เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : ขุดจุดกำเนิด "ดรีมทีม" ...ปรากฏการณ์สะท้านโลก

เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : ขุดจุดกำเนิด "ดรีมทีม" ...ปรากฏการณ์สะท้านโลก

เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : ขุดจุดกำเนิด "ดรีมทีม" ...ปรากฏการณ์สะท้านโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้ฟุตบอลจะเป็นกีฬายอดนิยมอันดับ 1 ของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทว่าเมื่อพูดถึงมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่าง โอลิมปิก กีฬาลูกหนังกลับไม่ใคร่จะได้รับความสนใจเท่าใดนัก เนื่องจากกฎการแข่งขันที่ไม่เอื้อให้นักเตะระดับสุดยอดของโลกสามารถมาแข่งขันได้

 

แต่สำหรับบาสเกตบอล อีกหนึ่งกีฬาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก โอลิมปิกกลับกลายเป็นทัวร์นาเมนต์เกรดพรีเมี่ยมที่หลายคนเฝ้ารอยิ่งกว่าศึกชิงแชมป์โลกเสียอีก เพราะแฟนบาสทุกคนรู้ดีว่า นี่คือศึกที่ทุกชาติจะส่งตัวผู้เล่นที่ดีที่สุดลงสนามชิงเหรียญทอง

แน่นอน สหรัฐอเมริกา ชาติที่เก่งกาจกีฬานี้ที่สุดในโลก มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้เกิดกระแสดังกล่าว กับ “Dream Team” ทีมในฝันที่รวบรวมเหล่าสตาร์ของวงการมาอยู่ในสีเสื้อเดียวกัน แต่จุดเริ่มต้นของดรีมทีมในโอลิมปิกปี 1992 เกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุใดแทบทุกคนถึงยกให้ทีมชุดดังกล่าวคือ “ที่สุดตลอดกาล”?

การเปลี่ยนแปลงจากความพ่ายแพ้?

ย้อนกลับไปในโอลิมปิกปี 1988 ที่กรุงโซล สหรัฐอเมริกาถูกจัดวางให้เป็นทีมเต็งเช่นเคยเหมือนทุกครั้ง และสามารถคว้าชัยในรอบแรก กลุ่มบีได้ทั้ง 5 นัด เรียกได้ว่าไม่มีข้อกังขาใดๆ ทั้งสิ้น กับทีมบาสชายสหรัฐฯ ที่แม้ไม่สามารถใช้นักกีฬาอาชีพลงเล่นได้ตามกฎสมัยนั้นก็ไม่มีปัญหา เพราะด้วยฝีมือและทักษะของผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัยก็สามารถเอาชนะคู่แข่งได้อย่างไม่ยากเย็น ยิ่งไปกว่านั้น สมาชิกในทีมชุดดังกล่าวทั้ง เดวิด โรบินสัน, มิช ริชมอนด์, เฮอร์ซี่ ฮอว์กิ้นส์, แดนนี่ แมนนิ่ง และ แดน มาเจิร์ล ก็เติบใหญ่เป็นสตาร์ใน NBA ในเวลาต่อมากันทุกคน

 1

รอบแรกผ่านไป รอบ 8 ทีมสุดท้ายก็ชนะเปอร์โตริโก้ได้ ทว่าเมื่อเข้าสู่รอบรองชนะเลิศก็เกิดเหตุการณ์สุดช็อก สหรัฐอเมริกาแพ้ให้กับสหภาพโซเวียต … เรื่องดังกล่าวเหมือนเป็นการถูกตบหน้าฉาดใหญ่ แพ้ใครไม่แพ้ ไปแพ้ให้กับโซเวียต ศัตรูตัวฉกาจในแทบทุกด้านของยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ, การเมือง และกีฬา

โอลิมปิกที่กรุงโซลถือเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากปี 1972 ที่เมืองมิวนิค ซึ่งสหรัฐอเมริกาไม่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ (ส่วนปี 1980 ที่กรุงมอสโก สหรัฐฯ บอยคอต ไม่ส่งทีมลงแข่ง) นักกีฬากลับบ้านพร้อมกับความอัปยศที่ติดตัวมาแบบหาปี๊บคลุมหัวได้คงทำไปแล้ว โดย จอห์น ทอมป์สัน ยอดโค้ชจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ที่คุมทีมชุดนั้นเซ็งมาก จนให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ว่า “มันน่าผิดหวัง”

ด้วยความผิดหวังและอับอาย ทำให้สหรัฐอเมริกาอัดอั้นตันใจมาก และพร้อมที่จะเอาคืนในโอลิมปิกครั้งหน้าให้ชาวโลกเห็นว่า นี่คือชาติมหาอำนาจแห่งกีฬาบาสเกตบอลตัวจริง พวกเขาตั้งตารอให้โอลิมปิกครั้งต่อไปที่เมืองบาร์เซโลน่ามาถึงไวๆ เพื่อที่จะได้ล้างแค้นให้สาสม และโชคก็เข้าข้างพวกเขา เมื่อสหพันธ์บาสเกตบอลนานาชาติหรือ FIBA ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ...

ที่ผ่านมา แม้ FIBA กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหรือ IOC จะมีการเปลี่ยนแปลงกฎของบาสเกตบอลในโอลิมปิกหลายต่อหลายครั้ง รวมถึงการอนุญาตให้ผู้เล่นระดับอาชีพสามารถลงแข่งได้ ทว่ากลับมีเงื่อนตายที่สำคัญสำหรับสหรัฐฯ อยู่หนึ่งเรื่อง คือการห้ามผู้เล่นจาก NBA ลงแข่ง

นั่นทำให้ภาพรวมของบาสเกตบอลโอลิมปิก โดยเฉพาะยุค 1980 ดูแปลกๆ อยู่ไม่น้อย เมื่อชาติอื่นๆ สามารถส่งผู้เล่นที่ดีที่สุดของประเทศลงสนามได้ บราซิลมี ออสการ์ ชมิดท์ ซึ่งเล่นอยู่ในอิตาลี, ยูโกสลาเวีย (เซอร์เบียในปัจจุบัน) มี วลาด ดิวัค ที่เล่นกับ ปาร์ติซาน เบลเกรด แม้แต่สหภาพโซเวียต ก็มี อาร์วีดาส ซาโบนิส จาก ซัลกิริส หนึ่งในยอดทีมแห่งแดนหลังม่านเหล็ก (ทั้งผู้เล่นและสโมสรเปลี่ยนไปใช้สัญชาติลิธัวเนียหลังโซเวียตแตก) แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีลีกบาสเกตบอลที่ดีที่สุดในโลก กลับไม่สามารถใช้ผู้เล่นที่ดีที่สุดของพวกเขาได้

บอริส สแตนโควิช เลขาธิการ FIBA ชาวยูโกสลาเวีย (เซอร์เบียในปัจจุบัน) ในขณะนั้นรู้ดีว่า กฎดังกล่าวทำให้การแข่งขันโอลิมปิกไม่แฟร์กับทุกฝ่าย ยิ่งไปกว่านั้น อิทธิพลและความนิยมของ NBA ที่นับวันยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ หากบาสเกตบอลโอลิมปิกยังใช้กฎเดิม พวกเขาก็อาจสูญเสียความนิยมไป จึงผลักดันให้มีการเปลี่ยนกฎใหม่ อนุญาตให้ผู้เล่นใน NBA สามารถลงแข่งได้ จนที่สุดแล้วก็ได้รับมติเห็นชอบ เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยจะมีผลครั้งแรกในโอลิมปิกปี 1992

และนั่นก็ทำให้ดรีมทีมถือกำเนิดขึ้น…

การรวมทีมอันแสนวุ่นวาย

เมื่อทราบว่าสามารถใช้ผู้เล่น NBA แข่งโอลิมปิกได้ สหรัฐอเมริกาจึงได้เรียกบรรดาดาวดังในขณะนั้นมาร่วมทีม เพื่อหมายมั่นว่าจะต้องเอาเหรียญทองแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดให้ได้ ไมเคิ่ล จอร์แดน กับ สก็อตตี้ พิพเพ่น คู่หูจาก ชิคาโก้ บูลส์, คาร์ล มาโลน กับ จอห์น สต็อคตัน จาก ยูท่าห์ แจ๊ซ รวมถึง แมจิค จอห์นสัน กับ แลร์รี่ เบิร์ด จาก บอสตัน เซลติกส์ ถูกเรียกตัวเป็นชุดแรกๆ ตามมาด้วย เดวิด โรบินสัน หอคอยยักษ์แห่ง ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส สมาชิกชุดเหรียญทองแดงอัปยศในปี 1988 ซึ่งเจ้าตัวเปิดใจหลังทราบข่าวว่า “มันถึงเวลาที่ผมจะเอาคืนแล้ว” ตลอดจน ชาร์ลส์ บาร์คลี่ย์ ที่ตอนนั้นอยู่กับ ฟีนิกซ์ ซันส์, แพทริค ยูวิง จาก นิวยอร์ก นิกส์ และ คริส มัลลิน จาก โกลเด้นสเตท วอร์ริเออร์ส

 2

ผู้เล่นที่ถูกเรียกติดทีมชุดโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่าต่างมีไฟกันอย่างแรงกล้า อยากที่จะเล่นแบบไม่มีขอถอนตัวกันเลย อาจมีปัญหานิดหน่อยที่ในขณะนั้น แมจิค จอห์นสัน ได้ประกาศเลิกเล่นแล้ว จากการติดเชื้อ HIV แต่ก็ถูกเรียกตัวกลับมาเพื่อให้สมกับความยิ่งใหญ่ของทีมชุดนี้ ซึ่งก็ไม่มีใครคัดค้านรวมถึง IOC ด้วย เพราะแมจิคนั้นรักษาตัวเองดีมากจนแทบดูไม่ออกว่าเขามีเชื้อนี้อยู่เลย

ทว่าเมื่อสหรัฐอเมริกา ประกาศชื่อ 2 คนสุดท้ายของดรีมทีม ว่าเป็น ไคลย์ เดร็กซ์เลอร์ จาก พอร์ทแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส และ ไอเซย์ โธมัส จาก ดีทรอยต์ พิสตันส์ รอยร้าวก็มาทันใด เมื่อมีข่าวลือว่า ไมเคิ่ล จอร์แดน สตาร์เบอร์ 1 ของทีมคิดจะถอนตัว จากการที่ ไอเซย์ โธมัส ซึ่งเขาไม่ชอบหน้าติดทีมชุดนี้

จะว่าไป ทั้งไอเซย์และจอร์แดนต่างฝ่ายต่างก็เหม็นขี้หน้าซึ่งกันและกันอยู่แล้ว โดยชนวนเหตุสำคัญเกิดขึ้นตั้งแต่เกม NBA ออลสตาร์ฤดูกาล 1984-85 เมื่อไอเซย์ที่อาวุโสกว่า กลั่นแกล้งจอร์แดนแบบสารพัดทั้งๆ ที่อยู่ร่วมทีมสายตะวันออกเหมือนกัน เพื่อให้อีกฝ่ายรู้ซึ้งว่า NBA มันเขี้ยวแค่ไหน ยิ่งไปกว่านั้น ต้นสังกัดของทั้งคู่ยังเป็นคู่ปรับในรอบเพลย์ออฟ ซึ่งรูปเกมออกมาแบบดุเดือดเลือดสาดเสมอ (เนื่องจากยุคนั้น พิสตันส์ขึ้นชื่อเรื่องการเล่นแบบสกปรกจนได้รับฉายา Bad Boys) แถมไอเซย์ยังได้ไปแหย่กรรมการว่าให้จับตาดู “พระเจ้า” ให้ดี ซึ่งพระเจ้าในที่นี้ก็คือจอร์แดนนั่นเอง

จากเรื่องราวข้างต้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทั้งสองคนคือไม้เบื่อไม้เมากันอย่างแท้จริง เรียกได้ว่าที่ไหนมีจอร์แดนที่นั่นจะไม่มีไอเซย์ หรือที่ไหนมีไอเซย์ที่นั่นก็จะไม่มีจอร์แดน นั่นจึงเป็นข่าวลือว่า หาก ไอเซย์ โธมัส เข้าทีม ไมเคิ่ล จอร์แดน ก็จะถอนตัว ซึ่งแม้จะไม่มีการพูดและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ ร็อด ทอร์น ผู้ที่ช่วยคัดเลือกตัว กับ แจ็ค แม็คคัลลั่ม ผู้เขียนหนังสือ Dream Team : How Michael, Magic, Larry, Charles, and the Greatest Team of All Time Conquered the World and Changed the Game of Basketball Forever ก็ได้กล่าวตรงกันว่า “ไมเคิ่ลยืนยันที่จะไม่เล่นถ้าหากมี ไอเซย์ โธมัส” ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งพิพเพ่นเพื่อนรักและเพื่อนร่วมทีมคนอื่นๆ ก็คิดเช่นกัน ซึ่งแม็คคัลลั่มระบุว่า ไม่มีใครในทีมชุดนั้นที่ต้องการเล่นกับไอเซย์เลย ที่สุดแล้ว ไอเซย์ โธมัส ก็ฝืนกระแสไม่ไหว ยอมถอนตัวจากทีมชุดนี้ไป และทำให้เหรียญทองโอลิมปิกกับเขากลายเป็นเส้นขนานไปตลอดกาล

 3

ในการคัดเลือกผู้เล่นโอลิมปิกคนสุดท้าย คณะกรรมการโอลิมปิกของอเมริกาได้เลือก คริสเตียน เลทเนอร์ ยอดผู้เล่นจากมหาวิทยาลัยดุ๊กมาเสียบโควต้าของ ไอเซย์ โธมัส ท่ามกลางเสียงครหาว่าทำไมไม่เอา ชาคีล โอนีล หรือ แชค จากยูซีแอลเอ หรือ อลอนโซ่ มอร์นนิ่ง ที่เรียนอยู่ ม.จอร์จทาวน์ เข้ามา ทั้งๆ ที่ฟอร์มตอนนั้นของทั้งคู่โดดเด่นกว่า และดูดีมีภาษีกว่าเลทเนอร์เสียอีก ซึ่งทางสมาพันธ์บาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกาชี้แจงว่า เลทเนอร์นั้นเหมาะกับทีมที่สุดในขณะนั้นจากตำแหน่งที่เล่น (เลทเนอร์เล่นตำแหน่งเพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด ขณะที่อีกสองคนเป็นเซนเตอร์) รวมถึงความโดดเด่นที่พามหาวิทยาลัยดุ๊กคว้าแชมป์ NCAA บาสเกตบอลระดับมหาวิทยาลัยของประเทศ รวมถึงยังเป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมในขณะนั้นอีกด้วย

แม้การรวบรวมทีมชาติชุดประวัติศาสตร์นี้จะเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงติติง หรือคำแนะนำว่าควรเอาผู้เล่นคนนี้ดีกว่าอีกคน หรือควรให้คนนี้ติดมากกว่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า 12 คนในทีมที่ประกอบไปด้วย คริสเตียน เลทเนอร์, เดวิด โรบินสัน, แพทริค ยูวิง, แลร์รี่ เบิร์ด, สก็อตตี้ พิพเพ่น, ไมเคิ่ล จอร์แดน, ไคลย์ เดร็กซ์เลอร์, คาร์ล มาโลน, จอห์น สต็อคตัน, คริส มัลลิน, ชาร์ลส์ บาร์คลี่ย์ และ แมจิค จอห์นสัน คือสุดยอดผู้เล่นของประเทศอย่างแท้จริง ไม่เพียงเท่านั้น ทีมโค้ชก็ยังสุดยอด นำโดย ชัค เดลี่ เฮดโค้ชจาก ดีทรอยต์ พิสตันส์ และผู้ช่วยอย่าง ไมค์ ชูเชฟสกี้ หรือโค้ชเค จาก ม.ดุ๊ก, พีเจ คาเลซิโม่ จาก ม.เซตัน ฮอลล์ และ เลนนี่ วิลกิ้นส์ จาก คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส มันเลยทำให้กลายเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกาอย่างไม่ต้องสงสัย และนี่คือ “Dream Team” หรือแปลความหมายตรงตัวว่า “ทีมในฝัน” ที่เอาสตาร์ระดับตำนานมาอยู่ในทีมเดียวกัน

ดรีมทีมฟีเวอร์

เมื่อมีการประกาศว่า สหรัฐอเมริกาจะใช้ผู้เล่นจาก NBA ในการแข่งขันโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่า ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนและยกระดับวงการบาสเกตบอลทันที การที่ทุกคนรู้ข่าวว่าไมเคิ่ล จอร์แดน จะมาเล่นโอลิมปิก (อันที่จริง จอร์แดนเคยเล่นโอลิมปิกแล้วเมื่อปี 1984 แต่ตอนนั้นเขายังเรียนอยู่ที่ ม.นอร์ธ แคโรไลน่า) แมจิค จะมาเยือนสเปน และยอดผู้เล่นดรีมทีมจะมาแข่งแบบเต็มที่ นั่นทำให้บัตรเข้าชมการแข่งขันในวันที่ทีมบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกาลงแข่งขายหมดเกลี้ยงทุกนัด รวมถึงยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางทุกสื่อทั่วโลก นั่นทำให้จุดสนใจของกีฬาบาสเกตบอล และ NBA ถูกยกระดับไปอีกขึ้น สื่อบางรายยอมรับเลยว่า “เรารู้กันอยู่แล้วว่าดรีมทีมจะต้องได้เหรียญทอง แต่เราก็จะมาดูการเล่นของผู้เล่นที่ดีที่สุดของโลกทั้ง 12 คน”

 4

“ผมมองไปทางขวา ผมก็เจอ ไมเคิ่ล จอร์แดน มองไปทางซ้ายผมก็เจอ ชาร์ลส์ บาร์คลี่ย์ ไม่ก็ แลร์รี่ เบิร์ด ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะส่งให้ใครดี” แมจิค จอห์นสัน กล่าวติดตลกในตอนให้สัมภาษณ์สื่อ แม้ในตอนนั้นเบิร์ดจะมีอาการบาดเจ็บ จนหลายคนคิดว่าควรเปลี่ยนให้คนอื่นนั้นมาแทน แต่สมาพันธ์ก็ไม่ได้สนใจในเรื่องนี้มากมายพร้อมกับบอกสั้นๆ ว่า “นี่คือผู้เล่นระดับตำนาน แลร์รี่ เบิร์ด”

ในช่วงการเก็บตัว แม้บรรยากาศจะไม่เคร่งเครียดเท่าไหร่แต่ทุกคนจริงจังมาก แมจิค จอห์นสัน ยอมรับว่า “ผมไม่เคยเห็นการซ้อมที่มันดูจริงจังขนาดนี้มาก่อนเลย เมื่อคุณแบ่งทั้งสองทีมออก มันคือออลสตาร์ดีๆ นี่เอง และเราได้เห็นไมค์นั้นเอาจริงจนน่ากลัวขึ้นมากเลย” ขณะเดียวกัน โค้ช ชัค เดลี่ ก็ไม่ได้เข้มงวดมากเป็นพิเศษ ถึงขนาดไปออกรอบตีกอล์ฟกับจอร์แดน ลูกทีมของเขาอย่างสบายใจ “มันเป็นการผ่อนคลายของพวกเรา หลังจากที่ซ้อมอย่างหนัก”

กระแสของดรีมทีมนั้นแรงมาก เมื่อทุกคนเดินทางถึงเมื่อบาร์เซโลน่า ทุกๆ คนในทีมต่างตกตะลึง ไม่มีใครคิดว่าแฟนๆ จะให้การต้อนรับเยอะขนาดนี้ หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ NBA ไบรอันท์ แมคอินไทร์ กล่าวติดตลกถึงช่วงเวลานั้นว่า “ผมไม่เคยเดินทางกับวงดนตรีร็อค แต่ในการเดินทางไปไหนมาไหนกับดรีมทีมมันให้ความรู้สึกว่าพวกเราคือ เดอะ บีเทิลส์ จริงๆ มีคนต้อนรับและรอเราเยอะมาก” ซึ่งทำเอา ไมเคิ่ล จอร์แดน ปลื้มสุดๆ “เราอาจเล่นอยู่แค่ในประเทศของเรา แต่เมื่อออกมานอกประเทศผมไม่คิดเลยว่าคนจะให้ความสนใจพวกเราเยอะขนาดนี้ มันมากมายจริงๆ และยอดเยี่ยมมากๆ เลย”

 5

กระแสฟีเวอร์รุนแรงขนาดไหน? ก็ลองคิดดูว่า แม้แต่ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซึ่งเป็นที่พักของผู้เล่นชุดนี้ ยังมีแฟนๆ มารอหน้าที่พักเต็มไปหมด จน ชาร์ลส์ บาร์คลี่ย์ ที่ตั้งใจจะเดินเล่นในเมืองคนเดียวต้องเปลี่ยนความคิดเลย “คนเยอะมาก ผมไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนตามที่ตั้งใจได้แน่” แม้แต่ ไมเคิ่ล จอร์แดน ก็ต้องพับแผนออกรอบหวดวงสวิงในพริบตาเมื่อเห็นบรรดาแฟนๆ ที่มากันเกินคาด ไม่เพียงแค่แฟนๆ เท่านั้น แม้แต่นักกีฬาที่มาแข่งขันโอลิมปิกต่างก็อยากที่จะมาดูดรีมทีมสักนัดนึงให้ได้เช่นเดียวกัน   

ยิ่งทีมบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจไม่พักในหมู่บ้านนักกีฬาเพื่อความปลอดภัยและส่วนตัว ฝ่ายจัดการแข่งขันและสมาพันธ์ฯ ก็ยิ่งต้องดูแลนักบาสยิ่งกว่าแขก VIP การเข้ามาในโรงแรมแอมบาสเดอร์ซึ่งเป็นที่พักต้องใช้บัตรผ่านประตูเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น รวมถึงยังมีการ์ดอีกนับสิบคนที่เจ้าภาพส่งไปอยู่บนดาดฟ้าโรงแรม เพื่อดูความปลอดภัยในบริเวณรอบๆ โรงแรม ยังไม่รวมการ์ดที่เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าในการคุ้มกัน เนื่องจากในตอนนั้นมีข่าวลือว่าอาจจะมีการก่อการร้ายกับดรีมทีมด้วย ซึ่งบาร์คลี่ย์กล่าวว่า “เหมือนเรากำลังถูกแอบมองตลอดเวลา แต่มันก็ปลอดภัยดี”

สู่ปรากฎการณ์

ในการแข่งขันนัดแรกกับแองโกล่า ดรีมทีมนั้นชนะไปได้อย่างไม่ยากเย็น 116-48 ช่องว่างคะแนนที่ชนะคือ 68 แต้ม แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าไหร่ แน่นอน ทั้งสองทีมต่างเล่นเต็มที่ แต่เมื่อจบการแข่งขันและผลคือแองโกล่าแพ้ ความเสียใจที่ทีมแพ้นั้นมีเพียงแค่ไม่นาน เพราะหลังจากนั้นผู้เล่นของแองโกล่าต่างรอที่จะถ่ายรูปและขอลายเซ็นกับดรีมทีมกันอย่างถ้วนหน้า “เราเสียใจที่แพ้ แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าดรีมทีมคือของจริง ผมปลื้มมากที่ได้เจอและแข่งกับพวกเขาในสนาม และถ้าได้ลายเซ็นด้วยจะดีมาก” ฌอง-ฌักส์ คอนไซเซา มือหนึ่งทีมชาติแองโกล่ากล่าว  

 6

ปรากฏการณ์ของดรีมทีมไม่เพียงแค่นั้น เรียกได้ว่าในทุกๆ นัดหลังจากแข่งกับทีมอื่นๆ อาทิ โครเอเชีย, เยอรมนี, บราซิล และเจ้าภาพ สเปน หลังเกมทุกๆ ทีมจะต้องขอมาถ่ายรูปกับดรีมทีมแทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นจอร์แดน, แมจิค, พิพเพ่น หรือคนอื่นๆ “มันเป็นอะไรที่น่าปลื้มมาก ดรีมทีมมาเยือนบ้านเรา และเล่นกับเรา มันเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เจอเขา” อันเดรส ฆิเมเนซ ผู้เล่นของสเปนในชุดเจอกับดรีมทีมกล่าว ซึ่งสื่อของสเปนและสื่อที่มาทำข่าวของงานโอลิมปิกคราวนี้ต่างก็ทราบดีว่า ดรีมทีมนั้นมีมากกว่าความเก่ง “พวกเขายิ้มแย้ม และถ่ายรูปกับผู้เล่นหลังแข่งเสร็จ แจกลายเซ็นให้คู่แข่ง เสมือนเขาเป็นดาราเลยก็ว่าได้”

ในโอลิมปิกที่บาร์เซโลน่า ดรีมทีมชนะทุกทีมและชนะด้วยสกอร์ที่ห่างกันเฉลี่ยในแต่ละนัดถึง 43.8 แต้ม ทำแต้มเฉลี่ยถึง 117.3 แต้มต่อนัด และแม้พวกเขาไม่อาจล้างแค้นสหภาพโซเวียตได้อย่างใจหวัง จากการที่โซเวียตแตกใน 1 ปีก่อนหน้า (ซึ่งสหรัฐฯ ก็ไล่ตบทีมอดีตโซเวียตแทน) แต่นัดสุดท้ายที่สหรัฐฯ คว้าเหรียญทองจากชัยชนะเหนือ โครเอเชีย 117-85 ก็ได้สร้างเหตุการณ์แห่งความทรงจำ เมื่อมีผู้ชมเข้ามาเกินความจุสนาม และมีอีกมากมายที่ไม่สามารถที่จะเข้าชมสนามได้ ส่งผลให้เหตุการณ์หลังพิธีมอบเหรียญกลายเป็นความโกลาหลเลยก็ว่าได้ เมื่อผู้เล่น, แฟนๆ รวมถึงนักกีฬาอื่นๆ ต่างอยากจะเข้ามาหาดรีมทีมทั้งเพื่อถ่ายรูป และขอลายเซ็น เกิดเป็นปรากฏการณ์ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเลยก็ว่าได้  “มันเป็นปรากฏการณ์ที่ยอดเยี่ยมมากๆ ทุกๆ คนต่างเข้ามาหาเรา ผมประทับใจมากๆ” แมจิค จอห์นสัน กัปตันทีมชุดดรีมทีมกล่าว

ขณะที่ ชัค เดลี่ เฮดโค้ชของทีมก็เป็นปลื้มแบบสุดๆ “มันเหมือนกับการเอา เอลวิส เพรสลีย์ และ เดอะ บีเทิลส์ มาเล่นคอนเสิร์ตด้วยกัน ผมภูมิใจมากที่ได้คุมทีมชุดนี้ มันไม่มีคำบรรยายใดๆ เลย ผู้เล่นที่มาแข่งกับเราจะจดจำว่าได้เล่นกับเราอย่างเต็มที่ เขาจะจดจำว่าได้เล่นกับ ไมเคิ่ล จอร์แดน, แมจิค และ แลร์รี่ เบิร์ด และจะเอาไปบอกลูกหลานว่าได้แข่งกับสุดยอดทีมอย่างดรีมทีม”

 7

การรวมเอายอดผู้เล่น 12 คนที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลกขณะนั้นมารวมกัน มันเป็นการสร้างความน่าสนใจ เป็นการยกระดับกีฬาบาสเกตบอล และทำให้โลกรู้ว่าลีก NBA นั้นเป็นลีกที่ยิ่งใหญ่ และมีอิทธิพลขนาดไหน แรงกระเพื่อมนอกจากการจำหน่ายตั๋ว, โฆษณา ยังส่งผลไปถึงอุปกรณ์ที่นักกีฬาชุดดังกล่าวใส่ ซึ่งขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

และหากจะหาเพียงคำเดียวที่เหมาะสมที่จะบรรยายถึง “ดรีมทีม” ก็คงเป็นสิ่งที่ออกมาจากปากของ ไมเคิ่ล จอร์แดน เมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงเมืองบาร์เซโลน่าว่าทุกอย่างนั้นคือ “ปรากฏการณ์” อย่างแท้จริง

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ เล่าผ่านแฟนพันธุ์แท้ NBA : ขุดจุดกำเนิด "ดรีมทีม" ...ปรากฏการณ์สะท้านโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook