วิ่งสมาธิ : โครงการวิ่งแห่งยุคที่ผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายกับธรรมะ

วิ่งสมาธิ : โครงการวิ่งแห่งยุคที่ผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายกับธรรมะ

วิ่งสมาธิ : โครงการวิ่งแห่งยุคที่ผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายกับธรรมะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากกล่าวถึงการทำสมาธิ หลายคนอาจนึกถึง การนั่งหลับตาด้วยกริยาที่สงบนิ่ง พร้อมกับเอามือประสานไว้ที่ตัก กำหนดลมหายใจเข้า-ออกช้าๆ

แต่แท้จริงแล้ว สมาธิ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกๆ การเคลื่อนไหว ไม่ใช่แค่เฉพาะตอนนั่งอยู่กับที่…

“วิ่งสมาธิ : Running Living In The Moment” จึงเป็นชื่อโครงการที่สะดุดหู ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน และสิ่งที่น่าสนใจต่อจากชื่อ นั่นคือ รูปแบบการของกิจกรรม

นี่ไม่ใช่โครงการวิ่งที่จัดขึ้นเพื่อเฟ้นนักวิ่งที่เร็วสุด เหมือนอย่างงานวิ่งทั่วไป แต่จุดประสงค์ของ “วิ่งสมาธิ” คือการทำให้ผู้ได้เข้าร่วมกิจกรรม ได้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา ผ่านการวิ่ง

กายและจิต

“งานเดิน-วิ่ง สมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา  จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เพื่อเชิญชวนนักวิ่งหน้าเก่า หน้าใหม่ มาร่วมกันทำกิจกรรมเข้าวัด ทำบุญ เวียนเทียน และเดิน-วิ่ง สมาธิ ในวันวิสาขบูชา ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการให้นักวิ่งมีจิตใจและร่างกายที่เข้มแข็ง” 

 1

อ.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย สสส. อธิบายถึงที่มาของโครงการ ที่ผสมผสานระหว่างเรื่องกายกับจิตเข้าไว้ด้วยกัน โดย อ.ณรงค์ ขยายความต่อด้วยว่า สังคมไทย ร้อยละ 95 นับถือพุทธศาสนา 

แต่พุทธศาสนิกชน มีวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป ผู้คนจำนวนมากยังไม่เข้าถึงแก่นของศาสนา บางคนหันไปยึดติดกับวัตถุนิยม ความเชื่อ เครื่องรางของขลัง ไม่ใช่คำสอนขององค์พระพุทธเจ้า 

ดังนั้นโครงการนี้ จึงมุ่งเน้นให้นักวิ่งที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้เห็นความสำคัญของการได้ฝึกจิต และมีสมาธิอยู่ในขณะที่ตนเองกำลังย่างก้าวเคลื่อนที่ไป 

2

3

“ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ผู้ก่อตั้งสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ท่านมีความคิดที่อยากเอาเรื่องของหลักธรรมคำสอนมาสอดแทรกในกิจกรรม เพราะนักวิ่งมักคิดว่าร่างกายของฉันแข็งแรง แต่อาจมองข้าม ไม่ได้ใส่ใจเรื่องจิต”

“มนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น ต้องมีทั้งร่างกาย และจิตใจที่แข็งแกร่ง นักวิ่งจะร่างกายแข็งแรงได้ ก็ต้องออกกำลังกาย หมั่นฝึกฝน จิตใจก็เช่นกัน ต้องมีการฝึกจิตที่ดีอยู่สม่ำเสมอ” 

“หลายคนอาจคิดว่า สมาธิ ต้องฝึกในขณะที่เรานั่งนิ่งๆ สงบ อยุ่กับที่ เคลื่อนไหวน้อยที่สุด แต่แท้จริง สมาธิควรต้องอยู่ทุกๆ การเคลื่อนไหวของชีวิต ไม่ว่าจะล้างจาน สนทนา ทำงาน กวาดบ้าน ฯ ดังนั้นการเดิน-วิ่งสมาธิ คือ การฝึกตัวเราให้มีสมาธิในขณะที่กำลังเคลื่อนไหว ให้จิตจดจ่ออยู่กับทุกย่างก้าว อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่ว่อกแว่ก” 

“นักกีฬาระดับโลกที่ประสบความสำเร็จหลายคน ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับการฝึกสมาธิทั้งสิ้น เพราะเรื่องเทคนิค ความแข็งแรง วิทยาศาสตร์การกีฬาสามารถช่วยได้ แต่ไหวพริบ การตัดสินใจที่ดี ต้องมาจากจิตใจที่แข็งแรง”

งานวิ่งที่ไม่มีผู้ชนะ-แพ้ 

กิจกรรมงานวิ่งส่วนมาก ถูกจัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาคนที่ทำเวลาได้ดีที่สุด เป็นผู้ชนะประจำรายการ แต่ไม่ใช่สำหรับงานเดิน-วิ่ง สมาธิ วิสาขะ พุทธบูชา เพราะเจตนารมณ์ของโครงการไม่ได้จัดขึ้นเพื่อให้คนมุ่งหวังชัยชนะ

 4

“เราต้องการให้นักวิ่งได้เข้าวัดทำบุญ ร่วมเวียนเทียน และเดิน-วิ่ง  โดยระยะทางก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ อาจจะ 2-5 กิโลเมตร แต่เราอยากให้ปิดท้ายด้วยการเดิน วิ่ง สมาธิ ทุกครั้ง” 

“โครงการเราไม่มีการแข่งขัน แต่จะเป็นการขอให้นักวิ่งที่เก่งๆ มีเรี่ยวแรงดีๆ มาเป็นคนที่ช่วย ประคับประคองนักวิ่งหน้าใหม่ ให้เดิน วิ่ง จนถึงเส้นชัยครบทุกคน ซึ่งก็ได้รับตอบรับที่ดี บางปีเรามีการกิจกรรมจัดพร้อมกันกว่า 100 สนาม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมแล้วอยู่ที่ 50,000-80,000 คน”

5
6

อ.ณรงค์ เทียมเมฆ เผยว่า สาเหตุที่มีผู้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก จนสามารถจัดมาได้ต่อเนื่องถึง 18 ครั้ง ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ มาจากการมีเครือข่ายภาคี 10 แห่ง ที่คอยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับ ชมรมวิ่งฯ ในแต่ละจังหวัด ทำให้มีนักวิ่งเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ 

ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การวิ่ง กลายเป็นเทรนด์ที่ผู้คนให้ความสนใจ และสื่อออนไลน์ก็ช่วยในการประสัมพันธ์ได้เป็นอย่างมาก ทำให้งานวิ่งสมาธิ จึงยังสามารถต่อยอดกิจกรรมมาได้ถึงยุคปัจจุบัน 

ข้อมูลที่ อ.ณรงค์ นำมาอ้างอิง นั่นคือ ตัวเลขสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2545 พบว่ามีคนไทยที่ออกกำลังกายโดยการเดินและวิ่ง อยู่ที่ประมาณ 5.8 ล้านคน ขณะที่ ข้อมูลเดียวกัน ในปี 2562 จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ามีคนไทยถึง 17 ล้านคน ที่หันมา เดิน-วิ่ง เพื่อการออกกำลังกาย

ศีล สมาธิ ปัญญา 

“เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทางเรา ตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบงานวิ่งในปีนี้ มาเป็นการวิ่งแบบ Virtual Run ที่นักวิ่งจะเป็นผู้กำหนดเส้นทาง และระยะเวลาของตัวเอง”

“ส่วนตัวผมมองว่า ในวิกฤตมันเป็นโอกาสที่ดี แทนที่นักวิ่งทุกคน จะรอคอยมาวิ่ง มาทำบุญ ถือศีล ฟังธรรม เวียนเทียน แค่เฉพาะวันวิสาขบูชา เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เราจึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนที่ได้รับเสื้อของโครงการในปีนี้ไปแล้ว ถือศีล และนึกถึงคำสอน มีสมาธิตั้งมั่นในทุกๆ ย่างก้าวให้ทุกๆ วัน เป็นวันวิสาขะฯ”

 7

การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบการจัดกีฬาทั่วโลก ผู้คนต่างต้องใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเป็นหลัก ส่วนคนที่รักในการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง อาจไม่สามารถไปวิ่งตามสวนสาธารณะ หรือไปแข่งขันงานวิ่งรายการต่างๆ

แม้โครงการวิ่งสมาธิ จะยังดำเนินต่อในปีที่ 19 พร้อมกับปรับรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่สิ่งหนึ่งที่ อ.ณรงค์ เทียมเมฆ อยากเน้นย้ำถึงผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่าน คือการ ขอให้นักวิ่งทุกคน ใช้ชีวิตอย่างมี ศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักไตรสิกขา เพื่อฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ไปให้ได้

8

9

“ถ้าเราฝึกจิตให้มี ศีล สมาธิ ปัญญา คงอยู่กับตัวทุกขณะ ทุกกิจกรรม เราก็จะผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้” 

“อย่างเช่น ศีล หากเรามีการรักษาศีล เราก็จะเคารพกฎหมาย เคารพข้อกำหนดต่างๆ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ไม่พาตัวเองไปอยู่ที่เสี่ยง ถ้าเรามีสมาธิ เราจะมีสติ ไม่ตื่นตระหนักกลัวจนเกินเหตุ และถ้าเรามีปัญญา เราจะรู้ว่าควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น ต้องใส่หน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อยๆ, อยู่ห่างผู้คน 1-2 เมตร เป็นต้น”

“แต่จิตที่แข็งแรงนั้น ก็จำเป็นต้องอยู่ในร่างกายที่แข็งแกร่งด้วย เราต้องเริ่มสร้างที่ตัวเอง ในการออกกำลังกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ตามพื้นที่และโอกาสที่เหมาะสม” 

“โดยไม่ต้องรอหวังพึ่งอำนาจ อภินิหารจากเครื่องรางของขลัง ถ้าเราเอาหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต เราก็จะมีความสุข พันจากอุปสรรคปัญหาต่างๆไปได้” 

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ วิ่งสมาธิ : โครงการวิ่งแห่งยุคที่ผสมผสานระหว่างการออกกำลังกายกับธรรมะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook