อีกด้านของตำนาน : เลฟ ยาชิน ในฐานะภาพสะท้อนยุครุ่งเรือง และจุดแตกดับของสหภาพโซเวียต

อีกด้านของตำนาน : เลฟ ยาชิน ในฐานะภาพสะท้อนยุครุ่งเรือง และจุดแตกดับของสหภาพโซเวียต

อีกด้านของตำนาน : เลฟ ยาชิน ในฐานะภาพสะท้อนยุครุ่งเรือง และจุดแตกดับของสหภาพโซเวียต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคำกล่าวเอาไว้ว่า ทั้งชีวิตของ เลฟ ยาชิน มีเพียงสามอย่างเท่านั้นที่สำคัญสำหรับเขา นั่นคือ "บทบาทผู้รักษาประตู, ดินาโม มอสโก และสหภาพโซเวียต" 

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จัก เลฟ ยาชิน คือตำนานผู้รักษาประตูชาวสหภาพโซเวียต และเรื่องราวของ "เจ้าปลาหมึกดำ" ในฐานะมือกาวเพียงคนเดียวที่เอาชนะรางวัลบัลลงดอร์ ถูกเล่าขานไปแล้วหลายต่อหลายครั้ง 

แต่แง่มุมของ ยาชิน ในฐานะผู้ชายคนหนึ่งที่เกิด และใช้ชีวิตเพื่อตอบแทนมาตุภูมิ ตามแนวคิดที่ถูกปลูกฝังในสหภาพโซเวียต กลับไม่ถูกพูดถึงนัก ทั้งที่มันเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมวัยรุ่นจิตป่วยที่สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 13 ปี ให้กลายเป็นตำนานในวงการลูกหนังอย่างทุกวันนี้

นี่คือเรื่องราวของ เลฟ ยาชิน ที่สะท้อนให้เห็นวันคืนที่สวยงามของสหภาพโซเวียต และลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก จนถึงวันที่ทุกอย่างล่มสลายอย่างน่าเศร้า ทั้ง สหภาพโซเวียต และตัวของยาชินเอง

เรียนรู้ความลำบากจากสงคราม

ก่อน เลฟ ยาชิน จะกลายเป็นผู้รักษาประตูระดับโลก และตำนานของดินาโม มอสโก เขาถือเป็นประชาชนชาวสหภาพโซเวียตแต่กำเนิด ซึ่งบรรดาแฟนฟุตบอลรุ่นหลังต่างเห็นตรงกันว่า ยาชิน คงไม่ประสบความสำเร็จในวงการลูกหนังขนาดนี้ หากเจ้าตัวเกิดในยุโรปตะวันตก และไม่ได้ใช้ชีวิตในสหภาพโซเวียต

เลฟ ยาชิน ลืมตาดูโลกเมื่อปี 1929 หรือ 7 ปีให้หลังการก่อตั้งสหภาพโซเวียต เขาเติบโตจากครอบครัวแรงงานในกรุงมอสโก ภาพของพ่อแม่ที่ทำงานอย่างหนักตามคำสั่งของรัฐ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในสังคมคอมมิวนิสต์ คือสิ่งที่ยาชินมองเห็นมาตั้งแต่เด็ก เขาจึงเข้าใจความหมายของการทำงานหนัก และการประพฤติตามหน้าที่อันได้รับมอบหมายเป็นอย่างดี


Photo : prabook

เมื่ออายุได้ 12 ปี ครอบครัวของยาชินต้องเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับอีกหลายครอบครัวในสหภาพโซเวียต เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันเดินทางมาประชิดกรุงมอสโกในปี 1941 จนมีระยะห่างจากเมืองหลวงของโซเวียตเพียง 70 กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้น กองทัพนาซีเยอรมันได้ปิดล้อมนครเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในปัจจุบัน)

 

ความหวาดกลัวแพร่กระจายไปทั่วกรุงมอสโก เพราะประชาชนที่ติดอยู่ในเลนินกราดต้องเจอกับความทุกข์ยากอย่างหนัก หลังกองทัพนาซีเยอรมันตัดเส้นทางส่งเสบียง ผู้คนจำนวน 750,000 คนเสียชีวิต ส่วนคนที่เหลือรอดต้องประทังชีวิตด้วยซุปเข็มขัดหนัง, จับหนูมาทำเป็นอาหาร หรือ กินเนื้อมนุษย์ด้วยกัน

ครอบครัวยาชินไม่ยอมพบเจอชะตากรรมที่เลวร้ายแบบนั้น พวกเขาตัดสินใจเดินทางไกล 800 กิโลเมตร เพื่ออพยพไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองอุลยานอฟสค์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงมอสโก ความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ยาชินเข้าใจความหมายของการทำงานหนัก และการทุ่มเทชีวิตเพื่อสหภาพโซเวียต เพราะด้วยวัยเพียง 12 ปี เขาถูกเรียกตัวไปทำงานผลิตกระสุนปืน และใช้ชีวิตทั้งวันกับเครื่องจักร แทนจะเป็นสนามเด็กเล่น


Photo : footballhd

"เด็กหญิง และเด็กชายในยุคสมัยของผม ต่างยืนเข้าแถวเพื่อรอรับขนมปัง ในหัวเฝ้าฝันถึงชัยชนะจากแนวหน้า ที่มาพร้อมกับน้ำตาลก้อนสักกำมือ พวกเราจำเป็นต้องเสียสละตั้งแต่ก่อนจะถึงช่วงเวลาที่แท้จริงของคนรุ่นเรา" เลฟ ยาชิน บรรยายถึงชีวิตของเยาวชนโซเวียตในยุคสงคราม

ยาชินทำงานหนักไม่ต่างจากผู้ใหญ่คนอื่นในเมือง เขาต้องออกไปทำงานท่ามกลางหิมะ เขาต้องซ่อมดูแลเครื่องจักรในโรงงาน และบางครั้งต้องเดินทางออกจากเมือง เพื่อไปรับอาหารจากหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุด ซึ่งมีระยะห่างออกไป 12 กิโลเมตร ยาชินใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ 3 ปี ก่อนที่เขาจะได้เดินทางกลับกรุงมอสโกในปี 1944 หลังฝ่ายสัมพันธมิตรพลิกเป็นฝ่ายได้เปรียบ และไล่ต้อนนาซีเยอรมันออกไปจากยุโรปตะวันออก

 

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง วัยรุ่นในโลกฝั่งตะวันตกได้ฝันถึงชีวิตอันเสรีอีกครั้ง แต่สำหรับวัยรุ่นในโลกตะวันออก เช่น ยาชิน กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนับตั้งแต่วันแรกที่เขาก้าวเท้าสู่การทำงานในโรงงาน ชีวิตของพวกเขาเป็นของสหภาพโซเวียต ที่ซึ่งการทำงานหนัก และการอุทิศตนเพื่อมาตุภูมิ ถือเป็นความภูมิใจอันยิ่งใหญ่กว่าความสำเร็จส่วนบุคคลทั้งมวล

"ในสงคราม พวกเราได้รับประสบการณ์ที่คุณไม่สามารถเข้าคอร์สเรียนได้จากไหน พวกเราถูกสอนให้ทำงาน ไม่ใช่เพราะความหวาดกลัว หรือ เพราะสัญญาจากการได้รับรางวัลใด แต่เป็นการทำงานเพื่อมโนธรรม และเป็นการทำงานอย่างหนักถึงที่สุด" ยาชิน กล่าวถึงสิ่งที่หล่อหลอมเขาขึ้นมาในวัยเด็ก

"เมื่อพวกเราลงแข่งขันเพื่อเหรียญรางวัล และเกียรติยศ เราไม่เคยคิดถึงเงินทองที่จะได้มาหลังคว้าชัยชนะ แต่เรามีความสุข เพียงเพราะเราได้โอกาสลงเล่นฟุตบอล เท่านั้นเอง"

สัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียต

เมื่ออายุได้ 18 ปี ยาชิน ตัดสินใจเข้าทำงานในโรงงานผลิตเหล็กของรัฐบาล แต่ยังไม่ทันจะได้ทำอะไรเป็นชิ้นอัน เขาก็ถูกไล่ออกจากงาน เนื่องจากปัญหาหาด้านสุขภาพจิต ที่ ยาชิน ต้องพบเจอตั้งแต่อายุ 13 ขวบ ซึ่งนั่นทำให้เขากลายเป็นคนสูบบุหรี่จัดตั้งแต่เด็ก

สิ่งเดียวที่พอจะช่วยให้วัยรุ่นอันมีปัญหาสุขภาพจิตสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมรอบข้างได้บ้าง คือ เกมกีฬา ยาชิน ถือเป็นสมาชิกของทีมฟุตบอล และทีมฮอกกี้น้ำแข็ง ประจำโรงงานผลิตเหล็ก ซึ่งพรสวรรค์ในฐานะผู้รักษาประตูของยาชิน เริ่มฉายแววออกมาในเวลานี้ จนเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งแนะนำให้เขา ลองไปสมัครเล่นฟุตบอลให้แก่กองทัพ เผื่อจะประสบความสำเร็จในชีวิตบ้าง

ยาชินตอบรับคำแนะนำของเพื่อน ซึ่งภายหลังเขาจะกล่าวถึงการตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็น "การไถ่บาป" เพราะในที่สุดแล้ว วัยรุ่นผู้ป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิต และแทบจะมองไม่เห็นอนาคตของตนในภายหน้า กลับเริ่มต้นชีวิตในฐานะผู้รักษาประตูของเกมฟุตบอล และได้ถูกเรียกตัวเข้าไปเล่นให้กับทีม "ดินาโม มอสโก" ทีมฟุตบอลประจำกรมตำรวจลับของสหภาพโซเวียต ด้วยวัย 20 ปี

นับจากวันนั้น ยาชิน พัฒนาตัวเองจนกลายเป็นตำนานของโลกฟุตบอล เขาประสบความสำเร็จกับดินาโม มอสโก ด้วยการคว้าแชมป์ลีก 5 สมัย และฟุตบอลถ้วยอีก 3 สมัย นอกจากนี้ ยาชิน ยังกลายเป็นเจ้าของรางวัลผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมแห่งยุโรป 9 สมัย และผู้รักษาประตูเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้ารางวัลบัลลงดอร์ ในปี 1963

 

"เลฟ ยาชิน คือผู้รักษาประตูชั้นหนึ่ง และเป็นสุดยอดผู้รักษาประตูตัวจริง เขามีความเร็วที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับคนตัวใหญ่อย่างเขา เขายอดเยี่ยมากจริง ๆ หนึ่งในนักฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่ผมเคยเห็น เขาเป็นต้นแบบของผู้รักษาประตูในอีก 10 ถึง 15 ปีต่อมา ไม่ต้องสงสัยเลย" กอร์ดอน แบงค์ส ผู้รักษาประตูชาวอังกฤษชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1966 กล่าว

แต่เหตุผลที่ทำให้ เลฟ ยาชิน กลายเป็นตำนานถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นผู้รักษาประตูมือหนึ่งของโลก แต่เป็นฮีโร่ของชาวโซเวียตทั้งปวง ยาชิน ลงสู้ศึกฟุตบอลโลกในนามสหภาพโซเวียตถึง 4 ครั้ง และมีส่วนสำคัญช่วยให้สหภาพโซเวียตคว้าเหรียญทองโอลิมปิก เกมส์ ในปี 1956 และฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปในปี 1960 ซึ่งถือเป็นสองความสำเร็จแรกของโซเวียต จากวงการลูกหนังนานาชาติ

ความสำเร็จของยาชินในสีเสื้อ USSR ทำให้เขามีรูปปั้นมากมายในกรุงมอสโก ซึ่งมีสองรูปปั้นสำริดที่ถูกสร้างจากฝีมือของ อเล็กซานเดอร์ รูคาวิชนิคอฟ (Alexandr Rukavishnikov) ประติมากรชื่อดังชาวรัสเซีย ที่อุทิศแรงกาย และแรงใจเพื่อสร้างรูปปั้นของยาชิน แม้เขาจะไม่ใช่แฟนกีฬาฟุตบอลเลยก็ตาม

"เขาคือวีรบุรุษของชาติ ไม่ใช่เพราะความสำเร็จในกีฬาฟุตบอลของเขา แต่เป็นเพราะคาแรกเตอร์ของเขา และความน่ามหัศจรรย์ในแบบที่เขาเป็น" รูคาวิชนิคอฟ กล่าวชื่นชมตำนานผู้รักษาประตูชาวโซเวียต

 

เลฟ ยาชิน ตอบแทนมาตุภูมิของเขาจนถึงปี 1970 ก่อนจะแขวนถุงมือในวัย 41 ปี โดยไม่เคยลงเล่นให้กับสโมสรอื่นใดเลยนอกจากดินาโม มอสโก นี่คือความมุ่งมั่น และความจงรักภักดีต่อต้นสังกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ยาชินเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก โดยน้อยคนนักจะรู้ว่า ความทุ่มเทของเขาในการทำผลงานเพื่อตอบแทนบ้านเกิด เกือบจะทำให้เขาหันหลังให้กับวงการฟุตบอล

ย้อนกลับไปยังปี 1962 หรือสองปีหลังจากความสำเร็จของสหภาพโซเวียตในฟุตบอลยูโร 1960 ยาชิน ตั้งความหวังกับการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศชิลีมาก แต่หลังจากแพ้ให้กับเจ้าภาพในการแข่งขันรอบก่อนรองชนะเลิศ ด้วยสกอร์ 1-2 ยาชิน เสียใจจนเกือบจะแขวนถุงมือ และหันหลังแก่ฟุตบอลตลอดกาล หลังถูกสื่อมวลชน และแฟนบอลโจมตีว่า เขาเล่นไม่เต็มร้อยจนทีมเสียสองประตู

เหตุผลที่ยาชินก้าวผ่านความเลวร้ายในเวลานั้นมาได้ เป็นเพราะตลอดชีวิตเขาเชื่อมั่นว่า "การทำงานหนักจะนำมาสู่ความสำเร็จ" มันคือสิ่งที่ผู้คนทั่วสหภาพโซเวียตเรียนรู้ และยาชินก็ทำเช่นนั้น เพราะในอีก 4 ปีถัดมา เขาแก้ตัวด้วยการพาสหภาพโซเวียตจบอันดับ 4 ของฟุตบอลโลก 1966 ยาชิน จึงกลับมาเป็นฮีโร่ของชาติอีกครั้งหนึ่ง

"เขาคือผู้ชายที่ทำงานหนัก และเป็นสัญลักษณ์ของสหภาพโซเวียต อันที่จริง ในช่วงเวลาที่สหภาพโซเวียตรุ่งเรืองนั้น หลายคนบอกว่า ยาชินเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยซ้ำ" มาริโอ อเลสซานโดร ผู้เขียนหนังสือ Yashin. The life of the goalkeeper กล่าว

เลฟ ยาชิน จึงเป็นยิ่งกว่าผู้รักษาประตูระดับตำนานของโลกลูกหนัง แต่เป็นวีรบุรุษของชาวโซเวียต และถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลในสายตาของชาวต่างชาติ เพราะความรุ่งเรืองของสหภาพโซเวียต และยาชิน ดำเนินไปในช่วงเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับวันที่สหภาพโซเวียตเสื่อมอำนาจ ยาชินเจอกับความยากลำบากในช่วงท้ายของชีวิตเช่นเดียวกัน

วันสุดท้ายของวีรบุรุษ

ย้อนกลับไปยังปี 1957 สหภาพโซเวียต คือ ชาติแรกที่สามารถส่งดาวเทียมสู่วงโคจรรอบโลก และยังเป็นชาติแรกที่ส่งยานอวกาศสู่ดวงจันทร์ในปี 1959 ก่อนจะส่ง ยูริ กาการิน มนุษย์คนแรกที่ออกไปใช้ชีวิตบนห้วงอวกาศ วินาทีนั้น ไม่มีใครคิดว่า สหรัฐอเมริกาจะกลับมาแซงหน้าสหภาพโซเวียตได้อีก

แต่ในปีเดียวกับที่ เลฟ ยาชิน ตัดสินใจหันหลังให้กับวงการลูกหนัง สหภาพโซเวียตไม่ใช่มหาอำนาจของโลกอีกต่อไปแล้ว เศรษฐกิจของประเทศกำลังพังทลาย และผู้นำคนใหม่อย่าง เลโอนิด เบรจเนฟ กำลังพาโซเวียตเดินไปบนเส้นทางที่แตกต่างจากแนวคิดของ โจเซฟ สตาลิน นั่นคือ การกลับมาใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม นี่คือช่วงเวลาที่จิตวิญญาณของสหภาพโซเวียตเริ่มสูญสลาย  

ข้ามมายังปี 1986 สหภาพโซเวียตกลายเป็นดินแดนต้องสาปในสายตาชาวโลก หลังเกิดเหตุภัยพิบัติเชอร์โนบิล อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ขั้นร้ายแรงที่สร้างผลกระทบแก่ชีวิตคนราว 5 แสนคน ซึ่งในอีกสามปีถัดมาหลังเหตุการณ์ดังกล่าว จะเกิดการทลายกำแพงเบอร์ลินในปี 1989 สัญลักษณ์ที่แสดงถึงจุดเริ่มต้นการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรป

สหภาพโซเวียตกำลังมีชีวิตด้วยลมหายใจอันรวยริน เช่นเดียวกับ เลฟ ยาชิน เพราะในปี 1989 อดีตผู้รักษาประตูเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ แทบไม่เหลือสภาพวีรบุรุษของชาติ เขาต้องต่อสู้กับโรคร้ายมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลที่ตามมาจากการสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 13 ปี

ยาชินถูกตัดขาหนึ่งข้างในปี 1986 และเคยประสบเหตุหัวใจวายเฉียบพลัน 2 ครั้ง และเส้นโลหิตในสมองแตกอีก 2 ครั้ง นี่ยังไม่นับการต่อสู้กับโรคมะเร็งในช่องท้อง ซึ่งเป็นผลพวงจากการกินอาหารไม่ได้มาตรฐานในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่ยาชินต้องต่อสู้ในช่วงบั้นปลาย หรืออย่างน้อยที่สุดคือ ต้องทนอยู่กับมันด้วยตัวเอง

"ท่ามกลางความยิ่งใหญ่ อำนาจทั้งหมด และความสำคัญของเขาต่อคนทั่วโลก ยาชินเสียชีวิตในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ผมรู้สึกเศร้ากับตัวเอง น้ำตาลเอ่อทุกครั้งที่คิดถึงเรื่องนี้ เพราะเขาเป็นผู้ชายที่น่ามหัศจรรย์มากที่สุดคนหนึ่ง" อนาตอยลี คอร์ชูนอฟ (Anatoliy Korshunov) เพื่อนร่วมทีมดินาโม มอสโก กล่าวถึง ยาชิน

เลฟ ยาชิน เสียชีวิตลงในปี 1990 ด้วยวัย 60 ปี เพียงหนึ่งปีก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เขาได้รับรางวัลสุดท้ายในฐานะฮีโร่ของชนชั้นกรรมาชีพ และเหรียญทองจากเกียรติยศนี้ ยังถูกแขวนไว้ในบ้านภรรยาของยาชิน เพื่อระลึกถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสามี

ทุกวันนี้ ประเทศรัสเซียยังคงตามหา เลฟ ยาชิน คนใหม่ ผู้รักษาประตูสักคนที่จะพาดินแดนหมีขาวกลับสู่ความยิ่งใหญ่ในโลกลูกหนังอีกครั้ง แต่ด้วยสภาพสังคมที่แตกต่างออกไปจากสหภาพโซเวียต เราคงพูดได้เต็มปากว่า โลกคงไม่ได้เห็นใครสักคนที่เป็นเหมือน เลฟ ยาชิน อีกแล้ว

เพราะถ้าหาก เลฟ ยาชิน ไม่ได้เติบโตในสภาพสังคมของสหภาพโซเวียต เขาคงไม่มีความแข็งแกร่ง และไม่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานหนัก เพื่อตอบแทนบ้านเกิดอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ ท้ายที่สุดแล้ว ยาชิน และสหภาพโซเวียต ต่างมีจิตวิญญาณเดียวกัน คือ การทำงานอย่างหนักเพื่อตอบแทนรัฐ และสร้างสิ่งที่มีควาหมายมากกว่าประโยชน์ส่วนตน นี่จึงเป็นเหตุผลให้ เลฟ ยาชิน กลายเป็นความภูมิใจของสหภาพโซเวียตตราบจนทุกวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook