เทรนด์โลกเปลี่ยนไป? เหตุใดฟุตบอลยุคใหม่จึงนิยมยืมซูเปอร์สตาร์แทนวิธีซื้อขาด

เทรนด์โลกเปลี่ยนไป? เหตุใดฟุตบอลยุคใหม่จึงนิยมยืมซูเปอร์สตาร์แทนวิธีซื้อขาด

เทรนด์โลกเปลี่ยนไป? เหตุใดฟุตบอลยุคใหม่จึงนิยมยืมซูเปอร์สตาร์แทนวิธีซื้อขาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อเทรนด์โลกลูกหนังเปลี่ยนจากการขายขาดเป็นการยืมตัว อะไรอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ 

ฟิลิปเป คูตินโญ, อเล็กซิส ซานเชซ และ เมาโร อิคาร์ดี คือเหล่านักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ต้องโยกย้ายสังกัดในช่วงตลาดนักเตะหน้าร้อนฤดูกาล 2019-2020 ทว่าการย้ายทีมของพวกเขาไม่ได้มาพร้อมกับการทุ่มเงินมหาศาลอย่างที่เคย 

ทั้งสามคนย้ายไปอยู่กับสโมสรใหม่ด้วยสัญญายืมตัว ซึ่งกลายเป็นแนวโน้มที่กำลังได้รับความนิยมในช่วงหลังใน 5 ลีกยักษ์ใหญ่ของยุโรป (อังกฤษ สเปน เยอรมัน อิตาลี และฝรั่งเศส) 

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

แนวโน้มที่เติบโต 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการซื้อขายนักเตะถือเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของวงการฟุตบอล เพราะนอกจากผลการแข่งขันในสนามแล้ว แฟนบอลยังคอยลุ้นว่าทุกหน้าร้อน หรือหน้าหนาว จะมีนักเตะคนใดย้ายไปสังกัดทีมใด หรือทีมที่เราเชียร์อยู่จะได้นักเตะมาเสริมทัพหรือไม่


Photo : www.chelsea-news.co

ตลาดนักเตะมีขนาดโตมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป (อังกฤษ สเปน เยอรมัน อิตาลี และฝรั่งเศส) ส่วนหนึ่งมาจากการเข้ามาเทคโอเวอร์ของเหล่าเศรษฐีต่างชาติโดยเฉพาะอเมริกันและตะวันออกกลาง ในขณะที่ส่วนหนึ่งมาจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ที่ทำให้สโมสรมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น 

ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา ตลาดผู้เล่นก็ยังมีความคึกคักเช่นเคย เมื่อหลายทีมพากันทุ่มเงินมหาศาลดึงนักเตะดังระดับโลกไปร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็น เอเด็น อาซาร์ ที่ย้ายไป เรอัล มาดริด ด้วยค่าตัว 100 ล้านยูโร หรือ อองตวน กรีซมันน์ ที่ย้ายไปบาร์เซโลนา ด้วยค่าตัว 120 ล้านยูโร หรือ แฮร์รี แม็กไกวร์ ที่ย้ายซบแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ค่าเสียหายสูงถึง 80 ล้านยูโร 

อย่างไรก็ดี ในขณะเดียวกัน “การยืมตัว” ก็กลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ได้รับความนิยมในตลาดรอบนี้ เมื่อหลายทีมยักษ์ใหญ่ ได้กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ ใช้วิธีนี้ดึงนักเตะมาเสริมทัพกันอย่างพัลวัน ทั้งที่วิธีดังกล่าวเมื่อก่อนเป็นวิธีของทีมเล็กที่งบการเงินจำกัด 


Photo : FC Bayern Munich

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือมีนักเตะชื่อดังมากมาย ที่ย้ายสังกัดในซีซั่นนี้ด้วยการยืมตัว ตัวอย่างเช่น ฟิลิปเป คูตินโญ ของ บาร์เซโลนา ที่ย้ายไปร่วมทีม บาเยิร์น มิวนิค, อเล็กซิส ซานเชซ ที่ย้ายจาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปเล่นให้กับ อินเตอร์ มิลาน หรือรายล่าสุดอย่าง เมาโร อิคาร์ดี ที่เปลี่ยนสีเสื้อ จาก อินเตอร์ เป็น ปารีส แซงต์ แชร์กแมง  

แม้ว่าการยืมตัวจะไม่ใช่เรื่องใหม่  และเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวงการฟุตบอลมานานแล้ว แต่การเติบโตของมัน เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

จากผลสำรวจของ Financial Times เว็บไซต์ทางการเงินชื่อดังระบุว่า ในปี 1992 มีการยืมตัวเพียงแค่ 6 เปอร์เซ็นต์ของตลาดนักเตะใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป ก่อนที่อีก 10 ปีต่อมามันจะขยับขึ้นมาถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และ 29 เปอร์เซ็นต์ ในตลาดนักเตะปีนี้ 


Photo : en.psg.fr

อันที่จริงการยืมตัวในตอนแรกมีจุดประสงค์เพื่อปล่อยตัวนักเตะที่ไม่มีตำแหน่งในทีมให้ทีมที่ต้องการใช้งาน หรือเพื่อให้เหล่านักเตะดาวรุ่งได้มีโอกาสสัมผัสเกม แทนที่จะจับเจ่าอยู่ในทีมสำรอง หรือม้านั่งข้างสนาม 

แต่ในหลายปีที่ผ่านมา เบื้องหลังของวิธีนี้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

ธุรกิจแบบวิน-วิน 

ต้องยอมรับว่าหนึ่งในเหตุผลของการยืมตัว มาจากการวางแผนทางการเงินที่รัดกุมมากขึ้นสำหรับทีมใหญ่ เพราะบางทีการปล่อยยืม หรือขอยืมก็อาจจะทำให้พวกเขาประหยัดเงินไปได้หลายล้าน


Photo : Inter

อย่างกรณีของ อเล็กซิส ที่ย้ายไปร่วมทัพงูใหญ่ เนื่องจากไม่มีตำแหน่งในทีม และด้วยค่าเหนื่อยมหาศาลที่เบื้องต้นก็สูงถึง 350,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ และเมื่อรวมลิขสิทธิ์ภาพลักษณ์กับโบนัสต่างๆ “ว่ากันว่า” แพงระยับหลัก 500,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ ทำให้การปล่อยยืมสามารถลดงบค่าเหนื่อยของปีศาจแดงที่สูงถึง 255 ล้านปอนด์เมื่อปี 2018 ลงไปอีกนับโข 

นอกจากนี้ อินเตอร์ เองก็ห่างหายจากความสำเร็จมาหลายปี โดยแชมป์ล่าสุดที่พวกเขาได้ต้องย้อนไปเมื่อปี 2011 ที่คว้าแชมป์โคปปา อิตาเลีย มาครอง ในขณะที่แชมป์เซเรียอา ก็เป็นสมัยที่ โชเซ มูรินโญ คุมทัพเมื่อฤดูกาล 2009-2010 หรือเกือบ 10 ปีมาแล้ว 

เมื่อไร้แชมป์ เงินรางวัลที่เป็นหนึ่งในรายได้ของสโมสรจึงลดทอนหายไป ยิ่งไปกว่านั้นก่อนหน้านี้พวกเขาเพิ่งจะเปย์หนักด้วยการดึงตัว โรเมโร ลูกากู มาร่วมด้วยค่าตัว 65 ล้านยูโร การยืมตัวจึงเป็นวิธีที่ทำให้พวกเขาได้นักเตะระดับบิ๊กเนมมาเสริมทัพอีกราย โดยไม่ต้องทุ่มเงินมหาศาลเหมือนในอดีต 


Photo : Inter

“มันเป็นธุรกิจที่ไม่แน่นอน” ผู้บริหารฟุตบอลอาวุโสที่เกี่ยวข้องกับดีลอเล็กซิส กล่าวกับ Financial Times

“คุณอาจจะได้นักเตะที่คุณคิดว่าเขาจะสร้างความสั่นสะเทือนให้โลก แต่เขากลับกลายเป็นแค่สากกะเบือ บ่อยครั้งทางที่ดีที่สุดคือปล่อยเขาออกไปแบบยืมตัว เพราะอย่างน้อยก็ได้อะไรคืนมาบ้าง” 

ในขณะเดียวกัน การปล่อยยืม ยังเป็นการลดความเสี่ยงในการเสียเพชรเม็ดงามไปในราคาถูก และที่ชัดเจนที่สุดคือกรณีของ จาดอน ซานโช กองกลางดาวรุ่งชาวอังกฤษ ที่ย้ายจากแมนเชสเตอร์ ซิตี้ไปร่วมทีม โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ เมื่อปี 2017

เรือใบสีฟ้าขายซานโช ที่ตอนนั้นอายุ 17 ปีไปด้วยค่าตัว 7.84 ล้านยูโร ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมเสือเหลืองในฤดูกาลถัดมา ระเบิดฟอร์มทำไป 15 ประตูกับอีก 24 แอสซิสต์จาก 49 นัดในบุนเดสลีกา จนมีค่าตัวสูงถึง 100 ล้านยูโรในปัจจุบัน จากการประเมินของ Transfer Markt 


Photo : bvbbuzz.com

เหตุการณ์เกือบจะซ้ำรอยกับเคสของ คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย ดาวรุ่งของเชลซี ที่เคยถูก บาเยิร์น ยื่นข้อเสนอ 35 ล้านปอนด์ เพื่อเป็นค่าตัวให้กับแข้งวัยเพียงแค่ 18 ปี แต่ครั้งนี้สิงห์บลูส์ เป็นฝ่ายปฏิเสธ และเพิ่งจะต่อสัญญาใหม่กับเจ้าตัว ที่กลายเป็นผู้เล่นที่มีรายได้ 100,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ 

การปล่อยยืมจึงเป็นการประกันว่าหากนักเตะคนนั้นเกิดทำผลงานได้ดี เขาจะมีค่าตัวที่สูงขึ้นหากขายไป หรือหากตรงกับสไตล์ของทีม และฝีเท้าเก่งกล้าขึ้นก็สามารถเก็บไว้ใช้งานในทีมชุดใหญ่ในอนาคต 

ไม่เพียงเท่านั้น การยืมตัวยังกลายเป็นหนึ่งในวิธีในการขายนักเตะแบบใหม่อีกด้วย

ทดลองใช้ก่อนซื้อจริง 

นอกจากการยืมตัวระยะยาวแล้ว การยืมแบบมีเงื่อนไขซื้อขาด ก็เป็นอีกแนวโน้มที่ได้รับความนิยมมากขึ้น การยืมลักษณะนี้มักจะมาพร้อมกับค่ายืมที่ในจำนวนไม่ถึง 10 ล้านยูโร


Photo : FC Bayern München

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในตลาดหน้าร้อนครั้งนี้ ก็คือดีลของ คูตินโญ กับ บาเยิร์น มิวนิค เขาย้ายไปร่วมทีมดังแห่งเมืองเบียร์ด้วยสัญญายืมตัวยาว 1 ฤดูกาล และจากแถลงการณ์ของสโมสรบาร์เซโลนาระบุว่า บาเยิร์น จะต้องจ่ายเงิน 8.5 ล้านยูโรเป็นค่ายืม และออปชั่นซื้อขาดในฤดูกาลหน้าด้วยค่าตัว 120 ล้านยูโร 

วิธีนี้เปรียบได้เป็นเหมือนการ “ทดลองใช้งาน” ก่อนซื้อจริง ซึ่งเติบโตขึ้นมากในช่วงหลัง เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีกรณีของการยืมตัวไปใช้งานเกิน 12 เดือน แล้วซื้อขาดเกิดขึ้นเพียง 28 ครั้งใน 5 ลีกใหญ่ แต่เพิ่มมาเป็นอย่างน้อย 101 ครั้งในปีนี้ 

การยืมตัวเช่นนี้ ยังสามารถประกันราคานักเตะได้อีกทางหนึ่ง เพราะไม่ว่าผู้เล่นจะฟอร์มดี หรือฟอร์มตก แต่หากมีเงื่อนไขนี้ ราคาค่าตัวของพวกเขาก็ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นการตกลงที่ ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย 

“วัตถุประสงค์ทางเศรษฐศาสตร์ของทางเลือกนี้ คือการสร้างหลักประกันขึ้นมา” สเตฟาน ซิมานสกี ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมกีฬาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวกับ Financial Times 

“(สโมสรที่ได้ตัวนักเตะมา) จ่ายเบี้ยประกันเพื่อให้แน่ใจว่าหากตัดสินใจซื้อ ราคาจะไม่สูงจนเกินไป หรือถ้า (ทีมที่ขาย) ตัดสินใจอยากขาย ราคาของนักเตะก็ไม่ถูกเกินไปเช่นกัน มันทำให้สโมสรสามารถซื้อขายนักเตะด้วยราคาที่น่าเชื่อถือ” 

นอกจากนี้ ในกรณีที่ยืมตัวมาแล้ว นักเตะเกิดทำผลงานได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ หรือได้รับบาดเจ็บหนัก ทีมที่ขอยืมก็สามารถปฎิเสธที่จะเซ็นมาร่วมทีมเป็นการถาวรได้ (หากไม่ได้มีเงื่อนไขบังคับซื้อ) ถือเป็นการลดความเสี่ยงในการใช้เงินได้อีกทางหนึ่ง 

อย่างไรก็ดี บางครั้งมันก็อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

ช่องโหว่ทางกฎหมาย 

แม้ว่าจุดประสงค์ของการยืมตัวในช่วงหลัง มีไว้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อนักเตะ แต่บางครั้งมันก็ถูกนำไปใช้ เพื่อให้ตรงตามเงื่อนไขของกฎทางการเงินของยูฟ่าหรือที่รู้จักในชื่อ Financial Fair Play (FFP) ที่ถูกนำมาใช้ในฟุตบอลยุโรปตั้งแต่ปี 2011 


Photo : www.goal.com

จากกฎระบุว่าทีมที่จะลงเล่นในฟุตบอลสโมสรยุโรป ไม่ว่าจะเป็นถ้วย แชมเปียนส์ลีก หรือ ยูโรปาลีก จะเป็นหนี้ติดลบได้ไม่เกิน 30 ล้านยูโร ตลอด 3 ฤดูกาลหลัง หากไม่สามารถทำได้ก็จะถูกตัดสิทธิ์ลงเล่นในรายการดังกล่าว 

ทำให้การยืมตัวพร้อมเงื่อนไขซื้อขาดกลายเป็นหนึ่งในวิธีที่หลายทีมใช้ควบคุมค่าใช้จ่ายให้ตรงตามเงื่อนไขของกฎการเงิน เพราะแทนที่เงินก้อนหนึ่ง อาจจะใช้ซื้อนักเตะได้เพียง 1-2 คน ก็อาจจะได้ 4-5 คนด้วยวิธีการยืมตัว  

แต่บางครั้ง การยืมตัวเพื่อรับมือกับกฎทางการเงินถูกนำไปใช้ในเจตนาที่ไม่โปร่งใสนัก ดังตัวอย่างของ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ทีมยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศส 

ในปี 2017 เปเอสเช ยืมตัว คิลิยัน เอ็มบัปเป สุดยอดดาวรุ่งแห่งยุคมาจาก โมนาโก เพื่อนร่วมลีก มันอาจจะเป็นการยืมตัวธรรมดา หากเงื่อนไขในการซื้อขาดไม่ระบุว่า ทีมดังแห่งเมืองหลวงต้องจ่ายเงินซื้อนักเตะรายนี้ด้วยค่าตัว 180 ล้านยูโร หาก “อยู่รอด” ในลีกเอิง 

แน่นอนว่าการตกชั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะในตอนนั้น เปเอสเช เต็มไปด้วยขุมกำลังที่น่ากลัวทีมหนึ่งของฝรั่งเศส ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาไม่เพียงแค่หนีตกชั้นได้สำเร็จ แต่ยังคว้าแชมป์ได้อีกด้วย 

ทำให้ปารีส ถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าใช้การยืมตัวเป็นช่องโหว่เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดกฎทางการเงิน เพราะในฤดูกาลดังกล่าว พวกเขาเพิ่งจะทุบสถิติโลก คว้าตัว เนย์มาร์ มาร่วมทีมด้วยค่าตัวสูงถึง 222 ล้านยูโร และคาดกันว่าค่าเหนื่อยของทั้งคู่ ที่เซ็นสัญญา 5 ปีอาจจะสูงถึง 120 ล้านยูโรต่อปี 


Photo : www.sport.net

ทว่ายักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศส ก็ออกมาโต้ในเรื่องนี้ และยืนยันว่าพวกเขาทำตามกฎทุกอย่าง โดยระบุว่าพวกเขาไม่ได้ดึงตัวเอ็มบัปเป มาร่วมทีมในปีเดียวกันกับเนย์มาร์ ทำให้ยอดรวมของงบการเงินต้องขยับไปอีกหนึ่งปี และต้องไม่นำมาคิดรวมกัน 

อย่างไรก็ดี ยูฟ่ากำลังอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนในเรื่องนี้ เนื่องจากกฎทางการเงินในกรณีของการยืมตัวระบุว่า การยืมตัวแบบเงื่อนไขซื้อขาด ถูกนับเป็นการซื้อขายนักเตะนับตั้งแต่วันที่มีการยืมตัว 

“การยืมตัวแบบมีภาระผูกพันตามเงื่อนไขในการซื้อที่ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั้งสองสโมสร และการซื้อตัวถาวร ได้ถูกนับตั้งแต่เริ่มการตกลงการยืมตัว” ยูฟ่าระบุถึงเหตุผลการสอบสวน 

ไม่เพียงแค่เคสของเอมบัปเป เท่านั้น การปล่อยยืมนักเตะดาวรุ่งในยุโรปก็เป็นอีกกรณีที่หลายฝ่ายกำลังให้ความกังวล

การใช้อำนาจผ่านเงื่อนไข

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทีมยักษ์ใหญ่นิยมปล่อยนักเตะดาวรุ่งไปหาประสบการณ์ในลีกต่างประเทศ หรือลีกล่างมากขึ้น ที่โด่งดังมากที่สุดเมื่อปีที่แล้วคือเชลซี ที่ปล่อยผู้เล่นออกจากทีมด้วยสัญญายืมตัวถึง 41 ราย 


Photo : www.therealchelseafans.com

แน่นอนว่าวิธีนี้ส่งผลดีแก่ทั้งสองฝ่าย ฝั่งทีมที่ปล่อยก็ช่วยลดความแออัดของขนาดทีม อีกทั้งนักเตะยังมีพื้นที่ได้ลงสนาม ในขณะที่ฝั่งที่ขอยืมก็ได้นักเตะคุณภาพมาใช้งานโดยไม่ต้องเสียเงินมากมาย 

อย่างไรก็ดีในช่วงหลัง การปล่อยยืมนักเตะของเหล่าทีมใหญ่ กลับมีเบื้องหลังแอบแฝง และที่กำลังเป็นปัญหาคือการบังคับให้นักเตะที่ปล่อยยืมต้องลงสนามอย่างน้อยกี่นัดตามเงื่อนไขในสัญญา

จากการรายงานแหล่งข่าวผู้ใกล้ชิดของ Financial Times ระบุว่ามีหลายทีม รวมไปถึง ลิเวอร์พูล และ ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ มีเงื่อนไขว่านักเตะที่ถูกส่งออกไปต้องได้รับการการันตีการลงสนามอย่างน้อยกี่นัดตามตกลง มิเช่นนั้นทีมที่ขอยืมจะต้องเสียค่าปรับ 

ดาเนียล กีย์ ทนายความด้านฟุตบอลที่มีฐานอยู่ที่ลอนดอน และเป็นเจ้าของหนังสือที่ชื่อว่า  Done Deal: An Insider’s Guide to Football Contracts, Multi-Million Pound Transfers and Premier League Big Business เผยว่าการสอดแทรกค่าปรับในเรื่องนี้ลงไปในสัญญา มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขัดกับกฎของฟีฟ่า 

“ภายใต้กฎของฟีฟ่า ไม่มีทีมไหนสามารถมีอิทธิพลเหนืออีกทีมในการเลือกตัวผู้เล่นหรือนโยบายดึงนักเตะเข้ามาร่วมทีม บทลงโทษของการยืมตัวแบบนี้จะมาพร้อมกับความอันตราย” กีย์กล่าวกับ Financial Times

นอกจากนี้ การยืมตัวยังถูกมองว่าสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอนในการทำงาน เนื่องจากนักเตะ จำเป็นต้องเปลี่ยนสโมสรไปเรื่อยๆ นอกจากจะสามารถเบียดแย่งขึ้นมาในทีมชุดใหญ่ได้ 

อย่างไรก็ดี ในด้านหนึ่งมันก็ถูกมองว่าเป็นการสมยอมของทั้งสองฝ่าย แม้สโมสรที่ปล่อยยืมจะกำหนดเงื่อนไข และบทลงโทษหากไม่ยอมทำตามสัญญา แต่สโมสรที่ขอยืมก็มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธ หากรู้สึกถูกเอาเปรียบ

“ไม่มีใครบังคับให้คุณต้องยืมผู้เล่น ทุกสโมสรมีสิทธิ์ที่จะทำในสิ่งที่ต้องการ และเหมาะสมกับงบการเงินของสโมสร” มาร์ค ปาลิออส ประธานสโมสร ทรานเมียร์ โรเวอร์ส และหัวหน้าฝ่ายบริหารของสมาคมฟุตบอลอังกฤษกล่าวกับ The Guardian 

“ผมคิดว่าคุณสามารถหาสโมสรที่ยอมรับในสิ่งนี้ได้ มันยากที่จะบ่งชี้อย่างแน่ชัด แต่คุณจะเสียความเป็นตัวตนเหล่านั้น นั่นคือความเต็มใจที่จะเล่นให้กับสโมสร” 


Photo : www.mirror.co.uk

ทั้งนี้ แม้รูปแบบของการยืมตัวจะมีความหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการยืมแบบระยะยาว 1 ปีครึ่ง หรือการยืมแบบซื้อขาด แต่การซื้อขายแบบนี้ก็ยังถูกวิจารณ์ว่าไม่ยั่งยืน 

มันถูกมองว่าเป็นเทคนิค ที่ใช้เลี่ยงกฎทางกฎทางการเงินที่เข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ เอ็มบับเป หรือ คูตินโญ ซึ่งต่างสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดการทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะในโลกกีฬา 

“มันคืออาการของการหวังผลระยะสั้นในโลกฟุตบอล” โอมาร์ ชาอุดอูรี หัวหน้ากลุ่มฟุตบอล 21st Club ที่ให้คำปรึกษาแก่นักฟุตบอลกล่าวกับ Financial Times

“พวกเขาแค่โฟกัสที่จะทำผลงานให้ดีในฤดูกาลนี้ คว้าแชมป์หรือได้ไปเล่นในสโมสรยุโรป จากนั้นก็ต้องมากังวลกับฤดูกาลหน้า กับอนาคต นั่นคือสิ่งที่สโมสรส่วนใหญ่เป็น โฟกัสกับสิ่งที่ได้รับในฤดูกาลนี้ มากกว่าคิดในระยะยาว” 

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะมองจากมุมไหน การยืมตัวก็ยังคงมีความสำคัญในวงการฟุตบอล มันคือระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือในตลาดซื้อขาย และกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในโลกลูกหนังที่เต็มไปด้วยธุรกิจในปัจจุบันไปแล้ว 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook