ทุลักทุเล : ทำไมทีมชาติสยามปฏิเสธเข้าร่วมฟุตบอลโลก 1930

ทุลักทุเล : ทำไมทีมชาติสยามปฏิเสธเข้าร่วมฟุตบอลโลก 1930

ทุลักทุเล : ทำไมทีมชาติสยามปฏิเสธเข้าร่วมฟุตบอลโลก 1930
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ฟุตบอลโลกเป็นอภิมหามหกรรมกีฬาที่คนทั่วโลกรอคอย เม็ดเงินสะพัดจนนับเลขศูนย์ไม่ไหว แต่ก้าวแรกของมันไม่ได้สวยหรูนัก เริ่มต้นอย่างทุลักทุเล ดำเนินไปอย่างขลุกขลัก แล้วจบลงไปแบบเงียบๆสำหรับฟุตบอลโลกครั้งแรกนั้นอย่าว่าแต่รอบคัดเลือกเลย ขนาดฟีฟ่าเชิญแล้วหลายๆประเทศยังไม่ค่อยอยากจะไปแข่ง และที่น่าเสียดายที่สุดก็คือไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ปฏิเสธฟุตบอลโลกทั้งที่เคยได้รับเชิญแล้วแท้ๆ!
 
ปฐมบทฟุตบอลโลกในยุคเศรษฐกิจโลกซึมเศร้า
ตั้งแต่ FIFA ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1904 เป้าหมายสำคัญที่สุดอันหนึ่งของฟีฟ่าคือการจัดแข่งทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลระดับโลก แต่กว่าที่มันจะเป็นจริงได้ต้องรอไปอีกมากกว่ายี่สิบปี

ความสำเร็จของการจัดแข่งขันฟุตบอลในโอลิมปิกทำให้ฟีฟ่าเริ่มเห็นลู่ทางที่จะจัดแข่งทัวร์นาเมนต์ระดับโลกของตัวเองบ้าง ปี 1928 ฟีฟ่าได้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมและมีมติจะจัดแข่งฟุตบอลโลก นั่นคือช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีแนวโน้มไปได้สวยหลังการฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ฮังการี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน และอุรุกวัยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ท้ายที่สุดฟีฟ่าเลือกอุรุกวัยเป็นเจ้าภาพเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง 100 ปีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอุรุกวัยหลังประกาศเอกราช (นอกจากนี้ในตอนนั้นอุรุกวัยยังเป็นโคตรทีมระดับโลกที่ครองแชมป์โอลิมปิก 1924 และ 1928 สองครั้งติดต่อกัน)

แต่อย่างที่บอกว่าเส้นทางของปฐมบทฟุตบอลโลก ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะปี 1929 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า Wall Street Crash ตลาดหุ้นของอเมริกาพังพาบไม่มีชิ้นดี (อธิบายแบบหยาบๆก็ลองนึกถึงตอนวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี พ.ศ. 2540) มันเปลี่ยนอนาคตที่รุ่งเรืองให้กลายเป็นปัจจุบันที่รุ่งริ่ง เศรษฐกิจซบเซาไปทั่วทุกหย่อมหญ้า และโลกก็เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า Great Depressionที่แปลให้สนุกๆ น่าจะได้ว่าเศรษฐกิจซึมเศร้า

ฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 เกิดขึ้นมาภายใต้สถานการณ์โลกแบบนั้น ประกอบกับที่เทคโนโลยีการคมนาคมยังไม่ดีอย่างทุกวันนี้ มันจึงเป็นปฐมบทที่แสนจะทุลักทุเล

ความทุลักทุเลของการเริ่มต้น
ด้วยเศรษฐกิจโลกที่กำลังตกต่ำและการคมนาคมที่ยังไม่สะดวก ฟุตบอลโลกครั้งแรกเกือบจะกลายเป็นฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติของทวีปอเมริกา เพราะประเทศจากยุโรปไม่อยากจะไปร่วมแข่งด้วยเลย มีแค่ประเทศในแถวๆทวีปอเมริกาเท่านั้น ที่สนใจร่วมแข่ง

179
ตอนนั้นฟีฟ่ายังมีสมาชิกทั้งหมดแค่ 41 ประเทศ ฟีฟ่าก็ร่อนเทียบเชิญทุกประเทศให้มาร่วมแข่งโดยที่ไม่ต้องคัดเลือกอะไร แต่เมื่อถึงเดดไลน์การตอบรับกลับปรากฏว่าไม่มีประเทศจากยุโรปตกลงมาร่วมแข่งเลย หลายๆประเทศที่เคยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพยังไม่สนใจจะมาแข่ง กระทั่งอุรุกวัยและฟีฟ่าเสนอว่าจะออกค่าใช้จ่ายให้แล้วแต่ก็ยังไม่มีใครมา

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประเทศในยุโรปปฏิเสธการไปแข่งฟุตบอลโลกที่อุรุกวัยก็เพราะภาวะเศรษฐกิจและการเดินทาง ประเทศต่างๆได้รับผลกระทบจาก Great Depression ทำให้การใช้จ่ายเงินเพื่อส่งทีมฟุตบอลไปแข่งข้ามทวีปเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยเกินเหตุ นักฟุตบอลจำนวนมากไม่ได้เล่นฟุตบอลเป็นอาชีพ พวกเขามีงานประจำที่ขาดงานไปนานๆไม่ได้ และที่สำคัญคือการเดินทาง

ในยุค 1930 นั้นการคมนาคมต่างจากทุกวันนี้มาก อย่าเพิ่งนึกถึงการเช่าเครื่องบินเหมาลำอย่างนักบอลปัจจุบัน เพราะกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินในเชิงพาณิชย์จะเริ่มแพร่หลายก็ต้องหลังสงครามโลกครั้งที่สองนู่น การเดินทางจากยุโรปไปอเมริกาใต้ตอนนั้นต้องไปทางเรือเดินสมุทร และใช้เวลาหลายสัปดาห์ นั่นทำให้ประเทศจากยุโรปต่างพากันเพิกเฉยต่อจดหมายเชิญไปฟุตบอลโลกครั้งแรก

ฟุตบอลโลกครั้งแรกจะไม่มีทีมจากมหาทวีปอย่างยุโรปเลยก็กระไรอยู่ นั่นทำให้ฟีฟ่าอยู่เฉยไม่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องใช้กำลังภายในพามาจนได้ 4 ชาติ ส่วนใหญ่ก็ใช้เส้นสายของคนในฟีฟ่าเองนี่แหละ ไล่ตั้งแต่ประธานฟีฟ่าอย่าง Jules Rimet ก็ไปเกลี้ยกล่อมฝรั่งเศสบ้านเกิดของเขาให้มาร่วมแข่ง ส่วน Rodolphe Seeldrayers รองประธานฟีฟ่าที่เป็นชาวเบลเยียมก็ไปดึงเอาเบลเยี่ยมมาเข้าแข่ง

นอกจากนี้ยังได้รับการช่วยเหลือจาก King Carol II กษัตริย์โรมาเนียที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ช่วยส่งโรมาเนียเข้าแข่ง โดยทั้งเลือกผู้เล่นด้วยตัวเอง และช่วยไปคุยกับนายจ้างของนักบอลว่าจะขอยืมตัวไปแข่ง 3 เดือน โดยอย่าไล่นักบอลออกจากงาน (สมัยนั้นนักบอลส่วนใหญ่ไม่ได้เล่นอาชีพอย่างทุกวันนี้ ยังต้องทำมาหากินกันอยู่) นอกจากนี้ King Carol II ยังช่วยโน้มน้าวให้ยูโกสลาเวียส่งเข้าแข่งอีกชาติ รวมทั้งหมดในฟุตบอลโลกครั้งนี้มีชาติจากยุโรปเพียงแต่ 4 ชาติ

175
หลังจากได้ทีมเข้าแข่งแล้ว ความทุลักทุเลลำดับต่อไปคือการเดินทาง แต่ละชาติไม่ได้มีพาหนะส่วนตัว ต้องเดินทางด้วยเรือลำเดียวกัน เรือหลักที่ใช้เดินทางไปอุรุกวัยเป็นเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ชื่อว่า Conte Verde เริ่มออกเดินทางจากท่าเรือที่เจนัวเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 1930 ค่อยๆแวะรับรายทางตั้งแต่โรมาเนีย ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม แล้วออกแล่นข้ามมหาสมุทรสู่ทวีปอเมริกาใต้ (ขนาด Jules Rimet ประธานฟีฟ่าเองก็ยังต้องเดินทางไปกับเรือลำนี้ พร้อมทั้งแบกเอาถ้วยรางวัลไปด้วย) หลังจากนั้นก็ไปแวะรับทีมชาติบราซิลที่กรุงริโอเดอจาเนโร สุดท้ายไปถึงอุรุกวัยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 1930 รวมเวลาที่ใช้เดินทางทั้งหมด 14 วัน

การเดินทางไกลด้วยเรือเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ดูจะเป็นอะไรที่ยากลำบากเอามากๆ โดยเฉพาะกับนักกีฬากำลังจะไปแข่ง Lucien Laurent นักเตะทีมชาติฝรั่งเศสชุดนั้นเล่าถึงประสบการณ์เดินทางครั้งประวัติศาสตร์ไว้ว่า ตลอดการเดินทางนั้น พวกเขาต้องพยายามรักษาความฟิตของร่างกายเอาไว้ให้ได้ พวกเขาออกมาวิ่งบนดาดฟ้าเรือทุกวัน ต้องยกน้ำหนัก ยืดเส้น บ้างก็วิ่งขึ้นลงบันได ไม่อย่างนั้นถ้ามัวแต่นั่งๆนอนๆบนเรือสิบกว่าวันเมื่อไปถึงก็คงไม่มีแรงแข่งกันพอดี

อันที่จริงแล้ว 14 วันนี่คือการเดินทางขาไปอย่างเดียว ถ้ารวมการเดินทางขากลับและเวลาที่ต้องแข่งในทัวร์นาเมนต์แล้วมันยิ่งยาวกว่านั้น แต่ละชาติจากยุโรปที่ไปแข่งต้องจากบ้านไปทั้งหมดร่วมๆ 3 เดือน แล้วยิ่งเป็นช่วงที่การสื่อสารไม่ได้สะดวกนัก ข่าวสารเดินทางช้า ชะตากรรมสำหรับผู้ออกเดินทางไกลนี้ก็ดูจะเป็นอะไรที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนรออยู่ที่บ้านพอสมควร
 
ระหว่างการเดินทางกลับ Alfred Eisenbeisser Feraru นักเตะทีมชาติโรมาเนียป่วยเป็นโรคปอดบวมอย่างรุนแรง เมื่อเรือมาเทียบท่าที่เจนัวเขาก็ถูกส่งเข้ารับการรักษา แต่ก็อาการหนักมากจนสต๊าฟฟ์และเพื่อร่วมทีมคิดว่าคงไม่รอดแน่ๆแล้ว พวกเขาจึงทิ้ง Feraru ไว้ที่เจนัวแล้วเดินทางกลับโรมาเนียไปพร้อมกับแจ้งข่าวร้าย ชาวโรมาเนียเข้าใจกันว่า Feraru ตายไปแล้ว แม่ของเขากำลังเตรียมที่จะจัดพิธีศพให้แล้วด้วยซ้ำ แต่หลังจากนั้น Feraru ที่เอาชนะความตายได้ก็กลับไป สร้างความตกตะลึงกันไม่น้อย (หลังจากนั้นเขาก็กลับไปเล่นฟุตบอลอีก ยิ่งไปกว่านั้น เขาก็เล่นฟิกเกอร์สเก็ตจนได้ไปแข่งโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1936 ด้วย)

การแข่งขันที่ขลุกขลัก
ไม่เพียงแต่สภาพเศรษฐกิจและการเดินทางอันยากลำบากเท่านั้น การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกวัยก็มีเรื่องขลุกขลักอีกหลายอย่าง

เดิมทีฟีฟ่าตั้งใจให้ทัวร์นาเมนต์นี้แข่งกันแบบแพ้คัดออก แต่เมื่อเห็นว่าแต่ละทีมเดินทางมาอย่างยากลำบาก ถ้ามีทีมไหนที่เริ่มมาก็แพ้จนได้เล่นแค่นัดเดียวก็ดูจะโหดร้ายเกินไป ฟีฟ่าจึงเปลี่ยนให้รอบแรกเล่นแบบแบ่งกลุ่ม อย่างน้อยได้เล่นกันทีมละ 2-3 นัดก็คงจะคุ้มกับเวลาเดินทางขึ้นบ้าง

worldcup111
การจัดการแข่งขันเป็นไปอย่างขาดๆเกินๆ หลายครั้งที่มีปัญหาความรุนแรงในสนามจนไม่สามารถระงับได้ บางครั้งแฟนบอลก็กรูกันลงมาที่สนาม หรือบางนัดไม่มีผู้ตัดสินจนต้องให้สต๊าฟของทีมอื่นมาเป็นผู้ตัดสินด้วยซ้ำ

อย่าเพิ่งนึกถึงความคลั่งไคล้ฟุตบอลโลกที่ต้องแย่งตั๋วกันจะเป็นจะตายอย่างทุกวันนี้ สมัยนั้นหลายๆนัดที่เจ้าภาพ (หรือชาติใกล้เคียง) ไม่ได้ลงแข่งก็มีผู้ชมแค่หยิบมือ การแข่งขันรอบแบ่งกลุ่มระหว่างเปรูกับโรมาเนียมีคนดูแค่ 300 คน เป็นสถิติคนดูน้อยที่สุดของฟุตบอลโลกมาจนทุกวันนี้ (และคงเป็นสถิติตลอดกาลที่ไม่มีใครอยากทำลาย)

ฟุตบอลโลกในตอนนั้นยังไม่ได้เป็นอภิมหามหกรรมกีฬาที่คนทั้งโลกรอคอยอย่างทุกวันนี้ Lucien Laurent จากฝรั่งเศสผู้เป็นคนทำประตูแรกของฟุตบอลโลกพูดถึงมันไว้ว่า “อันที่จริงแล้วตอนนั้นผมไม่คิดเลยว่าลูกยิงของผมมันจะสำคัญ เราไม่คาดคิดเลยว่าฟุตบอลโลกจะยิ่งใหญ่อย่างทุกวันนี้ ผมจำได้ว่าเมื่อผมกลับไปที่บ้านเกิด ผมเห็นแค่ข่าวเล็กๆข่าวเดียวที่พูดถึงมัน ฟุตบอลในตอนนั้นยังเพิ่งจะเริ่มเตาะแตะ”

ฟุตบอลโลกตอนนั้นยังไม่ได้สำคัญขนาดไหน? ก็ขนาดที่มีบันทึกไว้ว่า Manuel Ferreira กัปตันทีมชาติอาร์เจนตินายอมที่จะพลาดการลงเล่นบางนัดเพื่อกลับประเทศไปเข้าสอบวิชากฎหมาย! (ประเทศอุรุกวัยกับอาร์เจนตินาอยู่ติดกัน)

เรื่องเพี้ยนๆในการแข่งยังมีอีก อย่างเช่นนัดอาร์เจนตินากับฝรั่งเศส ขณะที่ฝรั่งเศสกำลังบุกหนักจนเกือบได้ประตูตีเสมอ ผู้ตัดสินก็เป่าหมดเวลาไปซะอย่างนั้น ทั้งที่จริงๆยังเหลืออีก 6 นาที สุดท้ายหลังจากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงก็ต้องไปตามนักฟุตบอลทั้งสองฝ่ายมาลงแข่งใน 6 นาทีที่เหลือ ทั้งที่บางคนเข้าห้องอาบน้ำไปแล้วด้วยซ้ำ

นัดชิงชนะเลิศครั้งแรกของฟุตบอลโลกเป็นการโคจรมาเจอกันระหว่างเจ้าภาพอุรุกวัยกับคู่ปรับสำคัญอย่างอาร์เจนตินา ในยุคนั้นทั้งคู่เป็นมหาอำนาจทางฟุตบอลที่ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น (ส่วนบราซิลนั้นตกรอบไปตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม) เมื่อโอลิมปิก 1928 อุรุกวัยก็เพิ่งเฉือนชนะอาร์เจนตินาในนัดชิง

ประเทศอุรุกวัยกับอาร์เจนตินามีพรมแดนติดกัน กั้นไว้เพียงด้วยแม่น้ำ R?o de la Plata หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า River Plate ชาวอาร์เจนตินาร่วมหมื่นจึงข้ามแม่น้ำเข้ามาเชียร์ในสนามด้วย

บทสรุปความขลุกขลักของปฐมบทฟุตบอลโลกน่าจะรวบยอดเอาไว้ได้ที่นัดชิงชนะเลิศนี้ เพราะทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้ลูกฟุตบอลแบบไหนในการแข่ง ท้ายที่สุดต้องพบกันครึ่งทาง ครึ่งแรกใช้ลูกบอลของอาร์เจนตินา ครึ่งหลังใช้ลูกบอลของอุรุกวัย ถ้าดูเทียบกับสกอร์ก็จะยิ่งน่าสนุก เพราะครึ่งแรกอาร์เจนตินานำอยู่ 2-1 พอครึ่งหลังเปลี่ยนมาใช้บอลของอุรุกวัยก็ทำให้พวกเขาพลิกมาชนะได้ 4-2 อุรุกวัยเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรก (ฟุตบอลโลกครั้งต่อมาที่อิตาลีปี 1934 อุรุกวัยบอยคอตต์ไม่เข้าแข่งเพื่อแก้เผ็ด ที่ครั้งก่อนทีมจากยุโรปไม่ค่อยยอมไปกัน ทำให้อุรุกวัยก็เป็นแชมป์โลกชาติเดียวที่ไม่ไปป้องกันแชมป์)

สยามผู้ปฏิเสธฟุตบอลโลก
อันที่จริงแล้วฟุตบอลโลกครั้งแรกน่าจะเรียกได้ว่าเป็นครั้งที่ทีมชาติไทยเข้าใกล้การได้ไปฟุตบอลโลกมากที่สุดแล้ว เพราะสยามก็น่าจะได้รับเชิญไปแข่งฟุตบอลโลก 1930 ที่อุรุกวัยด้วยเช่นกัน แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีชื่อสยามอยู่ในฟุตบอลโลกครั้งนั้น

สมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยาม (หรือที่ปัจจุบันก็คือสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ) เข้าเป็นสมาชิกฟีฟ่ามาตั้งแต่ปี 1925 แล้ว หมายความว่าในฟุตบอลโลก 1930 ที่ฟีฟ่าเชิญทุกชาติที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมด้วยนั้น สยามเองก็ต้องได้รับเชิญด้วยเช่นกัน แต่ทำไมสยามในตอนนั้นถึงไม่ได้ไปฟุตบอลโลก?

คำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุด น่าจะเพราะเหตุผลทางการเดินทางและเศรษฐกิจเช่นเดียวกันกับหลายๆประเทศในยุโรป ยิ่งสำหรับสยาม ณ เวลานั้นแล้ว สองเหตุผลนี้น่าจะเป็นอะไรที่หนักหน่วงยิ่งกว่า

เหตุผลอันแรกเรื่องการเดินทาง ถ้าคิดว่าระยะทางจากยุโรปไปอุรุกวัยนั้นไกลแล้ว ระยะทางจากสยามไปถึงอุรุกวัยนั้นไกลยิ่งกว่า ตีตัวเลขคร่าวๆคือจากยุโรปน่าจะประมาณหนึ่งหมื่นกิโลเมตร ขณะที่จากสยามยิ่งไกลไปจนถึงประมาณเกือบๆสองหมื่นกิโลเมตรด้วยซ้ำ นอกจากนี้ประสิทธิภาพของเรือจากสยามก็คงเทียบกับเรือของยุโรปไม่ได้ ถ้าเรือ Conte Verdeใช้เวลาเดินทาง 14 วัน เรือจากสยามคงใช้เวลาเป็นเดือน (หรือถ้าจะต้องไปต่อเรือที่ยุโรปที่รอบก็คงลำบากยิ่งขึ้นไปอีก)

เหตุผลที่สองคือเรื่องเศรษฐกิจ จากที่เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกตกต่ำจาก Great Depressionสยามในตอนนั้นก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซ้ำร้าย ก่อนนั้นสยามเองก็กำลังย่ำแย่อยู่แล้ว รายจ่ายมากกว่ารายได้มาหลายปี ยิ่งมาโดนผลกระทบจาก Great Depressionอีกก็ยิ่งย่ำแย่ (อันที่จริงถ้าแปลงค.ศ.เป็นพ.ศ.ก็น่าจะยิ่งเห็นภาพชัดขึ้น เพราะฟุตบอลโลก 1930 ก็คือพ.ศ. 2473 แค่ 2 ปีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศที่ย่ำแย่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย) เรียกได้ว่าตอนนั้นการส่งทีมฟุตบอลนั่งเรือเป็นเดือนๆไปแข่งฟุตบอลโลก (ที่ก็ยังไม่ได้ใหญ่โตอย่างทุกวันนี้) ในอีกซีกโลกหนึ่งคงเป็นอะไรที่ฟุ่มเฟือยเกินไปมากๆ

เพื่อนร่วมชะตากรรมจากเอเชียอีกประเทศคือญี่ปุ่น ที่ตอนนั้นก็เป็นสมาชิกฟีฟาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ไปแข่งเหมือนกัน

แต่ชาวไทยและชาวญี่ปุ่นก็อย่าเพิ่งเสียใจกันไป ที่น่าเสียดายที่สุดน่าจะต้องยกให้อียิปต์ เพราะพวกเขาตอบรับจะไปแข่งแล้ว กำลังล่องเรือจากแอฟริกาเพื่อไปต่อเรือที่ยุโรปแล้วด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่าเรือจากแอฟริกาที่พวกเขาโดยสารมาเจอพายุระหว่างทางทำให้ไปไม่ทันเรือที่จะไปอุรุกวัย พลาดฟุตบอลโลกครั้งแรกไปอย่างน่าเสียดาย นี่น่าจะเป็นการผิดหวังครั้งใหญ่ครั้งแรกสุดของฟุตบอลโลก ที่ชาติหนึ่งต้องกระเด็นออกจากฟุตบอลโลกทั้งที่ฟุตบอลโลกยังไม่เริ่มด้วยซ้ำ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook