"คริกเกตสร้างชาติ" เมื่อกีฬาจากอังกฤษกลายเป็นเครื่องมือสู่เอกราชของอินเดีย

"คริกเกตสร้างชาติ" เมื่อกีฬาจากอังกฤษกลายเป็นเครื่องมือสู่เอกราชของอินเดีย

"คริกเกตสร้างชาติ" เมื่อกีฬาจากอังกฤษกลายเป็นเครื่องมือสู่เอกราชของอินเดีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในยุคที่จักรวรรดิอังกฤษ ยึดครองอินเดีย “กีฬาคริกเกต” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งทางการเมือง แต่วันหนึ่งอินเดียกลับใช้ คริกเกต เป็นส่วนหนึ่งในการกู้เอกราชจากชาติต้นกำเนิดกีฬาชนิดนี้เสียเอง

ประเทศอินเดีย ในภาพจำของใครหลายๆคน คงเป็นดินแดนแห่งอารยธรรม ที่เปี่ยมไปด้วย ศาสนา ความเชื่อ เทพเจ้าต่างๆ ฯ เป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำคัญของโลก สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปแสวงบุญ ตามความเชื่อของแต่ละคน

“ความคลั่งไคล้ในกีฬา” จึงไม่ค่อยเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไป นึกถึง อินเดีย เป็นอันดับแรกมากนัก แม้ธุรกิจกีฬาอาชีพของพวกเขาจะเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะ “คริกเกต” ที่พวกเขาก้าวขึ้นมาเป็นชาติที่เก่งสุดในโลก ในกีฬาที่มีความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองแค่ ฟุตบอล ที่มีเงินสะพัด ปีๆหนึ่ง หลายพันล้านเหรียญดอลลาร์สสหรัฐ

 

จนเป็นกีฬาที่สามารถพูดได้เต็มปากว่า “คริกเกตอยู่ในสายเลือดของคนอินเดีย” แม้ไม่ใช่ชาติต้นกำเนิดกีฬาชนิดนี้

เพราะสำหรับ คนอินเดียและปากีสถาน คริกเกต มีความหมายมากกว่าแค่กีฬาที่ ขว้างลูกบอล ตีลูกบอล วิ่งรับลูกเท่านั้น แต่ คริกเกต ยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอม ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันของผู้คนภายในแผ่นดิน ที่มีความแตกต่างทาง ชาติพันธุ์ สีผิว ภาษา ศาสนา อย่างมาก

นำมาซึ่งการต่อสู้ร่วมกัน เรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคม “อังกฤษ” ที่นำกีฬาชนิดนี้มาให้คนอินเดียรู้จัก เหตุใด “คริกเกต” ถึงได้รับความนิยมอย่างมากที่นี่ จนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญในการสร้างประเทศ

อินเดียไม่เคยเป็นประเทศมาก่อน

หากย้อนกลับไปก่อนการประกาศเอกราช ในปี ค.ศ.1947 อินเดีย ไม่เคยเป็นประเทศเดี่ยวๆ แบบที่เราเห็นกันในแผนที่อย่างทุกวันนี้ บนแผ่นดินที่กว้างใหญ่นี้ถูกเรียกว่า  “อนุทวีปอินเดีย” ซึ่งแตกออกมาเป็นประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน ได้แก่ อินเดีย, ปากีสถาน, ศรีลังกา, บังคลาเทศ, ภูฏาณ, เนปาล

 1

อนุทวีปอินเดีย ประกอบไปด้วยแคว้นต่างๆหลายร้อยแคว้น ที่มีความแต่งต่างกันทาง ศาสนา ความเชื่อ วิถีชีวิต สภาพภูมิศาสตร์ ส่วนใหญ่ปกครองแบบราชาธิปไตย โดยมี เจ้าผู้ครองนคร, พระราชา ของแต่ละเมืองเป็นผู้ดูแลราษฏร

โดย ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ กษัตริย์ในจักรวรรดิที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย จักรวรรดิสุดท้ายของอนุทวีปอินเดีย คือ ราชวงศ์โมกุล ที่สืบทอดอำนาจมาจาก ราชวงศ์ตีมูร์

อนุทวีปอินเดีย เริ่มมีการติดต่อค้าขายกับ ชาติมหาอำนาจจากโลกตะวันตก มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยเริ่มจากโปรตุเกส เป็นชาติแรกที่เข้ามาทำการค้ากับ อินเดีย ก่อนที่ เนเธอร์แลนด์, อังกฤษ และฝรั่งเศส จะตามเข้ามาในศตวรรษต่อมา

เดิมที อังกฤษ ไม่ได้มีความคิดตั้งต้นที่ต้องการยึดครองอนุทวีปอินเดีย เพียงแค่ต้องการมาทำการค้าในแผ่นดินใหม่ ที่มีความอุดมสมบรูณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ จึงเริ่มจัดตั้งบริษัทเพื่อบริหาร และขนส่งสินค้ากันทางเรือ โดยเปลี่ยนทำเลจากเมืองสุรัต (Surat) มาอยู่ที่ เกาะบอมเบย์ (Bombay) หรือ นครมุมไบ ในปัจจุบัน  

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 คริกเกต เริ่มแพร่หลายไปในทั่วยุโรป โดยเฉพาะที่อังกฤษ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะเป็นกีฬาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเล่นนานหลายวันต่อหนึ่งเกม คนอังกฤษ อินกับคริกเกตมากสุด ถึงขนาดเล่นกันหามรุ่งหามค่ำ

เมื่อเข้าสู่ยุคที่ อังกฤษ เริ่มออกไปสำรวจดินแดนโพ้นทะเล เพื่อทำการค้าขาย และล่าอาณานิคม กีฬาสุดโปรดอย่าง คริกเกต ได้ถูกนำเผยแพร่ในประเทศต่างๆ ไม่ต่างกับ ฟุตบอล โดยเฉพาะประเทศในอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ที่ปัจจุบันกลายเป็นเสาหลักที่ทำให้ กีฬา คริกเกต ไม่ล้มหายตายจาก การันตีด้วยมีผู้ชมจากทั่วโลกมากกว่า 1,000 ล้านคน

มีหลักฐานบันทึกว่า คริกเกต ถูกนำเข้ามาสู่อนุทวีปอินเดีย ตั้งแต่ปี 1721 ตามบันทึกของลูกเรือชาวอังกฤษที่เขียนไว้ในปี 1734 ว่าได้มีการเล่นคริกเกตกัน บริเวณอ่าวขัมภัต (Cambay) จากนั้นในปี 1792 อังกฤษ ได้มีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลและคริกเกตกัลกัตตาขึ้น ซึ่งเป็นทีมของคนอังกฤษที่มาทำงาน ปกครองเมืองกัลกัตตา (Culcatta)

 2

ในเวลาเดียวกัน อังกฤษ เริ่มค่อยๆ คืบคลานปกครองอาณาจักรที่ใหญ่กว่าประเทศตัวเองหลายเท่า โดยมี ฝรั่งเศส เป็นคู่แข่งสำคัญใน คริสต์ศตวรรษที่ 17 ทั้งสองจักรวรรดิใช้วิธีการตั้งกองกำลังของตัวเอง ว่าจ้างคนในพื้นที่มาเป็นทหารรับจ้าง ผสมผสานกับการส่งขุนนาง ทหารฝีมือดีไปนำทัพรบในอนุทวีปอินเดีย มีการสู้รบหลายครั้ง เพื่อแย่งชิงอำนาจในเมืองสำคัญ โดย อังกฤษ เอาชนะ ฝรั่งเศส ไปได้ในสงคราม คาร์เนติก 3 ครั้ง (ช่วง 1746-1763)

จนในปี 1789 เกิดการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง ทำให้นโยบายในดินแดนโพ้นทะเลไม่เด็ดขาดเหมือนในอดีต สุดท้ายก็อ่อนกำลังลงไปในอินเดีย

ปล่อยให้ อังกฤษ ที่ให้ความสนใจจริงจังกับการยึดครองอนุทวีปอินเดีย เดินเกมต่อไปในช่วงที่บ้านเมืองอินเดียระส่ำอย่างหนัก จากประชาชนฮินดู ที่ต่อต้านราชวงศ์โมกุล ผู้เสื่อมใสในศาสนาอิสลาม อังกฤษใช้เงินซื้อขุนนาง ทหาร ภายในจักรวรรดิโมกุล มาเป็นไส้ศึก

จึงทำให้ จักรวรรดิโมกุล อ่อนกำลังลงมาก นาวับ (เจ้าผู้ครองเมือง) ทั้งหลายในเขตเบงกอล แยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระจากอำนาจปกครองส่วนกลาง ส่วน อังกฤษ ใช้เวลาการยึดครองด้วยการทำข้อตกลงสนธิสัญญา ให้พวกเขามีสิทธิ์ขาดในการปกครองเมือง โดยมีการตั้ง เจ้าปกครองเมือง ที่ตนเองบัญชาได้มาสวมหัวโขน เพื่อให้ชาวเมืองยังมีความรู้สึกว่า ผู้ปกครองเมือง ยังคงอยู่ในอำนาจ

แม้ไม่ใช่ทั้งหมดที่ยอมศิโรราบต่ออังกฤษ มีบรรดา พระราชา ทหาร ชนเผ่า กลุ่มกองโจร  ที่ต่อต้านอำนาจจากอังกฤษ ได้ทำการตอบโต้และสู้รบ แต่ด้วยยุทโธปกรณ์ ที่ทันสมัยกว่า การแตกกันเองภายในของคนอินเดีย ทำให้การต่อสู้จบลงด้วยชัยชนะของ อังกฤษ เสมอ ด้วยกำลังพลที่ใช้น้อยกว่าก็ตาม

อังกฤษ ใช้เวลากว่า 100 ปี ยึดครอง อนุทวีปอินเดีย ได้แทบทั้งหมด ยกเว้นบริเวณส่วนภาคตะวันเฉียงเหนือ เท่านั้นที่ไม่ได้มาอยู่ในอำนาจของอังกฤษต้นแรก

ใช้อำนาจการปกครองแบบ “บริติชราช” (British Raj) เริ่มต้นขึ้นในปี 1854 อันหมายถึง การปกครองโดยพระมหากษัตริย์จากสหราชอาณาจักรในอนุทวีปอินเดีย ซึ่งแบ่งการปกครองออกเป็น 2 รูปแบบ คือแบบดินแดนที่ปกครองโดยมีเจ้าพื้นเมือง เช่น ราชาฮินดู, เจ้ามุสลิม กับ แบบที่ปกครองโดยรัฐบาลที่เรียกว่า บริติชอินเดียน (British Indian) แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมของ เจ้าอาณานิคมอังกฤษ

บริติชราช ผูกขาดการค้า ร่างกฏหมายเก็บภาษีจากแผ่นดินที่ตนเองปกครอง ทำให้ความเป็นอยู่ของราษฏร เป็นไปด้วยความยากลำบาก จนมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Lagaan: Once Upon a Time in India (แผ่นดินของข้า) ที่ฉายให้เห็นถึงความยากลำบากของคนอินเดีย ในยุคที่ถูกอังกฤษ ปกครอง

 3

ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ใช้ฉากหลังเป็น เมืองจามปาเนอร์ (Champaner) ช่วงปี 1893 เมล็ดถั่วงาจากชาวบ้านที่เพาะปลูกหาเลี้ยงชีพ ถูกนำมาเป็นหนึ่งในภาษีที่เจ้าเมือง ต้องไปขูดรีดจากชาวบ้าน เพื่อนำไปบรรณาการแก่ เจ้าอาณานิคมอังกฤษ  แต่เนื่องจากไม่มีฝนตกมาตามฤดูกาล ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถส่งภาษีให้ได้

แต่มีการต่อรองกัน จนฝ่ายทหารอังกฤษ เสนอว่า หากชาวบ้านเล่นคริกเกตชนะพวกเขาได้ จะทำการยกเว้นการภาษีให้ 3 ปี แต่ถ้าแพ้จะต้องเสียเพิ่มเป็น 2 เท่า ซึ่งชาวบ้านได้รวบรวมผู้คนที่ต่างศาสนา ต่างวรรณะ มาเป็นผู้เล่น 11 คน แข่งกับทหารจากอังกฤษ ซึ่งท้ายที่สุด ชาวบ้านเอาชนะได้

เกิดที่อังกฤษ โตที่อินเดีย

มิติทางสังคมในสมัยที่ อังกฤษ เริ่มเข้ามาปกครอง อินเดีย ช่วงแรก พวกเขามองว่า วัฒนธรรม ความเชื่อ บางอย่างยังล้าสมัย มีการแบ่งชนชั้น วรรณะที่ชัดเจน ความขัดแย้งกันของคนต่างศาสนา จักรวรรดิอังกฤษ ใช้วิธีการวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้สนับสนุนศาสนาอิสลาม หรือฮินดู ฝ่ายไหนมากกว่ากัน

 4

รวมถึงไม่ได้มีความคิด ว่าต้องทำการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนให้เป็นแบบตะวันตก บังคับให้เข้ารีตคริสตศาสนา เพราะต้องการให้ชาวเมืองยินยอมจ่ายภาษี เพื่อที่ ชาวเมือง จะได้ไม่ต้องลุกฮือขึ้นมาประท้วง  

วิธีการที่ เจ้าอาณานิคม อังกฤษ นำมาใช้ คือการค่อยๆ นำเอา วิทยาการองค์ความรู้ การศึกษา กฎหมาย ค่อยๆ เข้าไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนท้องถิ่น ที่พวกเขามองว่า ขี้เกียจและอ่อนแอ เพื่อให้ตนเองสามารถปกครองแผ่นดินที่กว้างใหญ่นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ  

อังกฤษ ได้ออกกฎหมายให้อิสรภาพแก่ ทาส ทั้งหมดในอินเดีย และประกาศว่าการมีทาสอยู่ในครอบครอง เป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี 1843 รวมถึงพิธีฆ่าทารกแรกเกิดโดยเฉพาะเพศหญิง ในสังคมที่มีอุดมคติ “ผู้ชายเป็นใหญ่" และพิธีกรรมสตี ที่แม่หม้ายต้องกระโจนเข้าไปในกองไฟที่เผาศพสามี หากสามีเสียชีวิต เป็นเรื่องอังกฤษ ใช้เวลาควบคุมหลายสิบปี กว่าจะล้มล้างพิธีกรรมนี้ไปได้

หลังจาก อังกฤษ ได้ยึดครองตำแหน่งสำคัญในอินเดียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายบริหาร, ฝ่ายการศึกษา, ฝ่ายปกครอง, เศรษฐกิจ, กิจการสื่อมวลชน ตามความตั้งใจแล้ว คริกเกต ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษ เล็งเห็นว่า เหมาะจะนำมาใช้ ถ่ายทอดวิถีชีวิตแบบวิคตอเรีย สู่สังคมอินเดีย

รวมถึงยังเป็นตัวเชื่อมรสนิยมทางวัฒนธรรมระหว่าง อังกฤษ และอินเดีย ผ่านกีฬาที่ถูกวางตำแหน่งไว้เป็น “กีฬาของสุภาพบุรุษชนชั้นสูง” ที่มีความสง่างาม ความอดทน และมีพลัง เพราะการแข่งขันคริกเกตแบบดั้งเดิม (Test Cricket) ใช้เวลาในการแข่งขันที่ยาวนานตลอด 5 วัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น

ผู้เล่นคริกเกต นอกจากจะต้องมีฝีมือทั้งเกมรุก และรับ ในการตี ขว้าง และวิ่งรับลูกแล้ว คำว่า Test ในทางคริกเกต ยังหมายถึงการทดสอบสภาพจิตใจ ความอดทนของร่างกาย ในการแข่งขันที่ยาวนาน การเล่นเป็นทีมเวิร์กที่ไม่สามารถชนะได้ด้วยผู้เล่นเพียงคนเดียว นี่จึงเป็นค่านิยมที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษ ต้องการถ่ายทอดสู่สังคมอินเดีย ที่พวกเขามองว่าล้าหลัง ไม่มีชีวิตชีวา และขาดทีมสปิริต

 5

นอกจากนี้ เจ้าอาณานิคมอังกฤษ ยังใช้ คริกเกต เพื่ออำนาจรักษาในการปกครอง ด้วยการชักชวนให้กลุ่มคนชนชั้นสูงของอินเดีย อย่าง เจ้าผู้ครองเมือง มาทำความรู้จัก ฝึกหัดเล่น คริกเกต เพื่อให้บรรดาเจ้าชาย หรือ พระราชาเหล่านี้ มีความคิดเป็นแบบผู้ดีวิกตอเรีย ซึ่งง่ายต่อการปกครองในระยะยาว

พวกเจ้าชายต่างๆ ในบริติชราช มองเห็นว่า นี่เป็นโอกาส ที่จะเข้าใกล้อำนาจระดับสูงจากเจ้าอาณานิคม ที่มี สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เป็นจักรพรรดินีนาถแห่งอินเดีย หากพวกเขาสามารถสร้างทีมคริกเกต ไปเล่นกับ เหล่าชนชั้นปกครองผิวขาวได้

บรรดาเจ้าผู้ครองเมือง จึงเริ่มทำการสร้างสนามคริกเกต, ทีมคริกเกตประจำท้องถิ่น และฟอร์มทีมนักกีฬาขึ้นมา ในช่วงกลางจนถึงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 18 โดยเฉพาะใน นครมุมไบ ศูนย์กลางอำนาจของ บริติชราช

กระแสคริกเกตเริ่มขยายออกไปในวงกว้างถึงชาวเมือง จากการสนับสนุนของ ลอร์ด แฮร์ริส ผู้ว่าการนครมุมไบ ในปี 1890-1893 ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากสุดคนหนึ่งที่ทำให้ กีฬาที่มีต้นกำเนิดจากอังกฤษ เติบโตเต็มวัยบนแผ่นดินอินเดีย

ลอร์ด แฮรริส เชื่อว่า คริกเกต สามารถช่วยเชื่อมสัมพันธ์ ระหว่างแผ่นดินใต้อาณานิคมกับจักรวรรดิอังกฤษ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และช่วยลดความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดู และชาวมุสลิม ภายในประเทศให้เบาบางลง ผ่านเงื่อนไข และค่านิยมที่ดีของกีฬาสุภาพบุรุษ ที่ไม่ปิดกั้นว่า ผู้เล่นคนนั้น จะมาจาก ชนชั้นวรรณะสูง-ต่ำ แค่ไหน รูปร่างเป็นอย่างไร นับถือศาสนาใด เมื่ออยู่ในสนามคริกเกต ทุกคนเท่าเทียมกัน และต้องร่วมมือกันเล่น เพื่อพาทีมประสบความสำเร็จ

มุมไบ จึงเป็นทั้งศูนย์กลางในการกระจายอำนาจของ เจ้าอาณานิคมอังกฤษ รวมถึงยังเป็นบ้านเกิดของวัฒนธรรมคริกเกต ในอินเดีย ที่แผ่ขยาย ไปยังเมืองอื่นๆ มีสโมสรคริกเกตจำนวนมากเกิดขึ้นทั่วอินเดีย โดยการแข่งขันคริกเกตอย่างเป็นทางการครั้งแรกในอินเดีย เกิดขึ้นในปี 1864 ระหว่าง กัลกัตตา พบกับ มัทราฐ (เมืองเชนไน ในปัจจุบัน)

 6

ช่วงแรกที่มีการตั้งสโมสรคริกเกตในอินเดีย ผู้เล่นส่วนใหญ่ของทีม จะไม่ใช่คนท้องถิ่นเสียทีเดียว แต่กลับเป็น คนอังกฤษที่มีอำนาจ ทำงานอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ลงเล่นร่วมกับ เจ้าชาย, ขุนนางระดับสูง เชื้อพระวงศ์ แต่หลังจากนั้น ประชาชนอินเดีย เริ่มเข้าถึงและเข้าใจคริกเกตได้ง่ายขึ้น

หลังจากได้รับการสอนภาษาอังกฤษ จากมิชชันนารี รวมถึงยังได้มีการแปลคำศัพท์ วิธีการเล่นคริกเกต เป็นภาษาท้องถิ่น เช่น ทมิฬ, ฮินดู, มราฐี, บังกลาเทศ ฯลฯ ทำให้ คริกเกต ใกล้ชิดกับชาวเมืองมากขึ้นไปอีก ประกอบกับการที่ในแต่ละหมู่บ้าน มีพื้นที่ขนาดใหญ่มากพอ ที่สามารถทำลานฝึกหัดเล่นคริกเกต ได้หลายแหล่ง ชาวเมืองจึงเริ่มมีฝีมือในการเล่นมากขึ้น

ทำให้ในเวลาต่อมา สโมสรคริกเกตอินเดีย จึงไม่ต้องใช้คนอังกฤษมาเล่นให้ทีมท้องถิ่นต่อไป อย่างในคริสต์ทศวรรษที่ 19 มีการแบ่ง ทีมคริกเกตในอินเดีย ออกเป็น 2 ฝ่ายชัดเจน คือ ทีมของคนอังกฤษ กับทีมของคนอินเดีย

ในปี 1892 มีการจัดแข่งขันคริกเกต (Cricket First Class) ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ นครมุมไบ ในชื่อ Bombay Presidency แมตช์แรกเป็นการพบกันระหว่างทีมปูเน่ (Poona) พบกับ ปาร์ซี (Parsees) สโมสรคริกเกตอินเดียทีมแรก ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1840 โดยชาวเปอร์เซียในมุมไบ ผลการแข่งขัน ปาร์ซี เอาชนะไปได้ 3 วิกเกต

ต้นปี 1893 ลอร์ด ฮอว์ก กัปตันคริกเกตทีมชาติอังกฤษ นำทีมมาทัวร์อินเดีย ในขณะนั้น อินเดีย ยังไม่ได้เป็นชาติที่เป็นปึกแผ่น จึงได้ทำการรวบรวมผู้เล่นคริกเกตฝีมือดีจากหลายสโมสร ลงเล่นในนามทีม ออล-อินเดีย ซึ่งนั่นอาจเป็นครั้งแรก ที่สโมสรคริกเกตให้ความรู้สึกถึงความเป็นชาติของอินเดีย

ต่อมาในปี 1899 สโมสรปาร์ซี เดินทางไปทัวร์อังกฤษบ้าง แม้ไม่ได้ประสบความสำเร็จในแง่ของผลการแข่งขัน เพราะพ่ายแพ้ต่อเจ้าถิ่น แต่ได้สร้างความตื่นตัวให้กับทีมคริกเกตในอังกฤษ สนใจเดินทางมาทัวร์ที่อินเดียบ่อยขึ้น ขณะที่การแข่งขันภายในประเทศ เริ่มขยายตัวมากขึ้น จนกลายมาเป็นการทัวร์นาเมนต์ระดับประเทศได้ในช่วง คริสต์ทศวรรษ 1930

 7

อีกหนึ่งแรงขับสำคัญที่ทำให้ คนอินเดีย สนใจคริกเกต เพราะกีฬานี้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของ ชาวบ้าน เนื่องจากคริกเกตไม่ได้สนใจปูมหลังของนักกีฬาว่ามาจากครอบครัว ชนชั้นใด เมื่อการแข่งขันเริ่มสูงขึ้น สโมสรต่างๆ ที่มีเจ้าชายน้อยใหญ่ดูแลอยู่นั้น ย่อมต้องมองหานักกีฬาที่มีความสามารถ เข้ามาสู่ทีม

เงินจำนวนมาก ถูกใช้ลงไปการปรับปรุงสนาม อุปกรณ์ ว่าจ้างโค้ชชาวต่างชาติ ที่สำคัญ เจ้าของสโมสร ยังทรงให้การอุปถัมภ์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม แก่นักกีฬาคริกเกตในสังกัด ไม่ว่านักคริกเกตคนนั้น มีสถานะทางสังคมต้อยต่ำเพียงใด หากมีความสามารถมากพอ ชีวิตความเป็นอยู่ของเขา และครอบครัวจะดีขึ้น จากเงินทอง สิ่งตอบแทน ที่เจ้าของทีมประทานให้

สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นกุญแจสำคัญที่เปิดประตูให้ ประชาชนอินเดียทั่วไป สามารถเข้าไปสู่โลกที่ยิ่งใหญ่ของคริกเกตได้ ยิ่งเมื่อมีตัวอย่างความสำเร็จของ คนชนชั้นล่างที่พลิกชีวิตด้วยคริกเกต อย่าง มัชทัก อาลี (Mushtaq Ali), วิชัย ฮาสาเร (Vijay Hazare) และ ลาลา อมาร์นาฐ (Lala Amarnath) สามตำนานนักคริกเกตของอินเดีย ยิ่งเป็นตัวจุดประกายความหวังแก่ ผู้คน สนใจนิยมกีฬาคริกเกต เพิ่มขึ้น

ยังรวมไปถึง เจ้าชายรานจิ (Ranjitsinhji) ชายผู้สูงศักดิ์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น Batsman (มือตี) ที่ดีสุดตลอดกาลของอินเดีย พระองค์ทรงทำให้ชาวต่างชาติยอมรับในพรสวรรค์ ฝีมือการเล่นคริกเกตของคนอินเดีย

 8

เจ้าชายรานจิ ทรงเคยเล่นให้สโมสรคริกเกตในอังกฤษ รวมถึงยังเป็นต้นแบบ และเป็นภาพจำของชาวต่างชาติที่มีต่อนักกีฬาอินเดีย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เหมือนกับ นักฟุตบอลบราซิล ที่สไตล์แตกต่างกับ นักฟุตบอลอังกฤษ สุดขั้ว

ทั้งในด้านทักษะการตีลูกที่เข้าขั้นอัจฉริยะ รวมถึงการเคลื่อนที่ร่างกายอ่อนไหว ยืดหยุ่น ราวกับไม่มีกระดูก โดยมีคาแรกเตอร์ภายนอกที่นิ่ง อดทน แต่เปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่น แข็งแกร่ง และมีพละกำลังสูง

 9

เจ้าชายรานจิ ทรงถูกยกให้เป็น สัญลักษณ์ของคนอินเดียในยุคนั้น ที่มีความอดทน ต่อการอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และทำให้คนอินเดีย ภาคภูมิใจพระปรีชาความสามารถ ด้านกีฬาคริกเกตของพระองค์

จากสนามคริกเกตสู่เอกราช

“ดูเหมือนคริกเกตน่าจะเป็นรูปแบบทางวัฒนธรรม ที่ต่อต้านการมีส่วนร่วมของชาวพื้นเมือง แต่ในความเป็นจริงนั้น ชาวพื้นเมืองกลับมีส่วนร่วมกับกีฬานี้อย่างเต็มที่ จนทำลายความเป็นมรดกของระบอบอาณานิคมไป”

“ในขณะที่อินเดียละทิ้งสิ่งต่างๆ จากยุคอาณานิคมไป กีฬาคริกเกตกลับสามารถปรับตัวจนกลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ในที่สุด”

 10

ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ Modernity at Large Cultural Dimensions of Globalization ของ
อรชุน อัปปาดูรัย (Arjun Appadurai) นักมานุษยวิทยา และนักวิชาการด้านโลกาภิวัฒน์ ชาวอินเดีย ที่มีบทหนึ่ง (Playing with Modernity: The Decolonization of Indian Cricket) เป็นการเขียนถึง กีฬาคริกเกตในอินเดีย

ในแง่ที่ว่า ได้ถูกแปลงสภาพจากเครื่องมือของอังกฤษ กลายมาเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนอินเดียที่มีแตกต่างกัน เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียว ปลุกความรักและหวงแหนชาติขึ้นมา จนนำมาซึ่งความคิดที่อยากปลดแอกจากการอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษ โดยเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ มาจากคุณค่าในกีฬาคริกเกต

หากมองในภาพรวม ระหว่างปี 1870-1930 คนอินเดีย เล่นคริกเกตเพื่อทดลองใช้ชีวิตแบบชนชั้นสูงอังกฤษ ขณะที่เจ้าอาณานิคม ใช้คริกเกตเป็นเครื่องมือเพื่อขัดเกลาทางสังคม ด้วยเหตุผลที่ว่า คริกเกตสามารถสื่อสารคุณค่าแบบชาววิกตอเรียนชั้นสูง ได้ดีกว่าวัฒนธรรมรูปแบบอื่นๆ

เพราะคริกเกตในยุคนั้น เป็นกีฬาสำหรับสุภาพบุรุษ ที่สะท้อนค่านิยมแบบวิกตอเรียที่ว่า ลูกผู้ชายต้องมีน้ำใจนักกีฬา, การแสดงออกอย่างห้าวหาญ ละทิ้งความเป็นส่วนตัว ทำเพื่อส่วนรวมอย่างไม่มีข้อแม้ ผ่านการแข่งขันยาวนานเกือบสัปดาห์

แม้เป็นกีฬาของชนชั้นสูง แต่ผู้เล่นกลับเป็นชนชั้นแรงงาน การที่คนต่างสถานะทางสังคม ต่างความเชื่อ ต้องร่วมมือกัน เล่นร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้ทีมชนะ เรื่องของน้ำใจนักกีฬา แนวคิดนี้ ถูกส่งมายังผู้คนท้องถิ่น เมื่อได้รับการศึกษาสูงขึ้น เข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ รากเหง้าตัวเอง ก็เริ่มมีความคิดมากขึ้น

หากเปรียบกับเกมคริกเกต ช่วงก่อนถูกจักรวรรดิอังกฤษ ยึดครอง “อินเดีย” มีผู้เล่นในสนามมากกว่า อังกฤษ หลายเท่า แต่เพราะต่างคนต่างคน ต่างไม่ร่วมมือ และแตกกันเอง ทำให้อังกฤษที่เล่นเป็นทีมกว่า อดทนกว่า เป็นฝ่ายรบชนะได้ แม้มีผู้เล่นน้อยกว่า นีคือ คุณค่าที่ถูกส่งตรงผ่านกีฬา ที่คนอินเดียส่วนมากในยุคนั้น เคยสัมผัสไม่ทางใดก็หนึ่ง

จนเรียนรู้ว่า คริกเกต ไม่สามารถชนะได้ด้วยผู้เล่นเก่ง ที่มีความคิดอยากเด่นดังเพียงคนเดียว โดยไม่สนใจทีม แต่สามารถชนะได้ด้วยความสามัคคี และความอดทน

แม้อังกฤษ ทำการปรับปรุงระบบคมนาคมขนาดใหญ่ และรวมถึงฟื้นฟูศาสนาฮินดูขึ้นมา ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ความไม่พอใจต่ออังกฤษ และความต้องการสิทธิในการปกครอง อิสรภาพค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับการเติบโตของคริกเกตในอินเดีย

 11

คนอินเดียชนชั้นสูง ที่มีการศึกษา กลายเป็นกลุ่มคนว่างงานในประเทศ เนื่องจากไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมให้พวกเขาทำ และตำแหน่งระดับสูงตกเป็นของคนอังกฤษที่มาปกครองเสียหมด

ตัวอย่าง มหาตมะ คานธี ต้องเดินทางออกไปประกอบอาชีพ ทนายความ ในแอฟริกาใต้ถึง 21 ปี ก่อนเดินทางกลับมาร่วมเป็นหนึ่งในผู้นำคนสำคัญ ในการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ

เช่นเดียวกับ แกนนำหลายคน ล้วนแล้วแต่เป็นพวกนักวิชาการ ผู้นำทางศาสนา นักกฎหมาย ครูอาจารย์ นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ โดยยึดแนวทาง อหิงสา ที่ไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้ความอดทน และความสามัคคี ในการต่อสู้

ในช่วงคริสตทศวรรษ 1920-1930 นับเป็นช่วงเวลาที่ วงการคริกเกตอินเดีย เบ่งบานสุดขีด เริ่มจากในปี 1921 ทีมออล-อินเดีย ที่เปรียบเสมือนทีมชาติของพวกเขา เดินทางไปเยือนอังกฤษเป็นครั้งแรก ต่อมาตัวแทนจากสโมสรกัลกัตตา ได้เข้าร่วมประชุมกับ องค์กรคริกเกตโลก (ปัจจุบันเป็น สภาคริกเกตนานาชาติ) ในปี 1926 คณะกรรมการควบคุมคริกเกตแห่งอินเดีย (BCCI) ก่อตั้งขึ้น และได้รับรองสถานะสมาชิกของ สภาคริกเกตนานาชาติ (ICCI) ในปี 1928  

4 ปีต่อมา ทีมคริกเกตอินเดีย เข้าร่วมการแข่งขัน Test Cricket ในอังกฤษ จัดเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติ ในนามทีมชาติครั้งแรก เรียกว่าการก่อตั้งทีมชาติคริกเกตของอินเดีย เกิดขึ้นก่อน อินเดีย ได้รับเอกราชเสียอีก

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ อังกฤษ อาจมองข้ามไป เพราะการที่คนอินเดียได้เห็นทีมชาติตัวเอง ลงแข่งขันในระดับนานาชาติ ยิ่งกระตุ้นให้พวกเขาเกิดความภูมิใจในตัวตน ความเป็นอินเดีย แนวคิดชาตินิยม เติบโตขึ้นที่นั้น

การประท้วงเรียกร้องเอกราช จากอังกฤษ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอินเดีย ทั้งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงเข้าสู้ และกลุ่มที่ยึดแนวทางแบบ คานธี ที่ไม่ใช้ความรุนแรง

 12

หนึ่งในสถานที่ ที่กลุ่มผู้เรียกร้องเอกราช มักเลือกใช้ในการนัดหมายชุมนุม คือ สนามคริกเกต สถานที่รองรับผู้คนจำนวนหลายหมื่นชีวิต ที่ทุกคนในเมือง รู้จักเป็นอย่างดี และเคยได้ไปแสดงตัวตนในความเป็นท้องถิ่น ผ่านการเชียร์ทีมคริกเกตประจำเมือง

การต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดีย ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน 30 กว่าปี อังกฤษ ใช้กฎหมายที่แข็งขึ้น เพื่อจับกุม การปราบปรามผู้ต้องสงสัยว่ามีแนวคิดกู้ชาติ สถานการณ์ที่ตึงเครียดหลายปี ทำให้ทั่วโลกจับตาสถานการณ์ในอินเดีย ถึงท่าทีของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ

อังกฤษ ปกครองอินเดียได้ยากลำบากขึ้น ถึงขนาดต้องทำการเปลี่ยนอุปราชในทุกปี สถานการณ์การเมืองยืดเยื้อจนมาถึงปี 1939 สงครามโลก ครั้งที่สองเกิดขึ้น รัฐบาลอังกฤษ ประกาศให้ อินเดียเข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร

ในช่วงสงครามที่ยาวนานถึง 6 ปี อินเดีย มีการเจรจาเรียกร้องเอกราชจาก อังกฤษ อยู่สม่ำเสมอ โดยมี พรรคคองเกรส และพรรคสันนิบาตมุสลิม เป็นโต้โผหลัก ในการเจรจาเรียกร้องสันติภาพโดยทันที อย่างไรก็ดี ปัญหาในอินเดีย มีความซับซ้อนที่เกินกำลังกว่า อังกฤษ จะแก้ไขทั้งเรื่องปากท้อง, ฉาตกภัย (ภัยจากความแห้งแล้ง) และโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนนับล้าน รวมถึงปัญหาจากการเมืองในอินเดีย ที่ประชาชน ไม่ต้องการอยู่ภายใต้ จักรวรรดิอังกฤษ

แถมอังกฤษ ยังได้รับความบอบช้ำไม่น้อยจากสงครามโลกครั้งที่สอง ในที่สุด วันที่ 18 กรกฎาคม 1947 อินเดีย ได้รับเอกราช พร้อมกับการเกิดขึ้นใหม่ของ 2 ประเทศได้แก่ สาธารณรัฐอินเดีย และสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ในเวลานั้น ถือเป็นการสิ้นสุดการปกครองจากอังกฤษ บนแผ่นดินอินเดีย

 13

สองชาติที่มี “คริกเกตอยู่ในสายเลือด” ได้เรียนรู้คุณค่าของความอดทนนับร้อยปี ยามถูกโจมตี จาก ผู้เล่น Bowler อันหมายถึงเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และตอบโต้ได้อย่างยอดเยี่ยมประดุจผู้เล่นตำแหน่ง Batsman ยามเรียกร้องเอกราช ภายใต้พื้นฐานของการทำงานร่วมเป็นทีม

 14

หากวันนั้นผู้คนในอินเดีย ยังขัดแย้งกันเอง ชิงดีชิงเด่น และไม่ร่วมมือกันสู้ เพื่อต่อรอง กับมหาอำนาจของโลก  วันนี้ พวกเขาอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่เป็นชาติชั้นนำด้านเศรษฐกิจ และคริกเกตโลกอย่างในปัจจุบัน

“จิตวิญญาณอันมุ่งมั่น เมื่อมารวมกับความเชื่ออย่างไม่มีเงื่อนไขในภารกิจของตนแล้ว จะสามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้” - มหาตมะ คานธี  

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ "คริกเกตสร้างชาติ" เมื่อกีฬาจากอังกฤษกลายเป็นเครื่องมือสู่เอกราชของอินเดีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook