ความสำเร็จ, ภาพลักษณ์, และ อิทธิพล : "เอ็มม่า ราดูคานู" ตัวแทนยุคสมัยของ "Gen Z"

ความสำเร็จ, ภาพลักษณ์, และ อิทธิพล : "เอ็มม่า ราดูคานู" ตัวแทนยุคสมัยของ "Gen Z"

ความสำเร็จ, ภาพลักษณ์, และ อิทธิพล : "เอ็มม่า ราดูคานู" ตัวแทนยุคสมัยของ "Gen Z"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การคว้าแชมป์ระดับแกรนด์สแลมถือเป็นความฝันสูงสุดของนักกีฬาเทนนิสเลยก็ว่าได้ สำหรับนักกีฬาบางคนพยายามทุ่มเททั้งชีวิตแต่ก็ไปไม่ถึง และต่อให้ไปได้ถึงแล้วยังไงต่อ? เพราะปลายทางความสำเร็จที่แท้จริงคือการต่อยอดและทำให้ตัวเองกลายเป็นแบรนด์ที่ทุกคนจดจำได้

ในขณะที่การอยู่บนกระแสและเป็นคนมีอิทธิพลต่อคนกลุ่มใหญ่ดูจะเป็นเรื่องยาก แต่ล่าสุดมีสาวน้อยวัยเพียง 18 ปี อย่าง เอ็มม่า ราดูคานู ทำได้สำเร็จแล้ว

การคว้าแชมป์แรกในชีวิต แถมยังเป็นรายการระดับแกรนด์สแลม ทั้ง ๆ ที่ลงเล่นตั้งแต่รอบคัดเลือกรอบแรก จนกลายเป็นความสำเร็จที่มาถึงเร็วอย่างเหลือเชื่อ แต่ยิ่งกว่านั้น เส้นทางหลังจากคว้าแชมป์ของเธอต่างหากที่สามารถยกระดับตัวเองจากนักกีฬาให้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้อย่างสวยงาม

นอกจากความน่ารักทรงเสน่ห์และฝีไม้ลายมือที่ไม่ธรรมดา มีส่วนประกอบใดอีกบ้างที่ทำให้ เอ็มม่า กลายเป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ที่ใครก็ต้องหลงรัก ?

ติดตามได้ที่ Main Stand

โลกของ "Gen Z"

การคว้าแชมป์ ยูเอส โอเพ่น 2021 ของ เอ็มม่า ราดูคานู อาจจะดูเหมือนพล็อตเดิม ๆ ของวงการกีฬาที่เราได้เห็นบ่อย นั่นคือการผงาดคว้าแชมป์ของม้านอกสายตาและเป็นมือวางไร้อันดับอะไรเทือก ๆ นั้น แต่หากเรามองความสำเร็จของ เอ็มม่า ให้ดี เราจะได้เห็นบางสิ่งที่มากกว่าแค่ "การพลิกล็อก" แบบที่หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าว

1อย่างแรก เทนนิส ไม่ใช่กีฬาที่คุณจะสามารถหลบซ่อนจุดอ่อนได้เลย โดยเฉพาะประเภทชายเดี่ยวหญิงเดี่ยวนั้น คุณต้องลงไปในสนาม ดวลกับคู่แข่งแบบตัวต่อตัว ถ้าทำพลาดคุณก็เสียแต้ม ถ้าคุณแพ้ให้กับความกดดัน เล่นด้วยความไม่เป็นตัวของตัวตัวเอง หรือกระทั่งไม่เชื่อมั่นว่าตัวเองจะชนะได้ คุณก็จะกลายเป็นผู้แพ้แบบไม่ต้องสงสัย ... ความกดดันและภาระของการเป็นแชมป์ มันไม่เหมือนกับฟุตบอลที่ต่อให้บางวันคุณเล่นไม่ดี คุณก็สามารถจบเกมด้วยการเป็นผู้ชนะได้ ผ่านประสิทธิภาพการเล่นของเพื่อนร่วมทีมอีก 10 คน (และตัวสำรอง) ที่เหลือ 

สำหรับเด็กอายุ 18 ปี การรับมือกับความกดดันในนัดชิงชนะเลิศรายการใหญ่อย่าง ยูเอส โอเพ่น ถือเป็นสิ่งที่น่าเหลือเชื่อ นอกจากตัวของ ราดูคานู แล้วยังมีนักเทนนิสรุ่นใหม่ที่อายุอยู่ในวัยทีนเอจอีกหลายคนที่เก่งกาจไม่แพ้กัน อาทิ คอรี กอฟฟ์, เลย์ลาห์ แอนนี่ เฟอร์นานเดซ หรือจะเป็นสาวมหัศจรรย์ที่เพิ่งผ่านหลัก 20 ปีไปหมาด ๆ อย่าง นาโอมิ โอซากะ ก็ถือว่าเป็นการบ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของวงการเทนนิสที่คนอายุน้อย ๆ เริ่มมีบทบาทมากขึ้น 

2เหตุการณ์แบบนี้หากย้อนกลับไปสัก 10-20 ปีก่อน สิ่งเหล่านี้แทบเป็นไปไม่ได้เลยในยุคที่ 2 พี่น้อง วิลเลี่ยมส์ (วีนัส และ เซเรน่า) ยืนหนึ่งในวงการ ทว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงยุค 3-4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มนักกีฬาอายุน้อยหลายคนก็เริ่มเติบโตขึ้นด้วยมายด์เซ็ต (กรอบความคิด) ที่แตกต่างจากนักกีฬาในอดีตเป็นอย่างมาก เรื่องนี้บ่งบอกถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของสังคมโลกด้วย 

นักกีฬาดาวรุ่งสมัยก่อน ๆ มีลักษณะที่ยึดถือระบบของความเป็นซีเนียร์หรือเรื่องของวัยวุฒิเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการยึดถือเอาหลักการหรือหลักสูตรในแบบที่ "เชื่อตามกันมา" มาปรับใช้กับวิธีพัฒนาตนเองเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลในยุคก่อนหน้านี้ไม่ได้ง่าย และข้อมูลที่เจอก็ไม่ได้กว้างและลึกเท่ากับที่เด็ก ๆ ในยุคปัจจุบันพบเจอ 

ยกตัวอย่างเช่น อังเดร อากัสซี่ สุดยอดนักเทนนิสชายยุค 90s ก็เป็นอีกคนที่พัฒนาตัวเองด้วยองค์ความรู้จากคนรุ่นเก่า เนื่องจากพ่อของเขาบังคับขู่เข็ญเขาตั้งแต่เด็กจนเขาสามารถก้าวข้ามความกดดันและกลายเป็นแชมป์ระดับแกรนด์สแลมได้ในบั้นปลาย

3ไม่ใช่นักกีฬาระดับโลกเท่านั้น ใกล้ตัวคนไทยเราหน่อยอย่าง ชนาธิป สรงกระสินธ์ หลายคนก็คงเคยได้ยินวิธีการฝึกเองโดยคุณพ่อ ก้องภพ ที่ใช้วิธีการฝึกที่แตกต่างจากการฝึกทั่วไปของเด็ก ๆ รุ่นเดียวกัน ที่ใส่ความกดดันจนทำให้ลูกชายต้องร้องไห้ แต่สุดท้ายเพราะสิ่งนี้ เราจึงได้เห็นคุณภาพที่แตกต่างในวันที่ "ชนาคุง" เติบโตขึ้น 

ตัดภาพมายังปัจจุบัน วิธีการแบบที่กล่าวมาดูเหมือนจะเป็นวิธีการพัฒนาทักษะที่ค่อนข้างตกยุคไปแล้ว สำหรับเด็กรุ่นใหม่อย่าง ราดูคานู หรือใครอีกหลาย ๆ คน เพราะเด็ก Gen Z (ช่วงวัยที่เกิดระหว่างปี 1997-2012) เติบโตขึ้นมาในยุคที่เรียกว่า "พร้อมจะเริ่มต้น" เนื่องจากพวกเขาสามารถเข้าถึงช่องทางการเพิ่มพูนทักษะเฉพาะทางได้ทันทีแบบลัดขั้นตอนได้ด้วยตัวเอง เด็ก Gen Z หลายคนจึงไม่ค่อยเชื่อมั่นในระบบการศึกษาแบบขั้นบันได โดยเฉพาะในวันที่พวกเขาพบคุณค่าและสิ่งที่ตัวเองถนัดอย่างแท้จริง พวกเขาก็จะต่อยอดสิ่งนั้นได้อย่างอิสระ ผ่านการเรียนรู้จากข้อมูลที่ไร้ขีดจำกัด

ไม่ใช่เรื่องว่าวิธีไหนดีกว่าหรือแย่กว่า แต่บริบทของสังคมโลกเปลี่ยนไป กลุ่มคน Gen Z ตื่นตัว ค้นพบ และเริ่มต้นความเป็นตัวเองได้ไวกว่ากลุ่มคนยุคก่อน ๆ ทั้ง Gen Y, Gen X หรือ Baby Boomer ดังนั้นหาก Gen Z ใช้ความไวในการค้นพบตัวเองให้เป็นประโยชน์ และค้นพบสิ่งที่ถูกต้องเหมาะกับศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่จริง ๆ พวกเขาก็จะพัฒนาไปข้างหน้าได้ตั้งแต่ช่วงอายุน้อย ๆ 

4เรื่องนี้สะท้อนผ่านการพัฒนาด้านทักษะเทนนิสของ ราดูคานู ได้อย่างชัดเจน เธอรู้ว่าตัวเองชอบเทนนิส หลังจากได้ทดลองค้นหาตัวเองมากับหลายสิ่ง ทั้งการขี่ม้า, เต้นแท็ป, กอล์ฟ, สกี, บาสเกตบอล หรือแม้แต่กระทั่งการขี่มอเตอร์ไซค์โมโตครอส แต่เมื่อเธอได้เจอกับเทนนิส เธอก็รู้สึกถึงความพิเศษและศักยภาพตัวเองในทันที จากนั้นเธอก็ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกให้เธอต้องไปซ้อมและพัฒนาตัวเองด้วยการเล่นอย่างเอาจริงเอาจัง 

"ฉันเติบโตขึ้นมาแบบที่แปลกจากคนอื่น ๆ ไปหน่อย ไม่มีผู้หญิงคนไหนที่ฉันชอบและประทับใจเป็นพิเศษถึงระดับที่ฉันบอกตัวเองว่า 'ว้าว ฉันอยากเป็นเหมือนเธอจัง' ฉันแค่อยากเป็นอย่างที่ตัวเองเป็นและมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำมากกว่า" ราดูคานู ให้สัมภาษณ์ผ่านนิตยสารแฟชั่นอย่าง Voque 

เธอรู้ตัวเองดีและเอาจริงเอาจังกับกีฬาชนิดนี้ตั้งแต่ 9 ขวบ ไม่รู้ว่าเธอพัฒนาได้เร็วแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ เธอเก่งตั้งแต่เด็ก การันตีด้วยรางวัลแชมป์ระดับประเทศรุ่น 9 ขวบ, ต่ำกว่า 12 ปี และต่ำกว่า 16 ปี นอกจากนี้ยังคว้าแชมป์ของสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ITF) ระดับเยาวชนได้ตั้งแต่อายุ 13 ปีอีกด้วย 

5การโฟกัสกับเทนนิส และเน้นที่การฝึกฝนทักษะมากกว่าการคำนวณเรื่องอันดับและตัวเลขมือวางซึ่งเป็นสิ่งที่นักเทนนิสหลายคนในยุคก่อน ๆ อยากจะทำอันดับให้ดี ๆ ทำให้ ราดูคานู อยู่ในอันดับมือวางที่ 150 ของโลก ก่อนที่เธอจะลงเล่นในนัดชิงชนะเลิศยูเอส โอเพ่น แต่ถึงจะเป็นอันดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นัดชิงชนะเลิศ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังตัวเลขคือศักยภาพ ที่มันสำคัญกว่าอันดับเยอะเลยทีเดียว ... อันดับทำให้ถูกจับตามอง แต่ฝีมือต่างหากที่ทำให้เธอเป็นผู้ชนะ ... นี่คือแนวคิดของเด็กน้อยวัย 18 ปี อย่าง ราดูคานู 

"ฉันคิดเสมอว่าตัวเองเป็นแค่เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ที่อาจจะขี้อายและไม่ค่อยได้พูดมากมายนัก แต่กับการเป็นนักกีฬาฉันต้องเป็นคนที่กล้าหาญในสนาม ไม่กลัวการต่อสู้ ความกล้าคือจุดเริ่มต้นของความแข็งแกร่ง ถ้าคุณมีสิ่งนี้ คุณก็จะสามารถบรรลุถึงสิ่งที่คุณต้องการได้จริง ๆ" เอ็มม่า ราดูคานู กล่าวถึงความเชื่อเรื่อง "ประสิทธิภาพ ที่สำคัญกว่า ภาพลักษณ์"

ยิ่งกว่าแชมป์ คือการเป็นผู้ทรงอิทธิพล 

การชนะในยูเอส โอเพ่น คือผลตอบแทนของความพยายามและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องชื่นชม เอ็มม่า ราดูคานู คือวิธีรับมือกับชื่อเสียงที่เข้ามาภายในเวลาชั่วข้ามคืน

6เธอเคยเล่าว่า หลังจากที่คว้าแชมป์ เธอกลับบ้านที่อังกฤษ กินอาหารที่แม่ของเธอทำและนอนพักผ่อนทั้งวัน หลังตื่นมา เธอพยายามจะไปซ้อมที่สนามเดิมเจ้าประจำ แต่เธอพบว่าเธอไม่สามารถเข้าสนามได้ เพราะแฟน ๆ มารอพบเธอหลายร้อยชีวิต ซึ่งในนาทีนั้นเธอรู้ทันทีเลยว่าชีวิตของตัวเองจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว วินาทีหลังจากการคว้าแชมป์ คือการต้องรับผิดชอบต่อตัวเองในการเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ อีกด้วย

ต้องยอมรับว่า เอ็มม่า ราดูคานู ถือเป็นตัวแทนนักกีฬายุคใหม่ และต่อให้เธอเชื่อมั่นในประสิทธิภาพมากกว่าภาพลักษณ์ภายนอก แต่สิ่งนี้ก็ทำให้เธอโดดเด่นกว่าใคร จนเห็นออร่าของความดังได้ชัดกว่านักกีฬารุ่น ๆ เดียวกันคนอื่น ๆ 

ราดูคานู นั้นมีแรงหนุนจากรอบตัวและสิ่งที่เธอเป็น เธอมีคุณลักษณะของคนที่จะเป็นคนดังและมีฐานแฟนคลับเป็นวงกว้าง หรือในระดับนานาชาติ เพราะความหลากหลายในตัวของเธอเอง

7เธอมีแม่เป็นชาวจีน มีพ่อเป็นชาวโรมาเนีย, ถูกเลี้ยงดูแบบอังกฤษ และมีชื่อเสียงโด่งดังในสหรัฐอเมริกา ที่สำคัญคือ เอ็มม่า ราดูคานู เป็นคนที่มี Charismatic (เสน่ห์ หรือ ออร่า) ในการแสดงออก หน้าตาที่ดูน่ารักเป็นทุนเดิมแบบเด็กวัยทีนเอจ ผสมเข้ากับบุคลิกของการเอาจริงเอาจังเวลาลงสนาม อีกทั้งยังมีทักษะการพูดและการสื่อสารในที่สาธารณะแบบเป็นธรรมชาติ กล่าวคือเธอเป็นคนที่พูดได้เข้าหูคนฟัง ไม่ทางการเกินไป และสามารถสอดแทรกมุกตลกไปพร้อม ๆ กัน  

"ก่อนลงแข่งรอบควอลิฟายแมตช์แรก ฉันทำหูฟังแอร์พอด (หูฟังไร้สายจากค่ายแอปเปิล) หาย และพยายามควานหารอบห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าอยู่ 3 นาที ก่อนกดโทรศัพท์เพื่อช่วยหา"

"แล้วตอนนั้นก็เลยคิดได้ว่า นี่ รู้อะไรไหม ถ้าเธอชนะแมตช์นี้ก็น่าจะหาเงินซื้อหูฟังแอร์พอดตัวใหม่ได้นะ แล้วนั่นก็เป็นเรื่องโจ๊กที่ล้อกันในหมู่ทีมงานไปเลย" นี่คือหนึ่งในการให้สัมภาษณ์หลังเป็นแชมป์ที่เธอกล่าวมันพร้อมกับรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ จนทำให้หลายคนที่ได้ฟังอยู่ในสถานะ "โดนตก" ไปเป็นที่เรียบร้อยโดยที่ยังไม่ทันรู้ตัว

8ในด้านของความเอาจริงเอาจัง ราดูคานู ไม่ใช่เด็กติดโทรศัพท์เลยในเวลาที่เธอโฟกัสกับการซ้อมและการแข่งขัน เธอเล่าว่าตลอดช่วงเวลาซ้อมจนถึงการคว้าแชมป์ ยูเอส โอเพ่น เธอไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียเลยเป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์ และต่อให้เธอเจอข้อความแง่ลบหรือบูลลี่ในอินสตาแกรมส่วนตัวที่ยอดผู้ติดตามสูงขึ้นทุก ๆ วัน เธอก็ยืนยันว่าเธอไม่ได้ถือสาอะไร และพร้อมจะมองข้ามสิ่งที่ทำให้จิตใจต้องมัวหมองได้เสมอ 

นอกจากนี้เงินรางวัลที่ได้มากว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เอ็มม่า ราดูคานู ยกให้พ่อและแม่ของเธอจัดการทั้งหมดแบบไม่มีเสียดาย เพราะเธอเชื่อว่าทั้งสองคนจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับเธอ ขณะที่เธอโฟกัสกับความสำเร็จที่รออยู่ในอนาคต นั่นคือกลับไปตั้งใจซ้อมอีกครั้งเหมือนกับที่ผ่าน ๆ มา

เรื่องนี้ ทิม เฮนแมน อดีตนักเทนนิสชายชาวอังกฤษ ถึงกับบอกว่าส่วนผสมทั้งหมดภายในตัวของ ราดูคานู ทั้งภาพลักษณ์และทัศนคติ คือสิ่งที่ทำให้เธอแตกต่าง และเปรียบกับสัตว์ในตำนานอย่าง "ยูนิคอร์น" ได้เลยทีเดียว 

9ความเป็นยูนิคอร์นของ ราดูคานู ทำให้เธอได้รับบทบาทต่าง ๆ มากมาย ไม่ใช่แค่ในวงการเทนนิสเท่านั้น เพราะหลังจากคว้าแชมป์ เธอก็ได้รับการทาบทามถ่ายแบบจากนิตยสาร Voque การเชิญไปออกงานที่เต็มไปด้วยอินฟลูเอนเซอร์และดาราเบอร์หัวแถวของโลกอย่างงาน Met Gala ซึ่งการปรากฏตัวของ ราดูคานู ก็เรียกเสียงฮือฮาและคำชื่นชมได้เสมอ โดยเฉพาะเรื่องของเสน่ห์ที่เหลือร้าย ใครได้เห็นเธอยิ้มเป็นอันต้องอดยิ้มตามไม่ได้ 

สปอนเซอร์จากทั่วโลกกำลังหลั่งไหลเข้ามาที่เด็กสาววัย 18 ปีคนนี้ คาดว่าในปี 2022 เธอจะได้รับเงินสนับสนุนมากถึง 65.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากข้อเสนอทางโทรทัศน์และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยนิตยสาร Masquelier ก็ยืนยันว่า ตอนนี้ภาพลักษณ์ของ เอ็มม่า ราดูคานู ดังทะยานจนหลุดกรอบของนักกีฬาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากเธอยังรักษามาตรฐานในสนามได้ และวางตัวได้น่าประทับใจในที่สาธารณะแบบนี้ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเทนนิสอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ 

10"ในรอบ 35 ปีที่ผ่านมา ในอุตสาหกรรมกีฬาหลังหมดยุคของ ไทเกอร์ วู้ดส์ ผมก็เพิ่งเห็นคนที่มีแววจะไปในระดับนั้นได้ จนถึงตอนนี้ ราดูคานู ดูจะรับมือกับความกดดันรอบตัวได้ดีมาก ๆ เธอพร้อมสำหรับการเข้าสู่โลกของธุรกิจ พนันได้เลยว่าเธอจะต้องเป็นผู้หญิงที่โลกต้องจับตามองหลังจากนี้แน่นอน" นิตยสารชื่อดังกล่าว

แนวคิด การวางตัว ความเชื่อมั่นในตัวเอง และข้อได้เปรียบของยุคสมัย และเหนือสิ่งอื่นใดคือการเอาชนะใจทุกคนด้วยความเป็นธรรมชาติ หากผลงานไม่ตก รับรองได้เลยว่าสิ่งที่หลายคนทำนายอนาคตของ เอ็มม่า ราดูคานู ไว้อาจจะเป็นจริง หรืออาจจะยิ่งใหญ่กว่าที่ใครคาดคิดก็เป็นได้ 

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ ความสำเร็จ, ภาพลักษณ์, และ อิทธิพล : "เอ็มม่า ราดูคานู" ตัวแทนยุคสมัยของ "Gen Z"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook