เมื่อชื่อ “อุลตร้าแมน” ซูเปอร์ฮีโร่ขวัญใจวัยเก๋าอาจมีที่มาจากกีฬายิมนาสติก

เมื่อชื่อ “อุลตร้าแมน” ซูเปอร์ฮีโร่ขวัญใจวัยเก๋าอาจมีที่มาจากกีฬายิมนาสติก

เมื่อชื่อ “อุลตร้าแมน” ซูเปอร์ฮีโร่ขวัญใจวัยเก๋าอาจมีที่มาจากกีฬายิมนาสติก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับเด็กที่เติบโตมาในยุค 80s-90s นอกจาก “ขบวนการเซนไต 5 สี” กับ “ไอ้มดแดง” แล้ว อีกหนึ่งซูเปอร์ฮีโร่จากแดนอาทิตย์อุทัยที่เป็นขวัญใจไม่แพ้กันคงต้องยกให้กับ “อุลตร้าแมน” มนุษย์ต่างดาวจากกาแล็กซีเนบิวลา M78 ที่เข้ามารวมเป็นหนึ่งเดียวกับ “ชิน ฮายาตะ”  มนุษย์โลกธรรมดาที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ได้ฟื้นชีวิตกลับมา และสามารถแปลงร่างเป็นอุลตร้าแมนได้โดยการชูและกดปุ่มที่ "เบตาแคปซูล" โดยจะมีเวลาในการปราบสัตว์ประหลาดเพียงแค่ 3 นาที

ด้วยความโด่งดังของอุลตร้าแมน เชื่อว่าทุกคนน่าจะพอรู้เรื่องราวโดยสังเขปอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามความจริงอีกด้านหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะยังไม่รู้คือเรื่อง “ที่มาของชื่ออุลตร้าแมน” 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า อุลตร้าแมนซูเปอร์ฮีโร่ขวัญใจชาวโลกจะมีที่มาของชื่อจากกีฬายิมนาสติก ! เรื่องราวทั้งหมดจะเป็นมาอย่างไร ติดตามได้ที่ Main Stand

กำเนิดซูเปอร์ฮีโร่ขวัญใจชาวโลก

หลังจากที่ก่อตั้งในปี 1963 หลังจากนั้นเพียง 3 ปี Tsuburaya Productions ภายใต้การควบคุมของ เอจิ ซึบุรายะ (Eiji Tsuburaya) ชายเจ้าของฉายา “เจ้าพ่อแห่งวงการสัตว์ประหลาด” ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างปรากฎการณ์ระดับโลกมาแล้วด้วย “ก็อตซิล่า” สัตว์ประหลาดไคจูที่โด่งดังที่สุดตลอดกาล ก็ได้นำซีรี่ส์อุลตร้าแมนเข้าฉายทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในปี 1966 โดยใช้ชื่อว่า “Ultra Q”


Photo : s.mxtv.jp

ชัดเจนว่า Ultra Q คือซีรี่ส์ที่ต้องการเจาะกลุ่มตลาดเด็ก ว่าด้วยเรื่องราวของ ชิน ฮายาตะ  มนุษย์โลกธรรมดาที่ได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ได้ฟื้นชีวิตกลับมาด้วยพลังของอุลตร้าแมน มนุษย์ต่างดาวจากกาแล็กซีเนบิวลา M78 จนสามารถแปลงร่างเป็นยอดมนุษย์ และเข้าสู้กับสัตว์ประหลาดไคจูขนาดยักษ์เพื่อปกป้องโลกจากการถูกรุกราน

“ผมได้แรงบันดาลใจเนื้อเรื่องอุลตร้าแมนมาจากละครโทรทัศน์เรื่อง "The Twilight Zone" และ "Outer Limits” ที่ว่าด้วยเรื่องราวของทีมนักบิน และทีมนักข่าว ที่พยายามตรวจสอบปรากฏการณ์สัตว์ประหลาดทั่วโลก” ซึบุรายะกล่าว


Photo : en.tsuburaya-prod.co.jp

นอกเหนือจากเนื้อเรื่องที่สามารถเสพได้ง่าย และแฝงเรื่องการเมืองน้อยกว่าก็อตซิล่าอย่างเห็นได้ชัดแล้ว อุลตร้าแมนยัง “ขายความเท่” แบบตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็น การยิงลำแสง Specium Ray สุดยอดท่าไม้ตายอันเป็นเอกลักษณ์, Ultra Slash อาวุธที่สามรถหั่นสัตว์ประหลาดไคจูให้ขาดครึ่งได้, Color Timer ปุ่มสีบนหน้าอกที่ใช้บอกพลัง 

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ โทอิ นาริตะ หัวหน้าทีมออกแบบตัวละครสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเอาใจเด็กๆ ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นชุดทั้งชุด อุปกรณ์ทุกชิ้น ล้วนแต่ถูกขึ้นรูปมาจากดินเหนียวอย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ผลลัพธ์ออกทนทานและสมจริงที่สุดในยุคที่เทคโนโลยียังไม่ล้ำสมัยเหมือนในปัจจุบัน


Photo : www.aeoncinema.com

Ultra Q เป็นซีรี่ส์ทางโทรทัศน์ มีจำนวนทั้งหมด 39 ตอน ออกอากาศระหว่างปี 1966-1967 อย่างไรก็ตามถ้าถามถึงความสำเร็จ ต้องบอกว่า Ultra Q นั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมายนัก มีกลุ่มแฟนในวงแคบๆ เท่านั้น ทว่า เมื่อสำรวจลึกลงไป ซึบุรายะ ก็พบว่าอุลตร้าแมนยังเป็นอะไรที่มีอนาคต และสามารถดำเนินต่อไปได้

“เด็กๆ ชื่นชอบที่ได้เห็นอุลตร้า Q ปราบสัตว์ประหลาดไคจูในทุกตอน ความชื่นชอบเหล่านี้จะค่อยๆ กลายเป็นวัฒนธรรมที่มีจำนวนแฟนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” ซึบุรายะ กล่าวโดยอ้างอิงข้อมูลจาก Tokyo Broadcasting System


Photo : www.oricon.co.jp

ด้วยเหตุนี้ ซึบุรายะ จึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อจาก Ultra Q เป็น Ultraman อย่างเป็นทางการในปี 1967 พร้อมเข็นภาคต่อออกมาในชื่อ Ultra Seven ที่อาจจะเรียกว่าเป็นภาคต่อได้ไม่เต็มปากนักเพราะ Ultra Seven กับ Ultra Q ไม่มีความเกี่ยวข้องกันในแง่เนื้อเรื่อง แต่เป็นเพียงการนำคอนเซปต์เดิมมาผลิตซ้ำ พร้อมเปลี่ยนดีไซน์ตัวละครเท่านั้น

การคาดการณ์ของ ซึบุรายะ นั้นถูกต้องทุกประการ เพราะ Ultra Seven ประสบความสำเร็จมหาศาล จนนำไปสู่การสร้างภาคแยกต่อมาอีกนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น Ultraman Jack, Ultraman Ace, Zoffy, Ultraman 80 และอีกมากมาย จนในปี 2013 อุลตร้าแมน ได้รับการประกาศจาก Guinness World Records ให้เป็น “รายการโทรทัศน์ที่มีภาคแยกมากที่สุดในโลก” ด้วยจำนวนทั้งหมด 27 ภาค


Photo : sgcafe.com

ความนิยมของอุลตร้าแมนก่อให้เกิดวัฒนธรรมย่อยป๊อปคัลเจอร์ที่เรียกว่า “Monster Craze" ซึ่งว่าด้วยภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์ที่นำยอดมนุษย์กับไคจูยักษ์มาต่อสู้กัน ตัวอย่างเช่น Godman, Iron King, Jumbo A ที่มีการผลิตออกมาในภายหลัง

ถึงแม้ว่า เอจิ ซึบุรายะ บิดาผู้ให้กำเนิดจะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1970 แต่อุลตร้าแมนก็ยังคงเดินหน้าประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุค 80s ที่ถือเป็นยุคทองของอุลตร้าแมน การันตีด้วยอดขายสินค้าระหว่างปี 1967-1987 ที่มีมูลค่าสูงถึง 7.4 พันล้านดอลลาร์ (1.7 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน) ถือเป็นตัวละครที่มียอดขายสินค้าลิขสิทธิ์สูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกในช่วงทศวรรษ 80

นี่คือเรื่องราวของอุลตร้าแมน ยอดมนุษย์จากแดนอาทิตย์อุทัยที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลก ทว่าอีกหนึ่งเรื่องราวที่หลายคนยังไม่รู้คือ คำเรียกติดปากว่าอุลตร้าแมนนั้นแท้จริงแล้วมีที่มาจากไหนกันแน่นะ?

 

ความทรงจำจากโอลิมปิก 1964

การจะตอบคำถามเรื่องที่มาของชื่ออุลตร้าแมน ก่อนอื่นต้องขอพานักอ่านทุกคนย้อนเวลากลับไปในปี 1964 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นกำลังจัดมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก

ทัพนักกีฬายิมนาสติกแห่งแดนซากุระจะถือว่าเป็นดาวเด่นในระดับเอเชีย และในระดับโลกพวกเขาก็สามารถสอดแทรกขึ้นไปคว้าเหรียญทองได้บ่อยครั้ง ในโอลิมปิกปี 1964 ก็เช่นกัน หลังจากที่ทีมชายของพวกเขาสามารถคว้าเหรียญทองมาได้ 2 เหรียญ จากโอลิมปิก 1960 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ครั้งนี้เมื่อได้เล่นในบ้าน จึงเป็นเรื่องปกติที่จะโดนคาดหวังมากกว่าเดิม

นอกจากนั้นทัพนักกีฬายิมนาสติกชายญี่ปุ่นยังมี “เอ็นโด ยูกิโอะ” ดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดเท่าที่วงการยิมนาสติกญี่ปุ่นเคยมีมา เขานี่แหละคือความหวังอันดันหนึ่งว่าจะคว้าเหรียญทองให้ชาวญี่ปุ่นได้ภาคภูมิใจได้


Photo : nikkansports.com

อย่างไรก็ตามถ้าวัดกันตามหน้าเสื่อ นักกีฬายิมนาสติกชายญี่ปุ่นไม่ใช่ตัวเต็งอันดับหนึ่ง เพราะสหภาพโซเวียตที่ถือเป็นราชาของกีฬาชนิดนี้ก็เตรียมตัวมาอย่างเต็มที่เพื่อคว้าเหรียญทอง

ในปี 1964 การให้คะแนนยิมนาสติกในระดับมาตรฐานนานาชาติได้แบ่งระดับความยากของท่าออกเป็น A, B, C โดย C คือท่าที่มีคะแนนความยากมากที่สุด แต่ถ้านักกีฬามีการเล่นท่าที่ยากกว่าระดับ C ท่าเหล่านั้นจะถูกจัดให้อยู่ในระดับ Ultra-C (Ultra มีความหมายกว่า เหนือกว่า ไปไกลกว่า สุดยอดกว่า)

การขับเคี่ยวชิงเหรียญทองระหว่าง ยูกิโอะ กับนักกีฬาจากสหภาพโซเวียต ถูกถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ เรียกได้ว่าท้องถนนญี่ปุ่นในวันดังกล่าวเงียบเหงากว่าปกติอย่างเห็นได้ชัด ผู้คนนับล้านกำลังใจจดใจจ่อกับการแข่งขันครั้งนี้ด้วยใจระทึก

ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่ ยูกิโอะ สามารถทำท่าในเกณฑ์คะแนน Ultra-C ได้สำเร็จ "ซูซูกิ บุนยะ" ผู้บรรยายการถ่ายทอดสดจะตะโกนคำว่า "Ultra!!!" ออกมาอย่างสุดเสียง (ถ้านึกไม่ออก ให้ลองนึกถึงเสียงของ บิ๊กจ๊ะ-สาธิต กรีกลุ ผู้บรรยายกีฬารุ่นใหญ่ในบ้านเราที่ตะโกนออกมาตอนที่ โค้ชวัง ธวัชชัย ดำรงค์อองตระกุล ยิงฟรีคิกเสียบสามเหลี่ยม พาไทยเข้ารอบรองชนะเลิศเอเชี่ยนเกมปี 1998 และส่งเกาหลีใต้ ตัวเต็งกลับบ้านทั้งๆ ที่ไทยเหลือผู้เล่น 9 คน)


Photo : www.sponichi.co.jp


Photo : www.asahi.com

และในวันดังกล่าว บุนยะ คงต้องตะโกนคำว่า "Ultra!!! อยู่บ่อยครั้ง เนื่องจาก ยูกิโอะ ทำคะแนนในขั้น Ultra-C ได้อย่างล้นหลาม จนสามารถเบียดตัวเต็งจากสหภาพโซเวียตคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ

อุเอะซาโกะ ทาดาโอะ นักหนังสือพิมพ์ชาวญี่ปุ่นได้เขียนอธิบายลงในหนังสือพิมพ์ Daily Sport ไว้ว่า

“หลังจากวันนั้นในช่วงยุค 60s คำว่า Ultra ก็ได้กลายเป็นศัพท์แสลงยอดนิยมของชาวญี่ปุ่นที่สื่อถึงความสุดยอด ยอดเยี่ยม ไปโดยปริยาย”


Photo : www.deviantart.com

ถึงแม้จะไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการจากปากของ เอจิ ซึบุรายะ ผู้ให้กำเนิดอุลตร้าแมน (เนื่องจากเขาเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 1970) แต่ด้วยความพอเหมาะพอเจาะกันของไทม์ไลน์ รวมถึงการที่คำว่า Ultra คือคำยอดนิยมอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น สื่อแทบทุกสำนัก รวมถึงทุกแหล่งข้อมูลที่สามารถรวบรวมมาได้ ต่างพร้อมใจกันบอกเป็นเสียงเดียวว่าชื่ออุลตร้าแมนนั้นมีที่มาจากวลีของ ซูซูกิ บุนยะ โดยการเติมคำว่า Man ไปด้านหลังก็เพื่อบ่งบอกว่านี่คือ “สุดยอดมนุษย์ผู้กอบกู้โลก” นั่นเอง

จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมาเกือบ 6 ทศวรรษ มันได้พิสูจน์แล้วว่าความคิดของ เอจิ ซึบุรายะ นั้นถูกต้องทุกประการ ยอดมนุษย์ที่เขาสร้างขึ้นมายังคงเป็นขวัญใจผู้คนทั่วโลกอย่างไม่จางหาย เหมาะสมกับชื่ออุลตร้าแมนที่ตั้งขึ้นมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook