ถึงจุดที่สุดจริง : เปิดตำนาน "แฟรนไชส์ เพลเยอร์" ชื่อเรียกทรงเกียรติของนักบาส NBA

ถึงจุดที่สุดจริง : เปิดตำนาน "แฟรนไชส์ เพลเยอร์" ชื่อเรียกทรงเกียรติของนักบาส NBA

ถึงจุดที่สุดจริง : เปิดตำนาน "แฟรนไชส์ เพลเยอร์" ชื่อเรียกทรงเกียรติของนักบาส NBA
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงสังคมโลกยุคใหม่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การตลาด, สินค้า และเงิน ได้เข้ามามีส่วนร่วมหรือพัวพันในสิ่งต่างๆ จนแทบแยกจากกันไม่ออก

วงการกีฬาก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาประเภททีมในระดับอาชีพ ทำให้ในหลายชนิดกีฬา ไม่ว่าจะฟุตบอล, บาสเกตบอล, วอลเลย์บอล หรืออเมริกันฟุตบอลนั้น การที่ผู้เล่นหนึ่งคนจะเริ่มต้นการเล่นอาชีพ และจบการเล่นกับทีมเดียวกันแบบไม่ย้ายไปไหนนั้น จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะโลกแห่งกีฬาในยุคนี้มีทั้งเงิน, ความต้องการประสบความสำเร็จ และการตลาดเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมาก 

สิ่งที่กล่าวมา ทำให้การจะมีผู้เล่นสักคนที่เล่นให้กับทีมๆ เดียวตลอดชีวิตอาชีพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย และนั่นทำให้ผู้เล่นที่เล่นกับทีมๆ เดียวนั้นถูกยกย่องอย่างมาก ในฐานะผู้เล่นที่มีความจงรักภักดีกับทีม และคำเรียกขานผู้เล่นที่อยู่กับทีมอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเคยพาทีมได้แชมป์หรือไม่ก็ตาม แต่แม้ว่าทีมจะตกต่ำหรืออยู่ในจุดสูงสุด ผู้เล่นคนนั้นก็ยังไม่ไปไหน ในวงการอเมริกันเกมส์นั้นเรียกขานผู้เล่นเหล่านี้ว่า "แฟรนไชส์ เพลเยอร์" (Franchise Player)

แฟรนไชส์ เพลเยอร์ในอดีต

แฟรนไชส์ เพลเยอร์ นั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ในอดีต ราวๆ ยุค 60's-70’s แล้ว โดยหนึ่งในผู้เล่นคนแรกๆ ที่ถูกสถาปนาคำนี้ให้ก็คือ บิล รัสเซลล์ เซ็นเตอร์ระดับตำนานของ บอสตัน เซลติกส์ ผู้พาทีมคว้าแชมป์ 11 สมัย จากการเล่นให้กับเซลติกส์ทีมเดียว 13 ปี ตั้งแต่เริ่มจนจบอาชีพ เรียกได้ว่าเกิดที่เซลติกส์และจบการเล่นที่เซลติกส์ แถมปู่บิลในช่วงท้ายอาชีพ ยังได้เป็นทั้งโค้ชและผู้เล่นให้กับเซลติกส์ และก็สามารถคว้าแชมป์อีกได้ด้วย ทำให้ บิล รัสเซลล์ ถือเป็นสัญลักษณ์ของทีมเซลติกส์เลยก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ได้รับการส่งต่อมาถึงยุค 80’s ยุคของคู่ปรับตลอดกาล แอลเอ เลเกอร์ส-บอสตัน เซลติกส์ 


Photo : www.sbs.com.au

"เอาจริงๆ เลยนะ ผมแค่รู้สึกว่าผมไม่อยากไปไหนจากที่นี่ เพราะที่นี่ เพื่อนร่วมทีมทุกคนยอดเยี่ยมมากๆ และผมมีคู่แข่งที่ต้องเอาชนะให้ได้" แมจิค จอห์นสัน แฟรนไชส์เพลเยอร์ของเลเกอร์สกล่าวถึงการที่อยู่โยงกับทีมเดียวตลอดการเล่นอาชีพ 

ซึ่งคู่กัด คู่แข่งตลอดกาลที่แมจิคว่าไว้นั้นก็คือ แลร์รี่ เบิร์ด ผู้ถูกยกย่องให้เป็นอีกหนึ่งแฟรนไชส์เพลเยอร์ของเซลติกส์ ทั้งคู่นั้นต่างเป็นคู่แข่งที่ แข่งขันมาตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัย จนมาถึงการเล่นอาชีพ แมจิคในยุคนั้นคือตัวแทนของเลเกอร์ส ส่วนเบิร์ดนั้นก็เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของเซลติกส์ แถมยังเคยออกปากด้วยตัวเองว่า "ไม่ต้องการที่จะย้ายทีม" ทำให้ทั้งคู่เป็น แฟรนไชส์ เพลเยอร์ ที่โด่งดังมากในยุค 80’s และได้ส่งต่อเทรนด์ดังกล่าวตามมาถึงยุค 90’s ที่ทำให้ผู้เล่นมากมายเลือกที่จะอยู่กับทีมที่ดราฟต์ตัวหรือเซ็นสัญญาเข้าทีมมานั่นเอง


Photo : amicohoops.net

ดังนั้นนิยามคำว่า แฟรนไชส์ เพลเยอร์ แม้ว่าจะไม่มีบ่งบอกหรือเจาะจง แต่ตามที่บรรดาสื่อ NBA นั้นให้คำนิยามไว้ คือจะหมายความถึงผู้เล่นที่จงรักภักดีกับทีม อยู่กับทีมเดียวยาวนานเกิน 10 ปีหรือเล่นให้กับทีมเดียวตลอดอาชีพ ซึ่งถ้าเล่นให้ทีมใดทีมหนึ่งสัก 15 ปี ก็จะมีคำเรียกอีกแบบด้วยว่า "ลอยัลตี เพลเยอร์" (Loyalty Player) หรือผู้เล่นที่มีความจงรักภักดี

ในยุคปัจจุบันนั้นเราแทบไม่เห็นแฟรนไชส์ เพลเยอร์กันแล้ว จากเหตุผลต่างๆ มากมายที่เข้าใจได้ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายทีมเพื่อประสบความสำเร็จ การย้ายทีมเพราะรายได้ที่ต้องการมากขึ้น หรือการย้ายทีมเพราะต้องการไปเล่นทีมในฝัน หรือกับเพื่อนๆ ที่สนิท 

แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้นั้ไม่สามารถใช้ได้กับบรรดายอดผู้เล่นเหล่านี้เลย ...

 

สเปอร์ส...ทีมแห่งแฟรนไชส์ เพลเยอร์

หากจะนับตั้งแต่ยุค 90's มาจนถึงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าภาพของ "ทีมแห่งแฟรนไชส์ เพลเยอร์" ที่ชัดเจนที่สุด คงหนีไม่พ้น ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ซึ่งมีผู้เล่นที่สามารถใช้คำนี้ได้อย่างเต็มปากถึง 4 คน


Photo : colderbythelakz.wordpress.com

คนแรก เดวิด โรบินสัน ยอดเซ็นเตอร์ในยุค 90’s ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเซ็นเตอร์ที่ดีที่สุดในยุคนั้น และว่ากันว่าเป็นเซ็นเตอร์ที่มีความไวมากที่สุดด้วย ... โรบินสันนั้นอยู่กับทีมมาอย่างยาวนานถึง 14 ปี และพาทีมเข้าชิงแชมป์สายตะวันตกในปี 1995 ในยุคที่เขาต้องแบกทีมเอง แม้แต่ยุคตกต่ำสุดของสเปอร์สในปี 1996-97 ที่สถิติทีมห่วยมากชนะเพียงแค่ 20 นัดเท่านั้นก็ยังไม่ไปไหน อยู่เรื่อยมาจนถึงวันที่ทีมคว้าแชมป์ NBA ได้สำเร็จ เรียกได้ว่า โรบินสันอยู่กับทีมตั้งแต่สูงสุดจนต่ำสุด ซึ่งเจ้าตัวเคยบอกถึงเหตุผลไว้ว่า "ครอบครัวชอบที่นี่ และชีวิตที่นี่ก็เรียบง่ายดี ไม่ต้องมีแสงสีเยอะ ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน"

ไม่เพียงแค่ เดวิด โรบินสัน ที่เป็นแฟรนไชส์ เพลเยอร์คนแรกๆ ของทีมเท่านั้น เพราะเชื่อได้ว่าในยุคนี้ เมื่อนึกถึงสเปอร์ส เราต้องนึกถึงการเล่นกันของ 3 ประสาน ทิม ดันแคน-มานู จิโนบิลี่-โทนี่ พาร์คเกอร์ อย่างแน่นอน 

ทั้ง 3 คนเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของทีมสเปอร์สเลยก็ว่าได้ จากการพาทีมคว้าแชมป์ได้ถึง 4 สมัยในขณะที่เล่นด้วยกัน และช่วยกันพาทีมชนะถึง 575 นัดในฤดูกาลปกติที่เล่นด้วยกัน รวมถึงในรอบเพลย์ออฟอีก 126 นัด ทั้่ง ทิม ดันแคน ดราฟต์เบอร์ 1 ปี 1997 ที่ถูกสเปอร์สดราฟต์เข้ามา เล่นให้กับสเปอร์สถึง 19 ฤดูกาล ซึ่งจริงๆ นั้นดันแคนก็เกือบไม่ได้เล่นให้กับสเปอร์สยาวนานขนาดนี้ ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เขานั้นรู้สึกไม่โอเคกับการย้ายทีมขึ้นมาเสียก่อน 


Photo : www.aol.com

เรื่องที่ว่าเกิดขึ้นในปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่ดันแคนกำลังจะหมดสัญญากับทีมสเปอร์ส และได้ถูกทีม ออร์แลนโด แมจิค ทาบทาม โดยทีมแมจิคนั้นได้ส่งเครื่องบินส่วนตัวมารับดันแคนไปที่เมืองออร์แลนโดเลย ซึ่ง ด็อค ริเวอร์ส เฮดโค้ชของทีมในขณะนั้นได้พาไปชมเมือง และพาไปดูทีมด้วยตนเอง พร้อมกับบอกเล่าถึงแผนการในการคว้าแชมป์ไปพร้อมๆ กัน โดยแผนของทีมแมจิคในขณะนั้นคือ พวกเขาจะดึงอีก 2 ดาวดังอย่าง แกรนท์ ฮิลล์ และ เทรซี่ แม็คเกรดี้ มาร่วมทีมด้วย ซึ่งดันแคนนั้นก็แทบจะตอบตกลงมาอยู่ด้วยแล้ว 

ทว่าเหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อภรรยาของ ทิม ดันแคน อยากที่จะมาร่วมทริปดังกล่าวด้วย แต่ถูก ด็อค ริเวอร์ส ปฏิเสธไม่ให้มา เรื่องดังกล่าวทำให้ดันแคนไม่พอใจอย่างมาก บวกกับพี่ใหญ่ เดวิด โรบินสัน เซ็นเตอร์เสาหลักของทีมในขณะนั้นได้โทรศัพท์และมาหาดันแคนเพื่อให้อยู่ที่สเปอร์สต่อ จนที่สุดแล้ว ดันแคนก็ปฏิเสธ ออร์แลนโด แมจิค และอยู่กับทีมสเปอร์สยาวถึง 19 ฤดูกาลจนรีไทร์ในปี 2016 ซึ่งดันแคนได้เปิดใจหลังจากนั้นว่า "ที่นี่เหมือนบ้านของผม ป๊อป (เกร็ก โปโปวิช เฮดโค้ชของสเปอร์ส) ก็เหมือนกับพ่ออีกคนของผม สุดท้ายแล้วบ้านนี่แหละที่อุ่นใจมากที่สุด"

เดวิด โรบินสัน และ ทิม ดันแคน ไม่ใช่สองคนที่เป็นผู้เล่นระดับแฟรนไชส์ เพลเยอร์ มานู จิโนบิลี่ การ์ดชาวอาร์เจนตินาก็เช่นเดียวกัน มานูนั้นเล่นให้กับสเปอร์สมานานถึง 16 ฤดูกาล โดยถูกดราฟต์มาในอันดับที่ 57 ปี 1999 แต่ได้เล่นในปี 2002 เนื่องจากเขาต้องไปเล่นที่ลีกอิตาลีก่อน โดยเจ้าตัวเคยกล่าวถึงทีมสเปอร์สที่ตนเองสังกัดไว้อย่างน่าสนใจว่า "ผมอยู่ที่นี่เพราะผมรู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของผม เพื่อนร่วมทีมก็เหมือนพี่น้องของผม" 

และรายสุดท้ายที่เรียกได้ว่า เป็นคนล่าสุดที่ถูกยกย่องให้เป็นแฟรนไชส์ เพลเยอร์ ของทีมสเปอร์สก็คือ โทนี่ พาร์คเกอร์ การ์ดจ่ายที่อยู่กับทีมมายาวนานถึง 17 ปี แม้ว่าในปีสุดท้ายเจ้าตัวจะไปอยู่กับ ชาร์ลอตต์ ฮอร์เน็ตส์ ก่อนรีไทร์ก็ตาม แต่สาเหตุที่ย้ายทีมนั้นเป็นเพราะว่าตัวเขาต้องการที่จะได้ลงเป็นตัวจริงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สเปอร์สให้ไม่ได้ด้วยอายุของเจ้าตัวที่มากขึ้น จึงเป็นการจากกันด้วยดี


Photo : www.sbnation.com

และแน่นอน เพื่อเป็นการตอบแทนความจงรักภักดี ทางทีมสเปอร์จึงประกาศรีไทร์เบอร์เสื้อของทั้ง 4 คน ไม่ว่าจะเบอร์ 50 ของ เดวิด โรบินสัน, 21 ของ ทิม ดันแคน, 20 ของ มานู จิโนบิลี และ 9 ของ โทนี่ พาร์คเกอร์ ขึ้นไปแขวนอยู่ด้านบนของสนาม และจะไม่มีใครในทีมได้สวมเสื้อเบอร์นี้อีก ซึ่งทำให้พาร์คเกอร์นั้นซาบซึ้งเป็นอย่างมาก "ไม่มีสักวินาทีที่ผมคิดจะไปจากสโมสรแห่งนี้ ป๊อปเปรียบเสมือนพ่ออีกคนของผม สเตเดี้ยมที่นี่เปรียบเสมือนบ้านของผม เมื่อผมหลับตาลงที่นี่ มันนึกถึงภาพที่พวกเราฝ่าฝันกันมา เหมือนสมัยเราสู้กับเลเกอร์สที่มีแชคและโคบี้"

ด้วยตำนานที่ร่วมกันสร้าง แน่นอนว่าเมื่อนึกถึง ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ย่อมต้องนึกถึง 4 แฟรนไชส์เพลเยอร์อย่าง โรบินสัน-ดันแคน-มานู-พาร์คเกอร์ อย่างไม่ต้องสงสัย

 

โคบี้...ตำนานกับครั้งหนึ่งที่เกือบอำลาทีม

ปี 1996 แอลเอ เลเกอร์ส ตัดสินใจคว้าตัวนักบาสเกตบอลไฮสคูล ชื่อ โคบี้ ไบรอันท์ เข้ามาสู่ทีม ด้วยความเชื่อที่ว่าโคบี้คนนี้ คือคนที่จะมากอบกู้เลเกอร์สที่ตำต่ำในยุค 90's และจะเป็นคนที่นำพาความสำเร็จอีกมากมายมาให้ในอนาคต 


Photo : www.cbssports.com

การเอาโคบี้เข้ามาร่วมทีมเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงค่อนขอดว่า ทำไม เจอร์รี่ เวสต์ ผู้บริหารของเลเกอร์สขณะนั้นต้องยอมทุ่มหนัก ถึงกับนำ วลาด ดิวาซ เซ็นเตอร์ตัวหลักที่อยู่กับทีมยาวนานไปเป็นหนึ่งในข้อแลกเปลี่ยนเพื่อแลกสิทธิ์ดราฟต์มาจากทาง ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์ ด้วย แต่โคบี้ก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ทีมนั้นคิดไม่ผิด ในการดราฟต์เอาโคบี้มาประสานงานกับ ชาคีล โอนีล ที่ย้ายมาเป็นเซ็นเตอร์คนใหม่ 

แม้ว่าฟอร์มในช่วงแรกๆ ยังไม่ดี เท่าไร แต่ เอ็ดดี้ โจนส์ การ์ดของทีมขณะนั้นก็ได้บอกว่า "โคบี้เป็นเด็กที่เรียนรู้ได้ไว ในตอนซ้อมทุกอย่างที่ผมแนะนำไป เขาทำได้หมด ต่อไปต้องเป็นยุคของเขาแน่นอน คุณเชื่อผมได้เลย" และก็เป็นอย่างที่โจนส์พูดจริงๆ เมื่อคู่หู โคบี้-แชค พาทีมคว้าแชมป์ถึง 3 สมัยติดในปี 2000, 2001 และ 2002 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้ 3 แชมป์หรือเป็นผู้เล่นดาวรุ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดก็ตาม แต่ความไม่ลงรอยกันระหว่างโคบี้และแชคก็เกิดขึ้น และมีข่าวเป็นระยะๆ เสมอมา

นั่นทำให้บอร์ดเลเกอร์สได้มีการประชุมกันถึงเรื่องนี้ โดยทุกอย่างดูจะมาสุกงอมในปี 2003 ซึ่งโคบี้กำลังจะหมดสัญญากับเลเกอร์ส และเสี้ยวความคิดของโคบี้ในตอนนั้นก็คือ "อยากที่จะไปเล่นกับฮีโร่ของตนเอง" นั่นก็คือ ไมเคิล จอร์แดน ที่ตอนนั้นกำลังเล่นให้กับ วอชิงตัน วิซาร์ดส์ และเขาเชื่อว่าถ้าตนเองไปเล่นที่นั่น ไมเคิลจะเล่นกับวิซาร์ดส์ต่อกับเขาแน่นอน 

"ใช่ มันเป็นความจริง ผมอยากจะไปเล่นกับไมค์ ไมค์เป็นคนแนะนำผมทุกอย่างตั้งแต่ผมเข้ามาในลีกนี้ ผมไม่กลัวที่จะโทรหาเขา และถามทุกอย่าง เขาช่วยผมได้มากกว่าเพื่อนร่วมทีมบางคนเสียอีก ตอนนั้นผมคิดเลยว่าถ้า ผมไปอยู่กับเขา เราจะเป็นทีมที่ยอดเยี่ยมและจะคว้าแชมป์แน่นอน"


Photo : www.newsweek.com

แต่ที่สุดแล้ว เลเกอร์สตัดสินใจที่จะเลือกโคบี้เป็นตัวหลัก โดยเทรดแชคไปอยู่กับ ไมอามี่ ฮีต ซึ่งเป็นการแสดงความมั่นใจว่า โคบี้จะพาทีมเลเกอร์สนั้นได้แชมป์ และกลับมาทวงบัลลังก์ความยิ่งใหญ่ได้แน่นอน และเขาก็ไม่ทำให้บอร์ดเลเกอร์สและแฟนๆ ผิดหวัง โคบี้พาเลเกอร์สคว้าแชมป์เพิ่มอีก 2 สมัยในยุคของตนเอง และทำให้ 20 ปีของโคบี้ กับเลเกอร์สนั้นมีถึง 5 แชมป์ NBA

แม้ในช่วงบั้นปลายของการเล่น เลเกอร์สจะกลับไปสู่ช่วงตกอับอีกครั้ง แต่ผลงานของโคบี้แทบไม่ตกลงไปเลย นั่นทำให้เลเกอร์สตอบแทนแฟรนไชส์ เพลเยอร์คนนี้แบบสุดลิ่มในฤดูกาล 2015-16 ปีสุดท้ายของเขา ถึงขนาดตกลงกับสภาเมือง ลอสแอนเจลิส เปลี่ยนชื่อสถานีรถไฟใต้ดินใกล้สนามเป็น "โคบี้" ในวันสุดท้ายที่เขาลงสนามให้กับทีม ก่อนที่โคบี้จะกดไป 60 แต้มในเกมสุดท้าย ปิดตำนานทีมเดียว 20 ปีของตนเองในฐานะแฟรนไชส์ เพลเยอร์ของเลเกอร์ส พร้อมกับเป็นผู้เล่นเพียงไม่กี่คนที่ทีมต้องรีไทร์เบอร์เสื้อให้ถึง 2 เบอร์ คือ 8 กับ 24

 

เดิร์ก...ใครว่านักบาสนอกเป็นแฟรนไชส์ เพลเยอร์ไม่ได้

เดิร์ก โนวิตซ์กี้ คือชายหนุ่มสูง 7 ฟุต (213 เซนติเมตร) ผู้ถูก ดัลลัส แมฟเวอริกส์ ดราฟต์เข้ามาในปี 1998 ในอันดับที่ 9 ซึ่ง ดอน เนลสัน เฮดโค้ชของทีมในขณะนั้นได้บอกไว้กับทุกคนว่า "เด็กหนุ่มจากเยอรมันคนนี้จะต้องเป็นตำนานของ NBA และของทีมเราอย่างแน่นอน" ซึ่งไม่ผิดจากที่ได้พูดไว้เลยแม้แต่น้อย 


Photo : www.startribune.com

แม้ในช่วงแรกของการเล่นอาชีพกับดัลลัส เดิร์กจะประสบปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร รูปแบบการเล่นที่แตกต่างระหว่างลีกยุโรปกับ NBA แต่นั่นไม่ได้ทำให้เขาย่อท้อ จนโค้ชเนลสันถึงกับออกปากชมในความมุ่งมั่นและไม่ยอมแพ้ "ผมจับเขานั่งสำรองในฤดูกาลแรกกว่าครึ่ง แต่เขาไม่ยอมแพ้ที่จะพัฒนาฝีมือตัวเองเลย" และฤดูกาลถัดมาโค้ชเนลสันก็ตัดสินใจให้เดิร์กลงเป็นตัวจริง

13 ปีให้หลัง นักบาสชาวเยอรมันคนนี้ไม่ทำให้ มาร์ค คิวบาน เจ้าของทีมแมฟเวอริกส์, ทีมโค้ช, ผู้เล่น และแฟนๆ ที่ศรัทธาในทีมต้องผิดหวัง เมื่อเดิร์กนั้นพาแมฟส์เป็นแชมป์ NBA ครั้งแรกของสโมสรได้สำเร็จเมื่อปี 2011 และนั่นทำให้คิวบานนั้นศรัทธาตัวของเดิร์กมาก ถึงขนาดให้ลูกน้องสั่งทำถุงเท้ายาวที่มีรูปถ้วยแชมป์ และรูปของเดิร์กเอาไว้ใส่เองเลยทีเดียว

ด้วยฝีมือของเขา ไม่แปลกที่ทีมคู่แข่งหลายทีมจะให้ความสนใจในตัวของเดิร์ก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เขาไขว้เขวเลยแม้แต่นิด ดังที่เคยกล่าวว่า "ที่นี่มันมีความทรงจำกับผมนะ ในปี 2006 เราแพ้ให้กับไมอามี่ ฮีตในรอบชิงชนะเลิศ ผมคิดในใจเลยว่ามันต้องไม่เป็นแบบนั้นอีก ผมจะพาทีมเราชนะและเป็นแชมป์ให้ได้ แน่นอน ทุกๆ คนนั้นมีความคิดที่แตกต่างกัน แต่สำหรับผมผมโตมาที่นี่ ผมเล่นมากับเมืองนี้ และผมต้องการเล่นจนจบอาชีพของผมที่นี่ มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเงินเลย"

และแม้ข่าวลือเรื่องการย้ายทีมจะรุนแรง ถึงกับเคยมีข่าวว่า โคบี้ ไบรอันท์ ชวนให้มาเล่นที่ แอลเอ เลเกอร์สด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้สร้างความกังวลใจให้กับ มาร์ค คิวบาน เลย ดังที่กล่าวไว้ว่า "ผมไม่ได้กังวลอะไรเลย เดิร์กไม่ยอมเปลี่ยนตัวเองเพื่อโคบี้แน่" 

ปี 2019 เดิร์กตัดสินใจรีไทร์ ปิดฉากชีวิตใน NBA ไว้ที่ 21 ฤดูกาล ซึ่งถือเป็นผู้เล่นระดับแฟรนไชส์ เพลเยอร์ ที่อยู่กับทีมเดียวยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA แถมเป็นชาวต่างชาติอีกด้วย แน่นอน สื่อได้ถามเดิร์กหลังจากที่รีไทร์ไปแล้วว่า เหตุใดจึงไม่ย้ายทีมไปไหน เพราะหากตัดสินใจย้ายทีมไปอยู่ทีมใหญ่ๆสักครั้ง อาจทำให้เขาได้แหวนมากกว่านี้ ซึ่งคำตอบของเดิร์กนั้นกินใจอย่างยิ่ง "ผมมีความสุขกับที่นี่ ผมลงเล่นบาสเกตบอลกับทีมนี้ ผมมีความสุข และแน่นอนว่าเมื่อไรที่เรามีความสุข เราก็อยากอยู่กับสิ่งนั้นไปตลอด"


Photo : www.sportsmole.co.uk

แฟรนไชส์ เพลเยอร์ ถือเป็นต้นแบบแห่งความภักดีต่อทีมที่หาได้ค่อนข้างยากในกีฬายุคปัจจุบัน ในยุคที่มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ในยุคที่มีการพยายามสร้างแชมป์ได้ด้วยเงิน หรือด้วยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งผู้เล่นเหล่านี้ จะได้รับการยกย่องจากวงการ NBA และให้เกียรติอย่างมากมายมหาศาล เพราะสามารถก้าวข้ามผ่านทั้งสิ่งเร้า รวมถึงเรื่องการตลาดที่ทำให้เกิดการย้ายทีมได้ 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะประสบความสำเร็จในสนามหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ผู้เล่นระดับแฟรนไชส์ เพลเยอร์ นั้นมองเหมือนกัน กับการอยู่ทีมๆ เดียวอย่างยาวนานนั่นก็คือ "ความสุขกับทีมที่ได้อยู่ และการได้เล่นบาสเกตบอลอย่างมีความสุข" นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook