัง ซอ กับลูกทีม จะดูเป็นไปในลักษณะ ผู้บังคับบัญชา กับ ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่อีกด้านหนึ่งยามอยู่นอกสนาม พัค ฮัง ซอ มีนิสัยเหมือนผู้ชายในคตินิยมชาวเกาหลี ที่มีความเป็นผู้นำ โอบอ้อมอารี อัธยาศัยดี 

ฮัง ซอ ให้ความสำคัญกับผู้เล่นทุกคนที่เรียกมาไม่ใช่แค่เฉพาะตัวจริง เขาพยายามทำให้นักฟุตบอลทุกคนรู้สึกเหมือนกับเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกพร้อมเสียสละทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อทีมเสมอไป 

“ผมตะโกนดุด่าพวกเขาและเข้มงวดกับเขามากในช่วงการฝึกซ้อม แต่หลังจากนั้น ทุกคนคือทีมเดียวกัน พวกเขาคือผู้เล่นของผม ผมเลือกพวกเขามา ดังนั้นผมต้องรับผิดชอบต่อพวกเขาด้วย”

“นักเตะส่วนใหญ่อายุน้อยกว่าลูกชายของผม มันจึงเหมือนกับพ่อแม่ที่ต้องรับผิดชอบต่อลูกๆ  ผมมองพวกเขาด้วยสายตาที่เห็นว่า เขาเป็นลูกของผมจริงๆ ยกเว้นตอนฝึกซ้อมที่จะไม่มีช่องว่างระหว่างเรา พวกเขาต้องอยู่ในกฎที่ผมตั้งไว้ แต่หลังจากนั้นเราจะวางอีโก้ทุกอย่างทิ้งไว้เบื้องหลัง"

"นามสกุลของผมคือ พัค ผู้เล่นบางคนมักพูดติดตลกว่า พวกเขากำลังจะเปลี่ยนนามสกุลเป็น พัค”

“เล ฮุย เกา” อดีตล่ามแปลภาษาของเทรนเนอร์ชาวเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า แม้ ฮัง ซอ พยายามเรียกร้องให้ ผู้เล่นแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงโอกาสลงสนาม แต่ทุกครั้งที่เกมจบ พัค จะเดินเข้าไปจับมือกับผู้เล่นทุกคน รวมถึงผู้เล่นสำรอง เพื่อกล่าวคำขอโทษกับพวกเขา ที่ไม่ได้ให้โอกาสลงสนาม 

ความอ่อนโยนนอกสนามแข่งขัน ยิ่งทำให้ผู้เล่นทีมชาติเวียดนามรักเขา เช่นเดียวกับแฟนบอลชาวเวียดนาม ที่ชื่นชมในตัวเขามาก ในฐานะชาวต่างชาติให้ความเคารพในวัฒนธรรมท้องถิ่น และดูแลนักเตะลูกหลานสายเลือดเวียดนาม เหมือนดั่งลูกชาย 

และด้วยส่วนผสมทั้งหมดนี่เอง จึงทำให้วงการลูกหนังยุค พัค ฮัง ซอ ก้าวกระโดดไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน 


Photo : tintucvietnam.vn

“ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า ผู้คนในชาติมีความรักในฟุตบอลเวียดนามมากขนาดไหน ผมบอกไม่ได้เหมือนกันว่าพวกเขารักฟุตบอลหรือรักชาติ มันเปรียบเสมือนแรงกดดันและความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นผมต้องเตรียมทีมให้ดีที่สุด”

“ผมบอกนักเตะเสมอว่า เมื่อเขาสวมชุดทีมชาติ จะต้องมีความภาคภูมิใจ และใส่ความพยายามเพิ่มลงไปเป็นสองเท่า ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่สมควรที่จะมาใส่เครื่องแบบนี้ ผมย้ำเตือนเขาเสมอ ถึงแม้เขากลับไปเล่นให้สโมสร ผมก็จะติดตามดูพวกเขาเสมอ”

"เหนือสิ่งใด ผมอยากขอบคุณผู้เล่นของผมที่ช่วยสร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำในชีวิตผมขึ้นมา” ฮัง ซอ กล่าว 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook