คนดูมวยไทยมากขึ้น...แต่ทำไมผู้ชมในสนามลดลง ?

คนดูมวยไทยมากขึ้น...แต่ทำไมผู้ชมในสนามลดลง ?

คนดูมวยไทยมากขึ้น...แต่ทำไมผู้ชมในสนามลดลง ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่องทางการรับชมมวยไทยยุคนี้แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ว่าจะเปิดทีวีช่องไหน… แทบทุกช่องก็จะต้องมีถ่ายทอดสด “มวยไทย

ส่วนในต่างประเทศ มวยไทยกลายเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้รับการยอมรับ และมีชื่อเสียงในวงกว้าง จากอิทธิพลของสื่อ จนเกิดยิมสอนมวยไทยที่เปิดทำการทั่วโลก 

ชาวต่างชาติ ต่างเดินทางเข้ามาดูมวยไทย รวมถึงนักมวยไทยก็มีรายการไปชกต่างแดนอย่างสม่ำเสมอ สร้างรายได้อย่างเป็นกอบกำ 

ถึงแม้ว่าความนิยมต่อ กีฬามวยไทย จะพุ่งสูงขึ้นแค่ไหน แต่ปริมาณผู้ชมบนสังเวียนมาตรฐานอย่าง ราชดำเนิน และ ลุมพินี กลับลดลงอย่างน่าใจหาย 

โปรโมเตอร์ผู้จัดต่างประสบสภาวะขาดทุนในการจัดมวยอย่างมาก บางคนถอนตัว และหลายๆคนเริ่มยอมแพ้ให้กับสถานการณ์เช่นนี้

มวยไทย ได้รับความนิยมมากกว่าเดิม แต่เหตุใดยอดผู้ชมในสนามกลับสวนทางกัน ? พูดคุยและหาคำตอบร่วมกับ ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์มวยไทยชื่อดัง ถึงต้นตอของปัญหานี้

ยอดผู้ชมที่สวนทาง 

ช่อง 3, 5, 7, 9,  ไทยรัฐ ทีวี เนชั่น ทีวี, ทรู 4U, อัมรินทร์ ทีวี, ช่อง 8, GMM25, NOW ฯลฯ นี่เป็นแค่ช่องทีวีส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่มีการถ่ายทอดสดมวยไทย หรือคนไทยเรียกว่า “มวยตู้” อยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์ 


Photo : digitaltvthaitv.blogspot.com

แม้การถ่ายทอดสดมวยไทย จะอยู่คู่สังคมบ้านเรามาอย่างช้านาน แต่ก็ยังไม่เคยมียุคสมัยไหน ที่มีการถ่ายมวยตู้มากมายเท่านี้ 

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการเกิดขึ้นของ ช่องทีวีดิจิตัล ที่ต่างเห็นโอกาสในการทำเรตติ้ง จึงหันมาถ่ายทอดสดมวยไทยทางทีวี 

และดูเหมือนว่า มันจะมีแนวโน้มที่ไปได้ดี เพราะการรับชมทางโทรทัศน์ หรือดูผ่านออนไลน์ สอดคล้องเข้ากับพฤติกรรมของผู้ชมส่วนใหญ่ของมวยไทย กลายเป็น ความบันเทิงอย่างหนึ่ง ที่ช่องทีวีขาดไม่ได้ 

“ถ้าเทียบยุคก่อนกับยุคปัจจุบัน ผมว่ายุคนี้คนดูมวยไทยเยอะขึ้นกว่าเดิมมาก เพียงแต่เขาแค่ไม่เข้าสนามเท่านั้นเอง มันมีตัวชี้วัดอยู่ที่ปริมาณผู้ชมการถ่ายทอดสด ที่คนไทยนิยมมวยตู้มากขึ้น” 

“เมื่อมีทีวีถ่ายทอดเต็มไปหมด คนที่ชอบดูมวยไทย หรือต้องการเล่นการพนัน เขาก็ไม่จำเป็น ต้องเดินทางไปดูที่สนาม เพราะสมัยนี้ดูทางทีวี มือถือก็ได้ หรืออีกพวกที่ชอบเล่นการพนัน ก็สามารถเล่นเดินพันบนเว็บออนไลน์ก็ได้ นี่ คือสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนี้” 


Photo : Yindeeman

ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ หรือ “โบ้ท เพชรยินดี” โปรโมเตอร์ผู้จัดมวยศึกสาย เพชรยินดี อธิบายภาพรวมของวงการมวยไทย ที่เป็นกีฬาผู้คนในสังคมวงกว้างให้ความสนใจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน 

ซึ่งสวนทางกันกับยอดผู้ชมในสนาม โดยผู้ที่รับภาระมากสุดในสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมหนีไม่พ้นโปรโมเตอร์ หากดูตามโครงสร้างธุรกิจมวยไทยอาชีพ  

“สนามมวย” จะมีรายได้จากการเปิดสังเวียนให้ “โปรโมเตอร์” รายต่างๆ เข้ามาจับจองสิทธิ์ในการจัดรายการมวย ในแต่ละไตรมาส และสปอนเซอร์ที่เข้ามาสนับสนุน 

ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น  ค่าเช่าสนาม, ค่าตัวนักมวย เป็นต้นทุนที่ โปรโมเตอร์ ต้องเป็นคนรับผิดชอบ โดยการจัดรายการแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ตั้งแต่หลักแสนบาท-หลักล้านบาท ส่วนรายรับที่ โปรโมเตอร์ จะได้คืนกลับมา ได้แก่ ค่าจำหน่ายตั๋วเข้าชม, สปอนเซอร์ที่สนับสนุนรายการ ฯลฯ 


Photo : Rajadamnern Stadium

ดังนั้นเมื่อคนจัด เก็บค่าเข้าตั๋วเข้าสนามมวยได้น้อยลง (ราคาอยู่ที่ 250-500 บาท ริงไซด์ 2,000-2,500 บาท ตามแต่คู่มวย) ผลที่ตามมาย่อมทำให้ ผู้จัดการแข่งขัน ประสบภาวะขาดทุน จนเป็นเหตุให้โปรโมเตอร์หลายราย ยอมสละสิทธิ์การจัดรายการมวย เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้

“เฉพาะผลประกอบการไตรมาสที่แล้ว เราจัดมวยรายการทั่วไป เกรดกลางๆ เดือนเดียวเราขาดทุนประมาณ 5 แสนบาท ส่วนหน้านี้ก็มีขาดทุนบ้าง กำไรบ้าง แต่กำไรได้ครั้งหนึ่งแค่หลักหมื่นบาทเท่านั้น เวลาขาดทุนเสียเป็นแสน โปรโมเตอร์มวยไทย จึงไม่ใช่งานที่สามารถยึดเป็นอาชีพได้เลย” ณัฐเดช กล่าว

รากหญ้าตาย ลำต้นตาย

อีกปัจจัยที่ทำให้ มวยไทยยุคนี้ ไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดให้ ผู้คนยอมเสียเงินเพื่อซื้อตั๋วเข้าไปชมในสนามได้เหมือนกับในอดีต คือ เรื่องทรัพยากรนักมวยที่มีคุณภาพ 


Photo : มวยไทย เกียรติเพชร

ในอดีต นักมวยไทยจะถูกปลุกปั้นโดยค่ายมวยภูธร ตามจังหวัดต่างๆ คอยเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่อยอด เมื่อฝีมือถึงขั้นก็ถูกดึงเข้าชกในศึกสายต่างๆ ที่เวทีมาตรฐาน ทำให้ โปรโมเตอร์ มีนักมวยเก่งๆ จากหลายค่าย อยู่ในมือหลายราย (คล้ายกับลีกกีฬาที่มีทีมต่างๆ เข้าร่วมการแข่งขัน) สำหรับการเลือกจัดชกในแต่ละครั้ง 

แต่เนื่องจากการทำค่ายมวยเป็น ธุรกิจที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก (ซึ่งต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเองแบบเอกชน เพราะไม่ได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ) ทำให้หลายๆ ค่ายมวยขนาดเล็กในต่างจังหวัด จำเป็นต้องปิดกิจการ 

อีกทั้งเด็กเยาวชนในยุคสมัยใหม่ มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น อาจไม่ได้มีความคิดอยากชกมวยไทยเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ เหมือนกับเด็กในยุคก่อน  


Photo : Lumpinee Boxing Stadium

เมื่อทรัพยากรนักมวยคุณภาพ ที่มีอยู่ในตลาดค่อนข้างน้อย ก็เป็นต้นตอที่ว่าเหตุใด รายการมวยต่างๆ จึงไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดมากพอที่จะทำให้ คนทั่วไปอยากเข้าไปชมมวยไทยถึงขอบสังเวียน โดยฐานคนดูส่วนใหญ่ที่เป็นคนต่างจัหงวัด  

“คนต่างจังหวัดยังชอบดูและติดตามมวยอยู่เยอะ ดูได้จากการมวยไทยสัญจร หรือการจัดมวยรายการพิเศษในต่างจังหวัด บางครั้งเก็บเงินผู้ชมได้มากกว่าจัดในเวทีมาตรฐาน นั่นแสดงว่า ความนิยมในมวยไทย สำหรับคนต่างจังหวัดไม่ได้ลดลงไปเลย ไม่อย่างนั้น ช่องทีวีเขาคงไม่เอามวยไทยไปถ่ายทอดสดออกตู้หรอก” โบ้ท เพชรยินดี กล่าวเริ่ม

“แต่กลุ่มที่อยู่ไม่ได้จริงๆ คือค่ายมวยไทยขนาดเล็กตามต่างจังหวัด ที่แบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ทะยอยปิดตัวกันไปมากมาย จากเดิมที่วงการมวยไทยมีนักมวยเงินแสนเป็น 100 คน ตอนนี้นับได้เลยมีรวมกันไม่ถึง 20 คน นี่ถ้าเจาะลงไปอีกว่าแต่ละศึก มีมวยเงินแสนกี่คน บางศึก มีไม่ถึง 5 คน”

“เมื่อมวยเอกมีน้อยลง มันก็ไม่สร้างแรงดึงดูดให้คนที่ชอบมวยไทย รักมวยไทย โดยที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการพนันเข้าสนามเหมือนแต่ก่อน ที่นักมวยเก่งๆ จะมีแฟนคลับของตัวเอง ตามมาดูจากต่างจังหวัด แต่ยุคนี้ทรัพยากรนักมวยเก่งๆ มีน้อย โปรโมเตอร์ก็ต้องไปดึงนักมวยต่างศึกมาต่อย ซึ่งต้องจ่ายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก”

“สมัยก่อนการเอานำมวยเก่งๆ ข้ามศึกมาต่อยกัน เป็นเรื่องฮือฮามากเลยนะ แต่ยุคนี้โปรโมเตอร์ทุกคนจำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่จัดมวยข้ามศึก คนดูก็จะเบื่อ ไม่มีตัวต่อย ทุกวันนี้เวลาเห็นมวยต่างศึก คนดูมวยไม่ได้ตื่นเต้นเหมือนเมื่อก่อนแล้ว”

แดนสนธยาและภาพจำที่ต้องเปลี่ยนแปลง

สำหรับคนภายนอกที่ไม่ได้ติดตามมวยไทยอย่างจริงจัง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต่างมีภาพจำที่ไม่ดีนัก เมื่อคิดถึงสนามมวยไทย 


Photo : Lumpinee Boxing Stadium

ทั้งข่าวคราวในอดีตที่มีเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น รวมถึงการเปิดให้มีการพนันขันต่อได้อย่างถูกกฎหมายบนล็อกผู้ชม ทำให้เวทีมวยเป็นสถานที่คนรุ่นใหม่ไม่นิยมเข้า และคนวงนอกจำนวนมาก รู้สึกด้านลบกับสนามมวย 

“เกมการชกเป็นไปตามการพนันมากเกินไป เราขาดเสน่ห์ที่ดึงดูดให้คนดูมวยประทับใจ ผู้ชมไม่เพิ่มขึ้น มีแต่หายไปเรื่อยๆ เซียนมวยมีผลมากนะ ถือเป็นแรงกดดันของนักมวย ดูได้จากวิธีการชกในอดีตกับปัจจุบัน เปลี่ยนไปมาก” ณัฐเดช กล่าวเริ่ม 

“เมื่อไหร่ที่อิงเรื่องการพนันมาก ก็จะลืมเรื่องการชกมวยออกมาให้คนดูประทับใจ  ถ้าแพ้คุณโดนซ้ำเติม ด่ายับ ยิ่งวันไหน คุณไปสะเหล่อใช้ศอกกลับ เข่าลอย ใช้อาวุธมวยไทยที่เขาไม่ค่อยใช้กัน แล้วพลาด คุณโดนเซียนมวยเหยียบซ้ำเติมตาย เพราะเขาเล่นคุณเขาก็มองว่าไม่จำเป็นต้องทำ เพราะมันพลาดได้”

“นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป ระหว่างยุคก่อน กับยุคปัจุบัน ผมกล้าพูดว่า เซียนมวย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศิลปะของมวยไทย มันหายไป”


Photo : วันทรงชัย Onesongchai

แม้ในเป็นความจริง จากประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งไม่เล่นพนันมวย แต่เคยเข้าไปดูมวยในเวทีมาตรฐาน  ได้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าสนามมวย จะมาเพื่อต้องเล่นการพนันเสมอไป เรายังพบกลุ่มคนจำนวนที่มาเชียร์มวยแบบไม่เล่นพนัน (แม้จะมีน้อยก็ตาม) สนามมวยจึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิดไว้ เมื่อครั้งก่อนเข้ามา

รวมถึงได้เข้าใจความจริงอีกด้านว่า เซียนมวยหรือคนที่เข้ามาเล่นเดิมพัน คือ กลุ่มคนที่เสียเงินซื้อตั๋วเข้าชมมากที่สุด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ที่ตามไปดูมวยในสนามแทบทุกวัน 

โจทย์ของโปรโมเตอร์ในยุคเก่า จึงต้องประกบคู่มวยออกให้มีโอกาสได้เสีย ราคาต่อรอง บนล็อก

แต่ในยุคหลังโจทย์ของผู้จัดมวยเปลี่ยนไป บรรดาเซียนมวย ไม่ได้เข้าสนามคึกคักแบบแต่ก่อน คนทั่วไปก็ไม่ได้นิยมการดูมวยในสนาม ใช้การติดตามถ่ายทอดสดทางทีวีแทน ส่วนคนดูหน้าใหม่ส่วนมากเป็นพวกชาวต่างชาติ ที่มากับกรุ๊ปทัวร์ 

เมื่อเป็นเช่นนั้น โปรโมเตอร์ ในฐานะคนที่รับผลกระทบจากการลดลงของผู้ชมในสนาม จึงต้องสรรหาวิธี และปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 

“การเป็นโปรโมเตอร์ในยุคนี้มันมีความเสี่ยงขาดทุนสูง ความจริงผมไม่จำเป็นต้องมาเดือดร้อนเป็นโปรโมเตอร์เลยก็ได้ แต่ถ้าวันนี้ผมเลิกจัดไป นักมวยในศึกของเป็น 1,000 คน ก็จะต้องลำบาก ไม่มีรายการชก”

“ในเมื่อสถานการณ์มันเป็นแบบนี้ ผู้จัดเองก็ต้องปรับตัว เปลี่ยนวิธีคิด การบริหารงานใหม่ จะใช้รูปแบบเก่า ระบบเดิมที่จัดมวยเอาใจเซียนมวย จัดมวยต้องให้คนเล่นมีได้เสีย” 

“เพราะผมลองทำมาหมดแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีคนเพิ่มขึ้นมา เราจะแคร์คำพูดคนอื่นมากเกินไปไม่ได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำในตอนนี้คือการมองหากลุ่มคนดูมวยไทยหน้าใหม่ เพื่อดึงดูดให้เขาเข้าสนามมวย” ณัฐเดช เผย


Photo : Lumpinee Boxing Stadium

เพราะคนดูคือส่วนสำคัญสำหรับกีฬาอาชีพทุกชนิด ดังนั้นวงการมวยไทยในยุคนี้ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในแง่ที่ว่า ผู้คนนิยมมวยไทยมากขึ้น แต่จะทำอย่างไรให้คนที่ชอบ และติดตามมวยไทย หันมาเข้าสนามมวย 

การลบล้างภาพจำเดิม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน ในมุมมองของ ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ เขามองว่า หากต้องการให้คนกลับเข้ามาดูในสนามมวย ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ ทั้ง ภาครัฐ เอกชน รวมถึงคนในวงการมวย 

“ผมมองว่าตลาดคนดูแบบเดิม มันถึงทางตันแล้ว ฉะนั้นเรามองหาตลาดใหม่ๆ ที่เขาอยากดูมวยไทยในสนาม” 

“สมมุติถ้าเราจัดมวยไทย โดยมีนักมวยต่างชาติชกมากขึ้น มันจะสร้างแรงดึงดูดให้คนดูกลุ่มใหม่มากกว่าเดิมไหม? อันนั้นก็เป็นสิ่งที่โปรโมเตอร์ ก็ต้องกลับไปคิดทบทวน เพื่อหาวิธีให้คนดูเข้ามาซื่อตั๋วในสนาม”

“ความคิดผมคนเดียวมันเปลี่ยนวงการไม่ได้หรอก ทุกคนต้องช่วยกัน ผมยังยืนยันว่า ตราบใดที่วงการมวยยังไม่สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียว การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นยาก ถ้ายังต่างคนต่างทำ ทะเลาะกันไปมา ปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ผมว่าเราทุกคนต้องปรับวิธีคิดใหม่ ไม่อย่างนั้นภายใน 3-4 ปีข้างหน้า มันอาจจะไปถึงจุดที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้วก็เป็นได้” 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook