ยิ่งสูงยิ่งหนาว : การจัดอันดับในรอบเพลย์ออฟส่งผลต่อการลุ้นแชมป์ NBA มากน้อยแค่ไหน

ยิ่งสูงยิ่งหนาว : การจัดอันดับในรอบเพลย์ออฟส่งผลต่อการลุ้นแชมป์ NBA มากน้อยแค่ไหน

ยิ่งสูงยิ่งหนาว : การจัดอันดับในรอบเพลย์ออฟส่งผลต่อการลุ้นแชมป์ NBA มากน้อยแค่ไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การแข่งขัน NBA ประจำฤดูกาล 2021-22 กำลังดุเดือดถึงที่สุด หลังจากเข้าสู่รอบเพลย์ออฟที่จะชี้ชะตาว่าทีมใดจะได้คว้าแชมป์เป็นเบอร์ 1 ของลีกบาสเกตบอลที่โด่งดังที่สุดในโลก

สำหรับตัวเต็งที่ได้รับการคาดหมายในปีนี้ก็หนีไม่พ้นทีมที่ทำผลงานมาดีตั้งแต่ฤดูกาลปกติ ทั้ง ฟีนิกซ์ ซันส์, โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส และ มิลวอกี้ บัคส์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องฟอร์มการเล่นที่ทำให้ทีมเหล่านี้ได้รับการคาดหมายว่ามีโอกาสเป็นแชมป์มากกว่าทีมอื่น แต่การจัดลำดับ Seed หรือตำแหน่งของทีมวางในรอบเพลย์ออฟ ก็เอื้อประโยชน์อย่างมากให้กับทีมเหล่านี้ในการเป็นแชมป์ NBA

นี่คือเหตุผลว่าทำไมแต่ละทีมถึงสู้เต็มที่ในฤดูกาลปกติเพื่อที่จะเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ของสาย เพื่อมีอันดับที่ดีในการเล่นรอบเพลย์ออฟ เพราะความได้เปรียบและเสียเปรียบของทีมที่มี Seed สูงกว่ากับทีมที่อยู่ลำดับต่ำกว่าจะต่างกันมากมายมหาศาล

 

Main Stand จะพาคุณไปหาคำตอบว่า ทีมที่มีอันดับทีมวางสูงในรอบเพลย์ออฟของ NBA ได้เปรียบมากน้อยแค่ไหน เหตุใดทีมเหล่านี้ถึงมีโอกาสได้แชมป์สูงกว่าทีมอื่น ๆ ในทุกฤดูกาล

Seed คืออะไรในรอบเพลย์ออฟ ?

การแข่งขันรอบเพลย์ออฟเพื่อหาแชมป์ประจำฤดูกาลถือว่าเป็นเสน่ห์สำคัญของลีกกีฬาในสหรัฐอเมริกา เพราะแค่แข่งเป็นแชมป์ในการแข่งขันปกติกลับไม่เพียงพอที่จะได้ชื่อว่าเป็นแชมป์ประจำฤดูกาล หากแต่จะได้รับการการันตีสิทธิ์ไปแข่งในรอบเพลย์ออฟเพื่อหาแชมป์ตัวจริงอีกที 

แน่นอนว่าฤดูกาลปกติคงไร้ความหมายหากว่าทีมที่ได้แชมป์ในการแข่งขันปกติไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรกลับมา ดังนั้นถึงจะไม่ได้ถ้วยแชมป์ทีมที่ทำอันดับได้ดีกว่าในฤดูกาลปกติจะได้ความได้เปรียบในการแข่งขันรอบเพลย์ออฟเป็นการทดแทน

 

นี่คือสิ่งที่เรียกว่าระบบ Seed ที่เข้ามามีบทบาทในการจัดลำดับทีมวางในรอบเพลย์ออฟ โดยทีมที่ทำผลงานได้ดีที่สุดจะได้รับการจัดวางลำดับที่ดีกว่าในการเล่นรอบเพลย์ออฟ เช่น ทีมที่ชนะเยอะที่สุดในฤดูกาลปกติก็จะได้เป็น Seed อันดับที่ 1 

ส่วนทีมมีอันดับรองลงมาก็จะอยู่ใน Seed ที่รองลงมาเช่นกัน ตัวอย่างเช่นทีมที่ชนะเยอะมากที่สุดในฤดูกาลเป็นอันดับ 2 ก็จะได้ Seed ลำดับที่ 2 ทีมที่ชนะเยอะเป็นลำดับ 3 จะได้ Seed ที่ 3 เป็นแบบนี้ลงไปเรื่อย ๆ

สำหรับการจัด Seed ในรอบเพลย์ออฟของ NBA คือการแบ่งออกเป็นโซนตะวันตกและตะวันออก เพื่อแบ่งเป็นสองสายในรอบเพลย์ออฟ โดยแต่ล่ะสายจะมี Seed ในรอบเพลย์ออฟทั้งหมด 8 ทีม เรียงลำดับตามทีมที่ชนะมากที่สุดในฤดูกาลปกติ (ยกเว้นใน Seed อันดับ 7 และ 8 ที่จะมีการแข่งขันรอบคัดเลือกเพื่อหาทีมเข้าแข่งขันก่อนในรอบที่ชื่อว่า Play-In)

แน่นอนว่าระบบการเพลย์ออฟในลีกกีฬาอเมริกันเกมส์ถูกใช้มาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะระบบ Seed ที่มีบทบาทในทุกลีกกีฬาชั้นนำของสหรัฐฯ ทั้ง NBA, NFL, MLB, NHL หรือ MLS เพราะระบบนี้ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดีแล้วว่าการได้ Seed ในลำดับที่สูงกว่าโดยเฉพาะ Seed อันดับ 1 หรือ 2 จะได้เปรียบมหาศาลที่จะเอื้อให้คว้าแชมป์ในบั้นปลาย

 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ตลอด 10 ฤดูกาลหลังสุดของ NBA ทุกปีจะต้องมีทีมที่ได้ Seed 1 หรือ Seed 2 เข้าชิงเป็นอย่างน้อย 1 ทีมเสมอ และ 9 ใน 10 ครั้งที่ผ่านมาทีมที่คว้าแชมป์ NBA คือทีมที่ได้ Seed 1 และ Seed 2 ในรอบเพลย์ออฟ 

นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่าการได้ Seed ลำดับสูงในรอบเพลย์ออฟส่งผลต่อโอกาสที่จะคว้าแชมป์ NBA อย่างมาก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมทุกทีมถึงสู้สุดใจทำผลงานให้ดีที่สุดในฤดูกาลปกติ เพราะถึงจะไม่ได้เป็นแชมป์ในทันทีแต่ก็เป็นใบเบิกทางชั้นดีที่จะช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ในการแข่งขันรอบเพลย์ออฟ

มีข้อได้เปรียบมากมายที่ทีม Seed อันดับสูงจะได้รับในรอบเพลย์ออฟ ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้นติดตามไปต่อกับเราได้เลย

โปรแกรมการแข่งขันที่ง่ายกว่า

ข้อได้เปรียบแรกของการมีอันดับ Seed ที่สูงกว่าคือการได้เปรียบในการประกบคู่ในรอบเพลย์ออฟที่จะไม่ต้องเจองานยาก ไม่ต้องเสี่ยงไปเจอทีมแข็ง ๆ เพื่อมีโอกาสตกรอบสูงตั้งแต่รอบแรก ๆ ของการเพลย์ออฟ

สำหรับการเพลย์ออฟใน NBA จากทั้ง 8 อันดับในแต่ละสายไม่ว่าจะตะวันตกหรือตะวันออก จะทำการแบ่งทั้ง  8 ทีมออกเป็นสองกลุ่ม โดยในกลุ่มแรกจะประกอบไปด้วย Seed อันดับ 1,4,5,8 และอีกกลุ่มจะเป็น Seed 2,3,6,7 

โดยความได้เปรียบของทีมที่ได้ครอง Seed อันดับ 1 จะได้เปรียบสุด ๆ ในรอบแรกด้วยการเจอกับทีมใน Seed อันดับ 8 หรือพูดง่าย ๆ คือเป็นการจับคู่ทีมที่เก่งที่สุดในฤดูกาลปกติเจอทีมที่อ่อนที่สุดในฤดูกาลปกติที่ผ่านเข้ารอบเพลย์ออฟมาได้ 

นอกจากจะได้เจอทีมอ่อนตั้งแต่รอบแรก หากผ่านเข้าสู่รอบสองของการเพลย์ออฟทีมจาก Seed 1 ก็จะเข้าไปตามสายเจอผู้ชนะจากเกมพบกันระหว่างทีม Seed อันดับ 4 กับทีมอันดับ 5 ซึ่งก็ไม่ใช่ทีมที่แข็งเท่าไหร่นัก เรียกได้ว่าอย่างน้อยก็มีทางสบายไปสู่รอบชิงเป็นเครื่องการันตี

 

ขณะที่ทีม Seed อันดับ 2 ก็กุมความได้เปรียบไว้ไม่น้อยเช่นกัน โดยในรอบแรกก็จะได้เจอทีมที่ไม่ใช่ของแข็งคือ Seed อันดับ 7 เพียงแต่ว่าในรอบสองของการเพลย์ออฟมีสิทธิ์จะได้เจอของแข็งกว่า เพราะจะต้องไปเจอผู้ชนะจากคู่ระหว่างทีม Seed อันดับ 3 กับ Seed อันดับ 6

ด้วยความที่รอบเพลย์ออฟของ NBA ไม่ได้แข่งเพียงแมตช์เดียวจบ แต่ต้องแข่งเป็นซีรีส์ที่ต้องชนะ 4 จาก 7 เกม ทีมใดที่ได้ 4 เกมก่อนจะชนะไปเลย ดังนั้นการได้เจอทีมที่อ่อนกว่าในรอบแรกก็เป็นการถนอมแรงของผู้เล่นได้เป็นอย่างดีสำหรับการเก็บพลังงานไว้ไปบดบี้กับทีมเก่งในรอบถัดไป

ยกตัวอย่างเช่นในการแข่งขันเพลย์ออฟของปี 2020 ที่ผ่านมา ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส คว้า Seed อันดับ 1 ของสายตะวันตกมาครองได้ และเอาชนะทีม Seed อันดับ 8 ไปอย่างง่ายดาย 4 ต่อ 1 เกม เหนือ พอร์ตแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส ก่อนจะผ่านเข้าสู่รอบสองไปล้ม ฮิวส์ตัน ร็อกเก็ตส์ ทีมจาก Seed 4 แบบง่าย ๆ 4-1 เกมอีกครั้ง ซึ่งสุดท้ายก็เป็นใบเบิกทางที่ดีให้เลเกอร์สไม่ต้องเหนื่อยและคว้าแชมป์ NBA ไปแบบสบาย ๆ ในปีนั้น

 

มีมากมายหลายกรณีที่ทีม Seed อันดับ 1 หรือ 2 ได้เก็บงานง่าย ๆ กับทีม Seed ต่ำกว่าจนผ่านรอบแรกหรือรอบสองไปแบบสบาย ๆ ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้ลงเล่นน้อยกว่าและผ่านการเอาชนะเกมแบบง่าย ๆ มีผลในการถนอมแรงรวมถึงพลังให้ทีมเหล่านี้ได้เอาไปใช้ในเกมสำคัญเช่นในรอบชิงชนะเลิศ

โอกาสของการเล่นในบ้าน

นอกจากจะได้เจอทีมที่ง่ายกว่า อีกหนึ่งข้อได้เปรียบของทีมที่มี Seed เหนือกว่า คือการได้มีโอกาสได้เล่นในบ้านมากกว่า โดยในการเพลย์ออฟของ NBA ทีมที่มี Seed สูงกว่าจะมีโอกาสได้เล่นในบ้านทั้งหมด 4 เกม ขณะที่ทีมที่มี Seed ต่ำกว่าจะได้มีโอกาสเล่นในบ้านเพียง 3 เกมจากทั้งหมด 7 เกมในซีรีส์ 

ในรอบเพลย์ออฟนั้นการได้เล่นในบ้านมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยลดความกดดัน สร้างความคุ้นเคยที่มากกว่าให้กับทีมเจ้าบ้าน แถมมีแฟนบาสที่แน่นสนามมาคอยเป็นพลังหนุนหลังที่กดดันคู่แข่งด้วย

ขณะที่ฝั่งผู้มาเยือนนั้นตรงกันข้าม เพราะพวกเขาไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเจอกับอุปสรรคและความกดดันอะไรบ้าง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องในสนามเพียงอย่างเดียวแต่รวมไปถึงนอกสนามด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้มีการเก็บสถิติว่าหากนับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา ในรอบเพลย์ออฟของ NBA ทีมเจ้าบ้านมีโอกาสชนะเกมการแข่งขันถึง 61 เปอร์เซ็นต์ เยอะกว่าฤดูกาลปกติที่เจ้าบ้านจะมีโอกาสชนะเกมอยู่ที่ 57 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป

หากมองรายละเอียดที่มากกว่านั้นก็จะพบการเปรียบเทียบว่าทีมที่เล่นในบ้านจะมีสถิติการเล่นดีกว่าทีมที่เล่นนอกบ้านในการเพลย์ออฟ ทั้งการเสียการครอบครองบาสน้อยกว่า เสียฟาวล์น้อยกว่า รวมถึงการทำแต้มในการสวนกลับได้มากขึ้น 

นอกจากนี้นักจิตวิทยายังได้วิเคราะห์ว่าผู้เล่นบาสเกตบอลที่ได้เล่นในบ้านในเกมเพลย์ออฟจะมีความมุ่งมั่น ตั้งใจมากกว่าเวลาไปเล่นเกมเยือน เพราะผู้เล่นจะรู้สึกว่าพวกเขาคุ้นชินกับการเล่นในสนามมากกว่าและจะกล้าเล่นกล้าลุยมากกว่าเวลาไปเล่นเกมเยือน ซึ่งอาจมีความกลัวอยู่ในใจที่ส่งผลให้ทำผลงานได้ไม่เต็มที่

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเล่นเป็นเจ้าบ้านเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันรอบเพลย์ออฟของ NBA ดังนั้นความได้เปรียบจะตกอยู่กับ Seed อันดับ 1 เสมอ เพราะหากได้ Seed 1 มาครอง ทีมนั้นก็จะได้เล่นเป็นเจ้าบ้านมากกว่าทีมเยือนตลอดทั้งการแข่งขันเพลย์ออฟ 

ซึ่งถ้ามองจากสถิติที่ผ่านมาก็เปรียบเสมือนการการันตีโอกาสที่จะชนะเกมในการเพลย์ออฟมากกว่าทุกทีม ดังนั้นนี่ถือว่าเป็นความได้เปรียบสำคัญอีกอย่างของทีมที่มี Seed ที่ดีกว่า

ทั้งความได้เปรียบจากโปรแกรมที่ง่ายกว่าและการได้เล่นในบ้านซึ่งส่งผลกระทบด้านบวกอย่างชัดเจน บวกกับที่ปกติทีมระดับ Seed 1 และ Seed 2 ของแต่ละสายจะเป็นทีมระดับท็อปของฤดูกาลอยู่แล้ว ทั้งหมดทั้งมวลยิ่งทำให้ทีมที่ครองตำแหน่ง Seed 1 และ Seed 2 มีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างมากในรอบเพลย์ออฟ

ดังนั้นแล้ว NBA จึงเป็นลีกกีฬาที่ทีมแชมป์จะต้องทำผลงานมาให้ดีตั้งแต่ในฤดูกาลปกติและต้องเล่นให้ดีตลอดทั้งฤดูกาล ไม่ใช่แค่เล่นประคองตัวเพื่อเข้ารอบเพลย์ออฟ และหวังท็อปฟอร์มในรอบเพลย์ออฟจนพลิกล็อกคว้าแชมป์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ กับ NBA

ดังนั้นอย่าแปลกใจหากฤดูกาลนี้เราได้เห็นทีมจาก Seed 1 หรือ 2 ของแต่ละสาย ไม่ว่าจะเป็น ฟีนิกซ์ ซันส์, บอสตัน เซลติกส์, ไมอามี ฮีตส์, เมมฟิส กริซลีย์ส์ ไปจนถึงทีมแกร่งจาก Seed 3 อย่าง โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส หรือ มิลวอกี้ บัคส์ คว้าแชมป์อีกครั้งในฤดูกาลนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook