งงทั้งอำเภอเพราะเธอคนเดียว : เมื่อผู้สมัครชิงประธานฟีฟ่าเสนอให้มี "ใบส้ม"?

งงทั้งอำเภอเพราะเธอคนเดียว : เมื่อผู้สมัครชิงประธานฟีฟ่าเสนอให้มี "ใบส้ม"?

งงทั้งอำเภอเพราะเธอคนเดียว : เมื่อผู้สมัครชิงประธานฟีฟ่าเสนอให้มี "ใบส้ม"?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อหลายสิบปีก่อน "ใบเหลือง" และ "ใบแดง" ในเกมฟุตบอลนั้นถูกเริ่มนำมาใช้และได้ไอเดียต้นกำเนิดมาจากสัญญาณไฟจราจร 2 ใบนี้เคียงคู่อยู่กับฟุตบอลมานานแสนนาน จนกระทั่งชายคนหนึ่งที่อยากนั่งเก้าอี้ผู้นำของฟีฟ่าเข้ามาบอกว่า "ต่อไปเราจะแจกใบส้มกันด้วย" 

ไม่แปลกอะไรที่ใครต่อใครจะพากันงงกับ "ใบส้ม" ใบนี้ เพราะมันคือของใหม่ที่โลกฟุตบอลไม่เคยเห็น ดังนั้นมันจึงจำเป็นที่หลายฝ่ายจะต้องเรียนรู้ว่า "ใบส้ม" คืออะไร ใช้ในกรณีไหน และท้ายที่สุดมันเวิร์กหรือไม่?

 

ติดตามเรื่องราวของ "ใบส้ม" ที่แสนวุ่นวายและพาให้สับสนยิ่งกว่าเดิมกับ Main Stand ได้ที่นี่...

ชายผู้เสนอ "ใบส้ม" 

เฌอโรม ชองปาญ ชายฝรั่งเศสวัย 55 ปี พร้อมลงเดิมพันชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่า แข่งกับ เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ และ จานนี่ อินฟานติโน่ 2 คู่แข่งตัวเต็งที่มีชื่อเสียงมากกว่าเขาหลายขุม ดังนั้นมันจึงดูเหมือนว่าสิ่งที่เขาตั้งใจจะเสนอและร่างออกมาเป็นนโยบายแต่ละข้อนั้น ช่างเป็นอะไรที่แปลก และชวนสงสัยว่าแท้จริงเล้วมันจะเวิร์กหรือไม่?

 1

บีบีซี วิเคราะห์ว่าเหตุใด ชองปาญ จึงมีนโยบายแปลกๆ ซึ่งพวกเขาก็พอสรุปได้ว่าชายคนนี้เป็นคนที่มีความคิดและเชื่อมั่นในตัวเอง เขาทะเยอทะยานและชอบสื่อสารในที่สาธารณะ ในวันที่มาสมัครเขาคุยกับนักข่าวถึง 90 นาทีถึงหัวข้อต่างๆที่ตนเองเตรียมมา โดยหวังจะปฏิรูปคณะกรรมการบริหารของฟีฟ่า แม้ตัวของเขานั้นจะรู้ดีว่าการลงชิงตำแหน่งครั้งนี้จะเป็นไปได้ยากในการเอาชนะ แต่การปราศรัยที่ลอนดอน คือเวทีที่เขาได้รับเสียงปรบมือและชื่นชมเป็นอย่างมาก

มีหลายข้อที่ดูปกติ และอีกหลายข้อที่แปลกประหลาด ชองปาญ เสนออะไรมาบ้างน่ะหรือ เราลองมาดูกัน

1. เสนอยกเลิกกฎ "ลงโทษ 3 เท่า" โดยกรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อเกมรุกเข้าไปในกรอบเขตโทษและกำลังจะทำประตูได้แต่โดนฝ่ายตรงข้ามทำฟาวล์แบบตั้งใจ ตามเดิมนั้นคือทีมรับจะต้องเสียจุดโทษ, นักเตะโดนใบแดง และ โดนแบนในเกมต่อไป 

2. ใช้กฎเดียวกับรักบี้ คือเมื่อมีการฟาวล์หรือการตัดสินของกรรมการที่สร้างความหงุดหงิดแก่ทีมที่เสียผลประโยชน์ จะอนุญาตให้กัปตันทีมคนเดียวเท่านั้นที่เข้าไปอธิบายหรือเจรจากับกรรมการได้ หากมีนักเตะคนอื่นเข้ามายุ่มย่าม ทีมนั้นจะต้องถูกขยับลูกฟรีคิกให้ใกล้ประตูเข้าไปอีก 10 หลา

3. ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่าทุกคนต้องมาโต้วาทีกันทั้งหมดและถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปยัง 6 ทวีปทั่วโลก

และ 4. อย่างสุดท้ายคือการแหวกม่านประเพณีของฟุตบอลนั่นคือ "แจกใบส้ม" ซึ่งถือเป็นอุปกรณ์ใหม่ที่เพิ่มเข้ามา เพราะแต่เดิมนั้นมีแค่ใบเหลืองกับใบแดงเท่านั้น  

อะไรคือใบส้ม?

 2

หากจะอธิบายให้ ง่ายๆ สั้นๆ ใบส้ม ก็คือใบที่อยู่ระหว่างกลางของ ใบเหลือง กับ ใบเดง และเป็นการลงโทษแบบระหว่างกึ่งกลางนั่นคือมากกว่าเตือน แต่น้อยกว่าถูกไล่ออกจากสนาม

สันนิษฐานว่า ชองปาญ นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากกีฬารักบี้ไม่ก็ฮอกกี้น้ำแข็ง NHL เหมือนกับกฎเถียงผู้ตัดสินได้เพียงแค่กัปตันทีม ในเกมรักบี้นั้นใบส้มจะใช้ก็ต่อเมื่อผู้เล่นทำผิดกติการทางเทคนิค และเมื่อได้รับใบส้มผู้เล่นจะต้องถูกเชิญออกจากสนามเข้าไปยัง Sin Bin หรือขอบเขตสำหรับให้คนที่ทำผิดกติกาเข้ามาสงบสติอารมณ์ ในเวลาที่กำหนด และหากครบเวลาแล้วก็จะสามารถกลับมาลงสนามได้อีกครั้ง

โดยการทำผิดที่เข้าข่ายจะโดนใบส้มนั้นคือ การพุ่งล้ม, การถอดเสื้อดีใจ, หรือการแฮนด์บอลที่ก้ำกึ่งว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ การทำผิดกติกาเหล่านี้ถือว่าสร้างความลำบากใจให้กับเหล่ากรรมการและตัดสินแบบค้านสายตามานักต่อนักแล้วแล้ว ดังนั้นการให้ใบส้มจึงเป็นสิ่งที่ เจอโรม ชองปาญ มั่นใจว่ามันคือทางออกของปัญหานี้ได้ 

 3

อย่างไรก็ตาม ในฟุตบอลนั้น แนวคิดใบส้มถือว่าไม่ได้รับการเห็นด้วยมากนัก เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าฟุตบอลมีที่ว่างให้กับความคลุมเครือและการกระทำแบบสีเทาๆ จะถูกกติกาก็ไม่ใช่จะผิดกติกาก็ไม่เชิงมากพอแล้ว และการมีใบส้มจะไม่ได้ทำให้การตัดสินง่ายขึ้นแต่มันจะส่งผลแบบตรงกันข้ามต่างหาก ที่สุดแล้วนโยบายนี้ก็เป็นแค่การถกเถียงกันระหว่าง 2 ฝั่งเท่านั้นและไม่ได้ถูกบังคับใช้จริง เพราะในการเลือกตั้งประธานฟีฟ่า กลับกลายเป็นว่า จานนี่ อินฟานติโน่ ได้รับการโหวตสูงสุด และยังดำรงตำแหน่งมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

นอกจากใบส้มมีใบอะไรอีก?

ใบเหลือง และ ใบแดง นั้นมีต้นกำเนิดมาจากสัญญาณไฟจราจร โดยให้ความหมายเหมือกัน เหลืองคือจงระวัง และ แดงคือหยุดสถานเดียว เมื่อมีใบเหลืองและแดงแล้วทำไมจะมีใบเขียวไม่ได้

ใบเขียวนั้นเคยถูกใช้ในการแข่งขันจริงๆมาแล้วในศึกฟุตบอล เซเรีย บี อิตาลี ในปี 2017 โดยในฤดูกาลดังกล่าว เซเรีย บี ประกาศตั้งแต่ก่อนเริ่มล้วว่านักเตะคนไหนก็ตามที่เล่นแบบแฟร์เพลย์จะได้รับ "ใบเขียว" จากกรรมการ ซึ่งคนที่ได้รับใบเขียวมากที่สุดก็จะได้รางวัลตอนจบฤดูกาลด้วย

ส่วนคนที่โดน (ใช้คำว่าได้น่าจะเหมาะสมกว่า) ใบเขียวคนแรกในโลกฟุตบอลคือ คริสเตียน กาลาโน่ กองหน้าของวิเชนซ่า จากเหตุการณ์ที่เขาสับไกด้วยซ้ายออกหลังไปเอง แต่ผู้ตัดสินกลับชี้ให้เป็นลูกเตะมุม ท่ามกลางการประท้วงของผู้เล่นเจ้าถิ่น ก่อนที่เจ้าตัวแสดงสปิริตโดยบอกกับผู้ตัดสินว่า เจ้าตัวยิงบอลออกหลังไปเอง ทำให้กรรมการกลับคำตัดสินเป็นให้เจ้าบ้านตั้งเตะเพื่อเริ่มเล่นใหม่ อย่างไรก็ตามกฎนี้ไม่เวิร์ก และเมื่อทดลองใช้จนครบ 1 ฤดูกาลแล้วจึงถูกยกเลิกไปเพราะสร้างความสับสนจนเกินไป  

 4

เท่านั้นยังไม่พอ ใบเขียว ยังกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งในปี 2018 ที่ผ่านมา แต่การเกิดใหม่หนนี้ ใบเขียว มีความหมายต่างจากใบเขียวยุคเก่าแบบคนละเรื่อง

เรย์มอนด์ มาชามบ้า เป็นผู้คิดค้นกฎนี้ โดยมีการทดลองใช้ในศึกโคนิฟา เวิลด์ คัพ ซึ่งรายการนี้เป็นการแข่งขันของชาติที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของฟีฟ่า โดยใบเขียวในมาดใหม่นี้จะทำหน้าที่คล้ายๆใบส้มที่กล่าวไว้ข้างต้น นั่นคือการลงโทษในสถานะกึ่งกลาง นั่นคือ รุนแรงกว่าใบเหลือง และเบากว่าโทษของใบแดง

"ผู้เล่นที่ได้รับใบเขียวจะต้องออกจากสนามแข่งทันที อย่างไรก็ตามทีมของพวกเขาจะสามารถส่งนักเตะลงมาเล่นแทนได้ในกรณีที่ยังเปลี่ยนตัวไม่ครบ และนักเตะที่ได้ใบเขียวจะไม่ติดโทษแบนในนัดถัดไป"

จุดประสงค์ของพวกเขาคือ คนที่โดนใบเขียวนั้นสมควรถูกลงโทษ แต่เพื่อนในสนาม 10 คนไม่ใช่คนผิดและพวกเขายังสามารถลงเล่นต่อไปด้วยการมี 11 คนได้ 

ทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนต้องวิวัฒนาการตัวเองเพื่อการอยู่รอด แต่ตอนนี้ดูเหมือนจะไม่ใช่เวลาของฟุตบอลที่วิวัฒนาการมาใช้ ใบส้ม หรือ ใบเขียว ตามที่เคยได้นำเสนอและทดลองใช้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ที่ไร้ประโยชน์ สักวันไอเดีย ใบส้ม-ใบเขียว อาจจะเป็นสิ่งที่โลกฟุตบอลในอนาคตถวิลหาก็ได้ 

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ งงทั้งอำเภอเพราะเธอคนเดียว : เมื่อผู้สมัครชิงประธานฟีฟ่าเสนอให้มี "ใบส้ม"?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook