ความลับ ! ที่ทำให้นักวิ่งจาก จาเมกา ครองความเป็นเจ้า

ความลับ ! ที่ทำให้นักวิ่งจาก จาเมกา ครองความเป็นเจ้า

ความลับ ! ที่ทำให้นักวิ่งจาก จาเมกา ครองความเป็นเจ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้านัดชิงเจ้าความเร็ววิ่ง 100 ม. ลอนดอนเกมส์ วันที่ 5 ส.ค.นี้ แชมป์เกิดไม่ใช่ประเทศเล็ก ๆ ในแถบเกาะ คาริบเบียน อย่าง จาเมกา นั่นอาจถือได้ว่าเป็นการพลิกล็อกครั้งยิ่งใหญ่สุดของวงการกรีฑาเลยก็ว่าได้ เนื่องจากนับแต่จบ ปักกิ่ง เกมส์ เมื่อ 4 ปีที่แล้วนักวิ่งจาก จาเมกา ได้ผงาดครองความยิ่งใหญ่มาตลอด

แม้การบาดเจ็บหรือออกสตาร์ตผิดกฎ (false starts) อาจทำให้ ยูเซียน โบลต์ พลาดหวังป้องกันแชมป์เมื่อ 4 ปีที่แล้วยัง ปักกิ่ง เกมส์ ได้ แต่ จาเมกา ยังมี โยฮัน เบลก ที่รอคอยหลุดพ้นจากเงานักวิ่งรุ่นพี่อย่าง โบลต์

หรือแม้แต่ อซาฟา พาวว์ นักวิ่งรุ่นพี่ที่ต้องการกู้ความยิ่งใหญ่คืนมาจากนักวิ่งรุ่นน้องอย่าง โบลต์ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าว ก็อยู่ในทีมวิ่งผลัด 4x100 ม.ที่การันตีแชมป์ นอกเหนือจาก โบลต์ ที่การันตีเหรียญทองวิ่ง 200 ม.ด้วยเช่นกัน

ส่วนฝ่ายหญิง จาเมกา ก็มี เชลลี่ย์-แอน ฟราเซอร์-ไพรซ์ ที่กลับมาป้องแชมป์ 100 ม.และ เวโรนิก้า แคมเบลล์-บราวน์ ที่หวังสร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทอง 200 ม. 3 สมัยซ้อน

ที่ผ่านมา จาเมกา กลายเป็นดินแดนของ ราชาแห่งเจ้าความเร็ว ไปโดยไม่รู้ตัว อดีตแชมป์โอลิมปิกปี 1992 จาก สหราชอาณาจักร ลินฟอร์ด คริสตี้ หรือแชมป์โอลิมปิกปี 1996 จาก แคนาดา โดโนแวน ไบลี่ย์ ทั้ง 2 คนก็เกิดที่ จาเมกา

นั่นยังไม่นับรวมถึง เบ็น จอห์นสัน นักวิ่งจาก แคนาดา อีกคน อะไรคือ ความลับว่าทำไม ! จาเมกา ถึงกลายเป็นแหล่งผลิตนักวิ่งระยะสั้นออกมามากมาย และนี่คือคำตอบทั้งหมด

แรงบันดาลใจ......

ขณะที่ต้นแบบอย่าง โบลต์ และแคมเบลล์-บราวน์ ยังไม่มีทีท่าหยุดสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการวิ่งของ จาเมกา ปรากฏว่ามีนักวิ่งวัย 22 ปี เบลก ที่คว้าแชมป์วิ่ง 100 ม.ชิงแชมป์โลกที่ แดกู เมื่อปีที่แล้ว หลัง โบลต์ ออกสตาร์ตผิดกฎในรอบชิงแจ้งเกิดขึ้นมาอีกคน

โบลต์ เองก่อนถึงจุดนี้เจ้าตัวยอมรับนักวิ่งรุ่นพี่อย่าง ดอน ควอร์รี่ เจ้าของเหรียญทองวิ่ง 200 ม.โอลิมปิกที่ มอนทรีออล และ 6 เหรียญทอง Common wealth Games ก็คือแรงบันดาลใจในวัยเด็กของเขานั่นเอง

"เพราะ ดอน ควอร์รี่" โบลต์ กล่าว "ทำให้ผมพิสมัยการวิ่ง 200 ม.เป็นพิเศษผมอยากยิ่งใหญ่เหมือน ควอร์รี่ และ แม็คเค็นลี่ย์ (เฮิร์บ)"

แม็คเค็นลี่ย์ และอาร์เธอร์ วินต์ ถือเป็นนักวิ่งจาก จาเมกา ยุคแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในโอลิมปิก กับ ลอนดอน เกมส์ ปี 1948 เมื่อช่วยกันกวาดเหรียญทองในการวิ่ง 100, 200 และ 400 ม.

เช่นเดียวกับฝ่ายหญิง แคมเบลล์-บราวน์ ก็มีฮีโร่ในดวงใจเช่นกันคือ เมอร์เล็น ออตตี้ เจ้าของแชมป์โลก 14 สมัยที่แม้อายุอานามจะปาเข้าไป 52 ปีแล้วแต่ยังไม่หมดไฟลงแข่งรอบคัดเลือกไปโอลิมปิก 2012

ที่ผ่านมา "ออตตี้ ถือเป็นหญิงที่ไม่ยอมให้อะไรมาหยุดยั้งความตั้งใจของเธอได้" แคมเบลล์-บราวน์ กล่าว

สถาบันที่มีคุณภาพ.........

แคมเบลล์-บราวน์ จบจาก เวเร่ เทคนิเคิล สถาบันเดียวกับ ออตตี้ เช่นเดียวกับ โบลต์ ที่เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักกีฬาตั้งแต่อายุยังน้อย "เรามีรายการ จาเมกา Championships เป็นเวทีให้เด็กชายและหญิงได้ทดสอบความสามารถของตนเอง"โบลต์ กล่าว

"ซึ่งรายการที่ว่ามีมาตรฐานสูงมาก ด้วยเหตุนี้ทุกคนที่มาแข่งจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด" และประสบการณ์ตรงนี้ถือว่ามีค่ากับ โบลต์ เป็นอย่างมาก "จากประสบการณ์ตรงนั้นทำให้ผมไร้ซึ่งความกดดัน แม้จะต้องลงแข่งท่ามกลางแฟนในสนามเรือน 10,000 ก็ตาม"

4 วันในสนามที่ คิงสตัน มีแฟนเข้าชมร่วม 30,000 คน นอกเหนือจากที่ชมหน้าจอทีวีกว่าล้านคน แน่นอนว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นตลอด 4 วันจะกลายเป็นแรงบันดาลสำหรับนักวิ่งรุ่นต่อไป โบลต์ ในวัย 16 ปีเริ่มสร้างชื่อครั้งแรกกับการลงแข่ง มินิ-โอลิมปิกในปี 2003 เมื่อเขาคว้าแชมป์ในการวิ่ง 200 และ 400 ม.ด้วยการทำเวลาได้ 20.23 และ 45.30 วินาที

ซึ่งนั่นเป็นเวลาเพียงพอที่จะให้เขาเข้าไปแข่งรอบสุดท้ายโอลิมปิกได้ เช่นเดียวกับ แคมเบลล์-บราวน์ เธอเริ่มต้นชีวิตการเล่นกีฬาตั้งแต่ระดับไฮสคูล "โค้ชและครูในช่วงเวลานั้นบอกกับฉันว่า ฉันมีความสามารถด้วยเหตุนี้จึงแนะนำสถาบัน เวเร่ เทคนิเคิล ให้กับฉัน "

โค้ชที่เก่ง......

แม้มี ‘สถาบัน' ที่พร้อมปั้นดินให้เป็นดาว แต่ โบลต์ ที่ ณ เวลานี้จะเก่งกาจแค่ไหนก็ตามก็ยังต้องการผู้ช่วยซึ่งก็คือ ‘โค้ช' ที่จะผลักดันให้เขาก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุด

เกล็น มิลส์ เติบโตขึ้นพร้อมความการต้องการเป็นเหมือน แม็คเค็นลี่ย์ และวินต์ แต่ต้องเปลี่ยนใจผันตนเองกลายมาเป็นโค้ชแทนและตลอด 22 ปีที่ทำหน้าที่ เขานั่งดูความสำเร็จของลูกทีมในการคว้ามา 71 เหรียญในการแข่งขันชิงแชมป์โลกและอีก 33 เหรียญทองในโอลิมปิก

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึง โบลต์ มิลส์ จำลูกศิษย์ที่มีความสามารถโดดเด่นคนนี้ได้เป็นอย่างดีเพราะ เขาเป็นคนที่ทำให้ โบลต์ ที่ก่อนหน้าแพ้ต่อ ไทสัน เกย์ ทุกครั้งเมื่อคู่แข่งออกสตาร์ตนำก่อนกลับมาเอาชนะ ไทสัน เกย์ ได้ในการวิ่ง 200 ม.ชิงแชมป์โลกที่ โอซาก้า ปี 2007

โดย มิลส์ ซึ่งทำหน้าที่โค้ชในเวลานั้น แนะนำให้ โบลต์ เข้า ‘ยิม' เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแกร่งขึ้น นอกจากเหนือจากการเปลี่ยนทัศนคติในการวิ่ง 200 ม.ที่ลูกศิษย์เขาไม่เคยชอบ นับแต่นั้นมา โบลต์ ก็ก้าวขึ้นมาเป็นราชาวิ่ง 200 ม.แบบหาใครเสมอเหมือนได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา นั่นเป็นส่วนหลัก ๆ ที่นักวิ่งจาก จาเมกา ทุกคนต้องผ่านหลักสูตร นอกเหนือจากสิ่งอื่น ๆ อาทิเช่น ความทะเยอทะยานที่จะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และอะไรอีกหลายอย่างที่พร้อมจะหลอหลอมให้พวกเขาและเธอก้าวขึ้นมาเป็นเทพและราชินีของวงการวิ่งระยะสั้น

ด้วยเหตุนี้วงการวิ่งคงต้องจารึกไว้ว่า จาเมกา น่าจะเป็นดินแดนที่รวมเอาสุดยอดนักวิ่งโลกไว้รวมกันก็ว่าได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook