ก่อนถึงเอเชียนคัพ : สิ่งที่ "ช้างศึก" ต้องเรียนรู้จากบาดแผลในเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ

ก่อนถึงเอเชียนคัพ : สิ่งที่ "ช้างศึก" ต้องเรียนรู้จากบาดแผลในเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ

ก่อนถึงเอเชียนคัพ : สิ่งที่ "ช้างศึก" ต้องเรียนรู้จากบาดแผลในเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พลพรรคช้างศึก เหลือเวลาอีกแค่ 31 วัน หลังความผิดหวังตกรอบ 4 ทีมสุดท้าย “เอเอฟเอฟ ซูซูกิ 2018” ก่อนเริ่มต้นนัดแรก ในรายการใหม่ที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่าง เอเชียนคัพ 2019

“ยากทำใจได้ และไม่คาดคิดมาก่อน” น่าจะเป็นมวลความรู้สึกที่ ผู้ชม 4 หมื่นกว่าชีวิต ในสนามราชมังคลาฯ และคนไทยอีกนับล้านที่ชมเกมผ่านการถ่ายทอดสด รู้สึกไม่ต่างกัน ภายหลังจบเกมรอบรองชนะเลิศ ที่ ทีมชาติไทย ตกรอบด้วยกฏอเวย์โกล จากน้ำมือของ ทีมชาติมาเลเซีย

 

“ยากทำใจ” เพราะนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ที่ทีมชาติไทย ไม่สามารถทะลุเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศได้ แถมยังเกิดขึ้นในการเล่นเป็นเจ้าบ้านเลกสอง ต่อหน้าแฟนบอลที่มากันเต็มความจุของสนาม ทั้งที่เงื่อนไขการเข้ารอบในเกมนี้ ขอแค่เพียงชนะเท่านั้น ด้วยสกอร์เท่าไหร่ก็ได้

“ไม่คาดคิดมาก่อน” เพราะเราลงทำการแข่งขันหนนี้ ในฐานะแชมป์อาเซียน ติดต่อกัน 2 ครั้งหลังสุด ตัวผู้เล่น ขุมกำลัง โครงสร้างลีกอาชีพทุกอย่าง พัฒนาไปไกลกว่าในอดีตมาก ถ้ามีใครสักคนบอกมาบอกว่า เราจะตกรอบ 4 ทีมสุดท้ายเพราะมาเลเซีย ก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มต้นขึ้น คงเป็นคำพูดที่ตลกไม่น้อย จากภาพรวมที่มองยังไงเราก็ยังเป็นทีมที่ดีกว่า

เมื่อสิ่งที่ไม่คาดคิด และทำใจได้ยาก เกิดขึ้นแล้ว...สิ่งหนึ่งที่เราคงทำได้ดีที่สุด นอกจากการทำใจยอมรับ รอคอยเวลาอย่างน้อย 2 ปี เพื่อสมานบาดแผล เยียวยา ให้มันหายสนิท คือการนำเอาความเจ็บปวดในครั้งนี้ มาถอดเป็นบทเรียน ของทัพช้างศึกยุคมิโลวาน ราเยวัช

ที่จะต้องเรียนรู้กับช่วงเวลานี้ ให้มากที่สุด ก่อนรายการสำคัญในศึกชิงแชมป์เอเชีย จะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

แค่ตีหัวเข้าบ้านอาจไม่พอ

การไม่ได้แชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ อย่างน้อยที่สุด หากดูจากบรรดาชาติชั้นนำของภูมิภาคนี้ เวียดนาม ได้แชมป์ครั้งสุดท้ายปี 2008, มาเลเซีย ปี 2010, ฟิลิปปินส์ ไม่เคยเข้าชิง, อินโดนีเซีย ไม่เคยเป็นแชมป์

 1

แต่การไม่ได้แชมป์ในขบวนล่าสุดของ ทีมชาติไทย อาจเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย ซึ่งไม่ได้แปลว่า จะไม่สามารถเกิดขึ้น มีบทเรียน 2-3 ข้อของทีมชาติไทย ในยุคมิโลวาน ราเยวัช ที่มองเห็นชัดเจนในทัวร์นาเมนต์แรกอย่างเป็นทางการ เต็มตัวของเขา หากไม่นับคิงส์ คัพ ที่เตะเพียง 2 เกม และฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกที่่เข้ามาคุมใน 2 เกมสุดท้ายที่ไม่มีผลแล้ว

บทเรียนแรก โค้ชมิโลประเมินสถานการณ์ผิดไป ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่ง และนักเตะภายในทีมชุดนี้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการไม่มีผู้เล่นตัวหลัก 4 คนที่ติดภารกิจค้าแข้งในต่างประเทศ เพราะนี่เป็นเงื่อนไขที่ทุกคนทราบดีก่อนการแข่งขันอยู่แล้วว่า ไม่สามารถใช้งานพวกเขาได้

เหตุที่บอกว่า ประเมินสถานการณ์ผิดพลาด เพราะกุนซือชาวเซิร์บ เลือกที่จะใช้แท็คติก ระบบการเล่น รวมถึงผู้เล่นตัวจริง แทบจะเหมือนเดิมทุกนัด มีเปลี่ยนแปลงตัวจริงแค่ไม่กี่คนเท่านั้นต่อเกม

ที่เห็นชัดๆ มี ฉัตรชัย บุตรพรหม แทนที่ ศิวรักษ์ เทศสูงเนิน ในตำแหน่งผู้รักษาประตู, ตัวริมเส้นเปลี่ยนจาก นูรูล ศรียานเก็ม หรือ มงคล ทศไกร มาเป็น ศุภชัย ใจเด็ด กองหลัง พรรษา เหมวิบูลย์ แทนที่ มานูเอล ทอม เบียห์ร ที่ได้รับบาดเจ็บต้องถอนตัวออกไป และมิกา ชูนวลศรี ที่ได้ลงเล่นแทน ฟิลิป โรลเลอร์ 2 นัด

 2

แผนการของ ราเยวัช คือการให้ แข้งช้างศึก ยืนไลน์แนวรับต่ำเพื่อดักบอล เก็บตกจังหวะผิดพลาดของคู่แข่งในตอนบุก แล้วส่งบอลต่อเร็วมาให้ กองกลางทำหน้าที่จ่ายบอลตัดไลน์กองหลังคู่แข่งที่ดันสูงขึ้นมา ซึ่งมันใช้ได้ดีมากในเกมกับ ติมอร์ เลสเต ไทยยิงคู่แข่งกระจาย 7-0 โดยแทบไม่ต้องออกแรงให้เหนื่อย รวมถึงเกมกับ อินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ ที่คู่แข่งหลงกับดักเรา โดนเล่นงานเสียไปทีมละ 3-4 ประตู

เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ หนนี้ มีความพิเศษแตกต่างจากคราวก่อน คือ ไม่มีเจ้าภาพกลุ่มทำให้ ทุกทีมต้องบริหารจัดการทรัพยากรนักฟุตบอลให้ดี เพราะต้องเล่นเกม เหย้า-เยือน อย่างละ 2 นัดในรอบแบ่งกลุ่ม บวกกับการที่มีทีมแข่งขันถึง 5 ทีม โปรแกรมการเตะจึงถูกซอยเฉลี่ย เตะทุกๆ 3 วันครึ่ง ใน 4 เกมแรก

การรักษาสภาพร่างกาย ความฟิตของนักฟุตบอล จึงเป็นเรื่องสำคัญมากในฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ ซึ่งมันแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับ ศึกชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์ คัพ ที่เขาเคยคุมทัพช้างศึกลงแข่งขัน หรือการเชิญทีมที่มีศักยภาพเหนือกว่า ไทย มาอุ่นเครื่อง ที่ไม่ต้องเก็บสภาพร่างกายไว้ใช้ในรอบต่อๆไป

ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ เป็นนักเตะคนหนึ่งที่ออกสตาร์ทเป็นตัวจริง ครบทั้ง 6 เกม โดยที่มีถึง 5 เกมที่เจ้าตัวลงเล่นครบ 90 นาทีเต็ม โดยไม่ถูกเปลี่ยนตัวออก เกมเดียวที่ กองกลางจากบีจี ปทุม ยูไนเต็ด โดนเปลี่ยนออกคือ เกมแรกที่ชนะ ติมอร์ฯ 7-0 ในนาทีที่ 82

 3

มิดฟิลด์พลังไดนาโม ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของแท็กติก มิโลวาน ราเยวัช ในการเป็นตัวทำลายเกมรุกฝ่ายตรงข้าม คอยแย่งบอล ปัดกวาดพื้นที่กลางสนาม รวมถึงการวิ่งขึ้นลงเพื่อช่วยเกมรับ-รุก ที่ต้องใช้พละกำลังมหาศาล ซึ่งลูกชายของไพโรจน์ พ่วงจันทร์ ทำหน้าที่ตรงนี้ด้วยดีมาตลอดในรอบแบ่งกลุ่ม และได้รับเสียงชื่นชมมากมาย

แต่การที่เขาไม่ถูกถอดเลย ในหลายๆเกม ที่ผลการแข่งขันเป็นใจ ย่อมทำให้ ฐิติพันธ์ ที่ใช้พลังงานเยอะในทุกเกม เริ่มออกอาการว่า ขีดพลังงานของเขาเหลือจำกัด โดยเฉพาะใน 2 เกมรอบรองฯ ที่พบกับ มาเลเซีย ฐิติพันธ์ ยังคงวิ่งถวายหัวเช่นเดิม แต่เรี่ยวแรงกับหัวใจบางครั้งก็ไม่สัมพันธ์กัน

แม้เขาจะพยายามกัดฟันวิ่ง แต่เหมือนว่าพละกำลังที่เคยมี เริ่มถดถอยลงไป เป็นโอกาสที่ทำให้ มาเลเซีย ยึดพื้นที่แดนกลางจากไทยมาได้

ยังรวมไปถึงในรายของ ธนบูรณ์ เกษารัตน์ กับ อดิศักดิ์ ไกรษร ทั้งคู่เพิ่งผ่านอาการบาดเจ็บหนักมา คนหนึ่งเพิ่งได้ลงเล่นในช่วงเลกสอง ส่วนอีกรายหายเจ็บกลับมาช่วงปลายฤดูกาล

ในทัวร์นาเมนต์ที่ต้องเดินทาง และมีเวลาพักน้อยระหว่างเกม เป็นเรื่องที่โค้ชต้องย่อมรู้อยู่แล้วว่า ช่องว่างแต่ละนัดมากแค่ไหน เรื่องการเดินทาง การหมุนเวียนผู้เล่น รวมถึงการประเมินสภาพความฟิตว่า ผู้เล่นตัวหลักพร้อมมากแค่ไหน

 4

อดิศักดิ์ และ ธนบูรณ์ ไม่มีปัญหาเลยใน 2 เกมแรก กับ ติมอร์ฯ และ อินโดนีเซีย ทั้งสองคนต่างได้รับคำชมอย่างมาก ธนบูรณ์ ในฐานะกองกลางตัวรับ สกรีนบอลด่านสุดท้ายก่อนถึงแผงหลังได้อยู่หมัด เล่นเอาแผงกลางติมอร์ฯ และอินโดฯ ปะติดปะต่อเกมตรงกลางสนามไปสู่พื้นที่แดนหน้าไม่ได้มากนัก ส่วน อดิศักดิ์ โชว์ความเด็ดขาด เฉียบคมในการจบสกอร์ เขาใช้ไม่กี่จังหวะก็สามารถทำประตูได้เป็นกอบเป็นกำเกินครึ่งโหล

หลังผ่าน 2 นัดแรก สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ ธนบูรณ์ มีปัญหาเรื่องสภาพความฟิต ส่งผลให้เขา แท็คเกิลคู่แข่งไม่สำเร็จ เสียบอลเองบ่อยครั้ง รวมถึงยังเปิดพื้นที่ ให้คู่แข่งเจาะตรงกลางได้ง่ายขึ้น

ดังจะเห็นได้ว่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย สร้างโอกาสเข้าทำประตูใส่ไทยหลายหน แม้จะไม่ใช่การบุกเจาะเข้าไปในกรอบตรงๆ หรือหลุดเดี่ยวไป แต่จุดเริ่มต้นความผิดพลาดที่คู่แข่งฉกฉวยมาได้ เกิดขึ้นมาจากกองกลางตัวรับ

ในมุมนี้เข้าใจได้ว่า ราเยวัช ที่เน้นเรื่องเกมรับเป็นหลัก ทำไมถึงยังดื้อส่ง ธนบูรณ์ ลงเล่นต่อเนื่องทุกเกม ทั้งที่เจ้าตัวเล่นไม่ออก เพราะเขาต้องการนักฟุตบอลไทยสักคนที่สามารถเล่นสไตล์ มิคาเอล เอสเซียง ที่สามารถแย่งบอล ตัดบอลคู่แข่งก่อนแผงหลัง รวมถึงใช้บอลสั้นจากกลางรับ ส่งต่อไปยังกลางรุก แล้วโต้กลับอย่างรวดเร็ว ด้วยปีกทั้งสองข้าง และกองหน้าที่รอวิ่งตัดกับดักล้ำหน้า

ธนบูรณ์ อาจเป็นคนเดียวในทีมชุดนี้ด้วยซ้ำที่มีคุณสมบัติเล่นตำแหน่ง Defensive Midfielder ที่หวังใช้เขาเพื่อเป็น กองกลาง ตัวสกรีนด่านสุดท้าย ก่อนถึงแผงแบ็กโฟร์ หากกองกลางตัดเกม อ่านทางคู่แข่งได้แม่นยำ โอกาสที่คู่แข่งจะเจาะก็คงยากเพราะแบ็กสองข้างตามแท็คติกราเยวัช ไม่ได้ดันสูงขึ้น

แต่ระบบแบบนี้ก็มีจุดอ่อนในตัวเอง ถ้ากองกลางตัวรับเสียตำแหน่ง ผู้เล่นแบ็กโฟร์ จะต้องขยับขึ้นมา Compact พื้นที่ เห็นได้จากเกมแรกที่ไปเยือน มาเลเซีย ที่กองกลางของพวกเขา สามารถเลือกจ่ายได้ตามใจชอบ ทั้งจ่ายไปข้างหน้า หรือถ่ายออกข้าง

ตรงนี้เป็นเรื่องของประเมินสภาพร่างกายนักเตะ และสถานการณ์ที่ผิดพลาดไป อย่างในบางเกมกับ สิงคโปร์ แทบไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน ธนบูรณ์ เต็ม 90 นาทีเลยด้วยซ้ำ

 5

โค้ชสามารถถอย ฐิติพันธ์ ให้มีบทบาทกับเกมรับมากขึ้นในบทบาท Ball Winning Midfielder แล้วใช้ สุมัญญา ปุริสาย หรือ ปกเกล้า อนันต์ ลงเล่นแทนก็ได้ แต่เกมนั้น ไทย เปลี่ยนตัวสำรอง 2 คนสุดท้ายในช่วงเวลาทดบาดเจ็บทั้งคู่

ซึ่งไม่มีความจำเป็นเลยที่ ไทย จะต้องเล่นเต็มสเกลขนาดนั้น ในเกมที่หวังผลการแข่งขันแค่เสมอ ก็เข้ารอบรองชนะเลิศแล้ว แถมสกอร์ยังเป็นใจให้ ไทย ได้พักผู้เล่นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรองรองชนะเลิศอีก

ส่วนในรายของ อดิศักดิ์ ไกรษร ไม่แน่ใจว่าในจอทีวี ผู้ชมเห็นเขามากน้อยแค่ไหน แต่หากดูในสนาม ตามแท็คติกบอลรับต่ำของ ราเยวัช เขาเป็นคนหนึ่งที่เคลื่อนที่ไม่น้อยกว่าใคร เผลอๆ อาจจะมากกว่ากองหลังด้วยซ้ำ

อดิศักดิ์ จำเป็นต้องวิ่งบีบกดดันคู่แข่ง ขยับหาช่อง ทำทาง รวมถึงลงมาช่วยเกมรับ บางครั้งเขาต้องยืนต่ำกว่าเส้นครึ่งสนาม พอถึงจังหวะที่บอลสาดยาวไปข้างหน้า อดิศักดิ์ ต้องสปีดวิ่งเบียดเข้าปะทะกับกองหลังคู่แข่ง เพื่อแย่งชิงเหลี่ยมเอาบอลมาให้ได้ ในช่วง 2-3 นัดหลัง เห็นได้ชัดว่า พละกำลังของเขาเริ่มถดถอย ความฟิตมีจำกัด ส่งผลให้การวางเท้า จังหวะยิง ไม่เฉียบขาดเหมือนนัดแรกๆ ที่ร่างกายและจิตใจ พร้อมสุดๆ

 6

หากมองในภาพรวม บางเกมของ เอเอเอฟ ซูซูกิ คัพ ไม่ได้หนักหนาเกินไป ที่ต้องถอยไปรับให้ต่ำเช่นนั้น ถึงแม้จะไม่มี 4 กำลังหลักที่ค้าแข้งต่างแดน แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ที่เรียกตัวเข้ามา ในตอนเล่นที่ให้สโมสรก็แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขา ก็ยังดูมีความเข้าใจที่ดีกว่าผู้เล่นอาเซียนทั่วไป สามารถยืดหยุ่น ปรับตัวเข้ากับระบบ แท็คติก ได้หลากหลาย และดีกว่า แข้งทีมชาติไทยยุคเก่าๆ ที่เน้นใช้ความสามารถเฉพาะตัวเป็นหลัก 

จึงไม่มีความจำเป็น ที่ต้องยึดกับรูปแบบการเล่นแค่แนวทางเดียว ในการรับแล้วรอโต้ เพื่อน็อกคู่แข่งจากบอล ที่เปลี่ยนจากรับเป็นรุก เพราะเมื่อแผนการหลักถูกจับทางได้ และไม่มีแผนรองที่ดีพอ เกมรุกที่เคยทำได้ ย่อมถูกลดทอนประสิทธิภาพลงไป

อย่างในเกมกับมาเลเซีย นัดแรกที่บูกิต จาลิล ไทย ไม่เสียประตูก็จริง แต่การไม่มีอเวย์โกลกลับมา แถมยังต้องเล่นด้วยความกดดันสุดๆในบ้านตัวเอง เมื่อถูกตามตีเสมอ 2 หน จากจังหวะที่ถอยร่นไปรับมากเกินไป หลังได้ประตูขึ้นนำ กลายเป็นว่าจังหวะนั้น เราเปิดพื้นที่ให้ มาเลเซีย ได้ทำประตูตีไข่แตก

พอถึงสถานการณที่ ไทย ต้องการประตู เกมก็ดูติดขัดไปหมด จ่ายผิดพลาดหลายหน รวมถึง ความหลากหลายในเกมรุกมีน้อยไป บอลยาวจากแดนหลังหรือแดนกลาง การครอสด้านข้าง ถูกอ่านทาง และเก็บกินหมดโดยผู้เล่นมาเลเซีย ที่ทำการบ้านรับมือไทยเป็นอย่างดี เล่นด้วยความยืดหยุน พวกเขามีช่วงที่บุกหนักใส่ไทย และผ่อนลงไปรับรอโต้ ไม่ได้ยึดติดกับแผนการเดียวว่า เปิดเกมบุกใส่ไทยตลอด

หัวใจของบอลแบบตีหัวเข้าบ้าน ที่ราเยวัช พยายามทำมาตลอด 1 ปีกว่า นอกเหนือจากแผงรับที่ต้องแน่นปึ้กแล้ว ยังรวมถึงแผงกองกลางที่ต้องมีตัวสกรีนบอล บีบพื้นที่ไม่ให้คู่แข่งเล่นง่าย รวมถึงการเปลี่ยนจากรับเป็นรุกที่แม่นยำ

 7

การเน้นเรื่องเกมรับไม่ใช่เรื่องผิดที่ ราเยวัช จะทำในศึกชิงแชมป์อาเซียน? เป็นสิทธิ์ของโค้ช และมุมมองที่เขามองเห็นว่่ารูปแบบนี้เหมาะสมกับทีมชาติไทย

เพราะถึงที่สุดแล้วหากเขาสามารถพา ทัพช้างศึก  ไปถึงตำแหน่งแชมป์ได้ เรื่องสไตล์หรือแท็คติก จะถูกยอมรับด้วยตัวของมันเอง เนื่องจากได้ประสิทธิผล ตามที่ต้องการ พูดง่ายๆ ถ้าสำเร็จจะคนชื่นชมบอกว่า เขาทำให้ ทีมชาติไทย เล่นเหนียวแน่นขึ้น เป็นระบบระเบียบ แต่ถ้าไม่สำเร็จ เขาเลี่ยงไม่ได้กับคำว่า ทำบอลได้น่าเบื่อ

ก่อนถึง เอเชียน คัพ 2019 ราเยวัช คงรู้แล้วว่า เขาไม่สามารถใช้แค่แผนการเดิมๆ เพื่อรอให้คู่แข่งจับทางได้ในนัดต่อๆไป

การแก้เกม การโรเตชั่น การประเมินคู่แข่ง และสภาพผู้เล่นของตัวเองที่จะใช้งาน เป็นสิ่งที่ ราเยวัช ต้องโชว์ให้เห็น เพื่อไม่ให้ลูกทีมต้องตกไปอยู่ในสถานการณ์บีบบังคับจิตใจ ที่ต้องลุ้นตกรอบ-เข้ารอบจากจุดโทษในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ

มากกว่าเซ็ทพีซ ต้องมีเซ็ทเพลย์

ใช่ว่าการตกรอบรองชนะเลิศ เอเอฟซี ซูซูกิ คัพ ไม่ได้มีสัญญาณดีๆ ออกมาให้แฟนบอลเห็นเลย จากการทำทีมของ มิโลวาน ราเยวัช

 8

อันดับแรกคือการได้เห็น ผู้เล่นกลุ่มใหม่ๆ ที่แตกต่างกับชุดแชมป์เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แทบทุกตำแหน่ง มีเพียงแค่ 3 คนเท่านั้นที่ยังหลงเหลือจากชุดปี 2016  แถมยังเป็นการลงเล่นโดยปราศจาก 4 นักเตะตัวหลักที่ค้าแข้งต่างประเทศ ซึ่งคลาสของ ธีรศิลป์, ธีราทร, ชนาธิป และ กวินทร์ ยังดูเหลื่อมกว่านักเตะไทยชุดนี้ อยู่นิดๆ

นักเตะชุดนี้หลายคนอาจเคยร่วมงานกับโค้ชคนเก่าอย่าง วินฟรีด เชเฟอร์ และ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ก็จริง แต่พวกเขาก็ไม่ใช่ ประเภทแข้งกำลังหลัก ที่ได้ลงเล่นต่อเนื่อง บางคนถูกเรียกมาติดทีมเป็นตัวสำรอง และอีกจำนวนหนึ่งเป็นพวกหน้าใหม่ที่ไม่เคยถูกเรียกมาก่อน

อย่างน้อยที่สุด การตกรอบ 4 ทีมสุดท้าย ถือเป็นการสอบวัดผลของนักเตะกลุ่มใหม่ ที่โค้ชจะได้เห็นอย่างเต็มตาทั้งในการแข่งขัน และการฝึกซ้อม ว่า หากเขาเลือกใช้ระบบเกมรับ ในเอเชียน คัพ มาทดสอบในการเจอกับทีมระดับอาเซียนก่อน

ใครกันที่เล่นได้ คนไหนที่ยังเล่นไม่ได้ มีจุดไหนที่ต้องแก้ไข และเมื่อได้ 4 นักเตะตัวหลักมาสมทบทีม เขาจะปรับแต่งทีมอย่างไร ให้ข้อผิดพลาดมีน้อยที่สุดใน เอเชียน คัพ 2019

สิ่งที่ ราเยวัช ทำได้สำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้ คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เล่น ให้เปิดรับการเล่นเกมรับมากขึ้น จากไอเดียที่เขานำเสนอปัญหาของทีมชาติไทย ตั้งแต่วันแรกที่รับงาน ซึ่งเป็นมาตลอดในหลายปีที่ผ่านมาคือเรื่องของ เกมรับ ที่หละหลวม

กุนซือชาวเซิร์บ ทำในสิ่งที่โค้ชหลายคน ทำไม่ได้ คือการหา คู่เซ็นเตอร์แบ็กที่ไว้ใจได้ ถึง 3 คน อย่าง เฉลิมพงษ์ เกิดแก้ว, พรรษา เหมวิบูลย์ รวมถึง มานูเอล ทอม เบียห์ร ที่มีอาการบาดเจ็บและถอนตัวออกไป ซึ่งทั้งสามคนสามารถผลัดเปลี่ยนกันลงสนามทดแทนกันได้

 9

โดยเฉพาะสองคู่หูที่เจอบททดสอบเยอะสุดในทัวร์นาเมนต์ ศึกชิงแชมป์อาเซียนหนนี้ อย่าง พรรษา และ เฉลิมพงษ์ หากว่ากันตามเนื้อผ้า ทั้งคู่สอบผ่าน ประสานงาน สื่อสารกันได้ดี แม้ในเกมยากๆ ที่ไปเยือน มาเลเซีย กับ ฟิลิปปินส์ ก็มีหลายจังหวะที่ พรรษา-เฉลิมพงษ์ สกัด ปิดมุม บีบคู่แข่ง ได้ดี

ส่วนตัวเห็นด้วยที่ ราเยวัช จะเน้นเรื่องของเกมรับในเอเชียนคัพ เพราะเป็นปัญหาที่แก้ไม่ค่อยตกของทีมชาติไทย แต่เกมรับที่ดี อย่างเดียวไม่เพียงพอจะช่วยให้ ไทย ได้ผลการแข่งขันที่ดี หากปราศจากเกมรุกที่ไม่ใช่รอแค่ให้คู่แข่งผิดพลาด หรือโจมตีคู่แข่งด้วยจังหวะเข้าทำแบบเดิมๆ ที่สามารถถูกอ่านทางได้ง่าย

 10

เพราะสิ่งที่ขาดหายไปอย่างเห็นได้ชัดจากทีมชุดนี้ คือ เสน่ห์ในการเล่นเกมรุก ถ้าว่าตามภาษาฟุตบอล อาจหมายถึง จังหวะเซ็ทเพลย์ มีให้เห็นน้อยมากในการเจอทีมคู่แข่งระดับพอฟัดพอเหวี่ยงกับ ไทย

หลายประตูที่ทำได้ใน ซูซูกิ คัพ 2018 มีจุดเริ่มต้นมาจากลูกเซ็ทพีช ที่เป็นอีกจุดเด่นและอาวุธของ ราเยวัช ที่ใช้โจมตีคู่แข่งในสถานการณ์ที่เกมตื้อๆ แน่นอนว่า การเล่นเซ็ทพีซ ที่ดี เกิดขึ้นจากการฝึกซ้อม และความสามารถของคนเล่นลูกตั้งเตะประกอบเข้าด้วยกัน

หากตัดแมตช์ ติมอร์ฯ ออกไป ที่ไทยเล่นเซ็ทเพลย์เข้าทำประตูได้สุดเฟอร์เฟค นัดที่เหลือ คงพูดได้ไม่เต็มปากว่า ทีมชุดนี้มีการเข้าทำหลากหลายที่มีประสิทธิภาพ เพราะในวันที่ตัวรุกด้านบนไม่มี มุ้ย ธีรศิลป์, เจ ชนาธิป และ อุ้ม ธีราทร ที่โค้ชมักขยับไปเล่นปีกซ้าย เห็นได้ชัดว่า ภาระในการสร้างสรรค์เกม ตกไปอยู่ที่ สรรวัชญ์ เดชมิตร เพียงคนเดียว

 11

ไม่มีใครปฏิเสธความสามารถของ สรรวัชญ์ ที่โดดเด่นเหนือกว่าทุกคนในทีมชุดนี้ เขามีทักษะ ความสามารถเฉพาะตัว เทคนิค ไอเดียฟุตบอล ที่ไม่ได้เป็นรอง 3 นักเตะไทยในเจลีก แต่สิ่งที่เขาต้องการในการเล่นฟุตบอล คือเพื่อนร่วมทีมที่มีเซนส์ จังหวะทันกัน รวมถึงพื้นที่ และเวลาที่ต้องมีมากพอให้เขาสร้างสรรค์เกม

เขาไม่มีปัญหาในการเจอกับ อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และ ติมอร์ฯ มากนัก แม้คู่แข่งพยายามจะตัดเกม ทำฟาวล์เขาหลายครั้ง แต่ สรรวัชญ์ ก็สามารถเอาตัวรอดไปได้ ด้วยความสามารถเฉพาะตัว และคลาสฟุตบอลที่เหนือกว่า แต่ในเกมกับฟิลิปปินส์ และมาเลเซียทั้ง 2 นัด สรรวัชญ์ เล่นได้ยากลำบากมากขึ้น

เหตุผลข้อแรก แท็คติกของทีมเน้นไปตั้งรับ สรรวัชญ์ ก็ต้องวิ่งลงไปเป็นวางบอลจากแนวลึก ซึ่งทั้งฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ต่างอ่านเกมของไทย ออกว่า ฟุตบอลจะถูกส่งจากแดนหลังมาให้ สรรวัชญ์ ทำหน้าที่โฮลด์บอลต่อไป พวกเขาจึงใช้ผู้เล่นถึง 2 คนเข้าบีบเร็ว ตัดเกม และพยายามทำให้ มิดฟิลด์หมายเลข 29 ไม่มีพื้นที่ และเวลา ที่จะสร้างสรรค์เกมได้ถนัดนัก

อย่างที่เห็น สรรวัชญ์ เคลื่อนที่เยอะมากเพื่อหาตำแหน่งตลอดเวลา รวมถึงวิ่งไล่กดดันกองหลังคู่แข่ง เพื่อให้ออกบอลพลาด แต่ถึงแผงเกมรับไทยจะเก็บบอลได้ และส่งบอลมาถึงตัวเขา

แค่ไม่อีกกี่อึดใจ ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะมาเพรสซิ่งให้ จอมทัพวัย 29 ปี ต้องออกบอลเร็ว ซึ่งทำให้เปอร์เซนต์ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า หรือบางครั้งบอลที่ออกไปจากเขา ยากเกินกว่าคู่ปีก กองหน้าจะเก็บไปเล่นต่อได้ทันที

จุดนี้น่าเห็นใจ สรรวัชญ์ เหมือนกัน แม้ในแท็คติกของ ราเยวัช จะแก้เกม ด้วยการส่ง ปกเกล้า อนันต์ ลงมาทำเกมกับร่วม สรรวัชญ์ เพื่อให้เขามีคนเล่นด้วยง่ายขึ้น แต่ออปชั่นตัวรุกที่พลิกแพลงเกมนั้น มีน้อยเกินไป

 12

คนเดียวที่พอนึกถึงได้ในชุดนี้อย่าง สุมัญญา ปุริสาย ที่สามารถพาบอลขึ้นไปข้างหน้าได้ด้วยตัวเอง เก็บบอลจังหวะสอง และจ่ายบอลได้ดี รวมถึงมีทีเด็ดจากจังหวะยิงไกล และฟรีคิก ก็ไม่ค่อยได้รับโอกาสลงสนามมากเท่าไหร่

น่าสนใจว่าในเอเชียน คัพ หนนี้ มิโลวาน ราเยวัช จะปรับแต่งทัพอย่างไร? เมื่อได้ ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่เพิ่งระเบิดฟอร์มกับ คอนซาโดเล ซัปโปโร มาช่วยเกมรุกทีมอีกแรงหนึ่ง

ชนาคุง จะทำให้เกมเซ็ทเพลย์ของไทย ดีขึ้นมากแค่ไหน และแท็คติกของโค้ช จะมีทีเด็ดอื่นๆ อีกไหมนอกเหนือจากลุ้นลูกเซ็ทพีซ ซึ่งคู่แข่งในแนวป้องกันเกมรุกไทย คราวนี้ไม่ใช่ทีมจากอาเซียน แต่เป็นเจ้าภาพ ยูเออี, บาห์เรน และอินเดีย

สไตล์การคุมทีมของโค้ช เป็นเรื่องที่ยากจะบอกได้ว่า แบบไหนถูกหรือผิด และใช่ที่สุดกับทีมชาติ? เพราะโค้ชแต่ละคนย่อมตีความจากทรัพยากร บริบทของชาติที่ตัวเองคุมทีม แตกต่างกันออกไป ไม่มีสูตรไหนถูกร้อยเปอร์เซนต์ หรือผิดร้อยเปอร์เซนต์ จนกว่าจะสิ้นสุดการแข่งขัน

ราเยวัช อาจเคยมีชื่อเสียงในการเป็น โค้ชสไตล์เน้นเกมรับ และบางอย่างเขาสามารถพิสูจน์กับ ทีมชาติไทย ให้เห็นมาบ้าง ในโจทย์ที่หลายคนเคยแก้ไม่ได้ แต่ขึ้นชื่อว่าเป็น โค้ชทีมชาติ เขาย่อมต้องทำใจยอมรับความกดดัน ความคาดหวัง และการถูกจับตามองมาก่อนหน้าเซ็นสัญญาอยู่แล้ว

โค้ชเกมรุกอาจถูกตั้งคำถามเรื่องเกมรับ โค้ชเกมรับก็อาจถูกตั้งคำถามเรื่องเกมรุก เชื่อว่า โค้ชทุกคนรู้ปัญหาและโจทย์ที่ตัวเองต้องทำ ก่อนถึงสนามสอบปลายภาคจริง ในการแข่งขัน เอเชียน คัพ คืออะไร

จัดการความกดดัน และฟื้นฟูสภาพใจ

ซยาห์มี ซาฟารี ที่ทำเสียจุดโทษ และถูกใบแดงไล่ออกจาก สนาม อาจกลายเป็นผู้ร้ายของ มาเลเซีย ในวันนั้น หากอีกไม่กี่วินาทีต่อมา อดิศักดิ์ ไกรษร ยิงจุดโทษเข้าประตู

 13

โชคดีของ ซาฟารี ที่ไม่ต้องนอนฝันร้ายเพราะลูกบอลลอยเหินข้ามคาน วินาทีนั้นตรงที่นั่งของผู้เขียนในสนาม เห็นปฏิกิริยาของ ซยาห์มี ที่ยืนมองจุดโทษลูกนั้น พร้อมกับสตาฟฟ์ทีมที่กำลังพาเข้าออกห้องแต่งตัว ชัดเจนด้วยสองตา

เขาถึงกับเข่าอ่อน แทบล้มทั้งยืนเมื่อรู้ว่า มาเลเซีย รอดพ้นความปราชัย และกำลังจะเข้ารอบ ซยาห์มี ตัวสั่น แข้งขาดูหมดแรง ดูจากภาษากาย เข้าใจได้ว่านาทีนั้น สติของเขาไม่อยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว แว่บหนึ่งในหัว ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึง หลุยส์ ซัวเรส ไม่ได้ในฟุตบอลโลก 2010 ที่ตัดสินใจถูก ด้วยการทำแฮนด์บอลป้องกันประตู ก่อนที่ อซาโมอาห์ กียาน จะยิงบอลข้ามคาน และทำให้ มิโลวาน ราเยวัช ชวดโอกาสทองพา กานา เข้าสู่รอบ 4 ทีมสุดท้ายฟุตบอลโลก

หากมองผิวเผิน เราคงรู้สึกว่า ราเยวัช เป็นโค้ชดวงแตกมากที่สุดคนหนึ่ง แต่ในทางฟุตบอล การยิงจุดโทษไม่เข้า ไม่ใช่เรื่องของดวงหรือโชคชะตาเพียงอย่างเดียว เพราะจากผลการศึกษา งานวิจัยฯ การรับมือสภาวะกดดัน การฝึกซ้อม สภาพจิตใจ การเลือกมุม น้ำหนักการยิง ในเวลานั้น มีผลต่อการยิงจุดโทษทั้งหมด

“ช่วงที่โดนตีเสมอค่อนข้างที่จะกดดันด้วย เพราะเขาจะมีประตูอเวย์โกลเข้ามา เราก็เลยเครียดช่วงปลายครึ่งแรก ถ้าเราได้อีกประตู น่าจะปิดเกมครึ่งหลังได้สบายกว่านี้”

“ช่วง 15 นาทีสุดท้ายของครึ่งแรก เกมไม่ปะติดปะต่อเลยในความรู้สึกของผม เราทุกคนพยายามทำประตู แต่ถ้าเสียอีกลูกเราจะทำงานหนักมาก โชคดีที่ไม่เสียประตูอีกในครึ่งแรก”

สรรวัชญ์ เดชมิตร อธิบายให้เห็นภาพถึงสถานการณ์ที่ความกดดัน ถูกโยนมาใส่ฝั่งผู้เล่นไทยเต็มๆ ส่งผลให้ครึ่งหลัง การจังหวะต่อบอลของไทย เกิดความผิดพลาดขึ้นหลายหน เรื่องการรับมือแรงกดดัน ความคาดหวัง เป็นส่วนที่ ราเยวัช ต้องเข้ามาช่วยเหลือลูกทีม หลังพลาดเป้าแชมป์ ซูซูกิ คัพ 2018

อย่างที่ทราบกันดี ความคาดหวังของคนไทยต่อรายการนี้ คือการเป็นแชมป์สถานเดียว เนื่องด้วยขุมกำลังที่ดีกว่า ลีกในภายประเทศ ที่แข็งแกร่งกว่า และศักดิ์ศรีของการเป็นแชมป์ถึง 5 สมัย ย่อมเป็นคลื่นความกดดันที่นักเตะทุกคนแบกรับและรู้ดีว่า “พวกเขาจะพลาดแชมป์ไม่ได้”

 14

เกมแรกที่ออกไปเยือน มาเลเซีย ไทยไม่เสียประตูก็จริง แต่จังหวะการเล่นเกมรุก ดูค่อนข้างเกร็ง เพราะกลัวเกิดข้อผิดพลาด กลัวเล่นไม่ตามแท็ติก จนดูไม่เป็นธรรมชาติ

ส่วนเกมที่สองในบ้าน ถึงแม้จะขึ้นนำก่อน แต่หลังจากถูกตีเสมอ เสียอเวย์โกล สิ่งที่เห็นในสนามคือ แข้งทีมชาติไทยเล่นด้วยความกดดัน จนทำผิดพลาดเอง เปิดโอกาสให้ มาเลเซีย ที่มาเยือนด้วยความมั่นใจกว่า แรงกระหายชัยชนะสูงกว่า (ไม่เป็นแชมป์มา 8 ปี) ใช้จังหวะไม่กี่ครั้ง เล่นงานเอาคืนได้ 2 ประตูทีมเยือน ที่โยนความกดดันใส่ไทยอีกมหาศาล

การรับมือกับแรงกดดัน ความคาดหวังที่สูงลิ่บลิ่ว เป็นเรื่องห้ามแฟนบอลไม่ได้ ซึงทีมงานสตาฟฟ์โค้ช ต้องบริหารจัดการให้ดี ส่วนนี้เป็นรายละเอียดที่มากกว่าเรื่องแท็คติก การแก้เกม และการเลือกใช้ผู้เล่นระบบ แต่จะทำยังไงให้นักเตะมีภูมิคุ้มกัน แบกรับความกดดัน ในเกมระดับสูง อย่างเอเชียน คัพ ได้ รวมถึงการทำให้แฟนบอล กลับมาเชื่อมั่นในทีมชุดนี้อีก

เช่นเดียวกับเรื่องสภาพจิตใจ ความจริง หากสมมุติว่า ไทย ไม่พลาดในรอบรองฯ และได้แชมป์ซูซูกิ คัพ ก่อนไปแข่งเอเชียน คัพ เชื่อว่าถึงเวลานั้น นักเตะทุกคนในทีม น่าจะมีขวัญกำลังใจที่ดี เต็มร้อย แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ที่ต้องมาจอดป้ายในรอบ 4 ทีมสุดท้าย

ไม่ต้องบอกก็พอเห็นภาพว่า สภาพจิตใจ ขวัญกำลังใจ ความมั่นใจ ของนักเตะทุกคนในทีม ย่อมหดหายลงไป จะเหลือเท่าไหร่จาก 100 เปอร์เซนต์ ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ แต่เชื่อว่ามันคงไม่มีทางเท่าเดิม หรือเพิ่มขึ้น

การบ้านของ ราเยวัช ในช่วงเวลาอีกหนึ่งเดือน ก่อนศึกใหญ่ จึงต้องใช้ จิตวิทยา เข้ามาช่วยควบคู่การแก้ไขจุดบกพร่องในการฝึกซ้อม รวมถึงการสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ และการทำให้นักฟุตบอล รู้สึกกดดันน้อยลง หรือรับมือกับแรงกดดันได้ดีขึ้น

เพื่อฟื้นคืนสภาพจิตใจให้กลับมา ก่อนทัวร์นาเมนต์ เอเชียน คัพ ที่ระดับการแข่งขันเข้มข้นกว่า เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ มากพอสมควร และไทยรอคอยการแข่งขันรายการนี้มานานหลายปี

ความผิดพลาดเพียงไม่กี่ครั้งในเกม อาจหมายถึงการถูกลงโทษในการเสียประตู เหมือนอย่างใน เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก ที่หลายครั้ง ที่สโมสรไทยเสียประตู เกิดขึ้นจากจังหวะความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยระหว่างเกม

 15

อย่างน้อยที่สุด ราคาที่ต้องจ่ายไปในการตกรอบ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018 ก็ควรต้องได้บทเรียนอะไรกลับมาเรียนรู้ บางทีความพ่ายแพ้ในวันนี้ เพื่อตื่นรู้ อาจดีกว่าไม่รู้อะไรเลย และไปแพ้ในวันข้างหน้า เพราะยังพอมีเวลาเหลืออยู่บ้างที่จะได้เห็นจุดอ่อนของตัวเอง เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุง…

ก่อนถึงเอเชียน คัพ 2019 ที่เปรียบเป็น สนามสอบปลายภาค ของพลพรรคช้างศึก ที่ต่างรู้ดีกันว่า คราวนี้ พวกเขาไม่สามารถสอบตกได้อีกครั้งเหมือนกับตอนสอบกลางภาคใน เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ ก่อนถึงเอเชียนคัพ : สิ่งที่ "ช้างศึก" ต้องเรียนรู้จากบาดแผลในเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook