ไม่มีวันแตกสลาย : "หลุยส์ แซมเปอรินี่" นักวิ่งโอลิมปิกผู้ถูกจับเป็นเชลยศึกสงครามกว่า 2 ปี

ไม่มีวันแตกสลาย : "หลุยส์ แซมเปอรินี่" นักวิ่งโอลิมปิกผู้ถูกจับเป็นเชลยศึกสงครามกว่า 2 ปี

ไม่มีวันแตกสลาย : "หลุยส์ แซมเปอรินี่" นักวิ่งโอลิมปิกผู้ถูกจับเป็นเชลยศึกสงครามกว่า 2 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ถ้าคุณถูกจับไปทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างหนัก โดนทุบตีทุกวันเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี คุณจะให้อภัยกับคนที่กระทำกับคุณแบบนั้นได้หรือเปล่า?"

นี่คือคำถามที่ หลุยส์ แซมเปอรินี่ ชายหนุ่มอดีตนักวิ่งโอลิมปิกทีมชาติสหรัฐอเมริกัน ก่อนชีวิตจะพลิกผันกลายไปเป็นเชลยศึกของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้องใช้เวลากว่าค่อนชีวิตเพื่อค้นหาคำตอบ 

ติดตามเรื่องราวการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ว่าคุณค่าชีวิตไม่มีวันแตกสลายของ หลุยส์ แซมเปอรินี่ ได้ที่ Main Stand

เด็กหนุ่มเจ้าความเร็ว

ก่อนที่จะกลายเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ แซมเปอรินี่ เป็นเพียงเด็กชายธรรมดาที่ลืมตาดูโลกในปี 1917 ณ รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางครอบครัวผู้อพยพชาวอิตาลีฐานะยากจน ทำให้เพียง 2 ปีหลังจากนั้น ครอบครัวของเขาต้องย้ายจากรัฐนิวยอร์กสู่รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อดิ้นรนหางานและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

1

การเป็นครอบครัวผู้อพยพ ทำให้ แซมเปอรินี่ พูดภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก เนื่องจากภาษาหลักที่เขาใช้คือภาษาอิตาเลียน ประกอบกับการมีฐานะยากจน ส่งผลให้ แซมเปอรินี่ ต้องกลายเป็น "คนแกร่ง" มาตั้งแต่เด็ก.. เขาไม่ใช่อันธพาล ไม่เคยหาเรื่องใครก่อน แต่เขาจำเป็นต้องฝึกฝนศิลปะการต่อสู้จากผู้เป็นพ่อ เพื่อป้องกันตัวจากคนรอบข้างที่พร้อมจะรังแกเขาตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ภาพลักษณ์ของ แซมเปอรินี่ ในวัยเด็กจึงดูเป็น "นักเลงหัวไม้" ตั้งกลุ่มตั้งแก๊งกับเพื่อน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ 

"ผมทำตัวแบบนั้นเพราะแค่ผมไม่อยากถูกรังแก" แซมเปอรินี่ ในวัย 90 ปี เล่าย้อนความหลังกับ The Atlantic 

2

ทว่านานวันเข้า ในสายตาของครอบครัว แซมเปอรินี่ ก็เริ่มกลายเป็นเด็กเหลวไหลไร้อนาคตเข้าไปทุกที เมื่อเป็นเช่นนั้น พี่ชายแท้ๆของเขาซึ่งเป็นดาวเด่นในชมรมกรีฑาโรงเรียนมัธยมทอร์รันซ์ จึงชักชวนน้องชายให้เข้าชมรมตามมาด้วย โดยหวังว่ากีฬาชนิดนี้จะช่วยปรับพฤติกรรมของ แซมเปอรินี่ ให้ดีขึ้น

แซมเปอรินี่ จึงเข้าสู่โลกแห่งการวิ่งเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ปี

"หลังจากนั้น ผมก็ตัดสินใจว่าจะวิ่งไปทุกที่ บ้านผมห่างจากชายหาด 4 ไมล์ ผมก็วิ่งไปโดยไม่ใช่ยานพาหนะใดๆ" 

"ผมทำแบบนั้นตลอดช่วงฤดูร้อนเพื่อจะดูว่าตัวเองวิ่งได้เร็วแค่ไหน แค่วิ่ง วิ่ง วิ่ง และก็วิ่งไปโดยไม่ได้จับเวลาอะไรเลย" แซมเปอรินี่ กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อการวิ่ง เขาค้นพบว่าตัวเองชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ลอง ก่อนที่จะเล่าต่อไปอีกว่า

"ก่อนหน้าที่ผมจะเริ่มวิ่ง ทั้งโรงเรียนมีคนรู้จักชื่อผมแค่ 2-3 คน แต่หลังจากที่ผมวิ่งชนะ ทั้งโรงเรียนก็เริ่มเรียกชื่อผม" 

3

เมื่อได้รับคำชื่นชม บวกกับพรสวรรค์ระดับสูงที่ทำให้เขาไม่เคยพ่ายแพ้ให้กับใครเลยตลอด 3 ปีในการเรียนมัธยมปลาย แซมเปอรินี่ คือคนที่เร็วที่สุดในทุกระยะ จนได้รับฉายาว่า "ทอร์รันซ์ ทอร์นาโด" เด็กหนุ่มจึงรู้แล้วว่าชีวิตเขาต่อจากนี้จะก้าวไปในเส้นทางไหน

ในปี 1934 แซมเปอรินี่ สามารถทำลายสถิติของรัฐแคลิฟอร์เนียในการวิ่งระยะทาง 1 ไมล์ได้ ด้วยเวลา 4 นาที 21 วินาที และด้วยผลงานก็ทำให้ แซมเปอรินี่ ได้รับทุนให้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย หรือ USC

ดูเหมือนว่าเส้นทางการเป็นนักวิ่งของเขากำลังจะไปได้สวย..

เผชิญหน้าฮิตเลอร์

เมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย ฝีเท้าของ แซมเปอรินี่ ก็ไม่ได้แผ่วลง เขายังคงประกาศศักดาการเป็นเจ้าความเร็วด้วยการคว้าแชมป์วิ่งอีกหลายรายการ ทำลายสถิติมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระยะ 1,500 เมตร 

จนกระทั่งเมื่อโอลิมปิกปี 1936 ใกล้เข้ามา เด็กหนุ่มเชื้อสายอิตาเลียนคนนี้รู้สึกว่าตัวเองน่าจะมีดีพอแล้วสำหรับการเข้าคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนไปแข่งในมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้

4

ในตอนแรกความฝันดังกล่าวเกือบจะไม่กลายเป็นความจริง เนื่องจากในยุคสมัยดังกล่าวนักกีฬาทุกคนที่มีความประสงค์เข้าร่วมการคัดเลือกต้องจ่ายทั้งค่าที่พักและเดินทางด้วยตัวเอง ซึ่งมันได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ แซมเปอรินี่ ที่มีฐานะยากจน ทว่าสุดท้ายพ่อของเขาซึ่งทำงานเป็นพนักงานเดินตั๋วรถไฟก็สามารถหาตั๋วฟรีให้กับเขาได้ ส่วนเงินค่าที่พักก็ได้มาจากการระดมทุนในหมู่ผู้อพยพด้วยกัน

"พวกเขาทุกคนฝากความหวังไว้ว่าผมจะกลายเป็นฮีโร่ของผู้อพยพอิตาลีด้วยกัน" แซมเปอรินี่ กล่าว

ณ เกาะแรนดัลส์ รัฐนิวยอร์ก สถานที่คัดเลือกนักวิ่งเพื่อเข้าร่วมโอลิมปิก วันนั้นเป็นวันที่อากาศร้อนจัด อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักวิ่ง แต่เมื่อ แซมเปอรินี่ เดินทางไปถึง เขาก็พบกับอุปสรรคที่ใหญ่กว่าสภาพอากาศ

อย่างที่กล่าวไปว่าระยะที่ แซมเปอรินี่ ถนัดในการวิ่งคือ 1,500 เมตร ถึงแม้เขาจะเคยวิ่งระยะอื่นมาบ้างก็ตาม ทว่าเมื่อเด็กหนุ่มได้ทราบถึงคู่แข่งในระยะ 1,500 เมตรว่าล้วนแต่เป็นนักวิ่งชื่อดัง เคยมีผลงานระดับชาติมาแล้วทั้งนั้น โอกาสที่เขาจะเอาชนะได้แทบเป็นศูนย์ แซมเปอรินี่ จึงตัดสินใจอย่างกะทันหันว่าจะลงสมัครในระยะ 5,000 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่เขาถนัดรองลงมาแทน

เมื่อสัญญาณออกตัวดังขึ้น แซมเปอรินี่ ทำได้ดีกว่าที่ใครคิด ตลอดระยะทาง 5 กิโลเมตรเขาเกาะอยู่ในกลุ่มผู้นำตลอด จนสุดท้ายการแข่งขันก็จบลงโดยที่เขาเป็นผู้ชนะร่วมกับ ดอน แลช เจ้าของสถิติอเมริกา ณ ขณะนั้น (ยุคสมัยดังกล่าวยังไม่มีเทคโนโลยีช่วยตัดสินในกรณีที่เข้าเส้นชัยเกือบพร้อมกัน) พร้อมกับคว้าตั๋วไปแข่งโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลินได้สำเร็จ

ปี 1936 ณ กรุงเบอร์ลิน 

แซมเปอรินี่ เดินทางถึงเมืองหลวงแห่งจักรวรรดินาซีพร้อมกับกองทัพนักกีฬาสหรัฐอเมริกา และด้วยวัยเพียง 19 ปี 178 วัน ทำให้เขากลายเป็นนักวิ่งอายุน้อยที่สุดที่เข้าร่วมการวิ่ง 5,000 เมตรในศึกโอลิมปิกจวบจนปัจจุบัน

"ผมเป็นเด็กที่เติบโตมาในยุควิกฤติเศรษฐกิจ Great Depression ผมไม่เคยได้กินอาหารดีๆเลย แต่ที่นั่น (โอลิมปิก) มีอาหารดีๆเต็มไปหมด มีไข่กับเบคอนไม่อั้น และที่สำคัญคือกินได้ฟรีๆ ผมตื่นเต้นกับสิ่งนั้นมาก" แซมเปอรินี่ กล่าวอย่างติดตลกถึงความทรงจำครั้งอดีต

5

ทั้ง แซมเปอรินี่ และ แลช ไม่ใช่ตัวความหวังของทัพสหรัฐอเมริกา การจะขึ้นโพเดี้ยมคว้าเหรียญรางวัลแทบจะเป็นไปไม่ได้ถ้าวัดตามหน้าเสื่อกับนักกีฬาชาติอื่นๆ ดังนั้น เด็กหนุ่มจึงสนุกกับชีวิตในกรุงเบอร์ลินได้อย่างเต็มที่ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสัญญาณออกตัวดังขึ้น แซมเปอรินี่ ก็ทำให้ทุกคนที่เคยมองข้ามหันกลับมามองเขาได้สำเร็จ จริงอยู่ที่สุดท้ายเขาจะจบด้วยอันดับที่ 8 ด้วยเวลา 14 นาที 46.8 วินาทีตามหลัง กุนนาร์ ฮอคการ์ด นักวิ่งตัวเต็งจากฟินแลนด์ผู้คว้าเหรียญทองกว่า 24 วินาที แต่สำหรับเด็กหนุ่มวัยเพียง 19 ปีที่ไร้ซึ่งประสบการณ์ระดับนานาชาติเท่านี้ก็ถือว่ายอดเยี่ยมมากแล้ว

นอกจากนั้น อีกหนึ่งสถิติที่น่าทึ่งของ แซมเปอรินี่ คือการที่เขาวิ่ง 400 เมตรสุดท้ายด้วยเวลาเพียง 56 วินาที ซึ่งเร็วกว่าทุกคนในการแข่งขัน เป็นข้อพิสูจน์ว่าจริงๆแล้วเขายังมีเรี่ยวแรงเหลืออีกเยอะ ทำได้ดีกว่านี้อีกมาก เพียงแต่เขาขาดประสบการณ์ จึงไม่รู้ว่าควรจะปรับจังหวะการวิ่งของตัวเองอย่างไร

ความยอดเยี่ยมของ แซมเปอรินี่ ไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินจริง เพราะแม้แต่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หนึ่งในบุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งได้เข้ามาชมการแข่งขันครั้งนี้ในสนามด้วย ถึงขั้นเรียกตัว แซมเปอรินี่ เข้าไปพบ

6

"ตอนนั้นผมยังเด็กและไร้เดียงสาทางการเมืองมาก ผมยังไม่รู้ถึงความชั่วช้าของเขา ผมเห็นเขาเป็นเหมือนตัวละครในหนังตลก ที่ไว้หนวด และกระทืบเท้าแปลกๆ" แซมเปอรินี่ กล่าวกับ The New York Times

เมื่อทั้งคู่ได้เผชิญหน้ากัน ประโยคแรกที่ ฮิตเลอร์ กล่าวกับ แซมเปอรินี่ คือ

"อ่า นายคือเด็กหนุ่มที่วิ่งเร็วคนนั้นสินะ" จากนั้นก็มีบทสนทนากันอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะจับมือแยกย้ายกัน 

"เขาผอมกว่าที่คิด" แซมเปอรินี่ กล่าวถึง ฮิตเลอร์ ทว่าความแสบสันต์ของเด็กหนุ่มนักวิ่งยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากที่ ฮิตเลอร์ กับผู้ติดตามเดินออกไปแล้ว แซมเปอรินี่ ได้แอบขโมยธงจักรวรรดินาซีเล็กๆ ที่ประดับอยู่ในห้องดังกล่าวติดมือกลับมาด้วย

เมื่อโอลิมปิกครั้งดังกล่าวจบลง แซมเปอรินี่ ก็เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาพร้อมกองทัพนักกีฬา จากนั้นเขาก็มุ่งมั่นฝึกซ้อมฝีเท้ายิ่งกว่าเดิม โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า โอลิมปิก 1940 จะต้องเป็นปีของเขา

ทว่าโอลิมปิกปี 1940 ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาเสียก่อน

สหรัฐอเมริกา ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทในสงครามมากที่สุด พวกเขาจำเป็นต้องใช้กำลังพลเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ชายฉกรรจ์ทั่วประเทศจึงถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมรบด้วย.. แซมเปอรินี่ คือหนึ่งในนั้น 

ในปี 1941 ด้วยวัย 27 ปี แซมเปอรินี่ เข้าประจำการในกองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วยยศร้อยตรี ก่อนที่จะถูกส่งไปประจำการยังเกาะฟูนะฟูตีในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเขาเป็นสมาชิกของฝูงบิน Super Man ที่ขับเครื่องบินทิ้งระเบิด B-24 Liberator

7

วันที่ 27 พฤษภาคม 1943 แซมเปอรินี่ พร้อมเพื่อนอีก 10 คนได้รับมอบหมายให้ขับเครื่องบินออกไปค้นหาฝูงบินทิ้งระเบิดซึ่งขาดติดต่อไปบริเวณเกาะนาอูรู 

ทว่าหลังจากออกบินไปได้ไม่นาน เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เครื่องบินที่ แซมเปอรินี่ โดยสารไปประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง ก่อนที่จะร่วงลงกลางมหาสมุทรแปซิฟิก.. และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้ข่าวของพวกเขาอีกเลย 

ทุกคนคิดว่า แซมเปอรินี่ และคนอื่นๆที่โดยสารไปในเครื่องบินลำนั้นเสียชีวิตหมดแล้ว ถึงขั้นที่ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์ ได้ส่งจดหมายแสดงความเสียใจ และยกย่อง แซมเปอรินี่ ในฐานะวีรบุรุษของชาติไปให้ครอบครัวแล้วด้วยซ้ำ

ทว่าความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น..

ผจญนรกบนดิน ณ ค่ายกักกัน

จากเหตุการณ์เครื่องบินตกดังกล่าว มีผู้เสียชีวิตทันที 7 ราย แต่ แซมเปอรินี่ กับเพื่อนทหารอีก 2 คนอย่าง รัสเซลล์ ฟิลลิปส์ และ ฟรานซิส แมคนามารา นั้นโชคดีรอดชีวิตมาได้ราวปาฏิหาริย์ แต่พวกเขาก็ต้องลอยอยู่บนแพเล็กๆท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ 

สิ่งที่ติดตัวพวกเขามีเพียงน้ำและช็อกโกแลตนิดหน่อยเท่านั้น ซึ่งมันก็หมดภายลงภายในระยะเวลาไม่นาน ทั้ง 3 คนจึงเอาชีวิตรอดด้วยการจับนกและปลากิน ส่วนน้ำก็ต้องประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้

เวลาล่วงเลยไปกว่า 33 วัน ยังไร้วี่แววของการช่วยเหลือ ก่อนที่ ฟรานซิส แมคนามารา จะเสียชีวิตลงในวันดังกล่าว ส่วน ฟิลลิปส์ กับ แซมเปอรินี่ นั้นไม่สามารถทำใจรับประทานศพของเพื่อนได้ลง ทั้งคู่จึงจำใจผลักร่างอันไร้วิญญาณของ แมคนามารา ลงน้ำ

8

เข้าสู่วันที่ 47 ในที่สุดความฝันในการรอดชีวิตของพวกเขาก็สว่างขึ้น แต่สุดท้ายดูเหมือนจะเป็นฝันร้ายเสียมากกว่า เพราะกลุ่มที่มาพบเจอพวกเขาลอยเคว้งคว้างอยู่กลางมหาสมุทรไม่ใช่หน่วยกู้ภัยของกองทัพสหรัฐฯ แต่เป็นหน่วยรบของประเทศญี่ปุ่น ศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2 

แซมเปอรินี่ กับ เพื่อน ถูกพาตัวไปยังค่ายกักกันของกองทัพอักษะที่ตั้งอยู่บนเกาะมาร์แชลล์ หรืออีกชื่อหนึ่งที่ทหารรู้จักกันดีคือ Execution Island เนื่องจากแทบไม่เคยมีใครรอดชีวิตกลับไปจากเกาะแห่งนี้

"หลังจากถอดผ้าปิดตาออก สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าคือความจริงอันโหดร้ายที่ผมแทบจะรับมันไม่ได้ หลังจากลอยอยู่ในทะเลกว้างใหญ่สุดลูกตามาเกือบ 2 เดือน รู้ตัวอีกทีผมก็ถูกขังอยู่ในกรงที่เล็กกว่ากรงสุนัขเสียอีก" 

"ผมอยากกรีดร้องออกมาด้วยความหวาดกลัว ยิ่งมองลงไปที่ร่างกายตัวเองก็ยิ่งสิ้นหวัง ครั้งหนึ่งผมเคยเป็นนักวิ่งโอลิมปิก แต่ตอนนี้ร่างกายผมมีแค่เนื้อติดกระดูก" แซมเปอรินี่ เผยถึงความรู้สึกแรกที่มีต่อ "บ้านหลังใหม่" 

หลังจากที่โดนกักขังอยู่ที่เกาะมาร์แชลล์ได้ประมาณ 1 ปี แซมเปอรินี่ ก็ถูกย้ายตัวไปยังค่ายกักกันแห่งใหม่ ณ เมืองอาโอโมริ ประเทศญี่ปุ่น และที่นี่ความโหดร้ายดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี

หนึ่งในผู้คุมของค่ายแห่งนี้มีชื่อว่า มัตสึชิโระ วาตานาเบะ เจ้าของฉายา "The Bird" ซึ่งทันทีที่รู้ว่า แซมเปอรินี่ เป็นอดีตนักวิ่งโอลิมปิก วาตานาเบะ ก็เพ่งเล็งในทันที โดยในตอนแรกเริ่มจากการเข้าหาโดยเป็นมิตร

"เขา (วาตานาเบะ) เสนอว่าให้ผมช่วยกล่อมเชลยคนอื่นๆให้มีทีท่าอ่อนลง เพื่อแลกกับอาหารและที่นอนที่ดีขึ้น แต่ผมปฏิเสธ" เมื่อข้อเสนอไม่ได้ผล วาตานาเบะ จึงรู้สึกหมั่นไส้ แซมเปอรินี่ เป็นการส่วนตัว เขาคิดว่า แซมเปอรินี่ คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ หยิ่งในศักดิ์ศรี แบบนี้ต้องจัดหนัก!

และหลังจากนั้นนรกของแท้ก็เริ่มต้นขึ้น

9

นอกจากจะบังคับให้ แซมเปอรินี่ รับประทานเนื้อดิบๆ เน่าๆ ที่มีตัวหนอนชอนไชอยู่ภายใน, บังคับให้ก้มลงเลียรองเท้าบู๊ตแล้ว วาตานาเบะ ยังทำร้ายร่างกาย แซมเปอรินี่ อย่างสาหัส

ครั้งหนึ่ง วาตานาบะ เคยให้ แซมเปอรินี่ ชูแขนขึ้นเหนือศรีษะ ก่อนจะใช้ท่อนไม้ฟาดไปที่ท้องเต็มแรง และทำแบบนั้นติดต่อกันนานกว่า 37 นาที หรืออีกครั้งที่เจ้าของฉายา The Bird บังคับให้เชลยอีกกว่า 220 คนในค่ายมาต่อยเข้าที่ใบหน้า แซมเปอรินี่ แบบเต็มแรงจนครบทุกคน 

"ผมยอมรับความโหดร้ายทางร่างกายได้ แต่สิ่งที่ผมรับไม่ได้ที่สุดคือการลดความเป็นมนุษย์ในตัวผม" แซมเปอรินี่ เผยความรู้สึก

เป็นเรื่องธรรมดาของเชลยสงครามที่จะโดนลงโทษจนตาย แต่ทุกครั้งที่ แซมเปอรินี่ เข้าใกล้มัจจุราช วาตานาเบะจะสั่งให้หยุดการลงโทษ เพื่อเก็บไว้เป็นเครื่องมือระบายอารมณ์ในภายหลัง

"ผมคิดว่าตัวเองคงตายอยู่ที่นั่น" 

10

อย่างไรก็ตาม โชคยังเข้าข้าง แซมเปอรินี่ เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายญี่ปุ่น แซมเปอรินี่ ก็ได้รับการปล่อยตัวกลับสู่อ้อมกอดของบ้านเกิดและครอบครัวอีกครั้ง โดยทิ้งนรกบนดินที่เขาเผชิญเอาไว้เบื้องหลัง

ไม่มีวันแตกสลาย

ถ้าเป็นภาพยนตร์ เรื่องราวทั้งหมดคงจบลงแค่ย่อหน้าด้านบน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ชมจินตนาการถึง "ตอนจบแสนสุข" กันเอาเอง ทว่าเรื่องราวของ แซมเปอรินี่ มันคือชีวิตจริง และแน่นอนว่าชีวิตจริงย่อมเจ็บปวดกว่าเสมอ

ถึงแม้ว่าเขาจะได้แต่งงานกับแฟนสาวในปี 1946 แต่พฤติกรรมของเขาก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ราวกับไม่ใช่ แซมเปอรินี่ คนเดิม ด้วยผลกระทบจากโรค PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) 

แซมเปอรินี่ กลายเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย บางเวลาก็มีอาการซึมเศร้า ไม่พูดจากับใคร อีกทั้งยังดื่มสุราแทนน้ำเปล่า ดูเหมือนว่าชีวิตที่รอดจากนรกของเขาจะค่อยๆดิ่งลงเหวมากขึ้นทุกวัน

11

"ช่วงเวลานั้นผมหมกหมุ่นอยู่กับความคิดที่จะไปล้างแค้น วาตานาเบะ ให้สาสม" 

"ผมตื่นขึ้นมาพร้อมฝันร้ายในทุกคืน เหงื่อแตกจนตัวเปียกไปหมด" แซมเปอรินี่ กล่าว

ไม่มีใครคาดคิดว่าสิ่งที่ช่วยเขาได้คือศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า ในวันธรรมดาวันหนึ่งที่ แซมเปอรินี่ กำลังอธิษฐานต่อพระเจ้า เช่นเดียวกับทุกวัน อยู่ๆความคิดหนึ่งก็วิ่งเข้ามาในหัว

"ผมขอให้พระเจ้ายกโทษให้ผม และขณะที่ผมยังคุกเข่าอยู่ ผมก็รู้สึกว่าผมเปลี่ยนไป มันเกิดขึ้นภายในไม่กี่วินาที"

"ผมรู้สึกถึงความสงบที่สมบูรณ์แบบ พระคัมภีร์เรียกมันว่าสันติสุขที่ส่งผ่านความเข้าใจทั้งหมด ตอนนั้นผมรู้สึกอยากจะยกโทษให้ผู้คุมทุกคน รวมทั้ง วาตานาเบะ ด้วย คืนนั้นผมนอนหลับสนิทและนั่นเป็นคืนแรกในรอบสี่ปีที่ผมไม่ฝันร้าย"

"ผมคิดได้ว่าเมื่อคุณเกลียดใครสักคน คุณจะไม่ทำร้ายพวกเขาแม้แต่น้อย สิ่งที่คุณทำคือทำร้ายตัวเอง แต่ถ้าคุณให้อภัยได้ ความรู้สึกดีจะเกิดขึ้นกับคุณ"

หลังจากนั้น แซมเปอรินี่ ก็กลายเป็นคนอุทิศตนเพื่อสังคม เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจแก่ทหารผ่านศึกที่กำลังเผชิญเรื่องเลวร้ายเช่นเดียวกับเขาในอดีต ก่อนจะเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์ชีวิตในชื่อ Unbroken เพื่อบอกว่าต่อให้จะเจอเรื่องเลวร้ายแค่ไหน จิตวิญญาณความดีก็จะไม่มีวันแตกสลายอย่างแน่นอน จงเชื่อมั่นเช่นนั้น

12

ในวัย 81 ปี แซมเปอรินี่ ได้มีโอกาสมาวิ่งคบเพลิงที่เมืองนางาโนะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในปีนั้น และที่สำคัญคือเส้นทางที่เขาวิ่ง ต้องผ่านพื้นที่ซึ่งในอดีตเคยเป็นค่ายกักกันเขาด้วย แซมเปอรินี่ ที่กลายเป็นคนใหม่แล้วได้ใช้โอกาสนี้เขียนจดหมายถึง วาตานาเบะ ผู้คุมที่เคยทำทารุณกับเขาว่า

"ผมอยากเข้าพบคุณ คนที่ให้อภัยแล้วอย่างผมจะไม่พูดถึงเรื่องอดีตอันเลวร้ายระหว่างเรา ผมแค่อยากเจอเพื่อทำให้การให้อภัยของผมมันสมบูรณ์เท่านั้นเอง"

13

ทว่า วาตานาเบะ ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรสงคราม แต่หลีกรอดการถูกดำเนินคดีมาได้ และปัจจุบันกลายเป็นนักธุรกิจประกันภัยนั้นได้ปฏิเสธคำเชิญชวนครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ก็มีสำนักข่าวอเมริกันแห่งหนึ่งได้ไปเข้าสัมภาษณ์เขาได้

"ทั้งหมดที่ผมทำลงไปไม่ว่าจะกับใคร ก็เป็นในฐานะที่เขาเป็นศัตรูกับประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่มีเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง" ใจความสำคัญของบทสัมภาษณ์ วาตานาเบะ

ในปี 2010 แองเจลีน่า โจลี่ ซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูดได้อ่านหนังสือ Unbroken และเธอก็ชอบมันมากๆ จึงได้ติดต่อ แซมเปอรินี่ เพื่อขอดัดแปลงเรื่องราวดังกล่าวไปเป็นภาพยนตร์ แน่นอนว่าฝ่ายชายชราไม่ขัดข้อง เขาอยากส่งต่อเรื่องราวนี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่คนอื่นอยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นมิตรภาพต่างวัยของทั้งคู่ยังงดงามมากๆอีกด้วย

"ผมได้เพื่อนใหม่ โจลี่ ดีกับผมมากๆ เธอเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดอย่างถ่องแท้ เธอกอดผมอย่างไม่ถือตัว พวกเราสนิทกันมากๆ"

14

น่าเสียดายที่ แซมเปอรินี่ เสียชีวิตลงด้วยวัย 97 ปี ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่อง Unbroken จะเข้าฉายในปี 2014 เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น

"มันเป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถบรรยายได้ เราทุกคนรู้สึกขอบคุณมากที่ชีวิตของเราดีขึ้นที่ได้รู้จักเขา เราจะคิดถึงเขามากๆ" โจลี่ กล่าวอาลัย แซมเปอรินี่ 

แต่ถึงแม้ แซมเปอรินี่ จะไม่มีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง Unbroken ด้วยตาตัวเอง แต่จากการที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในแง่รายได้ซึ่งกวาดไปกว่า 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากทุนสร้าง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนมีภาค 2 ในชื่อ Unbroken: Path to Redemption (2018) รวมถึงในแง่คำวิจารณ์ ก็น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ แซมเปอรินี่ ผู้ล่วงลับรู้สึกยินดีจากที่อันแสนไกลได้ ว่าเรื่องราวการไม่แตกสลายของเขาน่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนจำนวนไม่น้อย

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ ไม่มีวันแตกสลาย : "หลุยส์ แซมเปอรินี่" นักวิ่งโอลิมปิกผู้ถูกจับเป็นเชลยศึกสงครามกว่า 2 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook