เสน่ห์ของพื้นที่ปลดปล่อย : เหตุผลใดทำให้แฟนบอลในสนามต้องแหกปากตะโกนด่า?

เสน่ห์ของพื้นที่ปลดปล่อย : เหตุผลใดทำให้แฟนบอลในสนามต้องแหกปากตะโกนด่า?

เสน่ห์ของพื้นที่ปลดปล่อย : เหตุผลใดทำให้แฟนบอลในสนามต้องแหกปากตะโกนด่า?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากย้อนกลับไปดูที่รากฐานของกีฬาฟุตบอล มันถูกเริ่มต้นขึ้นในฐานะ กีฬาพักผ่อนหย่อนใจของคนชนชั้นสูงในอังกฤษ รวมไปถึงใช้เป็นแบบฝึกสอนในโรงเรียนผู้มีฐานะ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางร่างกาย และจิตใจให้กับนักเรียน ตั้งแต่ในช่วง ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา

ฟุตบอลใช้เวลาไม่นานในการแพร่กระจายสู่ผู้คนในสังคมทุกชนชั้นในอังกฤษ และกลุ่มคนที่ทำให้ กีฬาลูกหนังได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ คือ กลุ่มแรงงานชนชั้นล่าง 

ในศตวรรษที่ 18 ประเทศอังกฤษ เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านอุตสาหกรรม หรือ ยุคที่ถูกเรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) เกิดระบบการทำงานแบบโรงงาน ผู้คนอพยพจากพื้นที่ต่างจังหวัด เข้าสู่เมืองใหญ่ เพื่อเป็นเเรงงานทำงานกับเครื่องจักร 

ชีวิตในโรงงาน ทำงานกับเหล็กและเครื่องจักรตลอดเวลา ไม่ใช่ชีวิตที่รื่นรมย์สำหรับแรงงาน พวกเขาต้องการพื้นที่ปลดปล่อยความเครียด หาความสนุกให้ตัวเอง กีฬา คือสิ่งที่เข้ามาเติมเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอล

 

การขยายตัวของอุตสาหกรรม นำไปสู่การขยายตัวของเมือง เมืองที่ใหญ่ขึ้น ประชากรย่อมมากขึ้น ซึ่งเปิดโอกาส ให้คนที่ชอบทำกิจกรรมเหมือนกัน สามารถรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน 

ในปี 1862 สโมสรฟุตบอลอาชีพ เกิดขึ้นครั้งแรก คือสโมสร น็อตส์ เคาท์ตี (Notts County) หลังจากนั้น มีสโมสรนับไม่ถ้วนเกิดขึ้นในอังกฤษ ฟุตบอลกลายเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกในสังคม ด้วยการสนับสนุนของแรงงานในอังกฤษ

When Saturday Comes (เมื่อวันเสาร์มาถึง) คือคำพูดติดปากของแฟนบอลชาวอังกฤษ ซึ่งรอคอยเกมฟุตบอลในช่วงสุดสัปดาห์ ช่วงเวลาที่แรงงานจะได้ปลดปล่อยความเครียด จากการทำงานอย่างหนัก ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ ที่สนามฟุตบอล

สำหรับวงการฟุตบอลไทย ปฏิเสธถึงความสำคัญของแฟนบอลไม่ได้เช่นกัน ว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลลีกไทยเติบโต และพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน 

ภาพของแฟนบอลไทย ไม่ได้แตกต่างจากที่อังกฤษหรือประเทศอื่นในยุโรปมากนัก นั่นคือฐานแฟนบอลส่วนใหญ่ มาจากกลุ่มคนชนชั้นกลางค่อนล่าง และชนชั้นล่างของสังคม

หนังสือฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก : ผู้หญิง อำนาจ วัฒนธรรมแฟน และชนชั้นใหม่” ที่ถูกจัดทำโดยอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยหลายคน ผู้สนใจในฟุตบอลไทย ได้เปิดเผยสำรวจกลุ่มแฟนบอล ที่ซื้อตั๋วรับชมเกมการแข่งขันที่สนาม พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของแฟนบอล เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่สูง ในประเทศไทย

 1

“ฟุตบอลมันมีความรู้สึกของกีฬาสำหรับแรงงานอยู่แล้ว” อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เขียนหนังสือ ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก: ผู้หญิง อำนาจ วัฒนธรรมแฟน และชนชั้นใหม่ กล่าวกับ Main Stand

“ถ้าพูดในเชิงวิชาการ ฟุตบอลสมัยใหม่ เป็นกีฬาที่ถูกสร้างมาให้แรงงาน เพราะต้องมีเวลาว่างวันเสาร์-อาทิตย์ ไปดูบอลที่สนามได้ ถ้าคุณเป็นพนักงาน คุณทำได้ แต่ถ้าเป็นเจ้าของกิจการ หรือระดับผู้บริหาร คุณไม่มีเวลา ดูฟุตบอลในสนามทุกสัปดาห์ได้หรอก”

“คนชนชั้นแรงงานเอง ก็ต้องการพื้นที่ปลดปล่อย มีคำอธิบายทางวิชาการอยู่ว่า ถ้าคุณปล่อยให้แรงงานทำงานไม่ได้พัก สุดท้ายแรงงานจะหมดกำลังที่จะทำงาน ผลเสียจะย้อนกลับมาที่ระบบอุตสาหกรรม ดังนั้นเเรงงานจำเป็นต้องมีเวลาพักสุดสัปดาห์ เมื่อวันจันทร์มาถึง พวกเขาจะได้มีแรงทำงานอีกครั้ง”

“สำหรับฟุตบอลไทย ผมมองว่าแฟนบอลส่วนใหญ่ คือกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ หรือชนชั้นกลางค่อนไปทางล่าง ซึ่งเป็นชนชั้นที่เกิดขึ้นได้ไม่นาน ในสังคมไทย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ฟุตบอลไทยบูมขึ้นมา ผมมองว่าคนเหล่านี้ คือคนที่มาเป็นแฟนบอลไทยแบบฮาร์ดคอร์ และปลุกกระแสบอลไทยขึ้นมา”

พื้นที่ของการปลดปล่อย

เป็นเรื่องปกติของฟุตบอลไม่ว่าจะในประเทศ หรือต่างประเทศ ที่เราจะมักได้เห็นภาพแฟนบอล แสดงพฤติกรรมต่างๆ ทั้ง ร้องเพลงเชียร์, การโห่, ตะโกนด่านักฟุตบอล ทั้งทีมตัวเองและฝ่ายตรงข้าม 

 2

แต่ถึงกระนั้น  พฤติกรรมการเชียร์ลักษณะที่ว่า ยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับในสังคมฟุตบอล โดยเฉพาะการโห่ การตะโกนต่อว่า นักฟุตบอลทีมที่ตัวเองเข้าไปเชียร์ หลายครั้งที่ แฟนบอลในสนามบอล ถูกตำหนิในเรื่องนี้ พร้อมกับถูกตั้งข้อสงสัยว่า จะซื้อตั๋วเข้าสนามฟุตบอลทำไม ถ้าเข้าไปเพื่อด่านักเตะตัวเอง ไม่ยอมส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ ?

“การด่าในสนามฟุตบอลเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นพื้นที่อนุญาต ให้คนสามารถเข้ามาทำพฤติกรรมแบบนี้ได้ อย่างเช่น พวกแรงงานที่ได้เข้ามาปลดปล่อย และผ่อนคลายในสนามฟุตบอล” อาจารย์ อาจินต์ ทองอยู่คง กล่าว 

“ที่แตกต่างคือ ฟุตบอลไทย มีความรู้สึกแบบชนชั้นกลาง ไม่ใช่เเรงงานชนชั้นล่าง แบบต่างประเทศ เรื่องกริยามารยาท ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเป็นสุภาพชน แบบชนชั้นกลาง จึงถูกนำมาใส่ในการเชียร์ฟุตบอลแบบไทยด้วย”

“แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า สุดท้ายแฟนบอลชนชั้นกลางใหม่ของไทย ก็คือแรงงานเหมือนกัน สุดท้ายคุณก็หนีความรู้สึกการเป็นแฟนบอล แบบแรงงานไม่พ้นเช่นกัน”

ผู้เขียนใช้เวลาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในการเข้าสนามฟุตบอลไทยลีก เกือบทุกสัปดาห์ที่มีการแข่งขัน ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราได้เจอคนหลากหลายอาชีพ ในสนามฟุตบอล เช่น แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม, พนักงานออฟฟิศ, คนขับรถแท็กซี่, วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไปจนถึง แรงงานที่โดนไล่ออกจากงานได้ไม่นาน

บ่อยครั้ง ที่ผู้เขียนได้พูดคุยเรื่องฟุตบอล กับแฟนบอลในสนาม ร่วมส่งเสียงเชียร์ไปด้วยกัน และร่วมตะโกนด่านักฟุตบอลด้วยกัน ทั้งทีมตัวเองและฝ่ายตรงข้าม

ตลอด 5 ปีที่ผู้เขียนนั่งอยู่ท่ามกลางแฟนบอล เพื่อชมเกมการแข่งขันในสนาม การตะโกนต่อว่านักฟุตบอล แทบจะเป็นพฤติกรรมปกติในสนามแข่งขัน 

มีน้อยคนมากที่ไม่เคยตะโกนด่านักฟุตบอลในสนาม หลายคนต่อให้ไม่ตะโกนต่อว่าบนอัฒจันทร์ เมื่อเดินออกจากสนามแข่งขัน พวกเขาล้วนบ่นนักฟุตบอลอยู่ดี ไม่ว่าจะทีมตัวเองหรือฝ่ายตรงข้าม

 3

“สำหรับผม การตะโกนด่านักฟุตบอล ไม่ใช่การด่านะ มันคือการนินทา นักฟุตบอลเขาไม่ได้เผชิญหน้ากับเสียงด่าโดยตรง เขามีหน้าที่ต้องสนใจกับเกมในสนาม ส่วนคนดูก็ด่า ส่วนคนดูไป”

“ไม่ต่างอะไรกับแรงงานนินทาเจ้านาย ถ้าเราไม่พอใจก็นินทา แฟนบอลไม่พอใจก็นินทา แค่เป็นในรูปแบบการตะโกนด่า เท่านั้นเอง สุดท้ายนักฟุตบอลเขาไม่ได้สนใจตรงนี้หรอก ถ้านักฟุตบอลคนไหน มัวแต่สนใจเสียงด่าของแฟนบอลข้างสนาม แบบนี้ไม่ดีแล้ว”  อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริม

เพราะรักจึงด่า

การตะโกนด่า ไม่ใช่พฤติกรรมผิดปกติในสนามฟุตบอล คำถามต่อมาคือ อะไรคือเหตุผลที่ แฟนบอลบางคนถึงเลือกตะโกนด่า ต่อว่า หรือ โห่ ในสนามฟุตบอล

 4

ถ้าเป็นการตะโกนด่า นักฟุตบอลฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยาก แฟนบอลส่วนใหญ่ล้วนมีความเชื่อชุดเดียวกันว่า การโห่หรือตะโกนด่า สามารถช่วยสร้างความกดดัน ให้กับนักบอลทีมตรงข้ามได้ แต่สำหรับนักฟุตบอลทีมรัก การด่าหรือโห่ ดูเป็นเรื่องที่มีความตรงข้ามกัน

“อารมณ์ร่วมการตะโกนโห่หรือด่า มันมาจากความรู้สึกว่า เป็นเจ้าของสโมสร” อาจินต์ ทองอยู่คง แสดงความเห็นในเชิงมานุษยวิทยา 

“สำหรับฟุตบอลนอก มันเป็นเรื่องปกติ สโมสรมีความผูกพันกับแฟนบอลมายาวนาน ตั้งแต่รุ่นพ่อสู่รุ่นลูก เขาเกิดความรักความหวงแหน ในทีมฟุตบอล การโห่จึงเกิดขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าทีมฟุตบอล เป็นของพวกเขา นักบอลที่มาเล่นให้ทีม ต้องทำผลงานให้ดี ให้เต็มที่”

“ขณะที่สำหรับฟุตบอลไทย ความผูกพันระหว่างสโมสรกับแฟนบอลมันน้อย แฟนบอลไม่ได้รู้สึกว่า เราเป็นเจ้าของสโมสร เราเป็นแค่กองเชียร์ เราไม่ควรไปโห่นักฟุตบอล ความรู้สึกแบบนี้ เริ่มต้นมาจากสังคมไทย ผูกพันกับฟุตบอลนอกมานาน ความรู้สึกกับการดูฟุตบอลนอก เราเป็นได้แค่กองเชียร์ ไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของสโมสร”

“แต่แฟนบอลหลายทีม ที่ผมเคยคุยด้วย เขาก็มีความรู้สึกว่า สโมสรฟุตบอลคือทีมบอลของเขา ด้วยความผูกพันเรื่องท้องถิ่น เมื่อแฟนบอลรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสโมสร การโห่การตะโกนเชียร์หรือด่า จะยิ่งมีมากขึ้น”

 5

ตัวผู้เขียน เคยทำงานวิจัยเชิงวิชาการ เกี่ยวกับแฟนฟุตบอลไทย เรื่องแฟนบอลพลัดถิ่นของสโมสรฟุตบอลศรีสะเกษ เอฟซี บ่อยครั้งที่ผู้เขียนร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับแฟนบอล “กูปรีพลัดถิ่น” นั่งอยู่บนสแตนด์เชียร์ทีมเยือน ร่วมกับสาวกกูปรีอันตราย

ฤดูกาลที่ผู้เขียนทำวิจัย คือฤดูกาล 2017 เป็นปีที่ศรีสะเกษ เอฟซี มีผลงานย่ำแย่ และตกชั้นร่วงจากการแข่งขันไทยลีก 1 เมื่อฤดูกาลสิ้นสุดลง เสียงโห่ เสียงต่อว่าบนสแตนด์เชียร์ ที่มีต่อนักเตะ โค้ช ไปจนถึงผู้บริหาร มีให้ผู้เขียนได้ยินจนชินชา

กระนั้นทุกครั้ง ที่ผู้เขียนเดินทางไปเก็บข้อมูลที่สนาม ผู้เขียนยังคงพบเจอแฟนบอลศรีสะเกษหน้าเดิมๆ เข้ามาซื้อตั๋ว ขึ้นไปบนอัฒจันทร์ เพื่อเป็นแฟนบอลศรีสะเกษ และคอยร้องเพลงให้กำลังใจทีม หลังจบการแข่งขันทุกครั้ง ทั้งที่ผลงานในปีนั้น สุดจะย่ำแย่

บางครั้งแฟนบอลกูปรีผลัดถิ่น ได้มาชวนผู้เขียนคุยถึงเรื่องผลงานของทีม บ่นเรื่องโค้ช บ่นเรื่องนักเตะ ให้ผู้เขียนฟัง แต่ทุกครั้ง ที่ผู้เขียนฟังคำบ่นปนด่าของแฟนบอลเหล่านี้ ความต้องการสุดท้ายของพวกเขา คือต้องการเห็นทีมที่ดีขึ้น

“ตกชั้นผมก็เชียร์นะ ฟอร์มแย่ยังไงผมก็มาเชียร์ เพราะนี่เป็นทีมบ้านเกิดของเรา” แฟนบอลศรีสะเกษ เอฟซี คนหนึ่งกล่าวกับผู้เขียน ตอนที่ทำวิจัย แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว อาจดูเป็นการเข้าสนามไปด่า มากกว่าเข้าไปร้องเพลงเชียร์ ตามสภาพทรงบอลของทีมศรีสะเกษ ที่ดูไม่ดีนักในปีนั้น

สุดท้ายจะเข้าไปเชียร์ หรือเข้าไปด่าอาจจะไม่สำคัญ เท่ากับว่า คุณตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าไป แสดงพลังในฐานะแฟนฟุตบอลหรือเปล่า

มากเกินไป ล้วนไม่ดี

สนามฟุตบอล เป็นที่สาธารณะ ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคม ได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบอย่างเสรี แค่คุณซื้อตั๋วก็สามารถเข้าไป ร้องเพลงได้อย่างสนุกสนาน ตีกลองเสียงดังแบบไม่ต้องเกรงใจใคร รวมถึงตะโกนด่าคนที่เราไม่ชอบ เช่นนักฟุตบอลฝ่ายตรงข้าม ได้แบบไม่รู้สึกผิดอะไร

 6

แต่ไม่ได้หมายความว่า การเป็นแฟนบอล จะสามารถทำได้ทุกอย่างบนอัฒจันทร์ ทุกอย่างล้วนมีขอบเขตข้อจำกัด มีกฎเกณฑ์ ข้อจำกัด ถึงสิ่งที่เราสามารถทำได้ และไม่สามารถทำได้ 

อย่างเช่น แฟนบอลอาจจะสามารถโห่ หรือร้องเพลงเชียร์ได้เต็มที่ แต่แฟนบอลไม่สามารถจะวิ่งลงสนาม ไปตบหัวหรือผลักนักฟุตบอลจนล้มกลิ้ง ทำร้ายร่างกายนักฟุตบอล ในสนามแข่งขัน หรือกองเชียร์ฝ่ายตรงข้าม

“สนามฟุตบอล จำกัดเสรีภาพของแฟนบอลไว้แค่ทางคำพูด แต่การกระทำทางกายภาพ คือเรื่องต้องห้าม” อาจารย์ อาจินต์ ทองอยู่คง กล่าว

“มีคำอธิบายอยู่ว่า ที่สนามฟุตบอลต้องจำกัดเรื่องความรุนแรงของแฟนเอาไว้ เพราะสุดท้ายแฟนบอลคือแรงงาน ถ้าแรงงานได้รับบาดเจ็บ จากการมาดูบอล ก็กลับไปทำงานวันจันทร์ไม่ได้ ส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรม”

และในหมู่แฟนฟุตบอล พวกเขาไม่ได้ต้อนรับการด่าในทุกรูปแบบ การเหยียดสีผิว เหยียดเชื้อชาติ เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในหมู่แฟนฟุตบอล อย่างในสังคมไทย การด่าพ่อล้อแม่นักฟุตบอล ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเช่นเดียวกัน

“ถ้าคุณแสดงพฤติกรรม ที่มันต่างจากแฟนบอลมากเกินไป คุณจะถูกจัดให้เป็นคนจำพวกอื่น เช่น ถ้าคุณไปสนามบอลเพื่อตีกัน ทะเลาะกัน เขาไม่เรียกคุณว่าแฟนบอล แต่เรียกว่า ‘ฮูลิแกน’ แทน” อาจารย์ อาจินต์ ขยายภาพเพิ่มเติม

การโห่ หรือการด่านักฟุตบอล อาจไม่ใช่เรื่องที่แปลกในสนามบอล แต่สุดท้ายแฟนบอล ต้องรู้ถึงขอบเขตด้วยเช่นกัน 

เพราะหากเกิดเหตุการณ์ ภาพลักษณ์ที่แย่ในสนามบอล ผลเสียจะตกกับทั้งแฟนบอล นักฟุตบอล รวมถึงภาพลักษณ์ของสโมสร ซึ่งทำให้ภาพจำของทีมและกองเชียร์ เป็นด้านลบของแฟนบอลทีมอื่น ในสังคมฟุตบอล

วัฒนธรรมที่ต้องคงอยู่

ยุคสมัยที่ฟุตบอล กลายเป็นเรื่องธุรกิจเต็มตัว ภาพลักษณ์ของทีมฟุตบอล เป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญ ทำให้เราเห็นการรณรงค์ผ่านสื่อของหลากหลายสโมสร ถึงการเชียร์อย่างสุภาพ ไม่ใช้คำด่าและไม่ใช้คำหยาบในการชมฟุตบอลในสนาม

 7

มองในแง่ของธุรกิจ การทำให้ฟุตบอลเป็นพื้นที่ดูสะอาดสีขาว เปิดรับคนในวงการอื่นๆให้เข้าสนามฟุตบอลได้ ดูเป็นทางเลือกที่ดีกว่า สำหรับธุรกิจฟุตบอลในระยะยาว แต่ความเป็นจริงอาจไม่ใช่แบบนั้น

พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ลีกฟุตบอลยอดนิยม คือลีกที่กำลังประสบปัญหาเรื่องเสียงเชียร์ เสียงโห่ร้องของแฟนบอลท้องถิ่นในสนามกำลังหายไป เพราะความโด่งดังของลีกแดนผู้ดี 

แฟนบอลจำนวนมากในสนามทีมใหญ่ๆ กลายเป็น นักท่องเที่ยวแฟนบอลต่างประเทศ ที่พร้อมจ่ายค่าตั๋วราคาแพงมาสัมผัสฟุตบอลอังกฤษ แต่กลับแฟนบอลท้องถิ่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ พวกเราเริ่มไม่เข้าสนามอย่างที่เคยเป็นมา

ในยุค 70’s-90’s วัยรุ่นชาวอังกฤษจำนวนมาก แห่เข้าสนามฟุตบอลช่วงสุดสัปดาห์ เพื่อปลดปล่อยตัวตน ความบอบช้ำในฐานะแรงงาน ในปี 1968 อายุเฉลี่ยแฟนบอลในสนามอยู่ที่ 16 ปีเท่านั้น

ข้ามเวลามาในศตวรรษที่ 21 อายุเฉลี่ยของผู้ถือตั๋วปีของสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ ลีก กลับพุ่งขึ้นสูงถึง 41 ปี จากการสำรวจในปี 2011 เหตุผลสำคัญมาจาก การขึ้นราคาค่าตั๋วของสโมสรฟุตบอลอังกฤษ เพื่อกีดกันแฟนบอลวัยรุ่นอารมณ์แรงออกจากสนาม

ถัดมาในปี 2012 ค่าเฉลี่ยแฟนบอลที่ถือตั๋วปี ในสนามเพิ่มเป็น 45 ปี อย่างรวดเร็ว หมายความว่าสโมสรฟุตบอล ในพรีเมียร์ลีก ไม่สามารถสร้างฐานแฟนบอลรุ่นใหม่ ในท้องถิ่นของตัวเอง ที่จะซื้อตั๋วปีมาชมเกมการแข่งขันทุกนัด เหลือเพียงแค่แฟนรุ่นเก่า ซึ่งเคยเป็นวัยรุ่น ในสมัยรุ่งเรืองยุคแฟนบอลขาโจ๋เท่านั้น

“แฟนวัยรุ่นเข้าสนามแล้วเจอแต่เรื่องที่น่าผิดหวัง พวกเขาจ่ายค่าตั๋วราคาแพง เพื่อพบว่า มีหลายอย่างที่พวกเขา ทำไม่ได้ในสนามฟุตบอล พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการ ในสนามฟุตบอล” แอเดรียน แทมพานี นักข่าวของ The Guardian ซึ่งศึกษาเรื่องแฟนบอลในอังกฤษ เผยถึงต้นเหตุการหายไปของเสียงเชียร์ที่ดุดันในสนามฟุตบอลยุคใหม่

“พวกเด็กๆที่เข้าสนาม พอเขาอายุ 17-18 ปี พวกเขาหนีหายจากสนามฟุตบอล” ปีเตอร์ เดย์กิน แฟนบอลของสโมสรซันเดอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์กับ The Guardian

“พวกเขาเหมือนคนสมัยก่อนทุกอย่าง ออกจากบ้านช่วงสุดสัปดาห์ ดื่มเบียร์ ร้องเพลงแหกปากโวยวายนอกสนาม ต่างกันอย่างเดียว พวกเขาไม่เข้าสนามบอลอีกแล้ว”

“บรรยากาศในสนามฟุตบอล ไม่ตอบโจทย์คนวัยหนุ่มอีกต่อไป พวกเขาเลือกนั่งอยู่ในผับ แทนที่จะเข้าสนามบอล เพราะการดูบอลผ่านจอทีวีในผับ ยังดีกว่าการดูฟุตบอลในสนามเสียอีก”

จากผลสำรวจโดยโพลล์ในประเทศอังกฤษ คนรุ่นใหม่กว่า 61 เปอร์เซ็นต์ เลือกมีความเชื่อมโยงกับสโมสรฟุตบอลทีมโปรด ด้วยการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ตามมาด้วยการพนัน ที่ 44 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การเลือกเขาไปดูบอลที่สนาม มีเพียงแค่ 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เสียงเชียร์ตะโกนโวยวาย เสียงโห่ เสียงโก่นด่า การร้องเพลงเสียดสีนักบอลฝ่ายตรงข้าม ด้วยถ้อยคำที่เจ็บแสบ ของแฟนบอลที่หลายคน มองว่าเป็นพฤติกรรมหยาบคาย สำหรับวงการฟุตบอลอังกฤษ นี่คือเสน่ห์ที่กำลังจะหายไป

“ก่อนหน้านี้พรีเมียร์ลีก พยายามจะผลักดันฟุตบอล ให้เป็นธุรกิจแบบสุดทาง แต่พวกเขารู้แล้วว่า ฟุตบอลทำแบบนั้นไม่ได้ ต้องรักษาวัฒนธรรมเก่าๆเอาไว้ด้วย ไม่อย่างงั้นธุรกิจฟุตบอล จะล้มเสียเอง เพราะไม่มีแฟนบอลท้องถิ่นเข้าสนาม”

“สำหรับฟุตบอลไทย ผมมองว่า เรายังไม่เห็นภาพตรงนั้น มีความพยายามที่จะผลักดันฟุตบอล ให้เป็นธุรกิจ และลดความสำคัญเรื่องวัฒนธรรมการเชียร์ลงไป” อาจินต์ ทองอยู่คง ขยายภาพในวงการฟุตบอลปัจจุบัน ให้เห็นมากขึ้น

 8

คงพูดไม่ได้เต็มปากว่า พฤติกรรมร้องเพลงเชียร์เสียงดัง การส่งเสียงโห่ ตะโกนด่านักฟุตบอล ว่าเป็นเรื่องถูกต้อง หรือเป็นเรื่องที่ควรกระทำ 

หากแต่วัฒนธรรม การเชียร์ฟุตบอล ในรูปแบบดังกล่าว ที่สนามแข่งขัน มีเหตุผลและที่มาที่ไป ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในหลายด้าน ทั้งเป็นพื้นที่พักผ่อนให้แรงงาน เป็นพื้นที่เต็มเติมสิ่งที่ขาดหายในชีวิตประจำวัน เป็นเอกลักษณ์ของการชมฟุตบอล ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากการชมอยู่หน้าจอโทรทัศน์

ในแต่ละพื้นที่ แต่ละสังคม มีวัฒนธรรมแตกต่างกันออกไป การส่งเสียงดัง การโห่หรือตะโกนด่า อาจเป็นเรื่องผิดในสังคมทั่วไป ทว่าในพื้นที่สนามฟุตบอล เรื่องแบบนี้ คือเสน่ห์ที่ทำให้กีฬาลูกหนัง แตกต่างจากกีฬาอย่างเทนนิส หรือสนุกเกอร์ ที่ผู้ชมไม่สามารถทำแบบนั้นได้ 

แต่ในสนามฟุตบอล ก็ยังมีกฎระเบียบไม่ต่างกับกฎในชีวิตประจำวันทั่วไป ที่หากมากเกินไป จนไม่มีขอบเขตก็จะคงเกิดปัญหา เช่นกัน...หากถูกควบคุมและปิดกั้น ก็อาจทำให้เส่นห์นั้นสูญหายไป 

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ เสน่ห์ของพื้นที่ปลดปล่อย : เหตุผลใดทำให้แฟนบอลในสนามต้องแหกปากตะโกนด่า?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook