อดีตโด่งดัง ปัจจุบันอยู่ที่ไหน? : มองชาตินิยมอเมริกันเกมส์ผ่านปรากฏการณ์ "Linsanity"

อดีตโด่งดัง ปัจจุบันอยู่ที่ไหน? : มองชาตินิยมอเมริกันเกมส์ผ่านปรากฏการณ์ "Linsanity"

อดีตโด่งดัง ปัจจุบันอยู่ที่ไหน? : มองชาตินิยมอเมริกันเกมส์ผ่านปรากฏการณ์ "Linsanity"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่รู้ว่าคุณๆ ยังจดจำปรากฏการณ์ “Linsanity” ได้อยู่ไหม? ที่ เจเรมี่ ลิน นักบาสเกตบอลชาวอเมริกันเชื้อสายไต้หวัน เปลี่ยนสถานภาพจากผู้เล่นสำรองที่ไม่มีใครจดจำ มาเป็นดาวดังของวงการบาสเกตบอล NBA เพียงชั่วข้ามคืน กับผลงานที่ช่วยให้ต้นสังกัดในขณะนั้นอย่าง นิวยอร์ก นิกส์ ฟอร์มดีขึ้นแบบพลิกฝ่ามือ

แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ กระแสนิยมดังกล่าวได้จางหายไปนานแล้ว เพราะทุกวันนี้ดูจะไม่มีใครพูดถึงเขาด้วยความชื่นชมและตื่นเต้นเหมือนในอดีต หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ทุกคน “หายเห่อ” ไปแล้ว

เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น ดูเหมือนจะทำให้เราเข้าใจว่า แม้ในประเทศศิวิไลซ์เช่นสหรัฐอเมริกา ก็ยังมีความรู้สึกต่อต้านในเชื้อชาติ สีผิวที่แตกต่างเหมือนเดิม แต่คำถามคือ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือว่ามีสาเหตุอื่นที่ทำให้กระแสความนิยมของเขา รวมถึงนักบาสเกตบอลเชื้อสายเอเชียไม่สามารถคงอยู่ได้นานกัน?

ซินเดอเรลล่าแห่ง NBA
ชีวิตของ เจเรมี่ ลิน หรือชื่อจีน หลิน ซู-เถา จะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรกับซินเดอเรลล่าแห่ง NBA ผู้ที่เคยถูกผู้คนในวงการกีฬามากมายหมางเมิน เพราะแม้ตัวเขาจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง ฮาร์วาร์ด แต่คนในวงการอเมริกันเกมส์ต่างทราบดีว่า ที่นั่นไม่ใช่สถาบันที่ปั้นนักกีฬาระดับแนวหน้า แต่โดดเด่นด้านวิชาการมากกว่า

เรื่องดังกล่าวถูกตอกย้ำผ่านเส้นทางอาชีพในช่วงเริ่มแรก กับการเข้าสู่ NBA แบบไม่ผ่านการดราฟท์, ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่าง ดีลีก (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อตามสปอนเซอร์เป็น จีลีก) หรือลีกรองที่เอาไว้พัฒนาทักษะผู้เล่น กับ NBA อยู่เป็นระยะ จึงไม่แปลกที่เวลาบนม้านั่งสำรองกับทีมใน NBA อย่าง โกลเด้นสเตท วอร์ริเออร์ส และ นิวยอร์ก นิกส์ ระหว่างปี 2010-11 จะมีมากกว่าเวลาในสนามเสียอีก

ทว่าทุกสิ่งก็เปลี่ยนไปในช่วงต้นปี 2012 เมื่อช่วงเวลาดังกล่าว นิกส์ ต้นสังกัดในขณะนั้นมีผลงานสุดโหลยโท่ยเกินห้ามใจแม้จะมีสตาร์ดังอย่าง คาร์เมโล่ แอนโธนี่ นำทัพ บวกกับอาการบาดเจ็บของเหล่าผู้เล่น ที่สุดแล้ว ไมค์ แดนโทนี่ เฮดโค้ชของทีมต้องตัดสินใจเรียกใช้งานลินจนได้

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เมื่อลินสามารถนำนิกส์คว้าชัยชนะ 7 นัดติดแบบสุดเหลือเชื่อ เกิดเป็นกระแสความคลั่งไคล้แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในชื่อ “Linsanity” ที่เป็นการนำนามสกุล Lin ของเขามาบวกกับ Insanity จนกลายเป็นคำใหม่แปลได้ว่า “ความคลั่งใคล้ใน เจเรมี่ ลิน”

lin2
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้วงการอเมริกันเกมส์หันมาให้ความสนใจกับ “นักกีฬานอกสายตา” เช่นเขาทันที สปอตไลท์จากสื่อและแฟนกีฬาต่างหันไปส่องที่อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชนิดสุดเจิดจ้า ลินได้ขึ้นหน้าปกนิตยสาร TIME, มีภาพยนตร์สารคดีเป็นของตัวเอง (ในปี 2013) รวมถึงเดินสายออกสื่อชนิดแทบลืมหายใจ

แน่นอน เรื่องราวของ “ตัวรอง” หรือ “Underdog” ที่สามารถพลิกชีวิตจากสถานการณ์ย่ำแย่กลับมาประสบความสำเร็จได้ คือเรื่องที่ชาวอเมริกันโปรดปรานอยู่แล้ว แต่เชื้อสายของลินเองก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยที่ทำให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจ เพราะที่ผ่านมาแทบไม่มีนักกีฬาเชื้อสายเอเชียคนใดที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ได้มากเท่าเขา ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติอเมริกันแต่เชื้อสายเอเชียอย่าง วาตารุ มิซากะ นักบาสเกตบอล NBA เชื้อสายเอเชียคนแรกซึ่งมีเชื้อญี่ปุ่น, เรย์มอนด์ ทาวน์เซนด์ นักบาสเกตบอลชาวอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ชาวเอเชียแท้ๆ ส่วนใหญ่ล้วนผ่านมาแล้วก็หายไปแบบเงียบๆ เห็นจะมีแค่ เหยา หมิง คนเดียวเท่านั้นที่สามารถก้าวขึ้นสู่การเป็นดาวดังค้างฟ้าได้ ซึ่งแน่นอนว่า สภาพสังคมยุคใหม่ที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลมากขึ้น มีส่วนช่วยสำคัญให้เรื่องราวของเขาเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้นกว่าแต่กัน

ถึงกระนั้น อายุขัยของกระแส Linsanity ก็สั้นเหลือเกิน เพราะเพียงไม่กี่ปีหลังจากนั้น กระแสของเจ้าตัวก็ค่อยๆ จางหายไปกับกาลเวลา จนผู้คนในวงการ NBA ดูจะเมินเฉยความเป็นนักกีฬาเชื้อสายเอเชียอย่างสิ้นเชิง กระแสทุกอย่างสลายไปราวกับไม่เคยมีเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้น

คำถามก็คือ กระแสที่จางหายเกิดขึ้นจากอะไร จะเป็นเพราะการที่คนอื่นดูแคลนในสายเลือดที่ถือกำเนิดมา, ความโชคร้าย หรือเป็นเหตุผลง่ายๆ คือยัง “ดีไม่พอ” สำหรับลีกที่เขี้ยวที่สุดในโลกลีกนี้กัน?

lin3
สถิตสะท้อนค่านิยม?
อันที่จริง ภาวะขาดแคลนนักกีฬาเชื้อสายเอเชียไม่ได้เกิดแค่ใน NBA เท่านั้น แต่ลีกกีฬายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง อเมริกันฟุตบอล NFL, เบสบอล MLB และฮอกกี้น้ำแข็ง NHL ก็มีสถิติที่บ่งชี้ไปในทางเดียวกัน

โดยหากวัดจากสถิตินักศึกษาที่เป็นนักกีฬาในรั้วมหาวิทยาลัยพบว่า เบสบอล มีนักกีฬาปัญญาชนเชื้อสายเอเชียเพียง 0.9% ซึ่งถือว่ามากที่สุดแล้ว รองลงมาคือฮอกกี้น้ำแข็ง 0.67%, บาสเกตบอล 0.57% และอเมริกันฟุตบอลเพียง 0.53% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ เมื่อเทียบกันกับจำนวนประชากรชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในสหรัฐอเมริกาปี 2017 ซึ่งมีถึง 5.8%

เหตุใดลีกกีฬาเหล่านี้จึงแทบไม่มีนักกีฬาเชื้อชาติเอเชียอยู่เลย? แน่นอนว่าสาเหตุหนึ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการพูดถึงคือ ศักยภาพด้านร่างกาย เพราะถึงนักกีฬาลูกครึ่งหลายคนจะสูงใหญ่ทัดเทียมกันกับนักกีฬาอเมริกันผิวขาว, เชื้อสายแอฟริกัน หรือฮิสแปนิค หากแต่ความแข็งแกร่งนั้นก็ยังไม่เทียบเทียมอยู่ดี

ขณะเดียวกัน พื้นฐานครอบครัวของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพที่ลี้ภัยมาจากซีกโลกตะวันออก ไม่ว่าจะด้วยปัญหาการเมือง สังคมหรือสงครามใดๆ แต่การที่พวกเขาข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา ก็สะท้อนถึงการได้รับโอกาสมากกว่าประชาชนทั่วไปในประเทศตัวเองอยู่ดี

lin4
ริชาร์ด แล็ปชิค นักสิทธิมนุษยชนเคยวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ว่า “เมื่อวัดจากการได้โอกาสลี้ภัยมาจากประเทศบ้านเกิด ชาวเอเชียที่อพยพมาจึงมักเป็นชนชั้นกลางที่ได้รับการเลี้ยงดูมาดี มีการศึกษา ทำให้ไม่แปลกที่พวกเขาจะเชื่อมั่นอย่างฝังหัวว่า ลูกหลานควรได้รับการศึกษาไม่ด้อย หรือให้ดีก็ต้องมากกว่าพวกเขา”

สิ่งที่แล็ปชิคกล่าว ถือเป็นภาพสะท้อนความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม จากค่านิยมของครอบครัวเอเชียที่มักให้บุตรหลานเอาวิชาการเป็นหลัก กีฬาเป็นเรื่องรองหรือเล่นเพื่อความผ่อนคลายเท่านั้น เพราะแม้แต่ลินเองก็จบมาจากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ฮาร์วาร์ด ขณะที่ครอบครัวชาวอเมริกันหลายครอบครัว ไม่มีปัญหาหากลูกหลานของพวกเขาจะหมกมุ่นกับกีฬามากกว่าตำราเรียน

ทัศนคติเช่นนี้ได้กลายเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่นำมาซึ่งความแตกต่าง เพราะแม้คนเชื้อสายเอเชียจะสนับสนุนให้ลูกหลานได้เล่นกีฬา แต่ก็เพื่อความผ่อนคลายเป็นหลัก หรือไม่ก็เล่นเพื่อผลประโยชน์ทางการศึกษา แต่เยาวชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ถูกฝึกสอนว่ากีฬาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ยิ่งหากมาจากครอบครัวที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบทางด้านการเงิน พวกเขาก็ยิ่งต้องทุ่มสุดตัว จากการที่เห็นตัวอย่างมาแล้วนักต่อนักว่า การเป็นนักกีฬาที่มีชื่อเสียง สามารถพลิกชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นได้

lin5
เหยียดเชื้อชาติยังมีอยู่?
เรื่องราวที่กล่าวมา จึงไม่แปลกที่เมื่อการคัดตัวนักกีฬามาถึง เด็กอเมริกันเชื้อสายอื่นๆ จะทำผลงานได้ดีกว่าเด็กเชื้อสายเอเชียอย่างเห็นได้ชัด เมื่อลักษณะทางกายภาพ, แรงจูงใจ ตลอดจนเดิมพันชีวิตที่แตกต่าง ส่งผลให้เยาวชนต่างเชื้อสายมีความพยายามที่ต่างกันออกไปในสายตาใครหลายคน

ทว่าสิ่งดังกล่าว ก็ได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญของนักกีฬาเชื้อสายเอเชียในการเติบใหญ่บนเส้นทางอเมริกันเกมส์ไปด้วย ซึ่งแม้แต่ตัวลินเองก็ยังประสบกับตัวเช่นกัน เพราะในสมัยเรียนชั้นไฮสคูล เจ้าตัวถือเป็นนักบาสเกตบอลฝีมือดีของโรงเรียน พาโล อัลโต แถมยังนำสถาบันของตัวเองไปคว้าแชมป์รัฐแคลิฟอร์เนียได้อีกด้วย

ผลงานดังกล่าวทำให้ลินวาดฝันว่า จะได้เข้าไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยดังๆ ที่มีชื่อเสียงด้านกีฬา ไม่ว่าจะเป็น สแตนฟอร์ด, ยูซีเบิร์กลี่ย์ รวมถึง ยูซีแอลเอ แต่ที่สุดแล้ว มหาวิทยาลัยที่กล่าวชื่อมาข้างต้นก็ไม่ได้ยื่นทุนการศึกษาให้ จนเจ้าตัวต้องเดินทางข้ามฝั่งประเทศไปเรียนที่ ฮาร์วาร์ด นั่นเอง

lin6
เมื่อ ชาร์ลี โรส พิธีกรรายการข่าวชื่อดังอย่าง 60 Minutes ถามลินถึงเรื่องดังกล่าว เจ้าตัวก็ตอบว่า “ครับ สิ่งหนึ่งที่มันแจ่มชัดในหัวของผมคือ ไอ้เรื่องที่ผมเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชียนี่แหละ ซึ่งแม้จะไม่อยากคิด แต่ผมว่ามันน่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญของผมด้วย … มันเหมือนเป็นภาพจำ (Stereotypes) น่ะ”

สิ่งที่ประสบกับตัวเองทำให้ลินเชื่อว่า หากเขาเป็นคนอเมริกันเชื้อสายอื่นๆ ไม่ว่าจะผิวขาว, เชื้อสายแอฟริกัน หรือฮิสแปนิค คงจะได้เข้าเรียนกับสถาบันในฝันอย่าง สแตนฟอร์ด ไปแล้ว

เรื่องดังกล่าวยังได้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงการดราฟท์เข้า NBA เมื่อปี 2010 ซึ่งไม่มีทีมใดเลือกลินไปร่วมทีมเลย จนต้องเผชิญกับเส้นทางอาชีพที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เรื่องดังกล่าว เดวิด สเติร์น คอมมิสชันเนอร์ของ NBA ในสมัยนั้นเผยถึงเสียงครหาถึงการเหยียดเชื้อชาติใน NBA ว่า

“คือถ้ามองด้วยคอมมอนเซนส์ ผมเชื่อว่าหลายคนคิดว่ามันเป็นเรื่องจริง แต่นั่นแหละครับ เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเขาถูกมองข้ามด้วยเหตุผลใด จะด้วยเรื่องที่เขาเรียนฮาร์วาร์ด (หัวเราะ) หรือว่าเป็นคนเอเชียรึเปล่า? แต่สิ่งหนึ่งที่ผมบอกได้ก็คือ เส้นทางของเขามันไม่เหมือนกับนักบาสเกตบอลของ NBA โดยทั่วไปจริงๆ”

lin7
ทุกความเชื่อมีข้อยกเว้น
ภาพที่เราเห็นโดยทั่วไปในลีกกีฬาอาชีพของสหรัฐอเมริกา จนกลายเป็น “ภาพแทน” ของวงการอเมริกันเกมส์ คือการนักกีฬาผิวขาว รวมถึงกลุ่มเชื้อสายแอฟริกันและฮิสแปนิค ครองความยิ่งใหญ่ในวงการอย่างต่อเนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ทว่าก็อย่างที่เราทราบกันดี สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการต่อสู้เพื่อสิทธิอันเท่าเทียมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไม่เว้นแม้แต่ในวงการกีฬา ที่นักกีฬาเชื้อชาติและสีผิวต่างๆ สร้างผลงานและเรื่องราวมากมายจนเป็นที่ยอมรับของวงการและสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น นักกีฬาเชื้อสายเอเชียหลายคนในหลากวงการ ก็เคยได้รับการเชิดชูให้เป็นไอดอล เป็นฮีโร่ของคนอเมริกันทั้งชาติจากผลงานความสำเร็จต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไทเกอร์ วูดส์ อดีตโปรกอล์ฟหมายเลข 1 ของโลกผู้มีเชื้อสายไทย ซึ่งในช่วงพีคๆ ของเขา ไม่ว่าใครต่างก็พูดถึง และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ จำนวนไม่น้อยหันมาเล่นกอล์ฟ รวมถึง โคลอี้ คิม นักกีฬาสโนว์บอร์ดเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ซึ่งมีพ่อแม่เป็นชาวเกาหลีใต้

lin8
แน่นอน คำถามย่อมต้องมีว่า วงการอื่นยังมีฮีโร่นักกีฬาเชื้อสายเอเชียได้ แล้วเหตุใดถึงไม่มีฮีโร่นักกีฬาเชื้อสายเอเชียใน 4 ลีกอาชีพใหญ่ของประเทศบ้างเลย? คำตอบก็คือ นักกีฬาอเมริกันเชื้อสายเอเชียส่วนใหญ่ ไม่สามารถทำผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในสนามได้ ไม่ว่าจะเป็น วาตารุ มิซากะ หรือ เรย์มอนด์ ทาวน์เซนด์

แต่ขณะเดียวกัน ก็มีนักกีฬาอเมริกันเชื้อสายเอเชียอยู่ไม่น้อยที่สร้างผลงานจนเป็นที่ยอมรับ ทว่าคนที่ไม่ได้ติดตามอย่างจริงจังอาจไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้สะท้อนกรรมพันธุ์เอเชียผ่านหน้าตาและสีผิวอย่างชัดเจน ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ ไฮนส์ วอร์ด ตำนานปีกนอก พิทส์เบิร์ก สตีลเลอร์ส เจ้าของแชมป์ซูเปอร์โบวล์ 2 สมัย ซึ่งแม้เขาจะมีสีผิวตามเชื้อสายแอฟริกันของคุณพ่อ แต่แม่ของเขาคือชาวเกาหลีใต้ รวมถึง จอห์นนี่ เดม่อน นักเบสบอลเจ้าของแชมป์เวิลด์ซีรี่ส์ 2 สมัย ซึ่งมีแม่เป็นคนไทยที่อพยพมาอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่มีหน้าตาไปทางพ่อมากกว่า

เมื่อย้อนกลับไปที่เรื่องราวของลิน จริงอยู่ หน้าตาและสีผิวของเขามีส่วนสำคัญที่ทำให้ปรากฏการณ์ Linsanity โด่งดังใหญ่โต เมื่อคนหน้าตี๋ ผิวเหลือง ไม่ได้อยู่ใน Stereotypes ซึ่งคนอเมริกันมองว่าเก่งเรื่องกีฬา วงการ NBA, สื่อ และแฟนบาสเกตบอลจึงตื่นเต้นกับการโผล่ขึ้นมาฉายแสงของเขามาก

lin9
แต่ที่สุดแล้ว วงการกีฬาก็ต้องตัดสินกันที่ฝีมือ ซึ่งหากลินไม่เก่งจริง ไม่สามารถช่วยทีมคว้าชัยชนะได้จริง ก็คงไม่มีใครตื่นเต้นกับผู้ชายคนนี้ ความโด่งดังของปรากฏการณ์ Linsanity อาจถูกเคลือบด้วยความตื่นเต้นที่จู่ๆ ก็มีนักกีฬาเชื้อสายเอเชียที่สร้างผลงานโดดเด่นต่างจากความเชื่อที่ฝังหัวคนทั่วไปว่าพวกหน้าตี๋ผิวเหลืองไม่เอาไหนในเรื่องนี้ ทว่าอีกสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ผลงานของหนุ่มเชื้อสายไต้หวันคนนี้ โดดเด่นควรค่าให้พูดถึงจริงๆ เช่นกัน

ยากกว่าโด่งดัง คือรักษามันให้คงอยู่
หลายคนมักพูดว่า “การจะเป็นแชมป์นั้นยาก แต่การรักษาแชมป์นั้นยากกว่า” ซึ่งคำพูดดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับการจัดการชื่อเสียงได้เช่นกัน และ เจเรมี่ ลิน ก็ประสบปัญหากับมันเต็มๆ

เพราะในช่วงที่ปรากฏการณ์ Linsanity กำลังโด่งดังอย่างสุดขีดช่วงต้นปี 2012 หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าตัวก็ประสบกับอาการบาดเจ็บที่ทำให้เขาต้องจบฤดูกาลสร้างชื่อแต่เพียงเท่านั้น ความโชคร้ายที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การต่อยอดกระแสขาดตอนไปด้วย

lin10
แม้ ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ จะรับเขามาอยู่กับทีมต่อ แถมในฤดูกาล 2012-13 จะเป็นอีกปีที่มีผลงานดี เมื่อเจ้าตัวได้ลงเล่นเป็นตัวจริงทั้ง 82 เกมในฤดูกาลปกติ แถมยังนำทีมเข้ารอบเพลย์ออฟได้อีกด้วย แต่ผลงานในฤดูกาลถัดมาที่ตกลง ทำให้เขาต้องย้ายออกจากทีมจนกลายเป็นผู้เล่นพเนจรในเวลาต่อมาทั้งกับ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส และ ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์

ยิ่งตอนที่เขามาอยู่กับ บรูคลิน เน็ตส์ กราฟชีวิตของเขาก็ถึงจุดต่ำสุด เพราะแม้จะยังรักษาผลงานตามมาตรฐานเดิมได้อยู่เวลาลงสนาม แต่อาการบาดเจ็บก็ทำให้เขาไม่มีโอกาสแสดงฝีมือมากนัก โดยเฉพาะเมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งโชคร้ายเอ็นเข่าขาดต้องปิดฉากซีซั่นตั้งแต่นัดแรกของฤดูกาล

แน่นอนว่า ฟอร์มการเล่นที่ไม่โดดเด่นเหมือนเคย ประกอบกับอาการบาดเจ็บที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ได้กลายเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปรากฏการณ์ Linsanity กลายเป็นอดีตอย่างสมบูรณ์ ถึงกระนั้น ด้วยสถิติผลงานในอดีต ทำให้เส้นทางใน NBA ของลินยังไม่ถูกปิดตายแต่ยังใด โดยฤดูกาลนี้เขาย้ายมาอยู่กับ แอตแลนต้า ฮอว์คส์ สามารถสลัดอาการบาดเจ็บกลับมาลงสนามได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้เป็นตัวจริงก็ตาม และถึงเขาจะไม่ได้เป็นที่พูดถึงด้วยความชื่นชมในผลงานเช่นเดียวกับอดีต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ปรากฏการณ์ Linsanity มีส่วนช่วยสำคัญให้ชาวอเมริกันมองคนเชื้อสายเอเชียในแง่มุมที่เปลี่ยนไป ตลอดจนยังเป็นฮีโร่ เป็นไอดอลของคนเชื้อสายเดียวกันอยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลง

เรื่องราวของ เจเรมี่ ลิน แม้จะสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถึงสหรัฐอเมริกาจะได้รับการยอมรับในการเป็นสังคมที่ศิวิไลซ์ แต่ความรู้สึกชาตินิยมที่เข้มข้น ไม่ใคร่จะเปิดใจให้กับคนต่างเชื้อชาตินักยังคงอยู่ ถึงพวกเขาจะไม่ยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริงก็ตาม เพราะแม้ลิน รวมถึงนักกีฬาเชื้อสายเอเชียคนอื่นจะสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ แต่ Stereotypes หรือภาพจำที่ฝังแน่น ทำให้ยังเป็นเรื่องยากที่นักกีฬาเชื้อสายเอเชียสักคนจะได้รับโอกาสจากสังคมอเมริกันเกมส์เฉกเช่นคนเชื้อสายอื่นๆ

lin11
อย่างไรก็ตาม ประโยคที่หลายคนพูดว่า “สหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนแห่งโอกาส” ก็ยังเป็นเรื่องจริงเช่นกัน เพราะมิเช่นนั้น นักกีฬาเชื้อสายต่างๆ ไม่ว่าจะแอฟริกัน ฮิสแปนิค หรือแม้กระทั่งเอเชีย คงจะไม่ได้รับโอกาสให้สร้างชื่อเป็นแน่ ซึ่งปรากฏการณ์ Linsanity ถือเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างดีถึงเรื่องนี้ คือขอเพียงแค่คุณมีฝีมือจริง ก็มีคนที่พร้อมให้โอกาสเสมอ

ปรากฏการณ์ Linsanity ที่โด่งดังแล้วก็ค่อยๆ เงียบหายไป รวมถึงการที่นักกีฬาเชื้อสายเอเชียแทบไม่มีตัวตน ไม่ได้รับโอกาสใน 4 ลีกอาชีพจึงมีที่มาจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Stereotypes ของคนเชื้อสายเอเชียที่ยังคงติดอยู่ในความคิดของผู้คนแบบล้างออกยาก แต่อีกส่วนหนึ่งคือ ผลงานของพวกเขาไม่โดดเด่นพอให้พูดถึงด้วยเช่นกัน

ถึงกระนั้นก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า เจเรมี่ ลิน กับปรากฏการณ์ Linsanity ได้ส่งผลให้ภาพลักษณ์ที่สังคมอเมริกันมองนักกีฬาเชื้อสายเอเชียนั้นเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และเชื่อเถอะว่า หลายคนก็อยากเห็นเขากลับมาทำผลงานได้ดี เพื่อปลุกชีพปรากฏการณ์ที่ว่าให้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีเพื่อตัวลินเองเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสังคมอเมริกันเกมส์เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook