ยูทากะ ไอฮาระ : อดีตแข้งไทยลีกที่มีแขนข้างเดียว และปณิธานของเขา

ยูทากะ ไอฮาระ : อดีตแข้งไทยลีกที่มีแขนข้างเดียว และปณิธานของเขา

ยูทากะ ไอฮาระ : อดีตแข้งไทยลีกที่มีแขนข้างเดียว และปณิธานของเขา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางอากาศอันร้อนอบอ้าวในบ่ายวันอาทิตย์ ณ โรงยิมของอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย เราได้พบกับหนุ่มชาวญี่ปุ่น ที่สีหน้าเต็มไปด้วยความเคร่งขรึมในขณะชมการแข่งขันฟุตซอล

“ยูทากะ ไอฮาระ” นักฟุตบอลดีกรีไทยลีกกับพนักงานยาสูบ เมื่อปี 2004 ที่มีแขนเพียงข้างเดียว ทักทายเราด้วยรอยยิ้ม และหลังจากได้พูดคุยกับเขา ทำให้รู้ว่าชายหนุ่มผู้นี้เป็นคนมีอารมณ์ขันไม่น้อย ขัดกับใบหน้าที่ดูจริงจังเมื่อซักครู่ อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงสิ่งที่กำลังจะทำต่อจากนี้ สีหน้าเขากลับมาฉายความมุ่งมั่นอีกครั้ง

วันนี้เขาได้เปิดทดสอบฝีเท้าเพื่อหานักกีฬาเข้าสู่สโมสรฟุตซอลอาชีพของตัวเขาเองที่กำลังจะตั้งขึ้นในไม่ช้า โดยมีนักกีฬาหูหนวกกว่า 20 คนมาเข้าร่วมการคัดเลือก ซึ่งบางคนมาไกลจากจังหวัดชลบุรี…

“ตัวผมเป็นคนพิการ แต่ยังได้เป็นนักฟุตบอลในไทยลีกได้ ผมจึงอยากให้โอกาส, ความหวัง และความฝันแก่เด็กๆพิการที่เมืองไทย เหมือนที่ผมเคยได้รับโอกาส”


คำๆ แรกตั้งแต่เริ่มบทสนทนาบ่งบอกปณิธานที่ชัดเจนของ “ยูทากะซัง” ได้เป็นอย่างดี… แต่กว่าเขาจะมีวันนี้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง? Main Stand นั่งคุยกับเขาที่มุมหนึ่งของโรงยิม ท่ามกลางความมุ่งมั่นของเหล่านักกีฬา ที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของทีมฟุตซอลของเขาทีมนี้…

yutaka6
เพลงดาบที่ 1 ซามูไรน้อย
ย้อนกลับไปเมื่อ 1979 ที่จังหวัดคานางาวะ ใกล้เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เด็กน้อย ยูทากะ ไอฮาระ ได้ลืมตาดูโลกขึ้นมา ทว่าแขนซ้ายของเขากลับมีความผิดปกติจากการไร้นิ้วทั้งห้านิ้ว

อย่างไรก็ดี แม้จะมีแขนที่สมบูรณ์เพียงข้างเดียว แต่ ยูทากะ ก็ไม่ได้มองมันเป็นอุปสรรค เขาสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และสำคัญที่สุดคือสามารถเล่นกีฬาที่เขารัก นั่นก็คือฟุตบอล  

“พี่ชายผมชอบเล่นฟุตบอล ผมก็เลยลองไปเล่นกับเขาแล้วรู้สึกชอบมาก หลังจากนั้นก็เลยเล่นมาตลอด” ยูทากะ เริ่มต้นกล่าวกับ Main Stand

“แม้ผมจะมีแขนข้างเดียว แต่มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเล่นฟุตบอลเลย เพราะฟุตบอลใช้ขา มันไม่ได้เกี่ยวกับแขน”

ความคลั่งไคล้ฟุตบอลของ ยูทากะ ถือว่าไม่ธรรมดา นับตั้งแต่ที่ได้รู้จักกับลูกกลมๆ เขาแทบไม่เคยห่างจากมัน และเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสโมสรและชมรมฟุตบอลตั้งแต่ประถมถึงชั้นมัธยมปลาย

“ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ละโรงเรียนจะมีสโมสรฟุตบอล ผมเองก็อยู่สโมสรของโรงเรียนตั้งแต่ประถม พอขึ้นม.ต้น ก็ไปอยู่สโมสรของท้องถิ่นแทน จากนั้นพอขึ้นม.ปลาย ผมก็เข้าไปอยู่ชมรมฟุตบอลของโรงเรียน”

ไม่ต่างอะไรกับนักฟุตบอลญี่ปุ่นทั่วไป เมื่อความฝันเริ่มแรกของ ยูทากะซัง คือการได้เป็นนักฟุตบอลเจลีก แต่น่าเสียดายที่หลังจากไปคัดตัวแล้ว ฝีเท้าของเขายังไม่เข้าเกณฑ์ จึงไม่มีที่ไหนเรียกตัวไปร่วมทีม

และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาบินข้ามน้ำข้ามทะเลจากบ้านเกิดมาค้าแข้งที่ไทย

yutaka11
เพลงดาบที่ 2 ซามูไรผจญภัย
“ตอนนั้นผมก็เป็นนักฟุตบอลอยู่ แล้วเผอิญมีคนรู้จักที่ไทย เขาก็เลยชวนมาเล่นที่นี่ ผมจึงมีโอกาสได้เล่นให้กับสโมสรฟุตบอลยาสูบ”

ยูทากะ เข้ามาอยู่กับยาสูบ ในยุคที่ไทยลีกยังไม่ได้รับความนิยมเฉกเช่นทุกวันนี้ ทำให้เขาเห็นภาพความต่างของฟุตบอลไทยในสองยุคอย่างชัดเจน

“สมัยที่ผมเล่นไทยลีก ตอนนั้นยังเป็นลีกไม่ใหญ่ คนดูน้อย เงินเดือนก็น้อย”

“แต่ตอนนี้เงินเดือนของนักฟุตบอลเพิ่มขึ้นมาก นักฟุตบอลต่างชาติก็มาเล่นที่นี่มากขึ้น และมีนักฟุตบอลไทยเก่งๆ โผล่ขึ้นมา บางคนก็สามารถไปเล่นที่ญี่ปุ่น”

แข้งเลือดซามูไรเปื้อนยิ้ม อยู่ค้าแข้งกับยาสูบหนึ่งฤดูกาล ก่อนที่จะตัดสินใจตามหาความท้าทายด้วยการไปค้าแข้งกับ ดิพาลี เอฟซี ในลีกบังคลาเทศ และทำสถิติกลายเป็นนักฟุตบอลญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ของบังคลาเทศในปี 2004

yutaka7
การผจญภัยของเขายังไม่จบ เมื่ออีกหนึ่งปีต่อมา ยูทากะ ได้มีโอกาสไปโชว์ฝีเท้าในทวีปแอฟริกาให้กับ มาซากา แอลซี เอฟซี ในลีกอูกานดา และสร้างประวัติศาสตร์บทใหม่ขึ้นมาอีกครั้งด้วยการเป็นนักฟุตบอลเลือดซามูไรคนแรกในลีกแห่งนี้ ก่อนที่ท้ายที่สุดเขาจะไปยุติชีวิตนักฟุตบอลอาชีพกับ มาซอลไล เอฟซี ของลีกมองโกเลียในปี 2009

“หลังหมดสัญญากับยาสูบ ผมมีโอกาสได้ไปเล่นในต่างประเทศ เริ่มจาก บังคลาเทศ, อูกานดา และมองโกเลีย”

“เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่คนไม่รู้จัก เวลาผมนำเรื่องจากที่นั่นมาเล่า ทุกคนก็ดูจะสนใจ”

“อย่างที่อูกานดา ที่นั่นเงินเดือนถูกมาก ถูกขนาดซื้อน้ำตาลไม่ได้ หรือที่บังคลาเทศ ที่นั่นฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยมที่สุด แต่เป็นคริกเก็ต สนามแข่งจึงเป็นสนามคริกเก็ต ที่เอามาทำสนามฟุตบอล”

“ยิ่งไปกว่านั้นที่บังคลาเทศ อาหารทุกอย่างเป็นแกงไปหมด ที่จริงตอนมาอยู่ไทย ตอนแรกผมกินเผ็ดไม่ได้นะ แต่พอกินไปเรื่อยๆก็เริ่มชิน จนตอนนี้ชอบอาหารไทยมาก พอไปอยู่บังคลาเทศ ทำให้ผมสามารถกินอาหารของที่นั่นได้ แต่กินทุกวันก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ (หัวเราะ)”

“แต่จริงๆแล้วที่นั่นเป็นประสบการณ์ที่ดีนะ”  

yutaka9
เพลงดาบที่ 3 ซามูไรนักสอน
แม้จะเป็นนักฟุตบอล แต่ในอีกส่วนลึกในจิตใจ ยูทากะ ก็รู้สึกชื่นชอบการเป็นโค้ชไม่แพ้กัน โดยก่อนจะย้ายมาเล่นในประเทศไทย เขาเคยมีประสบการณ์ผู้ฝึกสอนให้กับมัตสึไอโชนันไดเอสซี สโมสรฟุตบอลของเด็กประถมในจังหวัดคานางาวะ และในช่วงปี 2006-2009 ก็เคยรับหน้าที่โค้ชฟุตบอลให้กับสโมสร เอสโคลินา เอฟซี  

ทันทีที่แขวนสตั๊ด ยูทากะ จึงตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนฟุตบอลที่ประเทศไทยที่ชื่อว่า ยูทากะ ฟุตบอล อคาเดมี (Yutaka Football Academy) โดยรับสอนฟุตบอลให้แก่คนญี่ปุ่น รวมไปถึงผู้พิการและเด็กกำพร้า เพื่อตอบแทนที่ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยให้โอกาสเขา  

“ผมเองอยากเปิดอคาเดมีมาตั้งแต่ตอนเป็นนักฟุตบอล ด้วยความที่ผมเคยเป็นนักฟุตบอลที่ไทย แถมที่นี่มีกลุ่มของคนญี่ปุ่นมากมาย และหาผู้สนับสนุนไม่ยาก ผมจึงเลือกที่จะเปิดอคาเดมีที่ประเทศไทย”

“โรงเรียนของผมสอนทั้งคนญี่ปุ่น เด็กกำพร้า และผู้พิการ ตัวผมเป็นคนพิการ แต่ยังได้เป็นนักฟุตบอลของไทย ผมจึงอยากให้โอกาส, ความหวัง และความฝันแก่เด็กๆพิการเหล่านั้น เหมือนที่ผมเคยได้รับโอกาส”

yutaka17
กิจกรรมของ ยูทากะ ฟุตบอล อคาเดมี นอกจากจะเปิดสอนฟุตบอลที่สถาบันแล้ว พวกเขายังตระเวนไปสอนฟุตบอลให้แก่เด็กๆ และผู้พิการในหลายๆพื้นที่ ในชื่อ Yutaka Festival หรือ “เทศกาลยูทากะ” อีกด้วย

“ก่อนที่ผมจะเป็นนักฟุตบอลก็ได้รับความช่วยเหลือมาโดยตลอด ตัวผมเองจึงอยากช่วยเหลือคนพิการเหมือนกัน”

เพลงดาบที่ 4 ซามูไรนักสร้าง
ผ่านมาเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง ยูทากะ ฟุตบอล อคาเดมี โรงเรียนสอนฟุตบอลเพื่อสังคม มาวันนี้ ยูทากะ อยากจะขยับบทบาทของตัวเองไปอีกขั้น ด้วยการสร้างสโมสรฟุตซอล ที่เป็นพื้นที่สำหรับคนพิการได้แสดงออก

ยูทากะ เล่าว่าเขาตั้งใจจะสร้างสโมสร ที่มีทั้งคนปกติ และคนพิการร่วมเล่นด้วยกันได้ จึงได้มีการเปิดการคัดเลือกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา

yutaka6
“ผมอยากสร้างสโมสรที่มีกิจกรรมให้คนพิการได้เล่น ได้มีอะไรทำที่สโมสรแห่งนี้”

“พวกเขาที่กำลังเตะบอลวิ่งเล่นกันอยู่ตอนนี้ ถ้ามีพื้นที่ที่ทำให้เขาได้เล่น หรือแสดงฝีมือของตัวเองได้ พวกเขาก็จะเป็นตัวอย่างให้แก่เด็กๆ เด็กที่ได้เห็นก็จะมีความหวัง, มีความฝันและแรงบันดาลใจ”

“เพราะว่าเป็นคนพิการแล้วน่าสงสาร มันไม่ใช่ ผมไม่อยากให้คิดอย่างนั้น ถึงจะพิการเราก็เท่ได้ และยังรู้สึกเท่กว่าเสียอีก”  

ยูทากะ มองว่าเขาไม่อยากให้ความพิการมาเป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กๆตัดใจจากความฝัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าเน้นย้ำมาตลอด และมองว่าถ้าเราพยายาม เราก็สามารถไปถึงจุดนั้นได้  

“ถ้าบอกว่าแค่พิการแล้วยอมแพ้จากความฝัน ผมว่ามันไม่ถูก ไม่อยากให้คิดอย่างนั้น ไม่อยากให้ตัดใจ ตัวผมไม่มีแขน แต่ก็ยังได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ”

“ผมอยากเป็นแค่จุดเริ่มต้น อยากให้พวกเขาเห็นผม อยากให้เด็กพิการดูผม ผมอยากจะสร้างสโมสรในฐานะตัวส่งสาส์น เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ก้าวสู่ฝันต่อไป”

yutaka19
เพลงดาบที่ 5 จิตวิญญาณซามูไร
แม้ร่างกายอาจจะไม่สมบูรณ์เหมือนคนทั่วไป แต่ยูทากะ ก็ย้ำว่า เขาไม่อยากให้สังคมมองคนพิการว่าเป็นคนที่ต่างออกไป หรือน่าสงสาร เพราะพวกเขาก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“สำหรับคนพิการ ไม่ต้องไปคิดอะไรเกี่ยวกับเขา ผมอยากให้คิดว่าเขาเป็นคนเหมือนกัน”

“แต่ถ้าความพิการของพวกเขาอย่างหูหนวกหรือไม่มีแขน ทำให้พวกเขาทำอะไรบางอย่างไม่ได้ อยากให้คนในสังคมช่วยเหลือเขาในจุดนี้ แต่ส่วนอื่นๆ ก็อยากให้เข้าหาพวกเขาเหมือนคนปกติธรรมดา”  

“ผมรู้สึกว่าคนพิการ หรือไม่ใช่คนพิการ ทุกคนก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน การไม่มีแขนหรือหูหนวกก็เหมือนคนตัวเตี้ยหรือตัวสูง เป็นแค่ลักษณะร่างกาย ผมคิดว่ามันเหมือนกัน”

สิ่งที่เราสัมผัสได้จากการพูดคุยกับยูทากะในวันนี้คือคำว่า “ความฝัน” คือสิ่งสำคัญสำหรับเขามาก และมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาใช้มีความสุขจนถึงทุกวันนี้

“ไม่ว่าจะคนพิการหรือคนปกติ ผมอยากให้รู้ถึงความสำคัญของการมีฝัน อยากให้เห็นความสำคัญว่าเราต้องพยายามเพื่อให้ฝันเป็นจริง ตัวผมไม่มีแขน แต่ตัวผมมีฟุตบอล ผมมีความฝัน และผมก็มีความสุขกับชีวิตในตอนนี้มาก”  

yutaka20
“เพราะฉะนั้นแค่ทุกคนมีความฝัน และพยายามอย่างเต็มที่ในการใช้ชีวิตในทุกๆวัน แค่นั้นก็มีความสุขแล้ว”

นอกจากความฝันที่เขามีแล้ว สิ่งที่เราเห็นได้จากเขาคือปณิธานอันแรงกล้าที่น่านับถือในการอุทิศตัวเพื่อสังคม สะท้อนได้จากกิจกรรมต่างๆของเขาที่ผ่านมา และมันก็ตอกย้ำให้ชัดเจนมากขึ้นจากสิ่งที่เขากำลังจะทำต่อไปนี้

“ก่อนอื่น ผมจะทำสโมสรให้ประสบความสำเร็จก่อน แล้วให้พวกเขาดูผมเป็นตัวอย่าง ผมอยากจะบอกเด็กเหล่านี้ว่าจริงๆถึงจะพิการ แต่เราก็เป็นมืออาชีพได้”

“ผมอยากจะบอกเด็กๆว่า ถึงตัวผมจะไม่มีแขน แต่ผมก็ไม่เคยเอามาเป็นข้ออ้างว่าผมทำไม่ได้ ถึงผมไม่มีแขนซ้าย ผมก็จะเล่นฟุตบอลต่อไป”

“มันไม่ใช่ข้ออ้าง แต่ผมใช้มันเป็นเหตุผลในการเล่นฟุตบอล ผมอยากบอกคนพิการว่า ให้คิดว่าตัวเองแข็งแรง ให้มั่นใจในตัวเอง ให้เขาพยายาม มุ่งมั่น แล้วเขาจะมีความสุขมากกว่าคนทั่วไปอีก”

“อย่าคิดว่าเราไม่มีอะไร แต่ให้หาว่าเรามีอะไร ตัวผมไม่มีแขน แต่ผมมีขา ผมก็ยังเล่นฟุตบอลต่อไป ผมไม่อยากให้ยอมแพ้กับคำว่าพิการ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook