คดีทำร้ายคู่แข่งอเมริกันฟุตบอลสู่ภาพสะท้อน "พาวะฮาระ" ในสังคมญี่ปุ่น

คดีทำร้ายคู่แข่งอเมริกันฟุตบอลสู่ภาพสะท้อน "พาวะฮาระ" ในสังคมญี่ปุ่น

คดีทำร้ายคู่แข่งอเมริกันฟุตบอลสู่ภาพสะท้อน "พาวะฮาระ" ในสังคมญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเล่นอย่างซื่อสัตย์และความมีน้ำใจนักกีฬาของชาวญี่ปุ่น บางครั้งอาจมีอีกด้านที่คาดไม่ถึง

เมื่อช่วงกลางปี 2018 ได้มีข่าวใหญ่ที่ชาวญี่ปุ่นต่างพูดถึง เมื่อเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงในการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัย จนทำให้ผู้โดนปะทะบาดเจ็บหนักจนเล่นต่อไม่ไหว ในขณะที่คนทำฟาวล์โดนไล่ออกจากสนาม

ฟังแล้วอาจจะเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอเมริกันฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีการปะทะกันเป็นปกติ แต่สำหรับครั้งนี้กลับต่างออกไป เมื่อในจังหวะปะทะ ทั้งคู่ไม่มีใครครอบครองบอล มันจึงเป็นการเจตนาทำร้ายคู่แข่งอย่างชัดเจน

หลังเกมนัดดังกล่าว ไทซุเกะ มิยางาวะ คนทำฟาวล์ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวขอโทษต่อหน้าสาธารณชน ยอมรับว่าเขาตั้งใจทำให้คู่แข่งบาดเจ็บ และเผยเรื่องสุดช็อคว่าเขาโดน “โค้ชสั่งมา” แม้ว่าโค้ชจะปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นในเรื่องนี้ก็ตาม

มันจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์อันอื้อฉาวที่สะเทือนวงการกีฬาญี่ปุ่น

อเมริกันฟุตบอลในญี่ปุ่น

อเมริกันฟุตบอล ก็เหมือนกับกีฬาอื่นของชาวตะวันตก ที่ถูกนำเข้ามาโดยมิชชันนารี มันถูกนำเข้ามาโดย พอล รัช ครูสอนศาสนาชาวอเมริกัน ในปี 1934 และได้รับความสนใจในช่วงแรก โดยเกมแรกในกรุงโตเกียวสามารถเรียกคนดูเข้ามาชมในจิงงู สเตเดียม ได้ถึง 15,000 คน

 1

แม้ว่า รัช ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งอเมริกันฟุตบอลของญี่ปุ่น” จะพยายามเผยแพร่กีฬาชนิดนี้ ตั้งแต่ช่วงก่อนและสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มันก็กลับไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก และยังตามหลังกีฬาอย่าง ฟุตบอล ซูโม่ เบสบอล หรือแม้กระทั่งรักบี้อยู่มากพอสมควร

จากเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสมาคมอเมริกันฟุตบอลญี่ปุ่นระบุว่า ปัจจุบันมีนักอเมริกันฟุตบอลลงทะเบียนอยู่ราว 20,000 คน ห่างจากกีฬาที่คล้ายกันอย่างรักบี้ที่มีผู้เล่นอยู่ 120,000 คน หรือฟุตบอลที่มีคนลงทะเบียนอยู่ 900,000 คน

พวกเขามีทีมทั้งหมด 421 ทีม แต่ 210 ทีมหรือเกือบครึ่งหนึ่งของเหล่านั้นคือทีมของมหาวิทยาลัย ในขณะที่ 115 ทีมเป็นทีมของโรงเรียนมัธยม ส่วนที่เหลือคือทีมกึ่งอาชีพที่เล่นอยู่ในลีกที่ชื่อว่า “เอ็กซ์ลีก”

ทว่ากีฬาที่ดูจะไม่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นกีฬานี้ ในปี 2018 กลับได้รับความสนใจจากคนทั้งประเทศ หัวข้อของอเมริกันฟุตบอล หรือ “อาเมะ ฟูโตะ” ในภาษาญี่ปุ่น ถูกพูดถึงอยู่นานนับเดือน แต่น่าเศร้าที่มันไม่ใช่เรื่องดี

เกมสุดอื้อฉาว

ในการแข่งขันในคันโตลีก ซึ่งเป็นการแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยของภาคตะวันออกของญี่ปุ่น ระหว่างมหาวิทยาลัยนิฮง แชมป์เก่าเมื่อปี 2017 และมหาวิทยาลัยควานเซ กัคคุอิง น่าจะเป็นเกมธรรมดาทั่วไป หาก ไทซุเกะ มิยางาวะ ไม่ตัดสินใจทำเรื่องนั้นลงไป

 2

ในระหว่างการทำสกรัม โคเซ โอคุโนะ ควอเตอร์แบ็คของ ม.ควานเซ ขว้างบอลออกไปแล้ว มันไม่น่าจะมีอะไร แต่เขากลับโดนปะทะเข้าอย่างจังจากมิยางาวะ จนล้มกลิ้งไม่เป็นท่า โอคุโนะ ได้รับบาดเจ็บหนักที่หัวเข่าและหลังจนเล่นต่อไม่ไหว ส่วนมิยางาวะ ถูกไล่ออกจากสนาม

แม้ว่าอเมริกันฟุตบอล เป็นกีฬาที่มีการปะทะกันเป็นเรื่องปกติ และมีการใช้คำพูดหยาบคายกระตุ้นกันในทีม แต่สำหรับครั้งนี้มันไม่ใช่ เพราะโอคุโนะ ปล่อยบอลออกไปสักพักแล้ว แต่กลับถูกปะทะโดยไม่ตั้งตัว และแน่นอนมันผิดกติกา

 

เหตุการณ์นี้มีคนบันทึกภาพไว้ได้ และหลังจากที่มันแพร่สะพัดไปทั่วโลกออนไลน์ ก็ได้เกิดเสียงวิจารณ์ในแง่ลบในเรื่องนี้ มิยางาวะตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสาธารณะชน เขายืนโค้งขอโทษเป็นเวลา 15 วินาที และยอมรับว่าเขาเจตนาทำร้ายคู่แข่งจริง

“ผมรู้ว่าควอเตอร์แบ็คขว้างบอลออกไปแล้ว” มิยางาวะกล่าวในงานแถลงข่าว

ทว่ามันไม่จบแค่นั้น เพราะมิยางาวะ ยังเผยเรื่องสุดช็อคว่าที่เขาทำลงไปเป็นเพราะคำสั่งของ มาซาโตะ อุจิดะ โค้ชของทีม แน่นอนว่า โค้ชอุจิดะ ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ในทันทีและประกาศลาออก พร้อมอธิบายว่ามันเป็นความเข้าใจผิดของตัวผู้เล่น

“ผมบอกให้ผู้เล่นชนควอเตอร์แบ็คคู่แข่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าเจตนาทำให้เขาบาดเจ็บ” โค้ชอุจิดะกล่าว

คำอธิบายของเขาสร้างความเดือดดาลให้กับ อาคิระ โทริอุจิ โค้ชของมหาวิทยาลัยควานเซ เพราะก่อนที่จะโดนไล่ออก มิยางาวะก็เข้าปะทะรุนแรงมาก่อน หากเขาไม่เห็นด้วยกับวิธีของลูกทีม เหตุใดจึงยังปล่อยให้มิยางาวะอยู่ในสนาม

“ผมเป็นโค้ชฟุตบอลมานาน แต่ผมไม่เคยเห็นการเล่นที่อันตรายแบบนี้ ถ้ายอมให้มันเกิดขึ้น มันไม่ใช่กีฬาแล้ว” โทริอุจิกล่าวกับ New York Times

ไม่กี่วันหลังจากนั้น มหาวิทยาลัยควานเซเขียนจดหมายไปที่มหาวิทยาลัยนิฮงเพื่อขอคำอธิบายและคำขอโทษ ในเวลาเดียวกัน คันโตลีกได้สั่งแบนมิยางาวะและตักเตือนโค้ชอุจิดะ พร้อมให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาสอบสวนเรื่องนี้

“การตั้งใจทำร้ายผู้เล่นคนอื่นถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” มาโคโตะ คุนิโยชิ นายกสมาคมอเมริกันฟุตบอลญี่ปุ่นกล่าว

ในขณะที่ ยาซุโตชิ โอคุโนะ พ่อของ โคเซ โอคุโนะ ผู้ได้รับบาดเจ็บ เข้าแจ้งความต่อสถานีตำรวจ โดยลูกชายของเขาได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่าและเอ็นกระดูกสันหลัง

“ผมอยากให้เขาชดเชยสิ่งที่เขาทำลงไป และกู้ชื่อเสียงของเราคืนมา”

 4

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่คนถกเถียงกันอยู่นานนับเดือน แม้โค้ชอุจิดะจะมาออกปฏิเสธข้อกล่าวหา ทว่าศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยนิฮงหลายคนก็ออกมายืนยันว่าไม่มีใครสามารถปฏิเสธโค้ชอุจิดะได้

เหตุผลเพราะอะไร?

โค้ชทรงอิทธิพล

โค้ชอุจิดะ ถือเป็นคนเก่าคนแก่ของมหาวิทยาลัยนิฮง เขาคุมทีมมาตั้งแต่ปี 2003 และเพิ่งพาทีมคว้าแชมป์เป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี เมื่อปี 2017 แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็มีชื่อเสียงในแง่ลบจากปากศิษย์เก่าหลายคน

 5

เขามักจะใช้วิธีการฝึกสอนอย่างเข้มงวด และใช้คำพูดรุนแรงดุด่าผู้เล่น พร้อมกับบีบให้ทำตามคำสั่งของเขา ซึ่งหากใครปฏิเสธ ชะตากรรมมีอย่างเดียว คือถูกถอดออกจากทีม

“ทีมเจตนาเอาผู้เล่นบางคนออกไปจากชุดตัวจริงบ่อยมาก ผมคิดว่าคนที่ไม่ได้ทำตามคำสั่งของเขาจะไม่ถูกส่งลงเล่น พวกเขาโดนบีบให้จนมุม” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยนิฮง ที่เคยอยู่ในทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยกล่าวกับ Mainichi  

ก่อนเกมอื้อฉาว แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับทีมเผยกับ Mainichi ว่าในการประชุมทีม โค้ชอุจิดะ กำชับให้ มิยางาวะ จัดการผู้เล่นของควานเซ ตั้งแต่ต้นเกม และหากไม่ทำตาม เขาอาจจะโดนถอดไปนั่งข้างสนาม

“อัดควอเตอร์แบ็คคู่แข่งให้เจ็บหนักตั้งแต่การเล่นครั้งแรก หากแกอยากจะได้อยู่ในเกมต่อ” แหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดกับทีมเผยคำพูดของอุจิดะ

มิยางาวะทำได้ตามคำสั่ง เขาทำให้โอคุโนะเล่นต่อไม่ได้ แต่หลังจากโดนไล่ออกเขาเริ่มรู้สึกผิด เขาไปนั่งร้องไห้ที่ข้างสนาม แต่กลับถูกต่อว่าจากโค้ชอุจิดะ

“แกมันซื่อ” มิยางาวะเล่าให้ New York Times ว่าโค้ชพูดกับเขาแบบนั้น “แกรู้สึกแย่กับคู่แข่งงั้นหรือ?”

“ผมไม่เข้มแข็งพอที่จะบอกว่าใช่ จากคำสั่งของโค้ช ผมสามารถปฎิเสธได้ แต่ผมกลับเดินหน้าต่อไปและทำอย่างนั้น มันคือความอ่อนแอของผมเอง”

 6

โค้ชอุจิดะ ไม่เพียงมีอิทธิพลต่อทีมอเมริกันฟุตบอล แม้ว่าจะลาออกจากการเป็นโค้ช แต่เขายังเป็นคณะกรรมการอาวุโสที่ดูแลงานด้านบุคคลของมหาวิทยาลัย เขาควบคุมการแต่งตั้งบุคลากรและงบประมาณด้านกีฬาของมหาวิทยาลัย

“หากคุณท้าทายอุจิดะซัง คุณจะไม่สามารถอยู่ในทีม หรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยได้เลย” ศิษย์เก่าอีกคนหนึ่งระบุ

สิ่งนี้ตอกย้ำถึงพลังของ “พาวะฮาระ” (Power Harassment) หรือการใช้อำนาจรังแกข่มเหงและการเชื่อฟังผู้มีอำนาจ รวมไปถึงความจงรักภักดี ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมญี่ปุ่น

ระบบอาวุโสที่เข้มข้น

“นี่เป็นด้านมืดของสังคมของเรา หัวหน้าของคุณคือจักรพรรดิ” มัตสึโยชิ นิชิมูระ อดีตที่ปรึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นกล่าวกับ Irish Times

 7

ระบบอาวุโสที่เข้มงวด (รุ่นพี่-รุ่นน้อง, เจ้านาย-ลูกน้อง) เป็นเรื่องปกติของสังคมญี่ปุ่น การจงรักภักดีต่อหัวหน้าจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แม้ว่าสิ่งที่ต้องทำอาจจะขัดกับความตั้งใจของตัวเองก็ตาม

สิ่งนี้ฝังรากลึกในความคิดของคนญี่ปุ่น พวกเขาถูกปลูกฝังให้เชื่อฟังหัวหน้าและผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะในบริษัท หรือแม้กระทั่งในทีมกีฬา ซึ่งระบบความคิดแบบนี้เอื้อให้ผู้มีอำนาจหรือโค้ชทำให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเชื่อฟังได้ และบางทีมันอาจจะเลยเถิดไปถึงการใช้อำนาจรังแกข่มเหงหรือที่เรียกกันว่า “พาวะฮาระ” (Power Harassment)

โค้ชมักจะให้นักกีฬาเชื่อฟัง และพยายามไม่ให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในระดับมหาวิทยาลัย แต่ยังรวมไปถึงทีมกีฬาในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย

ปี 2018 คาโอริ อิโจ แชมป์มวยปล้ำหญิง เจ้าของดีกรีเหรียญทองโอลิมปิก 4 สมัยเผยว่า หลังคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญที่ 2 ที่ปักกิ่งเมื่อปี 2008 เธอถูกคุกคามหลายครั้งจากผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาของสมาคมมวยปล้ำญี่ปุ่น แต่ไม่กล้าพูดเนื่องจากกลัวจะกระทบกับอนาคตในนามทีมชาติ หลังเธอออกมาพูดเรื่องนี้ ผู้อำนวยการคนดังกล่าวประกาศลาออกทันที

เช่นเดียวกับกรณีของมหาวิทยาลัยนิฮง ที่สมาชิกในทีมอเมริกันฟุตบอลต้องเชื่อฟังโค้ชอุจิดะอย่างเคร่งครัด และทำตามคำสั่ง เพราะไม่เช่นนั้น พวกเขาอาจจะสูญเสียตำแหน่งในทีมได้ จนทำให้เกิดเหตุการณ์ทำร้ายคู่แข่งสุดอื้อฉาว

“ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ผมต้องทำมันด้วยความคิดแน่วแน่ที่จะพุ่งชน (ควอเคอร์แบ็ค) ผมต้องทำมันจริงๆ ดังนั้นผมจึงรู้สึกว่าผมไม่มีทางเลือก” มิยางาวะกล่าวกับ Japan Times

 8

นอกจากนี้ พาวะฮาระ ยังเอื้อให้ผู้บังคับบัญชาสามารถโบ้ยความผิดให้กับลูกน้อง หรือมีคนมาแก้ต่างให้ เหมือนเหตุการณ์ของโค้ชอุจิดะ ที่ตัวแทนของมหาวิทยาลัยนิฮงออกมาปกป้องว่าอาจจะเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน

“เรื่องอื้อฉาวในอเมริกันฟุตบอลคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในองค์กรที่พนักงานบอกว่าพวกเขามักจะถูกโยนความผิดให้ คำสั่งเหล่านี้ถูกส่งลงมาโดยบริษัทที่จ้างพวกเขา” อาคิระ ทาเคอุจิ ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบริษัทกล่าวกับ Nikkei

เหรียญสองด้าน

มิยางาวะ ประกาศเลิกเล่นทันทีในวันแถลงข่าวขอโทษ หลังรู้สึกผิดที่ทำให้เพื่อนร่วมอาชีพได้รับบาดเจ็บ และรู้สึกละอายใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 9

“ฟุตบอลสนุกมากตอนที่ผมเริ่มเล่นที่ ม.ปลาย แต่มันเริ่มไม่สนุก หลังต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่ดุดันในมหาวิทยาลัย”  

“ผมไม่คิดว่าผมจะมีสิทธิ์เล่นอเมริกันฟุตบอลต่อไป และผมก็ไม่คิดว่าจะเล่นมันอีกแล้ว”

แม้มิยางาวะจะยุติเส้นทางในอเมริกันฟุตบอลไปแล้ว แต่คดีของเขาได้สร้างผลกระทบอย่างมหาศาลต่อวงการอเมริกันฟุตบอล ที่แต่เดิมก็ถูกมองว่าเป็นกีฬาที่ค่อนข้างอันตรายอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันก็ได้สั่นคลอนวงการกีฬาของญี่ปุ่น ชาติที่เล่นกีฬาอย่างมีน้ำใจนักกีฬาชาติหนึ่งยามออกไปเล่นในเวทีระดับโลก

สะท้อนให้เห็นอีกอีกมุมหนึ่งของญี่ปุ่นที่เป็นชาติที่มีความซื่อสัตย์และมีวินัย ดั่งเห็นได้จากการเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบ หรือการเคารพกฎของสังคมอย่างเคร่งครัด แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับโหดร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ

เหมือนกับคำโบราณว่าไว้ “ทุกอย่างย่อมมีสองด้านเสมอ”

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ คดีทำร้ายคู่แข่งอเมริกันฟุตบอลสู่ภาพสะท้อน "พาวะฮาระ" ในสังคมญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook