"อัลตร้ามาราธอนป่าหิน" : โศกนาฏกรรมหมู่ที่คร่าชีวิตนักวิ่งจนจีนต้องปิดปากผู้รอดตาย

"อัลตร้ามาราธอนป่าหิน" : โศกนาฏกรรมหมู่ที่คร่าชีวิตนักวิ่งจนจีนต้องปิดปากผู้รอดตาย

"อัลตร้ามาราธอนป่าหิน" : โศกนาฏกรรมหมู่ที่คร่าชีวิตนักวิ่งจนจีนต้องปิดปากผู้รอดตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การวิ่งเทรล ถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงหลัง เพราะนอกจากจะได้ทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกายแล้ว ผู้ร่วมแข่งยังมีโอกาสได้ผจญภัยไปกับเส้นทางตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงกลางปี 2021 ที่ผ่านมากลับมีสิ่งที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการวิ่งเทรล หลังนักวิ่งกว่า 20 คน ต้องสังเวยชีวิตในคราวเดียวกัน รวมไปถึงนักวิ่งชื่อดังอย่าง เหลียง ฉิง แชมป์อัลตรามาราธอนหลายรายการ ในการแข่งขันวิ่งเทรลที่อุทยานป่าหินฮวงโห ประเทศจีน 

เหตุการณ์ครั้งนั้นไม่เพียงสร้างความโศกเศร้าให้แก่วงการวิ่งเท่านั้น แต่มันยังมีเงื่อนงำ เมื่อรัฐบาลจีนพยายามปิดปากผู้รอดชีวิต ราวกับไม่ให้อยากรู้ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น? ร่วมติดตามไปพร้อมกับ Main Stand

อัลตร้ามาราธอนป่าหินแม่น้ำเหลือง 

มันอาจจะเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งของ จ้าง เฉี่ยวเถา สำหรับชีวิตนักวิ่งของเขา เมื่อแสงแดดที่สาดส่องในยามเช้าที่จุดสตาร์ทที่เมืองไป่ยิน เมืองที่เคยรุ่งเรืองจากการทำเหมืองแร่ในมณฑลกานซู ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นสัญญาณว่าการวิ่งเทรลครั้งนี้ของเขาน่าจะไม่มีปัญหาอะไร 

เขาคือ 1 ใน 172 นักวิ่งที่เข้าร่วมการแข่งขันอัลตร้ามาราธอน "Yellow River Stone Forest HANGHE SHILIN MOUNTAIN MARATHON" การแข่งขันวิ่งระยะทาง 100 กิโลเมตร ที่มีเส้นทางตัดผ่านภูเขาสูงในอุทยานแห่งชาติป่าหินแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) 

1มันคือหนึ่งในการแข่งขันที่ท้าทายความสามารถของเหล่านักวิ่งจอมอึด เพราะบางช่วงเส้นทางมีความลาดชันสูงไม่ต่างจากการปีนเขา โดยมีจุดที่สูงที่สุดคือ 2,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล  

ทว่า ก่อนออกสตาร์ทไม่นาน ลมหนาวก็เริ่มพัดมา ทำให้หลายคนต้องวิ่งไปหลบในร้านขายของชำที่อยู่บริเวณนั้น ขณะที่บางคนต้องยืนกัดฟันตัวสั่น เมื่อเสื้อแขนสั้นและกางเกงขาสั้นของพวกเขา ไม่สามารถเป็นเกราะป้องกันสายลมอันเย็นยะเยือกได้เลย 

สำหรับ จ้าง วันนี้ดูจะเป็นเหมือนวันของเขา เมื่อออกสตาร์ทได้ดี เขาอยู่ในกลุ่มผู้นำเมื่อผ่านจุดเช็คพอยต์แรก โดยมีเส้นทางภูเขาตะปุ่มตะป่ำเป็นสถานีต่อไป แต่ทันใดนั้นก็เริ่มแย่ลง หลังจากผ่านไปเพียง 20 กิโลเมตรของระยะทาง    

"ลูกเห็บตกลงมาตอนผมปีนเขาไปได้ครึ่งทาง" จ้าง บรรยายเหตุการณ์ลงในโซเชียลมีเดีย  

"หน้าของผมเต็มไปด้วยน้ำแข็งที่กระหน่ำเข้ามา ทัศนวิสัยผมเลือนรางไปหมด และมองเห็นทางไม่ชัด"

อย่างไรก็ดี จ้างก็ยังมุ่งหน้าต่อไป เขาแซงหน้า หวง กวนจุ้น แชมป์วิ่งมาราธอนพาราลิมปิกระดับชาติ (รายการนี้ อนุญาตให้ผู้พิการเช่น หวง ที่พิการทางหู สามารถลงแข่งร่วมกับผู้มีร่างกายครบ 32 ได้) ที่กำลังพยายามอยู่เช่นกัน รวมถึงวิ่งทัน อู่ ปั๋นร่ง ที่วิ่งตามมาตั้งแต่เสียงปืนปล่อยตัว 

แต่ อู่ อาการไม่สู้ดี เขาตัวสั่นเทิ้มด้วยความหนาวและเสียงสั่น จ้างจึงเข้ามาโอบเขาไว้ และค่อยๆเดินไปพร้อมกัน แต่เจ้ากรรม หลังจากนั้นลมก็พัดแรงขึ้น แถมพื้นยังลื่น ทำให้พวกเขาต้องแยกจากกัน 

จ้างวิ่งต่อไป แต่ก็มาเจอกับลมที่แรงถึง 80 กิโลเมตร จนทำให้เขาล้มลง เขาพยายามลุกขึ้นยืนหลายต่อหลายครั้ง แต่ตอนนี้ความหนาวเย็นทำให้ร่างกายของเขาเสียการควบคุมจนลุกไม่ไหว อุณหภูมิในตอนนั้นน่าจะลดลงเหลือ -5 องศาเซลเซียส 

"ผมล้มลงเป็น 10 ครั้ง แขนขาของผมแข็งทื่อ ผมรู้สึกเหมือนร่างกายเสียการควบคุมอย่างช้าๆ และหลังการล้มครั้งสุดท้าย ผมก็ลุกขึ้นยืนไม่ได้แล้ว" จ้างย้อนความทรงจำ

2ก่อนที่สติจะเลือนหาย เขาก็คลุมตัวเองด้วยผ้าห่มฟลอยด์กันความหนาว หยิบเครื่องติดตาม GPS ออกมา แล้วกดปุ่ม SOS (ขอความช่วยเหลือ) ก่อนที่ภาพจะตัดไป 

หลังจากนั้นเขาก็ไม่รับรู้อะไรอีกเลย..

โศกนาฏกรรมกลางอุทยานแห่งชาติ 

ในตอนที่ฟื้น จ้าง พบว่าตัวเองอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง มีใครบางคนจุดไฟให้ความอุ่นแก่เขา มองไปรอบๆ เขาเห็นกลุ่มนักวิ่งอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังหลบภัยจากความหนาว พวกเขาทั้งหมดได้รับการช่วยเหลือจาก ซู่ เค่อหมิง คนเลี้ยงแกะที่บังเอิญผ่านมาเจอ 

เขาเจอ จ้าง ล้มลงอยู่ระหว่างทาง ก่อนจะแบกร่างอันไร้สติขึ้นหลัง และพามาหลบภัยอยู่ในอยู่ในถ้ำ เพื่อจะได้เดินลงภูเขาพร้อมกัน โดยด้านล่างมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยกว่า 1,200 นาย ที่กำลังค้นหาและให้การช่วยเหลือเหล่านักวิ่งที่กลายเป็นผู้ประสบภัยอย่างเป็นทางการ

3จ้าง ลงมาถึงด้านล่างอย่างปลอดภัย แต่หลายคนไม่ได้โชคดีเหมือนเขา เมื่อมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการแข่งขันครั้งนี้สูงถึง 21 คน รวมถึงนักวิ่งชื่อดังของจีนหลายราย ทั้ง เหลียง ฉิง อดีตแชมป์รายการนี้, เจ้า เผิงเฟ่ย ที่เคยคว้าอันดับ 4 เมื่อปี 2020 และ หวง ยิ่นปิน ดาวรุ่งแห่งวงการ และน่าเศร้าที่ หวง กวนจุ้น ที่ จ้าง แซงไปและ อู่ ที่เขาเจอระหว่างทาง ต่างก็อยู่ในลิสต์ของผู้สูญเสีย 

"ฉันตกใจมาก ฉันไม่สามารถแม้แต่จะคิดถึงเรื่องนี้" เคธี อาร์โนลด์ แชมป์อัลตร้ามาราธอนผู้เขียนหนังสือ Running Home กล่าวกับ New York Times หลังจากรู้ข่าว 

รายงานระบุว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เผชิญกับภาวะ Hypothermic หรือการที่อุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการสัมผัสความหนาวเป็นเวลานาน มันทำให้พวกเขาเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวหรือนึกคิด บางครั้งคนที่เป็นอยู่ก็ไม่รู้ตัว และมันก็นำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว

"เราเหมือนกับว่า -อดทนอีกนิด เราจะไปถึงระดับ 1,600 เมตร- และคิดว่ามันอาจจะดีขึ้นถ้าเราไปถึงจุดเช็คพอยต์ที่ 3" ปี่ เชียวฉี หนึ่งในผู้รอดชีวิตกล่าวกล่าวกับสื่อท้องถิ่น

ขณะที่ ลู่ ฉิง นักปีนเขาชื่อดังของจีน และหนึ่งในผู้รอดชีวิต บอกเล่าประสบการณ์เฉียดตายจากสภาวะนี้กับสำนักข่าว CCTV เธอบอกว่าขณะที่กำลังไต่เขาขึ้นไป อุณหภูมิก็เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่เธอจะสังเกตุเห็นว่านักวิ่งหลายคนหยุดยืนที่อยู่ข้างถนน และตัวสั่นไปด้วยความหนาว 

"พวกเขาบอกว่าบนภูเขามันหนาวเกินไป  และเราทุกคนต่างใส่เสื้อแขนสั้นและกางเกงขาสั้น บางคนบอกเราว่าให้รีบลงจากภูเขา และบางคนน้ำลายฟูมปากไปแล้ว" ฉิง กล่าวกับ CCTV

4หลังโศกนาฎกรรม จ้าง ซู่เฉิน นายกเทศมนตรีของเมืองไป่ยิ่น เจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน ออกแถลงการณ์เสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบอกว่าสาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างกะทันหัน ตอนที่นักวิ่งขึ้นไปถึงระดับความสูง 2,000 เมตร 

"ในฐานะผู้จัดงาน เรารู้สึกผิดและตำหนิตัวเอง เราขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิต รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ" จ้าง ซู่เฉิน กล่าว 

อย่างไรก็ดี เป็นเพราะธรรมชาติเพียงอย่างเดียวจริงหรือ?..

ความสะเพร่าจากผู้จัด  

หลังเหตุการณ์เฉียดตาย จ้าง ได้ตัดสินใจนำเรื่องราวของเขามาเล่าใน Weibo โซเชียลมีเดียของจีน โดยใช้นามแฝงว่า Brother Tao is running แต่หลังจากบทความของเขาถูกเผยแพร่ออกไปไม่นาน โพสต์ดังกล่าวก็อันตรธานหายไปอย่างเป็นปริศนา 

5แม้หลังจากนั้น Caixin เว็บไซต์ข่าวจะอัปโหลดคำบอกเล่าของเขาใหม่ แต่เขากลับขอร้องชาวเน็ตว่าอย่าถามอะไรเขาอีก และเมื่อโดนเซ้าซี้มากขึ้น จ้าง ก็ตัดสินใจยกเลิกบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเอง   

"เราไม่ได้อยากเป็นคนดังในโลกออนไลน์" เขาเขียนข้อความสุดท้าย 

"เราอยากใช้ชีวิตอย่างสงบ ได้โปรดเถอะทุกคน โดยเฉพาะเพื่อนในโซเชียลมีเดียของผม อย่ารบกวนผม หรือถามอะไรผมอีก" 

แน่นอนว่า จ้าง ไม่ใช่คนเดียวที่ถูกกดดัน เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งที่สูญเสียพ่อไปในการแข่งขันรายการนี้ กลับตกเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งในโซเชียลมีเดีย หลังจากเธอตั้งคำถามว่าพ่อของเธอถูกปล่อยให้เสียชีวิตได้อย่างไร?

เธอถูกกล่าวหาว่าพยายามปล่อยข่าวลือ และเป็นเครื่องมือของ "กองกำลังต่างชาติ" มาเผยแพร่เรื่องราวด้านลบเกี่ยวกับจีน เช่นกันกับ หวง ยิ่นเจิ้น ที่สูญเสียน้องชาย ก็ถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามประกบ และสั่งห้ามคุยกับญาติคนอื่น    

"พวกเขาไม่ให้เราติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวคนอื่นหรือนักข่าว พวกเขาจับตามองเรา" เธอกล่าว New York Times 

ทำให้เรื่องนี้ดูมีเงื่อนงำ และดูมีอะไรมากกว่านั้น เพราะปกติแล้วสำหรับจีน หากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความบกพร่องโดยรัฐ พวกเขามักจะกดดันผู้รอดชีวิต หรือญาติผู้เสียชีวิตให้ปิดปาก และก้มหน้ารับเงินชดเชยไปอย่างเงียบๆ

ซึ่งมันก็ดูเหมือนจะมีเค้าลางในเชิงนั้นจริงๆ เมื่อหลังเหตุการณ์มีคนออกมาแฉว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นความสะเพร่าของผู้จัดงาน ซึ่งได้รับการจัดจ้างจากรัฐบาลของเมืองไป่ยิ่น

รายงานระบุว่า อันที่จริงก่อนออกสตาร์ท สภาพอากาศนั้นดูไม่น่าไว้วางใจอยู่แล้ว แต่ผู้จัดงานก็ไม่ได้มีคำเตือนใดๆแก่นักวิ่ง แถมกฎที่บังคับให้นักวิ่งทุกคนต้องพกแจ็คเก็ตกันน้ำและกันลม ซึ่งจำเป็นอย่างมากต่อเส้นทางบนภูเขาสูง ยังถูกยกเลิกไปในปีนี้ 

6นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันคนหนึ่งยังเผยว่าดูเหมือนผู้จัดจะไม่ได้ใส่ใจเรื่องความปลอดภัยมากนัก เห็นได้จากการไม่มีเสบียงเตรียมไว้ให้บนยอดเขา รวมถึงไม่ได้เตรียมการเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เลวร้าย

"มันไม่มีเสบียงเตรียมเอาไว้เลยในจุดเช็คพอยต์ที่ 3 ซึ่งหมายความว่าแม้นักวิ่งจะขึ้นไปถึงยอดเขา พวกเขาจะไม่มีทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ไม่ต้องพูดถึงน้ำร้อน แถมยังไม่มีที่ให้พักบนภูเขาที่โล่งและไม่มีทางออก" นักวิ่งคนหนึ่งเขียนในโซเชียลมีเดีย 

ซึ่งปัญหาดังกล่าว บางทีการเมืองก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องไม่น้อย

เน้นกำไรกว่าปลอดภัย 

"ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นในกีฬาภูเขา และอุปสงค์ในตอนนี้ก็มีมากกว่าอุปทานของความเชี่ยวชาญ" ผู้จัดงานรายหนึ่งที่ขอสงวนชื่อกล่าวกับ Outside

ปกติแล้วในระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ของจีน เจ้าหน้าที่ของพรรค (Cadres) จะเป็นผู้ส่งเสริมการพัฒนาของเศรษฐกิจในภูมิภาคของตัวเอง หรือโครงการด้านวัฒนธรรมขนาดใหญ่ เพื่อรับคะแนนโบนัสจากผู้บังคับบัญชา 

7และสิ่งที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีก็คือการแข่งขันวิ่งมาราธอน หรืออัลตร้ามาราธอน ที่พวกเขาไม่ได้รับทรัพย์จากค่าสมัครเท่านั้น แต่มันยังส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน และถูกรายงานข่าวในสื่อระดับชาติ

ทำให้กิจกรรมนี้กลายเป็นโครงการยอดนิยมของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ และทำให้จีนมีการแข่งขันวิ่งมาราธอนอยู่เกือบทุกเขตการปกครอง จากการรายงานของ Chinese Athletic Association ระบุว่าในปี 2019 มีการแข่งขันวิ่งเทรลมากถึง 481 รายการ 

และเพื่อแข่งขันกับเขตการปกครองอื่น บางครั้งคนของรัฐบาลท้องถิ่นก็พยายามตั้งกฎขึ้นมาเอง เพื่อดึงดูดนักวิ่งที่ชอบความท้าทาย ที่มีตั้งแต่เพิ่มระดับความสูงในเส้นทาง ไปจนถึงเพิ่มระยะทาง 

ขณะเดียวกัน สิ่งนี้ก็ทำให้ผู้ประกอบการเติบโตไปพร้อมกัน จากการเป็นผู้รับเหมาจากรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดการแข่งขันวิ่งระยะไกล ที่มีอยู่เกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศจีน

อย่างไรก็ดี มันกลับตรงกันข้ามกับมาตรการรักษาความปลอดภัย อเล็กซ์ หวัง บล็อกเกอร์สายท่องเที่ยว ที่เคยจัดงานวิ่งเทรลมากกว่า 10 รายการในจีนบอกว่า ปกติแล้วเธอจะจ้างรถพยาบาลไว้ทุก 10 กิโลเมตร แต่ผู้จ่ายเงินบางคนไม่ค่อยเต็มใจที่จะยอมเสียในส่วนนี้

"ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่าย หากคุณต้องการตั้งจุดกู้ภัยมากขึ้น และเตรียมคนสแตนด์บายไว้ตลอดเส้นทาง คุณก็ต้องจ่ายเงินมากขึ้น" เธอบอกกับ CNN

นอกจากนี้ แม้การบูมของการแข่งขันวิ่งเทรล จะทำให้หลายบริษัทมีงานทำมากขึ้น แต่มันก็เปิดโอกาสให้บางบริษัทที่ไม่ได้มีความชำนาญ เข้ามาสู่ตลาดได้เช่นกัน พวกเขาอาจจะมีสิ่งดึงดูดรัฐบาลท้องถิ่นด้วยราคาที่ถูกกว่า 

ยกตัวอย่างเช่นบริษัทที่ชนะการประมูลจัดการแข่งขันวิ่งเทรลที่ไป่ยิ่น ก็เป็นเพียงบริษัทขนาดเล็กเท่านั้น โดยเสนอราคามาด้วยงบประมาณเพียงแค่ 1.5 ล้านหยวน (ราว 7.8 ล้านบาท) และเป็นผู้จัดมาตั้งแต่ปี 2018 ก่อนจะเกิดโศกนาฏกรรมในปีที่ 4 ของการแข่งขัน 

8"บางรายการโฟกัสไปที่ผลลัพธ์ในเรื่องเงินเท่านั้น และไม่เต็มใจที่จะลงทุนด้านความปลอดภัย" บทความที่เผยแพร่ใน Papao Wang แอพพลิเคชั่นวิ่งยอดนิยมของจีนระบุ

"บางบริษัทที่จัดการแข่งขันเหล่านี้ ไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างสมบูรณ์ พวกเขาขาดทักษะในการจัดการแข่งขันกีฬาที่มีความเสี่ยงสูง และใช้ทรัพยากรที่จำเป็น" 

ทว่า สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือความประมาทของผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ที่บางคนอาจจะไม่ได้เตรียมตัวในการเผชิญกับสภาพอากาศแบบสุดขั้ว โดยมองเพียงแค่เงินรางวัลจำนวนมหาศาล หรือเงินปลอบใจจากการวิ่งจบจนละเลยเรื่องนี้   

"เนื่องจากฉันเคยมีประสบการณ์อันตรายหลายครั้งในการปีนเขามาก่อน ฉันเข้าใจว่าความปลอดภัยของเรานั้นอยู่ในมือของเราเอง" ลู่ ฉิง นักวิ่งและนักปีนเขาชาวจีนซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ในวันนั้นบอกกับ The Guardian 

"การวิ่งเทรลก็เหมือนกับการปีนเขา คุณต้องวางแผนสำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุดในทุกครั้ง และอย่าไปหวังกับคนอื่น"

จำนวนผู้เสียชีวิตไม่ใช่แค่ตัวเลข 

อันที่จริงในตอนที่กีฬาภูเขา (กีฬาที่แข่งบนพื้นที่ภูเขา เช่น เดินเขา, ปีนเขา, สกีภูเขา) บูมในประเทศเกาหลีใต้ช่วงทศวรรษที่ 1970s ก็มีอุบัติเหตุที่น่าสลดใจเกิดขึ้นที่นั่นเช่นกัน แต่พวกเขาก็พยายามแก้ไขและปรับปรุง เพื่อให้กีฬาแนวนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น 

สิ่งนี้อาจจะต่างไปจากจีน เพราะทุกครั้งที่เกิดโศกนาฎกรรมขึ้น ทางการมีแนวโน้มที่จะจัดการแบบตรงๆ ที่บ่อยครั้งลงเอยด้วยการยกเลิก ไปจนถึงสั่งปิด แทนที่จะปฏิรูปให้ดีขึ้น 

9เห็นได้ชัดเจนหลังเหตุการณ์นี้ เมื่อรัฐบาลจีนได้สั่งยกเลิกการแข่งขันวิ่งเทรลทั่วประเทศ รวมไปถึงสั่งแบนกีฬาผาดโผนอย่าง วิงสูทฟลายอิ้ง เป็นการชั่วคราว โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสและสภาพอากาศ

แต่อันที่จริง หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า พวกเขาน่าจะกังวลถึงภาพลักษณ์ก่อนที่จะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022 ทำให้ไม่รู้ว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขหรือไม่?

คำว่า "บทเรียน" มักจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงหลังเกิดเหตุการณ์เลวร้าย เช่นกันกับโศกนาฏกรรมที่ป่าหินแม่น้ำเหลือง ทว่า มันจะมีความหมายต่อเมื่อพวกเขาได้เรียนรู้จากความสูญเสียจริงๆ และพยายามป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นซ้ำสอง 

เพราะจำนวนผู้เสียชีวิต มันไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นชีวิตของคนในครอบครัวของใครสักคน 

10"สำหรับพวกคุณ (คนจัดงาน) มันอาจจะเป็นแค่การทำงานพลาด แต่สิ่งนี้พรากเอาความรักของแม่ฉันไป" ลูกสาวของผู้เสียชีวิตระบายความรู้สึกใน Weibo 

"สำหรับฉัน ฉันต้องเสียพ่อ และมันเหมือนกับว่าฉันได้เสียส่วนหนึ่งในชีวิตไปเช่นกัน" 

อัลบั้มภาพ 35 ภาพ

อัลบั้มภาพ 35 ภาพ ของ "อัลตร้ามาราธอนป่าหิน" : โศกนาฏกรรมหมู่ที่คร่าชีวิตนักวิ่งจนจีนต้องปิดปากผู้รอดตาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook