"บ้านเกิดสึบาสะ".. ทำไมชิสุโอกะถึงขึ้นชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งฟุตบอลของญี่ปุ่น?

"บ้านเกิดสึบาสะ".. ทำไมชิสุโอกะถึงขึ้นชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งฟุตบอลของญี่ปุ่น?

"บ้านเกิดสึบาสะ".. ทำไมชิสุโอกะถึงขึ้นชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งฟุตบอลของญี่ปุ่น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงจังหวัดชิสุโอกะ ในภาพจำของคนทั่วไป อาจจะเป็นจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิ หรือแหล่งปลูกชาชื่อดัง แต่สำหรับวงการกีฬา.. "ฟุตบอล" คือของขึ้นชื่อในจังหวัดนี้

พวกเขาคือจังหวัดที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาอำนาจแห่งวงการลูกหนังแดนอาทิตย์อุทัย และเป็นบ้านเกิดของนักเตะชื่อดังหลายราย ในขณะเดียวกัน เมืองยังถูกใช้เป็นฉากหลังในมังงะฟุตบอลชื่อดัง รวมไปถึงมังงะในตำนานอย่าง กัปตันสึบาสะ จนได้รับการขนานนามว่า "อาณาจักรแห่งฟุตบอล"

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ประวัติศาสตร์นับ 100 ปี 

แม้ว่า ฟุตบอล จะไม่ได้เป็นกีฬายอดฮิตอันดับ 1 ของชาวญี่ปุ่น และเพิ่งจะได้รับความนิยมมาไม่ถึง 30 ปี หลังการกำเนิดขึ้นของเจลีกในปี 1993 แต่ไม่ใช่สำหรับชาวจังหวัดชิสุโอกะ จังหวัดขนาดกลางที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของโตเกียว เมื่อพวกเขาผูกพันกีฬาชนิดนี้มาเป็นร้อยปี 

1

จุดเริ่มต้นต้องย้อนกลับไปในปี 1919 เมื่อ ฟูจิโอ โคะบานะ นักเรียนของโรงเรียนชิสุโอกะชินฮัง ได้เห็นเชลยศึกชาวเยอรมันที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสภากาชาดญี่ปุ่นเล่นฟุตบอล เขารู้สึกสนใจในกีฬาชนิดนี้ จึงขอให้เชลยศึกคนนั้นช่วยสอน ก่อนจะก่อตั้งชมรมฟุตบอลขึ้นในโรงเรียนของเขา 

"ปกติแล้ว พ่อเป็นคนเงียบขรึม แต่ก็ได้คนเยอรมันมาช่วยสอนฟุตบอล และชมรมฟุตบอลก็น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น" โคเซอิ โคบานะ ลูกชายวัย 82 ปีกล่าวกับ Sports Hochi  

และมันก็กลายเป็นประกายเล็กๆที่ทำให้ชาวจังหวัดชิสุโอกะได้รู้จักกับเกมลูกหนัง ก่อนที่ในปี 1924 ผู้อำนวยการนิชิโบริ เฮียวซาบุโร จะทำให้ฟุตบอลฝังรากลึกในจังหวัดนี้มากขึ้น เมื่อตัดสินในเลือกกีฬาชนิดนี้มาสอนในวิชาพละศึกษาของโรงเรียนมัธยมต้นชิดะ (ฟูจิเอดะ ฮิงาชิ ในปัจจุบัน) ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น 

ในตอนนั้น เบสบอล ถือเป็นกีฬายอดนิยมของญี่ปุ่น และโรงเรียนส่วนใหญ่ก็เลือกกีฬาชนิดนี้เข้ามาสอนในวิชาพละศึกษาของโรงเรียน แต่ผู้อำนวยการเฮียวซาบุโร กลับคิดต่างออกไป 

เขามองว่าแม้ว่าฟุตบอลเป็นกีฬาที่รู้จักในวงแคบ แต่มันก็เป็นกีฬาที่ใช้อุปกรณ์ไม่มากนัก และเข้าถึงได้ง่าย เพราะมีเพียงแค่รองเท้ากับลูกฟุตบอลก็เล่นได้ ในขณะที่เบสบอล ดูจะเป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนที่ต้องมีฐานะทางการเงินที่ดีพอสมควร 

2

"เป้าหมายสำหรับการแข่งขันกีฬา คือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมพละศึกษาและเสริมสร้างจิตใจให้แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากเป็นกิจกรรมพึงปรารถนาที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในระยะเวลาอันสั้น และใช้เวลาน้อย มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพิจารณาข้อดีของกีฬา กรีฑา เทนนิส และเบสบอล อย่างเคร่งครัด" เฮียวซาบุโรอธิบาย 

"โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากมุมมองเรื่องการพัฒนาด้านจิตใจ พละกำลัง นิสัยกล้าเสี่ยงของผู้ชาย และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว รวมไปถึงความคาดหวังในอนาคตในฐานะการแข่งขันที่ยังไม่พัฒนา จึงได้ส่งเสริมฟุตบอลให้เป็นกีฬาในโรงเรียน"

และดูเหมือนว่าเขาจะตัดสินใจไม่ผิด เมื่อฟุตบอลกลายเป็นกีฬาที่นักเรียนสนใจ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกือบทุกคนไม่รู้จักมาก่อน ทำให้พวกเขากระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ จนสามารถก่อตั้งชมรมฟุตบอลของโรงเรียนได้สำเร็จในปี 1926  

ก่อนที่มันจะกลายเป็นรากฐานของความยิ่งใหญ่ของพวกเขา

ระบบเยาวชนที่ฝังรากลึก 

การสอนฟุตบอลในโรงเรียนมัธยมชิดะ ไม่เพียงสร้างความนิยมในกีฬาลูกหนังให้แก่ผู้คนในโรงเรียนเท่านั้น แต่มันจะส่งอิทธิพลไปถึงคนในเมืองฟูจิเอดะ จนถึงขนาดมีชาวเมืองมาชมการซ้อมของพวกเขาเป็นประจำทุกวัน 

มันเป็นผลมาจากการปลูกฝังแบบรุ่นต่อรุ่น เมื่อนักเรียนของโรงเรียนชิดะที่เคยเรียนฟุตบอล ส่วนใหญ่ต่างกลับมาเป็นครูในบ้านเกิดหลังจบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย และแน่นอน พวกเขาได้นำความรู้ด้านฟุตบอลมาสอนให้กับเด็กรุ่นต่อไป 

3

และไม่ใช่แค่ในเมืองฟูจิเอดะเท่านั้น เมื่อความนิยมในเกมลูกหนังยังแพร่กระจายไปสู่เมืองข้างเคียงอย่าง เมืองชิมิสุ (ปัจจุบันถูกผนวกรวมเข้ากับเมืองชิสุโอกะ) ที่ทำให้พวกเขาพยายามสร้างทีมขึ้นมาเพื่อต่อกรเมืองเพื่อนบ้าน

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการก่อตั้งทีมเยาวชนประจำเมือง โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาฟุตบอลในเมืองให้แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างกลุ่มเยาวชนที่เล่นฟุตบอล และมีการคัดเลือกนักเตะเข้ามาติดทีมรวมดาราที่ชื่อว่า All Shimizu อีกด้วย 

นอกจากนี้พวกเขายังวางรากฐานในระดับเยาวชนอย่างจริงจัง ด้วยการก่อตั้งลีกระดับประถม รวมไปถึงการเปิดคอร์สอบรมการเป็นโค้ชฟุตบอลให้กับคนในท้องถิ่น เพื่อกระจายความรู้ที่มีออกไปในวงกว้าง   

"ในปี 1955 เมืองชิมิสุพยายามไล่กวดเมืองฟูจิเอดะที่เป็นผู้นำทางด้านฟุตบอลของจังหวัดในตอนนั้น ทำให้มีการต่อตั้งชมรมฟุตบอลของทีมเยาวชน รวมไปถึงมีการคัดเลือกทีมออลชิมิสุ (ต่อมากลายเป็น ชิมิสุ เอฟซี) เพื่อทำให้เมืองกลายเป็นผู้นำด้านฟุตบอลให้เร็วขึ้น" งานวิจัยเรื่อง 社会サッカー学のすすめ ระบุ

"นอกจากนี้ยังได้มีการก่อตั้งลีกระดับประถม มีการเปิดสอนคอร์สการเป็นโค้ชระดับเยาวชนในโรงเรียนและให้ความรู้ทางเทคนิค ที่ทำให้ฟุตบอลแพร่หลายและพัฒนาไปอย่างมั่นคงและราบรื่น หลังจากนั้นก็เพิ่มระดับของอายุจากประถมไปจนถึงมัธยมปลาย ที่ทำให้โรงเรียนของพวกเขาคว้าแชมป์ระดับประเทศ และทำให้ชื่อของพวกเขาดังกึกก้องไปทั่ว" 

4

ความพยายามของพวกเขาช่วยยกระดับฟุตบอลในจังหวัดให้สูงขึ้น ก่อนที่ในปี 1962 จังหวัดชิสุโอกะประกาศศักดาในระดับประเทศ หลังโรงเรียนฟูจิเอดะ ฮิงาชิ ผงาดคว้าแชมป์ฟุตบอลมัธยมปลายชิงแชมป์แห่งชาติ หรือศึกชิงแชมป์ฤดูหนาวได้สำเร็จ

และมันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จังหวัดชิสุโอกะกลายเป็นราชาแห่งวงการฟุตบอลมัธยมปลายญี่ปุ่น เมื่อหลังจากนั้น พวกเขาสามารถก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้อีก 9 สมัย และรองแชมป์อีก 9 สมัย โดยฟูจิเอดะ ฮิงาชิ คือทีมที่คว้าแชมป์ได้มากที่สุด หลังกวาดไป 4 สมัย และรองแชมป์อีก 3 สมัย 

สถิติดังกล่าวยังทำให้ชิสุโอกะ กลายเป็นจังหวัดที่คว้าแชมป์มัธยมปลายฤดูหนาวได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยเป็นรองแค่เพียงจังหวัดเฮียวโงะ (แชมป์ 19 สมัย รองแชมป์ 9 สมัย) และจังหวัดไซตามะ (แชมป์ 13 สมัย รองแชมป์ 3 สมัย) เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขายิ่งใหญ่

สภาพแวดล้อมที่เข้มงวด 

แม้ว่าการวางรากฐานอย่างมีระบบ จะทำให้ฟุตบอลของจังหวัดชิสุโอกะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนสามารถสร้างทีมขึ้นมาอยู่แถวหน้าของประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก่งแย่งชิงดีความเป็นเบอร์หนึ่งของจังหวัด ก็มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้ทีมของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้น 

โยชิคัตสึ คาวางุจิ อดีตผู้รักษาประตูทีมชาติญี่ปุ่นชุดฟุตบอลโลก และอดีตนักเตะของโรงเรียนพานิชย์ชิมิสุ ที่เคยคว้าแชมป์ฤดูหนาวเมื่อปี 1993 คือคนที่เคยอยู่ในเหตุการณ์นี้โดยตรง และเขาก็ยังจำไม่ลืมถึงความกดดันที่ได้รับ 

5

"เนื่องจากผมอยู่ในทีมที่เป็นตัวแทนของจังหวัดชิสุโอกะ ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่จะคว้าแชมป์ระดับชาติ ดังนั้น การได้เพียงรองแชมป์จึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ ผมคิดว่ามันเป็นเพราะผมมีจิตวิญญาณแห่งชัยชนะอยู่ในตัว" อดีตนายด่านจูบิโล อิวาตะ กล่าวกับ Sportiva 

"แต่ว่าแม้ว่าเราจะคว้าแชมป์ฤดูหนาว แต่ในปีนั้น เราก็แพ้ในรอบ 4 ทีมสุดท้ายในอินเตอร์ไฮ เรารู้สึกอับอายและไม่สามารถกลับไปชิสุโอกะได้ทันที เราจึงอยู่ซ้อมต่อหลังจากนั้น ผมจำได้ว่าเรากลับไปถึงในตอนกลางคืน เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงกลางวัน ผมเติบโตมาจากสายตาที่เข้มงวดอย่างนั้น" 

6

ในขณะที่ คัตสึมิ โอเอโนกิ อดีตนักเตะและผู้จัดการทีมชิมิสุ เอสพัลส์ ที่เคยคว้าแชมป์ฤดูหนาวกับชิมิสุ ฮิงาชิ เมื่อปี 1983 ให้เหตุผลว่ามันเป็นเพราะการถูกปลูกฝังประสบการณ์การคว้าแชมป์มาตั้งแต่เป็นเด็ก จึงทำให้พวกเขายึดมั่นในชัยชนะ 

"ความแข็งแกร่งของโรงเรียนมัธยมปลายของเมืองชิมิสุมาจากการฝึกฝนและลับฝีเท้ามาตั้งแต่ประถม และจากตอนนั้นทำให้เกิดการซึมซับและยึดมั่นว่าชัยชนะคือเป้าหมายสูงสุด แม้เป็นการแข่งขันระดับชาติ ก็ต้องคว้าแชมป์เท่านั้น ตัวผมเองก็ยังเคยมีประสบการณ์คว้าแชมป์ระดับประเทศตอนสมัยประถม" โอเอโนกิ กล่าวกับ Sportiva 

"เพราะว่ามีพื้นฐานมาจากเรื่องนี้ ทำให้แม้แต่ตอนขึ้นมัธยมปลาย ผู้เล่นต่างคิดถึงแต่การคว้าแชมป์ระดับประเทศด้วยกันทั้งนั้น"

เช่นกันสำหรับ มาซาฮารุ ซูซูกิ อดีตผู้เล่น โยโกฮามา เอฟ มารินอส และ นาโงยา แกรมปัส แม้ว่าเขาจะไม่เคยได้ร่วมทีมไปเล่นในศึกชิงแชมป์ทั่วประเทศ แต่เขาก็ยังจำได้ดีถึงความดุเดือดในการแย่งชิงความเป็นเบอร์หนึ่งของจังหวัดสมัยเล่นให้กับ ชิสุโอกะ กัคคุเอ็น ในช่วงปี 1986-1988 

7

"โรงเรียนที่เป็นคู่แข่งมักจะมีดาวดังระดับประเทศเสมอ มันจึงเป็นกำแพงที่หนามาก ชิสุโอกะ กัคคุเอ็น ก็เป็นทีมที่แข็งแกร่งหากอยู่ในจังหวัดอื่น เพราะว่าเราไม่เคยแพ้ทีมไหน (นอกจังหวัด) ผมคิดว่ามันคงจะดีหากจังหวัดชิสุโอกะได้โควต้า 3 ทีมในการแข่งขันทั่วประเทศ" ซูซูกิให้ความเห็น 

"แต่การต้องต่อสู้กันในสถานที่ที่เข้มงวดเช่นนี้ ทำให้นักกีฬาจากโรงเรียนในจังหวัดชิสุโอกะมีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง ที่ผมสามารถเล่นอาชีพและก้าวผ่านมันได้ ก็เป็นเพราะประสบการณ์มากมายที่เก็บเกี่ยวมาจากสามปีในชีวิตมัธยมปลาย" 

และสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้พวกเขากลายเป็นแกนหลักในการพัฒนาวงการฟุตบอลญี่ปุ่น

ผู้ค้ำจุนฟุตบอลแดนซามูไร

แน่นอนว่าการพัฒนาอย่างเป็นระบบของชิสุโอกะ ไม่เพียงแต่ทำให้ทีมฟุตบอลมัธยมของพวกเขาแข็งแกร่ง แต่มันยังทำให้จังหวัดแห่งนี้ สามารถผลิตนักฟุตบอลออกมาได้เป็นลำดับต้นๆของประเทศ 

จากผลสำรวจของ [とどラン] ซึ่งเป็นการจัดอันดับความเป็นพลเมืองระบุว่า ในเจลีกฤดูกาล 2018 มีนักเตะที่เล่นในลีกอาชีพญี่ปุ่น (เจ 1, เจ 2, เจ 3) ที่มาจากจังหวัดชิสุโอกะถึง 1,427 คน ซึ่งหมายความว่าทุกประชากร 100,000 คน จะมีคนเป็นนักฟุตบอลเจลีก 1.12 คน 

8

ทำให้พวกเขากลายเป็นจังหวัดที่มีนักเตะเจลีกมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากร แม้ว่าหากนับจำนวนรวมจังหวัดอย่าง โตเกียว หรือ ไซตามะ จะมีมากกว่าพวกเขาในหลักร้อยก็ตาม 

หรือหากดูแค่เมืองชิมิสุ เมืองที่เป็นฐานที่มั่นของ ชิมิสุ เอสพัลส์ ต้นสังกัดของ ธีรศิลป์ แดงดา ในฤดูกาลปัจจุบัน จะพบว่าจากประชากร 240,000 คน มีคนที่ลงทะเบียนเป็นนักฟุตบอลไว้สูงถึง 30,000 คน หรือมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งเมืองเลยทีเดียว

และไม่ใช่ในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคุณภาพ เมื่อชิสุโอกะคือจังหวัดที่เป็นแหล่งปลุกปั้นนักเตะฝีเท้าดีออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ยุคเก่าอย่าง "คิง คาซู" คาซุโยชิ มิอุระ, มาซาชิ "กอน" นาคายามะ หรือ ชินจิ โอโนะ มาจนถึงรุ่นปัจจุบันอย่าง มาโคโตะ ฮาเซเบะ อดีตกัปตันทีมชาติญี่ปุ่น หรือ เรียวตะ โอชิมะ เพลย์เมกเกอร์คาวาซากิ ฟรอนทาเล แชมป์เจลีกฤดูกาลที่ก่อนหน้าโน้น

แถมในปี 1998 ที่ญี่ปุ่นได้ผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ชิสุโอกะยังสามารถส่งนักเตะเข้าไปเป็นหนึ่งใน 23 ขุนพลสุดท้ายได้ถึง 9 คน ได้แก่ นาคายามะ, คาวางุจิ, นาโอกิ โซมะ, เทรุโยชิ อิโต, ฮิโรชิ นานามิ, โอโนะ, โทชิฮิโระ ฮัตโตริ, โทชิฮิเดะ ไซโต และ ทาคาชิ ฮิราโนะ และแน่นอนว่าเป็นจังหวัดที่มีนักเตะติดทีมเข้าไปมากที่สุดของญี่ปุ่น

นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีสโมสรอยู่ในลีกอาชีพถึง 4 ทีมคือ ชิมิสุ เอสพัลส์ ที่เล่นอยู่ในเจ 1, จูบิโล อิวาตะ ที่อยู่ในเจ 2 และ ฟูจิเอดะ เอ็มวายเอฟซี และ อาซุล คลาโร นุมาซุ ที่เล่นอยู่ในเจ 3 โดย จูบิโล คือทีมที่มีผลงานดีสุด หลังเคยก้าวไปถึงแชมป์เจลีก 3 สมัย 

9

และความยิ่งใหญ่ของพวกเขา ก็ไม่ได้มีอิทธิพลแค่ในโลกจริง แต่ยังส่งผลไปถึงโลกแห่งจินตนาการ เมื่อมันทำให้เมืองแห่งนี้ถูกเลือกเป็นฉากหลังในมังงะฟุตบอลชื่อดังอย่าง "กัปตันสึบาสะ" หรือ "Shoot!" 

แม้ว่าอาจารย์ โยอิจิ ทาคาฮาชิ จะยอมรับว่าโรงเรียนนันคัตสึ ในการ์ตูนของเขามีต้นแบบมาจากโรงเรียนมินามิ คัตสึชิกะ บ้านเกิดในกรุงโตเกียว แต่เขาก็ตั้งใจให้โรงเรียนของ โอโซระ สึบาสะ ตัวเอกของเรื่องมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชิสุโอกะ และเขียนอธิบายไว้ในเรื่องอย่างชัดเจน

เช่นกันสำหรับอาจารย์ สึคาสะ โอชิมะ ที่ใช้เมืองคาเคงาวะ ในจังหวัดชิสุโอกะ เป็นที่ตั้งของชมรมฟุตบอลคาเคงาวะ ของเหล่าสามทหารเสือ โทชิฮิโกะ ทานากะ, คาสุฮิโร ฮิรามัตสึ และ ชิราอิจิ เคนจิ ที่โลดแล่นอยู่บนแผงหนังสืออยู่หลายสิบปี 

มันจึงไม่ใช่คำกล่าวเกินเลยที่หากพูดถึงฟุตบอล แล้วต้องนึกถึงจังหวัดชิสุโอกะ เมื่อมันกลายเป็นภาพจำของคนทั่วไปตั้งแต่ยุค 1960's เป็นต้นมา จนทำให้พวกเขาได้รับฉายาว่า "อาณาจักรแห่งฟุตบอล" 

10

"ซีรีส์สึบาสะเริ่มต้นขึ้นในปี 1981 และในตอนนั้นยังไม่มีเจลีก จริงอยู่แม้ว่าจะมีลีกญี่ปุ่นแล้ว แต่ฟุตบอลมัธยมปลายก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ซึ่งในช่วงเวลานั้น โรงเรียนมัธยมปลายจากชิสุโอกะก็แข็งแกร่งมาก" อ.ทาคาฮาชิอธิบายกับ Soccer King

"ดูเหมือนว่าในตอนนั้นนักเตะทีมชาติเกือบครึ่งล้วนมาจากจังหวัดชิสุโอกะ ทำให้ตั้งแต่ตอนนั้นชิสุโอกะมีภาพจำเต็มไปด้วยมีนักเตะเก่งๆมากมาย" อ.ทาคาฮาชิกล่าวต่อ

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าในช่วงหลัง มันกลับไม่เป็นอย่างนั้น

ราชันตกบัลลังก์ 

"ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทีมฟุตบอลในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายจากจังหวัดชิสุโอกะ ไม่สามารถคว้าแชมป์ระดับชาติได้" ผู้ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวกับ Sportiva

"มันจึงไม่สามารถพูดได้ว่าการตกชั้นของจูบิโล (เมื่อปี 2013) ไม่เกี่ยวข้องกับผลงานที่ตกลงของทีมนักเรียนที่เป็นตัวแทนจังหวัดชิสุโอกะในเวทีระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับโรงเรียนที่แข็งแกร่งที่เคยเอาชนะการแข่งขันทั่วประเทศ และเป็นแหล่งของนักเตะฝีเท้าดี" 

11

เพราะนับตั้งแต่ปี 1998 ที่โรงเรียนพาณิชย์ชิมิสุ จอดป้ายเพียงแค่รอบ 3 ผลงานของทีมโรงเรียนมัธยมจากจังหวัดชิสุโอกะก็ตกลงอย่างน่าใจหาย เมื่อจนถึงปี 2018 มีเพียงฟูจิเอดะ ฮิงาชิ เท่านั้นที่ไปไกลกว่ารอบ 4 ทีมสุดท้าย หลังคว้ารองแชมป์ในปี 2007 

เช่นกันนักเตะฝีเท้าดีที่มาจากจังหวัดชิสุโอกะก็มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดูได้จากจำนวนนักเตะที่ติดทีมเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จาก 9 คนในปี 1998 ลดลงมาเหลือ 6 คนในปี 2002 และ 3 คนในปี 2006 ก่อนจะเหลือเพียงแค่ 2 คนในปี 2018 ที่มีเพียง ฮาเซเบะ กับ เรียวตะ โอชิมะ เท่านั้น ที่เป็นลูกหลานจากจังหวัดเชิงภูเขาไฟฟูจิแห่งนี้

"และไม่ใช่แค่ผลงานของจูบิโลหรือชิมิสุเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเหล่านักเตะพรสวรรค์ที่เคยมีส่วนช่วยทีม มันมีจำนวนลดลงในตอนนี้ แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลต่อความแข็งแกร่งของทีมอย่างเลี่ยงไม่ได้" ผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนเดิมกล่าว

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทีมจากชิสุโอกะไม่เก่งกาจเหมือนเก่า คือการที่โลกพัฒนาไปข้างหน้าอย่างเท่าทันกัน เพราะในช่วงบุกเบิก ชิสุโอกะมีองค์ความรู้ที่ก้าวล้ำกว่าจังหวัดอื่น แต่ในยุคที่ทุกคนมีเทคโนโลยีและสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เหมือนกัน ทำให้นักเตะของพวกเขาไม่ได้โดดเด่นกว่าจังหวัดอื่นอีกแล้ว 

12

"ในอดีต เราไม่มีคู่มือฟุตบอล ดังนั้น โค้ชจึงต้องหาวิธีและดัดแปลงเพื่อสอนผู้เล่น แต่ตอนนี้เรามีคู่มือดีๆมากมาย ซึ่งเราก็ฝึกและสอนผู้เล่นจากสิ่งนี้" โยจิ โมจิสุกิ ผู้จัดการทั่วไปทีมฟุตบอลโรงเรียนโทไคไทโช ชิสุโอกะให้เหตุผล 

"ดังนั้น ถ้าพวกเขาเติบโตขึ้นมาเป็นผู้เล่นแบบเดียวกัน และออกไปเล่นในระดับประเทศ มันจึงไม่มีอะไรที่แตกต่างจากนักเตะที่มาจากจังหวัดอื่น" 

มันจึงทำให้นักเตะจากชิสุโอกะ ที่เคยมีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ในอดีต กลายเป็นนักเตะที่อยู่ในระดับค่าเฉลี่ยทั่วไป และมันก็ทำให้พวกเขาได้รับความสนใจจากสโมสรในเจลีกน้อยลงกว่าในอดีต 

"เราอยากให้คนท้องถิ่นเข้าร่วมสโมสรอาชีพ ด้วยความหวังว่ามันจะช่วยเป็นพลังเสริมที่มาจากความรักในท้องถิ่นของพวกเขา แน่นอนมันเป็นเรื่องดีที่อัตรานักเรียนที่จบจากโรงเรียนในชิสุโอกะทำให้ จูบิโล และ เอสพัลส์ แข็งแกร่งขึ้น" แมวมองสโมสรในเจลีกคนหนึ่งระบุ

"แทบไม่ต้องสงสัยว่านี้คือปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังนี้ แต่แม้ว่าเราอยากให้นักเรียนจากโรงเรียนในชิสุโอกะเข้าทีมขนาดไหน แต่ก็ไม่มีนักเตะในระดับนั้นในปัจจุบัน" 

13

อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อในเดือนมิถุนายนปี 2019 สมาคมฟุตบอลระดับมัธยมประจำจังหวัดชิสุโอกะ พยายามที่จะกู้คืนความยิ่งใหญ่ของพวกเขาให้กลับมา ด้วยโครงการชื่อ "ฟื้นฟูอาณาจักรฟุตบอลชิสุโอกะ" 

โครงการนี้เป็นความร่วมมือกับเจลีก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับฟุตบอลในท้องถิ่น โดยเริ่มจากการจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ภายในจังหวัดในชื่อ "ชิสุโอกะ แชมเปียนส์ลีก" รวมไปถึงการเข้าค่ายเก็บตัวฝึกซ้อมโดยเลือกนักเตะฝีเท้าดีจากทั่วจังหวัดมาเล่นด้วยกัน  

ในขณะเดียวกันพวกเขายังมีแผนให้ทีมโรงเรียนได้ลงเตะกระชับมิตรกับทีมเยาวชนจากเจลีก รวมไปถึงเชิญโค้ชอาชีพสอนและให้ความรู้แก่นักเตะในท้องถิ่น 

"ผมอยากให้ผู้เล่นเป็นแรงบันดาลใจให้แก่กันและมุ่งหน้าไปสู่ระดับโลกพร้อมกันอย่างจริงจัง ผมหวังว่านี่จะเป็นโอกาสที่เราจะกะเทาะเปลือกออกไป" อาคิฮิโระ โอคาวะ ประธานสมาคมฟุตบอลมัธยมชิสุโอกะกล่าวกับ Shizuoka Shinbun

14

และดูเหมือนว่าความพยายามของพวกเขาจะเริ่มออกผล เมื่อในเดือนมกราคม 2020 ชิสุโอกะ กัคคุเอ็น กู้หน้าให้วงการฟุตบอลชิสุโอกะได้สำเร็จ หลังก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ฤดูหนาวได้สำเร็จ หลังเอาชนะ อาโอโมริ ยามาดะ แชมป์เก่า 3-2 ในนัดชิงชนะเลิศ โดยถือเป็นทีมแรกของจังหวัดในรอบกว่า 20 ปี

สิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับพวกเขาในการกลับมาทวงบัลลังก์ความเป็นมหาอำนาจแห่งวงการฟุตบอลญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้ชาวเมืองชิสุโอกะมีความหวังว่า "อาณาจักรแห่งฟุตบอล" จะกลับมาสู่จังหวัดนี้อีกครั้งในเร็ววัน 

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ "บ้านเกิดสึบาสะ".. ทำไมชิสุโอกะถึงขึ้นชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งฟุตบอลของญี่ปุ่น?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook