กฎ 6+5 : เมื่อ "ปูติน" สั่งจำกัดโควต้าแข้งต่างชาติในลีกรัสเซีย

กฎ 6+5 : เมื่อ "ปูติน" สั่งจำกัดโควต้าแข้งต่างชาติในลีกรัสเซีย

กฎ 6+5 : เมื่อ "ปูติน" สั่งจำกัดโควต้าแข้งต่างชาติในลีกรัสเซีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยระบบโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้ทั่วทั้งโลกเชื่อมโยงถึงกัน ส่งผลให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาหาช่องทางทำกินในดินแดนที่มีโอกาสมากกว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ฟุตบอล

ทุกวันนี้ลีกดังในยุโรปต่างมีผู้เล่นทั้งจากนอกทวีปอย่างอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย และในทวีปเดียวกันพาเหรดเข้ามาค้าแข้งอย่างมากมาย จนทำให้หลายลีกเกิดปัญหาแข้งต่างชาติล้นลีก

ลีกที่ได้รับผลกระทบ พยายามแก้ปัญหาในจุดนี้ด้วยการจำกัดผู้เล่นต่างชาติทางอ้อม ไม่ว่าลีกของอังกฤษ ที่ใช้ระบบโฮมโกรวน์ บีบให้สโมสรในลีกใช้นักเตะที่ปลุกปั้นมากับมือ หรือลีกอิตาลีที่อนุญาตให้แต่ละทีมซื้อนักเตะนอกสหภาพยุโรปได้ไม่เกินปีละ 2 คน

 

อย่างไรก็ดี สำหรับลีกรัสเซียนั้นต่างออกไป เพราะพวกเขามีกฎจำกัดผู้เล่นต่างชาติสุดโหดในระบบ 6+5 ที่สามารถส่งผู้เล่นที่ไม่ใช่ชาวรัสเซียลงสนามได้ไม่เกิน 6 คนเท่านั้น

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ลีกแดนหมีขาว ใช้กฎผู้เล่นต่างชาติเช่นนี้ ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

วิวัฒนาการของกฎผู้เล่นต่างชาติ

อันที่จริงประวัติศาสตร์กฎต่างชาติของรัสเซียพรีเมียร์ลีก ย้อนไปไม่ไกลนัก พวกเขาเพิ่งจะมีกฏนี้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005 หลังการก่อตั้งลีกอย่างเป็นทางการได้ 4 ปี ในตอนนั้นแต่ละทีมจะมีผู้เล่นต่างชาติลงเล่นได้เพียงแค่ 5 คนเท่านั้น

 1

อย่างไรก็ดี กฎดังกล่าวกลับช่องโหว่อยู่ เนื่องจากผู้เล่นที่ติดทีมชาติเกิน 10 นัด จะไม่ถูกจำกัดจากกฎนี้ ทำให้ครั้งหนึ่ง ดินาโม มอสโก เคยส่ง 11 ตัวจริงลงสนามโดยไม่มีแข้งรัสเซียแม้แต่คนเดียวในเกมพบ เอฟซี มอสโก มาแล้ว

แน่นอนว่าด้วยช่องโหว่นี้ ทำให้กฎนี้มีอายุไม่นาน และมันก็ได้ถูกแทนที่ด้วยระบบ 7+4 ในปี 2006 ที่อนุญาตให้ส่งนักเตะต่างชาติลงเล่นพร้อมกันได้ 7 คน ในขณะที่อีก 4 คนคือโควต้าของแข้งชาวรัสเซีย และมันก็ถูกใช้มาจนถึงฤดูกาล 2014-2015

ก่อนที่ในเดือนธันวาคม 2014 สหภาพฟุตบอลรัสเซีย ได้ตัดสินใจใช้กฎผู้เล่นต่างชาติใหม่ในชื่อกฎ 10+15 ที่แต่ละทีมจะสามารถลงทะเบียนนักเตะต่างชาติได้ไม่เกิน 10 คน ส่วนอีก 15 คนเป็นโควต้าของชาวรัสเซีย โดยมีเป้าหมายทำให้เกิดการแข่งขันกันเองในกลุ่มผู้เล่น

ทว่าไอเดียนี้ต้องเป็นหมันเมื่อ วิทาลี มุตโก รัฐมนตรีกระทรวงกีฬาของรัสเซียในขณะนั้น (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) แสดงความไม่เห็นด้วยกับกฎนี้ ทำให้มันถูกยกเลิกตั้งแต่ยังไม่ได้ใช้ และเปลี่ยนเป็นกฎ 6+5 ซึ่งลดโควต้าผู้เล่นต่างชาติลง 1 คนและใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

อะไรคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลีกรัสเซียลดโควต้าผู้เล่นต่างชาติลงมาถึงระดับนี้

ประธานาธิบดีสั่งมา

นับตั้งแต่เปลี่ยนผ่านจากสหภาพโซเวียตมาเป็นรัสเซีย วงการฟุตบอลแดนหมีขาวต้องห่างหายจากความสำเร็จไปนาน ผลงานที่ดีที่สุดก่อนปี 2018 คือการเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ยูโร 2008 แต่สำหรับฟุตบอลโลก พวกเขาต้องตกรอบแรกซ้ำแล้วซ้ำอีก แถมบางปียังตกรอบคัดเลือกอีกต่างหาก

 2

ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2010 รัสเซียต้องมาเจอโจทย์ยาก เมื่อพวกเขาได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 คงไม่ดีแน่หากจะต้องตกรอบแรกต่อหน้าแฟนบอลในบ้านเกิด รัสเซียจึงต้องเตรียมตัวให้ดีที่สุด

“ผมชอบดูทีมฟุตบอลตอนที่พวกเขามีนักเตะที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ในฟุตบอล เรามีนักเตะรัสเซียเพียงแค่ 4 คนในรายชื่อผู้เล่นแต่ละเกม และเรามี 16 ทีมในลีก ลองนับดูว่าเรามีนักเตะรัสเซียกี่คนที่กำลังเล่นอยู่ เรามีงานที่ต้องทำอย่างจริงจังในเรื่องนี้” วิทาลี มุตโก กล่าวกับ Daily Mail

กอปรกับในช่วงต้นปี 2014 ทีมฮอกกี้น้ำแข็งกลับทำผลงานได้ไม่ดีนักในโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองโซชิ การเสียหน้าคาบ้านนี้เอง ทำให้ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดี เสนอไอเดียลดโควต้าผู้เล่นต่างชาติในทุกประเภทกีฬา ทั้งฮอกกี้น้ำแข็ง วอลเลย์บอล และฟุตบอล

“ตอนที่ผมคุยกับผู้เชี่ยวชาญ พวกเขาบอกผมว่าผู้เล่นต่างชาติมีมากเกินไป” ปูตินให้เหตุผล

 3

ก่อนที่ในวันที่ 1 กรกฎาคม เรื่องนี้จะเป็นรูปธรรมมากขึ้นเมื่อ ปูติน ได้ลงนามแก้ไขกฎหมายของรัฐบาลกลาง ในส่วนของพลศึกษาและกีฬา โดยมอบหมายในกระทรวงกีฬาไปกำหนดจำนวนผู้เล่นต่างชาติที่เหมาะสมในลีก

จากกฎหมายดังกล่าวทำให้รัสเซียพรีเมียร์ลีกได้ลดโควต้านักเตะต่างประเทศจาก 7 คน เหลือ 6 คน ส่วนฮอกกี้น้ำแข็งอนุญาตให้ใช้ได้เพียง 5 คน ในขณะที่วอลเลย์บอลจะมีผู้เล่นต่างชาติได้เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น

“ประธานาธิบดี เห็นด้วยว่ามีปัญหาเกิดขึ้น แต่เขาพูดว่าเราต้องจัดการกับเรื่องนี้อย่างยืดหยุ่น เขาไม่ได้พูดถึงวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจน ที่จริงแล้วเขาพูดว่าเราต้องทำให้นักกีฬาของเราเก่งขึ้น มันมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมากทั้งในแง่ของเวลา เงิน และโค้ช และในตอนนี้ มันง่ายกว่าที่จะแก้ปัญหาด้วยการซื้อนักเตะต่างชาติเข้ามา” ดิมิทรี เปสคอฟ เลขานุการด้านสื่อของปูตินกล่าว

 4

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสในการลงเล่นของผู้เล่นท้องถิ่น หลังจากก่อนหน้านี้ลีกของพวกเขาโดนยึดครองด้วยผู้เล่นต่างชาติที่หลายทีมกว้านซื้อกันเข้ามา และแม้ว่าโควต้าของนักเตะรัสเซียจะเพิ่มขึ้นมาเพียงหนึ่งคน แต่หากมองในภาพรวม ก็น่าจะส่งผลไม่น้อย

“รัฐบาลพูดเรื่องนี้ตอนที่พวกเขาไปเยี่ยมศูนย์ฝึก Krasnodar Academy  ที่มีสภาพที่ดี แต่คำถามที่ว่า ‘ทำไมนักเตะต่างชาติถึงเล่นให้กับสโมสรนี้’ มันเป็นการแข่งขันของเราไม่ใช่หรือ? หรือมันเป็นเรื่องคุณภาพของการเตรียมพร้อม?” อยู่เต็มไปหมด ด้วยตำแหน่งของประธานาธิบดีเขาให้ความสำคัญกับการปกป้องผู้เล่นของเราเสมอ เรามีกฎหมายพื้นฐาน เราต้องดูว่าเราจะปกป้องพวกเขาอย่างไร และปล่อยให้สมาพันธ์ตัดสินใจในวิธีที่จะปกป้อง และตั้งข้อจำกัด (จำนวนผู้เล่นต่างชาติ)”   

แน่นอนว่าจุดประสงค์ในการลดโควต้าผู้เล่นต่างชาติ เป็นเจตนาที่หวังดีต่อนักเตะท้องถิ่น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับพวกเขา

ดาบสองคม

“มันเป็นการจำกัดแบบปลอมๆ และเอื้อประโยชน์ให้ผู้เล่นรัสเซีย” แอนตัน เอฟเมนอฟ อดีตหัวหน้าแมวมองของ ซีเอสเคเอ มอสโก และ เซนิต เซนส์ ปีเตอร์เบิร์ก กล่าวกับ Independent

 5

แม้ว่าจุดประสงค์ตั้งต้นของการลดโควต้าผู้เล่นต่างชาติลีกรัสเซีย จะมีเป้าหมายหลักเพื่อทำให้นักเตะจากแดนหมีขาวมีโอกาสลงเล่นมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน มันอาจจะส่งผลร้ายแรงต่อวงการฟุตบอลรัสเซีย

เอฟเมนอฟ มองว่าการให้โควต้านักเตะรัสเซียมากขึ้น อาจจะทำให้นักเตะท้องถิ่น ขาดความกระตือรือร้นในการพัฒนาฝีเท้า เนื่องจากพวกเขาไม่จำเป็นต้องต่อสู้แย่งตำแหน่งเหมือนเมื่อก่อนที่มีเพียง 4 โควต้า

“บางครั้งคุณไม่จำเป็นต้องสู้เพื่อตำแหน่งของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย มันเป็นกฎที่ปกป้องพวกเขาเอาไว้ ในลีกก็จะไม่มีนักเตะรัสเซียที่มีความสามารถที่มากพอ” เอฟเมนอฟกล่าวต่อ

นอกจากนี้ โควต้าผู้เล่นต่างรูปแบบนี้ ยังทำให้อัตราค่าเหนื่อยของนักเตะท้องถิ่นเฟ้อมากยิ่งขึ้น เนื่องจากนักเตะชาวรัสเซียฝีเท้าดี จะถูกหมายปองจากสโมสรยักษ์ใหญ่ในบ้านเกิด ทางเดียวที่จะรั้งพวกเขาไว้ได้คือการประเคนค่าเหนื่อยระดับมหาศาลเท่านั้น

“เงินเดือนในลีกรัสเซียสูงมาก ส่วนใหญ่เกือบ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี” อิลยา ซุปโก ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ Rossiyskaya Gazeta อธิบาย

“แต่ด้วยการจำกัดผู้เล่นต่างชาติ ทำให้การเบียดแย่งตำแหน่งในทีมไม่ได้สูงขนาดนั้น”

“พวกเขารู้ว่าพวกเขาจะไม่ได้รับข้อเสนอจากทีมใหญ่ในอังกฤษ และพวกเขาก็จะไม่ไปอยู่ในทีมระดับกลาง เพราะว่าเงินเดือนหลายๆ ทีมมันต่ำกว่า พวกเขายังไม่ต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อตำแหน่งของพวกเขา”

 6

จากสถิติเมื่อปี 2018 อาร์เต็ม ชิวบา ของ เซนิต คือผู้เล่นที่ได้รับค่าเหนื่อยสูงสุดของลีกรัสเซีย เขามีรายรับสูงถึง 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รองลงมาคือ อเล็กซานเดอร์ โคโคริน เพื่อนร่วมทีม ที่รับอยู่ 3.3 ล้าน ตามมาด้วย ฟิโอดอร์ สโมลอฟ จาก โลโคโมทีฟ มอสโก ด้วยค่าเหนื่อย 2.9 ล้านต่อปี

ค่าเหนื่อยจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ยังทำให้พวกเขาขาดแรงจูงใจที่จะไปค้าแข้งในต่างประเทศ กลายเป็นกับดักของคอมฟอร์ตโซน เนื่องจากอยู่ในประเทศของตัวเองไม่จำเป็นต้องปรับตัว อีกทั้งมีรายได้ที่มากพออยู่แล้ว การไปค้าแข้งในลีกอื่นก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาฝีเท้า

“สโมสรจ่ายค่าเหนื่อยอย่างงามให้กับผู้เล่นระดับท็อป บาร์เซโลนา จำเป็นต้องไล่ตามพวกเขาเพราะพวกเขาได้รับเงินจำนวนมหาศาลที่นี่” เอฟเมนอฟกล่าว  

 7

“พวกเขายังคงอยู่ในลีกรัสเซีย นี่คือปัญหาสำคัญ ถ้าพวกเขาเอาแต่เล่นในรัสเซีย พวกเขาก็จะไม่รู้เทคนิคใหม่ พวกเขาจะไม่เห็นอย่างอื่นเลย พวกเขาจะไม่ได้เล่นกับคนที่มาจากวัฒนธรรมฟุตบอลอื่น พวกเขาจะไม่ผลักดันตัวเอง”

“ในรัสเซีย ถ้าคุณมีหนังสือเดินทางรัสเซีย แน่นอนว่ามันเป็นข้อได้เปรียบ แต่การมีแต้มต่อบางอย่าง มันทำให้คุณไม่ได้ทำงานอย่างเต็มร้อย”

ในขณะที่ เรย์มอน เวอร์เฮเจน ที่เคยเป็นสต้าฟโค้ชของรัสเซียในยูโร 2008 และ 2012 ก็มองว่าแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม จะหยุดการพัฒนาของวงการฟุตบอลรัสเซีย

“อนุรักษ์นิยมในแง่ฟุตบอลจะหยุดการพัฒนา วิธีที่ดีที่สุดที่จะพัฒนาผู้เล่นคือการได้เล่นกับผู้เล่นดีๆ คนอื่น ผู้เล่นจะพยายามทำให้ดีขึ้น หากคุณอยากเป็นผู้เล่นที่ดีขึ้น รอบตัวคุณต้องเต็มไปด้วยผู้เล่นฝีเท้าดี ถ้ารอบตัวผู้เล่นรัสเซียมีแต่นักเตะแย่ๆ พวกเขาก็จะเป็นแบบนั้น”  

เช่นเดียวกับ อังเดร วิลลาส โบอาส อดีตกุนซือ เซนิต ที่ออกมาสับกฎนี้จนเละ เขามองว่าแนวทางนี้จะทำให้นักเตะขี้เกียจ และอาจจะเป็นจุดจบของของวงการฟุตบอลแดนหมีขาว

“มันคือการตัดสินใจที่เลวร้ายที่สุด มันคือจุดจบของวงการฟุตบอลรัสเซีย” โบอาส กล่าวก่อนจะย้ายไปคุมทีมในลีกจีน

บทพิสูจน์ที่โหดหิน

นับตั้งแต่กฎใหม่ออกมาเมื่อปี 2015 ทีมชาติรัสเซียก็มีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเองใน 2 ทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ก่อนฟุตบอลโลกจะมาถึง พวกเขาเริ่มต้นอย่างน่าผิดหวังกับยูโร 2016 ที่ตกรอบแรกไปแบบไม่มีลุ้น และเอาชนะคู่แข่งไม่ได้เลย

 8

หลังทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวได้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนาหูต่อความล้มเหลวนี้ ส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่กฎจำกัดผู้เล่นต่างชาติ และค่าเหนื่อยจำนวนมหาศาลทำให้นักเตะและผู้จัดการทีมไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนา

“แรงจูงใจทั้งหมดของพวกเขาถูกทำลายจนหมดสิ้นไปแล้ว” ดิมิทรี นาโชวา หัวหน้าฝ่ายบริหารของ sports.ru กล่าว

รัสเซียยิ่งต้องแบกความกดดัน เมื่อคอนเฟดเดอเรชันคัพ 2017 การแข่งขันเพื่อทดสอบความพร้อมก่อนฟุตบอลโลก กลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า แม้ว่าจะประเดิมสนามด้วยการเอาชนะนิวซีแลนด์ แต่หลังจากนั้นก็พ่ายรวด และตกรอบแรกเป็นทัวร์นาเมนต์ที่สองติดต่อกัน

ปี 2018 การตัดสินก็มาถึง และพวกเขายกภูเขาออกจากอกได้ตั้งแต่นัดแรก เมื่อจัดการไล่ถล่มซาอุดิอารเบียไปอย่างขาดลอย 5-0 ต่อด้วยการเอาชนะ อียิปต์ 3-1 แม้ว่านัดสุดท้ายจะพ่ายต่ออุรุกวัย แต่ 6 คะแนนก็เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาเข้ารอบน็อคเอาท์ และเป็นการผ่านเข้ารอบครั้งแรกนับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อมาเป็นรัสเซียอีกด้วย

รอบ 16 ทีมรัสเซียต้องโคจรมาพบกับ สเปน ที่เข้ารอบมาได้อย่างกระท่อนกระแท่น ผ่านไป 120 นาทียังเสมอกันอยู่ 1-1 ทำให้ต้องตัดสินด้วยการดวลจุดโทษ ก่อนที่พวกเขาจะยิงได้แม่นกว่า ทะลุเข้าสู่รอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นครั้งแรกในรอบ 48 ปี

 9

แต่เส้นทางของพวกเขาต้องหยุดเพียงเท่านั้น เมื่อต้องพ่ายต่อโครเอเชียในการยิงจุดโทษ หลังเสมอกันในเวลา 120 นาที 2-2  ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ทำได้เพียง 8 ทีมที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ผลงานนี้ก็เพียงพอที่จะหยุดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกฎผู้เล่นต่างชาติ เพราะนับตั้งแต่นั้น ก็แทบจะไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้อีกเลย

อย่างไรก็ดี ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะสรุปได้ว่ากฎผู้เล่นต่างชาติของรัสเซีย เป็นผลดีหรือผลเสียต่อวงการฟุตบอลแดนหมีขาวมากกว่ากัน  เพราะพวกเขายังต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าจะได้ข้อพิสูจน์

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ กฎ 6+5 : เมื่อ "ปูติน" สั่งจำกัดโควต้าแข้งต่างชาติในลีกรัสเซีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook