ซาลาห์ และ มาเน่ ถือศีลอด แต่ทำไมยังเล่นดีเหมือนเดิม

ไขคำตอบจากวิทยาศาสตร์ : เหตุใดประสิทธิภาพของนักกีฬาที่ถือศีลอดจึงไม่ลดลง?

ไขคำตอบจากวิทยาศาสตร์ : เหตุใดประสิทธิภาพของนักกีฬาที่ถือศีลอดจึงไม่ลดลง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“โมฮาเหม็ด ซาลาห์ และ ซาดิโอ มาเน” กลายเป็นสองคีย์แมนคนสำคัญ ในนัดชิงชนะเลิศยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ที่ช่วยให้ลิเวอร์พูลครองเจ้ายุโรปสมัยที่ 6

ในห้วงเวลาที่ ดูโอจากทวีปแอฟริกา ลงสนามในนัดชิงชนะเลิศ ที่เอาชนะ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ 2-0 ประตู ก็เป็นช่วงเดียวกับ ที่ทั้งคู่อยู่ในระหว่างการถือศีลอด เดือนรอมฎอน

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้นับถือ หรือเคยศึกษาเกี่ยวกับศาสนา อิสลาม อาจต่างมีความเข้าใจและความเป็นห่วงใยต่อ ผู้ถือศีลอด หลายมุมออกไป บ้างก็คิดว่านี่เป็นการทรมานร่างกาย เพราะผู้ที่ถือศีลอด ไม่สามารถรับประทานอาหาร น้ำดื่ม รวมถึงข้อห้ามอื่นๆ


จนกว่าจะถึงช่วงละศีลอด หรือแก้บวช (Iftar) หลังพระอาทิตย์ตก โดยที่ระยะเวลาของแต่ละประเทศ ก็สั้นยาวไม่เท่ากัน (อย่างในแถบสแกนดิเนีย อาจมีช่วงเวลาถือศีลอดยาวนานถึง 20 ชั่วโมง)

บ้างก็มีความกังวลว่า การถือศีลอด อาจส่งผลให้สุขภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติแย่ลง หากอดอาหารเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 30 วัน โดยเฉพาะนักกีฬาอาชีพ ที่ไม่สามารถเลี่ยงการใช้พละกำลัง และต้องสูญเสียพลังงานจำนวนมาก ในการฝึกซ้อม และแข่งขัน

แต่ทำไมเราถึงยังเห็นนักกีฬามุสลิมระดับโลกมากมาย สามารถเล่นกีฬา ควบคู่การถือศีลอดในเดือน รอมฎอน ได้... แถมประสิทธิภาพในสนามกลับไม่ลดลงไปเลย เราพาไปค้นหาความจริงจากปากคำพวกเขา ผ่านคำอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์

ถือศีลอดไม่ใช่การทรมานตัวเอง

“รอมฎอน เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่เก้า ตามปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺ  นี่คือช่วงเวลาแห่งการมีระเบียบวินัย และควบคุมตัวเอง และทำให้ผู้คนได้เห็นอกเห็นใจ เพื่อนมนุษย์ผู้อดยาก ขาดแคลนอาหาร และห่างไกลจากคุณภาพชีวิตที่ดี”


Photo : www.skysports.com

“ผมเข้าถือบวชเดือนรอมฎอน มาตั้งแต่อายุ 6 ปี มันจึงเป็นเรื่องปกติของผม ที่ต้องปฏิบัติในช่วงเวลานี้ของทุกๆปี  คนมุสลิมที่อดอาหารไม่ได้มีความกังวลเรื่องพวกนี้ เพราะอย่างน้อยเขาก็รู้ว่าหลังพระอาทิตย์ตก เขาจะมีอาหารรับประทาน แต่กับคนที่อดอยาก เขาไม่มีทางรู้ด้วยซ้ำว่า มื้อต่อไปของตัวเองจะมาถึงเมื่อไหร่ ”

“แต่การจะปฏิบัติให้ได้นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย เพราะมันส่งผลให้คุณเครียดได้ ดังนั้น ผู้ป่วย เด็กเล็ก สตรีตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ จึงได้รับการยกเว้น เกี่ยวกับการถือศีลอด” ดร.อิกบัล ซาฟ หัวหน้าทีมแพทย์สโมสร คริสตัล พาเลซ ที่เคยผ่านงานทำงานกับสโมสรลิเวอร์พูล และท็อตแนม ฮอตสเปอร์ อธิบายถึงการถือศีลอดเบื้องต้น

แม้การถือศีลอด จะมีความสำคัญเป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติตามศาสนบัญญัติ ของศาสนาอิสลาม ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานับพันปี โดยมีวัตถุประสงค์ ให้มนุษย์ได้ทำความดี ชำระจิตใจ เพื่อเป้าหมายสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และสูงส่งทางด้านจิตวิญญาณ ตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของพระเจ้า

แต่ในโลกของกีฬาอาชีพ มีข้อถกเถียงมากมาย ถึงความเหมาะสม ในการถือศีลอดของ นักกีฬามุสลิม ที่มีอยู่ทุกมุมโลก


Photo : www.dhakatribune.com

ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ร่างกายของมนุษย์ สามารถอยู่ได้โดยขาดอาหาร 3 สัปดาห์ และขาดน้ำ 1 สัปดาห์ ซึ่งยังห่างไกลกับระยะเวลาอดอาหาร ในเดือนรอมฎอน แต่ถึงกระนั้น ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่ภาวะอดอาหาร หากไม่ได้มีการรับประทานอะไรเข้าไปเป็นเวลานานกว่า 8 ชั่วโมง นับจากมื้อล่าสุด

ช่วงเวลานี้ ร่างกาย จะเริ่มเปลี่ยนกลูโคสที่เก็บสะสมไว้ในตับ และกล้ามเนื้อมาเป็นพลังงาน จนเมื่อกลูโคสหมด ก็จะดูดเอาไขมันมาเป็นแหล่งพลังงานสำหรับร่างกาย ผลที่ตามมา คือ ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ส่งผลให้ร่างกาย เกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วิงเวียน ไปจนถึงคลื่นไส้ และหายใจไม่สะดวก

ดังนั้นลองจินตนาการภาพเล่นๆ หากนักกีฬาที่ไม่สามารถกินอาหาร หรือดื่มน้ำ เป็นเวลานานเกิน 10 ชั่วโมง แถมยังต้องไปออกกำลังกาย ฝึกซ้อม หรือลงแข่ง กลางแจ้ง มันจะทรมานมากขนาดไหน สำหรับอาชีพที่การเสียน้ำเพียง 1 เปอร์เซนต์ของร่างกายก็แทบจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของพวกเขาแล้ว

นอกจากนี้ นักกีฬามุสลิม จำนวนไม่น้อย ต้องเดินทางอยู่ตลอด เพื่อไปแข่งขันตามโปรแกรม ทำให้การวางแผน การเตรียมอาหาร การพักผ่อน อาจทำได้ยากลำบาก ความกังวลนี้ ถึงขนาดที่ บางประเทศ อนุญาตให้เหล่านักกีฬา สามารถเลื่อนการถือศีลอดออกไปได้ หรืออย่างในประเทศไทย ฟุตบอลไทยลีก 4 โซนภาคใต้ จะทำการหยุดพักการแข่งขันในช่วงเดือน รอมฎอน เป็นประจำทุกปี

การถือศีลอดในหมู่นักกีฬาอาชีพ จึงเป็นประเด็นที่ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรกีฬาระดับนานาชาติ มากมาย พยายามค้นหาคำตอบเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง FIFA (สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ) มีการทำวิจัย และจัดประชุมสัมมนา เพื่อหาความเสี่ยง และผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว

ถึงกระนั้น FIFA ก็ยังไม่สามารถหาข้อพิสูจน์ ฟันธงได้ว่า การอดอาหารส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกายนักฟุตบอล ในช่วงเดือนรอมฎอน เพราะร่างกายของนักกีฬาแต่ละคน แสดงผลการตอบสนอง หลังการอดอาหารแตกต่างกัน

ในทางตรงข้าม หากนักเตะ มีการปฏิบัติอย่างเหมาะสม เรื่องของการอดอาหารในระหว่างวัน ก็แทบไม่ส่งผลต่อฟอร์มการเล่นในสนามเลย


Photo : makassar.terkini.id

“เราได้ทำการศึกษานักกีฬาผู้ถือศีลอด ที่ลงเล่นในช่วงเดือนรอมฎอน อย่างกว้างขวาง ข้อสรุปก็คือ ถ้ามีการปฏิบัติอย่างเหมาะสม สมรรถภาพด้านร่างกายของนักกีฬา จะไม่ลดลงเลย ไม่มีอะไรต้องกังวล” ยีรี่ โวรัค หัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของ FIFA  กล่าว

สอดคล้องกับคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ของ ดร. ราซีน มาห์รูฟ ที่ปรึกษาในหน่วยผู้ป่วยหนัก และยาชา ที่โรงพยาบาลแอดเดินบรูกส์ ในเมืองเคมบริดจ์ ที่นำเสนอข้อมูลว่า การถือศีลทำให้ร่างกายของมนุษย์ดีขึ้น แต่ไม่ควรยึดมาใช้เพื่อการลดน้ำหนักระยะยาว

“ในชีวิตประจำวัน เรามักกินมากเกินไป และอาจส่งผลให้ร่างกายไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเท่าที่ควร เช่น การซ่อมแซมตัวเอง การปรับสภาพของร่างกายจะเกิดขึ้นในช่วงถือศีลอด ทำให้ร่ายกายได้หันไปทำหน้าที่อื่นๆ”

“ช่วงครึ่งหลังของการถือศีลอด (วันที่ 16-30) ร่างกายจะปรับตัวเข้ากับกระบวนการอดอาหารได้อย่างสมบูรณ์แบบลำไส้ใหญ่, ตับ, ไต และผิวหนัง จะเข้าสู่ช่วงของการถอนพิษ การทำงานของอวัยวะต่างๆ น่าจะกลับไปสู่ระดับเต็มศักยภาพอีกครั้ง ความจำและสมาธิอาจจะดีขึ้น และคุณอาจมีเรี่ยวแรงเพิ่มขึ้น”

"การถือศีลอดเป็นผลดีต่อสุขภาพของเรา เพราะมันช่วยให้เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรากินและเวลาที่เรากิน อย่างไรก็ตาม ขณะที่การถือศีลอดนาน 1 เดือนอาจจะไม่เป็นไร แต่ก็ไม่แนะนำให้อดอาหารต่อเนื่องนานกว่านั้น เพราะสุดท้ายแล้ว ร่างกายของคุณจะหยุดเปลี่ยนไขมันมาเป็นพลังงาน และจะหันไปใช้กล้ามเนื้อแทน นี่ไม่ดีต่อสุขภาพ เพราะนั่นจะทำให้ร่างกายเริ่มเข้าสู่ภาวะ 'อดอยาก'"

“การถือศีลอดอย่างถูกวิธีในช่วงเดือนรอมฎอน จะทำให้คุณได้เติมพลังงานในแต่ละวัน ซึ่งหมายความว่าคุณอาจลดน้ำหนักลงโดยที่ร่างกายไม่เสียกล้ามเนื้อที่มีคุณค่า" ดร.ราซีน กล่าว

แค่ความอดทนด้านร่างกายไม่พอ ?

ในทางทฤษฎี เราอาจเห็นข้อดีของการถือศีลอด แต่หากลองนึกภาพตามในทางปฏิบัติ เชื่อว่าผู้อ่านที่ต่อให้ไม่เคยถือศีลอด คงสัมผัสได้ว่า นี่ไมใ่ช่เรื่องง่ายที่ใครสักคน จะสามารถปฏิบัติได้ครบ 30 วัน


Photo : www.news-mail.com.au

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ไม่ใช่ นักกีฬามุสลิมทุกคนจะเลือกถือศีลอด ตัวอย่างเช่น นิโคลาส์ อเนลก้า ที่ขอบายเรื่องการอดอาหาร ในระหว่างเล่นฟุตบอลอาชีพ หรืออย่างในรายของ เมซุต โอซิล ที่ต้องขอเลื่อนเวลาการถือศีลอดออกไป

ต่อให้เป็นนักกีฬาที่ร่างกายบึกบึน แข็งแรง มีมวลกล้ามเนื้อใหญโต บางครั้งก็พวกเขาอาจไม่สามารถต้านทานกับความหิว และสภาวะที่ร่างกายอ่อนแรง จากการขาดน้ำ โดยช่วงเวลาที่ยากลำบากสุดในการอดอาหาร คือช่วง 2-3 วันแรก ที่ร่างกาย ต้องเปลี่ยนเข้าสู่ภาวะอดอาหาร อย่างกะทะหัน และช่วง 3-7 วันที่ร่างกายยังไม่ชินกับสภาวะนี้ และต้องการน้ำ


Photo : www.thenews.com.pk

ดังนั้นนักกีฬาที่สามารถเล่นได้ ในระหว่างถือศีลอดนั้น เกือบทั้งหมด จึงเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝน และเข้าถือศีลอด ตั้งแต่อายุยังน้อย พอเมื่อถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ ร่างกายจึงสามารถทนทาน และคุ้นชินกับสภาวะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แม้ส่วนมากจะแสดงอาการอ่อนแรง หลังจบการแข่งขันก็ตาม

“ตอนที่ผมเป็นเด็ก ผมเคยถามผู้ปกครองว่า ทำไมพวกเราต้องมาอดอาหาร ในขณะที่เล่นกีฬา เราชินกับการดื่มน้ำ, เกลือแร่ และเครื่องดื่มให้พลังงาน อะไรทำนองนี้ ท่านบอกกับเราแค่ว่า ให้ยึดศาสนาเป็นเรื่องหลัก และการเล่นกีฬาเป็นเรื่องรอง”

“ผมมองว่ามันเป็นความท้าทาย เปรียบเสมือนเกมที่เราต้องเล่น และผ่านไปให้ได้ ในปีแรกทุกอย่างมันยากไปหมด แค่คุณตื่นสาย ก็อาจหมายถึงการพลาดกินอาหารเช้า มื้อก่อนพระอาทิตย์ขึ้น (Suhoor) หลังจากนั้นเราทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในการเล่นกีฬา และการถือศีลอด ซึ่งผมไม่เคยได้อภิสิทธิ์เหนือกว่าเพื่อนร่วมทีมในช่วงเดือนรอมฎอน” ฮัมซะ อับดุลลาห์ อดีตนักอเมริกันฟุตบอลชื่อดัง เล่าถึงประสบการณ์การถือศีลอดในวัยเด็ก


Photo : profootballtalk.nbcsports.com

เขา และน้องชาย ฮุสเซน ที่เป็นนักกีฬาใน NFL เหมือนกัน ได้รับการยกย่องให้เป็น ตัวอย่างของนักกีฬามุสลิมที่มีความอดทนด้านร่างกาย และจิตใจสูง แม้ต้องอดอาหาร และเล่นกีฬาที่ใช้พละกำลัง ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน นานเกือบ 3 ชั่วโมงต่อนัด

พวกเขาปฏิบัติตัวอย่างมีระเบียบวินัย พักผ่อนอย่างเพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ตั้งแต่สมัยเป็นดาวรุ่ง จนถึงรีไทร์อาชีพ สองพี่น้องตระกูลอับดุลลาห์ ก็ยังคงถือศีลอดอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการเล่นกีฬาคนชนคน

เรื่องของการถือศีลอด จึงเกี่ยวพันกับความแข็งแกร่งด้านจิตใจด้วยเช่นกัน โดย ไฮซัม เคอร์บาเตียห์ นักกีฬาออสซีรูสส์ (คล้ายกับรักบี้) แสดงความเห็นว่า “การเล่นฟุตบอล (ออสเตรเลียเรียกกีฬานี้ว่า ฟุตบอล) ในขณะที่อดอาหาร ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คุณต้องทำ มันเป็นเดือนที่ทำให้ผมรู้สึกดี ผมจึงคิดว่า การถือศีลเป็นการทดสอบด้านจิตใจมากกว่าร่างกาย”

ขณะที่ คาห์ดิยา ดิกซ์ นักไตรกีฬาวัย 48 ปี ชี้ว่าการให้ความสำคัญกับการถือศีลอด และละหมาด ช่วยให้เธอมีสมาธิในการแข่งขันมากขึ้น รวมถึงเป็นคนที่มีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น

เช่นเดียวกับ ฮาคีม โอลาจูวอน อดีตนักบาสเกตบอล NBA ระดับเซียน ที่อดอาหารมาตลอดอาชีพนักยัดห่วง แม้ในช่วงนัดชิงชนะเลิศ โดยให้เหตุผลว่า เขารู้สึกตัวเบาและ มีสมาธิขึ้น เมื่อถือศีลช่วงเดือนรอมฎอน

ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หลังพระอาทิตย์ตก

แน่นอนว่ามาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงสงสัยว่า บรรดานักกีฬาระดับโลกที่ถือศีลอด ในช่วงที่ต้องแข่งขันกีฬา พวกเขา มีเคล็ดลับพิเศษอะไรที่ทำให้ สภาพความฟิต ประสิทธิภาพในสนาม ไม่ถดถอยลงไป แม้ร่างกายไม่ได้กินอะไรเลย เป็นเวลาหลายชั่วโมง


Photo : aboutislam.net

แอนิการ์ ชฮาบรา ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กีฬาเมโย คลินิก อะริโซนา ชี้ว่า อุปสรรคใหญ่สุดของ นักกีฬาที่ถือศีลอด คือ การวางแผนเตรียมตัวไม่ดีพอ หากนักกีฬามีจัดตารางเวลาร่างกาย เลือกกินอาหารที่เหมาะสม และปฏิบัติอย่างมีวินัย พวกเขาจะไม่มีปัญหาในการปรับตัวเลย

สำหรับอาหารที่เหมาะในช่วงเช้ามืด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ควรเป็นอาหารที่มีโปรตีน คารโบไฮเดรต ไขมันดี เพื่อช่วยส่งเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อ อาทิ ไข่ขาว, อกไก่, ข้าวโอ๊ตบด, โปรตีนแบบเขย่า, กล้วย, เนยถั่วธรรมชาติ, น้ำมันมะกอก, ผักที่กากใย เป็นต้น ซึ่งยังรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวิตามิน และแร่ธาตุ หากต้องการความชัวร์ว่าตัวเองได้รับสารอาหารที่จำเป็น และเพียงพอ ก่อนเข้าสู่ช่วงอดอาหารประจำวัน

สิ่งที่ต้องควรระวัง คือ อาหารที่มีโซเดียม ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ และแน่นอนว่า ต้องดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อสร้างความชุ่มชื่นแก่ร่างกาย จนกว่าจะถึงมื้อเย็น (Iftar) 

เมื่อได้เวลานั้น นักกีฬา ควรเลือกกินมื้อเล็กๆ หลายมื้อๆ มากกว่ามื้อหนักครั้งเดียว นอกเหนือจาก อินทผลัมแล้ว ควรเสริมด้วยพืชผัก อาทิ ถั่วเปลือกแข็ง, เมล็ดพืช, ผักใบเขียวเข้ม, น้ำผลไม้คั้นสด สิ่งสำคัญคือ ต้องดื่มน้ำเปล่าให้มากๆ

งดชา กาแฟ เพราะสารคาเฟอีนจะเร่งให้เกิดการขับปัสสะวะ ในช่วงกลางวัน ทำให้ร่างกายขาดน้ำ งดน้ำอัดลม อาหารประเภทแป้งขัดขาว ไขมันจากสัตว์ ผลิตภัณฑ์ขนมปังโซเดียมสูง และเนื้อสัตว์กระป๋อง รวมถึงควรเลี่ยงอาหารทอด เพราะอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดท้องได้

“ผมรู้สึกเบาๆตัว ในแง่ระดับของพลังงานในร่างกายของผม มันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย” บาชาร์ ฮูลี นักกีฬาออสซีรูลส์ เริ่มเผยถึงเคล็ดลับของเขา


Photo : www.sbs.com.au

“ผมตื่นมาดื่มน้ำ และกินอาหาร ที่จะเป็นแหล่งพลังงานให้ผมสามารถเก็บไว้ใช้ตลอดทั้งวัน เช่น ขนมปัง 2-3 ชิ้นทาด้วย Vegamite (แยมผักกวน) ตามด้วยน้ำอะโวคาโดสักขวด ต่อด้วย เกลือแร่ รวมถึงผลไม้เล็กน้อย และนั่นทำให้ผมสามารถผ่านช่วงเวลาอดอาหารไปได้อย่างไม่มีปัญหา”

ขณะที่ สองพี่น้องตระกูลอับดุลลาห์ มีเคล็บลับในการดื่มน้ำให้ได้ปริมาณ เท่ากับครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัว ถ้าสมมุติน้ำหนักตัวพวกเขาหนัก 220 ปอนด์ (99 กิโลกรัม) พวกเขาก็ต้องดื่มให้ได้ 110 ออนซ์ (3 ลิตรกว่าๆ) แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่การดื่มน้ำแบบยกซดรวดเดียว เพราะร่างกายจะไม่ได้ดูดซึมอะไร สองพี่น้องคู่นี้ ใช้วิธีการค่อยๆดื่ม

นอกจากนี้ พวกเขายังรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักผลไม้ที่มีโปรตีนไขมันต่ำ น้ำด่างเพื่อสุขภาพ น้ำมะพร้าว เกลือแร่หลากหลายชนิด เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

คงเป็นความจริงที่ว่า เมื่อเราศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เราก็พร้อมและยินดีที่เปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น อย่างไม่มีเงื่อนไข เช่นเดียวกับ นักกีฬาที่เลือกถือศีลอดในเดือนศักดิ์สิทธิ์ รอมฎอน


Photo : www.thenational.ae

แน่นอนว่า พวกเขาทุกคนต่างรับรู้ว่า ต้องเจอพบกับความยากลำบากใดบ้าง ตลอดระยะเวลา 30 วัน แต่ทุกคนก็มีเหตุผล ที่จะไม่ยอมละทิ้งหน้าที่ของการเป็นศาสนิกชน แม้อยู่ในช่วงที่ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ ผ่านการใช้ร่างกายเล่นกีฬา

เหตุผลข้อนั้น คงมีชื่อว่า “ศรัทธา” ซึ่งมีขนาดยิ่งใหญ่กว่า ความหิวกระหาย ความสุขสบาย ชั่วครั้ง ชั่วคราว ในชีวิตประจำวัน 


Photo : www.dailysabah.com

“ผมไม่มีปัญหาที่ผู้เล่นของเราอดอาหาร เพราะผมเคารพในศาสนาของพวกเขา” เจอร์เกน คล็อปป์ เฮดโค้ชลิเวอร์พูล ให้สัมภาษณ์ก่อนเกมนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 2018-19

“พวกเขาเป็นผู้เล่นที่ยอดเยี่ยมเสมอ และทุ่มเทอย่างสุดกำลังเพื่อทีม ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงถือศีลอดหรือไม่ก็ตาม บ่อยครั้งที่ผมเห็น ซาดิโอ มาเน และ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ เดินเข้ามาในห้องแต่งตัว เพื่อทำพิธีละหมาด”

“เพราะในชีวิตของคนเรา มีหลายสิ่งที่สำคัญกว่าแค่เรื่องของฟุตบอล”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook