"อาร์เธอร์ แอช" : นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก.. ผู้ขอไม่รับคำยกย่อง

"อาร์เธอร์ แอช" : นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก.. ผู้ขอไม่รับคำยกย่อง

"อาร์เธอร์ แอช" : นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก.. ผู้ขอไม่รับคำยกย่อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยูเอส โอเพ่น คือทัวร์นาเม้นต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดรายการหนึ่งในการแข่งขันเทนนิสระดับโลก นี่คือรายการที่รวบรวมเอานักนักหวดลูกสักหลาดที่ดีที่สุดมาชิงความเป็นหนึ่ง และสังเวียนที่ยอดฝีมือเหล่านี้ ขับเคี่ยวกันมีชื่อว่า อาร์เธอร์ แอช สเตเดี้ยม

 

การจะถูกนำชื่อมาตั้งเป็นชื่อสนามแห่งนี้เกิดจากความยิ่งใหญ่ของนักเทนนิสอเมริกันคนเชื้อสายแอฟริกันคนแรกที่เอาชนะยุคสมัยแห่งความชิงชังในสีผิวที่แตกต่าง อาร์เธอร์ แอช เจอกับอะไรบ้าง? และสิ่งใดที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการแร็คเก็ตได้ถึงเพียงนี้? นี่คือเรื่องราวที่สุดยิ่งใหญ่ของการก้าวข้ามอุปสรรคแห่งยุค

จงเล่นเทนนิส!

ย้อนกลับไปเมื่อสักยุคปี 1950 ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา คือประเทศที่ยังมีปัญหาการเหยียดผิวรุนแรง ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ถูกมองว่าเป็นคนที่อยู่ต่ำกว่าชั้นวรรณะของคนขาว พวกเขาต้องยอมรับเงื่อนไขที่ถูกสร้างขึ้นแบบไร้ข้อโต้เเย้ง

 1

ม้านั่งสำหรับนั่งพักในสวนสาธารณะมีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าสำหรับคนขาวเท่านั้น การขึ้นรถโดยสารสาธารณะนั้นชาวแอฟริกัน-อเมริกันต้องลุกขึ้นหากมีคนขาวเข้ามานั่ง การแบ่งแยกลุกลามไปถึงการใช้ห้องน้ำที่มีการแบ่งแยกสีผิวโดยเฉพาะ

ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ในสมัยนั้นจึงไม่มีทางเลือกนัก เป็นเรื่องยากมากที่จะหลุดพ้นคำวิจารณ์และดูถูกได้ ต่อให้พวกเขามีความสามารถที่โดดเด่นระดับอัจฉริยะ ยกตัวอย่าง โดโรธี แดนดริดจ์ ศิลปินสาวที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์รอบด้าน แต่กลับไปไม่ถึงดวงดาวเหมือนกับ มาริลีน มอนโร และ เอวา การ์ดเนอร์ ที่เป็นคนขาว เธอทำได้ดีที่สุดแค่เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมเท่านั้น ก่อนจะค่อยๆหายไปจากวงการฮอลลีวู้ด

นี่คือตัวอย่างของความยากลำบากในสมัยนั้นที่ อาร์เธอร์ แอช ในวัยเด็กต้องเจอ เขาเป็นลูกชายในครอบครัวแอฟริกัน-อเมริกัน ตามแบบฉบับยุคเมื่อสัก 60-70 ปีก่อน นั่นคือ "ยากจน"

แม่ของอาร์เธอร์เสียชีวิตจากโรคครรภ์เป็นพิษ ปล่อยให้เขาและน้องชายต้องอยู่กับพ่อที่เป็นช่างซ่อมบำรุงซึ่งเป็นลูกจ้างของสถานีตำรวจริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย

แม้จะยากจนแต่พ่อของเขาไม่ได้เลี้ยงลูกทิ้งๆขว้างๆ พ่อของอาร์เธอร์วางกฎระเบียบในครอบครัวเคร่งครัด ลูกของเขาต้องอ่านหนังสือให้มากๆ เรียนให้เก่งๆ และต้องมีความเป็นเลิศด้านกีฬา ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 3 สิ่งที่เน้นย้ำคือสิ่งที่จะติดตัวลูกๆของเขาไปจนวันตาย มันคือการลงทุนที่ต้องยอมให้ลูกต้องร้องไห้จากการดุด่าว่ากล่าวและบังคับในวัยเด็กบ้าง

อาร์เธอร์อ่านหนังสือหนัก และกีฬาคือช่วงเวลาที่ทำให้เขาได้ผ่อนคลายบ้าง เขามีเพื่อนที่โรงเรียนที่รวมตัวกันมาเล่นอเมริกันฟุตบอลกีฬายอดฮิตของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่สวนสาธารณะบรู้กฟิลด์ อย่างไรก็ตาม แม้จะอยากเล่นด้วยแค่ไหน แต่ก็ไม่มีสิทธิ์ทำได้ พ่อของเขากำชับเด็ดขาดว่า "ห้ามเล่นอเมริกันฟุตบอล" เพราะตอนเด็กๆเขาตัวเล็กและผอมกระหร่อง เพื่อนๆมักเรียกเขาว่า "สกินนี่" (ไอ้แห้ง) และ "เดอะ โบนส์" (ไอ้กระดูกเดินได้) หากปล่อยไปเล่นกีฬาที่ใช้แรงกระแทกใส่กัน เกรงว่าอนาคตของลูกชายจะเสียไปเปล่าๆ

ด้วยเหตุนี้จึงให้หันมาเล่นเทนนิสตั้งแต่เจ็ดขวบ แม้ไม้เทนนิสจะใหญ่กว่าตัวลูกชาย แต่อย่างน้อยๆมันก็เป็นกีฬาที่ไม่ต้องกระทบกระทั่งกันมากนัก...

โชคดีมากที่พ่อของเขาเป็นพนักงานจ้างของสวนสาธารณะบรู้กฟิลด์ จึงทำให้สามารถใช้สนามเทนนิสฟรีแบบไม่เสียเงินได้ การฝึกเองแบบงูๆปลาๆ ทำให้อาร์เธอร์มีเทคนิคติดตัวบ้างนิดหน่อย ทว่าจุดเปลี่ยนที่แท้จริงคือการได้เรียนรู้กับ "ก็อดฟาเธอร์" แห่งวงการเทนนิสผิวสีอย่าง วอลเตอร์ จอห์นสัน ชายแอฟริกัน-อเมริกันผู้ที่เรียนจบระดับด็อกเตอร์ และเก่งกาจด้านกีฬา ซึ่งพ่อของอาร์เธอร์ ยอมเสียเงินราวสัปดาห์ละ 4 ดอลลาร์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน และเข้าแคมป์เทนนิสเพื่อเด็กผิวสี

ทักษะที่นำติดตัวมาถูก ดร.วอลเตอร์ เหลาให้เฉียบคมขึ้น อาร์เธอร์โดนสั่งให้วิ่งให้เร็ว และจงอย่าอยู่ห่างจากจุดที่ลูกเทนนิสตกเกิน 2 นิ้ว และที่สำคัญคือ "จงอย่าเถียงกรรมการ" เพราะมันเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะเกิดการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

 2

ที่แคมป์แห่งนี้ อาร์เธอร์ไม่ได้แค่ซึมซับเอาทักษะด้านเทนนิสจาก ดร.วอลเตอร์ เท่านั้น เขายังได้ซึมซับการใช้ชีวิตของตำนานคนเชื้อสายแอฟริกันที่ทำให้โลกยอมรับ เขารู้ดีว่าเส้นทางที่ตัวเองเลือกนั้นไม่ง่าย แต่การได้เห็น ดร.วอลเตอร์ ที่มีฉายาตอนเล่นกีฬาว่า "ไอ้ลมกรด" ด้วยตาตัวเองทุกวันทำให้เขาได้ข้อคิดบางอย่าง

"จงเริ่มจากจุดที่คุณอยู่ ใช้ในสิ่งที่คุณมี และทำในสิ่งที่คุณสามารถทำได้" นี่คือสิ่งที่เขาได้รับจากแคมป์ที่ถูกสร้างด้วยคนที่ยิ่งใหญ่ กำลังจะส่งต่อปณิธานให้อนาคตใหม่เจิดจรัสขึ้นมาอีกด้วย ทุกอย่างที่ได้เรียนรู้กำลังกลั่นเป็นคุณภาพในการเล่นเทนนิสที่เก่งกาจขึ้นของ อาร์เธอร์ แอช และยังทำให้เขาเป็นคนที่มีความแข็งแกร่งภายในจิตใจอย่างไม่น่าเชื่อ

จงเป็นยอดนักเทนนิส

อาร์เธอร์ แอช มีทักษะการเล่นที่ดีขึ้นชัดเจนเมื่ออายุ 15 ปี และที่สำคัญคือเขาปรับทัศนคติตัวเองได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลมาจากหนังสือที่พ่อของเขาบังคับให้อ่าน เขาไม่ได้อ่านแค่เรื่องกีฬา แต่เขายังศึกษาประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม และสารพัดหนังสือที่พ่อของเขายืมมาจากห้องสมุดชุมชนมาให้ "โลกของนักอ่านนั้นกว้างกว่าโลกของคนเขลา" คำพูดนี้พิสูจน์ได้ด้วยการมีตัวตนอยู่ในสังคมของแอช

 3

สมัยนั้นแม้ว่าเขาจะเก่งแล้วแต่ก็ใช่ว่าจะหาทางพิสูจน์ตัวเองได้ง่ายๆ เพราะเขาถูกห้ามลงเเข่งกับคนขาวในช่วงที่เรียนอยู่ในปี 1960 อีกทั้งยังไม่สามารถใช้สนามในร่มของเมืองที่ปิดกั้นไม่ให้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันได้ใช้งานร่วมกันด้วย

แต่การที่เป็นคนเด็ดเดี่ยวและเป็นนักเรียนที่น่าเอ็นดูแถมยังมีอนาคตไกลทำให้ ดร.วอลเตอร์ จัดการพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ริชาร์ด ฮัดลิน จากเซนต์ หลุยส์ เพื่อให้นำอาร์เธอร์ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในเมืองนั้น ซึ่งเขาจะได้ลงเล่นเทนนิสอย่างเป็นอิสระมากขึ้น

ศาสตราจารย์ฮัดลิน ตอบกลับคำขอจากเพื่อนซี้ และเชื่อใจเต็มที่ว่าสิ่งที่ ดร.วอลเตอร์ แนะนำมาคือสิ่งที่เขาควรสนับสนุน เขาไม่เพียงแต่ย้ายที่เรียนให้อาร์เธอร์เท่านั้น แต่ยังให้ อาร์เธอร์ เเอช เข้ามากินอยู่กับครอบครัวของเขาเป็นระยะเวลา 1 ปี และยังเป็นคนวิ่งเต้นให้อาร์เธอร์ได้รับใบอนุญาตให้แข่งขันระดับ Interscholastic ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนไปแข่งขันระหว่างสถาบันการศึกษาได้

อาร์เธอร์ตอบกลับความมั่นใจที่ผู้มีพระคุณมอบให้ เขาจัดการเอาชนะได้ทั้งหมด กลายเป็นผู้เล่นแอฟริกัน-อเมริกัน คนแรกที่ได้รับรางวัลเทนนิสระดับจูเนียร์ของอเมริกา และได้ต่อยอดด้วยการไปเรียนในมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UCLA) ซึ่งมีข้อแลกเปลี่ยนเล็กน้อยคือเขาต้องเข้ารับราชการเป็นทหารหลังศึกษาจบเพื่อแลกกับค่าเล่าเรียนที่รัฐเป็นคนออกให้

 4

"การเหยียดเชื้อชาติไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างที่ทำให้คุณเลือกที่จะไม่พยายามทำให้ดีที่สุด"

“ผมไม่สนว่าคุณจะเป็นใคร คุณจะเหนื่อยหอบ คุณจะขาอ่อนจนก้าวไม่ไหว จงตีบอลให้โดนซะ และตีมันให้ใกล้กับเส้นออกแค่ไม่กี่นิ้วภายในสนามที่ใหญ่โตนี้”

หลังจากเรียนจบและฝึกปรือเทนนิสจนเก่งกาจ อาร์เธอร์ต้องทำตามสัญญา การเข้าไปอยู่ในกองทัพทำให้เขามีปัญหาในการเเข่งขันเทนนิสอยู่บ้าง เพราะเขาสามารถออกจากกองทัพได้เฉพาะตอนที่มีแข่งเท่านั้น และการมียศติดตัวทำให้เขาเป็นเพียงนักเทนนิสสมัครเล่นทั้งๆที่ฝีมือเกินเบอร์ไปมากโข

อาร์เธอร์ต้องผ่านการกรองหลายขั้นกว่าจะได้ลงเล่นในแกรนด์ แสลม อย่างยูเอส โอเพ่น ที่นิวยอร์ค เขายังติดพันธะกับกองทัพ จึงต้องมาแข่งในรายการนี้ในฐานะนาวิกโยธินคนหนึ่ง แต่ทำอย่างไรได้ เพราะทางเลือกมันมีแค่นั้น และเขาก็เลือกเส้นทางนี้มาด้วยตัวเองเเล้ว ดังนั้นเขาจึงต้องลงเเข่งขันภายใต้ข้อจำกัดที่มี

ปี 1968 เป็นปีที่ยูเอส โอเพ่น จัดเเข่งที่นิวยอร์ค นอกจากเรื่องของกีฬาเเล้ว ปี 1968 ถือเป็นปีประวัติศาสตร์ของการเมืองสหรัฐฯเมื่อ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ศาสตราจารย์นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโดนลอบสังหารที่โรงแรมในเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ตอนนั้นเขาคือผู้เดินหน้าปลุกให้คนผิวสีในอเมริกาลุกขึ้นเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม

 5

"ผมมีความฝันว่าวันหนึ่ง ลูกเล็กๆทั้งสี่ของผมจะอาศัยอยู่ในชาติที่พวกเขาจะไม่ถูกตัดสินด้วยสีผิวของพวกเขา แต่ด้วยชื่อเสียงของสิ่งที่พวกเขากระทำ" นี่คือวลีอันเป็นตำนานจาก มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่มีประชาชนเชื้อสายแอฟริกันผู้สนับสนุนการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมเข้าร่วมชุมนุมกว่า 250,000 คน ณ เบื้องหน้าของรูปปั้นประธานาธิบดีอิบราฮัม ลินคอล์น ผู้ยกเลิกการซื้อขายทาสในอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ

ณ ตอนนั้น อาร์เธอร์เองก็ถูกชักชวนจากกลุ่มนักศึกษาแอฟริกัน-อเมริกัน ให้เข้าร่วมเดินขบวนและขับเคลื่อนการเรียกร้องนี้ด้วย แต่เขาทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเขาสังกัดอยู่กับกองทัพ อีกทั้งน้องชายของเขาก็เป็นหนึ่งในทหารอาสาสมัครที่ไปรบในเวียดนามด้วย

"คุณสู้ในส่วนของคุณไป ส่วนผมจะสู้ในแนวทางของผมเอง" อาร์เธอร์พร้อมจะสู้ด้วยความยิ่งใหญ่ด้วยเทนนิส กีฬาที่มีจุดเริ่มต้นโดยเหล่าคนขาว ถ้าเขาเอาชนะและคว้าแชมป์ได้มันจะเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ เขาจะเป็นคนดัง และเสียงของเขาจะน่าฟังมากขึ้นแน่นอน

เขาไปได้ถึงรอบชิงชนะเลิศ ก่อนจะส่งข่าวให้ จอห์นนี่ น้องชายที่รบอยู่ในเวียดนามรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงของพวกเขากำลังจะมาถึง...

"ผมเดินไปในเต๊นท์ที่พักของแคมป์ ทุกคนกำลังดูเทปบันทึกการแข่งขัน NFL อยู่ แน่ล่ะพวกเขานั่งดูมันทั้งวันเลยตอนอยู่เวียดนาม" จอห์นนี่ แอช ในวัย 70 ปี เล่าย้อนถึงวันที่พี่ชายเข้าชิงยูเอส โอเพ่น เมื่อปี 1968

 6

"ผมบอกคนที่นั่งดูว่า เฮ้ย! พวก! ฉันอยากจะดูเทนนิสว่ะ พวกเขางงเต๊กเลยถามหาต้นตอของเสียง มีคนตะโกนมาว่า ไหนใครบอกจะดูเทนนิสวะ? ผมก็เลยบอกว่า เออ! ผมเองนี่แหละ"

ทุกคนนั่งดูเกมระหว่าง อาร์เธอร์ ที่ชิงกับ ทอม อ็อกเคอร์ นักหวดจากเนเธอร์แลนด์ พวกเขาเริ่มสนุกกับการดูเทนนิสมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความเร็วของอาร์เธอร์และทักษะการตีลูกนั้นเฉียบขาดเสียจนผู้ท้าชิงไปไม่เป็น กลุ่มทหารอเมริกันเริ่มเห็นอาร์เธอร์ชัดขึ้นและสังเกตว่าหน้าของเขาเหมือนกับ จอห์นนี่ ชายที่บอกให้เปิดเทนนิสดู "เฮ้ย! พวก! แกเป็นญาติเขาเหรอ?" พวกเขาถามก่อนที่ จอห์นนี่ จะตอบว่า "เออ.. นั่นล่ะพี่ชายข้าเอง"

 7

อาร์เธอร์ แอช สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักเทนนิสแอฟริกัน-อเมริกัน คนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์ สแลม รายการ ยูเอสโอเพ่น คำกดดัน, การเหยียดหยาม ที่แบกมาตั้งแต่ 7 ขวบ พังทลายลงด้วยความพยายามและจิตใจที่มุ่งมั่น ณ ตอนนี้คือหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการเทนนิสเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว

"การเหยียดเชื้อชาติไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างที่ทำให้คุณเลือกที่จะไม่พยายามทำให้ดีที่สุด"

“ผมไม่สนว่าคุณจะเป็นใคร คุณจะเหนื่อยหอบ คุณจะขาอ่อนจนก้าวไม่ไหว จงตีบอลให้โดนซะ และตีมันให้ใกล้กับเส้นออกแค่ไม่กี่นิ้วภายในสนามที่ใหญ่โตนี้” นี่คือขุมพลังที่ติดอยู่กับตัวเขามาตลอดนับตั้งแต่วันที่เริ่มจับแร็คเก็ต

แต่ถึงอย่างนั้น มันก็มีเรื่องตลกเล็กๆเกิดขึ้นหลังจากคว้าแชมป์ เพราะการที่ยังมีพันธะกับทางกองทัพ ทำให้เขาอดได้รางวัล ซึ่งในตอนนั้นสูงถึง 14,000 ดอลลาร์ เนื่องจากเป็นเพียงนักกีฬาสมัครเล่น ไม่ใช่นักกีฬาอาชีพ ทำให้ อ็อกเคอร์ ได้รับรางวัลไปทั้งหมด แต่ตัวอาร์เธอร์เองมีโอกาสได้เงินเพียง 20 ดอลลาร์ต่อวันสำหรับชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของเขาครั้งนี้ ซึ่ง 20 เหรียญที่ว่านั่นคือเงินเบี้ยเลี้ยงของกองทัพเอง อย่างไรก็ตามสำหรับเขาเรื่องเงินเรื่องเล็ก...

ทุกอย่างใน ยูเอส โอเพ่น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการประสบความสำเร็จของการเป็นนักเทนนิส เขาเดินหน้าคว้าแชมป์แกรนด์สแลมได้อีก 2 รายการ คือ ออสเตรเลียน โอเพ่น (1970) และ วิมเบิลดัน (1975)

 8

ชื่อเสียงและเกียรติประวัติที่ได้ ทำให้เขาบรรลุสิ่งที่เขาต้องการนั่นคือเสียงของเขาจะมีความหมาย และเมื่อเขามาถึงจุดสูงสุดแล้วก็ถึงเวลาที่เขาต้องมอบบทเรียนให้กับคนรุ่นหลังว่าเขาต้องเจอกับอะไรบ้างในวันที่บ้านเมืองไม่ได้ให้สิทธิของประชาชนเทียบเท่ากัน

"ผมไม่ได้อยากจะถูกจดจำด้านการเป็นนักกีฬาเทนนิส ความสำเร็จเปรียบเหมือนกับการเดินทางไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แท้จริงแล้วการกระทำต่างหากที่สำคัญกว่าผลลัพธ์ที่เราได้”

ฝาแฝดโอบาม่า

หลังจากคว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น ในปี 1968 สำเร็จสิ่งแรกที่อาร์เธอร์ทำคือการโทรข้ามประเทศมาหาจอห์นนี่ คำแรกที่เขาบอกน้องชายคือ "พี่ทำได้เเล้ว ฉันคือผู้ชนะ และจากนี้ทุกคนจะฟังฉัน"

 9

จอห์นนี่ แอช รู้ทันทีว่าพี่ชายเขาพูดมาแบบนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป "ตอนนั้นผมรู้เลยว่ามีเสียงหนึ่งดังอยู่ในหัวของเขา เขาอยากจะมีบทบาทและใช้เสียงของตัวเองสร้างความแตกต่างให้กับโลกใบนี้"

อย่างที่เคยได้กล่าวไว้ในข้างต้น อาร์เธอร์อ่านหนังสือทั้งชีวิตมาไม่ใช่น้อยๆ เขารู้ดีว่าเเม้เสียงของตนจะเป็นเสียงที่ทรงพลัง แต่เมื่อนำไปใช้ผิดที่ผิดทาง เมื่อนั้นต่อให้ทรงพลังก็ไม่มีประโยชน์

"เขาไม่เคยก่อกวนใคร เขาไม่ได้ตะโกนไม่ได้ขู่เข็ญด้วยความโกรธเกรี้ยว เพราะเขาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำให้ในสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อโลกที่กว้างขึ้น" เรย์ อาร์เซนัลต์ นักเขียนผู้รับหน้าที่เขียนชีวประวัติของอาร์เธอร์กล่าว

สิ่งที่ อาร์เธอร์ แอช มอบคืนกลับสู่สังคม คือการปลุกให้ทุกคนจงจัดการกับภาระและหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และจงทำมันด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เรื่องทั้งหมดนี้คือบทเรียนที่เขาเคยได้รับจากพ่อว่าจงเป็นคนเก่งและคนดีของสังคม ซึ่งในวันนี้เขามาถึงจุดมุ่งหมายเเล้ว

เขาเริ่มก่อตั้งโครงการ National Junior Tennis & Learning ในปี 1969 ซึ่งเป็นโครงการระดับท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชนได้มีทางการเลือกในการใช้ชีวิตเหมือนกับเขา และโครงการดังกล่าวได้ดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้ด้วยการได้เงินสนับสนุนจาก USTA หรือสมาคมกีฬาเทนนิสแห่งสหรัฐอเมริกา

 10

"สิ่งที่เราได้รับทำให้เราอยู่รอด แต่สิ่งที่เราให้จะเป็นการมอบชีวิตใหม่" อาร์เธอร์ แอช กล่าวหลังจากตั้งมั่นว่าจะต้องตอบแทนสังคมนับตั้งแต่วันนั้น

เขาช่วยสนับสนุนเรื่องการศึกษาและกีฬาให้กับนักกีฬาแอฟริกัน-อเมริกัน หลายคน อาทิ ร็อดนี่ย์ ฮาร์มอน ชายผู้เติบโตจากอีกฝั่งถนนตรงข้ามกับบ้านของอาร์เธอร์ ที่ได้รับการศึกษาเป็นจำนวน 1,000 เหรียญเพื่อให้ได้เข้าเรียน และฝึกเทนนิส ก่อนที่ฮาร์มอนได้รับทุนการศึกษาจาก นิค บอลเล็ตติเอรี่ อคาเดมี่ ตอนอายุ 17 ซึ่งทำให้เขาพัฒนาตัวเองจนก้าวขึ้นมาเป็นคู่หูของอาร์เธอร์ในการแข่งขันประเภทคู่ในศึก เดวิส คัพ อีกด้วย

"คำแนะนำที่อาร์เธอร์บอกกับผมและมันยอดเยี่ยมที่สุดคือ จงคิดให้ดีก่อนที่จะพูด และจงพูดให้ผู้ฟังได้ยินทั้งจากหูและหัวใจ" ฮาร์มอนกล่าวถึงชายผู้มีพระคุณ

เขาทำในสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้มาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการมอบโอกาสและความเท่าเทียมในสังคม จอห์นนี่ น้องชายของเขาเชื่อว่าหากอาร์เธอร์ได้เห็นว่า บารัค โอบาม่า เอาชนะการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของอเมริกา เขาคงต้องตกตะลึงอย่างแน่นอน

"บ้านของเรามักพูดถึงอาร์เธอร์ ว่าเหมือนกันกับโอบาม่า ทั้งสองคนเหมือนกันมาก มีมารยาท มีอารมณ์ขัน และทั้งสองคนรู้วิธีต่อสู้ด้วยเส้นทางของตัวเอง"

จงทำในสิ่งที่สามารถทำได้

โชคไม่ดีนักที่หลายสิ่งที่เขาทำตลอดระยะเวลา 10 ปี ต้องหยุดชะงักลง เพราะในปี 1979 ระหว่างที่จัดคลีนิกสอนเทนนิสเยาวชน เขาล้มลงหมดสติ และเมื่อถูกส่งถึงมือแพทย์ก็พบว่าเขาเป็นโรคหัวใจวาย ซึ่งโรคนี้เป็นโรคทางพันธุกรรม เพราะพ่อของเขาก็เคยหัวใจวายถึง 2 ครั้งในรอบ 4 ปี ก่อนจะเสียชีวิตลงในวัย 59 ปี

 11

ตัวของอาร์เธอร์เองได้รับการรักษาจนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เพียงไม่กี่เดือน เขาก็ต้องล้มลงไปอีกครั้งจากอาการเจ็บหน้าอก ซึ่งโรคเดิมกำเริบ เขาต้องผ่าตัดหัวใจครั้งที่ 2 เพื่อทำการบายพาส แม้จะยังเจ็บป่วยและไม่สามารถสอนเทนนิสใครได้ เขาก็ยังทำประโยชน์ให้สังคมด้วยการเป็นประธานการณรงค์เรื่องโรคหัวใจระดับชาติขององค์กร American Heart Association

โชคร้ายยังไม่หยุดแค่นั้น หลังจากการทำถ่ายเลือดและบายพาสได้ไม่นาน เขารู้สึกว่ามีบางอย่างผิดปกติ และช่วงเวลาแว่บเดียวเท่านั้นแขนขวาเขาเป็นอัมพาต และสาเหตุมาจากการติดโรคเอดส์ในการถ่ายเลือดครั้งที่ 2 ของเขา

โรคเอดส์ในยุคนั้นถือเป็นเรื่องน่าอับอาย หลายคนไม่กล้าเปิดเผยเพราะเชื่อว่าเป็นแล้วต้องตาย ซึ่งความกลัวนี้เองที่ทำให้เขาได้รับเลือดที่ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นอีกครั้งที่เขาแสดงออกถึงความเสียสละ เขาพร้อมเปิดเผยมันต่อหน้าแฟนเทนนิสทั่วโลกเพื่อบอกว่าตัวเองติดเชื้อเอดส์ พร้อมทั้งอุทิศตัวเองเป็นผู้ปลูกจิตสำนึกให้คนตื่นตัวรับโรคไวรัสนี้และสนับสนุนการสอนเรื่องเพศศึกษาที่ปลอดภัย เขาเปิดปากให้โลกรู้ เขาทำให้หลายคนเข้าใจมากขึ้นว่า โรคเอดส์ เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่ใช่เฉพาะกลุ่มรักร่วมเพศแบบที่หลายคนเข้าใจ

"เราต้องมองย้อนกลับไปถึงเรื่องนี้และบอกความจริงให้ทุกคนรู้ เราต้องทำมันด้วยทุกสิ่งที่เรามี" เขากล่าวปราศัยถึงโรคที่ตัวเองเป็นอย่างทรงพลัง ก่อนจะมีคนยกมือถามว่าทำไมพระเจ้าถึงเลือกให้คุณเป็นคนที่ต้องเจอกับเรื่องร้าย เขากล่าวต่อว่า

 12

"มีเด็ก 50 ล้านคนเริ่มต้นเล่นเทนนิส แต่มีเพียง 5 ล้านคนได้เรียนวิธีเล่นเทนนิส, 5 แสนคน เรียนเทนนิสอาชีพ, 5 หมื่นคนได้ลงแข่งขัน, 5 พันคนได้มาถึงแกรนด์สแลม, 50 คนได้เข้ารอบวิมเบิลดัน, 4 คนเข้ารอบรอง, 2 คนเข้ารอบชิง"

"และตอนที่ผมได้ถือถ้วยชนะเลิศ ผมไม่เคยถามเลยว่า ทำไมพระเจ้าถึงเลือกผม ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ผมได้รับความเจ็บปวด ผมจะถามพระเจ้าว่า ทำไมต้องเป็นฉันด้วย ไปทำไมกัน?" เขาทิ้งท้ายไว้อย่างจับใจ

 13

อาร์เธอร์ เเอช เสียชีวิตในวัย 49 ปี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1993 ด้วยโรคปอดบวม ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคเอดส์.. ชีวิตคนเรามันเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนต้องเจอกับความสุขใจที่เปี่ยมล้น เเละเจอกับความทุกข์ที่ถึงขีดสุด ในเมื่อคุณหนีมันไม่ได้ คุณจงรับมือกับมันด้วยความเข้มเเข็งที่สร้างขึ้นได้ด้วยตัวเราเอง.. ถึงวันหนึ่งทุกเรื่องจะผ่านไป แต่ที่สุดเเล้วจงอย่าปล่อยมันให้ผ่านพ้นไปโดยไร้ประโยชน์ เหมือนกับคำที่เขาว่าไว้

"จงเริ่มจากจุดที่คุณอยู่ ใช้ในสิ่งที่คุณมี และทำในสิ่งที่คุณสามารถทำได้"

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ "อาร์เธอร์ แอช" : นักเทนนิสผิวสีแชมป์แกรนด์สแลมคนแรก.. ผู้ขอไม่รับคำยกย่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook