มีสคริปต์ไม่เท่ากับเป็นการแสดง : เหตุผลที่ "มวยปล้ำ" คือกีฬา ผ่านการเข้าใจตัวตนจากอดีต

มีสคริปต์ไม่เท่ากับเป็นการแสดง : เหตุผลที่ "มวยปล้ำ" คือกีฬา ผ่านการเข้าใจตัวตนจากอดีต

มีสคริปต์ไม่เท่ากับเป็นการแสดง : เหตุผลที่ "มวยปล้ำ" คือกีฬา ผ่านการเข้าใจตัวตนจากอดีต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มวยปล้ำ คือหนึ่งในกีฬาที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานและมีบทบาทสำคัญกับวัฒนธรรมกีฬาของโลกใบนี้ มีคนมากมายที่รัก ชื่นชอบ และเทิดทูนกีฬาชนิดนี้สุดหัวใจ ไม่ต่างจากแฟนกีฬาอื่นที่หลงใหลในกีฬาที่ตนเองรัก

อย่างไรก็ตาม ก็มีประเด็นหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่เสมอ นั่นคือเรื่องที่ว่า "มวยปล้ำเป็นกีฬาหรือการแสดง?" โดยเฉพาะมุมมองที่ว่า มวยปล้ำเป็นการแสดง เพียงเพราะว่ามวยปล้ำมีสคริปต์ที่กำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้า

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นฐานของ "มวยปล้ำ" ยังคงมีความเป็นกีฬาเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์มาโดยตลอด เพียงแต่กลไกของโลกกีฬาทำให้มวยปล้ำต้องปรับตัว และมีการนำเรื่องสคริปต์ บทบาทต่างๆเข้ามาเพื่อให้กีฬานี้ยังสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

Main Stand จะพาผู้อ่านทุกท่านมาชมอีกมุมมอง เพื่อเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของกีฬามวยปล้ำ พร้อมกับเหตุผลว่าทำไมเราถึงควรมองมวยปล้ำในฐานะกีฬามากกว่าการแสดง?

เหตุผลที่มวยปล้ำต้องมีการกำหนดการแข่งขันล่วงหน้า

รากฐานของกีฬามวยปล้ำในปัจจุบันเข้าใจได้ไม่ยากว่าพัฒนามาจากกีฬามวยปล้ำกรีกโบราณ ซึ่งเป็นหนึ่งในกีฬามวยปล้ำยอดนิยมของชาวกรีก ซึ่งมวยปล้ำในเวลานั้นจะเน้นการจับล็อกเพียงอย่างเดียว ใช้ท่าซับมิชชั่น (ท่าที่ทำให้ยอมแพ้) ในการเล่นงานคู่ต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นการล็อกส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งบริเวณหัว, แขน, ขา และ ลำตัว 

1มวยปล้ำในยุคโบราณแม้จะได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ในการแข่งขันที่จะต้องล็อกกันไปเรื่อยๆ ทำให้การแข่งขันกินเวลายาวนานหลายชั่วโมง ซึ่งทำให้พอผ่านหลังจากช่วงกรีกโบราณมา ความนิยมของกีฬามวยปล้ำจึงลดลงอย่างช้าๆ ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปของโลกในยุคสมัยต่อมา ไม่มีใครมีเวลามากพอที่จะมานั่งดูกีฬาหลายชั่วโมงแบบสมัยกรีกอีกแล้ว

ยิ่งประกอบกับการเข้าสู่ยุคมืดของยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 5 ถึงศตวรรษที่ 9 ทำให้วัฒนธรรมของกรีกโบราณสูญหาย และกีฬามวยปล้ำก็หายไปด้วย 

มวยปล้ำหายไปนานจากวงการกีฬา จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 ได้มีการรื้อฟื้นความรู้เกี่ยวกับกีฬามวยปล้ำอย่างจริง จนกลายเป็นการเริ่มต้นของกีฬามวยปล้ำสมัครเล่นในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม หากพูดแบบตรงไปตรงมา กีฬามวยปล้ำสมัครเล่นไม่ใช่ความบันเทิงของแฟนๆที่นั่งดูอยู่รอบสนามเท่าไหร่นัก แม้จะตอบโจทย์ในการวัดความเป็นเลิศว่าใครคือสุดยอดของการเป็นนักมวยปล้ำ แต่มวยปล้ำสมัครเล่นไม่สามารถตอบโจทย์ที่จะทำเป็นกีฬาอาชีพได้ เพราะว่ามันไม่สนุก และคงไม่มีใครอยากตีตั๋วมานั่งดูคนจับล็อกกันนานหลายชั่วโมง

มวยปล้ำจึงจำเป็นต้องหาทางออกให้กับตัวเองเพื่อให้กีฬาชนิดนี้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งปัญหาแรกที่พวกเขาต้องแก้โจทย์ให้ได้คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้การแข่งขันมวยปล้ำไม่นานจนเกินไป เพราะไม่มีใครอยากดูนักมวยปล้ำสองคนมาล็อกกันแบบไม่รู้จักจบจักสิ้น 

ที่ฝรั่งเศส พวกเขาเลือกเดินทางต่อในแบบฉบับโบราณ ด้วยการปรับเปลี่ยนกฎบางอย่างเพื่อทำให้มวยปล้ำมีทางเลือกในการต่อสู้มากขึ้น

แต่ไม่ใช่กับคนหัวสมัยใหม่อย่าง สหรัฐอเมริกา พวกเขาคิดว่า หากจะให้มวยปล้ำเป็นกีฬาอาชีพให้ได้ก็ต้องทำให้มันสนุก ซึ่งหากยังยึดติดกับความเป็นกีฬามวยปล้ำโบราณอยู่ คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้มวยปล้ำสนุกขึ้นได้ 

สุดท้ายวงการมวยปล้ำอเมริกันจึงเลือกให้มวยปล้ำมีการ "เตรียมซีเควนซ์ฉากจบของการปล้ำ" หรือพูดง่ายๆก็คือมีการกำหนดไว้ล่วงหน้าว่า มวยปล้ำที่จะปล้ำกันจะจบลงเมื่อไหร่ ท่าไหน และให้ใครชนะ เพื่อกำหนดเวลาในการต่อสู้ให้ไม่นานจนเกินไป และทำให้มวยปล้ำสนุกมากยิ่งขึ้น 

ในยุคแรกของการทำมวยปล้ำอาชีพ นักมวยปล้ำจะต้องมานั่งคุยกันเองว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งส่วนใหญ่นักมวยปล้ำจะยอมให้คนที่เก่งกว่าเป็นผู้ชนะไป เพราะนักมวยปล้ำรู้ดีกันอยู่แล้วว่าใครเก่งจริง ใครยังไม่เก่งมากพอ 

ปัญหาสำคัญมาเกิดขึ้นในช่วงยุค 1920s หลังจาก สแตนิสลอส ไซบิสโก้ (Stanislaus Zbyszko) สุดยอดแชมป์โลกมวยปล้ำแห่งยุค ได้รับการตกลงในหลังฉากว่าเขาต้องยอมเสียแชมป์ให้กับนักมวยปล้ำหน้าใหม่ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เก่งเท่าเขา แต่เพื่อแลกกับการเสียแชมป์ ไซบิสโก้ จะได้รับเงินก้อนโตเป็นการทดแทน 

2อย่างไรก็ตาม เจ้าของฉายา "บิดาของวงการมวยปล้ำยุคใหม่" ไม่ยอมทำตามที่ตกลงไว้ เขาเลือกที่จะอัดจริงใส่คู่แข่งของเขา จนทำให้ตัวเองได้รับชัยชนะไป ซึ่งภายหลังได้มีการเปิดเผยว่า ไซบิสโก้ เกลียดไอเดียที่มวยปล้ำจะต้องมีการเตรียมผลล่วงหน้า และตัวเขาที่มองว่าตัวเองเป็นนักมวยปล้ำที่เก่งที่สุดจึงเลือกแหกข้อตกลงที่ทำร่วมกันของวงการมวยปล้ำอเมริกัน 

นี่จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการมวยปล้ำในสหรัฐฯ เพราะหากนักมวยปล้ำทุกคนคิดเอาแต่ใจแบบ ไซบิสโก้ ที่ไม่ยอมทำตามข้อตกลงร่วมกัน กีฬามวยปล้ำคงไปไม่ถึงไหนแน่นอน เพราะมันก็จะพามวยปล้ำ กลับไปสู่การเป็นกีฬาโบราณที่แสนน่าเบื่อเหมือนในยุคอดีตอีกครั้ง

ดังนั้น วงการมวยปล้ำจึงต้องสร้างสัญญาทางใจออกมาให้ชัดเจนว่า หลังจากนี้จะไม่มีการชู้ต (Shoot) หรือการอัดกันจริงๆบนสังเวียนมวยปล้ำอีกต่อไป 

หลังจากนี้ มวยปล้ำจะต้องมีการใช้สคริปต์ในเรื่องของการกำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้าที่ชัดเจน เพื่อทำให้มวยปล้ำสามารถดำเนินธุรกิจไปอย่างไม่เกิดปัญหา และไม่ต้องมาเจอกับปัญหาความวุ่นวายหลังฉากขึ้นอีก เหมือนในกรณีของ สแตนิสลอส ไซบิสโก้

มุมมองของกีฬาที่ต่างออกไป

ในเมื่อมวยปล้ำมีการกำหนดผลการแข่งขันเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว มันจึงทำให้มุมมองของนักมวยปล้ำในยุคหลังค่อยๆเปลี่ยนไป เพราะการคว้าชัยชนะไม่ใช่เป้าหมายของการแข่งขันมวยปล้ำอีกต่อไป 

3แต่ทุกคนที่เป็นนักมวยปล้ำรู้ดีว่าที่ต้องมีการล็อกผลการแข่งขันเพื่อทำให้มวยปล้ำสนุกมากขึ้น จะได้มีคนดูซื้อตั๋วเข้ามาดู มวยปล้ำอาชีพจะได้ดำเนินต่อไปได้

ดังนั้นแล้ว สิ่งที่เป็นเป้าหมายของนักมวยปล้ำไม่ใช่การต่อสู้เพื่อชัยชนะ แต่เป็นการทำงานอย่างหนักเพื่อมอบแมตช์คุณภาพเยี่ยมให้กับผู้ชม ให้ทุกคนที่ตีตั๋วเข้ามาชมมวยปล้ำได้พบกับแมตช์ที่สนุกและมีคุณภาพคุ้มกับเงินที่พวกเขาจ่ายไป

นี่คือพื้นฐานของมวยปล้ำ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้ต่างจากกีฬาอื่นแม้แต่นิดเดียว แฟนฟุตบอลก็อยากเห็นทีมฟุตบอลของตัวเองเล่นสนุก คุ้มค่าตัว หรือจะเป็นแฟนบาสเกตบอล, เบสบอล, อเมริกันฟุตบอล หรือกีฬาไหนก็ตาม แฟนกีฬาก็ย่อมต้องการเห็นการแข่งขันที่มีคุณภาพทั้งนั้น 

มวยปล้ำก็เช่นเดียวกัน ถึงจะมีการกำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้า แต่มวยปล้ำก็ยังคงต้องทำงานในฐานะกีฬาออกมาให้ดี ต้องสร้างแมตช์คุณภาพเพื่อตอบแทนผู้ชม ขณะเดียวกัน เมื่อไม่ต้องกังวลเรื่องผลการแข่งขัน ก็ยิ่งทำให้มวยปล้ำสามารถโฟกัสไปที่การออกแบบแมตช์การแข่งขัน โดยจะเน้นไปที่เรื่องความน่าตื่นตาตื่นใจเป็นหลัก เพื่อให้แฟนมวยปล้ำมั่นใจได้ว่าทุกโชว์แฟนมวยปล้ำจะต้องได้ดูการปล้ำที่คุณภาพเยี่ยมและมีความสนุก

"ผมเคยคิดจะเป็นนัก MMA ผมก็ไปลองต่อย MMA ดู ซึ่งวันนั้นผมสู้ได้แย่มาก ผมไม่พอใจกับตัวเองเลย แต่พอถึงตอนประกาศผล ผมกลับเป็นผู้ชนะ ผมคิดในใจว่านี่มันไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการเลย"

"ผมอยากเป็นผู้ชนะนะ แต่ผมต้องการเป็นผู้ชนะที่สง่างามด้วย ผมอยากให้คนที่มาดูผมสู้ได้ดูผมต่อสู้อย่างสวยงาม ผมควรจะเป็นคนที่มอบการต่อสู้อันน่าจดจำให้กับพวกเขา"

"ผมจึงหันมาเป็นนักมวยปล้ำแทน เพราะผมเชื่อว่านี่คือสิ่งที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผมได้" เคนนี่ โอเมก้า (Kenny Omega) หนึ่งในนักมวยปล้ำที่ยอดเยี่ยมที่สุดของโลกในปัจจุบัน พูดถึงมุมมองที่แตกต่างของมวยปล้ำ

คำพูดของ โอเมก้า คือสิ่งที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่า ในสายตาของคนที่รักกีฬามวยปล้ำหรือในสายตาของนักมวยปล้ำเอง มวยปล้ำ คือการต่อสู้ไม่ต่างจาก MMA หรือศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่น เพียงแค่เป้าหมายของศาสตร์อื่นคือการพิสูจน์ความเป็นเลิศและคว้าชัยชนะมาให้ได้ แต่กับมวยปล้ำนั้นมีจุดหมายที่ต่างออกไป นั่นคือการสร้างแมตช์คุณภาพดีและสร้างความประทับใจให้กับผู้ชม 

4ทุกวันนี้สามารถเห็นได้ชัดเจนว่า ในกีฬามวยปล้ำ สิ่งที่มีคุณค่าไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ชนะหรือเป็นแชมป์โลกหลากหลายสมัย แต่คุณค่าอยู่ที่นักมวยปล้ำคนไหนจะสามารถสร้างแมตช์ที่มีคุณภาพให้ผู้ชมให้การยอมรับได้

นักมวยปล้ำในยุคปัจจุบันที่ได้รับการเคารพจากแฟนมวยปล้ำ ส่วนใหญ่จึงเป็นนักมวยปล้ำที่สร้างแมตช์ยอดเยี่ยมทั้งสิ้น นักมวยปล้ำอย่าง ฮิโรชิ ทานาฮาชิ (Hiroshi Tanahashi), คาซึชิกะ โอกาดะ (Kazuchika Okada), ไบรอัน แดเนียลสัน (Bryan Danielson) หรือ เคนนี่ โอเมก้า คือนักสู้ที่ได้รับการยอมรับและเสียงชื่นชมอย่างล้มหลามจากแฟนมวยปล้ำ

ในทางกลับกัน โรมัน เรนจ์ (Roman Reigns) นักมวยปล้ำที่ WWE พยายามปลุกปั้นมานานหลายปีที่ได้แชมป์โลกหลายสมัยกลับได้รับเสียงต่อต้านจากแฟนๆ เพราะเขาไม่ใช่นักมวยปล้ำที่ดีพอที่จะเป็นแชมป์โลก เขาไม่ได้มีฝีมือที่ดีขนาดนั้น และแฟนๆก็ไม่ได้ให้การยอมรับ เพราะสุดท้ายถึงจะมีการกำหนดผลไว้ล่วงหน้า แต่แฟนๆก็ยังต้องการนักมวยปล้ำที่ปล้ำได้ดีจริงๆ หรือทำงานในกีฬานี้ได้ยอดเยี่ยมไม่ต่างจากกีฬาอื่น ซึ่งในภายหลัง โรมัน เรนจ์ ก็สามารถพัฒนาฝีมือของตัวเองจนได้รับการยอมรับจากแฟนมวยปล้ำในที่สุด 

ดังนั้นแล้ว จิตวิญญาณของกีฬามวยปล้ำไม่เคยแตกต่างจากกีฬาอื่นที่นักมวยปล้ำต้องทำงานหนัก ตั้งใจฝึกซ้อมในทุกๆวัน เพื่อออกไปทำผลงานบนสังเวียนของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ต่างจากนักกีฬาในกีฬาอื่นแม้แต่นิดเดียว

แล้วแนวคิดที่มองว่ามวยปล้ำเป็นการแสดงมาจากไหน?

แม้ว่ามวยปล้ำจะยังคงมีรากฐานมาจากกีฬา และความเป็นกีฬาของมวยปล้ำไม่เคยหายไปไหน แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มวยปล้ำมีความพยายามที่จะดึงความบันเทิงเข้ามาใช้ และมีคนที่คิดจะเปลี่ยนมวยปล้ำให้เป็นความบันเทิงจริง ซึ่งคนคนนั้นไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก วินซ์ แม็คแมน (Vince McMahon) เจ้าพ่อมวยปล้ำจาก WWE 

5หลังจากที่มวยปล้ำอาชีพโฟกัสไปในแนวทางของตัวเองอย่างจริงจัง ระบบของมวยปล้ำในสหรัฐอเมริกาได้ใช้ระบบการแบ่งตามภูมิภาค หรือที่เรียกว่าระบบ Territory นั่นคือ ในแต่ละพื้นที่ของสหรัฐจะมีสมาคมมวยปล้ำประจำพื้นที่ของตัวเองโดยไม่ล้ำเส้นซึ่งกันและกัน ทุกสมาคมจะอยู่ภายใต้องค์กร NWA หรือ National Wrestling Alliance ที่จะคอยกำกับดูแลสมาคมเหล่านี้อีกที และเป็นหน่วยงานกลางที่ให้การรับรองเข็มขัดแชมป์โลกต่างๆในวงการมวยปล้ำ 

จะเห็นได้ว่าโมเดลของกีฬามวยปล้ำในยุคแรกไม่ได้ต่างอะไรจากจากกีฬาอื่นในสหรัฐอเมริกา ที่มีการแบ่งพื้นที่ของอาณาเขตในแต่ละภาคส่วน เพียงแต่ในกีฬาอื่น เช่น บาสเกตบอล, เบสบอล, อเมริกันฟุตบอล จะมีพื้นที่อยู่ในแต่ละทีมเป็นของตัวเอง มวยปล้ำได้นำเสนอออกมาในรูปแบบของสมาคมมวยปล้ำ

ยกตัวอย่างเช่น World Wide Wrestling Association ดูแลพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ (นิวยอร์ก และแถบ นิวอิงแลนด์), ฟลอริดา มี Championship Wrestling Florida, จอร์เจีย มี Georgia Championship Wrestling หรือในบางรัฐก็มีสมาคมมวยปล้ำหลายค่าย เช่น รัฐเท็กซัส ที่มีถึง 3 สมาคม ทั้ง World Class Championship Wrestling, Southwest Championship Wrestling และ Western States Sport ซึ่งยังมีสมาคมมวยปล้ำอีกนับสิบที่กระจายตัวอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา 

ขณะเดียวกัน ระบบของ NWA ก็เป็นระบบเดียวกับสถาบันมวยสากลที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง WBC หรือ WBA ที่มาเป็นหน่วยงานกำกับการแข่งขันมวยสากลให้ได้รับการยอมรับและมีมาตรฐาน ซึ่ง NWA ก็เป็นแบบเดียวกัน และความยิ่งใหญ่ของ NWA ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ควบคุมวงการมวยปล้ำไปอีกหลายประเทศ ทั้ง เม็กซิโก, เปอร์โตริโก, อังกฤษ, แคนาดา หรือ ญี่ปุ่น 

6จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของมวยปล้ำในอดีตไม่ได้แตกต่างจากกีฬาอื่นเลย แต่ผู้ชายคนหนึ่งเลือกที่จะทำลายโครงสร้างนี้ เขาคือ วินซ์ แม็คแมน ผู้ลูก ที่ซื้อสมาคม WWF (WWE ในปัจจุบัน) จากพ่อของตัวเอง และคิดแหกกฎทุกอย่างของมวยปล้ำในสหรัฐอเมริกา นั่นคือเขาจะล้มเลิกระบบ Territory และเปลี่ยนให้ WWF เป็นสมาคมระดับชาติให้ได้

วินซ์ แม็คแมน ทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อน นั่นคือการซื้อตัวนักมวยปล้ำจากดินแดนอื่นมาเป็นของตัวเอง เขาซื้อ ฮัลค์ โฮแกน มาจาก AWA ของรัฐมินนิโซตา, ซื้อ เกร็ก วาเลนไทน์ และ ริคกี้ สตรีมโบต มาจาก Mid-Atlantic Championship Wrestling จากรัฐนอร์ทแคโลไรนา รวมถึงนักมวยปล้ำอีกมากมายทั่วประเทศสหรัฐอเมริกามาเป็นของตัวเอง

วินซ์สามารถสร้าง WWF ให้กลายเป็นอาณาจักรมวยปล้ำของเขาได้อย่างรวดเร็ว แต่คู่ต่อสู้ของเขาคือ NWA ที่ยังคงผูกยึดการทำกีฬาในฐานะมวยปล้ำอยู่ ซึ่งวินซ์เชื่อว่าวิธีเดียวที่จะเอาชนะ NWA ได้ คือลดความเป็นกีฬาในมวยปล้ำลงแล้วใส่ความเป็นการ์ตูนกับรายการโทรทัศน์เข้าไปในมวยปล้ำให้มากขึ้น 

นักมวยปล้ำของ WWF จึงถูกเปลี่ยนให้เป็นนักสู้ที่เหมือนหลุดออกมาจากการ์ตูน หรือที่ในภาษามวยปล้ำใช้คำว่า "Larger Than Life" และมันก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในยุค 80s แฟนมวยปล้ำตื่นตาตื่นใจไปกับมวยปล้ำรูปแบบใหม่ที่มีความบันเทิงมากขึ้น ซึ่งทำให้ WWF เอาชนะ NWA แบบขาดลอย จนทำให้ระบบ Territory พังทลาย และ NWA ก็หมดอำนาจในวงการมวยปล้ำมาตั้งแต่นั้น

อย่างไรก็ตาม ในยุคนั้น แฟนมวยปล้ำส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามวยปล้ำมีการล็อกผลไว้ล่วงหน้า ส่วนใหญ่ยังมองมวยปลํ้าในฐานะการต่อสู้ที่ไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า จนกระทั่ง WWF ได้เปลี่ยนโลกมวยปล้ำอีกครั้งจากเหตุการณ์ "Curtain Call" เมื่อปี 1996

Curtain Call คือเหตุการณ์ที่นักมวยปล้ำตัดสินใจแหกคาแร็กเตอร์ของตัวเองต่อหน้าสายตาประชาชนเป็นครั้งแรก หลังจากเพื่อนซี้ในชีวิตจริง 4 คน อย่าง ทริปเปิล เอช, ชอว์น ไมเคิลส์, เควิน แนช (ในตอนนั้นใช้ชื่อว่า ดีเซล) และ สกอตต์ ฮอลล์ ผู้ล่วงลับ (ในตอนนั้นใช้ชื่อว่า เรเซอร์ ราโมน) กอดกันบนเวที เพื่ออำลาการทำงานร่วมกันครั้งสุดท้ายใน WWF เนื่องจาก แนช กับ ฮอลล์ จะย้ายไปอยู่กับค่ายคู่แข่งอย่าง WCW

แต่ในเวลานั้น ชอว์น ไมเคิลส์ กับ สกอตต์ ฮอลล์ รับบทเป็นฝ่ายธรรมะ ขณะที่อีกสองคนคือนักมวยปล้ำฝ่ายอธรรม การได้เห็นนักมวยปล้ำพระเอกและวายร้ายกอดกันอย่างกลมเกลียวคือสิ่งที่ช็อกคนทั้งโลก ไม่มีใครเข้าใจว่าเหตุใดนักมวยปล้ำที่เกลียดกันบนเวทีถึงมากอดกันอย่างแบบนั้น

หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้ความลับของการมีสคริปต์ มีการใส่บทบาทในวงการมวยปล้ำได้กระจายไปทั่วโลก และทุกคนก็ได้รู้จักมวยปล้ำในแบบที่มันเป็น ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เป็นการเปลี่ยนความคิดของ WWF ให้เดินหน้าทำมวยปล้ำที่ยิ่งมีการสวมบทบาทคาแร็กเตอร์ต่างๆมากกว่าเดิม เพราะไม่จำเป็นต้องมากั๊กกันอีกแล้วว่ามวยปล้ำที่เห็นบนหน้าจอคือเรื่องจริง

เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ว่าไม่ว่าจะเป็นยุค WWF หรือจนเป็น WWE หลังจากการเปลี่ยนชื่อสมาคมในปี 2002 แนวทางการทำมวยปล้ำแบบสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ ของสมาคมนี้ประสบความสำเร็จมาเสมอ และยังสามารถดูดแฟนมวยปล้ำให้มาเป็นสาวกของค่ายได้เป็นจำนวนมาก

7แต่ WWE ไม่ใช่วงการมวยปล้ำ และเราอยากย้ำอีกทีว่า "WWE ไม่เท่ากับมวยปล้ำ" สิ่งที่ WWE เป็นไม่ได้หมายความว่ามวยปล้ำจะต้องเป็นในแบบที่ WWE เป็น 

เพราะวงการมวยปล้ำไม่ได้มีแค่ WWE ค่ายเดียว แต่ยังมีสมาคมมวยปล้ำอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มองมวยปล้ำแบบ WWE และยังคงทำมวยปล้ำในฐานะกีฬา หรือยึดไปที่ Professional Wrestling ไม่ใช่ Sport Entertainment

โดยเฉพาะในประเทศยักษ์ใหญ่ทางเอเชียที่แม้แต่ในปี 2022 แฟนมวยปล้ำที่นั่นก็ยังมองมวยปล้ำเป็นเรื่องจริงมาจนถึงปัจจุบัน

มุมมองมวยปล้ำที่ประเทศญี่ปุ่น 

คนไทยส่วนใหญ่คุ้นชินกับมวยปล้ำของ WWE ที่มีความเป็นการแสดงอยู่มาก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครจะมองมวยปล้ำเป็นการแสดง เพราะเราต้องยอมรับว่าคนดูมวยปล้ำจำนวนไม่น้อยดูแค่มวยปล้ำ WWE และรู้จักมวยปล้ำจาก WWE 

การจะมองว่า "WWE คือการแสดง" ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะสมาคมต้องการให้เป็นแบบนั้น สเตฟานนี่ แม็คแมน ลูกสาวของ วินซ์ แม็คแมน ก็ยอมรับจากปากตัวเองว่า อยากเปลี่ยน WWE ให้เหมือนกับภาพยนตร์ของมาร์เวล 

8ถึงจะเป็นสมาคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ WWE ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของวงการมวยปล้ำของโลก และอย่างที่เราบอกไป สมาคมอื่นยังคงทำมวยปล้ำในฐานะกีฬาไม่ใช่การแสดง 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือที่ประเทศญี่ปุ่น เพราะแม้แต่ในปี 2022 วงการมวยปล้ำญี่ปุ่นหรือที่เรียกกันว่า ปุโรเรซึ ยังคงยึดมั่นมวยปล้ำในฐานะกีฬาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต่างจากกีฬาชนิดอื่น

ที่ญี่ปุ่น วงการมวยปล้ำจะไม่ยอมรับความจริงที่ว่า มวยปล้ำมีการวางคาแร็กเตอร์ให้กับตัวนักมวยปล้ำ และเลือกปฏิเสธทุกอย่าง (แม้จะเป็นความจริงก็ตาม) และยังยืนยันว่ามวยปล้ำคือของจริงทั้งหมด ทุกสิ่งที่คุณเห็นในมวยปล้ำญี่ปุ่นคือเรื่องจริง 

สิ่งที่มวยปล้ำญี่ปุ่นทำคือการลดความการ์ตูน ละคร หรือการแสดงต่างๆลงให้มากที่สุด และเน้นทุกอย่างของมวยปล้ำไปที่แมตช์การปล้ำ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มวยปล้ำญี่ปุ่นจะสมจริงมาก ทุ่มเอาหัวทิ่มพื้น, เตะเป็นเตะ, ตบเป็นตบ หรือเจ็บตัวกันเป็นว่าเล่น 

สิ่งที่มวยปล้ำญี่ปุ่นทำมาตลอดหลายสิบปีแสดงให้เห็นชัดเจนว่า มวยปล้ำไม่เคยเป็นการแสดง แต่มันคือกีฬาไม่ต่างจากกีฬาต่อสู้ประเภทอื่น

และที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากก็เพราะแฟนมวยปล้ำที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมาจนถึงทุกวันนี้ว่ามวยปล้ำคือเรื่องจริง พวกเขาพร้อมจะเฮสุดเสียงในวันที่นักมวยปล้ำที่ตัวเองรักชนะ และพร้อมจะร้องไห้แบบไม่อายใครในวันที่นักมวยปล้ำที่ตัวเองรักพ่ายแพ้

9"เหตุผลที่คนญี่ปุ่นยังอินกับมวยปล้ำเหมือนกับว่าเป็นเรื่องจริงอยู่ อย่างแรกเลยคือ คนญี่ปุ่นค่อนข้างมีความเคารพกับอาชีพในทุกๆอาชีพที่หาเงินมาได้อย่างสุจริตอยู่แล้ว ไม่มีการแบ่งชนชั้นอะไร ซึ่งสำหรับมวยปล้ำ คนญี่ปุ่นก็จะให้ความเคารพกับสิ่งนี้ในฐานะกีฬา" บุญตระกูล ชีวะตระกูลกิจ คนไทยที่เคยทำงานกับสมาคมมวยปล้ำญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่น แบ่งปันความจริงกับ Main Stand 

"ชัดเจนสุดที่คือเวลาเรียกชื่อนักมวยปล้ำคนไหน เขาจะต่อชื่อนักมวยปล้ำคนนั้นด้วย 選手 (เซนชู) เสมอ เช่น ทานาฮาชิเซนชู = นักกีฬาทานาฮาชิ เช่นเดียวกับกีฬาอื่นๆของประเทศเขา"

"อีกอย่างคือการนำเสนอของมวยปล้ำญี่ปุ่นที่ทำออกมาในทางกีฬามากกว่าโชว์การแสดง มีการประกาศแมตช์การ์ดล่วงหน้า มีการแถลงข่าวนำคู่ต่อสู้มานั่งพูดถึงความรู้สึกที่จะได้เจอกัน ไม่ต่างจากกีฬาต่อสู้รูปแบบอื่น"

"มวยปล้ำญี่ปุ่นไม่ใส่สตอรี่แบบมวยปล้ำอเมริกัน ความสำคัญอยู่ที่แมตช์การปล้ำ นักมวยปล้ำคนนี้ก่อนขึ้นปล้ำบาดเจ็บตรงไหน? นักมวยปล้ำที่เคยแพ้เพราะสู้แบบนี้ รอบนี้จะแก้มือได้ไหม?"

"ทั้งหมดที่มวยปล้ำญี่ปุ่นทำออกมาคือการทำให้คนเชื่อว่านี่คือการต่อสู้ที่แท้จริง คือเขาไม่ทำออกมาให้ดูเป็นโชว์ห่วยๆ และคนดูก็ไม่รู้สึกว่ามันห่วย" 

"ไม่แปลกเลยที่มวยปล้ำญี่ปุ่นจะมีสมาคมใหญ่ๆในประเทศเยอะพอๆหรืออาจจะมากกว่าที่อเมริกาอีก เพราะกลุ่มคนดูเขาเข้าใจว่าเขากำลังดูอะไรอยู่"

"สุดท้ายแล้วคนดูจะให้ความเคารพมวยปล้ำ มวยปล้ำก็ให้ความเคารพคนดู มันส่งเสริมซึ่งกันและกัน" บุญตระกูล ชีวะตระกูลกิจ กล่าว 

10สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ได้แสดงให้เห็นว่าจิตวิญญาณของมวยปล้ำในฐานะกีฬาไม่เคยหายไปไหน และไม่ใช่แค่สมาคมมวยปล้ำที่ญี่ปุ่นที่ยึดแนวทางนี้ แต่ยังมีสมาคมมวยปล้ำอีกมากที่ยังคงทำมวยปล้ำด้วยมุมมองแบบกีฬา โดยให้ความเคารพกับแฟนมวยปล้ำ และแฟนมวยปล้ำก็ให้ความเคารพมวยปล้ำในฐานะกีฬาเช่นกัน

ความเคารพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่วงการมวยปล้ำต้องการ เพราะความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือคนจำนวนมากไม่ได้ให้ความเคารพมวยปล้ำในฐานะกีฬาเทียบเท่ากับฟุตบอล, บาสเกตบอล, อเมริกันฟุตบอล หรือกีฬาใดก็ตาม และกลายเป็นคำดูถูกที่คนรักมวยปล้ำต้องพบเจอมาอย่างยาวนาน

สิ่งที่มวยปล้ำต้องการคือความเคารพ

ไม่ว่าแฟนมวยปล้ำจะมองมวยปล้ำเป็นกีฬาหรือการแสดง แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนควรรู้คือ ไม่ว่าจะเป็นแฟนมวยปล้ำหรือไม่ก็ตาม นักมวยปล้ำแทบทุกคนรักมวยปล้ำในฐานะกีฬา และไม่มีใครที่มองว่ามันเป็น "การแสดง" เหมือนกับที่ใครหลายคนว่ากัน

11เพราะถึงพวกเขาจะมีบทบาทที่ต้องเล่นตาม มีบทพูดที่จะต้องพูดตามสคริปต์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดของนักมวยปล้ำทุกคนคือการปล้ำบนเวที และทุกสิ่งที่พวกเขาทำ ถึงแม้จะมีการจัดคิวว่าจังหวะไหนใครต้องทำอะไร แต่ทุกท่าที่คุณเห็นมีอาการบาดเจ็บตามมาไม่ต่างจากกีฬาประเภทอื่น 

ในความเป็นจริงแล้ว มวยปล้ำยังส่งผลที่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิตไม่ต่างจากกีฬาต่อสู้อื่นๆ มิตซึฮารุ มิซาว่า หนึ่งในสุดยอดนักมวยปล้ำตลอดกาลก็ต้องเสียชีวิตกลางเวทีขณะที่ปล้ำมวยปล้ำ หลังจากที่รับแรงกระแทกจากท่าแบ็คดรอป (ท่าทุ่มแล้วเอาส่วนคอลงกับพื้น) 

หรือนักมวยปล้ำอย่าง คัทสึโยริ ชิบาตะ (Katsuyori Shibata) ที่ยอมรับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจากท่าเรนเมคเกอร์ ของ คาซึชิกะ โอกาดะ เข้าไปเต็มแรงบริเวณศีรษะ จนสุดท้ายได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง และได้รับการวินิจฉัยว่าเขาได้รับบาดเจ็บในรูปแบบเดียวกับ ทิม เฮก (Tim Hague) อดีตนักสู้ UFC และนักมวยอาชีพที่เคยได้รับบาดเจ็บในลักษณะเดียวกันและเสียชีวิตในเวลาต่อมาจากอาการบาดเจ็บนี้ แต่สำหรับ ชิบาตะ โชคยังดีที่เขาไม่ได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในปัจจุบัน

12ถึงจะมีการกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักมวยปล้ำพวกนี้ไม่ได้รับบาดเจ็บ กรณีของชิบาตะคือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่านักมวยปล้ำก็สามารถได้รับบาดเจ็บแบบเดียวกับที่นักสู้แขนงอื่นได้รับ และการมีบทบนเวทีไม่ใช่การแสดงในรูปแบบของภาพยนตร์หรือละครต่างๆที่มีการเซฟผู้แสดงเป็นอย่างดี แต่มวยปล้ำยังคงต่อสู้ในรูปแบบเดียวนักสู้รูปแบบอื่น เพียงแค่มี "แนวทาง" การนำเสนอศาสตร์ของการต่อสู้ที่ต่างไปเท่านั้น

นักมวยปล้ำทุกคนภูมิใจในสิ่งที่พวกเขาทำ แต่ในทางตรงกันข้าม กลับมีคนจำนวนมากไม่ให้ความเคารพกีฬานี้ในแบบที่ควรจะได้รับ แต่มักล้อเลียนว่ามวยปล้ำเป็นแค่การแสดง และไม่ได้มีคุณค่าเหมือนกับกีฬาชนิดอื่น

สองพี่น้อง ยัง บัคส์ (Young Bucks) แมท และ นิค แจ็คสัน (Matt & Nick Jackson) คู่แท็กทีมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบันจากสมาคม All Elite Wrestling เผยในหนังสือส่วนตัวของเขาว่า ตลอดช่วงเวลาที่เขาเป็นเด็ก เขาโดนดูถูกเสมอที่เป็นแฟนมวยปล้ำ เพราะคนเหล่านั้นมักจะดูถูกเพราะมองว่า "มวยปล้ำเป็นการแสดง" และนำสิ่งนี้มาดูถูกคนที่เป็นแฟนมวยปล้ำอยู่เสมอ

โชคดีที่ทั้ง แมท และ นิค แจ็คสัน ภูมิใจในสิ่งที่พวกเขาเป็นเสมอ และความภูมิใจของพวกเขาที่รักในกีฬามวยปล้ำก็ทำให้ทั้งสองคนกลายเป็นนักมวยปล้ำชื่อดัง และเป็นส่วนหนึ่งของการให้กำเนิด All Elite Wrestling สมาคมมวยปล้ำที่มาท้าทายแนวคิดสปอร์ต เอนเตอร์เทนเมนต์ จาก WWE

13อย่างไรก็ตาม พี่น้องตระกูลแจ็คสันเป็นแค่คนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถทนรับคำดูถูกจากคนที่ไม่ได้เห็นคุณค่าของกีฬามวยปล้ำ เพราะยังมีคนอีกมากที่ต้องทนเจ็บปวดกับคำพูดที่ไม่คิดและไม่มีความเข้าใจมากพอ พร้อมกับไปมองว่ามวยปล้ำเป็นเพียงแค่การแสดงปาหี่เท่านั้น

"ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะยอมรับว่าตัวเองดูมวยปล้ำ ตัวผมก็ถูกเยาะเย้ยเพราะว่าผมดูมวยปล้ำ ใส่เสื้อมวยปล้ำและพกฟิกเกอร์ไปที่โรงเรียนด้วย ผมเจอพวกอันธพาลที่เข้ามาค้นกระเป๋าของผมและตั้งใจพังฟิกเกอร์ของผม" เพาเวอร์เฮาส์ ฮอบส์ (Powerhouse Hobbs) นักมวยปล้ำของ AEW เล่าถึงความลำบากในวัยเด็กในฐานะแฟนมวยปล้ำ

"แต่ตอนนี้คนที่เคยแกล้งผมไม่ทำอะไรแย่ๆพวกนั้นแล้วล่ะ เพราะผมเคยไปเจอพวกเขาที่ร้านเหล้าแห่งหนึ่ง พวกเขามองมาที่ผมแล้วพูดว่า 'นายโตแล้วนี่' ผมก็จะบอกว่า 'ใช่แล้วไอ้เวร มึงมาลองกับกูตอนนี้มั้ยละ'" เพาเวอร์เฮาส์ ฮอบส์ กล่าว 

เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามวยปล้ำไม่เคยได้รับความเคารพเท่ากับที่กีฬานี้ควรได้รับเหมือนกีฬาอื่นๆบนโลก และแฟนมวยปล้ำจำนวนมากก็ต้องทนเจ็บปวดกับคำดูถูกเหล่านี้ ทั้งที่พวกเขาควรจะได้ภูมิใจอย่างเต็มที่ในฐานะแฟนมวยปล้ำเหมือนกับแฟนทุกกีฬาบนโลก 

ไม่ผิดหากคุณจะมองมวยปล้ำเป็นแค่ความบันเทิงรูปแบบหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่คุณควรจะรู้ไว้คือ คำพูดที่ว่า "มวยปล้ำเป็นแค่การแสดง" คือคำที่คนที่ไม่ได้รักในกีฬานี้ใช้ดูถูกกีฬานี้มาเสมอ ทั้งที่แก่นแท้ของมวยปล้ำก็คือกีฬามาโดยตลอด

แม้ว่าจะมีคนที่พยายามเปลี่ยนให้มวยปล้ำมีความเป็นเอนเตอร์เทนเมนต์มากขึ้น หรืออยากให้เป็นการแสดงจริงๆเหมือนกับที่ WWE ต้องการ แต่แก่นแท้ของมันไม่เคยเปลี่ยนไป เพราะสุดท้ายมวยปล้ำก็คือกีฬา และยังมีอีกหลายสมาคมมวยปล้ำทั่วโลกที่ยังเลือกจะให้เกียรติกับกีฬานี้ในแบบที่สมควรจะได้รับ 

14สุดท้ายแล้วคุณจะมองมวยปล้ำเป็นกีฬาหรือการแสดงก็ได้ แต่สิ่งที่อยากให้ทุกคนรับรู้ข้อเท็จจริงเอาไว้คือ คนที่รักในกีฬามวยปล้ำจริงๆ และคนที่เป็นนักมวยปล้ำ ไม่เคยมองว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็น "การแสดง" และคำพูดที่บอกว่ามวยปล้ำเป็นการแสดงก็ไม่เคยให้อะไรดีๆกับวงการมวยปล้ำเลย นอกจากทำให้คุณค่าของกีฬาชนิดนี้ต่ำลง

หากคุณรักมวยปล้ำจริงๆ เราอยากให้คุณมองมวยปล้ำในฐานะกีฬาที่มีคุณค่าเทียบเท่ากับทุกกีฬาบนโลก เพราะคุณค่าของมวยปล้ำไม่เคยหายไปไหน มีแต่คนที่อยากจะลดคุณค่าของมันให้ต่ำต้อยลงเท่านั้นเอง 

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ มีสคริปต์ไม่เท่ากับเป็นการแสดง : เหตุผลที่ "มวยปล้ำ" คือกีฬา ผ่านการเข้าใจตัวตนจากอดีต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook