ลีลล์ : สโมสรที่ตบหน้ายักษ์ใหญ์ซิวแชมป์ลีกเอิง และฟันเงินมหาศาลจากการขายนักเตะ

ลีลล์ : สโมสรที่ตบหน้ายักษ์ใหญ์ซิวแชมป์ลีกเอิง และฟันเงินมหาศาลจากการขายนักเตะ

ลีลล์ : สโมสรที่ตบหน้ายักษ์ใหญ์ซิวแชมป์ลีกเอิง และฟันเงินมหาศาลจากการขายนักเตะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในบรรดาทีมแชมป์ 5 ลีกใหญ่ยุโรป "ลีลล์" คงเป็นสโมสรที่สร้างควาประหลาดใจได้มากที่สุด เพราะตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมา "ปารีส แซงต์ แชร์กแมง" คือ ทีมมหาเศรษฐีเงินถังที่ครองความยิ่งใหญ่ และผูกขาดความสำเร็จ

ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่าง เปแอสเช กับทีมผู้ตามอย่าง ลีลล์ เริ่มไกลห่างออกทุกที ยิ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนั้น เปแอสเช ทุ่มเงินคว้า เนย์มาร์ + คีลิยัน เอ็มบัปเป้ ขณะที่ ลีลล์ ถังแตกเกือบถูกปรับตกชั้น เนื่องจากปัญหาการเงิน และติดหนี้มหาศาลกว่า 200 ล้านยูโร

ทว่าภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ลีลล์ สามารถพลิกวิกฤติจนสร้างกำไรจากการขายผู้เล่นได้ราว 170 ล้านยูโร แม้ต้องเสียขุมกำลังตัวหลักทุกตลาดซื้อขาย แต่สุดท้ายเม็ดเงินเหล่านั้น ย้อนกลับมาทำให้สถานะการเงินของสโมสรมั่นคง และได้โทรฟี่แชมป์ลีก เอิง ในรอบ 10 ปีมาเชยชมอีกด้วย

 

ท่ามกลางยุคที่สโมสรต่าง ๆ เจอวิกฤติทางการเงิน ลีลล์ พลิกชะตาตัวเอง ด้วยแนวคิดในการบริหารจัดการองค์กรและทำธุรกิจฟุตบอลอย่างไร ? จนก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง นักเขียนแห่ง Main Stand จะพาทุกท่านไปร่วมถอดรหัสความสำเร็จของทีมฟุตบอลแห่งนี้

คืนชีพจากวิกฤติการเงิน

หากจะหาใครสักคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของลีลล์ ในฤดูกาล 2020-21 ... เขาคนนั้นย่อมเป็น คริสตอฟ กาลตีเย เฮดโค้ชฝีมือดีที่เข้ามาชุบชีวิตสโมสรแห่งนี้จากภาวะวิกฤติ

ย้อนกลับไปฤดูกาล 2017-18 ลีลล์ประสบปัญปัญหาการเงินอย่างหนัก หลังใช้จ่ายเกินตัวในตลาดช่วงซัมเมอร์ จากการซื้อนักเตะ 10 ราย เข้ามาสู่ทีม ด้วยเงินรวม 68.5 ล้านยูโร เพื่อตอบสนองความต้องการของ มาร์เซโล บิเอลซา เฮดโค้ชของทีมขณะนั้น

 

สวนทางกัน ลีลล์ขายนักเตะออกจากทีมเพียง 4 ราย ได้เงินกลับมาแค่ 20 ล้านยูโร ส่งผลให้สโมสรขาดทุนจากตลาดรอบนั้น เกือบ 50 ล้านยูโร นับเป็นความเสี่ยงอย่างมากกับสโมสรขนาดเล็กในฝรั่งเศส ที่ไม่มีเงินทุกหนุนหลังเหมือน ปารีส แซงต์ แชร์กแมง

การลงทุนครั้งนั้นจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อ ลีลล์ สามารถคว้าตั๋วลุย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก หลังจบฤดูกาล ... แต่เตะไปเตะมา ลีลล์ กลับร่วงมาอยู่อันดับ 18 ของตาราง เฮดโค้ชยอดแทคติกอย่าง บิเอลซา จึงต้องกระเด็นตกจากเก้าอี้ตามระเบียบ

ล้มเหลวจากผลงานในสนามไม่พอ ลีลล์ ยังต้องเสี่ยงต้องชั้นจากสภาพการเงินที่เข้าขั้นวิกฤติ เมื่อ หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของฟุตบอลฝรั่งเศส (DNCG) ยื่นคำขาดว่า หากสโมสรไม่สามารถฟื้นฟูสภาพการเงินก่อนจบซีซั่น พวกเขาจะถูกปรับตกชั้นแบบไม่ต้องเตะต่อให้เหนื่อย

ลีลล์ จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแง่การบริหาร เมื่อ เฌราร์ โลเปซ ประธานบริษัทการเงิน Genii Capital และอดีตเจ้าของทีม รถสูตรหนึ่ง  Lotus F1 ระหว่างปี 2009-2015 (ซื้อ และขายกลับให้ Renault ปัจจุบันคือทีม Alpine) เข้ามาถือหุ้นใหญ่ของสโมสร และกู้ยืมเงิน 225 ล้านยูโร จากสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกา ช่วยให้ ลีลล์ รอดจากการปรับถูกตกชั้นในฤดูกาลดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สโมสรยังต้องดิ้นรนจากโซนตกชั้นในตารางคะแนน และเฮดโค้ชคนใหม่ที่พวกเขาเลือกคือ คริสตอฟ กาลตีเย ที่เคยปลุกปั้นทีมท้ายตารางอย่าง แซงต์ เอเตียน ขึ้นมาผงาดในพื้นที่ยุโรป และคว้าแชมป์ คูป์ เดอ ลา ลีก มาครองในฤดูกาล 2012-13

โจทย์ที่ต้องพาทีมหนีตกชั้นถือว่ายากแล้ว แต่งานของกาลตีเยกับลีลล์ ทวีคูณความหินเพิ่มขึ้นอีก เพราะนอกจากสโมสรจะถูกขู่ปรับตกชั้นแล้ว พวกเขายังถูกแบนจากตลาดซื้อขายหน้าหนาวในฤดูกาลดังกล่าว นั่นหมายความว่า กาลตีเย ต้องทำทีมจากทรัพยากรที่มีอยู่ในมือเท่านั้น

ใครจะคิดว่าสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ จะเข้าทางกาลตีเย เพราะเฮดโค้ชรายนี้มีปรัชญาการทำทีมแสนง่าย นั่นคือ "สโมสรต้องมาก่อน" เขาเริ่มปลูกฝังให้นักเตะที่กำลังหมดกำลังใจ เรียนรู้กับการทำงานหนัก และเต็มที่ทุกนัดเพื่อทีม ไม่ใช่เกียรติยศส่วนตัว

กาลตีเยมั่นใจว่า หากนักเตะทุกคนเข้าใจหน้าที่ของตัวเอง พวกเขาจะรอดตกชั้น และผลลัพธ์ก็ออกมาเป็นเช่นนั้น นักเตะของลีลล์วิ่งสู้ฟัดในสามนัดสุดท้าย และสามารถเก็บ 9 แต้มเต็ม จากชัยชนะเหนือ เม็ตซ์, ตูลูส และ ดิฌง จบฤดูกาลด้วยอันดับ 17 รอดตกชั้นอย่างหวุดหวิด

 

ฟุตบอลเกมรับ และเพรสซิงของกาลตีเย กลายเป็นรากฐานของลีลล์ นับแต่นั้น แต่สิ่งสำคัญกว่าคือปรัชญา "สโมสรต้องมาก่อน" ที่รวมใจนักเตะเป็นหนึ่ง 

แนวคิดของเขาแสดงออกผ่านการเพรสซิ่งอย่างมีคุณภาพในปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า นักเตะของลีลล์ทุ่มเทเพื่อทีมมากแค่ไหน ภายใต้การคุมทีมของเฮดโค้ชรายนี้

3 ปี กำไร 170 ล้าน

ลีลล์ รอดตกชั้นอย่างหวุดหวิดในฤดูกาล 2017-18 แต่ใช่ว่า วิกฤติของทีมจะสิ้นสุด เพราะก่อนเปิดฤดูกาล 2018-19 สโมสรถูกบังคับให้หาเงินเข้าสู่สโมสรอย่างน้อย 30 ล้านยูโร ไม่อย่างนั้น ลีก เอิง จะไม่รับรองการเซ็นสัญญานักเตะใหม่ ที่เข้ามาสู่ทีมในช่วงซัมเมอร์

วิธีการหาเงินเข้ากระเป๋าที่ง่ายที่สุด สำหรับทีมฟุตบอลขนาดเล็กหนีไม่พ้น การขายผู้เล่น แต่โจทย์ของลีลล์อยู่ที่ จะขายนักเตะเหล่านี้อย่างไรให้ได้ราคา ในเมื่อทุกทีมรู้อยู่แล้วว่า ลีลล์ ประสบปัญหาการเงิน และพร้อมจะกดราคาซื้อขายให้ต่ำกว่าปกติ

 

เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาในสนาม พวกเขาดึงคนเบื้องหลังที่มีความสามารถเข้ามาสู่องค์กร ด้วยการคว้าตัว หลุยส์ แคมโปส อดีตผู้อำนวยการกีฬาของ โมนาโก ที่เคยคว้าแข้งโนเนมฝีมือดี ไม่ว่าจะเป็น แบร์นาโด ซิลวา, แบงฌาแมง เมนดี, ฟาบินโญ และ โตมาส์ เลอมาร์ มาปลุกปั้นเป็นซูเปอร์สตาร์ ก่อนส่งออกสู่ทีมระดับโลก

แคมโปส แสดงให้เห็นถึงความยอดนักธุรกิจนอกสนาม เริ่มจาก ด้วยการขาย อีฟส์ บิสซูมา แก่ ไบร์ทตัน ด้วยราคา 16.9 ล้านยูโร และ เกวิน มัลกุยต์ แก่ นาโปลี ในราคา 12 ล้านยูโร 

ทางกลับกัน พวกเขาจ่ายเงินให้กับการซื้อนักเตะใหม่ เช่น นานิตาโม อิโคเน, เซกี เชลิค, ราฟาเอล เลเอา, โจนาธาน บัมบา และ โชเซ ฟอนเต ด้วยราคารวมกันไม่ถึง 9 ล้านยูโร

ท้ายที่สุด ลีลล์ ได้กำไรจากตลาดซื้อขายช่วงซัมเมอร์ ฤดูกาล 2018-19 เป็นเงินราว 60 ล้านยูโร งานที่เหลือของพวกเขาจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของ กาลตีเย ว่าจะสามารถเนรมิตรทีมที่มีความแข็งแกร่ง จากนักเตะราคาถูกเหล่านี้ได้หรือไม่ ?

 

โชคดีที่แนวทางการบริหารของสโมสร สอดคล้องกับปรัชญาฟุตบอลของกาลตีเย เพราะเฮดโค้ชชาวฝรั่งเศสไม่เคยต้องการนักเตะซูเปอร์สตาร์ เขาอยากได้แข้งโนเนมที่พร้อมทำงานหนักในสนามซ้อม และทุ่มเททุกอย่างเพื่อทีม

ความกระหายที่ กาลตีเย ตามหา มีอยู่ในตัวนักเตะทุกคนของลีลล์ เพราะนักเตะส่วนใหญ่ของทีม ถ้าไม่ใช่ดาวรุ่งที่ต้องการพิสูจน์ตัวเอง ก็เป็นแข้งเก๋าที่หวังโชว์ฟอร์มไว้ลายในช่วงปลายอาชีพ ส่วนผสมที่ลงตัวนี้ ช่วยให้ ลีลล์ คว้าอันดับ 2 จากการแข่งขันฤดูกาล 2018-19

เมื่อผลงานสโมสรดี นักเตะในทีมย่อมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ลีลล์ ไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอย ด้วยการขายนักเตะตัวหลักออกจากทีม ในราคาแพงลิบลิ่ว ไล่ตั้งแต่ นิโคลาส์ เปเป ที่ย้ายสู่ อาร์เซนอล ในราคา 80 ล้านยูโร, ราฟาเอล เลเอา สู่ เอซี มิลาน ในราคา 29.5 ล้านยูโร ทั้งที่ฤดูกาลที่แล้ว เพิ่งเซ็นมาฟรี ๆ จนถึง ติอาโก เมนเดส ที่ปล่อยให้ โอลิมปิก ลียง ด้วยราคา 20 ล้านยูโร

ลีลล์ กวาดกำไรจากตลาดซื้อขายฤดูกาล 2019-20 เป็นเงินราว 50 ล้านยูโร ก่อนที่วงเวียนการขายนักเตะจะกลับมาในฤดูกาลถัดไป

ก่อนเริ่มซีซั่น 2020-21 ลีลล์ทำการปล่อยตัว วิคตอร์ โอซิมเฮน กองหน้าชาวไนจีเรีย แก่ นาโปลี ในราคา 70 ล้านยูโร ทั้งที่ทีมเพิ่งจะซื้อโอซิมเฮน เข้าสู่ทีมในฤดูกาลก่อน ด้วยค่าตัว 22.4 ล้านยูโร เท่ากับว่า พวกเขาฟันกำไรจากดีลนี้ เกือบ 50 ล้านยูโร จากระยะเวลาลงทุนแค่ปีเดียว

นอกจากนี้ ลีลล์ ยังปล่อยตัว กาเบรียล มากัลเญส ให้แก่ อาร์เซนอล ในราคา 26 ล้านยูโร สรุปแล้ว พวกเขาได้กำไรจากตลาดซื้อขายฤดูกาลปัจจุบัน 58.7 ล้านยูโร

จากสโมสรที่เคยโดนแบนจากตลาดซื้อขาย และเกือบจะถูกปรับตกชั้น ลีลล์ ใช้เวลาเพียง 3 ปี หาเงินราว 170 ล้านยูโร เข้าสู่ทีมจากการซื้อขายนักเตะเพียงอย่างเดียว เมื่อบวกกับรายได้ทางอื่น

ลีลล์ จึงเปลี่ยนสภาพจากทีมรอตกชั้น สู่สโมสรไฟแรงที่พร้อมจะล่าแชมป์ ลีก เอิง ฤดูกาล 2020-21

ตอบโจทย์ทั้งนอก และในสนาม

การซื้อขายนักเตะของลีลล์ ไม่ได้มีประสิทธิภาพในแง่ธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการใช้งานในสนามด้วย 

เพราะหลายครั้งที่พวกเขาเลือกซื้อ "ดาวดับ" หรือ "คนแก่หมดสภาพ" ก่อนคืนชีพนักเตะเหล่านั้น กลับมาเป็นแข้งแถวหน้าอีกครั้ง

คนแรกที่ต้องพูดถึง คือ เรนาโต ซานเชส อดีตนักเตะรางวัลโกลเดน บอย ที่กลับมาเกิดใหม่กับสโมสร หลังซื้อจาก บาเยิร์น มิวนิค ด้วยราคา 20 ล้านยูโร ก่อนหน้านี้ เรนาโต ออกไปพเนจรกับ สวอนซี และพาต้นสังกัดชั่วคราวตกชั้นจากพรีเมียร์ลีก แบบหมดสภาพ

ส่วนอีกคนที่คุ้มยิ่งกว่าเรนาโต คือ บูรัค ยิลมาซ กองหน้ารุ่นเก๋าวัย 35 ปี ที่สโมสรเซ็นสัญญาเข้าสู่ทีมโดยไม่มีค่าตัว ซึ่งก่อนหน้านี้ ยิลมาซ คือนักเตะที่แทบไม่มีใครรู้จัก เพราะตระเวนค้าแข้งในลีกตุรกีเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้จะออกไปโกยเงินหยวนที่ประเทศจีนบ้าง แต่เจ้าตัวยังคงไร้ประสบการณ์ในลีก Big 5 ของยุโรป

"แก่แต่เก๋า" อธิบายผลงานของยิลมาซ ในฤดูกาลนี้ เขาครองตำแหน่งดาวซัลโวของทีม จากการระเบิด 16 ประตู ในการแข่งขัน ลีก เอิง ฤดูกาลปัจจุบัน 

ส่วน เรนาโต แม้จะเจ็บออด ๆ แอด ๆ ตลอดฤดูกาล  แต่เขายังคงเป็นแข้งวัย 23 ปี ที่มีอนาคตไกล และพร้อมจะตอบแทนสโมสรเป็นเม็ดเงินจากตลาดซื้อขายในอนาคต

มีนักเตะอีกมากมายที่เพิ่งเข้าสู่ทีมในฤดูกาลนี้ และทำผลงานได้ดีแทบจะในทันที ไม่ว่าจะเป็น โจนาธาน เดวิด ศูนย์หน้าที่ทีมทุ่มเงิน 27 ล้านยูโร ที่ซื้อมาจาก เกนท์ ก่อนยิงให้กับทีมในลีก 13 ประตู หรือ สเวน บอตมัน ที่ดึงตัวจากทีม อาหยักซ์ ชุดเยาวชน จนกลายเป็นกุญแจสำคัญที่พาต้นสังกัด เสียประตูน้อยที่สุดในฤดูกาลนี้ เพียง 23 ประตู

การคว้าแชมป์ ลีก เอิง ฤดูกาล 2020-21 ของลีลล์ จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มาจากการบริหารอันยอดเยี่ยมของสโมสรในทุกมิติ 

ไม่ว่าจะเป็น การหาคนเบื้องหลังที่มีความสามารถ และเหมาะสมกับองค์กรเข้ามาทำงาน, ควบคุมการใช้จ่ายในตลาดซื้อขาย หรือ การหานักเตะคุณภาพดีเข้าสู่ทีมไม่ขาดสาย ทั้งหมดล้วนเป็น ปัจจัยที่พาพวกเขากลับมาคว้าแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

แน่นอนว่า ความสำเร็จครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นการเดินทางของลีลล์ เพราะทีมยังมีหนี้ที่รอการชำระอีก 123 ล้านยูโร จนนำมาสู่การเปลี่ยนเจ้าของใหม่ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลให้ หลุยส์ แคมโปส โบกมือลาสโมสรไป

ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ลีลล์ จะรักษาระดับของตัวเองได้นานแค่ไหน แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ... การคว้าแชมป์ลีก เอิง ของลีลล์ในปี 2021 จะเป็นแม่แบบแก่สโมสรทั่วโลกควรศึกษา ถึงการบริหารทีมฟุตบอลอย่างมีประสิทธภาพ และประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องขาดทุนปีละหลายสิบล้าน เพื่อตามล่าถ้วยแชมป์สักใบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook