การเปลี่ยนผ่าน "ฟุตบอลสยาม" จากในวังสู่กีฬาสามัญชน

การเปลี่ยนผ่าน "ฟุตบอลสยาม" จากในวังสู่กีฬาสามัญชน

การเปลี่ยนผ่าน "ฟุตบอลสยาม" จากในวังสู่กีฬาสามัญชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าทุกคนในประเทศไทยคงรู้จัก ฟุตบอล เป็นอย่างดี…

กีฬาที่ดึงดูดความสนใจจากผู้คนทุกเพศทุกวัย ให้คลั่งไคล้กับมันได้ อีกทั้งยังสามารถพบเห็นการแข่งขัน เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ตั้งแต่ตามท้องถนน ไปจนถึงสนามกีฬาแห่งชาติ

แต่กว่ากีฬาลูกหนังในประเทศไทย จะกลายสภาพเป็นอย่างทุกวันนี้ ย่อมต้องผ่านการเดินทางและเรื่องราวมากมาย จากจุดกำเนิดเริ่มต้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่ถูกจำกัดไว้เป็นเพียง การละเล่นของข้าราชการ และชนชั้นสูงในวังเท่านั้น

 

แล้วเหตุใด? จากการแข่งขันกีฬาเฉพาะกลุ่ม ถึงได้กลายมาเป็น กีฬาอันดับหนึ่งของไทยที่ไม่มีใครไม่รู้จัก Main Stand ขอพาไปย้อนประวัติศาสตร์ลูกหนังบ้านเรา ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

เริ่มต้นบนแดนสยาม

แม้ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันแน่นอน ถึงการเข้ามาของกีฬาฟุตบอลยังประเทศไทย หรือ สยามประเทศ

 1

แต่นักวิชาการหลายฝ่ายลงความตรงกันว่า ช่วงเวลาดังกล่าว น่าจะอยู่ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือ พ.ศ. 2428 เนื่องจากพระองค์ได้ส่งพระบรมวงศานุวงศ์ และนักเรียนทุนหลวง ไปศึกษาต่อยังทวีปยุโรป

หลักฐานอ้างอิงถึงนักฟุตบอลชาวสยามรายแรก คือข่าวอันปรากฏขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2433 กล่าวว่า ชาวต่างชาติชื่อ นายโซโลมอน นำทีมฟุตบอลของตนที่มีผู้เล่นชาวสยาม เดินทางตระเวนแข่งขันในประเทศออสเตรเลีย ก่อนพบเจอความยากลำบากมากมาย จนเสียชีวิตหนึ่งราย โดยไม่ปรากฏว่านักฟุตบอลเหล่านั้น เป็นชนชั้นสูงชาวสยาม หรือสามัญชนธรรมดา

เมื่อประชาชนต้องจากบ้านเกิด เพื่อไปเผชิญความยากลำบากในการเล่นกีฬาต่างแดน รัชกาลที่ 5 จึงเสด็จเยือนสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เมื่อ พ.ศ. 2440 เพื่อนำความเจริญก้าวหน้าด้านกีฬาสากล อาทิ กรีฑา จักรยาน และฟุตบอล กลับมาสู่อาณาจักรสยาม และช่วยให้คนไทยสนใจกีฬาเหล่านี้มากขึ้น

วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2443 หรือ ร.ศ. 119 ณ ท้องสนามหลวง กีฬาฟุตบอลถูกจัดขึ้นบนแผ่นดินสยามเป็นครั้งแรก โดยเป็นการพบกันระหว่าทีมบางกอก (BANGKOK) กับ ทีมศึกษาธิการ (EDUCATIN DEPARTMENT) ผลจบลงด้วยการเสมอ 2-2 ฟุตบอลนัดดังกล่าวเรียกกันโดยชาวไทยว่า “กติกาฟุตบอล 119”

ฟุตบอลนัดแรกบนแผ่นดินสยาม ได้รับความนิยมอย่างมากจากชาวไทยและต่างชาติ ถึงขนาดที่ หนังสือพิมพ์ บางกอก ไทมส์ (BANGKOK TIMES) ได้แสดงความคิดเห็นต่อกีฬาชนิดนี้ว่า “กีฬาฟุตบอล คือศิลปะชิ้นล่าสุดที่ควรค่าแก่การยกย่องในทุกด้าน”

อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลนัดดังกล่าว ถูกจำกัดไว้ให้ชนชั้นสูงในสยามประเทศลงแข่งขันเท่านั้น ผู้เล่นทีมบางกอกเป็นคนอังกฤษทั้งหมด ส่วนทีมศึกษาธิการ ใช้ผู้เล่นผสมผสานระหว่างชาวยุโรป 7 คน และคนไทย 4 คน ได้แก่ พลตรีเจ้าคุณพระยาอานุภาพไตรภพ, คุณพระภักดีบรมนาถ, ครูบุญตั้ง และหม่อมหลวงคอย กุณชร ซึ่งเป็น ข้าหลวงรับใช้แผ่นดินทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้ หลวงไพศาลศิลปะศาสตร์ จึงแปลหนังสือ “กติกาการแข่งขันฟุตบอล” จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ตีพิมพ์ในหนังสือวิทยาจารย์ ฉบับที่ 1 เมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนทั่วไป สามารถเข้าถึง และสนใจเล่นฟุตบอลมากขึ้น

ยุคทองของฟุตบอลสยาม

ต่อมาเด็กนักเรียนในสถานศึกษาหลายแห่ง เริ่มเล่นฟุตบอลอย่างแพร่หลายทั่วพระนคร ในที่สุดการแข่งขันฟุตบอลรายการแรก จึงถูกจัดขึ้นบนแผ่นดินสยาม พ.ศ. 2444 กระทรวงธรรมการ หรือ กระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน ได้จัดการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนชิงโล่ห์ประเภทแรก ใช้กติการแข่งแบบแพ้คัดออก มีระยะเวลาแข่งขันทั้งหมด 1 เดือน

 2

การแข่งขันในปีดังกล่าว มีโรงเรียนร่วมแข่งขัน 9 ทีม คือ โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์, โรงเรียนราชวิทยาลัย, โรงเรียนสวนกุหลาบ (อังกฤษ), โรงเรียนสวนกุหลาบ (ไทย), โรงเรียนราชการ, โรงเรียนแผนที่, โรงเรียนวัดมหรรณพ์, โรงเรียนกล่อมพิทยากร และโรงเรียนสายสวลีสัณฐานคาร

เมื่อการแข่งขันฟุตบอลนักเรียน ได้รับความนิยมออกไปอย่างกว้างขวาง ครูและอาจารย์ที่มีวิชาสั่งสอนกีฬาฟุตบอลให้แก่ลูกศิษย์ จัดการก่อตั้ง “สมัคยาจารย์สมาคม” ใน พ.ศ. 2495 เพื่อส่งเสริมการสอนฟุตบอลให้ก้าวสู่วงกว้างมากขึ้น พร้อมทั้งจัดการแข่งขันฟุตบอล ระหว่างสมาชิกครูในสมาคม เพื่อชิงถ้วยสมัคยาจารย์ เมื่อ พ.ศ. 2448

แม้กีฬาฟุตบอลจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนการแข่งขันระดับนักเรียนต้องเปลี่ยนเป็นแบบพบกันหมด (ROUND ROBIN) และเพิ่มระยะเวลาแข่งขัน เป็น 2 เดือน เพื่อรองรับจำนวนทีมที่เข้าร่วมมากขึ้น

แต่การแข่งขันฟุตบอลในช่วงเวลานั้น ยังถูกจำกัดให้อยู่ในหมู่ข้าราชการ และนักเรียนชั้นสูงของประเทศ ส่วนสามัญชนทั่วไป มีวาสนาเพียงเตะลูกส้มโอเล่นตามไร่นาเหมือนเก่า

ในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จเสวยราชสมบัติ ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งแผ่นดินสยาม โดยช่วงเวลาดังกล่าว ทุกหน่วยงานราชการ ทั้ง กระทรวง ทบวง กรม และบริษัท ห้างร้าน จากชนชั้นสูง ต่างมีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง และลงแข่งขันเป็นประจำ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันหน้าพระที่นั่งทุกสัปดาห์

ด้วยเหตุนี้ รัชกาลที่ 6 ทรงให้การสนับสนุนกีฬาฟุตบอลอย่างจริงจัง และโปรดให้ประชาชนผู้มีความสามารถในการเล่น เข้ารับราชการตามหน่วยงานต่างๆ

กีฬาชนิดดังกล่าวจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายไปทั่วพระนครและปริมณฑล เห็นผู้คนเล่นกันทุกหนแห่ง ฟุตบอลจึงเริ่มเข้าสู่ชีวิตประจำวันของประชาชนชาวไทย นับแต่นั้นเป็นต้นมา

การเมืองเบื้องหลังลูกหนัง

ปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดพระราชนิยมให้มีการแข่งขันฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง ณ สถานที่ต่างๆ ที่พระองค์เสด็จราชดำเนิน ด้วยเหตุนี้ กีฬาดังกล่าวจึงขยายความนิยมออกจากนอกพระนคร ไปสู่หัวเมืองต่างๆอย่างรวดเร็ว

 3

พระราชนิพนธ์ เรื่อง “ความนิยมฟุตบอลในเมืองไทย” ของ นิสิตอ็อกซ์ฟอร์ด อันเป็นนามแฝงของรัชกาลที่ 6 ได้บันทึกหลักฐานการเล่นฟุตบอลตามหัวเมืองนอกไว้ เมื่อครั้งพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมพร้อมคณะเสือป่า ณ ค่ายหลวงเมืองนครศรีธรรมราช เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2458

เนื้อความในพระราชนิพนธ์กล่าวว่า มีประชาชนมากมายขอถวายตัวเล่นฟุตบอลหน้าพระที่นั่ง โดยมีจำนวนไม่น้อยกว่า 6 ทีม แม้วิธีการเล่นในเมืองนครศรีธรรมราช จะไม่ถูกต้องตามกติกาเหมือนในพระนคร แต่ส่อให้เห็นเป็นพยานถึงความนิยมของฟุตบอลในแผ่นดินสยาม

รัชกาลที่ 6 ทรงเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ ในการจัดตั้งการแข่งขันฟุตบอลแบบสโมสรอย่างจริงจัง จึงได้มีการโปรดเกล้าให้แต่งตั้งคณะกรรมการฟุตบอลถ้วยทองหลวง เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลแบบสโมสรรายการแรกของสยาม ชื่อว่า “การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองหลวง”

สโมสรทั้งหมด 12 ทีม ที่ได้รับอนุญาตให้ส่งเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองหลวง ล้วนเป็นทีมของข้าราชการ ทหารบก ทหารเรือ ตำรวจ และเสือป่า ได้แก่ สโมสรนักเรียนมหาดเล็ก, สโมสรนักเรียนสารวัตร, สโมสรนักเรียนนายร้อย, สโมสรนักเรียนนายเรือ, สโมสรนักเรียนนายร้อยตำรวจ, สโมสรทหารรักษาวัง, สโมสรกรมนักเรียนเสือป่า, สโมสรเสือป่ารักษาดินแดนกรุงเทพ, สโมสรเสือป่ากองม้าหลวง, สโมสรเสือป่ากองพันพิเศษ, สโมสรเสือป่ากรมราบหลวง, และสโมสรเสือป่ากองพันหลวง

ไม่เพียงแต่ทีมที่ลงแข่งขัน จะถูกจำกัดไว้แค่ชนชั้นสูง การเข้าชมฟุตบอลถ้วยทองหลวง ยังต้องเสียเงินค่าผ่านประตูเพื่อรับชม มีราคาตั๋วสูงสุดที่ 1 บาท เทียบเป็นอัตราเงินปัจจุบันได้ราวๆ 300 บาทต่อนัด

กล่าวถึงเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว สยามประเทศไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีนัก เนื่องจากไทยยังถูกผูกมัดไว้กับ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีสินค้าขาเข้าเกินร้อยละ 3 ประกอบกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จากการพัฒนาบ้านเมืองให้ทัดเทียมอารยประเทศ

ถึงกระนั้น แม้จะต้องการรายได้เข้าสู่ท้องพระคลังมากเพียงใด แต่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงตระหนักแน่พระราชหฤทัยว่า การพนันและการเล่นหวยนั้นเป็นสิ่งไม่ดี จึงมีพระราชโองการให้ปิดโรงบ่อนเบี้ยและโรงหวยทั่วประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไป หาความสำราญจากกีฬา อันเป็นสิ่งที่พระองค์พึงปรารถนา

อีกประการหนึ่งที่กีฬาฟุตบอล ถูกผลักดันให้เล่นกันอย่างแพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากมาจากความขัดแย้งของกองทัพและกลุ่มเสือป่า ในขณะนั้น ตามที่บันทึกไว้ในหนังสือ “เกิดวังปารุสก์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ กล่าวว่า “พระองค์ทรงโปรดเสือป่ามาก และยกสถานะของเสือป่าให้เหนือกว่ากองทัพบก ทำให้เหล่าทหารพากันน้อยใจ”

 4

กีฬาฟุตบอลถ้วยทองที่จัดขึ้น จึงเป็นกุศโลบายช่วยลดความตึงเครียด และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของสองหน่วยงาน แต่กลายเป็นว่าปัญหายิ่งร้าวลึกขึ้นไปอีก เมื่อเหล่าผู้เล่นจากสโมสรนักเรียนนายเรือ อันเป็นแชมป์ทีมแรกของรายการนี้ ต่างพากันย้ายไปอยู่กับทีมเสือป่าหมด จน 9 ปี หลังจากนั้น ทีมในเครือเสือป่าเอาชนะการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทองหมด

ซึ่ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงกล่าวเสียดายว่า “พระราชดำริของทูลหม่อมลุง (รัชกาลที่ 6) นั้น มักจะดีเสมอ แต่ผลกลับไม่ตรงกับพระราชประสงค์”

กีฬาของสามัญชน

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2458 คณะฟุตบอลแห่งชาติสยาม หรือ ทีมชาติไทย ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยคณะกรรมการได้ส่งใบเชิญนักเตะชื่อดังจากสโมสรต่างๆ ในรายการแข่งขันฟุตบอลถ้วยทอง ให้เข้ามารับการคัดเลือก อันเป็นมุดหมายสำคัญว่า ฟุตบอล เป็นกีฬาประจำชาติของประชาชนชาวไทย

 5

ด้วยเหตุนี้ สามัญชนทั่วไปจึงพากันเรียกร้องให้นำกีฬาดังกล่าว มาจัดแข่งขันอย่างเป็นทางการให้ประชาชนลงเล่น เพื่อลดความตึงเครียดของการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าก่อตั้งและรับเป็นองค์อุปถัมภ์ ในชื่อ “คณะฟุตบอลแห่งสยาม” หรือ “สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” ในเวลาต่อมา

นอกจากนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทาน “การแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่” และ “การแข่งขันฟุตบอลถ้วยน้อย” แก่คณะฟุตบอลสยาม เพื่อเป็นรางวัลสำหรับสโมสรชนะเลิศประเภทประชาชนทั่วไป ส่วนรายการฟุตบอลถ้วยทองหลวง อันถูกจำกัดไว้ให้ข้าราชการ ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น ฟุตบอลถ้วยทองนักรบ ตามความเหมาะสม

พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโองการ ประกาศให้ข้าราชการ สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกคณะฟุตบอลแห่งสยามได้ โดยมิต้องร้องเรียนขออนุญาต เพื่อรักษาสมดุลช่องว่างระหว่างชนชั้นสูงกับสามัญชนเอาไว้ให้คงเดิม

สำหรับการแข่งขันฟุตบอลถ้วยใหญ่-ถ้วยน้อย มีทีมหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงแข่งขันในรายการถ้วยทองมาสมัครมากมาย ส่วนใหญ่เป็นทีมจากหน่วยข้าราชการชั้นน้อย เช่น สโมสรกรมมหรสพ สโมสรกระทรวงยุติธรรม สโมสรกองเดินรถ รวมถึงเปิดโอกาสให้สโมสรที่นักเตะส่วนใหญ่เป็นสามัญชนหรือคนอพยพ ทั้ง จุฬาลงกรณ์ฟุตบอลสโมสร สโมสรจีนแคะ และสโมสรมุสลิม มีโอกาสลงชิงชัยในสนามแข่งขัน

วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 ถือเป็นวันสำคัญของประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย เมื่อ สโมสรนครชัยศรี เอาชนะ สโมสรทหารรักษาวัง ด้วยคะแนน 2-0 ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยน้อย ถือเป็นสโมสรแรกจากหัวเมือง ที่สามารถครองถ้วยฟุตบอลสำคัญของสยาม

 6

ความสำเร็จดังกล่าวของสโมสรจากหัวเมือง เพิ่มความนิยมฟุตบอลในไทยมากเป็นเท่าทวี ราษฎรสยามที่เคยรับรางวัลหรือสิ่งของ เมื่อสร้างผลงานในการเล่นฟุตบอล ต่างช่วยกันบริจาคทรัพย์ เพื่อสนับสนุนกีฬาฟุตบอลให้คงอยู่ต่อไป ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจที่รุมเร้า ในปี พ.ศ. 2467

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จึงบรรจุกีฬาฟุตบอลให้เป็นส่วนหนึ่งของแบบเรียนชั้นประถม และมัธยม เปิดโอกาสให้เยาวชนทุกคนบนพื้นแผ่นดินไทย ได้สัมผัสกับฟุตบอล ถือเป็นรากฐานสำคัญทำให้กีฬาชนิดนี้ ยังคงอยู่ต่อไปได้ ภายหลังการเสด็จสวรรคตของรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2468

ขณะเดียวกัน การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยทองนักรบ หรือฟุตบอลในวัง เป็นอันต้องสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2468 เนื่องจากผู้ครองความยิ่งใหญ่ในรายการนี้ อย่าง สโมสรเสือป่า ได้เสื่อมอำนาจทางการเมือง ตามการสิ้นสุดของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และคู่แข่งอย่างกองทัพและตำรวจ ไม่มีความสนใจจะดำเนินรายการนี้ต่อไป

 7

ส่วนการแข่งขันของสามัญชน อย่าง ฟุตบอลถ้วยใหญ่และถ้วยน้อย ที่ยังคงดำเนินต่อไปจนถึง พ.ศ. 2505 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. และ ข. ตามลำดับการเดินทางของฟุตบอลในประเทศไทย

จึงแฝงไว้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งทางสังคมและการเมือง ช่วยผลักดันให้เกิดการวิวัฒน์ของกีฬาชนิดนี้ ให้เปลี่ยนผ่านจากการแข่งขันอันจำกัดอยู่เพียงในวัง สู่กีฬาอันดับหนึ่งของประเทศไทย ที่เล่นกันได้ท้องถนน อย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ การเปลี่ยนผ่าน "ฟุตบอลสยาม" จากในวังสู่กีฬาสามัญชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook