"เบนิโต บิยามาริน" : สนามอายุ 91 ปีที่เคยเป็นฐานทัพของสงครามกลางเมือง

"เบนิโต บิยามาริน" : สนามอายุ 91 ปีที่เคยเป็นฐานทัพของสงครามกลางเมือง

"เบนิโต บิยามาริน" : สนามอายุ 91 ปีที่เคยเป็นฐานทัพของสงครามกลางเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณคิดว่าสนามฟุตบอลที่มีอายุเกือบ 100 ปี จะมีตำนานอะไรให้เล่าขานกันบ้าง? 

บางสนามที่ยิ่งใหญ่ สวยงาม จุผู้ชมได้มากมายสนามอื่นๆ อาจมีแค่ประวัติศาสตร์ด้านฟุตบอล แต่สำหรับเอสตาดิโอ เบนิโต บิยามาริน ของ เรอัล เบติส มีอะไรมากกว่านั้น..

 

beIN ร่วมกับ La Liga พากลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ และผู้สื่อข่าวจากเอเชีย รวมถึง Main Stand มาสัมผัสบรรยากาศฟุตบอลลีกสูงสุดของสเปน ในโปรเจคต์ The New La Liga Experience ที่เมืองเซบียา แคว้นอันดาลูเซีย ระหว่างวันที่ 6-10 กุมภาพันธ์ เพื่อให้เห็นว่าวัฒนธรรมฟุตบอลอันสวยงามของสเปน ไม่ได้มีแค่ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า 

พร้อมกับพามาที่สนามเบนิโต บิยามาริน ณ เมืองเซบีย่า เพื่อให้เห็นว่าสนามแห่งนี้มีมนต์ขลัง ไม่ต่างจากรังเหย้าของ 2 ทีมยักษ์ใหญ่แดนกระทิงดุอย่างไร

สร้างขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของเมือง

 1

แคว้นอันดาลูเซีย มีหัวเมืองต่างๆมากมาย โดยมีเมืองหลวงชื่อว่า "เซวิลล์" ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปีก่อนมีการสร้างสโมสรฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬามหาชนอันดับ 1 ของประเทศเป็นสโมสรแรกของเมือง โดยใช้ชื่อเมืองเป็นชื่อสโมสรไปเลยว่า "เซบีย่า"

อย่างไรก็ตาม มันเป็นธรรมชาติของฟุตบอล ไม่มีสโมสรใดที่มีอุดมการณ์เดียวกับผู้คนทั้งเมือง ดังนั้นอีก 27 ปีให้หลังจากทื่เซบีย่าเริ่มก่อตั้งโดยกลุ่มวิศวกรชาวอังกฤษ ก็เกิดสโมสรที่เป็นตัวแทนของชาวเมืองเซวิลล์ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า "เรอัล เบติส" เพื่อขึ้นมาชิงความเป็นอันดับ 1 ของเมือง

แม้ฟุตบอลจะเป็นเรื่องของกีฬา แต่ศักดิ์ศรีนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมกันไม่ได้ ต่อให้ผลการแข่งขันจะยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้านอกสนามไร้ซึ่งประวัติศาสตร์ ก็เหมือนกับทีมฟุตบอลเก่งๆที่ไร้มนต์เสน่ห์ ดังนั้น เบติสจึงต้องการสร้างมันขึ้นมา สโมสรแห่งนี้จะต้องเป็นคอมมูนิตี้ของชาวเมืองเซวิลล์ และศูนย์รวมที่ดีที่สุด คือ การประกาศศักดาด้วยการสร้างสนามฟุตบอลของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งในยุคนั้น.. ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ 

5 ปีหลังจากการก่อตั้งสโมสร เรอัล เบติส ได้ตั้งใจจะสร้างสนามฟุตบอลของตัวเองขึ้นมา และการสร้างครั้งนี้จะต้องเด็ดขาดทั้งในแง่ของประโยชน์ใช้สอย และเรื่องความสวยงามล้ำสมัย 

ซึ่งการจะได้ทั้งสองอย่างผนวกกัน จำเป็นต้องใช้คนออกแบบที่เก่งระดับประเทศ โดยแบบแปลนแรกที่โดนใจที่สุดคือการออกแบบของสถาปนิกที่ชื่อว่า อนิบัล กอนซาเลซ อัลบาเรซ ออสโซริโอ ที่เคยออกแบบสนามกีฬาสำหรับแสดงโชว์ในนิทรรศการ Ibero-American ในช่วงปี 1912 

 2

ก่อนที่โครงสร้างดังกล่าวจะถูกนำมาเป็นต้นแบบของสนาม ที่ได้รับการปรับแต่งให้ล้ำสมัยขึ้นจากสถาปนิกระดับประเทศที่ชื่อว่า อันโตนิโอ อิยาเนส เดล ริโอ (Antonio Illanes del Río)

โดยตัวของอันโตนิโอนั้นถือเป็นนักเรียนทุนในสังกัดของกษัตริย์อัลฟองโซที่ 13 (กษัตริย์ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการก่อตั้งสโมสรเรอัล เบติส) ที่มีความตั้งใจจะให้บุคลากรด้านสถาปัตยกรรมชาวสเปนมีองค์ความรู้ที่มากขึ้นกว่าเดิม พระองค์จึงส่งอันโตนิโอไปเรียนฝึกอบรมด้านสถาปนิกในเมืองแห่งศิลปะอย่างกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเมื่ออันโตนิโอศึกษาแล้วเสร็จจึงกลับมาสานงานที่ชาวเมืองรอคอย นั่นคือการสร้างสนามฟุตบอลของสโมสรเรอัล เบติส นั่นเอง 

เมื่อได้แบบและมีสถาปนิกที่ใช้คุมงานก่อสร้างแล้ว โจทย์ต่อไปคือการเริ่มหาพื้นที่ก่อสร้าง จนกระทั่งสุดท้ายได้มีมติเห็นชอบให้สร้างในย่าน Avenida de Heliópolis และตั้งชื่อสนามว่า เอสตาดิโอ เด ลา เอ็กซ์โปซิชัน (Estadio de la Exposición) โดยลงมือสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1923 สนามแห่งนี้ถือเป็นทรัพย์สินของเทศบาลเมือง โดยมี เรอัล เบติส ถือสัญญาเป็นผู้เช่าแต่เพียงรายเดียวเท่านั้น หลังจากการสร้างแล้วเสร็จในปี 1929 

สงคราม! 

 3

หลังจากได้ลงมือออกแบบและสร้างสนามฟุตบอลที่เป็นตัวแทนของชาวเมือง มีเสียงชื่นชมอันโตนิโออย่างล้นหลาม ฝีมือการออกแบบแบบล้ำสมัย ณ เวลานั้น ทำให้อันโตนิโอกลายเป็นสถาปนิกมือดีที่รับงานใหญ่ระดับประเทศมากมาย โดยเฉพาะเรื่องการสร้างสิ่งปลูกสร้าง และอาคารต่างๆขององค์กรทางศาสนา

ขณะที่เอสตาดิโอ เด ลา เอ็กซ์โปซิชัน นั้น เรียกว่าถูกใช้งานแบบครบวงจร เริ่มจากเกมเปิดสนามที่เป็นการพบกันระหว่างทีมชาติสเปน และทีมประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง โปรตุเกส

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดใช้ได้เพียงไม่กี่ปี ในปี 1936 ประเทศสเปนก็มีสงครามกลางเมือง (Spanish Civil War) ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฝ่ายซ้ายที่นิยมสาธารณรัฐ ระบอบการปกครองของสเปนในขณะนั้น กับฝ่ายกบฏชาตินิยมฟาสซิสต์ โดยสงครามครั้งนี้มีหลายประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องทั้ง สหภาพโซเวียต, อิตาลี, นาซี เยอรมัน, โปรตุเกส และ เม็กซิโก

เมืองเซวิลล์ ก็เป็นอีกเมืองที่ได้รับผลกระทบกับสงครามกลางเมืองครั้งนี้ เนื่องจากแคว้นอันดาลูเซีย คือหนึ่งในฐานที่มั่นของฝ่ายกบฏชาตินิยม โดยมีเมืองเซวิลล์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามเหย้าของเรอัล เบติส เป็นเมืองสำคัญ

 4

เมื่อมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสงคราม ทางสภาเมืองจึงมอบเอสตาดิโอ เด ลา เอ็กซ์โปซิชัน เป็นพื้นที่ดำเนินการของฝ่ายกบฏชาตินิยม ซึ่งก็ถูกใช้ประโยชน์ในหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นฐานที่มั่นของกองทหารจากประเทศโมร็อกโก รวมถึงศูนย์บัญชาการของเหล่านายพลจากประเทศอิตาลี ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนปกครองด้วยแนวคิดฟาสซิสต์ เช่นเดียวกับฝ่ายกบฏชาตินิยมของสเปน ซึ่งมีนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก เป็นผู้นำ

ซึ่งเมื่อเลือกข้าง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่สนามจะได้รับผลกระทบจากสงครามจนได้รับความเสียหาย ตลอดการสู้รบในสงครามที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 คนทั้งประชาชนและกำลังทหาร ในที่สุด ฝ่ายขวาหรือฝั่งของเมืองเซวิลล์ได้รับชัยชนะ แต่สงครามก็ทำให้เอสตาดิโอ เด ลา เอ็กซ์โปซิชัน ต้องซ่อมแซมกันขนานใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นฝ่ายชนะ อะไรมันก็ง่าย เอสตาดิโอ เด ลา เอ็กซ์โปซิชัน ได้รับงบประมาณจากนายพลกอนซาโล เกย์โป เด ยาโน หนึ่งในผู้บัญชาการของฝ่ายขวา เพื่อซ่อมแซมและต่อเดิมไปในคราวเดียว จนเปิดใช้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ในปี 1939 ภายใต้ชื่อใหม่อย่าง เอสตาดิโอ มูนิซิปาล เอลิโอโปลิส (Estadio Municipal Heliópolis)

เบนิโต บียามาริน หยุดสงคราม และ สร้างอนาคต

 5

แม้จะได้รับงบประมาณในการซ่อมแซมอย่างมากจนเสร็จงานอย่างรวดเร็ว ทว่าสนามเหย้าในชื่อใหม่ เอสตาดิโอ เอลิโอโปลิส ไม่ได้ขลังอย่างที่คิด เพราะเมืองแห่งนี้เป็นสมรภูมิใหญ่ของสงคราม ทำให้แรงสนับสนุนและความสนใจในเรื่องฟุตบอลนั้นน้อยลงมา

ในช่วงยุค 40's เบติสตกต่ำถึงขีดสุด จนถึงขั้นตกชั้นไปในลีกระดับ 3 ของประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งในช่วงที่ตกต่ำ กลับทำให้ชาวเมืองหลายคนเล็งเห็นว่าพวกเขาจะทิ้งทีมไม่ได้ จึงได้มีการรวมตัวกันเพื่อดึงสปิริตแห่งเรอัล เบติส ให้กลับมาอีกครั้ง 

ในยุคนั้น ไม่ว่าเบติสจะไปแข่งขันที่ไหน แฟนบอลจะตามไปทุกที่ โดยเฉพาะในเกมเยือนที่ว่ากันว่าคนดูฝั่งเบติสนั้นมากกว่าฝั่งเจ้าบ้านที่เป็นคู่แข่งเสียอีก ช่วงนั้นมีการเรียกกันว่ากลุ่ม "กรีน มาร์ช" (ลุยไปข้างหน้า เบติส) ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากสีประจำทีมที่เป็นสีเขียวนั่นเอง 

 6

แรงผลักดันทำให้เบติสกลับสู่ลีกสองของประเทศได้ ทว่า ณ เวลานั้น มานูเอล รุยซ์ โรดริเกซ ประธานสโมสรก็เลือกที่จะลาออกจากตำแหน่ง เพราะแสดงสปิริตรับผิดชอบการบริหารที่ล้มเหลว โดยเฉพาะเรื่องของรายรับ-รายจ่ายที่ไม่สมดุลกัน ซึ่งการลาออกของเขาในปี 1955 คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายใต้การเข้ามาของประธานคนใหม่ที่ชื่อ เบนิโต บียามาริน (Benito Villamarín) นั่นเอง 

บิยามารินเข้ามาเปลี่ยนทีมแบบยกใหญ่ทันทีที่เขารับงานปีแรก เขาจัดการบริหารจนทีมสามารถกลับสู่ลีกสูงสุดอย่าง ลา ลีกา อีกด้วย การขึ้นมาอยู่จุดนี้ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงของระดับดิวิชั่นเท่านั้น เบนิโต บียามาริน ได้สร้างสิ่งที่แตกต่างจากยุคเก่าๆ นั่นคือการตลาดและการบริหารอย่างมีรูปแบบ จน เรอัล เบติส มีเงินมากพอสามารถซื้อเอสตาดิโอ เอลิโอโปลิส ที่เดิมทีเป็นของเทศบาลเมือง เพื่อให้เป็นสมบัติของทีมแต่เพียงผู้เดียว ไม่จำเป็นต้องเช่า และจะมีรายได้จากค่าบัตรผ่านประตูมากขึ้น 

เมื่อมีสนามเป็นเอกเทศแล้ว งานบริหารจึงทำได้ง่ายขึ้นไปอีก เบนิโต บียามาริน จัดการกู้เงินมาสร้างอัฒจันทร์เพิ่มขึ้นอีกสองฝั่งทางทิศเหนือและทิศใต้ โดยได้รับการออกแบบจากสถาปนิกชาวสเปนแห่งยุคอย่าง อันโตนิโอ เดลกาโด หนนี้ไม่ใช่แค่อิฐหรือปูน แต่เดลกาโด้จัดเต็มให้สังเวียนเหย้าของเบติสด้วยระบบไฟฟ้าเต็มรูปแบบ มีสปอตไลท์ 4 เสาใหญ่ และส่วนให้แสงสว่างแก่มุมอื่นๆในสนามอีก 48 จุด 

เรียกได้ว่าการมาของ เบนิโต บิยามาริน คือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของสโมสรแห่งนี้ จนถึงขั้นที่มีการโหวตจากแฟนบอลให้ชื่อของท่านประธานผู้ยิ่งใหญ่เป็นชื่อของสนาม นามว่า "เอสตาดิโอ เบนิโต บิยามาริน" (Estadio Benito Villamarín) ในปี 1961 

 7

เส้นทางที่บิยามารินสร้างไว้ ทำให้สโมสรแห่งนี้เดินทางไปได้อย่างไม่ติดขัด สนามเบนิโต บิยามาริน มีแต่จะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าตัวของเขาจะลงจากตำแหน่งไปแล้ว สนามถูกต่อยอดจนจุได้ 40,000 คนในยุค 70's และมาเพิ่มขึ้นอีกในช่วงฟุตบอลโลกปี 1982 ที่สเปนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสนามแห่งนี้เป็นหนึ่งในสนามที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนั้นด้วย 

ในปี 1997 สโมสรได้ต่อเติมสนามเข้าไปอีกในยุคของประธานที่ชื่อ มานูเอล รุยซ์ เด โลเปรา (Manuel Ruiz de Lopera) ซึ่งตัวของท่านประธานคนนี้ก็เปลี่ยนชื่อสนามใหม่เป็นชื่อตัวเอง ทว่าด้วยบารมีและความเป็นตำนานของ เบนิโต บิยามาริน แฟนๆจึงโหวตให้สโมสรกลับมาใช้ชื่อนี้อีกครั้งในปี 2010 จนกระทั่งทุกวันนี้สนามเบนิโต บียามาริน สามารถจุดคนดูได้กว่า 60,000 คน และเป็นสนามที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ในแคว้นอันดาลูเซียอีกด้วย 

และนี่คือเหตุผลที่ beIN ร่วมกับ La Liga พากลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ และผู้สื่อข่าวจากเอเชีย รวมถึง Main Stand มาสัมผัสบรรยากาศในโปรเจคต์ The New La Liga Experience ที่เมืองเซบีย่า แคว้นอันดาลูเซีย ระหว่างวันที่ 6-10 กุมภาพันธ์ เพื่อให้เห็นว่าวัฒนธรรมฟุตบอลอันสวยงามของสเปน ไม่ได้มีแค่ เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลน่า เพราะพวกเขาต้องการให้ผู้คนจากซีกโลกตะวันออกได้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าชาวเมืองที่นี่ รัก คลั่งไคล้ และมีวัฒนธรรมการเชียร์ฟุตบอล ที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน 

 8

โดย beIN และ La Liga ได้พามาชมเกมระหว่างเรอัล เบติส พบกับ บาร์เซโลนา ที่เอสตาดิโอ เบนิโต บิยามาริน แห่งนี้ ท่ามกลางผู้ชมเกือบเต็มความจุของสนามที่ 60,000 คน ซึ่งบรรยากาศตลอด 90 นาที แสดงให้เห็นว่าฟุตบอลลาลีกา สเปน นั้นเต็มไปด้วยอรรถรสทั้งฝีเท้าของนักเตะในสนามและแพสชั่น อารมณ์ร่วมที่ดุดันของกองเชียร์ 

ฟุตบอลสเปน มีอะไรอีกมากมายให้ค้นหา ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างอะไรใหม่ๆให้เกิดขึ้น.. ทาง Main Stand จะหาเรื่องราวเชิงลึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับฟุตบอลสเปนมาฝากคุณผู้อ่านในหลากหลายแง่มุมและเรื่องราวอีกแน่นอน   

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "เบนิโต บิยามาริน" : สนามอายุ 91 ปีที่เคยเป็นฐานทัพของสงครามกลางเมือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook